สงขลาเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายร้อยปี
ครั้งหนึ่งที่นี่เคยยิ่งใหญ่ในฐานะศูนย์กลางของภูมิภาค เป็นเมืองท่าที่มีชาวต่างชาติแวะเวียนเข้ามาไม่ขาดสาย เป็นแหล่งรวมผู้คนหลากเชื้อชาติ หลายวัฒนธรรม ทั้งไทย จีน มุสลิม
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมืองสงขลาที่เคยคึกคักก็ค่อยๆ เงียบลงไปเรื่อยๆ ตึกรามเก่าแก่ถูกทิ้งร้าง บางจุดกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม และไม่มีเสน่ห์ดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้อยากแวะเวียนเข้ามา
เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล กราฟิกดีไซเนอร์ และเจ้าของธุรกิจโรงพิมพ์ คือคนที่เติบโตมากับที่นี่ เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงมาตลอดช่วงหลายสิบปี และอยากมีส่วนร่วมเล็กๆ เพื่อช่วยฟื้นคืนความงดงามที่จางหายไปของเมืองให้คืนกลับมา
หลังซื้อตึกเก่าแห่งหนึ่งมาเพื่ออนุรักษ์เมื่อราวสิบปีก่อน เขาก็เริ่มบุกเบิก a.e.y. space เพื่อเป็นพื้นที่ส่งเสริมงานศิลปะ ทั้งจัดนิทรรศการ ฉายภาพยนตร์ ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่เข้ามาร่วมจัดกิจกรรมที่แตกต่างออกไป
แม้จะเป็นเพียงพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร แต่ a.e.y. space ก็เปรียบเสมือนอิฐก้อนแรกๆ ที่ชักนำให้คนหน้าใหม่จำนวนไม่น้อยมาสู่เมืองเก่า และเริ่มค้นหาเสน่ห์ต่างๆ ที่ถูกหลงลืมไปแล้ว จนเวลานี้เมืองสงขลาเริ่มกลับมาสีสันอีกครั้ง
นอกจากนี้เขายังมีบทบาทในการใช้ศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์พัฒนาเมือง ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ Portrait of Songkhla ซึ่งชักชวนร้านค้าและผู้คนในเมืองมาถ่ายรูปครอบครัว ก่อนจะนำไปจัดเป็นนิทรรศการและมีผู้แวะเวียนเข้ามาร่วมงานจากทั่วประเทศ รวมถึง Made in Songkhla นำนักออกแบบรุ่นใหม่มาพัฒนาสินค้าและบริการของร้านดั้งเดิม จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดึงดูดผู้คน และยังช่วยให้แต่ละร้านอยู่รอด ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
แม้เขาจะย้ำเสมอว่า ตัวเองเป็นเสี้ยวเล็กๆ ของโครงการเหล่านี้ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หากไม่มีตัวเชื่อมที่แข็งแรงคอยร้อยผู้คนไว้ด้วยกัน โอกาสที่ความฝันจะกลายเป็นจริงก็คงยาก
เมื่อ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดทำโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก เราจึงถือโอกาสนี้ ชักชวนเอ๋มาร่วมพูดคุย เพื่อเรียนรู้และเข้าใจถึงความคิดและความตั้งใจของคนธรรมดาที่อยากเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับบ้านเกิดของตัวเอง
แม้จะเติบโตมาในครอบครัวประมง แต่สิ่งที่ดึงดูดเอ๋มากที่สุดก็คือ การวาดรูป
“ความจริงที่บ้านเป็นแพปลา ชื่อ ช.เฮงฮวด เกิดมาก็อยู่ในดงของอาชีพประมงแล้ว ตอนเด็กๆ ก็ไปช่วยคุณพ่อคุณแม่จดน้ำหนักปลา ชั่งปลา ลากเข่งปลา คืออยู่กับมันมากจนรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้อยากใช้ชีวิตแบบนี้ สิ่งที่ฝันจริงๆ คือ อยากเป็นสถาปนิก เพราะชอบวาดรูป ทำคะแนนได้ดีกว่าวิชาอื่น มือไปเร็วกว่าสมอง อย่างช่วงประถมเคยไปดูคนวาดรูปหนังในโรงหนังแถวบ้าน เราก็พยายามศึกษาดูว่าเขาทำอย่างไร พอโตขึ้นก็อยากจะวาดรูปตึก รูปบ้าน รูปห้อง รูปร้านค้า”
อีกกิจกรรมหนึ่งที่เอ๋ชอบทำเป็นพิเศษคือ การออกแบบหน้าปกเทป เพราะหลายอัลบั้มเป็นผลงานเพลงที่เขาชอบมาก แต่อาร์ตเวิร์กบนปกยังไม่ค่อยโดนใจเท่าใดนัก
อัลบั้มแรกๆ ที่เขาออกแบบเองคือ ร็อค เล็ก เล็ก ของวงไมโคร ครั้งนั้นเขาไปหารูปของ หนุ่ย-อำพล ลำพูน นักร้องนำมาถ่ายเอกสารแล้วก็ตัดทำเป็นภาพคอลลาจ จากนั้นก็พิมพ์ชื่อเพลงใหม่ลงไป จนกลายเป็นปกเทปที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร
“ชุดไหนชอบเป็นพิเศษ เราก็รู้สึกว่าอยากออกแบบให้ แต่เมื่อก่อนยังทำอะไรไม่เป็น ก็เลยแค่เอากระดาษมาตัดแปะ เหมือนถ้าลองวางเป็นพื้นสีอื่นจะหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะในยุค 90 ทุกอย่างมักจะดูฉูดฉาดไปหน่อย เรารู้สึกอยากทำอะไรด้วยไอเดียของตัวเองบ้าง
“ตอนนั้นได้แรงบันดาลใจจากค่ายเพลงครีเอเทีย อาร์ติสต์ มากเหมือนกัน อย่างอัลบั้มของปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล หรือ อุ้ย-รวิวรรณ จินดา แล้วช่วงนั้นก็ฟังเพลงสากลเยอะ ก็รู้สึกว่า ปกเทปเมืองนอกก็เท่เหมือนกัน”
แต่แล้วเส้นทางชีวิตของเอ๋กลับไม่เป็นตามที่หวัง เพราะหลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา เขาได้โควตาเข้าเรียนคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลา อีกทั้งพ่อแม่ตั้งใจจะให้เอ๋นำความรู้นี้มาช่วยเสริมธุรกิจแพปลาของครอบครัว จึงไม่ได้สอบเอ็นทรานซ์ ปิดประตูสถาปนิกไปโดยปริยาย แต่ระหว่างนั้นเขาก็แอบพ่อกับแม่ไปสอบเข้าคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งสุดท้ายทั้งคู่ก็ยินยอมให้ลูกชายคนโตไปเรียน
แต่ถึงจะศึกษาต่อด้านการตลาด ทว่าหากเวลามีงานกลุ่มที่ต้องอาศัยความรู้เรื่องการทำแบบจำลองผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือสตอรี่บอร์ด เพื่อนๆ ก็มักจะให้เอ๋รับผิดชอบอยู่เสมอ ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เขารู้ว่า โลกของงานออกแบบกว้างไกลกว่าวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์มาก
“พอเรียน Marketing มันทำให้ตาเราเปิดกว้างมากขึ้น เราได้รู้จักเรื่อง Product Design รู้เรื่อง Advertising Design หรือ Graphic Design ว่าเป็นอย่างไร พอเรียนจบออกมาก็ได้ทำงานอยู่ที่ MMC สิทธิผล ดูแลฝ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ เราก็ต้องดีลกับเอเจนซี พอได้ดีลเยอะๆ เราก็เริ่มเข้าใจว่าวงการโฆษณาเป็นแบบนี้ หรือเราจะเบนเข็มไปด้านอื่นดีกว่า แล้วพอเรารู้ว่า กราฟิกเป็นพื้นฐานของการดีไซน์ ซึ่งเราก็คิดว่า จริงๆ ทำเองได้ ก็เลยตัดสินใจไปเรียนต่อด้านนี้ดีกว่า”
เมื่อแน่ใจว่าตัวเองควรมุ่งไปทางไหน เอ๋จึงตัดสินใจสมัครเรียนด้าน Communication Design ที่ Pratt Institute นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ชีวิตในต่างแดนเปิดโลกให้เอ๋อย่างมาก จากเดิมที่คิดแค่ว่า กราฟิกดีไซน์คือการออกแบบให้สวยงามก็พอแล้ว แต่ที่นี่สอนให้เข้าใจถึงรากฐาน ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ ทฤษฎีสี ทฤษฎีการสื่อสาร หรือแม้แต่การออกแบบตัวอักษร ทั้งหมดนี้ก็เพื่อค้นหาว่า สไตล์และการออกแบบอะไรที่สอดคล้องกับตัวเขาเองมากที่สุด
“ตอนนั้นโรงเรียนเขาก็สอนดีไซน์แบบที่เป็นผู้เป็นคนนะ แต่ต้องยอมรับว่าในยุคปลาย 90 เป็นยุคที่กราฟิกรุนแรงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราก็จะได้รับอิทธิพลจากแผงหนังสือที่เจอ ดนตรีที่ฟัง ซึ่งหลายวงก็มีกราฟิกดีไซน์ที่สวยๆ ทำให้เรารู้สึกว่า จริงแล้วกราฟิกก็มีความหลากหลาย ตอบโจทย์ไปตามสิ่งที่เราออกแบบ วันนี้เราอาจจะออกแบบให้ดูเรียบ โก้ เท่ได้ แต่วันหนึ่งถ้าเราไปเจอโจทย์ที่มันๆ สนุกๆ เราก็ต้องออกแบบให้สอดคล้องกับตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นได้
“อย่างเรื่องหนึ่งที่รู้สึกว่าท้าทายมากคือ Typography หรือการใช้ตัวอักษรเพื่อการออกแบบ ซึ่งเราอาจจะดีไซน์ตัวอักษรขึ้นมาใหม่ก็ได้ หรือดีไซน์เฉพาะ Headline ให้มันไม่เหมือนกับคนอื่น หรือบอกเล่าตัวตนของสิ่งเหล่านั้น ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้ เพราะมันต้องอาศัยการเรียนรู้และการปฏิบัติเยอะๆ แต่พอเรียนปริญญาโทจึงอาจไม่ได้ลงลึกไปมาก”
หลังเรียนจบ เอ๋ก็บินกลับเมืองไทย แต่ปรากฏว่า สมัครงานเป็นปีก็ไม่มีใครรับเลย เพราะเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งพอดี และระหว่างที่กำลังสองจิตสองใจว่าจะกลับบ้านดีหรือไม่ เขาก็ตัดสินใจยื่นใบสมัครอีกครั้งในตำแหน่ง Art Director ของบริษัทเพลงแห่งหนึ่งชื่อ EMI Thailand ซึ่งเป็นตัวแทนของค่ายเพลงสากลที่ชื่อ EMI Records, Capitol Records และ Virgin Records รวมทั้งมีศิลปินไทยในสังกัดด้วย ซึ่งปรากฏว่า ที่นี่ตอบรับ และเขาก็ได้ทำงานที่เคยฝันมานาน โดยเฉพาะการออกแบบปกเทป
“หน้าที่หลักคือ ดูแลทิศทางของฝ่ายศิลป์ทั้งหมดของพวกเทป ซีดี ซึ่งส่วนใหญ่ของต่างประเทศเขาจะมีอาร์ตเวิร์กสำเร็จมาแล้ว เราก็เพียงแค่ควบคุมการผลิต ดูแลการพิมพ์ให้เรียบร้อย แล้วก็มีศิลปินไทยกับอัลบั้มรวมฮิตทั้งหลาย ซึ่งเราต้องดูแลเรื่องกราฟิกด้วย อย่างเช่น Smile Buffalo อัลบั้มองุ่น ทำตั้งแต่คุมถ่ายรูป ดีลช่างภาพ ตอนนั้นคอนเซปต์เกี่ยวกับการเดินทาง แต่รถไฟฟ้ายังไม่มี เราก็เลยคิดถึงรถเมล์แอร์ ซึ่งรูปที่ออกมาก็สวยมากเหมือนอยู่ในต่างประเทศเลย
“ส่วนรวมฮิตก็เช่น NOW เขามีอาร์ตเวิร์กจากต่างประเทศมา แต่เราก็ต้องหาทางสื่อสารแบบไทยให้ได้ ซึ่งข้อดีของการทำงานกราฟิกแบบนี้คือ เราจะเห็นการออกแบบที่อินเตอร์จริงๆ ว่าเป็นอย่างไร เพราะเขาจะส่งไฟล์ AI มาให้เลย ซึ่งเราก็จะ Layout แก้ไขอีกที ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้วิธีคิดต่างๆ เช่นการวาง Typography ซึ่งสุดท้ายเราก็ได้นำมาปรับใช้ในผลงานของตัวเองจนถึงทุกวันนี้”
ถึงจะสนุกกับการทำงาน และอยากเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อยู่ตลอด แต่ระหว่างนั้น เอ๋มักได้รับโทรศัพท์จากคุณพ่อที่คอยถามว่า “กลับบ้านไหม?” “มาทำงานแพปลาของเราดีกว่า” อยู่เสมอ จนกระทั่งผ่านไป 3 ปีเต็ม เขาก็รู้สึกว่าอาจได้เวลาทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตแล้ว
เอ๋ตัดสินใจลาออกและกลับมาทำงานที่คุ้นเคยตั้งแต่วัยเยาว์อีกครั้ง โดยปีแรก เขาถูกส่งไปเรียนต่อที่ประเทศจีนก่อน เพื่อฝึกภาษาเนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่มาจากมาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งนอกจากเรื่องภาษาแล้ว เขาก็ยังได้เห็นโลกอีกแบบ เพราะจีนเวลานั้นอยู่ในช่วงที่กำลังพัฒนาเต็มที่
เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย เอ๋ต้องทำงานตั้งแต่เช้ามืดจนเที่ยง คอยควบคุมการถ่ายสินค้าออกจากเรือ คอยแพ็กของเพื่อส่งไปให้ลูกค้าต่างประเทศ รวมถึงเป็นผู้ช่วยพ่อ ดูแลคนงาน และงานจิปาถะทั่วไป
เอ๋ทำงานนี้อยู่ 4-5 ปี แม้จะทำได้ดีพอสมควร แต่กลับไม่ได้มีความสุขเท่าใดนัก
“จริงๆ ที่ทำงานของคุณพ่อเขาจะมีตำแหน่งกันอยู่ ถึงเราไปช่วยพ่อทำจริงๆ แต่สุดท้ายพอไม่มีเรา งานก็เดินได้อยู่ดี เราจึงรู้สึกว่าไม่ท้าทายสำหรับตัวเองเลย อีกอย่างคือ การทำงานกับพ่อ มันยาก เพราะจากคนที่ไม่เถียงพ่อ แล้วต้องมาเถียง เราไม่อยากให้เกิดสิ่งเหล่านั้นในครอบครัว แต่แน่นอน การที่จะไปบอกเขาว่า ไม่ทำแล้ว ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เลยใช้วิธีการเริ่มจับทางได้แล้วว่าช่วงบ่ายๆ จะไม่ค่อยมีงาน ก็เลยไปหาเพื่อนที่หาดใหญ่ ไปรู้จักโรงพิมพ์แล้วของานเขามาทำ งานแรกเป็นโลโก้ของโรงแรมแห่งหนึ่ง ก็เลยรู้สึกว่า อย่างน้อยเรายังหาสมดุลของชีวิตได้ ได้ใช้สิ่งที่ร่ำเรียนมา ชีวิตจะได้ไม่เฉาเกินไป”
จากนั้นเอ๋ก็เริ่มรับงานออกแบบเล็กๆ น้อยๆ มาทำเรื่อยๆ กระทั่งเห็นว่างานประเภทนี้มีตลาดอยู่ จนวันหนึ่งเขาก็ได้พบโฆษณาใน Facebook เกี่ยวกับงานเครื่องพิมพ์ เอ๋จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ แล้วก็ซื้อเครื่องพิมพ์กลับบ้าน จากนั้นเขาก็ขอแม่ใช้ตึกแถวว่างๆ ของครอบครัวมาเปิดเป็นร้านรับพิมพ์งานเล็กๆ พร้อมกับหาลูกค้าไปด้วย
ด้วยความที่เป็นร้านออกแบบและพิมพ์งานไม่กี่ร้านในตัวเมืองสงขลา จึงมีลูกค้าหลั่งไหลเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหน่วยงานราชการต่างๆ เพราะศูนย์กลางของงานประเภทนี้อยู่ที่หาดใหญ่ ซึ่งการทำงานของเอ๋จะเป็นการนำงานดีไซน์และการตลาดมาผสมผสานกัน เพราะเชื่อว่า สุดท้ายแล้วงานออกแบบต้องขายได้ด้วย ไม่ใช่งานแบบสุดขั้ว
หลังจากนั้นเขาก็ค่อยๆ ปล่อยมือจากงานแพปลา และหันมาทุ่มเทให้งานออกแบบและโรงพิมพ์เต็มตัว และประสบการณ์นี้เองที่กลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่เอ๋นำมาใช้ขับเคลื่อนอาร์ตแกลเลอรีชุมชนแห่งแรกของเมืองเก่าสงขลา และยังเป็นสะพานที่เชื่อมตัวเขาเข้ากับเครือข่ายคนทำงานสร้างสรรค์ในพื้นที่อีกด้วย
a.e.y. space เปิดตัวเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 บริเวณถนนนางงาม เขตเมืองเก่าสงขลา
ที่นี่ถือเป็นชุมชนศิลปะแห่งแรกของเมืองสงขลา มีกิจกรรมหลากหลาย ตั้งแต่การแสดงภาพถ่าย ผลงานศิลปะ ฉายภาพยนตร์สารคดี และบางครั้งยังกลายร่างเป็นพื้นที่จัดงานเสวนาและเวิร์กช็อปดีๆ ที่สำคัญ เอ๋ยังเปิดพื้นที่ชั้น 2 เป็นห้องพักเพื่อรองรับศิลปินต่างถิ่นที่แวะเวียนมาที่สงขลาอีกต่างหาก
แต่กว่าทั้งหมดจะเป็นรูปเป็นร่าง มีผู้คนแวะเวียนเข้ามาไม่ขาดสายเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จะว่าไปแล้วจุดเริ่มต้นของ a.e.y. space ก็ไม่ต่างจากโชคชะตาลิขิต
เพราะถึงเอ๋จะชอบเดินเที่ยวตามแกลเลอรีต่างๆ แต่ไอเดียเรื่องการทำพื้นที่ศิลปะของตัวเองนั้นไม่เคยอยู่ในใจมาก่อน จนกระทั่งเขาได้พบกับ โก๋-นพดล ขาวสำอางค์ เจ้าของ About Photography ที่เข้ามาผลักดันให้เขากล้าคิด กล้าฝัน และกล้าก้าวออกจากกรอบเชื่อเดิมๆ ของตัวเอง
โก๋เป็นช่างภาพยุคกล้องฟิล์มฝีมือลำดับต้นๆ ของประเทศ ชอบถ่ายรูปตึกเก่าเป็นชีวิตจิตใจ พอวันหนึ่งเขาได้แวะเวียนมาเที่ยวเมืองเก่าสงขลา แล้วได้เห็นตึกเก่าที่งดงามก็ตัดสินใจซื้อทันทีโดยที่ยังไม่มีแผนการว่าจะทำอะไรต่อ รู้เพียงแค่อยากเก็บรักษาอาคารเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป
เอ๋กับโก๋รู้จักกันโดยบังเอิญ เพราะเอ๋เห็นโก๋ซึ่งย้ายมาอยู่แถวนี้ขี่จักรยานผ่านไปผ่านมาอยู่บ่อยๆ จึงเข้าไปแนะนำตัว จากนั้นทั้งคู่ก็สนิทกันเรื่อยมา จนกระทั่งวันหนึ่งมีประกาศขายตึกเก่าแก่อายุเกือบ 90 ปี สภาพทรุดโทรมมาก แต่สถาปัตยกรรมน่าสนใจ เพราะเป็นตึกแถวสไตล์จีนผสมยุโรป เพดานสูง และด้านหลังมีบ่อน้ำ โก๋จึงบอกให้เอ๋ซื้อตึกนี้เก็บไว้ และคงเพราะชอบของเก่าเป็นชีวิตจิตใจ เอ๋จึงต้องตัดสินใจซื้ออาคารหลังนี้ตามคำแนะนำ
“ตอนนั้นสงขลายังไม่บูมเลย ไม่ได้ถูกทำให้เป็นเมืองท่องเที่ยว หลายย่านก็ค่อนข้างเสื่อมโทรม มีทั้งบาร์ คาราโอเกะ ชาวเรือนก็เอาอวนแหมาเก็บตามบ้านเก่า แล้วตึกเก่าแบบนี้มีเยอะมาก แต่พี่โก๋ก็ยุว่า ซื้อสิ เราก็เลยคุยกับแม่ว่าซื้อไหม จริงๆ เราบอกแม่เรื่องทำเลมากกว่า เพราะมันอยู่ใจกลางถนนนางงามเลย แล้วเยื้องๆ ก็มีร้านแต้เฮี้ยงอิ้วซึ่งมากินบ่อยๆ คือในแง่ของการลงทุนถือว่าน่าสนใจ แม่ก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเอ๋ก็ไปขายบ้านอื่นก่อน แล้วค่อยเอาเงินมาซื้อ พอดีเรามีบ้านอยู่หลังหนึ่ง ข้างบ้านเขาอยากซื้อพอดี เราก็ตัดสินใจขายหลังนั้น แล้วเอาเงินมาซื้อหลังนี้”
เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้ารูปเข้ารอย โก๋ก็สนับสนุนให้เอ๋แปลงโฉมอาคารเก่ามาเป็นแกลเลอรี พร้อมกับตั้งชื่อ a.e.y. space ให้ด้วย โดยเหตุผลที่เขาอยากให้เอ๋เป็นคนทำ แทนที่เขาจะทำเอง เพราะเชื่อว่า หากให้คนในท้องถิ่นดำเนินการเองน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ที่สำคัญนี่ยังถือเป็นการหยิบยื่นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เติบโตด้วย
แต่สำหรับเอ๋แล้ว เขายอมรับตามตรงว่า ตอนแรกนึกภาพไม่ออกว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้ เพราะตั้งแต่เด็กจนโต ก็ไม่ค่อยสัมผัสถึงเสน่ห์ของเมืองเก่าแห่งนี้สักเท่าไร
“เมืองนี้เต็มไปด้วยสถานที่ราชการ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ส่วนแหล่งบันเทิงอื่นๆ แทบไม่มีเลย มันเป็นเมืองที่ค่อนข้างเรียบง่ายมาก ไม่ค่อยมีอะไร บางทีดูไม่ค่อยน่าอยู่ด้วยซ้ำไป ตอนเด็กๆ ก็รู้สึกว่าอยากไปอยู่หาดใหญ่ อยากไปเที่ยวห้าง ไปหาอะไรที่สนุกสนาน ตื่นตาตื่นใจมากกว่านี้”
อีกทั้งห้วงเวลานั้นการสร้างอาร์ตแกลเลอรีในต่างจังหวัดเป็นเรื่องที่ใหม่มาก เอ๋ยอมรับตามตรงว่า คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่า ทำไปเพื่ออะไร เพี้ยนหรือเปล่า แต่ก็เป็นโก๋อีกเช่นเคยที่ช่วยให้กำลังใจ
โก๋ย้ำกับเอ๋ว่า หากไม่สนุกก็อย่าทำ แต่ถ้าทำแล้วสนุกก็ให้ทำต่อไป ที่สำคัญเขายังพยายามชี้ให้เห็นว่า หัวใจของอาร์ตแกลเลอรีคือ ควรเชื่อมโยงกับคนในชุมชนมากที่สุด เพราะฉะนั้นในนิทรรศการเปิดตัว โก๋จึงเลือกนำภาพถ่ายชาวสงขลาที่เขาพบเจอมานำเสนอ เพื่อบอกให้ทุกคนทราบว่า ที่นี่คือ ชุมชนแห่งใหม่ที่จะหลอมรวมชาวสงขลาเข้าไว้ด้วยกัน
“เรากลัวว่าคนจะรู้สึกว่า Art Space เป็นของแปลก จำได้ว่าครั้งแรกที่เราจัดงาน เราก็พยายามเชิญคนแถวนี้ ไปแจกโปสการ์ด เอาโปสเตอร์ไปติดตามผนัง ชวนคุณยาย คุณป้า คุณอา แถวๆ นี้ บางทีก็ต้องไปจูงมาดูในวันงานเลยว่า ผมทำแบบอะไรแบบนี้นะ ขณะที่พี่โก๋เองก็ชวนเพื่อนศิลปินที่คุ้นเคยมาร่วมงาน ซึ่งพองานแรกผ่านไป เรารู้สึกว่าสิ่งที่สนุกมากกว่าการได้จัดงาน คือการเจอผู้คน ได้เจอคนใหม่ๆ รู้จักคนเพิ่มขึ้น และไม่ใช่แค่คนในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังมีคนอื่นที่แวะเวียนมาเยี่ยมชมงานด้วย”
งานแรกผ่านไปด้วยดี พร้อมกับชื่อของ a.e.y. space ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จากนั้นเอ๋ก็ได้มีโอกาสเชื้อเชิญศิลปินอีกหลายคนมาจัดแสดงงาน เช่น ชำนิ ทิพย์มณี ช่างภาพโฆษณาระดับตำนาน ซึ่งมีพื้นเพเป็นคนสงขลาก็ได้มาแสดงผลงานตลอด 2 ทศวรรษของตัวเองที่นี่
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังชวน อาจารย์จรัส จันทร์พรหมรัตน์ ผู้ดูแลหอจดหมายเหตุโรงเรียนมหาวชิราวุธจังหวัดสงขลา ซึ่งเก็บรูปถ่ายและสิ่งพิมพ์โบราณของเมืองสงขลาไว้จำนวนมาก มาจัดกิจกรรมร่วมกันอีกหลายครั้ง แต่ละงานก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากผู้คนในพื้นที่
“ความจริงเรารู้จักคนที่ทำงานด้านศิลปะน้อยมากเลยนะ ก็ต้องอาศัยครูพักลักจำ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็เหมือนเจอทางของมันเอง อย่างครั้งหนึ่งเราเคยจัดงานชื่อ รูปถ่ายของคนสงขลา Picture of Songkhla เป็นงานแรกที่เราไปขอรูปคนจากบ้านต่างๆ ในย่านเมืองเก่า แล้วก็ให้เขาเอารูปเหล่านี้มาติดในผนังของแกลเลอรี จากนั้นเขาก็มาช่วยเล่าเรื่องราวของบ้าน บรรพบุรุษของเขา ซึ่งเป็นงานที่เปิดโลกเรามากเลย เพราะเวลาที่คนในท้องถิ่นได้เล่าเรื่องของตัวเอง ผ่านสิ่งที่เขามีอยู่ มันบอกเล่าอะไรเกี่ยวกับเมืองเยอะมากเลย เราเห็นความเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังเห็นด้วยว่า เขามองอนาคตของตัวเองอย่างไร
“แล้วบางเรื่องก็ปะติดปะต่อกันได้หมดเลย อย่างเช่นคนบ้านหนึ่ง พอเล่าๆ ไป เขาก็บอกว่า รูปที่อยู่ในฝาต่อไปเป็นญาติเขานะ ซึ่งบางทีเราก็ไม่เคยรู้มาก่อน เพราะเห็นว่าคนละนามสกุล หรือบุคคลในรูปมาแต่งงานกับบ้านนี้ มันก็เป็นเรื่องในชุมชน ทำให้เราเห็นว่าชุมชนนี้เชื่อมโยงกันหมด ซึ่งเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งในชุมชนนี้เหมือนกัน”
แม้ที่นี่จะไม่ได้สร้างรายได้เป็นตัวเงิน แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ความสุขใจ และรอยยิ้มของผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาที่ a.e.y. space
ขณะเดียวกัน เขาก็พยายามต่อยอดให้ที่นี่ไปได้ไกลกว่าแค่จัดนิทรรศการ แต่ยังเป็นพื้นที่กลางที่เชื่อมร้อยชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลประวัติศาสตร์ของชุมชนมาตีความใหม่ ชักชวนร้านเก่าแก่ เช่น ร้านถ่ายภาพมาจัดกิจกรรมร่วมกัน ทำงานร่วมกับวิทยากรข้างนอก เช่นกลุ่ม Bangkok Sketcher และ Urban Sketching มาทำเวิร์กช็อปเรื่องการสเก็ตช์ภาพแก่เยาวชนในสงขลา และคืนวันศุกร์ เอ๋ก็จะแปลงร่าง a.e.y. space ให้เป็นโรงภาพยนตร์ ฉายหนังทางเลือก โดยหลายเรื่องได้รับการอนุเคราะห์จาก Documentary Club เพราะสำหรับเขาแล้วการดูหนังก็เหมือนการเปิดโลก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีแฟนประจำแวะเวียนมาชมอยู่ตลอด ก่อนจะปิดท้ายด้วยวงเสวนา เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกัน
“เรามอง a.e.y. space เป็นเหมือนเมล็ดถั่วเมล็ดหนึ่ง คือจากเดิมที่ไม่รู้ว่ามันจะงอกออกมาเป็นอะไรหรือเปล่า แต่พอได้ลงดิน มันค่อยๆ เริ่มแตกรากออกมา เริ่มมีลำต้น เริ่มเห็นใบเห็นดอกเล็กๆ ซึ่งผ่านมาสิบปี เราก็ยังเป็นต้นไม้เล็กๆ ต้นหนึ่งในสงขลาอยู่ และไม่ได้คิดว่าจะเป็นต้นไม้ใหญ่ด้วย แต่อย่างน้อย ต้นไม้นี้ก็อาจจะช่วยทำให้สงขลาดูสดชื่น และผู้คนสามารถนำดอก ผล หรือใบไปใช้ประโยชน์ต่อ หรือจะมีต้นอื่นๆ มาแฝงอยู่ด้วยกันก็เป็นไร ขอให้ได้ใช้ประโยชน์ก็พอแล้ว”
นอกจากการสร้างพื้นที่กิจกรรมให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เอ๋กับ a.e.y. space มีส่วนจุดกระแสขึ้นมาคือ การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดั้งเดิมของเมือง
ด้วยเมืองสงขลามีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ยาวนาน อย่างอาคารหลายหลังก็เป็นเสมือนภาพเก่าแก่ที่ฉายความเป็นมาของเมือง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งไทย จีน มุสลิม หรือแม้แต่ชาติตะวันตก ที่สำคัญโครงสร้างของหลายๆ ตึกนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว
แต่คนจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจความสำคัญ จึงปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปอย่างน่าเสียดาย กระทั่งเมื่อปี 2560 เมื่อเอ๋ตัดสินใจบูรณะตึก a.e.y. space ใหม่ ก็ส่งผลให้เจ้าของตึกหลายคนเริ่มตระหนักและอยากกลับมารักษาเสน่ห์เหล่านี้ให้คงอยู่คู่กับเมืองสงขลาต่อไป
โดยครั้งนั้นเหตุผลหลักที่เอ๋ตัดสินใจบูรณะตึก เป็นเพราะสภาพตึกนั้นทรุดโทรมเต็มที ไม่ค่อยเหมาะสำหรับจัดกิจกรรมสร้างสรรค์เท่าใดนัก หากแต่การซ่อมแซมของเขาไม่ใช่การรื้อทิ้ง แต่เน้นการสืบต่อประวัติศาสตร์อันยาวนานของตึกนี้ต่อไป ซึ่งบางอย่าง เอ๋ก็ค้นพบโดยบังเอิญระหว่างการซ่อมแซม เช่นตอนที่ทุบผนังปูนออก เขาพบผนังซุ้มโค้งที่ซ่อนไว้ด้านใน แล้วยังเจอผนังอิฐเก่าที่ผลิตจากเกาะยอ ซึ่งมีลวดลายและสีสันสวยงามอีกต่างหาก
“บางทีก็เหมือนย้อนอดีตที่เราเคยอยากเป็นสถาปนิกแล้วไม่ได้เป็น ตอนนั้นเราซ่อมเองหมดเลย ไม่ได้ใช้สถาปนิกหรือนักออกแบบที่ไหนเลย อีกอย่างหนึ่งเราคิดว่า การซ่อมนี้น่าจะมาจากสิ่งที่เราอยากเห็นและอยากให้เป็นในอนาคต โดยระหว่างนั้นเราก็ถามช่าง ถามผู้รู้ไปด้วย เพื่อให้เห็นว่าปลายทางจะเป็นยังไง เพราะฉะนั้นการซ่อมแบบอนุรักษ์ของเราก็คือ เก็บส่วนที่ดีของอาคารไว้ให้ได้มากที่สุด ส่วนภายในก็เน้นปรับให้เหมาะกับฟังก์ชันการใช้งานก่อน ส่วนความสวยก็ถือเป็นเรื่องรอง”
จากแนวทางการอนุรักษ์เช่นนี้เอง ส่งผลให้ a.e.y.space ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2561 ประเภทอาคารพาณิชย์ จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ และกลายเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งให้เจ้าของอาคารหลายคนหันมาให้คุณค่ากับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณมากขึ้น
ต่อมาเอ๋ก็มีโอกาสได้บูรณะตึกอีกหลัง ซึ่งเป็นอาคารสไตล์ฮกเกี้ยนอายุกว่า 150 ปี
ความจริง เอ๋เห็นตึกนี้มานานหลายปีมาก และรู้สึกว่าเป็นอาคารที่สวยแปลกตา แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีโอกาสได้เห็นข้างในเลย เพราะถูกปิดไว้ตลอด จนกระทั่งวันหนึ่ง เจ้าของอายุ 80 ปีเดินทางมาจากกรุงเทพฯ เพื่อซ่อมแซมบ้าน ซึ่งจัดการไปแล้วประมาณ 60-70% และเมื่อเอ๋พบเข้าจึงเจรจากับเจ้าของขอรับอาสาขอบูรณะบ้านให้แทน
“ตอนกลับมาอยู่สงขลา เรามองตึกนี้ทุกวันเลย เคยไปรื้อรูปเก่าที่มีนักวิชาการเคยเข้าไปถ่าย ข้างในเละเทะมาก กระทั่งมาเจออีกทีตอนที่เขาซ่อม พวกหลังคาจีนถูกเอาออกหมดแล้ว กำลังจะฉาบปูนปิดสีผนังเดิม เราขี่จักรยานอยู่ผ่านมาแล้วก็ตกใจมาก เลยเข้าไปคุยกับช่าง ช่างก็บอกว่าเดี๋ยวสัปดาห์หน้าเจ้าของจะมา อยากคุยด้วยไหม เราก็บอกว่าได้ๆ คืออยากช่วยเขา จะเป็นที่ปรึกษาก็ได้ คือไม่ได้อวดเก่งว่าทำตึกเป็นนะ แต่เราไม่อยากให้ตึกมันโดนทำลายไปมากกว่านี้
“พอเจอคุณลุงเจ้าของบ้าน เขาก็เล่าให้ฟังว่า ทำไมถึงกลับมาซ่อม คือบ้านนี้เป็นของบรรพบุรุษ คุณปู่ชื่อแป๊ะขวด เป็นหมอยาของเมืองสงขลา ซึ่งใจดีมาก จัดยาให้คนจนโดยไม่คิดเงิน เราได้ยินแค่นั้นก็รู้สึกว่า ประวัติศาสตร์นี้จะโดนลบเลือนไปพร้อมกับบ้านหลังนี้เหรอ ก็เลยเสียดาย แล้วภายใน 10 นาทีก็เลยขอเช่าบ้านนี้ แล้วจะขอดูแลเรื่องการซ่อมแซมที่เหลือด้วย อยากขออนุญาตเปลี่ยนให้มันกลับมาอยู่ในรูปแบบเดิม เพราะว่าตึกแบบจีนฮกเกี้ยนที่สมบูรณ์แบบที่เป็นหลังเดี่ยวๆ มันเหลือน้อยมาก ซึ่งคุณลุงก็บอกว่าทำไปเลย”
เมื่อซ่อมแซมเสร็จ เขาก็ตั้งชื่อตึกนี้ว่า The Apothecary Of Singora หมายถึงร้านปรุงยาของเมืองสงขลา แล้วด้านหน้าก็ทำพิพิธภัณฑ์เล็กๆ เล่าเรื่องของแป๊ะขวด เพราะภายในบ้านยังมีรูปและแท่นบูชาของบรรพบุรุษที่สมบูรณ์มากตั้งอยู่ พร้อมกันนั้นยังมีการปรับพื้นที่ไว้ใช้สำหรับขายของที่ระลึกจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ยาดมนางงาม หรือกระเป๋าผ้าทอเกาะยอ เพื่อเป็นทุนในการดูแลอาคารเก่าต่อไป
ผลจากการเข้ามาบูรณะอาคารเก่าในเมืองสงขลา ทำให้เอ๋ยิ่งเข้าใจว่า เมืองนี้มีคุณค่าและเรื่องราวอีกมากมายที่รอการค้นพบ เพื่อการอนุรักษ์และต่อยอดไปสู่คนรุ่นหลัง ที่สำคัญยังเป็นตัวจุดประกายหนึ่งที่ทำให้เขาอยากชักชวนคนอื่นๆ ในชุมชนมาช่วยกันสร้างความยั่งยืนให้บ้านเกิดของตัวเอง
ผ่านมาสิบปี a.e.y.space ก็ยังเป็นต้นไม้เล็กๆ ต้นหนึ่งในสงขลาอยู่ และไม่ได้คิดว่าจะเป็นต้นไม้ใหญ่ด้วย แต่อย่างน้อย ต้นไม้นี้ก็อาจจะช่วยทำให้สงขลาดูสดชื่น และผู้คนสามารถนำดอก ผล หรือใบไปใช้ประโยชน์ต่อ
แม้จะเปิด a.e.y. space มาหลายปี แต่เอ๋ตระหนักดีว่า โอกาสที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เมืองสงขลาไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่แล้ว เขาก็ได้พบจุดพลิกผันที่ทำให้ความคิดและวิธีทำงานเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
เมื่อกลางปี 2563 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA มีแผนจะมาเปิดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) แห่งที่ 4 ในเมืองสงขลา จึงเชิญเอ๋ ในฐานะนักสร้างสรรค์ของเมืองมาทำกิจกรรมร่วมกัน
โครงการที่ CEA อยากให้เอ๋ทำ คือ Portrait of Songkhla โดยมีธีมง่ายๆ คือให้ไปชักชวนคนในท้องถิ่นมาถ่ายรูปครอบครัวกัน พร้อมกับสัมภาษณ์เก็บข้อมูลเพื่อนำมาจัดเป็นนิทรรศการ ซึ่งความจริงแล้ว โครงการลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นในงาน Bangkok Design Week 2020 ชื่อว่า Portrait of Charoenkrung ดำเนินการโดยโรงเรียนสังเคราะห์แสง ซึ่งเป็นสถาบันสอนถ่ายภาพของช่างภาพมืออาชีพ 4 คน และได้รับเสียงตอบรับที่ดี CEA จึงอยากให้ต่อยอดไปสู่พื้นที่อื่นบ้าง
“ก่อนหน้านี้เราเคยไปดูงาน Portrait of Charoenkrung แล้วชอบมาก เป็นงานเดียวที่ตั้งใจไปดู รู้สึกอยากจะทำอะไรที่บ้านตัวเองบ้าง แต่ก็ได้แค่คิด เพราะคงต้องใช้เครือข่ายเยอะมาก ซึ่งพอเขาติดต่อให้เรามาทำก็เหมือนถูกหวย แต่ก็ต้องยอมรับว่ากดดัน เพราะ a.e.y. space ไม่เคยทำงานสเกลนี้มาก่อน เคยแต่ทำงานแบบกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียว หรือทำกับศิลปินที่คุ้นเคยกัน แต่ครั้งนี้เราต้องทำงานร่วมกับสังเคราะห์แสง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มาจากต่างถิ่น แต่ก็มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องการถ่ายภาพมาก”
โจทย์หนึ่งที่ทีมงานจาก 2 ฝั่งวางร่วมกัน คือ อยากให้ทุกขั้นตอน ทั้งการถ่ายภาพ การเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ การออกแบบ หรือการจัดการเครือข่ายต่างๆ เป็นหน้าที่ของ a.e.y. space ส่วนโรงเรียนสังเคราะห์แสงจะรับบทบาทเป็นพี่เลี้ยง คอยช่วยเสริมการทำงานให้ราบรื่นมากขึ้น
เอ๋จึงต้องสร้างทีมงานเฉพาะกิจขึ้นมา ด้วยการดึงน้องๆ ในท้องถิ่นที่คุ้นเคยกัน ทั้งช่างภาพ นักออกแบบ นักวิจัย มาร่วมกันทำโปรเจกต์นี้ ซึ่งแม้ไม่แน่ใจว่าปลายทางจะออกมาในรูปแบบใด แต่ทุกคนก็ยินดีและพร้อมช่วยเหลือเพื่อให้งานครั้งนี้สำเร็จลุล่วง
“เราทำงานประกบกับทีมสังเคราะห์แสง ทั้งทีมช่างภาพหรือทีมเก็บข้อมูล ซึ่งข้อดีคือ มันช่วยเติมเต็มความรู้ให้กับคนท้องถิ่น ไม่ใช่แสดงงานก็จบกันไป ร่องรอยที่ทิ้งไว้อย่างแรก คือคนในท้องถิ่นได้รับการฝึกฝนให้ได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งผมว่ามันไม่ใช่การพัฒนาแค่เมือง แต่พัฒนาคนไปพร้อมๆ กัน”
ครั้งนั้นทีมงานได้คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะถ่ายภาพจำนวน 76 ครอบครัว โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกหลักๆ อย่างเช่นเป็นร้านเก่าแก่ของเมือง ทั้งร้านอาหาร ร้านขายของ บุคคลที่สร้างคุณูปการแก่เมือง หรือคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาช่วยสร้างสีสันแก่เมืองสงขลา
มองเผินๆ หลายคนอาจคิดว่า แค่ถ่ายรูป ใครๆ ก็ทำได้ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะหลายๆ บ้าน พวกเขาก็แค่รู้จักชื่อ แต่ไม่เคยคุยกันมาก่อน บางบ้านไม่ได้ถ่ายรูปครอบครัวมานับสิบปีแล้ว และนึกไม่ออกว่าโครงการนี้คืออะไร ซึ่งก็ต้องอาศัยการอธิบาย สร้างความเข้าใจ เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพร่วมกัน เพราะฉะนั้น Portrait of Songkhla จึงเปรียบเสมือนสะพานเล็กๆ ที่เชื่อมชาวสงขลาให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
“ก่อนจะถ่ายภาพเราก็ต้องไปคุยกับเขาก่อน ตอนนั้นก็ประกบทีมรีเสิร์ชตลอดเวลา เพราะรู้สึกว่า ทุกการคุยกับชาวบ้าน เราอยากมีส่วนร่วม อยากให้เขารู้ว่า เราทำจริงนะ ไม่ได้โดนสั่งให้มาทำ แต่เพราะอยากเรียนรู้ อยากรู้จักชุมชนของเราจริงๆ ที่สำคัญโครงการนี้ยังเป็นกิจกรรมที่ทำกับคนจริงๆ คนเล็กคนน้อยหลายคนไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมีโอกาสมีภาพของตัวเองด้วย
“แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า มันทำให้เรารู้ว่า แค่ภาพถ่ายภาพเดียวก็อาจจะมีพลังมากกว่าที่คิด เช่นเคสหนึ่ง เราไปถ่ายรูปตอนกลางคืน เพราะต้องรอให้ร้านปิดก่อน ซึ่งพอถึงเวลาถ่ายปรากฏว่าทุกคนมากันพร้อมแล้ว เหลือพ่อคนเดียวที่ไม่มาถ่าย ปรากฏว่าแกไปหลบฉากอยู่อีกที่ ช่างภาพก็เลยเข้าไปตาม ไปถามว่าเกิดอะไรขึ้น เขาก็บอกว่า คงไม่ถ่ายดีกว่า เพราะเขารู้สึกไม่แน่ใจว่าควรอยู่ในรูปหรือเปล่า
“คือเขาน้อยใจลูก เหมือนกับลูกไม่ค่อยให้ความเคารพ เวลาทำงานด้วยก็โวยวายใส่พ่ออยู่ตลอด ป๊าไม่ดีอย่างนั้น ป๊าช้าอย่างนี้ มันสะสมในใจเขา จนช่างภาพกับน้องในทีมต้องไปคุยว่า ไม่เป็นไร ครั้งนี้เป็นการถ่ายรูปครอบครัว ซึ่งอาจจะไม่มีบ่อยๆ เป็นโอกาสที่จะทำให้ครอบครัวกลับมามีความสุข เราถ่ายไปก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากัน เกลี้ยกล่อมประมาณ 10 นาที ถึงยอมเข้ามา
“แล้วปรากฏว่าเขาเป็นคนเดียวในรูปที่ดูร่าเริงที่สุด เพราะช่างภาพเราเชียร์อัพ แล้วพอหลังจากนั้นเขากับลูกชายก็มากอดกัน เขารู้สึกว่า ครอบครัวนี้มีค่า แล้วการที่ได้มาอยู่ในรูปใบเดียวกันนี้ แถมยังได้ถ่ายภาพจากช่างภาพท้องถิ่น มีกล้องอย่างดี เซ็ตไฟ เซ็ตฉาก ทุกคนดูตั้งใจ ต้องเข้าไปขยับทุกอย่าง เพื่อให้รูปของเขาดีที่สุด มันเป็นความทรงจำที่ดี และยิ่งเขาได้ปรับความเข้าใจ เรารู้สึกขนลุกนะ เหมือนเป็น Magic Moment ว่ารูปภาพใบเดียวมันสามารถดึงครอบครัวให้กลับมาคุยกันได้ด้วย”
โครงการนี้ใช้เวลาดำเนินการอยู่ 4 เดือนเต็มๆ แต่ผลตอบรับที่ได้กลับมานั้นมหาศาล เพราะนอกจากนิทรรศการภาพถ่ายครอบครัวแล้ว ยังเกิดนิทรรศการย่อยๆ กระจายไปทั่วเมืองอีก 9 แห่ง มีผู้คนทั้งจากจังหวัดสงขลา ภาคใต้ และทั่วประเทศแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย หลายคนถึงขั้นตามรอยภาพถ่ายไปกินอาหาร กระทั่งเศรษฐกิจในพื้นที่เพิ่มขึ้นเกือบ 30%
พอปีถัดมา เอ๋ก็ได้รับโอกาสให้ทำโครงการ Made in Songkhla ซึ่งกิจกรรมนี้ก็ต่อยอดมาจากโปรเจกต์ในกรุงเทพฯ เช่นเดิม โดยมีคอนเซปต์ง่ายๆ คือ ชักชวนร้านเก่าแก่ในชุมชนมาทำงานร่วมกับนักออกแบบรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยยังคงเอกลักษณ์หรือเสน่ห์ของร้านดั้งเดิมเอาไว้ได้
“ครั้งนี้เราก็ทำรีเสิร์ชก่อนเหมือนกัน ไม่ได้เลือกจากร้านที่สนิทหรือคุ้นเคย จำได้ว่าเราเอาอาหารจาก 40 ร้านมากองไว้บนโต๊ะ แล้วค่อยๆ เอาเกณฑ์ที่วางไว้มาจับ เช่นเป็นร้านที่มีหนึ่งเดียว เป็นของดีของย่าน ไม่มีอีกแล้ว ค่อยๆ จำแนกออก จนเหลือสุดท้าย 12 ร้าน ซึ่งสิ่งที่เลือกมา เราก็ไม่ได้ทำตามแนวที่เขาวางมาให้เท่านั้น พยายามคิดใหม่ทำใหม่ เช่นเราไม่ได้มีแต่ของกินเท่านั้น แต่ยังมีของฝาก มีมุมอะไรต่างๆ เพื่อเวลาที่รวมกันเป็นก้อนจะได้เป็น Made in Songkhla จริงๆ
“อย่างโรงพิมพ์แห่งหนึ่งชื่อ ทวีทรัพย์ ถ้าเราเข้าไปข้างในเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตเลยนะ มันมีเครื่องจักรที่สวยงามเก่าแก่ และยังอยู่ใจกลางย่านนครในด้วย แต่เวลาเราผ่านไป เขาก็มีงานบ้าง ไม่มีบ้าง แถมนักท่องเที่ยวก็ไม่เคยมีส่วนร่วมกับเขาเลย เราก็คิดว่าโปรเจกต์นี้ควรรองรับได้ด้วย เราก็เลยเข้าไปคุยกับเขาว่า หากเราจะให้ร่วมโปรเจกต์ โดยให้ผลิตสิ่งที่เขาทำเองได้ จะสนใจไหม ซึ่งเขาบอกว่าสนใจ เพราะอยากมีส่วนร่วมกับเมืองเหมือนกัน”
เสน่ห์ของโครงการนี้ นอกจากจะช่วยยืดอายุของร้านเก่าแก่ในพื้นที่แล้ว ยังถือเป็นต้นแบบของการนำคนรุ่นเก่ามาทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง
“ตอนแรกเราคิดว่าต้องยากแน่นอน แต่ตอนหลังเราไปเจอจุดพลิกที่ช่วยปลดล็อกทุกอย่าง อย่างแรกเลยคือ การเข้าหาร้านต่างๆ เราต้องเข้าไปอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน เข้าไปเพราะอยากรู้จริงๆ ว่าเขาต้องการอะไร ขาดอะไร มีจุดเด่นจุดด้อยอะไร และเราจะช่วยเสริมหรืออุดรูเหล่านี้ได้อย่างไร และอีกเรื่องที่สำคัญคือ ต้องทำให้เขาอยู่รอดในโลกธุรกิจ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ถูกรุมเร้า ทั้งจากโรคระบาด หรือปัญหาเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเวลาคุยกับเขา เราจะถามเยอะมาก จนได้ข้อสรุปออกมาว่า เราเห็นโอกาสอะไรบ้าง จากนั้นถึงค่อยไปเลือกดีไซเนอร์ให้ตรง เพื่อจะได้พอเหมาะพอเจาะกับร้านพอดี”
อย่างร้านหนึ่งที่เอ๋คิดว่าน่าสนใจมากคือ ร้านน้ำชาฮับเซ่ง ซึ่งมีอายุเกือบร้อยปีแล้ว ถือเป็นร้านน้ำชาคู่เมืองสงขลา ขายโดยคุณยายวัย 80 ปี ชื่อ ป้าบ่วย
ร้านนี้มีสินค้าที่โดดเด่นมากคือ สังขยา ซึ่งใช้เวลาเคี่ยวนานถึง 8 ชั่วโมง แถมยังทำเองทุกอย่าง แต่กลับขายได้ราคาน้อยนิดเพียงกระปุกละ 30-40 บาท แถมที่ผ่านมาก็ใช้ประโยชน์เพียงแค่ทาขนมปังอย่างเดียว และหากขายไม่หมดก็ต้องทิ้ง เพราะร้านนี้ไม่ได้ใช้สารกันบูด
“ตอนนั้นเราก็มาวิเคราะห์ว่าปัญหาของร้านคืออะไร จนพบว่าข้อแรก สินค้าผลิตยากขนาดนี้ทำไมใช้ประโยชน์น้อยจัง สองคือพอเจอโรคระบาด เขาก็ไม่ให้คนนั่งแล้ว ปิดประตู ขายผ่านช่องลอดอย่างเดียว เพราะฉะนั้นการค้าขายเขาต้องแย่มาก และไม่รู้ว่าโรคจะหมดไปเมื่อไหร่ จากโจทย์นี้เอง เราก็เลยมาคิดว่าจะช่วยเขาอย่างไร หนึ่งคือ เราช่วยออกแบบ Grab & Go ให้เขาดีกว่า คือให้มีขนมปังในรูปแบบที่ถือไปกินได้ ถ่ายรูปได้ ไม่ต้องเปิดร้านก็ซื้อผ่านประตูได้หมด มีการทำขวดสังขยาสำหรับ Take Away ให้ พูดง่ายๆ คือ ปรับปรุงให้ร้านเขาอยู่ในโลกปัจจุบันได้ โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนเยอะ
“ช่วงที่เลือกดีไซเนอร์ เราก็นึกถึง พี่เด่น-นิรามย์ วัฒนสิทธิ์ แห่ง Eden’s การสื่อสารก็ต้องผ่าน Line Call เพราะเราก็ไม่อยากเสี่ยงจะเอาโรคไปติดป้าบ่วย เรียกว่าทำงานกันลำบากมาก แต่เราก็พยายามหาทางจนกระทั่งได้ไอเดียว่า ทำเป็นวาฟเฟิลดีไหม ซึ่งพอลองทำแล้วอร่อยขึ้นอีก จากนั้นเราก็ห่อกระดาษชิ้นเดียว โดยกระดาษนั้นก็จะบอกประวัติของร้านด้วย ซื้อเสร็จก็ถือไปถ่ายรูปจบ พอทำเสร็จปรากฏว่า ทุกวันนี้ฮับเซ่งขายได้เยอะมาก แล้วก็มีลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เข้ามาอยู่ตลอด ทั้งกลุ่มวัยรุ่น หรือคนทำงานที่เคยนั่งตามคาเฟ่ จากนั้นเราก็ต่อยอดด้วยการนำสังขยาเข้าไปใส่ในเครื่องดื่มแทนนมข้นหวาน ใส่ในกาแฟลาเต้ ใส่นมตราหมี จนได้เมนูหลากหลาย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เราเปลี่ยนแค่นิดเดียว แต่แก้ปัญหาของร้านได้โดยที่ไม่สูญเสียความเป็นตัวเองเลย”
และนอกจากร้านกาแฟแล้ว Made in Songkhla ยังต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่น ร้านแต้เฮี้ยงอิ้ว ร้านอาหารเก่าแก่ของสงขลา ก็ได้จับมือกับ Trang Koe ร้านอาหารชื่อดังของเมืองตรัง พัฒนาซอสอเนกประสงค์ 2 สูตรคือ ซอสเต้าหู้ยี้สีครีม และซอสต้มยำแห้ง โดยใช้วัตถุดิบจากในท้องถิ่น เช่น เต้าหู้ยี้ก็ใช้จากร้านเต้าหู้ยี้เสวย ส่วนน้ำพริกเผาก็มาจากร้านของฝาก สิน อดุลยพันธ์
หรือร้านไอศกรีมบันหลีเฮง เอ๋ก็จับคู่ร้านขนมหวานในเมืองหาดใหญ่ Lunaray ทดลองนำไอศกรีมสองรสชาติหลักของร้านคือ วานิลลากับหวานเย็นลิ้นจี่มาทำเป็นแบบแท่งและโฟลต แล้วก็ผสมท็อปปิ้งที่สะท้อนความเป็นสงขลา อย่างมะพร้าวคั่ว และน้ำตาลโตนด เสริมด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ทุกคนเดินรับประทานได้สบาย และหลังจากนั้นร้านไอศกรีมแห่งนี้ก็กลับมาขายดี มีลูกค้าคนรุ่นใหม่ต่อคิวอย่างล้นหลาม
“เรามองโปรเจกต์ Made in Songkhla เหมือนเป็นครอบครัวหนึ่ง ร้านค้าเก่าแก่เหล่านี้ก็เหมือนคุณลุงคุณป้า คุณตาคุณยาย แล้วพวกเราเป็นลูกหลานที่คอยขัดสีฉวีวรรณให้เขา จับเขาแต่งตัวหน่อย ให้เหมาะสมกับอายุเขา โดยที่สุดท้ายเรามาเจอกันตรงกลางที่ทุกคนมีความสุข ชอบแบบนี้ไหม ไม่ชอบก็จะปรับให้ จนนำไปสู่ภาพลักษณ์ใหม่ๆ ตามขึ้นมา”
แม้ Portrait of Songkhla และ Made in Songkhla จะเป็นโครงการระยะสั้น แต่สำหรับเอ๋แล้ว ทั้งสองกิจกรรมนั้นช่วยให้เขาเติบโตทางความคิด เป็นต้นแบบที่ใช้สร้างสรรค์กิจกรรมอื่นๆ ที่ตามมาอีกหลายกิจกรรม ด้วยความเชื่อมั่นว่า เมืองสงขลานั้นเปลี่ยนแปลงได้ หากทุกคนร่วมมือ และมองการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
แต่เราคงไม่มีทางปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงได้ ดังเช่นระหว่างทางก็มีร้านค้าเกิดขึ้นและล้มตายอยู่ตลอด ร้านเก่าแก่บางแห่งก็ต้องปิดตัวเพราะไม่มีลูกหลานสืบทอด และแน่นอนก็ต้องมีร้านใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ แต่สิ่งหนึ่งที่เอ๋ยังอยากให้คงอยู่ก็คือ การส่งต่อทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญากันภายในเมือง รวมทั้งส่งเสริมคนรุ่นใหม่ๆ ให้มีที่ยืน เพื่อเป็นกำลังหลักในการทำให้เมืองเก่าสงขลาเดินหน้าอย่างยั่งยืน
และทั้งหมดนี้ คือความฝันของคนตัวเล็กๆ อย่างเอ๋ ที่อยากเห็นบ้านเกิดของเขา เป็นสังคมที่เปี่ยมด้วยความสุขตลอดไป
คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ปกรณ์ รุจิระวิไล คือบุคคลต้นแบบประเด็นส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า (SDGs ข้อที่ 8), ประเด็นทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความทั่วถึง ปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 11) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)
นักเคลื่อนไหวผู้บุกเบิกเรื่องความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่ม LGBTQ+ ในเมืองไทย
นักวิจัยทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรเชียงดาว พร้อมกับพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามวิถีธรรมชาติที่ยั่งยืน
เจ้าของเพจ ทูนหัวของบ่าว Kingdom of tigers ผู้บุกเบิก Catsters โมเดลหาบ้านให้แมวจร เพื่อแก้ปัญหาในเมืองกรุง
เภสัชกรหญิง เจ้าของรางวัลแมกไซไซที่เดินทางไปทั่วแอฟริกา เพื่อสอนการผลิตยารักษาโรคให้ผู้ขาดแคลน
น. ณ ปากน้ำ ศิลปินแห่งชาติ ผู้จุดประกายให้คนไทย เห็นความสำคัญและช่วยกันอนุรักษ์ศิลปะไทย
นักขับเคลื่อนทางสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องคนไร้บ้านมานานกว่า 2 ทศวรรษ และพยายามยกระดับให้คนกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ทัดเทียมกับคนทั่วไป
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.