อานนท์-อำนวย ภิรมย์อนุกูล : ‘น.นพรัตน์’ จ้าวยุทธจักรนักแปลนิยายจีนกำลังภายใน

<< แชร์บทความนี้

หากพูดถึงสุดยอดนักแปลนิยายจีนกำลังภายในของเมืองไทย รับรองว่านามปากกา น.นพรัตน์ ของสองพี่น้อง อานนท์-อำนวย ภิรมย์อนุกูล ต้องเป็นชื่อแรกๆ ที่ทุกคนนึกถึง

เพราะตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ พวกเขาได้สร้างผลงานออกมาเกือบ 400 เรื่อง พร้อมแนะนำให้คนไทยหลายคนได้รู้จักเรื่องราวและวีรกรรมของเหล่าจอมยุทธ์และตัวละครจากยอดนักประพันธ์ ไม่ว่าจะเป็น กิมย้ง โกวเล้ง อ้อเล้งเซ็ง หวงอี้ และอื่นๆ อีกมากมาย จนกลายเป็นวรรณกรรมอีกแขนงที่ยึดกุมหัวใจของนักอ่านน้อยใหญ่มาแล้วหลายต่อหลายรุ่น

แต่กว่าที่ น.นพรัตน์ จะมีวันนี้ได้นั้น เบื้องหลังความสำเร็จไม่มีอะไรได้มาโดยง่าย

ด้วยบางครั้งนั้นชีวิตก็รุ่งโรจน์เกินคาดคิด แต่บ่อยครั้งก็ล้มเหลวจนแทบรับมือไม่ไหว ไม่ต่างจากเรื่องราวในยุทธจักรที่พวกเขาถ่ายทอดออกมาเลย

ทว่าด้วยใจรักและความมุ่งมั่นบนเส้นทางสายนี้ ทำให้ทั้งคู่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ยืนยันได้จากการที่ น.นพรัตน์ผู้น้อง ยังคงปักหลักแปลผลงานไม่เคยหยุด แม้คนพี่จะจากโลกไปนานกว่า 20 ปี และส่งให้เขากลายเป็นนักแปลนิยายจีนกำลังภายในที่มีผลงานต่อเนื่องยาวนานที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และ The Cloud จึงถือโอกาสดีชักชวนจ้าวยุทธจักรผู้นี้มาร่วมพูดคุย ดื่มด่ำชา พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต ความสัมพันธ์ และการทำงานที่ไม่มีวันเกษียณ

อ่าน : .นพรัตน์ ตำนานนักแปลไร้เทียมทาน ผู้ขอหยัดยืนถ่ายทอดนิยายจีนกำลังภายในไปชั่วชีวิต ที่ https://readthecloud.co/nornoppharat

แต่ก่อนที่จะไปอ่านเรื่องราวแบบเต็มอิ่ม เรามีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจของ น.นพรัตน์ มาเล่าให้ฟังก่อน

1. นิยายจีนเรื่องแรกที่ทั้งคู่อ่านเป็นงานของ อ้อเล้งเซ็ง ชื่อเรื่อง เทียนเบ้ซึงอี โดยอ่านจากหนังสือพิมพ์ที่ครอบครัวรับเป็นประจำ ซึ่งน่าแปลกที่ถึงทุกวันนี้ก็ไม่เคยมีนักแปลคนใดที่นำมาถ่ายทอดเป็นภาษาไทยเลย

2. แม้จะรักการอ่าน ชอบการแปล แต่ครอบครัวของพวกเขาก็ไม่ได้สนับสนุนเส้นทางนี้เท่าใดนัก เพราะอยากให้รับช่วงกิจการทำกรอบกระจกต่อ โดยพ่อของทั้งคู่ เคยพูดว่า “คิดให้ดี เพราะว่าการค้าคือการปรับรากฐาน ยิ่งทำรากฐานยิ่งลึก ส่วนงานเขียนหนังสือเหมือนกับการแข่งขันกระโดดค้ำถ่อ จริงอยู่เวลาขึ้นมันขึ้นสูงกว่าเพื่อน แล้วมันก็จะตกลงมาอย่างรวดเร็วเหมือนกัน แต่การค้าเหมือนการสร้างตึก ถึงการปรับฐานรากมันจะช้า แต่เมื่อตึกมันขึ้นมาแล้ว มันจะมั่นคงไม่มีวันล้ม” แต่สุดท้ายสองพี่น้องก็ขอเลือกทางเดินของตัวเอง นั่นคือ นักแปล

3. หากจะบอกว่านามปากกา น.นพรัตน์ นั้นเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญก็คงไม่ผิด เพราะความจริงพวกเขามีนามปากกาว่า อ.ภิรมย์ อยู่ก่อนแล้ว แต่พอดีเมื่อย้ายมาทำงานที่สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ นายห้างมีความคิดจะทำหนังสือพิมพ์ชุมนุมเรื่องจีน โดยนำนักแปลหลายๆ คนมารวมตัวกัน จึงให้ทั้งคู่ไปคิดนามปากกามาเพิ่ม เพื่อที่จะได้ดูเหมือนว่ามีนักแปลหลายคน

ตอนนั้นเขาใช้นามปากกา .นพรัตน์ แปลเรื่องบ้ออ้วงตอ แต่ปรากฏว่า ออกได้ไม่กี่ฉบับก็ต้องเลิกทำ และพอดีทั้งคู่ได้แปลเรื่องกระบี่อำมหิต ของตั้งแชฮุ้น ตุนไว้ก่อนแล้ว จึงนำเรื่องนี้มาพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กเปิดตัวนามปากกาใหม่ ซึ่งปรากฏว่า ขายดิบขายดีมาก และส่งผลให้นามปากกา อ.ภิรมย์ ถูกใช้อีกเพียง 3-4 ครั้งก่อนจะหายไปจากแวดวงหนังสือ

4. ในช่วง 20 ปีแรกของการทำงาน น.นพรัตน์ ไม่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อไหนเลย โดยทั้งคู่มักบอกทุกคนว่า ชีวิตของพวกเขาไม่มีอะไรให้คนสนใจ แต่สุดท้ายในปี 2530 พวกเขาก็ยอมใจอ่อน ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารบุคคลวันนี้ ของโกวิท สีตลายัน เจ้าของนามปากกา มังกรห้าเล็บ ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นครั้งแรก และหลังจากนั้น อานนท์ก็ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารอีก 1-2 ครั้ง จนกระทั่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2543

5. ในช่วงที่กระแสนิยายจีนกำลังภายในตกต่ำ ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนยอมพิมพ์ คนที่เข้ามาช่วยประคับประคอง น.นพรัตน์ ก็คือ ระวิ โหลทอง แห่งสยามกีฬา โดยทั้งคู่รู้จักกันตั้งแต่สองพี่น้องไปแปลนิยายจีนลงหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แล้วเมื่อวันที่ทั้งคู่ตั้งใจจะทำสำนักพิมพ์ เขียนเอง ขายเอง ก็เป็นระวิที่ช่วยยับยั้งบอกว่า อย่าทำเลย แล้วก็รับอาสาพิมพ์จำหน่ายให้ ไม่เพียงแค่นั้น ในวันที่ อานนท์ป่วยเป็นมะเร็งที่หลังโพรงจมูก เขาก็ยังเป็นคนช่วยดูแล ให้กำลังใจ และออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด จนกระทั่งอานนท์เสียชีวิต ก็ยังเป็นเจ้าภาพจัดงานให้อีกด้วย ด้วยความซึ้งในน้ำใจ อำนวยจึงมักบอกกับทุกคนเสมอว่าขอทำงานกับพี่ระวิเรื่อยไป จนกว่าจะถูกไล่ออก

6. แม้ใครหลายคนจะยกให้ น.นพรัตน์ เป็นเบอร์ 1 ของการแปลนิยายจีนกำลังภายในของเมืองไทย แต่สำหรับพวกเขาแล้ว กระบี่มือ 1 ในใจต้องยกให้ ว. ณ เมืองลุง ดังคำที่อำนวยเคยพูดว่า หาก ‘กิมย้ง’ คือนักเขียนที่ร้อยปีจะมีสักคน ว. ณ เมืองลุง ก็คงเป็นนักแปลที่ร้อยปีจึงมีสักคนเช่นกัน

7. ผลงานการแปลอีกอย่างของ น.นพรัตน์ที่ขายดีไม่แพ้นิยาย ก็คือ หนังสือ How-to ชุดโคตรโกง แต่ครั้งนั้นเขาใช้นามปากกาว่า ‘ใบไผ่เขียว’ โดยเหตุผลที่พวกเขาเปลี่ยนมาทำหนังสือประเภทนี้ เพราะนิยายกำลังภายในนั้นขาลงสุดขีด จนทั้งคู่เกือบจะเลิกแปลแล้ว

8. นักเขียนคนสำคัญที่ทำให้ น.นพรัตน์ กลับมาตระหง่านในยุทธจักรนิยายกำลังภายในอีกครั้ง ก็คือ หวงอี้ ซึ่งผู้บริหารซีพีที่ชื่อ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ เป็นคนแนะนำ โดยเล่มแรกที่แปลคือ เจาะเวลาหาจิ๋นซี ซึ่งชื่อนี้ระวิเป็นคนตั้งให้ แต่เล่มที่ดังสุดต้องยกให้มังกรคู่สู้สิบทิศ ซึ่งเป็นผลงานการตั้งชื่อของก่อศักดิ์

9. แม้หวงอี้จะเป็นนักประพันธ์ที่ทำให้ น.นพรัตน์กลับมาสู่โลกการแปลนิยายได้ แต่ถ้าถามว่า อำนวยชอบนักเขียนคนไหนมากที่สุด เขาก็ยกตำแหน่งนี้ให้ กิมย้ง โดยที่ผ่านมาเขาได้แปลผลงานของกิมย้งครบชุดทั้ง 15 เรื่อง

10. หากพูดถึงอานนท์ พี่ชายผู้จากไปได้สักอย่าง อำนวยบอกว่าถ้าชาติหน้ามีจริง ก็มาทำงานด้วยกันอีกนะ

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.