‘กระบี่อยู่ที่ใจ’
‘ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา’
‘ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา’
‘เหนือฟ้ายังมีฟ้า’
คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงสำนวนภาษาที่สั้น กระชับ แต่คมกริบ ของ ชิน บำรุงพงศ์ หรือที่ทุกคนรู้กันในชื่อ ว. ณ เมืองลุง
ครั้งหนึ่ง น. นพรัตน์ เคยกล่าวว่า หาก ‘กิมย้ง’ คือนักเขียนที่ร้อยปีจะมีสักคน ‘ว. ณ เมืองลุง’ ก็คงเป็นนักแปลที่ร้อยปีจึงมีสักคนเช่นกัน
แม้ไม่ใช่คนแรกที่แปลนิยายจีนกำลังภายใน แต่คงไม่ผิดหากบอกว่า เขาคือบุคคลสำคัญที่ช่วยทำให้วรรณกรรมแขนงนี้ผงาดขึ้นยึดกุมหัวใจนักอ่านชาวไทยนับหมื่นนับแสน ด้วยสำนวนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และยังเป็นแม่แบบให้นักแปลรุ่นหลังเดินตามอีกด้วย แม้เวลาจะผ่านมานานหลายทศวรรษ
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ชื่อของ ว. ณ เมืองลุง กลายเป็นอมตะ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากพาทุกคนย้อนกลับไปเรียนเส้นทางชีวิต และความคิดของสุดยอดนักรังสรรค์ตัวอักษรผู้นี้
คงเพราะโชคชะตาที่ลิขิตให้ครูธรรมดาๆ คนหนึ่ง กลายเป็นนักแปลที่ยิ่งใหญ่
เดิมที เขาไม่เคยมีความคิดที่จะเป็นนักแปลมาก่อน เพราะก่อนหน้านี้เขาเป็นครูมาตลอด
ช่วงที่อยู่กรุงเทพฯ กลางวัน เขาสอนภาษาจีน อยู่แถวตรอกจันทน์ สะพานห้า และกลางคืนก็หารายได้พิเศษโดยสอนภาษาไทยอยู่ที่โรงเรียนศรีวัฒนา แถวสามย่าน ได้เงินเดือนละ 1,040 บาท
เป็นครูอยู่นานหลายปี จนกระทั่งวันหนึ่งก็มีคนมาชักชวนให้ทำงานเป็นเสมียนที่พัทลุง ให้เงินเดือนละ 1,600 บาท ค่ากินค่าอยู่เสร็จสรรพ เลยตัดสินใจลาออก ล่องสู่ปักษ์ใต้ทันที
ที่นี่เองที่เป็นจุดพลิกผันครั้งใหญ่ของผู้ชายชื่อ ‘ชิน’
เพราะบังเอิญข้างห้องมีเด็กหนุ่มคนหนึ่ง วันๆ ไม่ยอมทำอะไร เอาแต่อ่านหนังสืออะไรก็ไม่รู้ พอนานวันเข้า ก็เริ่มสนิท เลยถือโอกาสสอบถามว่า อ่านอะไรถึงติดงอมแงมขนาดนี้
เด็กหนุ่มตอบทันทีว่า ‘มังกรหยก’ พร้อมอธิบายสรรพคุณมากมาย
“พอพลิกไปพลิกมา ก็จำได้ว่าเคยอ่านภาษาจีนมาก่อน แต่อ่านไม่จบ เพราะตอนที่ย้ายมาอยู่พัทลุงไม่มีภาษาจีนให้อ่านก็เลยเลิกอ่านไป แล้วเด็กมันก็บอกต่อว่าหนังสือนี้ขายดีที่สุด ผมนึกในใจว่า หากแปลแบบนี้ เราก็น่าจะแปลได้ แล้วจะแปลได้ดีกว่าด้วย”
แม้ไม่เคยอ่านนิยายจีนแปลไทยมาก่อน เพราะเชื่อว่างานดั้งเดิมย่อมมีอรรถรสมากกว่า แต่ด้วยความช่ำช่องภาษาจีนมาตั้งแต่เด็ก ถึงขั้นสอบได้ประกาศนียบัตรครูมาแล้ว เขาจึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุง มุ่งหน้าไปยังสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ผู้พิมพ์มังกรหยกในยุคนั้น เพื่อเสนอตัวกับ ‘เวช กระตุฤกษ์’ เจ้าของสำนักพิมพ์โดยตรง
“คุณเวชเขาบอกว่าไม่เอา เพราะว่าเขามีคนแปลเยอะ ตอนนั้นมีคนแปลอยู่สิบกว่าคน”
ยุคนั้น หากพูดถึงนักแปลนิยายกำลังภายในแล้ว เบอร์ 1 คงต้องยกให้ ‘จำลอง พิศนาคะ’ ผู้แปลเรื่องมังกรหยกของ ‘กิมย้ง’
แต่ในมุมของชินกลับรู้สึกว่า ภาษาที่จำลองเลือกใช้สวยเกินไปสำหรับนิยายประเภทนี้
“ผมบอกเขาว่าถ้าผมแปล ผมจะไม่แปลแบบนี้ สำนวนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มันเหมาะกับสามก๊ก แต่เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของคนเถื่อน ของนักเลง เราจะใช้สำนวนแบบนี้มันไม่ได้ อย่างเรื่องบ้านนอกคอกนา เราจะไปใช้สำนวนดอกไม้สดได้อย่างไร มันต้องใช้สำนวนไม้เมืองเดิม เขาก็ไม่เอาเราอยู่ดี”
แต่คนที่เข้ามาเปลี่ยนสถานการณ์ทั้งหมดคือ ‘ชลิต พรหมดำรง’ บรรณาธิการสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ที่อดสงสัยไม่ได้ว่า สำนวนแปลของคนแปลกหน้าผู้นี้จะดีกว่ารุ่นเก๋ายังไง
ชลิตเลยไปขอหนังสือพิมพ์จากร้านกาแฟข้างๆ มาให้ลองแปลคอลัมน์เล็กๆ ดู ปรากฏว่า ชินแปลได้ไวมาก แถมภาษาก็แปลก สั้น กระชับ ได้ใจความ บรรณาธิการก็เลยหันไปบอกเจ้าของสำนักพิมพ์ให้ลองดูแล้วกัน เวชก็เลยจำใจต้องรับแบบเสียมิได้
นั่นเองที่โลกวรรณกรรมได้เปิดประตูต้อนรับนักแปลหน้าใหม่ วัย 34 ปี
เรื่องแรกที่เลือกแปล คือ ‘กระบี่ล้างแค้น’ ผลงานของ ‘ออเหล่งเซ็ง’ โดยนามปากกา ว. ณ เมืองลุง มีแรงบันดาลใจมาจาก ‘วิไล’ หญิงสาวคนแรกที่เขาหลงรักสมัยอยู่พัทลุง
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพียงตอนแรกตอนเดียว เขาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าถึงความไม่ธรรมดา
เพราะหลังวางตลาดตอนเช้า 5,000 เล่ม ปรากฏว่าหนังสือเล่มละ 3 บาทก็ขายหมดเกลี้ยง จนต้องพิมพ์เพิ่มอีก 1,000 เล่ม เรียกว่ายอดขายแซงหน้ามังกรหยกที่พิมพ์เพียง 5,500 เล่ม
“เห็นหนังสือขายดีอย่างนี้ ก็รีบกลับพัทลุงเลย เพราะตอนนั้นผมทำสารพัดอย่าง ทั้งเอเยนต์เบียร์ เอเยนต์เป๊บซี่ ทำสวนยาง ผมไปนั่งเขียนคำโฆษณาขายเมล็ดพันธุ์ยางให้เขาก็ลาออกเลย ไม่ทำแล้ว”
ตั้งแต่นั้นมา ว. ณ เมืองลุง ก็ขึ้นแท่นนักแปลมือทองที่มีผลงานออกมาให้อ่านเป็นประจำทุกวัน จนหมดยุคหนังสือเล่มละตอนในอีกยี่สิบปีถัดมา
ไม่แปลกเลย หากบอกว่า ว. ณ เมืองลุง คือผู้ยกระดับนิยายจีนกำลังภายในไปสู่ตลาดวงกว้าง
เอกลักษณ์ที่โดดเด่นสุดในงานแปลของเขา คือ ‘สำนวนภาษา’ ที่รวบรัด กระชับ ได้ใจความ
ว. ณ เมืองลุง บอกว่าสำหรับเขาแล้ว ภาษาจีนเป็นภาษาที่ยากสุดในโลก บางทีประโยคอาจแปลได้ตั้ง 5-6 อย่าง และอักษร 1 ตัวอาจแปลความได้สารพัด เพราะฉะนั้นการเลือกใช้คำให้ใกล้เคียงความหมายที่สุดจึงสำคัญอย่างยิ่ง
“ผมพยายามจำกัดความให้ใช้คำน้อยที่สุด สั้นที่สุด คนอ่านจะได้ไม่เสียเวลา เพราะสมัยก่อนคำบางคำ เขาพยายามอธิบายถึง 2-3 บรรทัด ส่วนผมใช้วิธีทับศัพท์ลงไปเลย คือให้คนอ่านเข้าใจเอาเอง ไม่ต้องอธิบาย อย่างผมใช้คำว่า ‘เหนือฟ้ามีฟ้า เหนือคนมีคน’ ตรงกับภาษาจีน 6 คำ ถ้าเป็นสมัยก่อน เขาแปล ถึงจะเก่งแค่ไหนจะต้องมีคนเก่งกว่า อย่างโน้นอย่างนี้ ผมไม่ ผมทับลงไปเลย เข้าใจก็เข้าใจ ไม่เข้าใจก็ไม่ว่า แต่ที่เห็นก็เอาไปใช้กันเกร่อ อย่าง–ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา”
เพียงปีเดียวที่เขาเริ่มแปล นักแปลรุ่นเก่า 7-8 คน ก็โบกมือเลิกแปลนิยายกำลังภายใน เพราะคนเริ่มไม่อ่านสำนวนยืดยาด เขาเลยต้องสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะสองพี่น้อง น.นพรัตน์ ที่เขาช่วยชี้ทางสว่าง รวมทั้งฝากขอร้องเจ้าของสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ให้ช่วยรับเข้าทำงาน
“ผมหาหนังสือให้เขาแปล แนะนำว่าควรจะต่อยังไง เรื่องจีน เวลาเขียนให้คนไทยอ่านสนุกๆ ไม่ใช่เขียนตำราเรียน ไม่ต้องไปเคร่งกับมันหนักหนา ขอให้คนอ่านชอบใจ ใช้ได้ นักเขียนใหม่ๆ ก็เขียนเรื่องบู๊เข้าไปสิ ตีกันให้มันเลอะเทอ คนอ่านก็สะใจซาดิสต์ ไม่ต้องไปนั่งว่าสำนวนนี้ผิด สำนวนนี้ไม่ถูก”
อย่างการแปลของ ว. ณ เมืองลุง หลายครั้งที่เขาแปลแบบข้ามไป หากอ่านแล้วไม่สนุก หรือบางครั้งก็แต่งเพิ่ม เพราะมีหลายครั้งที่คนเขียนตัดจบเสียดื้อๆ หรือยกตัวละครออกแบบงงๆ เขาก็ต้องช่วยเขียนเพื่อผู้อ่านไม่รู้สึกค้างคาใจ
“บางเรื่องอ่านอยู่ดีๆ พระเอกกระโดดหลังคาแล้วจบเลย แต่คนไทยชอบอ่านอะไรที่แฮปปี้เอนดิ้ง เราก็ต้องเขียนให้มันไปหานางเอก แต่งงานแต่งการให้มันอึกทึกกึกก้อง หรือบางทีมันก็ทิ้งตัวละคร 3-4 ตัว ไม่กล่าวถึงอีกเลย ทั้งที่เขียนเน้นไว้ เราก็ต้องมานั่งเขียนใหม่ ให้มันไปตายหรือทำอะไรไปเลย”
การแปลแต่ละครั้งเขาใช้เวลาราว 4-5 ชั่วโมง วันหนึ่งแปลประมาณ 30-40 หน้ากระดาษ โดยตอนแรกๆ ก็ใช้วิธีเขียนต้นฉบับจนมือด้าน เพราะต้องเร่งเขียนให้ทันพิมพ์ทุกวัน มาตอนหลังก็เลยเปลี่ยนวิธีใหม่ด้วยการกางต้นฉบับภาษาจีนและพูดใส่ลงไปในเทปบันทึกเสียง หากตรงไหนผิดก็จะรีวายเทปแล้วพูดทับลงไปใหม่ จากนั้นก็จะส่งต่อไปยังเลขาเพื่อพิมพ์ออกมา
โดยต้นฉบับที่ส่งไปให้นั้น ห้ามแก้ไขเด็ดขาด เพราะเขายึดหลักที่ว่า เรื่องจะขายดีหรือไม่ดีอยู่ที่ตัวเอง ถ้าจะประสบความสำเร็จก็คือประสบความสำเร็จด้วยตัวเขาเอง หรือล้มเหลวก็ขอล้มเหลวด้วยตัวเอง ไม่อยากให้มีคนอื่นมาเติมเรื่องราวให้
หากพูดถึงผลงานที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ประจำตัวของ ว. ณ เมืองลุง คงหนีไม่พ้น ‘ฤทธิ์มีดสั้น’ ผลงานระดับขึ้นหิ้งของ ‘โกวเล้ง’
ว่ากันว่า เสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้งานของนักแปลรุ่นใหญ่คนนี้น่าสนใจ คือการที่เขามักเลือกผลงานของนักเขียนหน้าใหม่ที่น่าจับตามองมาแปล
อย่างโกวเล้งนั้น ว. ณ เมืองลุง ก็เริ่มแปลตั้งแต่สมัยที่ยังใช้นามปากกว่า ‘เซี่ยวกัวเตี้ย’
“โกวเล้งเขียนเหมือนภาษาอังกฤษ เพราะภาษาเขาดี เขาจบมหาวิทยาลัยต้านเจียงในไต้หวัน ซึ่งเป็นวิทยาลัยภาษาอังกฤษโดยเฉพาะ แล้วก็มาเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดของอเมริกันในไต้หวัน เรื่องส่วนใหญ่ก็ค้นมาจากฝรั่งทั้งนั้น.. งานของเขาจะคล้ายๆ แบบยาขอบเขียนผู้ชนะสิบทิศ เอาเรื่องโน้นมานิด เอาเรื่องนี้มาหน่อย ผสมผเสให้เป็นเรื่องขึ้นมา แล้วเขาก็ใช้สำนวนเพราะ หลักปรัชญาชีวิตดี หลักศาสนาสูง อ่านแล้วเข้ากับคนไทยได้ง่าย พวกนิสิตนักศึกษาชอบมาก”
ว. ณ เมืองลุง เคยอธิบายหลักการเลือกเรื่องแปลว่า ต้องเป็นเรื่องที่มีฉากย้อนหลังอย่างน้อย 100 ปี สะท้อนถึงสังคมนอกกฎหมายสมัยยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ก็ต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ราชสำนัก หรือพงศาวดาร เพราะเป้าหมายหลักของการทำงาน คือต้องการให้คนอ่านรู้สึกผ่อนคลายอารมณ์มากที่สุด
ส่วนวัตถุดิบในการเขียน หลักๆ ก็มาจากร้านขายหนังสือหรือนิตยสารรายสัปดาห์ตามเยาวราชหรือเจริญกรุง ซึ่งนำเข้าจากเมืองจีนอีกที
“พอได้มาเราก็มาดูว่าเรื่องไหนดี ถ้าดีก็ติดตาม ซึ่งบางทีไม่ต้องอ่านจนจบ แค่ 1 ใน 3 ก็รู้แล้ว แต่ว่าถ้าจะเริ่มแปลเรื่องไหนก็ต้องให้รอจนกระทั่งมันจบ”
หลายสิบปีของชีวิตนักแปล ว. ณ เมืองลุง มีผลงานออกมากว่า 300 เล่ม ทำให้คนไทยรู้จักนักเขียนที่น่าสนใจมากมาย ทั้ง โก้วเล้ง เซียวเส็ก อ้อเล้งเซ็ง อึ้งเอ็ง ฯลฯ
“การแปลแต่ละครั้ง เราอยากรักษาเอกลักษณ์ของนักเขียนเอาไว้ ถ้าเรื่องไหนคนอ่านรับมาก เราก็แปลเรื่องของคนนี้มากหน่อย คือเราจะไม่แปลให้เหมือนอย่างดาราหนังไทย สรพงษ์จะเล่นบทตวักตะบวยก็เป็นสรพงษ์อะไรอย่างนี้ ผมไม่เอาอย่างนั้น ผมเลือกเรื่อง แล้วก็เอาเอกลักษณ์ของเขาออกมา บางคนเขาไม่พูดพร่ำทำเพลง ตีกันเละ ผมก็ไม่พูดพร่ำเหมือนกัน แต่บางคนสาธยายเหลือเกิน ผมก็แปล บางทีก็ตัดบ้าง ไอ้ที่มันพล่ามเกิน”
ผมพยายามเลือกเรื่องที่มีธรรมะ คืออย่างน้อยให้คนอ่านเขาได้ประโยชน์จากหนังสือบ้าง ถ้าฆ่ากันตายตั้งแต่ต้นจนจบ อย่างนั้นผมไม่เอามา
รั้งหนึ่งเคยมีคนถาม ว. ณ เมืองลุง ว่าเขาเชื่อเรื่องกำลังภายในหรือไม่
ครั้งนั้นนักแปลมือเก๋าตอบทันทีว่า ‘ไม่เชื่อ’
“ผมรู้สึกว่าเป็นไปได้ยากมาก คือหลักการมี แต่จะฝึกให้ได้อย่างนั้นมันยาก เปรียบง่ายๆ เวลาเราตกใจ เราอาจจะวิ่งไปได้ในระยะทางไกลๆ อาจจะกระโดดอย่างที่ว่าได้ แต่ตามปกติเราทำไม่ได้ เขาก็เลยพยายามฝึกเอากำลังภายในมาใช้ แต่ไม่เชื่อว่าเขาจะฝึกได้”
เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ใครหลายคนมักตีความว่า นิยายกำลังภายในนั้นเพ้อเจ้อไร้สาระ อ่านไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถึงเป็นเรื่องจินตนาการล้วนๆ ว. ณ เมืองลุง ก็ยังเชื่อว่า การที่วรรณกรรมประเภทนี้ยังสามารถหยัดยืนมาได้นับร้อยๆ ปี ต่างจากงานเขียนหลายๆ แนวที่ตายไปแล้ว ย่อมสะท้อนถึงคุณค่าบางอย่างที่แฝงอยู่กับผลงาน
“หนังสือกำลังภายในเป็นหนังสือที่แพงที่สุด คุณดูนะเล่มบ่างๆ อย่างนี้เล่มละ 5 บาท เรื่องหนึ่งมี 16 เล่ม ราคาก็ 80 บาทเข้าไปแล้ว ทั้งๆ ที่ข้างในภาพวาดก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี ถ้ามันไม่มีคุณค่าในตัวก็คงไม่มีคนซื้อ.. ผมคิดว่าของที่มันอยู่มาได้ ต้องมีคุณค่าในตัวของมัน อันนี้เป็นหลักความจริง เป็นปรัชญาพุทธศาสนาเลย” ว. ณ เมืองลุง กล่าวไว้เมื่อ 40 ปีก่อน
หนึ่งในคุณค่าที่เขาสัมผัสได้จากนวนิยายจีนกำลังภายใน ก็คือ สัจธรรมของชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะคุณธรรมน้ำมิตร
“ผมพยายามเลือกเรื่องที่มีธรรมะ คืออย่างน้อยให้คนอ่านเขาได้ประโยชน์จากหนังสือบ้าง ถ้าฆ่ากันตายตั้งแต่ต้นจนจบ อย่างนั้นผมไม่เอามา.. เพราะคิดว่าบ้านเมืองทุกวันนี้มันเปลี่ยนไป กรุงเทพฯ จริงๆ แล้วก็ไม่ต่างจากฮ่องกง มันเจ้าเล่ห์ เป็นวัตถุนิยมมากยิ่งขึ้น ใครๆ ก็ขวนขวายอยากได้
“ผมมองว่านิยายหรือวรรณกรรมนี้สามารถที่จะยกระดับจิตใจมนุษย์ขึ้นมาได้ ถ้าเราอ่านแล้วทำความเข้าใจกับมัน.. งานของนักเขียนรุ่นเก่าๆ เขาพยายามใช้สอดแทรกเรื่องคุณธรรมลงไป เช่นเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร คือเอาความดีลบล้าง ดีกว่าจะมาใช้เลือดล้าง”
และสิ่งเหล่านี้คือสารที่เขาอยากส่งให้ผู้อ่าน สำคัญยิ่งกว่ากำลังภายใน หรือการต่อสู้ใดๆ ก็ตาม
ย้อนเรื่องราวของนักเขียนการ์ตูนคนดัง ผู้สร้างแมวสีฟ้า โดราเอมอน จนโด่งดังไปทั่วโลก
นักเขียนตำนานในตำนาน แห่งเบบี้และขายหัวเราะ เจ้าของผลงานการ์ตูนติดเกาะ โจรมุมตึก และอื่นๆ อีกมากมาย
ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์อมรินทร์ ร้านนายอินทร์ และนิตยสารชั้นนำของเมืองไทย ผู้เปิดโลกการอ่านให้คนไทยมามากมายหนังสือ
เส้นทางของวรรณกรรมเยาวชน ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ หนังสือที่จุดกระแสการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และเพลิดเพลินกับเวทมนตร์และการผจญภัยของพ่อมดน้อยกับผองเพื่อน
นักเขียนนิทานเด็ก เจ้าของผลงาน ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ กับความฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากยกระดับการอ่านให้เด็กไทยทั่วประเทศ
ย้อนตำนานนิตยสารอันดับ 1 ตลอดกาลของเมืองไทย คู่สร้างคู่สม ผ่านเรื่องราวของบรรณาธิการตัวจริงเสียงจริง
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.