อุไรวรรณ ศิวะกุล : ’อาจารย์อุ๊’ จากเด็กไม่ยอมเรียน สู่ครูกวดวิชาเคมีที่มีลูกศิษย์เป็นล้าน

<< แชร์บทความนี้

หากพูดถึงโรงเรียนกวดวิชาสักแห่ง รับรองว่า ‘เคมี อ.อุ๊’ ต้องเป็นชื่อแรก ๆ ที่ทุกคนนึกถึง

เพราะนอกจากสถาบันแห่งนี้จะหยัดยืนข้ามกาลเวลามานานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว เจ้าของโรงเรียนอย่าง อาจารย์อุ๊-อุไรวรรณ ศิวะกุล ยังมีเทคนิคการสอนที่ไม่ธรรมดา และทำให้เด็กหลายคนที่เคยมองว่าเคมีนั้นโคตรยาก กลับมาหลงรักและสนุกกับการเรียนวิชานี้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

นี่เป็นสาเหตุว่า ทำไมเด็กนักเรียนกว่าร่วมล้านชีวิตจึงมาสมัครเรียนอย่างต่อเนื่อง ถึงขั้นที่บางปีพอเปิดให้ลงทะเบียนปุ๊บ คอร์สเรียนก็เต็มปั๊บ กลายเป็นปรากฏการณ์ของแวดวงการศึกษาไทยถึงปัจจุบัน

ยอดมนุษย์..ธรรมดา จึงร่วมกับ The Cloud ชักชวนอาจารย์อุ๊มาร่วมพูดคุยถึงเส้นทางการเปิดติวเตอร์ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่สุดท้ายก็ก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ มาได้สำเร็จ ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากส่งลูกศิษย์ไปถึงฝั่งฝันตามที่ตั้งใจไว้ 

อ่าน :.อุ๊ จากเด็กที่เคยขอแม่เลิกเรียน สู่ครูกวดวิชาเคมีแถวหน้าที่มีลูกศิษย์นับล้านชีวิต ได้ที่ https://readthecloud.co/chem-ou

แต่ก่อนจะไปเต็มอิ่มกับเรื่องราวทั้งหมด เรามีเกร็ดสนุก ๆ น่าสนใจเกี่ยวกับอาจารย์อุ๊มาเล่าให้ฟัง

1. แต่เดิมอาจารย์อุ๊เป็นเด็กที่ไม่ชอบเรียนสุด ๆ เรียนหนังสือก็รั้งท้ายเสมอ แตกต่างจากพี่น้องคนอื่นที่เป็นระดับหัวกะทิ บางคนถึงขั้นเป็นท็อปของระดับจังหวัดเลย แต่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่เคยหยุดเชื่อมั่นในตัวของอาจารย์อุ๊ นั่นก็คือ แม่ของเธอ แม่มองว่าอุ๊เป็นเด็กหัวไว และวันหนึ่งลูกจะเรียนดีจนประสบความสำเร็จ

2. อาจารย์อุ๊เพิ่งมาเรียนดีจริง ๆ ก็ต้อง มศ.2 แล้ว โดยไต่จากอันดับท้ายแถวมาเป็นแถวหน้าของโรงเรียน ก่อนจะไปเรียนครู และจบออกมาได้ปริญญาโท แต่เรื่องหนึ่งที่เสียใจมากที่สุด เพราะหลังเรียนจบได้เพียง 8 เดือน แม่ก็เสียชีวิตลง ทำให้ไม่ทันเห็นความสำเร็จของลูกสาวคนนี้

3. อาจารย์อุ๊มาเปิดโรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ เมื่อปี 2532 ที่สะพานควาย โดยชื่อนี้ลูกศิษย์คนหนึ่งตั้งให้ โดยคำว่า ‘วรรณ’ มาจากอุไรวรรณ ซึ่งเป็นชื่อของอาจารย์อุ๊นั่นเอง ส่วนคำว่า ‘สรณ์’ มาจาก อนุสรณ์ หรืออาจารย์เจี๊ยบ สามีของอาจารย์อุ๊

4. การเปิดสาขาของอาจารย์อุ๊ ส่วนใหญ่จะอิงจากความสะดวกในการเดินทางของเด็ก เช่น เปิดสาขาบางกะปิ เพราะเด็กจากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) มาเรียนกันเยอะ หรือเปิดสาขาที่สยามสแควร์ เพื่อรองรับเด็กจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อาจารย์อุ๊เคยบอกว่า เปิดสาขาเยอะ ๆ แบบนี้ไม่ใช่เรื่องดี ยิ่งทำก็ยิ่งเหนื่อย เพราะทำแล้วก็ต้องคุมคุณภาพให้ดีด้วย จนสุดท้าย อาจารย์เจี๊ยบต้องลาออกจากตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เพื่อมาช่วยงานอาจารย์อุ๊เต็มตัว ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจจะอยู่ในราชการจนเกษียณอายุ

5. นอกจากการสอนในห้องแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่อาจารย์อุ๊ทำมาตลอดก็คือ การตอบคำถามนักเรียน บางครั้งเธอต้องตอบคำถามเด็กนานหลายชั่วโมง ถึงขั้นที่ว่า ถ้าเด็กคนสุดท้ายยังอยู่ ครูก็ไม่ออกจากห้องเหมือนกัน

6. ในช่วงที่เคมี อ.อุ๊ขยายสาขาไปต่างจังหวัด ระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ยังไม่พัฒนาเท่าใดนัก เพราะฉะนั้นเพื่อให้ส่งเทปที่อัดจากสาขาสะพานควาย ซึ่งเป็นสาขาหลักในสมัยนั้น ให้ถึงสาขาต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว จึงต้องใชัสารพัดวิธี ตั้งแต่ส่ง EMS วันเดียวถึง บ่อยครั้งต้องฝากไปกับรถทัวร์ และบางทีต้องส่งทางเครื่องบินไปเลยก็ยังมี แต่ตอนนี้ทุกอย่างสบายขึ้น เพราะแค่อัปโหลดไฟล์ 5 นาที เด็ก ๆ ก็เรียนได้แล้ว

7. ในปี 2550 อาจารย์อุ๊และอาจารย์เจี๊ยบตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะปิดสาขาสยามสแควร์ เนื่องจากปัญหาสัญญาที่ไม่ลงตัว โดยครั้งนั้น ทั้งคู่ต้องนั่งรถไฟฟ้าตระเวนจากอ่อนนุชไปถึงหมอชิตว่า จะหาสถานที่ใหม่อย่างไรให้ใกล้ BTS มากที่สุด จนกระทั่งมาพบที่ดินอยู่แปลงหนึ่งอยู่บริเวณหัวมุมถนนใกล้สถานีรถไฟฟ้าพญาไท โดยเดิมทีที่นี่เป็นบ้านเก่าของข้าราชบริพารของรัชกาลที่ 6 แต่ตอนหลังตกมาเป็นของชาวอินเดีย ก่อนจะปล่อยให้สถานทูตอินเดียเช่า และสุดท้ายก็ถูกปล่อยทิ้งร้างมานานกว่า 26 ปี พอดีตอนนั้นกำลังมีการเปิดประมูล อาจารย์เจี๊ยบเลยเข้าร่วมด้วย ปรากฏว่าไม่ได้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ผู้ชนะได้ทิ้งเงินมัดจำ กรมบังคับคดีก็เลยจัดประมูลใหม่ ซึ่งปรากฏว่าครั้งนี้ ทั้งคู่ชนะ อาจารย์อุ๊เลยตั้งใจจะทำที่นี่เป็นอาคารแห่งการศึกษา โดยเชื้อเชิญสถาบันกวดวิชาต่าง ๆ มาอยู่รวมกัน

โดยจุดเด่นของที่นี่คือ ไม่มีอบายมุข และความปลอดภัยสูงมาก เพราะปกติตามกฎหมายให้มีบันไดหนีไฟอย่างน้อย 1 แห่ง แต่อาจารย์อุ๊สร้างไว้ถึง 3 จุด แถมด้านหน้าก็ยังเว้นว่างสำหรับทางเดินเยอะมาก แล้วยังมีบันไดเลื่อนรองรับทุกชั้น (ยกเว้นชั้นบนสุดที่เป็นสำนักงาน) เพราะฉะนั้นหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา รับรองว่าทุกคนหนีทันอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ อาคารวรรณสรณ์จึงได้รับรางวัลเรื่องความปลอดภัย ระดับยอดเยี่ยมจากกรุงเทพมหานคร

8. แม้จะสอนวิชาเคมี แต่อาจารย์อุ๊ก็มีลูกศิษย์หลายคน ทั้งที่ยังเรียนอยู่และทำงานแล้วมาขอคำปรึกษาปัญหาชีวิตอยู่เสมอ

“บางคนบอกว่า ถ้าผมตายไป พ่อแม่ผมจะมีความสุข ครูก็ถามว่า หนูคิดอะไรลูก เขาก็เล่าว่า พ่อแม่โกรธเขามาก แล้วเครียด เขาคิดว่าถ้าตัวเองตายไป อีกไม่ถึง 2 ปี เดี๋ยวพ่อแม่ก็ลืมเขาไปเอง พอครูได้ยินแบบนี้ก็เลยบอกว่า ในฐานะที่ครูก็เป็นแม่เหมือนกัน ครูจะเสียใจไปตลอดจนครูตาย เพราะฉะนั้นอย่าทำเลยนะลูก แล้วเขาก็ร้องไห้ออกมา คือครูเจอเด็กที่มีปัญหาแบบนี้เยอะมาก

บางคนโดนเปลี่ยนงาน เศร้าก็โทรมา ครูก็บอกว่าไม่ได้มีงานนี้งานเดียวนะลูก แล้วต่อไปทำงานเราต้องขยันหมั่นเพียร ถ้าทำแค่จบไปวัน ๆ แล้วเขาคัดออก ก็แสดงว่าเราเป็นกลุ่มที่ทำงานไม่เข้าเป้า ครูเชื่อว่า ถ้าครูทำ เขาไม่คัดครูออกหรอก เด็กก็บอกว่าครับ เพราะเขารู้ว่าครูทำงานจริงจัง ฉะนั้นครูเลยขอให้เขาทำงานให้คุ้มมากกว่าคุ้ม ถ้าเราออกก็ต้องทำให้เขารู้สึกเสียดาย ไม่ใช่ให้เขาไล่ ไปได้ก็ดีแล้ว แล้วทุกครั้งที่เราทำ เราจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ไปเรื่อย ๆ อย่ายอมที่จะจำกัดความรู้แค่นี้ เพื่อที่เราจะได้นำสิ่งนี้ไปพัฒนาและเติบโตขึ้น

9. ตลอดหลายสิบปีที่สอนหนังสือ อาจารย์อุ๊แทบจะไม่เคยหยุดเลย แม้แต่ตอนที่ผ่าคลอดลูกสาวคนเล็ก ก็ได้พักเพียง 14 วัน จากเดิมที่ตั้งใจจะขอลาสัก 45 วัน โดยหลัก ๆ จะได้หยุดพักหลังเด็กสอบเสร็จ ปีหนึ่งประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น แต่ต่อให้มีวันหยุด อาจารย์อุ๊ก็ไม่อยากพักอยู่ดี

ครูไม่ชอบไปเที่ยว อย่างล่าสุดไปต่างประเทศ ครูก็จะบอกลูกชายว่า เมื่อไหร่จะกลับ จนลูกบอกว่าแม่จะสอนตลอดชีวิตเลยใช่ไหม หรือไปช็อปปิ้งก็จะบอกว่าไปทำไม ของก็เหมือนเดิม ไม่รู้จะซื้ออะไร ซื้อของกิน ก็กินมากไม่ได้ อายุเยอะแล้ว และครูชอบซื้อหม้อข้าว เครื่องครัวนี่มีหมดเลยนะ แต่ทำครัวไม่เป็น หรือเวลาไปต่างจังหวัด ก็ต้องขนหนังสือไป จะได้อ่านไม่ได้อ่านขอให้ติดมือ คือเป็นคนประหลาดมาก แต่ถึงอย่างนั้นครูก็มีความสุขนะ

10. อาจารย์อุ๊บอกว่า แม้ตอนนี้อายุจะเลยวัยเกษียณไปแล้วหลายปี แต่ก็ยังสอนหนังสือได้สบาย ไม่รู้ว่าเอาเรี่ยวเอาแรงมาจากไหน อาจเป็นเพราะญาติฝั่งพ่อต่างอายุยืนกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคุณปู่ ซึ่งเสียชีวิตตอนอายุ 106 ปี คุณย่าอายุ 104 ปี ส่วนคุณพ่อจากไปตอนอายุ 95 ปี เพราะฉะนั้นก็จะขอสอนหนังสือแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทำไม่ไหว

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.