เป้าหมายของเขา คือ การปิดบริษัทที่ตั้งมาเพื่อช่วยเหลือคนพิการแล้วไปทำอย่างอื่นแทน
เหตุผลไม่ใช่ เพราะ ‘เบื่อ’ หรือ ‘หมดศรัทธา’ ในสิ่งที่ทำ
แต่เป็นเพราะเขาเชื่อว่า หากความฝันของหมอทุกคนคือ ไม่อยากให้โลกนี้มีคนไข้อีกต่อไป เขาเองซึ่งทำงานเรื่องคนพิการมาเกือบสิบปี ก็ไม่อยากเห็นคนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตเหมือนพลเมืองชั้นสองของสังคมเช่นเดียวกัน
ชายหนุ่มผู้เป็นเจ้าของแนวคิดคือ ต่อ-ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งองค์กรเพื่อสังคม ‘กล่องดินสอ’ หรือที่หลายคนอาจรู้จักในฐานะผู้จัดงาน ‘วิ่งด้วยกัน’ ที่ให้คนพิการและคนไม่พิการมาออกวิ่งไปด้วยกัน
ย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ต่อเองก็ไม่ได้คิดว่าจะมาทำงานเพื่อคนพิการ แต่หลังจากได้ลองไปเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือคนตาบอด กลับจุดประกายให้เขา อดีตพนักงานธนาคารที่ลาออกมาเรียนปริญญาโทอยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อลดช่องว่างของคนพิการในสังคม
เริ่มต้นจากการเปิดบริษัทผลิตสื่อการเรียนการสอนเพื่อคนพิการ ค่อยๆ ต่อยอดกิจกรรม จนนำไปสู่โมเดลที่พยายามช่วยเหลือคนพิการนับล้านอย่างยั่งยืน ให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้เหมือนคนทั่วไป
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอพาทุกคนไปพูดคุยกับ ผู้ก่อตั้งกล่องดินสอ 1 ใน 30 บุคคลในโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก ผู้มีความฝันจะสร้างสังคมที่เท่าเทียมให้เกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างแท้จริง
เมื่อโจทย์ในการทำงานสวนทางกับอุดมการณ์ ทำให้ต่อเลือกที่จะถอยออกมาตั้งหลัก โดยไม่รู้เลยว่าการลาออกครั้งนั้น จะพาเขาไปสู่โลกอีกใบที่ตัวเองคาดไม่ถึง
“ผมเรียนจบเศรษฐศาสตร์ งานแรกคือ ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อของธนาคาร ซึ่งต้องบอกว่าเป็นงานที่สนุกและได้เรียนรู้เยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องธุรกิจ แต่พอผมต้องไปดูแลลูกค้ารายหนึ่งที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับของมึนเมา ผมรู้สึกว่าไม่อยากสนับสนุนเท่าไหร่ เลยปรึกษาหัวหน้าว่าขอไม่ทำ ซึ่งเขาก็เข้าใจ บอกว่าถ้าไม่สบายใจ จะให้คนอื่นมาทำแทน แต่สิ่งที่คาใจคือ คำพูดของหัวหน้าที่บอกว่า เราเป็นพนักงานเงินเดือน ถ้าดีลนี้ลูกค้าเครดิตดี เราก็ต้องทำตามนโยบายของธนาคาร ซึ่งผมคิดต่าง ในเมื่อธนาคารเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของธุรกิจก็น่าจะเลือกได้ว่า ธุรกิจไหนควรให้ ธุรกิจไหนไม่ควรให้ เราเลือกได้หรือเปล่า”
เพราะคิดไม่ตก บวกกับทำงานต่อไปก็ไม่สบายใจ หลังจากนั้นอีก 2-3 เดือน ต่อจึงตัดสินใจยื่นใบลาออก แล้วไปสมัครเรียนปริญญาโทหลักสูตรภาคค่ำที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกับใช้เวลาว่างเป็นอาสาสมัครที่โรงเรียนสอนคนตาบอด ไปด้วย
“เหตุผลที่เลือกมาสอนหนังสือ เพราะถ้าให้ไปทำงานอาสาแนวอื่น เช่น ปลูกป่า เก็บขยะ สร้างบ้านดิน คงไม่ถนัด แต่ถ้าเป็นสายวิชาการพอไหว เพราะสมัยเรียนก็เรียนดีพอประมาณ”
ถึงจะเลือกสิ่งที่ถนัด หากแต่พอมาลงสนามจริงกลับไม่หมูอย่างที่คิด
“ผมไปสอนเด็กตาบอดเกี่ยวกับ ทฤษฎีพีทาโกรัส ซึ่งความจริง เนื้อหามันไม่ได้ยากขนาดนั้น แต่พอต้องอธิบายทุกอย่างด้วยปากเปล่าว่า สามเหลี่ยม ชิดฉาก ข้ามฉาก คืออะไร ทุกอย่างก็ดูยากไปหมด”
จากจุดนั้นเอง ทำให้เขาเริ่มเห็นจุดอ่อนในโลกการศึกษาของคนตาบอด ซึ่งถ้าขืนปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไรสักอย่าง ไม่ต้องคิดต่อเลยว่า อนาคตของน้องๆ ที่ลำพังต้องใช้ชีวิตในโลกมืดก็ลำบากอยู่แล้ว จะยิ่งเหนื่อยขนาดไหน
“พอเห็นปัญหา ผมก็อยากช่วย เลยลองทำสื่อการเรียนการสอนที่เรียกว่า ‘เล่นเส้น’ ซึ่งประกอบด้วยปากกาที่ใช้ไหมพรมแทนหมึก ตรงปลายด้ามจะมีตัวตัดไหมพรม คล้ายๆ กับที่ตัดไหมขัดฟัน และสมุดเล่นเส้น ซึ่งออกแบบให้ไหมพรมสามารถยึดเกาะกับผิวสัมผัสได้ดี เพื่อให้น้องๆ ตาบอดสามารถสัมผัสภาพที่ตัวเองวาดผ่านเส้นไหมพรม
“เพราะขณะที่คนตาดีใช้ดินสอวาดรูป แต่ถ้าคนตาบอดทำแบบเดียวกัน เขาจะรู้ได้อย่างไรว่ารูปที่วาดออกมาเป็นอย่างไร เพราะมองไม่เห็น นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กตาบอดวาดรูปไม่เป็น หรือต่อให้อยากวาดก็ไม่รู้จะวาดรูปอะไร เพราะเขาไม่มีภาพในหัว แต่พอมีเล่นเส้น เขาสามารถสัมผัสสิ่งที่วาด โดยเรียนรู้การวาดรูปจากพื้นฐาน ตั้งแต่หัดลากเส้นตรง เส้นโค้ง เส้นหยัก รวมถึงหัดวาดรูปทรงง่ายๆ เช่น วงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมก่อน”
พอเห็นว่า ‘เล่นเส้น’ ช่วยให้การเรียนการสอนของเด็กตาบอดดีขึ้นได้จริงๆ เลยจุดประกายให้ต่อคิดการใหญ่ ตัดสินใจเปิดบริษัทกล่องดินสอ โดยเป้าหมายในตอนนั้น คือ อยากเป็นศูนย์ผลิตสื่อการเรียนการสอนสำหรับคนพิการ เหมือนกล่องดินสอที่เป็นศูนย์รวมสำหรับเก็บเครื่องเขียนนั่นเอง
แม้ไอเดียและความมุ่งมั่นจะเต็มเปี่ยม แต่ขึ้นชื่อว่าโลกธุรกิจไม่มีคำว่าง่าย!
“ผมเปิดบริษัทโดยมีพนักงานประจำคนเดียวคือ ผม และก็มีน้องที่ทำกราฟิกดีไซน์อีกคนเป็นพาร์ตไทม์ ช่วงแรกๆ ก็มีท้อถึงขั้นถามตัวเองว่ามัวทำอะไรอยู่ เพราะถ้ายังอยู่ในสายงานเดิม คงเติบโตเหมือนเพื่อนๆ แต่อีกใจก็ยังมีแพสชันในสิ่งที่ทำ เพราะเห็นว่าอย่างน้อยมันก็มีคุณค่า จากแต่ก่อนคุณครูจะใช้กระดาษหรือโฟมมาทำสื่อการเรียนการสอน หรือไม่ก็สั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งราคาค่อนข้างแพง แต่พอมีเล่นเส้นก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ทำให้การสอนหนังสือคนตาบอดง่ายขึ้น”
อีกเรื่องที่น่าภูมิใจคือ เล่นเส้นยังช่วยเสริมสร้างการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก เพราะปกติเวลาเด็กตาบอดเขียนอักษรเบรลล์ จะใช้วิธีเจาะกระดาษให้เป็นตัวอักษร ทำให้ไม่ได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กเหมือนเด็กๆ ทั่วไปที่ต้องหัดจับดินสอเพื่อเขียน แต่พอมาใช้เล่นเส้น ทำให้ได้จับปากกาเหมือนคนทั่วไป ได้หัดวาดรูป ก็ได้พัฒนาทักษะนี้และยังได้ฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นภาพ
ภาพเหล่านั้นทำให้หัวใจของต่อยิ่งพองโต และอยากเห็นเล่นเส้นเป็นสื่อกลางที่นำไปปรับใช้ในวิชาต่างๆ ได้ ไม่ใช่แค่ในชั่วโมงศิลปะเท่านั้น
“เวลาพูดถึงการวาดรูป หลายคนจะนึกถึงแค่วิชาศิลปะ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เราใช้การวาดรูปในทุกวิชา อย่างวิทยาศาสตร์ เด็กอาจวาดรูปต้นไม้เพื่อสื่อสารกับคุณครูได้ว่า สิ่งที่เขาเข้าใจเกี่ยวกับต้นไม้นั้นเป็นอย่างไร หรือถ้าเรียนสังคมก็อาจหัดวาดแผนที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เราต้องพยายามอธิบายและทำคู่มือการใช้งานเล่นเส้นโดยเชื่อมโยงกับหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้คุณครูเข้าใจและนำไปปรับใช้ในรายวิชาต่างๆ ได้”
เมื่อเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นมาแล้ว ต่อก็ตั้งใจอยากให้ดินสอเล่นเส้นเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้กล่องดินสอเติบโตทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน โดยวางกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ คนตาบอด ผู้ปกครอง โรงเรียนหรือสมาคมที่เกี่ยวกับคนตาบอด
แต่ในความเป็นจริง ต่อพบว่าแม้หลายคนจะชอบผลิตภัณฑ์ของเขามาก แต่กลับไม่มีใครยอมควักกระเป๋าซื้อเลย!
“ผมเองก็สงสัย ตอนหลังถึงได้รู้ว่า ทุกคนอยากได้นะ แต่เขาอยากให้เราไปหาคนซื้อเพื่อบริจาคให้ด้วย ซึ่งผมก็แปลกใจนะว่า นี่คือ norm หรือสิ่งที่เขาทำกันจนกลายเป็นความเคยชินว่า ถ้าเป็นคนพิการหรือทำงานด้านคนพิการ เขาต้องได้ของฟรี”
ถามว่าพวกเขาไม่มีเงินหรือ? คำตอบของคำถามนี้ อาจไม่สำคัญเท่ากับว่า เหตุใดจึงอยากให้คนที่ใช้จริงเป็นคนควักกระเป๋าซื้อเอง ก็เพราะต่อมองว่า บางครั้งการที่ได้ของฟรีไป อาจทำให้ผู้รับไม่ได้เห็นคุณค่าของสิ่งนั้นเท่าที่ควร ยกตัวอย่างบางโรงเรียนที่ได้รับบริจาคไป ปรากฏว่าไม่ได้เอาไปใช้จริง พอถามว่าทำไม เหตุผลยอดฮิต คือ กลัวพัง กับ เอาไว้ตั้งโชว์ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของคนทำ
แต่ในเมื่อโลกแห่งความเป็นจริงเป็นเช่นนี้ ต่อเอง ซึ่งเป็นเพียงผู้ผลิตสื่อคงทำอะไรไม่ได้ นอกจากยอมตาม และกลายเป็นว่า สุดท้ายลูกค้าหลักของเล่นเส้น คือ หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) จึงสั่งซื้อเพื่อนำไปบริจาค
“ถ้ามองในมุมธุรกิจ ผมโอเคนะ เพราะเราได้ยอดซื้อล็อตใหญ่ ดีกว่ามาขายปลีกทีละไม่กี่ชุด แต่ถ้าในแง่เป้าหมายของคนที่ทำธุรกิจเพื่อสังคม อาจไม่ตอบโจทย์เป้าหมายหลักเท่าที่ควร แต่สิ่งที่เราได้ตอนนั้นก็คือ ตามน้ำไปก่อน เพราะอย่างน้อยก็เริ่มมีตลาดต่างประเทศที่สนใจ เริ่มมีออร์เดอร์เข้ามาจากเยอรมนี ออสเตรีย สหรัฐอเมริกา ยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ปกครองและคุณครูที่ติดต่อเข้ามา ทำให้เรายังมีกำลังใจ”
แม้เส้นทางจะขรุขระสักหน่อย แต่พอเห็นว่า สื่อการเรียนการสอนที่ผลิตด้วยใจ ได้กลายเป็นเหมือนดวงตาให้เด็กตาบอดมองเห็นผลงานของตัวเองผ่านการสัมผัสเส้นไหม แถมการทำงานนี้ ทำให้ต่อเหมือนได้ดวงตาอีกคู่เช่นกัน ซึ่งดวงตาคู่นี้ ทำให้เขามีมุมมองต่อคนพิการที่กว้างและแตกต่างจากเดิม ก็ทำให้มีแรงที่จะเดินต่อไป
“แต่ก่อนผมก็มองภาพลักษณ์คนพิการเหมือนกับคนส่วนใหญ่ในสังคม คือ เป็นคนที่น่าสงสาร ดังนั้นถ้ามีโอกาสก็อยากเข้าไปช่วยให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น ซึ่งความสงสารนี่แหละ เป็นตัวแปรที่ทำให้สังคมเลือกช่วยเหลือคนพิการแบบสังคมสงเคราะห์ ใช้การหยิบยื่นสิ่งของ เงินบริจาคหรือไม่ก็ไปเลี้ยงอาหารกลางวัน”
แต่หลังจากเห็นว่า แค่มีอุปกรณ์เข้ามาช่วย ก็ทำให้เด็กตาบอดสามารถวาดรูปได้เหมือนกัน เลยทำให้ต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่า หรือแท้จริงแล้ว คนพิการไม่มีอยู่จริง มีแต่สภาพแวดล้อมเท่านั้นที่พิการ เพราะถ้าคนพิการได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีอุปกรณ์ที่รองรับ เขาก็จะไม่พิการ
“เปรียบเทียบให้เห็นภาพ สมมติเราไปต่างประเทศ แล้วไม่รู้ภาษาของประเทศนั้น ตอนนั้นมันเหมือนกับเราเป็นคนหูหนวก พูดไม่ได้เลยนะ แต่ถือว่าเราพิการไหม หรือเวลาเราอยู่ในห้องที่มืด ไม่มีไฟ แล้วมองไม่เห็นอะไรเลย เราคือคนพิการหรือเปล่า ถ้าคำตอบคือไม่ใช่ เป็นไปได้ไหมว่า ความพิการที่เป็นอยู่คือปัญหาสภาพแวดล้อม ไม่ใช่ปัญหาของปัจเจกบุคคล”
ความคิดที่ตกผลึกนี้เองได้กลายเป็นแนวคิดพื้นฐานของกล่องดินสอว่า ‘คนพิการไม่มีอยู่จริง’
เมื่อได้เปิดมุมมองที่ไม่เคยรู้เกี่ยวกับคนพิการ ทำให้ต่อค่อยๆ มองปัญหาอย่างลึกซึ้งขึ้น และมองแบบภาพใหญ่ ไม่ใช่มองจากจุดใดจุดหนึ่งอย่างตอนแรกที่เพิ่งเข้ามาสัมผัสกับโลกของคนตาบอด
นั่นเองคือจุดเริ่มต้นของโครงการ ‘วิ่งด้วยกัน’ หรือ run2gether
“คนตาบอดส่วนใหญ่มักสุขภาพไม่ค่อยดี เพราะการที่เขาจะลุกขึ้นมาออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ยากมาก ผมเลยคิดว่าถ้าอย่างนั้น ทำไมเราไม่ชวนคนตาบอดลุกขึ้นออกกำลังกายด้วยการวิ่ง”
เหตุผลที่ต้องเป็น ‘การวิ่ง’ เพราะเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย มีแค่รองเท้าวิ่งก็พอ ส่วนที่เป็นอุปสรรคคือ คนตาบอดวิ่งคนเดียวไม่ได้ จึงใช้วิธีหาอาสาสมัครที่เป็นคนตาดีมาวิ่งคู่กัน เลยกลายเป็นที่มาของชื่อโครงการ ‘วิ่งด้วยกัน’
ย้อนไปเมื่อปี 2558 ตอนที่โครงการวิ่งด้วยกันเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก มีคนตาบอดมาร่วม 12 คน และอาสาสมัครคนตาดีหรือ Guide Runner อีก 12 คน
“ภาพที่เห็นแล้วประทับใจไม่ลืม คือ วินาทีที่คนตาบอดและคนตาดีจับมือกันเข้าสู่เส้นชัย เป็นอะไรที่มหัศจรรย์มาก เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงมิตรภาพของคนพิการและคนไม่พิการ เขาเดินจับมือกัน พูดคุยกัน หัวเราะสนุกสนานเหมือนเป็นเพื่อน ซึ่งส่งผลให้อาสาสมัครหลายคนเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อคนพิการ ซึ่งเรามองว่าเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง เพราะต่อให้เรารณรงค์แค่ไหนก็ไม่มีทางเห็นผล ถ้าทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเพื่อนกับคนพิการไม่ได้ มันก็เหมือนกับเวลาเราเห็นเพื่อนมีปัญหา ขึ้น BTS ไม่ได้ ไปดูหนังไม่ได้ เราจะรู้สึกว่า นี่เป็นเรื่องใกล้ตัว และอยากเป็นกระบอกเสียงเพื่อช่วยเพื่อน
“ที่ผ่านมา นอกจากจะเห็นคนพิการกับอาสาสมัครที่มาวิ่งด้วยกันกลายเป็นเพื่อนกัน เรายังเริ่มเห็นอาสาสมัครบางคนโพสต์หรือแชร์ความคิดเห็นประเด็นคนพิการมากขึ้น หรือบางคนก็ช่วยผลักดันให้องค์กรของเขาเปิดรับคนพิการเข้าทำงานมากขึ้น อย่างที่สวนลุมฯ เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลง จากการจัดกิจกรรมของเรา ทำให้สวนลุมฯ มีคนพิการไปใช้บริการมากขึ้น เกิดการปรับปรุงสวนลุมฯ ให้เป็นไปตามแนวคิด Universal Design ด้วย”
หลังค้นพบว่า มิตรภาพคือกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยปลุกพลังการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ต่อจึงเดินหน้าสานต่อเครือข่ายวิ่งด้วยกันให้ครอบคลุม นอกจากคนตาบอด ยังมีคนพิการที่ต้องนั่งรถเข็น คนหูหนวก ออทิสติก รวมถึงคนที่มาพิการภายหลังเพราะอุบัติเหตุหรือโรคภัยไข้เจ็บ
“อย่างคนหูหนวก เขาอาจจะไม่ได้ต้องการอาสามาวิ่งด้วย แต่ที่เขามารวมกลุ่ม run2gether กับเรา เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนที่ปฏิบัติกับทุกคนเหมือนเป็นเพื่อนด้วยความเท่าเทียม ตามสโลแกนของเรา คือ Friendship beyond difference (มิตรภาพอยู่เหนือความแตกต่าง)”
ที่น่าสนใจคือ กิจกรรมนี้ยังส่งผลให้เขากลายเป็นหนึ่งในตัวแทนคนไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ Facebook Community Leadership Program และยังได้รับการฝึกอบรม และคำปรึกษาจาก Facebook เป็นเวลา 1 ปี ในฐานะผู้นำชุมชนที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่ชีวิตของผู้อื่น ซึ่งต่อก็ได้ใช้ Facebook เป็นช่องทางหนึ่งในการส่งเสริมความเท่าเทียมและการอยู่ร่วมกันของคนพิการและคนทั่วไปผ่านกิจกรรมการวิ่งอีกด้วย
จากวิ่งด้วยกัน ต่อยังนำโมเดลของการสร้างเพื่อนจากกิจกรรม มาต่อยอดอีกหลายโครงการ ภายใต้ซีรีส์ ‘..ด้วยกัน’ เช่น ดูหนังด้วยกัน, เข้าครัวด้วยกัน, เต้นด้วยกัน, ปั่นจักรยานด้วยกัน และเรียนด้วยกัน เป็นต้น
แม้ชื่อและรูปแบบกิจกรรมจะต่างกัน แต่คอนเซปต์หลักๆ ของทุกกิจกรรมยังเหมือนกัน คือ เน้นการสร้างชุมชนร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ออนไลน์อย่าง Facebook หรือ พื้นที่ออฟไลน์ เวลาไปรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้
“อย่างดูหนังด้วยกัน แรกๆ เราใช้วิธีเหมาโรงภาพยนตร์แล้วจ้างนักพากย์ ถามว่าสนุกไหม ก็สนุก แต่ค่าใช้จ่ายสูง ตอนหลังเลยพัฒนาแอปพลิเคชันพรรณนา เล่นเสียงและภาพที่ให้คนตาบอดสามารถไปดูหนังกับคนตาดีได้ หรืออย่างโครงการเข้าครัวด้วยกัน เราใช้วิธีดีไซน์การใช้อุปกรณ์ในครัว ให้คนตาบอดสามารถทำครัวไปพร้อมกับคนตาดี”
อย่างไรก็ตาม แม้บางคนอาจจะมองว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นแค่การสร้างสีสัน ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว แต่ในมุมมองของต่อกลับลึกซึ้งกว่านั้น
“อีเวนต์อาจเป็นส่วนที่ทุกคนจับต้องได้มากที่สุด แต่เป้าหมายของเรามีมากกว่านั้น อย่างตอนนี้ วิ่งด้วยกัน มันไปไกลมากกว่างานวิ่งแล้ว เพราะสิ่งที่เราอยากเห็นคือ ต่อไปงานวิ่งทุกงานต้องต้อนรับคนพิการได้ เพราะถ้าเราทำตรงนี้สำเร็จ ต่อไปก็ไม่จำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มแล้ว คนพิการจะไปวิ่งที่ไหนก็ได้ ซึ่งเราเชื่อว่า นี่จะเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง”
ผลจากการทำสื่อการเรียนการสอนให้คนพิการ กระทั่งต่อยอดมาสู่ซีรีส์สารพัดกิจกรรม ‘ด้วยกัน’ ทำให้ต่อได้รู้จักคนพิการที่หลากหลาย และเข้าใจปัญหาเชิงลึกของคนกลุ่มนี้ว่า นอกจากความเข้าใจของสังคมจะมีค่อนข้างจำกัดแล้ว คุณภาพของชีวิตของคนพิการเองก็เป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้กัน
นั่นเองที่กลายเป็นจิกซอว์สำคัญที่ช่วยให้การทำงานของกล่องดินสอชัดเจนยิ่งขึ้น
“การทำงานตรงนี้มีหลายจุดเปลี่ยนมาก แต่หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญคือ ตอนที่ไปพัทยา เพื่อนำเล่นเส้นไปให้น้องๆ ที่กำลังจะเรียนจบ ม.6 ได้ทดลอง หลังจบกิจกรรม ผมก็ถามว่า อาชีพในฝันของน้องๆ คืออะไร ตอนนั้นผมเดาคำตอบในใจว่า น้องๆ คงอยากเป็นวิศวกร หมอ หรือไม่ก็ทนายความ ปรากฏว่า ไม่มีใครตอบเลย จนสักพักถึงมีน้องคนหนึ่งยกมือแล้วตอบว่า อยากขายลอตเตอรี่ หลังจากนั้นก็มีหลายคนที่ตอบ ซึ่งสรุปได้ว่า 3 อาชีพในฝันของเด็กคนตาบอด คือ ขายลอตเตอรี่ พนักงานคอลเซ็นเตอร์ และหมอนวด”
เหตุผลที่เป็นอาชีพในฝัน เพราะโลกแห่งความเป็นจริงมันโหดร้ายกว่านั้น คนตาบอดส่วนใหญ่ไม่มีงานทำ ถามว่าเป็นเพราะระบบการศึกษาใช่หรือไม่ หากดูจากข้อมูลจะพบว่าคนตาบอดส่วนใหญ่เรียนจบแค่ ป.6 โรงเรียนสอนคนตาบอดก็มีเพียง 12 โรงเรียนทั่วประเทศไทย ทั้งที่คนตาบอดมีอยู่แปดแสนกว่าคน
แต่จะโทษระบบการศึกษาอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะต้นเหตุที่ทำให้คนตาบอดไม่ค่อยเรียนหนังสือก็คือ เรียนจบมาแล้วไม่มีงานดีๆ รองรับ ดังนั้นคนพิการจำนวนไม่น้อยจึงไม่รู้ว่าจะเรียนหรือพัฒนาตนเองไปเพื่ออะไร
“ถ้าอยากแก้ปมปัญหานี้ เราก็ต้องเข้าไปเพิ่มโอกาสในการทำงาน โอกาสในการใช้ชีวิตให้คนพิการ ดังนั้นกล่องดินสอเลยเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ว่า เราอยากสร้างสังคมที่คนพิการและไม่พิการอยู่ร่วมกันได้ โดยโฟกัสใน 3 ประเด็น คือการศึกษา อาชีพ และสร้างความตระหนักต่อคนพิการในสังคม”
สำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานั้น ต่อได้ริเริ่มโครงการ เด็กพิการเรียนไหนดี? เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับเด็กพิการที่อยากเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา
จุดเริ่มต้นของกิจกรรมนี้ มาจากการซึมซับปัญหาของคนพิการ ทั้งหางานทำไม่ได้เพราะไม่มีวุฒิการศึกษาที่เหมาะสม และทักษะเรื่องอาชีพมีจำกัด โดยจากสถิติพบว่า มีคนพิการไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ที่จบมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา หรือปริญญาตรี เพราะฉะนั้นหากต้องการอุดช่องว่างนี้ ก็ต้องแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาก่อนเป็นลำดับแรก
โดยรูปแบบของกิจกรรมนี้ไม่ได้ซับซ้อนเลย คือ การชักชวนมหาวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมกันออกบูธ เพื่อให้เด็กพิการได้รับทราบว่าตนมีทางเลือกอะไรบ้าง ตลอดจนแนะนำเทคนิคการสอบ TCAS การยื่นคะแนน การสอบสัมภาษณ์ รวมถึงวิธีการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย อย่างเช่น การเดินทางไปเรียน การอยู่หอ วิธีปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่ที่มีความหลากหลาย โดยมีรุ่นพี่ที่เรียนอยู่และจบไปแล้วมาให้ข้อมูล
ที่ผ่านมา กิจกรรมนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีพอสมควร มีเด็กพิการมาร่วมงานครั้งละ 500-1,000 คน ทำให้ต่อคิดว่า อยากขยายแนวคิดไปสู่จังหวัดอื่นๆ มากขึ้น รวมถึงต่อยอดไปสู่นักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นอีกด้วย
“นอกจากเด็กๆ ที่มาจะได้ประโยชน์ งานนี้ยังทำให้เสียงของคนพิการมีพลัง ทำให้สังคมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่ายังมีเด็กพิการอีกมากที่อยากจะเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพราะถ้าไปดูสถิติเด็กพิการที่เข้ามหาวิทยาลัย แต่ละปีอยู่ที่ประมาณพันกว่าคน แต่เรียนจบจริงๆ ไม่ถึงร้อยคน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ถ้าเทียบกับจำนวนคนพิการที่มีเป็นล้านคน”
“เรามองว่าการได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะฉะนั้นแทนที่จะถามว่า คนพิการเรียนจบไปแล้วมีงานทำหรือเปล่า ต้องตอบให้ได้ก่อนว่า ตอนนี้เขาได้เรียนหรือยัง ซึ่งเราพยายามผลักดันให้แต่ละมหาวิทยาลัยเปิดโควตารับคนพิการมากขึ้น เพราะสุดท้ายเมื่อคนพิการมีการศึกษาที่ดีแล้ว ก็จะทำให้เกิดการจ้างงานต่อไป”
ข้อดีของการมีงานทำ ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เป็นการสร้างความมั่นใจและความภูมิใจในตัวเองให้คนพิการ ซึ่งจริงๆ แล้ว บ้านเราก็มีกฎหมายที่ว่าด้วยการจ้างงานคนพิการ ระบุว่า บริษัทที่มีพนักงาน 100 คน ต้องจ้างคนพิการอย่างน้อย 1 คน ไม่เช่นนั้นต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ บางบริษัทไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร จึงยอมจ่ายสมทบแทนที่จะจ้างคนพิการทำงาน
เพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ ต่อจึงเปิด บริษัท จัดหางาน กล่องดินสอเพื่อคนพิการ จำกัด ขึ้นมา เพื่อฝึกคนพิการให้มีทักษะพร้อมสำหรับการทำงานในโลกยุคใหม่ ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่บริษัทต่างๆ ที่สนใจจ้างคนพิการมาทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสม
ไม่เพียงเท่านั้น ต่อยังทำโครงการนักศึกษาพิการฝึกงาน เพราะตระหนักดีว่า หลายๆ บริษัทไม่กล้าจ้างคนพิการ เนื่องจากไม่มั่นใจว่าจะมีศักยภาพเพียงพอ ดังนั้นเขาจึงหาวิธีการที่จะช่วยให้ทุกฝ่ายสบายใจ นั่นคือ ให้คนพิการทดลองงาน 1-3 เดือน หากถูกใจก็จ้างต่อ แต่ถ้าไม่พอใจก็ยกเลิกได้ ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ
“ข้อดีคือ อย่างน้อยคนพิการก็ได้ประสบการณ์ นำไปใส่ในประวัติของตัวเองได้ว่า เคยทดลองทำงานที่ไหนมาบ้าง ซึ่งงานที่เราจัดหาให้ มีตั้งแต่พนักงานขายหน้าร้าน พนักงานโรงงาน ร้านอาหาร หรือร้านทอง”
แม้โครงการนี้จะเพิ่งอาจจะเริ่มต้นไม่ได้นาน แต่ต่อก็เชื่อว่า นี่จะเป็นแนวทางที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างคนพิการกับคนทั่วไปให้น้อยลง และก่อให้เกิดความภาคภูมิใจว่า อย่างน้อยพวกเขาก็มีความสามารถไม่ต่างจากคนทั่วไปเลย
หากเราอยากเป็นหมอที่ดี เราก็ต้องรักษาจนไม่เหลือคนไข้ใช่ไหม ดังนั้นบทบาทของหมอเพื่อสังคมแบบเราก็คือ การขจัดปัญหาความเท่าเทียมของคนพิการให้หมดไป..แล้วเมื่อไปถึงจุดนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องมีบริษัทกล่องดินสออีกต่อไป
กว่าสิบปีที่ทำงานเพื่อคนพิการ ต่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพการเดินทางที่มีคุณค่าต่อชีวิตว่า ช่วงแรก เหมือนช่วงค้นหาตัวเอง พอทำมาเรื่อยๆ ก็เริ่มตกผลึก และเลือกทำเฉพาะงานที่เป็นประโยชน์สำหรับคนพิการในระยะยาวอย่างยั่งยืน
“ที่ผ่านมาจะเห็นว่ากล่องดินสอเป็นบริษัทที่มีไอเดียในการจัดอีเวนต์เกี่ยวกับคนพิการใหม่ๆ เสมอ ไอเดียที่ไม่มีขีดจำกัดนี้ มาจากการตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ทำอย่างไรให้คนพิการทำทุกอย่างได้เหมือนคนไม่พิการ แต่พอมาเจอโรคระบาด ก็หนักเหมือนกัน เพราะที่ผ่านมา เราเน้นการทำกิจกรรมที่ต้องมาพบปะกัน พอทำกิจกรรมไม่ได้ ทุกอย่างก็ชะงักไปพอสมควร”
สำหรับก้าวต่อไปของกล่องดินสอ ต่อวาดภาพอนาคตว่า อยากขยายเป้าหมายการทำงานจากที่เน้นคนตาบอดเป็นหลัก ไปสู่คนพิการกลุ่มอื่นๆ ให้มากขึ้น พร้อมเดินหน้าร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อทำงานเชิงนโยบายมากขึ้น ผ่าน ‘มูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม’
“ถึงแม้เราจะเป็น Social Enterprise หรือธุรกิจเพื่อสังคม แต่ต้องยอมรับว่า พอเป็นบริษัท งานบางอย่างอาจทำได้ไม่คล่องตัว โดยเฉพาะเวลาดีลกับภาครัฐ เพราะเขามองว่าเราเป็นบริษัทเอกชน บางโปรเจกต์เราอยากช่วยก็ทำไม่ได้เพราะติดขัดเรื่องกฎหมาย ดังนั้นพอเราวางเป้าหมายการทำงานที่ใหญ่ขึ้น เลยถือโอกาสจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ แล้วก็แยกงานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐหรืองานที่ไม่แสวงหาผลกำไรให้มาอยู่ภายใต้มูลนิธิ ส่วนงานไหนที่เป็นการทำงานร่วมกับภาคเอกชนก็จะยังอยู่ภายใต้บริษัทกล่องดินสอ”
มาถึงวันนี้ ปลายทางสูงสุดที่ต่ออยากไปให้ถึง ไม่ใช่การเติบโตของบริษัทหรือตัวเลขผลกำไร แต่เขาต้องการสร้างสังคมที่เท่าเทียม ให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนทุกคนได้อย่างปกติ
“ถ้าถึงวันนั้น ผมคงปิดบริษัท เราก็เป็นเหมือนหมอที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสังคม หากเราอยากเป็นหมอที่ดี เราก็ต้องรักษาจนไม่เหลือคนไข้ใช่ไหม ดังนั้นบทบาทของหมอเพื่อสังคมแบบเราก็คือ การขจัดปัญหาความเท่าเทียมของคนพิการให้หมดไป ให้เขาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข แล้วเมื่อไปถึงจุดนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องมีบริษัทกล่องดินสออีกต่อไป”
ทั้งหมดนี้ คือ เรื่องราวของชายคนหนึ่งที่พยายามใช้พลังที่ตัวเองมี เปลี่ยนโลกของคนพิการ จากเดิมที่ถูกปฏิบัติเหมือนพลเมืองชั้นสอง ให้กลายเป็นคนทั่วไปที่ได้รับโอกาสต่างๆ ทั้งการศึกษา อาชีพ และการใช้ชีวิตเหมือนกับทุกคนในสังคม
แม้เขาจะรู้ดีว่าโจทย์นี้ไม่ง่ายเลย แต่อย่างน้อยๆ การได้เริ่มคิด ได้เริ่มลงมือทำ ก็ย่อมนำความเปลี่ยนแปลงมาให้เสมอ และนั่นเองคือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ต่อยังคงเดินหน้าต่อไป
คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล คือบุคคลต้นแบบประเด็นสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุม เท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDGs ข้อที่ 4), ประเด็นส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า (SDGs ข้อที่ 8) และประเด็นลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (SDGs ข้อที่ 10)
อดีตนักกลยุทธ์โฆษณามือฉมังของเมืองไทย แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้พบจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต จนนำมาสู่การบุกเบิก ‘วิชาใจ’ ธรรมง่ายๆ ที่ทุกคนเสพได้
สถาปนิก ผู้ทำงานเรื่องพื้นที่สาธารณะมายาวนาน และสร้างโมเดลใหม่อย่าง we park ด้วยการหาพื้นที่รกร้างมาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะสำหรับทุกคน
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมือง อย่างสร้างสรรค์ และเข้าใจถึงปัญหาของพื้นที่อย่างแท้จริง
เจ้าของบาร์แจ๊ซ ผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ ทั้งดนตรี สิ่งแวดล้อม สังคม เพื่อยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เป็นดินแดนที่ของทุกคนอย่างแท้จริง
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ที่ต้องบริหารงานภายใต้ข้อจำกัดมากมาย แต่เขาก็ไม่ท้อ เพื่อให้ประชาชนทุกเชื้อชาติสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม
เภสัชกรหญิง ผู้บุกเบิกยาสมุนไพรอภัยภูเบศร พร้อมฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากจะทำให้ปราจีนบุรีเป็นเมืองแห่งสมุนไพร
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
ย้อนเรื่องราวอัลบั้มในตำนานของสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Bakery Music
DAJIM ศิลปินฮิพฮอพผู้จุดกระแสเพลงใต้ดินให้โด่งดังไปทั่วประเทศ
เส้นทางชีวิตของ จอห์น นูโว จากศิลปินยอดนิยม สู่ผู้บุกเบิกสื่อไอทีของเมืองไทย
ศิลปิน นักแต่งเพลง เจ้าของบทเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) ผู้ที่ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ผลงานที่ล้ำสมัย
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.