ระวี ภาวิไล : เพราะเราคือมนุษย์ของจักรวาล

<< แชร์บทความนี้

คนไทยผูกพันกับท้องฟ้ามานานแสนนาน

หลายคนเชื่อว่า ชีวิตจะขึ้นหรือลง ล้วนมีดวงดาวเป็นตัวกำหนด

แต่เมื่อความรู้เรื่องดาราศาสตร์เริ่มแพร่หลาย ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่เคยเชื่อว่าเป็นผลมาจากเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงถูกอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์

หนึ่งในนักดาราศาสตร์ที่คนไทยคุ้นเคยมากที่สุด คงไม่พ้น ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล

เพราะนอกจากเขาจะเป็นดอกเตอร์ดาราศาสตร์คนแรกของประเทศแล้ว เขายังเป็นผู้บุกเบิกการเรียนการสอนดาราศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมดาราศาสตร์ไทย เขียนบทความทั้งเรื่องดาวหาง ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และอื่นๆ อีกมากมาย

ไม่แปลกเลยว่า สมัยก่อนเวลาเกิดเหตุการณ์สำคัญ เช่น อุกกาบาตจะชนโลก การปรากฏตัวของดาวหางฮัลเลย์ หรือสุริยุปราคาเต็มดวง นักข่าวหลายสำนักจึงมุ่งตรงไปขอความรู้จากอาจารย์

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากขอพาทุกคนไปสัมผัสเรื่องราวความคิดของอาจารย์ระวี บุรุษคนสำคัญที่ช่วยให้จักรวาลกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยกว่าที่คิด

เริ่มต้นจากแว่นตาคุณยาย

เชื่อหรือไม่ว่า ความสนใจเรื่องดาราศาสตร์ของอาจารย์ระวี มีแว่นตาคุณยายเป็นเครื่องมือสำคัญ

ย้อนกลับไป ปลายสมัยรัชกาลที่ 7 เวลานั้นอาจารย์อายุไม่ถึงสิบขวบ ด้วยความที่อาศัยอยู่ตรงบ้านสวน พอสัก 6 โมงท้องฟ้าก็เริ่มมืด ดวงดาวหลายดวงก็เริ่มปรากฏกายให้เห็น

หากแต่ที่เด่นสุด คงต้องยกให้ดาวศุกร์ ที่ใครต่อใครมักเรียกว่า ดาวประจำเมือง

ด้วยความสงสัยว่า ทำไมดาวดวงนี้ถือสว่างไสวกว่าใครเพื่อน พร้อมคิดไปเรื่อยว่า บนนั้นจะมีมนุษย์เหมือนโลกที่เราอยู่หรือเปล่า แล้วมันอยู่ห่างจากจุดที่เรายืนสักแค่ไหน ถ้าเอาต้นหมากในสวนมาต่อกันจะต้องใช้สักกี่ต้นหนอ

เมื่อคิดได้ก็อยากรู้ จึงไปเอาแว่นตาของคุณยายที่ไม่ใช้แล้วมาส่องเข้าส่องออก

แม้ไม่ได้คำตอบ แต่ก็เห็นดาวศุกร์โตขึ้น ดูเหมือนเพชร กระตุ้นให้เด็กน้อยอยากค้นหาความลี้ลับบนท้องฟ้ามากยิ่งขึ้น

พอขึ้น ม.ปลาย อาจารย์ได้อ่านตำราเกี่ยวกับดวงดาว เขาอยากเห็นดวงจันทร์ชัดกว่าที่เคย จึงเอาแว่นตาเก่าของคุณยายมาซ้อนทับกันอีกหน กลายเป็นกล้องโทรทรรศน์แบบ D.I.Y แล้วนำไปส่องดวงจันทร์ แล้วก็พบกับภาพที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

“ตอนนั้นขาหยั่งก็ไม่มี วางกระบอกกระดาษแข็งพาดกับหน้าต่างชั้นบน เพื่อส่องดวงจันทร์ที่เพิ่งจะขึ้นตอนหัวค่ำ เหงื่อแตกพลั่กเลย เพราะไม่ค่อยเห็น ต้องพยายามตั้งให้นิ่ง จนในที่สุดก็เห็นหลุมเห็นบ่อบนดวงจันทร์ โอ๊ย..มันตื่นเต้น จะไปชวนใครมาดู เขาก็มองไม่เห็นอย่างที่เราเห็น คือต้องมือเที่ยง และมีความอยากเห็นนั่นแหละ แต่คนอื่นเขาไม่อดทนเหมือนเรา”

ในเวลานั้น สิ่งหนึ่งที่อาจารย์อยากรู้คือ จักรวาลนั้นเป็นอย่างไร เกิดได้อย่างไร ยิ่งช่วงหลังๆ ที่มีเพื่อนนักเรียนเอาหนังสือเกี่ยวกับดวงดาวให้อ่าน ความสนใจก็พุ่งสูงขึ้นอีก

เมื่อเข้าปี 1 ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์ก็เริ่มประดิษฐ์กล้องดูดาวของตัวเอง โดยได้แบบมาจากหนังสือที่ชื่อ Starcraft ซึ่งค้นเจอที่ห้องสมุด แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะเลนส์ที่คนเขียนแนะนำไม่มีขายในเมืองไทย

พอขึ้นปี 3-4 ก็ไปเอากล้องส่องสเกลจากห้องแล็บของคณะมาลองเล่น จนเห็นวงแหวนของดาวเสาร์ หรือเมื่อรู้ข่าวว่าเกิดปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ขึ้นที่ไหน อาจารย์ก็จะแบกกล้องไปสังเกตการณ์

แต่ถึงอย่างนั้น ความสนใจของเขาก็ยังอยู่ในขั้นสมัครเล่นเท่านั้น

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นตอนที่อาจารย์ถูกส่งไปอบรมโครงการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ที่รัฐอิลลินนอยส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2498

ที่นี่เวลาฟ้ามืด อากาศดีมาก อาจารย์เลยใช้เวลาว่างๆ สัก 10-20 นาทีถ่ายรูปดาว พระจันทร์ พอไปถ่ายบ่อยๆ ก็เลยได้รู้จักกับนักดาราศาสตร์คนหนึ่ง เป็นคนสอนทำกล้องดูดาว และฝนเลนส์เพื่อทำกระจกโค้งรับแสง ก็เลยถือโอกาสไปเรียนกับเขาเสียเลย

“..เขาส่งผมไปตามหอดูดาวหลายแห่ง พาขึ้นเครื่องบินส่วนตัวจากชิคาโกไปวิสคอนซิน แล้วส่งผมไปหอดูดาวที่เท็กซัส เพื่อพบปะกับนักดาราศาสตร์คนอื่นๆ ที่นั่นผมมีโอกาสฝึกการฝนเลนส์สำหรับกล้องส่องดูดาว ใช้เวลา 40 ชั่วโมงได้เลนส์ขนาด 6 นิ้วมา 1 อัน จึงจ้างช่างมาประกอบกล้องดูดาวให้ ซึ่งผมเอามาตั้งอยู่ที่ห้องรับแขก ต่อมาผมฝนเลนส์ขนาด 12 นิ้ว และนำกลับมาเมืองไทยด้วย ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้สร้างกล้องดูดาวสำหรับเลนส์นี้..”

เมื่อกลับมา อาจารย์ได้เปิดวิชาดาราศาสตร์ ขึ้นที่ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยในเมืองไทยที่มีการเปิดสอนศาสตร์นี้จริงจัง

อาจารย์ใช้จุฬาฯ สร้างฐานความรู้เรื่องดาราศาสตร์แก่นิสิตนักศึกษา เช่นการสร้างหอสุริยะบนดาดฟ้าอาคารฟิสิกส์ พร้อมกับติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สุริยะและกล้องถ่ายภาพ เพื่อศึกษาโครงสร้างบรรยากาศของดวงอาทิตย์แบบละเอียด นอกจากนี้ยังทำวิจัย และเขียนบทความเกี่ยวกับดาราศาสตร์จำนวนมหาศาล

ไม่แปลกเลยที่อาจารย์จะกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ช่วยให้เกิดนักดาราศาสตร์รุ่นใหม่แก่เมืองไทย และทุกครั้งที่เกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์สำคัญๆ เช่น ดาวหางฮัลเลย์เมื่อปี 2528 หรือสุริยุปราคาเต็มดวง ปี 2538 ซึ่งหลายครั้งมักถูกเชื่อมโยงกับเรื่องลี้ลับ อาจารย์จะออกมาให้ความรู้แก่คนไทย พร้อมอธิบายอย่างละเอียดถึงที่มาที่ไป ตามหลักการวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้ อาจารย์ยังแนะนำเคล็ดลับให้ผู้ปกครองถึงวิธีปลูกฝังความรู้เรื่องดาราศาสตร์แก่เด็กและเยาวชน เช่น พ่อแม่จะต้องพาบุตรหลานไปเห็นของจริง เพื่อกระตุ้นความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นให้เกิดขึ้นในจิตใจของเด็กๆ หาข้อมูลหนังสือเอกสารมาอธิบายไปด้วย เขาจะได้ซึมซับเรื่องเหล่านี้เพิ่มขึ้นทีละนิด

ที่ผ่านมาแม้หลายคนอาจมองว่า ดาราศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว แต่สำหรับอาจารย์แล้ว เรื่องราวบนท้องฟ้านั้นสำคัญ และเกี่ยวพันกับมุมมองความคิดของตัวเรา

“แต่ก่อนเรามักพูดว่าเราเป็นพลเมืองของประเทศ ภายหลังบอกโลกาภิวัตน์ ถือว่าโลกทั้งโลกเป็นหนึ่งเดียวกัน ผมจะเป็นจักรวาลาภิวัตน์ เราไม่ได้เป็นมนุษย์ของโลกเท่านั้น แต่เราเป็นมนุษย์ของจักรวาล และโลกนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสภาวะทั้งหมดทั้งสิ้น

“ดาราศาสตร์จึงเป็นองค์ความรู้ที่จะทำให้มนุษย์รู้จักว่า ตัวเองอยู่ที่ไหนในเอกภพ รู้จักเอกภพว่าเป็นอย่างไร เป็นมาอย่างไร และจะเป็นต่อไปอย่างไร มนุษย์มีความสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว และสภาวะทั้งหลายทั้งสิ้นอย่างไร การศึกษาดาราศาสตร์ จะช่วยให้บุคคลเข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ในทุกมิติ และจะช่วยให้เกิดทัศนะกว้างขวางต่อโลกและต่อชีวิต”

มนุษย์ผู้บ้าการทดลอง

ชีวิตของอาจารย์ระวีผูกพันกับการทดลองมาตั้งแต่เด็ก

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพ่อแม่ของอาจารย์สนับสนุนให้ลูกๆ เรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบตัว ไม่เคยปิดกั้น

อย่างสมัยก่อนบ้านอาจารย์อยู่หลังสนามกีฬา พอมีคนตีลูกเข้ามา อาจารย์กับพี่ชายมักเอาลูกเทนนิสหรือลูกกอล์ฟที่ตกมาผ่าดูว่าข้างในเป็นอย่างไร

“ข้างในลูกกอล์ฟมันมีเส้นยางเหมือนหนังสติ๊กพันตั้ง แต่เป็นแกนนิดเดียวจนเป็นก้อนโตและหุ้มด้วยเปลือกยางขาวๆ มันถึงกระเด้งได้ไง แต่ข้างในเนี่ยมันเป็นก้อนลูกยาง เราก็ดึงมันออกมาเล่นกัน

“แล้วแถวบ้านก็มีโรงงานทำหลอดนีออนแห่งแรกในประเทศไทย คือมีหลอดแก้วแล้วก็ใส่ปรอทเข้าไป ข้างหน้าโรงงานเขาจะเอาหลอดที่แตกเสียแล้วมาทิ้ง ผมก็ไปนั่งเก็บ เลือกเอาหลอดที่มีปรอทเหลืออยู่ข้างใน เล็กๆ น้อยๆ เอามาสะสมไว้เล่น”

อาจารย์เป็นพวกหาอุปกรณ์เก่ง ของอย่างสารเคมี เครื่องยนต์เก่า ต้องหาซื้อที่ไหน อาจารย์รู้หมด แม้แต่ของเก่าๆ ในบ้านที่ไม่ใช้แล้ว อย่างแว่นตาคุณยาย หรือแอมโมเนียมไฮดรอกไซด์ กรดไนตริก ซึ่งเหลือจากตอนที่คุณพ่อของอาจารย์ทำร้านชุบนิเกิล อาจารย์ก็นำมาต่อยอดใช้ทดลองต่างๆ นานา

ด้วยความคลั่งไคล้เช่นนี้เอง เลยมีอุบัติเหตุตามมาอยู่เสมอ

อย่างเช่นตอนโปแตสเซียมคลอเรตมาผสมกับฟอสฟอรัสแดง พอทิ้งไว้สักพัก ปรากฏขวดระเบิดกลายเป็นลูกไฟ เศษแก้วบางส่วนกระเด็นไปโดนใต้คิ้วตาขวาของอาจารย์ จนกลายเป็นแผลเป็น

“เวลาผมเดินไปไหนมาไหน ผมคิดถึงแต่สูตร คิดถึงแต่สมการ ตามองดูตามร้านว่า มีอะไรพอจะซื้อมาเล่นได้บ้าง บางส่วนมันอาจมาจากการอ่านหนังสือของเอดิสันด้วย ที่ทดลองบนรถไฟจนหูหนวก แต่เราทดลองแบบสนุกๆ ไม่ได้มีความประสงค์ทำร้ายใคร หรือคิดจะไปทำลายบ้านใคร”

พอเข้ามาเรียนมัธยมปลาย อาจารย์ก็มีโอกาสใกล้ชิดกับอุปกรณ์ไฟฟ้ามากขึ้น เริ่มทำกระดิ่งไฟฟ้า ระบบโทรเลขเอง และพอเข้ามหาวิทยาลัย ที่นี่มีเครื่องมือหลายอย่างให้เล่น ให้ทดลอง ยิ่งเล่นก็ยิ่งติดใจ บวกกับได้อ่านหนังสือของ Arthur Eddington นักฟิสิกส์คนดัง เรื่อง Space, Time and Gravitation กับ The Nature of The Physical World ส่งผลให้อาจารย์ตัดสินใจเลือกเรียนฟิสิกส์ ทั้งที่ยุคนั้นไม่มีนิสิตคนใดสนใจเลย

“สมัยผมวิชาที่เปิดและให้ปริญญากันทุกปีคือเคมี เพราะสามารถหางานทำตามสถานที่ราชการได้ สมัยนั้นโรงงานต่างๆ ยังไม่มี เลยไม่มีใครอยากเรียนฟิสิกส์ มีเพียงผมคนเดียว ซึ่งแบบนี้เขาไม่เปิดสอนให้ แต่บังเอิญเพื่อนคนหนึ่งสอบเกรดเคมีไม่ได้ ก็เลยมาเรียนฟิสิกส์แทน”

หลังเรียนจบ ด้วยความอยากทำงานเป็นช่างวิทยุ จึงไปสมัครงานที่กรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคม แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นตามหวัง เพราะความไม่ยุติธรรมของระบบ ส่งผลให้ชีวิตของอาจารย์พลิกผันมาสู่แวดวงวิชาการแทน

“นายช่างใหญ่เขาถามว่าจบอะไร ผมบอกว่าจบฟิสิกส์ เขาก็บอกว่าถ้าจบวิศวะจะให้เงินเดือนชั้นต้น 110 บาท แต่จบอย่างผมให้เพียง 80 บาท ผมเห็นว่าไม่ยุติธรรม จึงกลับมาเล่าให้อาจารย์ฟัง ท่านบอกว่า ‘ระวี เธอชอบเล่นเครื่องมือทดลองไม่ใช่หรือ ทำไมไม่มาอยู่ด้วยกันที่นี่ จะได้เล่นให้เต็มที่’ ผมจึงตกลงสมัครเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาฟิสิกส์เลย”

ตลอดชีวิตการเป็นครูฟิสิกส์ อาจารย์บุกเบิกวิชาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นวิชาพื้นฐานสำคัญของภาควิชา และยังประดิษฐ์นวัตกรรมอย่างเรือบังคับวิทยุ ซึ่งสมัยนั้นไม่เคยมีใครทำมาก่อน รวมทั้งยังเดินทางไปช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนเกิดนักฟิสิกส์รุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาอีกเพียบ

แม้บทบาทนักฟิสิกส์ของอาจารย์ระวีอาจไม่โดดเด่น เมื่อเทียบกับภาพของกูรูเรื่องดวงดาว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์ความรู้นี้ได้กลายเป็นรากฐานความคิดอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งดาราศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา และทำให้ชื่อ ระวี ภาวิไล กลายเป็นชื่อในความทรงจำของผู้คนมายาวนาน

เราไม่ได้เป็นมนุษย์ของโลกเท่านั้น แต่เราเป็นมนุษย์ของจักรวาล และโลกนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสภาวะทั้งหมดทั้งสิ้น

ระวี ภาวิไล : เพราะเราคือมนุษย์ของจักรวาล

จุดลงตัวของวิทย์และศิลป์

อีกภาพจำหนึ่งที่อยู่กับอาจารย์มานาน คือ เรื่องปรัชญาและศาสนา

เพราะท่านเป็นผู้บุกเบิกการแปลวรรณกรรมเชิงปรัชญา อาจารย์คุ้นเคยกับหนังสือเหล่านี้มาตั้งแต่มัธยม ผลงานของนักคิดนักเขียนหลายคน เช่น คาลิล ยิบราน อย่างเรื่องปรัชญาชีวิต, ทรายกับฟองคลื่น หรือ รพินทรนาถ ฐากุร เรื่องหิ่งห้อย ก็ได้อาจารย์นี่แหละที่เป็นผู้ช่วยถอดความเป็นภาษาไทยเป็นคนแรกๆ

“อย่างเรื่องปรัชญาชีวิต เพื่อนผมเขาบอกว่ามีหนังสือดีอยู่ที่ห้องสมุด มีเล่มเดียวด้วยในเมืองไทย จึงไปยืมมาอ่านซิ อ่านแล้วดี ก็เลยเอาสมุดไปจด ลอกเอาแหละ 1 เล่มสมุดปกแข็งพอดิบพอดี ลอกหน้าเดียว อีกหน้าว่างไว้ ลอกเสร็จภายใน 2 วัน ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ เราก็อ่านอยู่นั่นแหละ ไปไหนก็พกไปด้วย แต่ไม่ได้คิดจะแปล จนตอนหลังภาษาไทยมันไหลออกมาเอง ผมก็เลยเขียนตรงหน้าที่ว่างไว้

“ต่อมาเพื่อนร่วมรุ่น คือ วิลาศ มณีวัต ทำหนังสือชื่อนครสาส์น ผมก็ส่งเรื่องที่แปลไปลง แล้วก็ลงไปเรื่อยๆ กระทั่งอาจารย์ประคิณ ชุมสายฯ เอาต้นฉบับแปลของผมไปอ่าน เกิดความคิดว่าจะรวมเล่ม ซึ่งตอนรวมเล่มครั้งแรก ขายไม่ออกเลย เพราะสมัยนั้นคนยังไม่สนใจเรื่องปรัชญาเท่าไหร่”

ความจริงแล้ว อาจารย์สนใจเรื่องศาสนาและปรัชญามาตั้งแต่เด็ก อาจเป็นเพราะอาจารย์เติบโตมาแบบใกล้วัด เคยบวชเรียนมาตั้งแต่เป็นเด็กชาย

แต่ที่เรียกว่าเรียนรู้แบบจริงจังเลยก็คงเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนญี่ปุ่นบุกเมืองไทย จุฬาฯ ต้องปิดไป 2 เดือน อาจารย์อยู่ว่างๆ ไม่รู้ทำอะไร จึงไปยืมหนังสือธรรมะจากพระที่คุ้นเคยมาศึกษา และทดลองปฏิบัติ

พอฝึกสมาธิไปเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกอิ่มเอมใจ กระทั่งอายุครบอุปสมบท อาจารย์ก็ได้ฝึกวิปัสสนาตามแบบหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ พอสึกออกมาก็ได้รู้จักกับปราชญ์วิถีพุทธ อย่าง ท่านพุทธทาส และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ศึกษางานของท่านเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง

หลายคนอาจสงสัยว่า ปรัชญาและศาสนากับวิทยาศาสตร์ มองยังไงก็ไม่เห็นเข้ากัน แต่สำหรับอาจารย์ระวีกลับมองต่าง และเห็นว่าทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงกัน

เพราะขณะที่มนุษย์พยายามค้นหาคำตอบของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่ามีจุดเริ่มต้นอย่างไร แต่ที่น่าสนใจคือ ศาสนาได้ให้แนวทางและคำตอบเหล่านี้ไว้เรียบร้อยแล้ว

อย่างเช่นการนั่งสมาธิ หลายคนอาจไม่ทราบว่า ส่งผลต่อการคิดเชิงเหตุและผลโดยตรง เพราะเมื่อมีสมาธิ เราก็จะสามารถควบคุมความคิด ควบคุมจิตใจได้ ทำให้ความคิดเป็นระบบระเบียบ และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวมากยิ่งขึ้น

“สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้ ความเข้าใจ เรื่องของชีวิตในโลกได้อย่างสมบูรณ์ สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของผมคือความรู้ ไม่ใช่ฐานะ เงินทองหรือยศถาบรรดาศักดิ์ ผมแสวงหาความรู้ทั้งจากที่โรงเรียน และจากการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง ผมอยากรู้อะไร จะศึกษาค้นคว้าทุกอย่าง ผมชอบหาความรู้ในเรื่องชีวิตเรื่องโลก ทุกอย่างที่ได้เกิดมาพบ ผมมีความสนใจที่จะเรียนรู้

“ผมเลือกเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ขณะเดียวกัน จากสิ่งที่เรียนรู้นั้นก็นำมาใช้ปรับปรุงสภาวะที่เป็นอยู่ ปรับปรุงความสัมพันธ์กับผู้คน ปรับปรุงการมองดูโลกดูชีวิต มนุษย์ต้องมีการพัฒนา เมื่อยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือรู้แต่ยังไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ คนเราต้องมีความผิดพลาด แต่เมื่อรู้มากขึ้น เราก็แก้ไข ในสิ่งที่พลาดมาแล้วก็ให้แล้วกันไป เราเริ่มต้นใหม่ได้ทุกวัน”

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่อาจารย์ค้นคำตอบในจิตใจของตัวเอง นอกจากจะทำให้ชีวิตมีความสุขแล้ว อาจารย์ยังได้แบ่งปันประสบการณ์ดีๆ สู่สังคมภายนอก ด้วยการเป็นวิทยากรบรรยายธรรมะกับวิทยาศาสตร์ตามเวทีต่างๆ

อีกทั้งได้รังสรรค์โครงการต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น ธรรมสถาน ศูนย์รวมแนวคิดการนำหลักศาสนามาประยุกต์ใช้กับชีวิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอาจารย์รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการมายาวนานกว่า 20 ปี

หรือแบบจำลองลักษณะของจิต ซึ่งอาจารย์นำแนวคิดต่างๆ ของนักศาสนา นักปรัชญาคนสำคัญของโลก มาถอดเป็นบทเรียน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่แสวงหาคำตอบของชีวิตเข้าใจได้ง่ายขึ้น และต่อยอดเป็นหนังสืออภิธรรมสำหรับคนรุ่นใหม่

ด้วยใจที่เปิดกว้าง และไม่เคยหยุดยั้งที่จะพัฒนาชีวิตของตัวเอง ส่งผลให้อาจารย์เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจของใครต่อใคร ไม่ต่างจากหนังสือที่อาจารย์ถ่ายทอดที่ยังคงความเป็นอมตะ แม้ในวันที่ชีวิตของอาจารย์ได้กลับคืนสู่ธรรมชาติไปแล้วก็ตาม

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสือ ๙๐ อายุวัฒนมงคล ๙๐ วสันต์ ศ.เกียรติคุณ ดร.ระวี ภาวิไล
  • หนังสือ ระวี ภาวิไล : ที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ระวี ภาวิไล
  • หนังสือ ที่ระลึกเนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2529
  • หนังสือ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ : ยุคทองของดาราศาสตร์ไทย โดย บุญรักษา สุนทรธรรม, ไพรัช ธัชยพงษ์
  • นิตยสาร แม่และเด็ก ปีที่ 5 ฉบับ 82 ปักษ์หลังเมษายน 2525
  • นิตยสาร Hi-Class ปีที่ 6 ฉบับที่ 61 เดือนพฤษภาคม 2532
  • นิตยสาร Update ฉบับที่ 102 เดือนพฤศจิกายน 2537
  • นิตยสาร Variety ปีที่ 2 ฉบับที่ 21 เดือนเมษายน 2539
  • นิตยสารนำทาง ปีที่ 1 ฉบับที่ 16 วันที่ 14-20 เมษายน 2529
  • นิตยสาร กระจกเงา ปีที่ 3 ฉบับที่ 16 เดือนพฤศจิายน 2538
  • นิตยสาร Trendy man ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 เดือนมีนาคม 2536
  • นิตยสาร ฟิตเนส ปีที่ 8 ฉบับที่ 90 เดือนมิถุนายน 2540
  • นิตยสาร กุลสตรี ปีที่ 22 ฉบับที่ 528 เดือนมกราคม 2536
  • นิตยสาร บุคคลวันนี้ ปีที่ 4 ฉบับที่ 41 เดือนพฤศจิายน 2532
  • วารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2525

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.