จารุจินต์ นภีตะภัฏ : ยอดมนุษย์สารพัดสัตว์

<< แชร์บทความนี้

เรื่องแมลง ค้างคาว จิ้งจก กิ้งกือ กบ เขียด คางคก หรือสัตว์หน้าตาแบบไหน เชื่อเถอะว่าสำหรับเมืองไทยแล้ว ยากที่จะหาคนรู้ลึก รู้จริง เท่ากับชายที่ชื่อ จารุจินต์ นภีตะภัฏ

ว่ากันว่า แค่เห็นหน้าตาสัตว์แวบเดียว เขาก็สามารถบอกได้ทันทีว่า ชื่ออะไร มีถิ่นที่อยู่มาจากไหน ไม่เพียงแค่นั้น เขายังเป็นผู้บุกเบิกพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ศูนย์รวมความรู้เรื่องสัตว์และพืชที่สมบูรณ์แบบที่สุดในเมืองไทย รวมถึงองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ แหล่งความรู้ขนาดใหญ่ลำดับต้นๆ ของอาเซียน

สำคัญสุดคือ เขาเป็นนักจัดเรียงชนิดพันธุ์สัตว์ หรือที่เรียกว่า นักอนุกรมวิธาน มือฉมัง อาชีพหายากแต่ขาดไม่ได้ ที่บ้านเรามีคนทำน้อยสุดๆ ชนิดนับนิ้วได้

ตลอดหลายสิบปี เขาค้นพบสัตว์น้อยสัตว์ใหญ่ประเภทใหม่ๆ ที่ไม่เคยถูกค้นพบที่ใดในโลกมากมายนับไม่ถ้วน รวมทั้งยังเป็นผู้ฉายภาพความสัมพันธ์ของระบบนิเวศอย่างทะลุปรุโปร่ง และพิสูจน์ให้เห็นว่า ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ ไม่ใช่เพียงคำพูดลอยๆ

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกท่านไปรู้จักกับนักธรรมชาติวิทยาระดับตำนาน บุคคลที่ผู้คนต่างยกย่องในความไม่ธรรมดาของเขา ถึงขั้นมีคำกล่าวที่ว่า “หากเมืองไทยมีอาจารย์จารุจินต์สักสิบคน การอนุรักษ์ธรรมชาติในบ้านเราคงดีกว่านี้หลายเท่าตัว”

เด็กชายผู้หลงรักแมลง

“หากไม่พิสดารจริง หรือบ้ามากๆ ทำไม่ได้หรอก..”

หลายคนอาจสงสัยว่า นักอนุกรมวิธานคือใคร สำคัญแค่ไหน..

หากจะว่าไปแล้ว อาชีพนี้ก็เหมือนตัวประกอบ ที่ไม่โดดเด่นเมื่อเทียบอาชีพข้างเคียงอย่างสัตวแพทย์หรือนักอนุรักษ์ทั้งหลาย แต่ก็เป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะความรู้ที่เกิดจากการค้นคว้าศึกษาและวิจัยของเขานั้นเป็นพื้นฐานที่สามารถต่อยอด และสนับสนุนให้งานอื่นๆ ขับเคลื่อนไปได้

เช่นเมื่อก่อนภาคใต้ มีคนถูกงูเห่ากัดตามบนเขาเป็นจำนวนมาก ฉีดยายังไงก็ไม่รอดสักราย แต่อาจารย์ก็ใช้องค์ความรู้ของการแยกประเภทสัตว์ จึงทราบว่า งูเห่าบนเขากับงูเห่าพื้นราบนั้นเป็นคนละชนิดกัน เซรุ่มที่มาจากงูพื้นราบก็เลยใช้ไม่ได้ จนนำไปวางโปรแกรมพิษของสถานเสาวภาใหม่ทั้งหมด

เวลาส่งเซรุ่มไปตามภูมิภาคต่างๆ ก็ต้องให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ เช่นภาคใต้ส่งไปทั้งแบบพื้นราบและภูเขา ส่วนภาคอีสาน งูพื้นราบมีน้อย ก็เลยเน้นเซรุ่มสำหรับงูภูเขาเป็นหลัก

แต่แน่นอน อาชีพนี้ไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้ หัวใจสำคัญคือต้องมีความคลั่งไคล้เป็นพื้นฐาน อย่างอาจารย์จารุจินต์ต้องถือว่า เขารักและผูกพันกับสัตว์มาตั้งแต่นอนเปล

“คุณพ่อผมจะเอาตุ๊กตาที่เป็นรูปสัตว์มาห้อยในเปลให้ผมจับเล่น ก็พวกปลาเงินปลาทอง นก ม้าต่างๆ ไปเรื่อยๆ นั่นแหละ แต่บางคนอาจหาว่าผมโอเวอร์ก็ได้นะ เอาเป็นเริ่มสนใจเรื่องสัตว์ตั้งแต่เด็กๆ ก่อนจะเข้าเรียน แทบจะเรียกชื่อสัตว์ได้ก่อนชื่อคน”

ช่วงเป็นเด็ก อาจารย์ไม่เล่นของเล่นเหมือนเด็กคนอื่น สิ่งที่เขาสนใจคือสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย พวกจิ้งหรีด กิ้งกือ จะถูกจับใส่ขวดมาดูเล่น เพราะฉะนั้นก่อนเข้าบ้าน คุณแม่จึงต้องคอยตรวจสอบกระเป๋ากางเกงให้เรียบร้อยว่า จารุจินต์ไม่ได้เอาสัตว์อะไรซุกซ่อนกลับมา

“ตอนที่ยังไม่ทัน 5 ขวบดี ผมเคยเกือบถูกงูกัดตายนะ ตอนนั้นผมไปลากงูสามเหลี่ยม จำได้ว่าอยู่ในท่อน้ำตัวยาวกว่าตัวผมอีก ตอนนั้นไม่รู้ว่ามันคืออะไรแต่รู้สึกชอบมาก ตัวมันดำๆ เป็นมัน สวยจริงๆ พอพ่อผมเห็นร้องลั่นเลย ผมตกใจก็เลยปล่อย มันก็เลื้อยหนีออกจากบ้านไป”

แม้กระทั่งตอนเรียนหนังสือ ความชอบเรื่องสัตว์ก็ไม่เคยจางหายไปไหน มีแต่ยิ่งเพิ่มทวีคูณ ในลิ้นชักของเขาเต็มได้วยตัวหนอน ผีเสื้อ แมลงชนิดต่างๆ นับไม่ถ้วน ตัวที่ตายแล้วเขาก็เอามานั่งเด็ดปีก เด็ดหนวด สังเกตลวดลาย จำนวนขา หรือไม่ก็ผ่าท้องดูข้างในว่าเป็นอย่างไร จนมีฉายาว่า ‘ตัวรังแกสัตว์’

ความจริงคนรอบข้างเองก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอกว่า เหตุใดเด็กชายจารุจินต์ถึงสนใจเรื่องแมลงมากเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่เคยห้ามปราม หรือดุด่า แถมมีหลายครั้งที่คุณพ่อนักบินของเขา ช่วยอธิบายว่าสัตว์เหล่านั้นคือตัวอะไร มีพฤติกรรมแบบไหน จนกลายเป็นความทรงจำที่ต่อเนื่องมานานอีกหลายปี

“เด็กมักสนใจธรรมชาติรอบๆ ตัว แต่บางครั้งก็ถูกปิดกั้นความสนใจเหล่านี้ ยิ่งถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ พอไปจับแมลงแปลกๆ มาก็ถูกผู้ใหญ่ห้ามปรามหรือตี ถ้าเด็กถามว่า นี่คือตัวอะไร ทำไมมีสีประหลาดแบบนั้น ก็ไม่มีใครตอบได้ ความสนใจที่ว่านี้ก็ถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะรู้จักธรรมชาติก็ลดน้อยลง

“ความจริงพ่อก็หนักใจที่เห็นผมไปนั่งมุดอยู่กับหญ้าหาตั๊กแตนทั้งวัน แต่เขาก็ส่งเสริม แต่ส่งเสริมแบบว่าหนักใจว่าจะไปรอดหรือเปล่า เขายังพูดเลยว่าโตขึ้นจะหากินอะไร หรือจับแมลงเล็กๆ เลี้ยงพ่อทุกวัน”

หลังเรียนจบมัธยม อาจารย์มีผลการเรียนระดับดีเยี่ยม ถึงขั้นเข้าเรียนแพทย์ หรือวิศวะได้สบายๆ แต่เขากลับฉีกแนว หันไปเรียนคณะเกษตรแทน โดยมุ่งไปที่สาขากีฎวิทยา หรือศาสตร์ที่เกี่ยวกับแมลงโดยเฉพาะ ด้วยความฝันที่จะเป็นนักอนุกรมวิธานสัตว์ของเมืองไทย ในขณะที่เพื่อนๆ ส่วนใหญ่มุ่งความสนใจไปที่เรื่องยาฆ่าแมลงกัน

จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของอาจารย์เกิดขึ้นช่วงที่เรียนปริญญาโท วันหนึ่งขณะที่กำลังจัดเรียงผีเสื้อกลางวันอยู่ที่กรมวิชาการเกษตร ก็มีชายสูงวัยสวมแว่นผู้หนึ่งทักขึ้นมาว่า “นายดูผีเสื้อเป็นนี่หว่า ไปอยู่กับฉันไหม”

ตอนนั้นเขาก็ยังไม่รู้หรอกว่าใคร กระทั่งชายผู้นั้นแนะนำตัวว่าชื่อ นพ.บุญส่ง เลขะกุล บุคคลผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘บิดาแห่งการอนุรักษ์ของไทย’ เวลานั้นคุณหมอบุญส่งกำลังมีโครงการทำหนังสือผีเสื้อเลี้ยงเล่มแรกของเมืองไทยอยู่พอดี แต่ก็ยังไม่เสร็จสักที

หลังตัดสินใจรับปากไปอยู่ด้วย คุณหมอก็ถามอาจารย์ว่า ถ้าไปอยู่แล้วอยากอยู่แบบไหน “แบบลูกหรือลูกจ้าง..ถ้าอยู่แบบลูกจ้างมีเงินเดือนให้ แต่ถ้าอยู่แบบลูกก็แล้วแต่ให้ อยากได้หนังสือ อยากได้อะไรก็บอก ถ้ามีเงินก็ให้ ไม่มีก็ไม่ให้”

สุดท้ายอาจารย์ก็เลยตัดสินใจขออยู่แบบลูกดีกว่า

“สมัยนั้นผมศึกษาเรื่องพืชเรื่องสัตว์จนไม่ได้กลับบ้านเลย ก็นอนที่บ้านหมอบุญส่งนั่นแหละ สิ่งที่ผมทำทุกวันนี้ก็ท่านนี่แหละที่เป็นคนไกด์มาโดยตลอด อบรมสั่งสอนวางกรอบให้ เพราะงานด้านนี้ถ้าสนใจธรรมดาโดยไม่มีคนชี้แนะ มันไม่มีแนวทางที่จะไป เรียนปริญญาโทก็หมอบุญส่งนี่แหละ ค่าหน่วยกิตก็ไถคุณหมอ ผมมีตังค์ที่ไหน บอกขอสัก 20 หน่วยกิต เท่าไหร่ก็ควักให้ เหมือนเป็นลูกคนที่ 6 ของท่าน”

มือซ้ายของหมอบุญส่ง

อาจารย์จารุจินต์ทำงานเป็นมือซ้ายของหมอบุญส่ง คู่กับศิษย์รักอีกคนคือ กิตติ ทองลงยา นักสัตวศาสตร์ชื่อดัง ผู้ค้นพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร และค้างคาวกิตติ ค้างคาวที่เล็กที่สุดในโลก

หน้าที่หลักๆ ของจารุจินต์ คือคอยสกรีนจดหมายทุกฉบับที่มาถึงคุณหมอ งานไหนที่เชิญไปแล้วไม่ค่อยเกิดประโยชน์ อาจารย์ก็จะเงียบไว้ไม่ยอมบอกคุณหมอ รวมทั้งยังทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขาธิการนิยมไพรสมาคม คอยทำตำราด้านสัตว์ป่า ช่วยคุณหมอเก็บข้อมูล ฉายภาพยนตร์บรรยายให้ครูและเด็กๆ ฟัง รวมทั้งลงพื้นที่ไปสำรวจสัตว์ป่าต่างๆ ทุกภาคทุกจังหวัด

ผลจากการทำงานใกล้ชิดกับปรมาจารย์ ทำให้ความสนใจของอาจารย์จารุจินต์ขยายขอบเขตจากแมลง มาสู่สัตว์อื่นๆ อีกมากมาย ทั้งนก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลื้อยคลาน รวมทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์คนแรกที่ข้ามสายไปเรื่องพืช

ว่ากันว่าอาจารย์สามารถจำแนกชนิดของพืชต่างๆ ในป่าได้แม่นยำไม่แพ้เหล่าสารพัดสัตว์เลย โดยเวลาเข้าป่าแต่ละครั้ง เขาจะเดินท่องชื่อต้นไม้ทุกต้นที่เห็น จนจำได้หมด อาจารย์บอกว่า สิ่งมีชีวิตแต่ละอย่างล้วนสัมพันธ์กัน การรู้ทุกศาสตร์พร้อมกันไปจะทำให้เข้าใจธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้น

“ระบบนิเวศทั้งระบบ แม้แต่ใบไม้ใบหนึ่งก็ไม่ควรจะเก็บมา ใบไม้ใบหนึ่งมีแบคทีเรียเท่าไร ขาดไป 1 ใบอดไปหลายตัวนะ นกตัวหนึ่งต้องกินไส้เดือน 10 ตัวถึงจะอิ่ม ถ้าไส้เดือนหายไปตัวหนึ่ง มันก็กินไม่อิ่ม ในระบบนิเวศจึงต้องพึ่งพาอาศัยกันทั้งหมด ทุกตัวสัมพันธ์กันหมด..

“และมันเป็นตัวชี้ว่าเราจะอยู่หรือไป ตราบใดที่คุณเห็นนกบินในท้องฟ้า คุณก็สบายใจได้ ถ้านกเกลี้ยงฟ้าเมื่อไร คุณก็เตรียมตัวตายได้ วันนี้นกอาจจะตาย แต่วันหน้าคนก็ตายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นสัตว์หลายอย่างเป็นตัวบ่งชี้อากาศในอนาคตได้ แถมสัตว์บางชนิดก็ทนกว่าคนนะ คุณลองเทียบกับแมลงสาบสิ คุณอยู่ในท่อน้ำทิ้งได้ไหม เพราะฉะนั้นถ้าจะตาย คนตายก่อน แมลงสาบไม่ตายหรอก”

อาจารย์จารุจินต์ทำงานอยู่กับหมอบุญส่งนานหลายปี หลังจบปริญญาโท คุณหมอก็มีแผนจะส่งอาจารย์ไปทำงานที่สถาบันสมิธโซเนียน เพื่อประสานงานวิจัยระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา

แต่ทุกอย่างก็ไม่เป็นไปตามนั้น เนื่องจากกิตติ มือขวาของคุณหมอ ซึ่งถูกส่งไปทำงานสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศ เสียชีวิตกะทันหันด้วยโรคหัวใจ เมื่อต้นปี 2517

“ตอนนั้นคุณหมอบุญส่งร้องไห้อยู่หลายวัน ผมไปปลอบ แล้วท่านก็สั่งผมว่า อย่าตายนะ ถ้านายตายอีกคน ฉันหมดแน่ ท่านสั่งผมเลย ถ้าเกิดเจ็บป่วยอะไรก็ตาม เสียเท่าไรให้เอาเงินท่าน เจ็บป่วยผมรักษาฟรีทุกอย่าง ไปเบิกจากครอบครัวท่าน..”

จากนั้นคุณหมอก็ผลักดันให้อาจารย์จารุจินต์มาทำงานที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แทนกิตติ พร้อมกับมอบภารกิจสำคัญที่เขาต้องใช้เวลาทำอยู่นานร่วม 20 ปีจึงสำเร็จ

3 ภารกิจสำคัญของชีวิต

มีความฝัน 3 อย่างที่หมอบุญส่งฝากฝังให้อาจารย์จารุจินต์สานต่อให้สำเร็จ

หนึ่งคือ การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา สองคือ ทำหนังสือคู่มือนกภาษาไทยเล่มแรกให้สำเร็จ และสุดท้ายคือ สร้างพจนานุกรมสัตว์ไทย หากแต่ทุกงานล้วนยากและทำได้ลำบาก โดยเฉพาะในประเทศที่มีข้อจำกัดทั้งเรื่องงบประมาณ สถานที่ และบุคลากร

หน้าที่หลักๆ ของอาจารย์ คือสำรวจและวิจัยสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ในประเทศ จัดทำอนุกรมวิธาน จำแนกชนิดประเภทและสายพันธุ์อย่างชัดเจน หากแต่การนั่งวิจัยอยู่ในห้องแล็บอย่างเดียว ไม่ทำให้เข้าใจธรรมชาติดีพอ แต่ละเดือน จึงต้องออกไปตะลุยตามจังหวัดต่างๆ เพื่อหาสัตว์ต่างๆ มาทำวิจัย

“ผมไปมาหมดแล้วทุกที่ สมัยก่อนภาคใต้น่ากลัวเป็นพื้นที่สีแดง กรุงชิง บ้านซ่อง เวียงสระ สหายทั้งนั้น สหายชอบ สหายเลิศ เพื่อนกันไปนั่งกินเหล้า พอน้องๆ มาก็แจกถุง คืนนี้ใครเจออะไรจับให้อาจารย์หน่อย พอเช้าเดินมากันเป็นแถวเอาถุงมาวางให้ บนยอดเขาจะเป็นพวก ผกค.อยู่ ส่วนเชิงเขาจะเป็นพวกโจรปล้นรถทัวร์ ผมเป็นคนเดียวที่จะเข้าป่าภาคใต้เมื่อไหร่ก็ได้ เพราะกรีดเลือดสาบานเป็นพี่น้องกับโจรหน้าน้ำตก ใช้มีดกรีดเลือดหยดลงแก้วเหล้าสาบานเป็นพี่น้องกัน กินคนละครึ่งแก้ว”

อาจารย์เล่าว่า หัวใจสำคัญของการทำงานคือ ชาวบ้าน เพราะพวกเขาคลุกคลีอยู่กับสัตว์ บางชนิดก็เป็นอาหาร กินกันมานมนานตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายายแล้ว

“ผมถือชาวบ้านเป็นครู เราต้องเรียนรู้จากเขา อย่าไปดูถูกเขา ผมเจอตุ๊กแกชนิดใหม่ของโลกก็เพราะชาวบ้านมาบอกว่า อาจารย์..ตุ๊กแกตัวนี้ไม่เหมือนตัวที่อยู่บนต้นไม้นะ ตามันคนละสี ผมดู เฮ้ย จริงโว้ย ไอ้นั่นมันตาสีเทา นี่ตาเป็นสีเขียว ผมก็เอาตัวนี้มานั่งหาความแตกต่าง ปรากฏว่าโครโมโซมไม่เหมือนกัน ก็เลยตั้งชื่อใหม่”

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีบนเส้นทางนักอนุธานวิกรม อาจารย์จารุจินต์ตั้งชื่อสัตว์มาแล้วเป็นร้อยๆ ตัว ตัวไหนที่ไม่มีชื่อภาษาไทย อาจารย์ก็ตั้งให้หมด ผีเสื้อ 700 กว่าชนิด นกอีก 20 กว่าชนิด ด้วง ตั๊กแตน คางคก โดยหลักการตั้งชื่อมาจากการสังเกตนิสัย อาหาร รูปร่าง รวมถึงถิ่นที่อยู่อาศัย เช่นนกอีวาบตั๊กแตน ก็กินตั๊กแตนเป็นอาหาร นกร่อนทะเล นกกรีดน้ำ ก็ดูจากพฤติกรรมของมัน

นอกจากนี้ อาจารย์ยังรวบรวมรายชื่อสัตว์บางชนิดที่ตัวเดียวกัน แต่หลายชื่อ จัดเป็นหมวดหมู่ชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้น ทั้งชื่อท้องถิ่น ชื่อโบราณ ซึ่งบางชื่อก็สะท้อนเอกลักษณ์และความเชื่อของสังคมได้อย่างดี เช่น ทากลิ้นหมาที่คนอีสานชอบเรียกว่า กระตืกฟ้า (หมายถึงตกมาจากฟ้า) เพราะมันชอบออกมาหลังจากฝนตก

แต่ถึงจะมีข้อมูลดีเพียงใด ปัญหาหนึ่งก็คือ การเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชน เพราะส่วนหนึ่งหน่วยงานที่อาจารย์สังกัดอยู่ไม่ได้มีสถานที่แสดงงาน ดังนั้นจึงต้องไปขออาศัยไหว้วานตามที่ต่างๆ เช่น เขาดิน ท้องฟ้าจำลอง คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่น

นอกจากนี้ เขายังต้องตระเวนรับจ้างทำวิจัย เพื่อหาทุนเข้าสถาบันมาทำกิจกรรมต่างๆ เช่นโครงการสร้างสะพาน บริเวณทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ในช่วงแรก ผู้สร้างต้องการถมคันดินเป็นแนวตลอดเหมือนเขื่อน แต่พอมาวิเคราะห์แล้วทำเป็นตอม่อดีกว่า เพราะทำให้น้ำในทะเลน้อยยังคงมีการหมุนเวียนได้ และสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด หรือช่วยแก้ปัญหาให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่มักเจอปัญหางูเลื้อยขึ้นเสาไฟฟ้า จนเกิดเหตุไฟช็อตเป็นประจำ

แต่ผลงานที่โดดเด่นสุด คือการแก้ปัญหานกชอบบินชนเครื่องบิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นได้

“ผมไปสอนพวกนักบินว่านกอะไร และจะปราบยังไง อย่างสนามบินสุวรรณภูมิ มีนกปากห่างเยอะมาก ผมต้องไปหาวิธีย้ายนกให้เขา ต้องใช้วิธีทำให้นกไปโดยไม่ต้องยิง คือใช้ระบบนิเวศควบคุม สนามบินเชียงใหม่ เชียงราย หาดใหญ่ ภูเก็ต นกมาลง แต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ผมไปจัดการให้หมด พวกโรงงานก็ด้วย ไปช่วยป้องกันไม่ให้แมลงเข้า หนู งู ตุ๊กแกเข้าโรงงาน

“เพราะผมรู้นิสัยมันผมถึงรู้ว่าจะทำอย่างไร จะปราบสัตว์พวกนี้อย่างไร อย่างแมวที่มันมาเคล้าแข้งเคล้าขาเรา ไม่ใช่เพราะมันรักหรือประจบเรา แต่มันเอากลิ่นมาทาขาเราไว้ ให้รู้ว่าเราเป็นของมัน ตู้ เตียง เอากลิ่นที่คางไปทาไว้หมด ที่จริงแมวมันไม่รักเรา แต่มันว่าเราเป็นสมบัติของมัน”

แต่ถึงจะทำงานอย่างหนัก รวบรวมสัตว์ได้มากกว่า 5,000 ชนิด แต่เมื่อเทียบสัดส่วนของปริมาณสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ก็เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หากการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการสร้างระบบ และผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาขึ้นในประเทศให้ได้

อาจารย์พยายามโน้มน้าวให้ผู้มีอำนาจเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ แต่ปัญหาคือพอผูู้บริหารชุดใหม่มาถึง นโยบายก็เปลี่ยนแปลงตลอด จนกระทั่งมาถึงยุคที่ ดร.เกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา มาเป็นปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม องค์กรที่อาจารย์ฝันมานานก็เป็นรูปเป็นร่างเสียที

ผมถือชาวบ้านเป็นครู เราต้องเรียนรู้จากเขา อย่าไปดูถูกเขา

จารุจินต์ นภีตะภัฏ : ยอดมนุษย์สารพัดสัตว์

เส้นทางสู่ฝัน..พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ

“ตอนแรกผมขอแค่เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา แต่เขาบอกว่าตั้งทั้งที ตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ไปเลย คือรวมทั้งวิทยาศาสตร์ด้านเคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และชีววิทยา”

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ก่อตั้งเมื่อปี 2538 ด้วยความตั้งใจอยากที่จะให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนเป็นแหล่งบ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ นักอนุกรมวิธาน ซึ่งเมืองไทยมีผู้ที่ทำงานสายนี้น้อยมาก

ครั้งหนึ่ง อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ว่าอยากจะได้นักอนุกรมวิธานในทีมสัก 35 คน ดังนั้นเวลาเห็นคนรุ่นใหม่ที่มีแวว ก็จะพยายามชักชวนให้มาทำงานร่วมกัน เพราะการค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา งานของนักอนุกรมวิธานจึงหนักขึ้นตามไปด้วย

การศึกษาพืชและสัตว์อย่างจริงจัง ทำให้เราสามารถเรียนรู้และนำธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ เช่น ทำเป็นอาหาร ยา หรือใช้ในอุตสาหกรรมได้ หากไม่มีการศึกษา ก็เท่ากับเราได้สูญเสียโอกาสเหล่านี้โดยปริยาย

ด้วยความตั้งใจให้พิพิธภัณฑ์เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง อาจารย์จึงพิถีพิถันกับทุกรายละเอียด อย่างนิทรรศการถาวร ชุดความหลากหลายทางชีวภาพ ก็แทบไม่มีการใช้สัตว์สตัฟฟ์เลย เนื่องจากสัตว์ที่ตายแล้วดูไม่สวย และไม่อยากไปเอาชีวิตของสัตว์เหล่านั้นมาจัดแสดง อาจารย์จึงให้ใช้วิธีหล่อไฟเบอร์กลาสแล้วลงสีให้เหมือนกับตัวจริงแทน แต่ละชิ้นอาจารย์ลงทุนมาควบคุมการปั้นด้วยตัวเอง ชิ้นไหนที่ไม่เหมือนก็ต้องทุบแล้วปั้นใหม่เพื่อให้สมจริงที่สุด

เช่นเดียวกับเนื้อหาเอกสารที่ใช้บรรยาย อาจารย์รับหน้าที่ตรวจทานเองทั้งหมด เพื่อให้ถูกต้องสมบูรณ์ อ่านแล้วเข้าใจง่าย

หากแต่ความฝันของอาจารย์ดำเนินไปได้เพียงไม่กี่ปี ข่าวเศร้าก็ถูกส่งต่อมายังคนรักธรรมชาติทั่วประเทศ

วันที่ 12 กันยายน 2551 ขณะที่เข้ารับผ่าตัดตุ่มเล็กๆ ใต้ตา ซึ่งมักรบกวนเวลาอ่านหนังสือ อาจารย์เกิดอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิตลงกระทันหัน

นักวิชาการต่างบอกว่านี่คือความสูญเสียครั้งยิงใหญ่ เพราะนอกจากหน้าที่การงานในตำแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อาจารย์ยังเปรียบเสมือนสารานุกรมเคลื่อนที่ รวมทั้งเป็นรอยต่อที่เชื่อมร้อยความคิดและอุดมการณ์ของนักอนุรักษ์รุ่นบุกเบิกและรุ่นใหม่เข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะการสานต่อความฝันสุดท้ายของ นพ.บุญส่ง อย่างพจนานุกรมสัตว์ในเมืองไทย ซึ่งอาจารย์ทำได้เกือบสำเร็จแล้ว

“เรารวบรวมชื่อนกได้ 8,000 กว่าชื่อแล้ว สัตว์ต่างๆ แต่ละตัวเรียกไม่เหมือนกัน ผมพยายามรวบรวมไว้เพราะถือว่าเป็นสมบัติของชาติ เป็นประโยชน์ของชาติ อีกหน่อยสัตว์ทั้งโลกก็จะมีชื่อเป็นภาษาไทยหมด”

แม้วันนี้อาจารย์จะจากไปชั่วนิรันดร์ แต่องค์ความรู้และประสบการณ์มหาศาลที่สั่งสมไว้ก็ไม่ได้หายไปไหน ด้วยสิ่งหนึ่งที่ยึดถือมาตลอดชีวิตการทำงาน คือการแบ่งปันความรู้ไปยังผู้อื่น ดังที่อาจารย์มักบอกเสมอว่า “หากอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริง ก็ต้องช่วยคนอื่น หากงกเก็บไว้คนเดียวก็ไม่มีทางเก่งหรอก”

แน่นอนว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่เมืองไทยจะมีอาจารย์จารุจินต์ถึง 10 คน แต่สิ่งที่อาจารย์ทุ่มเททำงานทั้งชีวิตก็คงเพียงพอจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักอนุรักษ์รุ่นใหม่ได้สานต่องานธรรมชาติวิทยาที่ไม่มีวันสิ้นสุดตลอดไป

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสือ อาลัยลา…จารุจินต์ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ
  • นิตยสาร Update ปีที่ 11 ฉบับที่ 129 เดือนมีนาคม 2540
  • วารสารโลกสีเขียว ปีที่ 10 ฉบับที่ 4 เดือนกันยายน-ตุลาคม 2544
  • นิตยสาร Advanced Thailand Geographic ปีที่ 2 ฉบับที่ 15 เดือนกันยายน 2539
  • นิตยสารสารคดี ปีที่ 24 ฉบับที่ 286 เดือนธันวาคม 2551
  • หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ปีที่ 30 ฉบับที่ 10725 ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม 2550
  • หนังสือชีวิตวิสามัญ โดย กฤษกร วงค์กรวุฒิ
  • ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.