ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการอนุรักษ์ ชายคนหนึ่งเพียรพยายามสื่อสารให้คนทั่วไป เห็นความสำคัญของศิลปะไทยโบราณ ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป
เขาเขียนถึงวัดไชยวัฒนาราม วัดสำคัญสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งถูกทิ้งร้างกลางป่ารกชัฏไร้คนเหลียวแล เขียนถึงจิตรกรรมฝาผนังที่ครูช่างประชันฝีมือกัน ซึ่งขณะนั้นเริ่มกะเทาะหลุดร่อน เขียนถึงความงามวิเศษของศิลปกรรมตามวัดวาอารามต่างๆ ที่กำลังต่อสู้กับการบูรณสังขรณ์โดยผู้ไม่รู้คุณค่า จนไม่เหลือเค้าเดิม
หลายคนแปลกใจ เพราะก่อนหน้านั้นเขานิยมศิลปะตะวันตก เคยได้คะแนนผลงานศิลปะอิมเพรสชันนิสต์สูงลิ่วจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี และเป็นเจ้าของผลงาน จันทบุรี งานโพสท์อิมเพรสชันนิสม์แบบไทยที่คว้ารางวัลศิลปกรรมดีเด่นแห่งชาติ
แต่แล้วชีวิตก็หักเห เมื่อถูกไล่ออกจากราชการ ศิลปินหนุ่มใช้ช่วงตกอับเดินทางสำรวจซากเจดีย์รกร้างในพื้นที่ภาคกลางของประเทศ และเริ่มมองเห็นความงามของศิลปะบนแผ่นดินเกิด อันนำไปสู่การอุทิศเวลาศึกษาค้นคว้า เผยแพร่ความรู้ด้านศิลปะโบราณ จนถึงช่วงท้ายของชีวิต
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับ ประยูร อุลุชาฎะ หรือที่รู้จักกันในนามปากกา ‘น. ณ ปากน้ำ’ บรมครูผู้มีความรู้หลายด้าน ทั้งศิลปะ โหราศาสตร์ วัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่เขาทุ่มเทลงแรงเพื่อจุดประกายให้คนไทย เห็นความสำคัญและช่วยกันอนุรักษ์ศิลปะไทย
ประยูรเกิดในครอบครัวที่ไม่มีใครเป็นศิลปิน เขาค้นพบว่าตนเองชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก และฝึกเขียนรูปด้วยวิธีลอกจากหนังสือฝรั่ง ครูเห็นว่ามีฝีมือเลยมักใช้ให้เขียนแผนที่ในกระดานดำ เขียนรูปตับไตไส้พุง เครื่องมือวิทยาศาสตร์ จนมีชื่อว่าเป็นช่างวาดของโรงเรียน
สมัยเรียนมัธยมที่ปากน้ำ ประยูรเคยตามผู้ใหญ่มาเที่ยวงานรัฐธรรมนูญที่วังสราญรมย์ และมีโอกาสได้เห็นรูปปั้นอนุสาวรีย์ของนักเรียนศิลปากร ทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นและอยากเรียนที่ศิลปากรให้ได้
วันหนึ่งอ่านหนังสือพบว่า มีครูคนหนึ่งรับสอนเขียนรูปทางไปรษณีย์อยู่ที่มหาชัย จึงรบเร้าให้แม่พาไปเรียน ยื่นคำขาดว่าหากไม่พาไปจะไม่เรียนต่อ แต่เมื่อไปถึงกลับพบครูคนนั้นนุ่งกางเกงแพรออกมาด้วยใบหน้ายับยู่ยี่เหมือนคนเพิ่งตื่น บอกว่าไม่รับสอนตัวต่อตัว ทำให้เด็กหนุ่มที่ดั้นด้นมาจากปากน้ำกลับไปอย่างผิดหวัง
ด้วยความมุมานะ เขาเรียนต่อที่เพาะช่าง ก่อนเข้ามาเรียนที่ศิลปากรได้สมดังใจ ยุคนั้นอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ใช้หลักสูตรที่นำมาจากอะคาเดมีในฟลอเรนซ์ จึงสอนอย่างเข้มข้นไม่ให้ตกมาตรฐานอิตาลี นักเรียนหลายคนพากันถอดใจ จากทั้งรุ่นที่มี 40 กว่าคน เมื่อเรียนปี 4 ก็หายไปจนเหลือแค่ 5 คน
ช่วงนั้นเป็นเวลาเฟื่องฟูของศิลปะแนวใหม่จากตะวันตก ทั้งอิมเพรสชันนิสม์และโพสต์อิมเพรสชันนิสม์ คือ คิวบิสม์ โฟวิสม์ เอกซเพรสชันนิสม์ เซอเรียลลิสม์ บางครั้งอาจารย์ศิลป์ก็นำภาพเหล่านั้นมาสอน แต่ท่านกลับไม่อนุญาตให้ลูกศิษย์ทดลองทำงานรุ่นใหม่ เพราะเห็นว่าการฝึกหัดศิลปินควรเริ่มต้นจากแนวทางคลาสสิกก่อน
ประยูรและพรรคพวกในรุ่น ต่างหลงใหลมนต์เสน่ห์ของศิลปะใหม่ๆ จนถอนตัวไม่ขึ้น ไม่ยอมเชื่ออาจารย์ฝรั่ง กลับดึงดันวาดภาพแนวทางที่พวกเขาอยากเขียนไปส่ง จากคะแนนเต็ม 100 บางครั้งกลุ่มของประยูรจึงได้เพียง 10 หรือ 15 คะแนนเท่านั้น
จนเมื่อถึงเวลาสอบปลายภาค พวกเขาก็ยังคงส่งงานแบบเดิม ถือคติว่าตกเป็นตก ตายด้วยกัน แต่ผิดคาด อาจารย์ศิลป์เห็นแก่ความเด็ดเดี่ยวของลูกศิษย์จึงให้คะแนนสูงสุดถึง 100 + 10 มากกว่าคะแนนเต็ม
แต่เหตุการณ์ที่ประยูรไม่เคยลืม คือวันที่เขาเอางานชิ้นหนึ่งไปส่งอาจารย์ศิลป์ ยุคนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าวของจากเมืองนอกขาดแคลน รวมถึงกระดาษวาดเขียน เขาจึงเอาหนังสือเก่าที่ซื้อมาจากเวิ้งนาครเขษม ฉีกเอาด้านสีขาวมาใช้วาดรูป
“พอท่านตรวจงานมาถึงของผมก็พูดขึ้นว่า กระดาษอะไรนี่นาย..ดีมาก แล้วท่านก็พลิกกลับมาดูด้านหลังภาพ Composition ของผม ผมเห็นท่านรู้สึกโกรธขึ้นมาทันที.. โกรธมาก โกรธจริงๆ พูดออกมาเสียงดังว่า
“นี่ภาพพระพุทธบาทสมัยสุโขทัย ทำไมนายเอามาทำอย่างนี้.. สักวันหนึ่งนายจะต้องเสียใจ”
กระดาษจากหนังสือภาษาเยอรมันมือสอง ราคาไม่กี่บาท ทำให้อาจารย์ฝรั่งหัวเสียถึงขั้นไม่ยอมตรวจให้คะแนนกับเขา เหมือนกับลงโทษให้หลาบจำที่ไม่เห็นคุณค่าศิลปะไทย
ตอนนั้นเขาไม่ได้สนใจใยดีอะไรนัก เพราะใจยังนิยมศิลปะตะวันตก กระทั่งหลายปีต่อมาเมื่อต้องกลับมาศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ ขลุกอยู่กับโบราณคดี โบราณวัตถุ ลงพื้นที่ดูรอยพระพุทธบาท เขานึกถึงเรื่องนี้แล้วก็รู้สึกว่าคำพูดนั้นเป็นเหมือน ‘คำสาป’
คำสาปของอาจารย์ศิลป์ที่ทำให้เขากลับมารักศิลปะไทย
สุดท้ายแล้วประยูรเรียนไม่จบปี 5 เพราะการเรียนการสอนมาตรฐานสูงจนไม่มีใครได้ปริญญา เขาออกไปหางาน เริ่มจากเขียนป้ายโฆษณา ต่อมาเป็นครูสอนวาดเขียนที่โรงเรียนศิริศาสตร์ เมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนศิลปศึกษาให้เป็นโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ศิลป์ก็นึกถึงเขาและให้คนไปตามกลับมาช่วยสอน
ภายในไม่กี่ปี ประยูรเลื่อนตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน เขาต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งงานสอนงานบริหาร และยังต้องมาช่วยสอนที่ศิลปากร ด้วยความสำเร็จในหน้าที่การงาน ประยูรก้าวขึ้นมารับตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยศิลปากร ในวัยยังไม่เต็มสามสิบ
ช่วงนี้เองที่เขาเริ่มมีชื่อเสียงในทางงานจิตรกรรม เมื่อผลงานสีน้ำมันชื่อ ‘จันทบุรี’ แนวโพสท์อิมเพรสชันนิสม์แบบไทย คว้ารางวัลรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ
งานชุดนี้ประยูรเขียนขึ้นระหว่างไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่เมืองจันท์
ทุกเช้าเขาจะเอาเฟรมสะพายหลัง ปั่นจักรยานขึ้นเขาไปหามุมวาดรูป จนได้ผลงานที่น่าพอใจ ตอนขากลับกรุงเทพฯ ต้องนั่งรถสองแถว เขาจึงเอาเฟรมภาพมัดแล้วซ้อนๆ กันไว้บนหลังคารถ เดชะบุญ เด็กกระเป๋ารถสองแถวที่ปีนขึ้นไปหยิบสัมภาระไม่รู้ว่ามีงานที่มีค่าอยู่ตรงนั้น จึงเหยียบย่ำป่นปี้แทบทั้งหมด เหลือรอดมาเพียงรูปเดียวคือชิ้นที่ได้เหรียญทอง ประยูรจำได้ว่าเคยมีรูปอื่นที่ดีกว่า แต่ไม่อาจเอาคืนกลับมาได้แล้ว
หลังจากได้รับเกียรติยศยิ่งใหญ่ไม่ถึงสองปี ชีวิตจิตรกรคนนี้ก็หันเห ลงถึงจุดต่ำสุด เมื่อผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยไม่พอใจที่เขาปล่อยให้นักศึกษาทำหนังสือกระทบกระเทียบอธิการบดี จึงสั่งให้ลาออกจากราชการ พร้อมทั้งนำความผิดพลาดด้านการเงินของเขาไปดำเนินคดีทางกฎหมาย
ปีนั้นตรงกับปี 2500 ประยูรจำต้องหนีไปให้ไกล เขาใช้เวลาว่างตระเวนศึกษาศิลปะโบราณตามที่ต่างๆ เพื่อหวังจะลืมเรื่องร้าย บางวันไปถึงเมืองเสมาที่โคราชซึ่งตอนนั้นเป็นป่า เพียงคนเดียว ย่ำไปทั่วนครสวรรค์ ปีนขึ้นไปจนถึงยอดเขาหน่อเพื่อศึกษาพระพุทธบาทศิลาสมัยทวารวดี
“จริง ๆ แล้วศิลปะโบราณนั้น ผมเพิ่งมาสนใจตอนออกจากราชการที่มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว สมัยที่เรียนอยู่ก็ได้ไปทัศนศึกษาบ้าง 5 – 6 ครั้ง ดูของโบราณกันมากหน่อยเพราะสมัยนั้นไม่มีอะไรจะดูนี่ ครั้งหลังที่ไปผมเกิดความรักความหลงใหลขึ้นมา จึงตระเวนดูไปทั่ว
“..แล้วก็เลยเอาความรู้ที่เคยใช้กับการศึกษาสัตว์ทะเลมาใช้กับการศึกษางานประวัติศาสตร์ คือก่อนหน้านี้ ผมสนใจทางด้านชีววิทยาอยู่ด้วย เคยศึกษาพวกสัตว์ทะเล หอยปู ทำบันทึกว่าตัวนี้อยู่ในไฟลัมอะไร แฟมิลีไหน เป็นระบบวิทยาศาสตร์ทีเดียว..จากระบบการศึกษาอันนี้แหละ เมื่อผมเอามาศึกษาเจดีย์ใบเสมา มันก็ได้ผลดี แยกแยะได้ง่ายเข้า..”
เมื่อไม่มีรายได้ ประยูรค่อนข้างเดือดร้อนเรื่องเงิน ตอนนั้นเขามีลูกสองคนและมีครอบครัวต้องดูแล แต่จะให้กลับไปเขียนภาพขายก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงลองส่งเรื่องไปลงที่นิตยสาร ต่อมาประมูล อุณหธูป นักเขียนชื่อดังได้สนับสนุนให้เขาเขียนบทความทางศิลปะลงหนังสือชาวกรุงรายเดือน แถมยังตั้งนามปากกา น. ณ ปากน้ำ ให้ด้วย โดยคำว่า น. นั้น ย่อมาจาก รัชนี เป็นชื่อเดิมที่พ่อตั้งให้ก่อนเกิด เขาเห็นว่าเป็นมงคลนามจึงนำมาตั้งเป็นนามปากกา
จากนั้นมา คนก็ได้รู้จักกับ น. ณ ปากน้ำ ในฐานะของนักเขียนด้านศิลปะ
ช่วงเกือบสิบปีแรกหลังพ้นชีวิตข้าราชการ ประยูรเขียนบทความทางศิลปะจำนวนไม่น้อย แต่เพราะไม่ได้ร่ำเรียนด้านโบราณคดีมาโดยตรง งานรุ่นแรกๆ เหล่านั้น ยังมีหลายประเด็นที่คลาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิด
เมื่อถึงวาระใกล้ครบรอบ 200 ปี แห่งการเสียกรุงศรีอยุธยา คณะกรรมการจัดงานอนุสรณ์อยุธยา มอบโอกาสสำคัญให้เขาไปค้นคว้าศิลปกรรมโบราณของเมืองกรุงเก่าเพื่อนำมาจัดนิทรรศการ การออกสำรวจในช่วง 5 เดือนของปี 2509-2510 ครั้งนั้นเปลี่ยนแปลงวิธีคิดวิธีการทำงานของเขาไปตลอดกาล
ด้วยความที่โบราณสถานต่างๆ ยังไม่มีการสำรวจและบูรณะอย่างจริงจัง ถูกปล่อยทิ้งร้างในป่า ประยูรในวัย 38 บอกกับตนเองว่า “ข้าพเจ้าต้องการสำรวจอยุธยาให้มากที่สุด โดยจะตะลุยค้นให้หมดไม่ให้เหลือ แม้จะบุกป่าฝ่ารกลำบากขนาดไหนก็ต้องไปให้ได้”
เขาลงทุนซื้อเรือมาลำหนึ่งเพราะเส้นทางคมนาคมหลักไปสู่วัดโบราณคือแม่น้ำลำคลอง แทบทุกวันประยูรและลูกน้องต้องบุกป่าฝ่าดง เดินตากแดดกลางทุ่งนาไปสำรวจ หลายครั้งที่มองเห็นยอดเจดีย์อยู่เบื้องหน้าแต่หาทางเข้าไม่ได้ หรือหลงป่าอยู่นาน บางทีต้องรอจนหมดหน้านาถึงจะเข้าไปได้ เพราะจะได้ไม่ไปเหยียบนาของชาวบ้าน เป็นเช่นนี้วันแล้ววันเล่าโดยไม่มีการพักผ่อน เพื่อเร่งทำงานให้เสร็จทันเวลา
ประยูรใช้แผนที่อยุธยาของกรมแผนที่ทหารเป็นลายแทง กางเทียบกับแผนที่โบราณ บางครั้งใช้วิธีสอบถามเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรในพื้นที่ ชาวบ้าน และพระภิกษุสงฆ์ เมื่อพบหลักฐานก็จะถ่ายภาพ สเก็ตช์แผนผัง เขียนลายเส้น บางครั้งก็มุดเข้าไปในโพรงเจดีย์ที่มืดมิดเพื่อตรวจสอบโครงสร้าง โดยไม่หวั่นกลัวสัตว์ร้ายที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน ก่อนจะบันทึกและนำมาเทียบเคียงกับเอกสารสมัยเก่าต่างๆ
การสำรวจอยุธยา 5 เดือนครั้งนั้น นับเป็นหมุดหมายสำคัญในชีวิต เพราะเขาพบว่าการลงพื้นที่ทำให้เข้าใจชัดแจ้งขึ้น ประยูรค้นพบวัดจำนวนมากที่ไม่ได้เคยระบุไว้ในแผนที่โบราณ ต่อมาเขายังคงเน้นงานภาคสนาม เช่นการสำรวจวัดในฝั่งธนบุรี ช่วงฤดูฝนทุกวันภายในเวลา 3 เดือน
“ถ้าเกิดข้อสงสัยจะต้องออกไปเห็นของจริงเลย ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน ไม่ใช่นั่งโต๊ะเป็นนักวิชาการแบบ arm chair study รูปถ่ายมันแบน แล้วเรื่องขนาดของรูปก็อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้มาก..
“ตอนผมไปวัดช้างที่อยุธยาเหมือนกัน ข้างหน้าโน่นมีเจดีย์ ชาวบ้านก็บอกว่า อย่าเข้าไป มีเสือ หรือบางทีก็เจอบึงกว้าง ๆ อะไรทำนองนี้ ผมก็ลุยน้ำแค่หน้าอกข้ามไป เพื่อดูด้วยตาตัวเองให้ได้ ถ้าเรามัวมากลัวก็อดดูของจริง”
อีกสิ่งหนึ่งที่ไปเห็นกับตา คือความละเลยของภาครัฐ ที่ไม่เพียงปล่อยทิ้งให้นักล่าสมบัติไปขุดเอาของดีไปขาย แต่ยังให้มีการประมูลอิฐเก่าไปใช้เป็นวัสดุก่อสร้างโดยไม่มีการควบคุม วัดหลายแห่งที่ทีมสำรวจบุกบั่นเข้าไปอย่างยากลำบาก กลับเป็นว่ามาช้าไป เพราะเหลือเพียงเศษอิฐไม่กี่แผ่นเท่านั้น
ข้อมูลจากการสำรวจ เขานำมาเขียนเป็นบทความและรวมเล่มเป็นหนังสือ ‘ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา’ นอกจากรายละเอียดการค้นพบแล้ว ประยูรยังเขียนวิจารณ์การทำงานของหน่วยงานอนุรักษ์ไว้ว่า
“..อยากจะแปลงร่างเป็นทหารอยุธยาโบราณ จับดาบวิ่งเข้าห้ำหั่นฟันมันให้ระยำยับไปทั้งเมือง ทั้งๆ ที่มีกรมกองรับผิดชอบ แต่ไม่มีใครเอาใจใส่ ไม่มีใครเสนอต่อรัฐบาลถึงความสำคัญในสิ่งเหล่านี้ อยุธยาเรามีสมบัติมหาศาลเหลือคณานับ เพียงแต่จัดสถานที่ให้ดี ทำถนนหนทางให้สะดวก มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษา..
“ศิลปวัตถุอันเป็นหัวใจของชาติแท้ๆ เขากลับไม่เหลียวแลเอาใจใส่กันเลย เป็นเรื่องน่าอดสูใจยิ่งนัก วัดมหาธาตุซึ่งอยู่กลางเกาะอยุธยาแท้ๆ ยังเต็มไปด้วยกระถิน วัดไชยวัฒนารามอันรุ่งเรืองสุดยอดในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีป่าทึบปกคลุมอยู่ ไม่ผิดอะไรกับวัดมเหยงคณ์..”
หลายปีหลังการตีพิมพ์ ข้อเรียกร้องหลายอย่างในหนังสือก็กลายเป็นความจริง เช่น วัดต่างๆ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร วัดไชยวัฒนารามและวัดมเหยงคณ์ที่เคยอยู่ภายใต้ป่ารกก็มีการปรับปรุงพื้นที่ทำให้คนได้เห็นความงดงามแห่งอดีต
ตอนผมไปวัดช้างที่อยุธยาเหมือนกัน ข้างหน้าโน่นมีเจดีย์ ชาวบ้านก็บอกว่า อย่าเข้าไป มีเสือ หรือบางทีก็เจอบึงกว้าง ๆ อะไรทำนองนี้ ผมก็ลุยน้ำแค่หน้าอกข้ามไป เพื่อดูด้วยตาตัวเองให้ได้ ถ้าเรามัวมากลัวก็อดดูของจริง
หลังจากนั้น น. ณ ปากน้ำ ยังคงมุ่งมั่นผลิตงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการเผยแพร่ความรู้ให้คนเข้าถึงสุนทรียภาพของศิลปะไทย พร้อมกับเรียกร้องให้อนุรักษ์บูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานวัตถุ โดยรักษาภูมิปัญญาของคนในอดีตเอาไว้
บทความเหล่านี้เองที่ช่วยจุดประกายไฟแห่งศิลปะให้กับคนรุ่นหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย เริ่มหันมาสนใจและหลงรักศิลปะโบราณ งานโบราณคดี หนึ่งในนั้นคือ เอนก นาวิกมูล นักประวัติศาสตร์ ซึ่งเคยออกสำรวจวัดร้างโดยได้แรงบันดาลใจจากประยูร ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ไว้ว่า
“ตอนเรียนที่สงขลาเคยได้อ่านงานของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ..อ่านแล้วสะเทือนใจมาก เพราะวัดโบราณถูกรื้อทำลายตลอดเวลา เกิดความเสียดาย คิดว่านี่คืองานขั้นแรกที่จะต้องทำเมื่อเข้ากรุงเทพฯ..
“ผมเคยเขียนจดหมายถึงอาจารย์ น. ถามว่าการขออนุญาตชมโบสถ์วิหารต้องทำอย่างไรบ้าง อีกนานมากจึงได้รับโปสการ์ดตอบกลับมาว่า ป่านนี้คุณคงออกสำรวจไปแล้ว ส่วนการขออนุญาตขึ้นกับจังหวะ ผมดีใจที่ได้รับโปสการ์ดจากอาจารย์ ยังเก็บโปสการ์ดแผ่นนั้นไว้จนบัดนี้”
ในช่วงท้ายของชีวิต ประยูรยังคงร่วมกับทีมงานวารสารเมืองโบราณ ออกสำรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับสร้างลูกศิษย์ลูกหาให้เข้ามารับสืบทอดงานอนุรักษ์จำนวนมากมาย
“ผมก็ยังทำงานของผมต่อไปอย่างต่อเนื่อง ..เหมือนหมาไล่เนื้อ ผมถือหลักว่าเราหมาไล่เนื้อถ้ามันกัดจมเขี้ยวแล้ว จะไม่ยอมปล่อยไม่ว่าเรื่องไหน ประวัติศาสตร์ โบราณคดีหรือโหราศาสตร์ เรื่องดวงดาวเนปจูน พลูโตที่ผมค้นคว้า จะต้องทำจนได้ผลน่าพอใจถึงจะเลิกทำ”
ถึงวันนี้ถ้าใครได้พลิกอ่านงานเขียนของประยูร ก็เหมือนได้ตามเขาไปสัมผัสความงดงามของศิลปะไทย ที่มีทั้งสุนทรียภาพ ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ งานเหล่านี้เป็นเหมือนรอยเท้าของครูผู้ยิ่งใหญ่ ที่ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังที่สนใจศิลปะได้เดินตาม
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ท่านพุทธทาสกลายเป็นภิกษุที่ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกให้เป็นพระนักปราชญ์
นักพากย์ ผู้เปิดประตูให้รู้จัก NFL และเป็นต้นแบบของผู้บรรยายอีกมากมาย
เรื่องทีมสร้างสรรค์ของค่ายเพลงขนมปังดนตรีในตำนาน ผู้บุกเบิกการทำปกและแพ็กเกตอัลบั้มยุคใหม่ของวงการ
ลูกศิษย์ก้นกุฏิของ อ.ศิลป์ พีระศรี ประติมากรหญิงคนแรกของเมืองไทย ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศมากมาย
ศิลปินล้านนา จรัล มโนเพ็ชร ชายผู้ทำให้ภาษาคำเมืองกลายเป็นภาษาที่ทั่วประเทศคุ้นเคย และสร้างบทเพลงที่อมตะ
นักแปลสองพี่น้อง ผู้คร่ำหวอดในแวดวงนิยายจีนกำลังภายใน และเป็นเจ้าของผู้สร้างผลงานที่แรงบันดาลใจให้นักอ่านมาแล้วนับไม่ถ้วน
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.