หากไม่มีรายการสารคดีที่ชื่อ ‘ส่องโลก’
บางทีวันนี้คนไทยอาจไม่เห็นภาพ ‘สืบ นาคะเสถียร’ พยายามสุดกำลังเพื่อผายปอดยื้อชีวิตกวางที่กำลังจมน้ำในอ่างเก็บน้ำเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีส่วนสำคัญที่ทำให้การตายของสืบ ในเช้ามืดของวันที่ 1 กันยายน 2533 มีพลัง ปลุกให้คนไทยทั่วประเทศลุกฮือขึ้นมาปกป้องผืนป่าซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติ
ทีมงานส่องโลกแบกกล้องตามสืบเข้าป่าอยู่หลายปี เพื่อนำเสนอภารกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ยากลำบาก และหลายครั้งยังถูกผู้มีอิทธิพลข่มขู่ตั้งค่าหัวอีกต่างหาก แต่ถึงต้องเสี่ยงอันตรายมากเพียงใด ก็ไม่มีใครหยุดยั้งความตั้งใจที่จะนำเสนอความจริงสู่สังคมได้
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกท่านย้อนเวลากลับไปรู้จักตัวตนของชายผู้มีส่วนที่ทำให้คนไทยทั่วประเทศได้รู้จักถึงวีรกรรมและอุดมการณ์ของสืบ
‘โจ๋ย บางจาก’ สันติธร หุตาคม
“พี่สืบรู้แต่วันแรกแล้วว่าเราจะล้มเหลว แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย” โจ๋ยเอ่ยขึ้น เมื่อต้องเล่าถึงโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ที่เขาทำร่วมกับสืบเมื่อปี 2528
“จริงๆ ผมอยากลืม เพราะเป็นช่วงเวลาที่หดหู่.. เชี่ยวหลานเป็นอะไรสักอย่างที่จะว่าเป็นบทเรียนก็ไม่ใช่ เพราะว่าเราไม่เคยทำอะไรอย่างนี้มาก่อน ครั้งนั้นเป็นครั้งแรก แต่การทำอะไรครั้งแรกแล้วไม่พร้อม มันทำให้เราสูญเสียไปเยอะ”
ความจริงก่อนเข้าร่วมโครงการนี้ โจ๋ยเจอสืบตั้งแต่เป็นนักวิจัยสัตว์ป่าตัวเล็กๆ ทำงานศึกษาและเก็บข้อมูลธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ถึงไม่ต้องการชื่อเสียง แต่สืบก็ยินดีบอกเล่าเรื่องราวการทำงานไปสู่วงกว้างเสมอ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งรับทราบวิธีปฏิบัติตัวต่อป่าและสัตว์ป่าอย่างเหมาะสมมากขึ้น
อย่างช่วงที่สืบพาโจ๋ยไปรอจังหวะที่นกยูงไทยผสมพันธุ์ เขาก็เล่าถึงกฎของป่า วิธีซุ่มบังไพร ต้องออกเดินทางตั้งไก่โห่ ห้ามพูดคุยหรือส่งเสียง เพราะเสียงพูดของเรา เป็นคลื่นเสียงที่ต่ำ สัตว์ป่าหลายชนิดสามารถรับฟังได้
เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เขื่อนเชี่ยวหลาน ซึ่งสืบชวนโจ๋ยไปทำแบบฉุกละหุก ก่อนเริ่มงานได้ไม่นานนัก
จุดเริ่มของภารกิจนี้ มาจากเมื่อปี 2521 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสกและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ซึ่งอุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิดกว่า 237 ชนิด บางชนิดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เช่น กระซู่ สมเสร็จ เลียงผา นกชนหิน นกแว่นสีน้ำตาล กบทูด
แม้มีเสียงต่อต้านไม่น้อย แต่สุดท้ายโครงการนี้ก็ดำเนินการจนเสร็จ ช่วงก่อนปิดกั้นอุโมงค์เพื่อเก็บกักน้ำ ทีมนักอนุรักษ์อพยพสัตว์ป่าออกจากพื้นที่ แต่ทำได้เพียงส่วนเดียว ยังมีสัตว์ตกค้างอีกมหาศาล บางตัวต้องหนีน้ำขึ้นไปบนยอดไม้ บางตัวต้องอาศัยพื้นที่เกาะแก่งที่เกิดขึ้นหลังน้ำท่วมประทังชีวิต
สืบในฐานะหัวหน้าทีมต้องรับภาระพื้นที่กว่าแสนไร่ โดยมีงบประมาณเพียง 800,000 บาท การทำงานครั้งนี้จึงเต็มด้วยความกดดัน ผู้ปฏิบัติงานต่างเหนื่อยล้า แต่ทุกคนหยุดไม่ได้ เพราะการล่าช้าเพียงวันเดียวอาจหมายถึงชีวิตของสัตว์อีกนับร้อยที่ต้องสิ้นไป
“มันเหมือนกับว่าคุณให้เขาไปช่วยอะไรสักอย่าง แล้วไม่ได้เตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตไว้ให้เลย งบประมาณมีแต่ก็ไม่ค่อยจ่าย จ่ายล่าช้าบ้าง จ่ายกะปริดกะปรอย พี่สืบต้องแบกหน้าไปขอยืมอะไรต่อมิอะไรจากคนอื่นมาเยอะมาก ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของแกเลย แล้วแกก็ต้องมาอธิบายให้ลูกน้องเข้าใจ ไม่ให้มีอคติกับกรมป่าไม้
“ทุกคืนที่เราคุยกันเรื่องงาน พี่สืบไม่เคยนอน แกไม่กล้าหยุดทำงาน แล้วพอแกอ่อนเพลีย จิตใจก็จะอ่อนแอ พอสัตว์ตายไปต่อหน้า หรือเกิดผลเสียหาย แกจะกระทบมาก แล้วมันบาดเข้าไปข้างใน.. สัตว์ตกค้างที่เราช่วยชีวิตไว้ ค่อนข้างจะเหลือชีวิตน้อยมาก ไอ้ที่รอดแล้วไปปล่อยตามเกาะต่างๆ มันก็เหมือนคนพลัดถิ่น เหมือนกับจับเราผูกตาแล้วไปปล่อยไว้ที่ไหนก็ไม่รู้ ไปไหนก็โดนเขาเตะ เลยไม่มีอะไรเหลือรอดเลย”
วีดิโอชุดนั้นกระตุ้นให้คนไทยเห็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนชัดเจน ตระหนักว่าสิ่งมีชีวิตอะไรบ้างที่ต้องสังเวยให้การพัฒนาเพื่อความสุขสบายของมนุษย์ นอกจากนี้ยังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยืนยันผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เมื่อสืบนำทีมนักวิชาการคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน
วันนั้นนักวิชาการหนุ่มให้สัมภาษณ์กับโจ๋ยยาวเหยียดวิพากษ์อธิบดีกรมป่าไม้แบบดุเดือดว่า “ไม่มีปัญญารักษาป่า แต่ดันไปคิดปลูกป่า ในที่รกของป่าดงดิบ” พร้อมย้ำกับพิธีกรว่า ต้องออกอากาศเทปนี้ให้ได้ ต่อให้เขาต้องถูกปลดก็ไม่เป็นไร
หลังเผยแพร่ก็เป็นดังคาด สืบโดนตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย แต่ทั้งคู่ไม่มีใครใส่ใจ เพราะสำหรับพวกเขา นี่เป็นทางเดียวที่จะหยุดยั้งโครงการไม่พึงประสงค์ได้
ทีมงานส่องโลกยังคงติดตามสืบเข้าไปทำงานในพื้นที่อีกหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อสืบรับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขารู้ดีถึงสถานการณ์ที่พี่ชายคนนี้ต้องเผชิญ
โจ๋ยเคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า สืบโดนตั้งค่าหัวจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลสูงถึง 6,000 บาท หลังส่องโลกเผยแพร่เทปการลักลอบล่าสัตว์ในพื้นที่ และแน่นอนเมื่อร้องเรียนไป ก็ไม่มีใครสนใจยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ปล่อยให้ข้าราชการตัวเล็กๆ ต่อสู้เพียงลำพัง
หลังสืบตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง ช่อง 5 จึงมีคำสั่งให้โจ๋ยนำเทปการทำงานของสืบมาออกอากาศซ้ำกว่า 2 เดือน ทำให้คนไทยทั่วประเทศรับรู้ถึงตัวตนและอุดมการณ์ที่ ‘สืบ นาคะเสถียร’ ฝากไว้ตลอดชีวิตการทำงานของเขา
“จริงๆ มีอีกหลายเรื่องที่ตอนที่ผมไม่ได้ทำรายการออกอากาศให้แก อย่างตอนที่แกยอมเสี่ยงตายเพื่อสัตว์ป่าเนี่ยเยอะ หรือตอนโดดไปเป็นเบาะรองรับสัตว์นับครั้งไม่ถ้วน ผมยอมรับแกด้วยหัวใจจริงๆ
“ตอนที่ผมทำรายการให้แก ช่วงแกตาย เราตัดรายการแทบไม่ได้เลยเพราะมันเศร้ามาก ผมไม่เคยผูกพันกับบุคคลในข่าวขนาดนี้มาก่อน ใครจะตายก็ตายไป แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ ถ้ารู้จักแล้วต้องรักและสงสารแก”
โจ๋ยเริ่มต้นชีวิตการเป็นนักทำสารคดี ตั้งแต่ปี 2526 เขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ถึงขั้นยอมเอาบ้านไปจำนอง เอารถไปจำนำ เพื่อให้ได้ทุนรอนก้อนหนึ่งมาสร้างสรรค์ในสิ่งที่ตัวเองฝัน
แต่ก่อนโจ๋ยทำงานในวงการหนังสือพิมพ์ โดยเริ่มจากการเป็น ‘เบ๊’ คือทำทุกอย่าง ตั้งแต่เดินเอกสาร พิสูจน์อักษร ชงกาแฟ ซื้อโอเลี้ยง โดยแทบไม่มีใครรู้ว่าเขาคือลูกชายของนักประพันธ์ระดับตำนาน ‘อิงอร’ เจ้าของเรื่อง ‘ดรรชนีนาง’
จากนั้นจึงขยับมาเป็นช่างภาพ นักข่าวการเมือง ก่อนเบนเข็มมาเป็นหัวหน้าข่าวบันเทิง แต่โจ๋ยเบื่อหน่ายชีวิตช่วงนั่นมากเนื่องจากมักถูกผู้ใหญ่ในสังกัดสั่งให้ไปรับเงินจากบริษัทสร้างหนัง เพื่อเขียนโปรโมต
โจ๋ยเคยบอกว่า นี่ไม่ใช่ข่าว แต่เป็นธุรกิจที่ไม่ออกใบเสร็จต่างหาก
ช่วงนั้นเองที่เขาได้รับการทาบทามจากช่อง 5 ให้มาทำรายการสารคดี ซึ่งเป็นเสมือนยาขมของรายการทีวีที่ไม่มีใครอยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว
“ช่อง 5 เป็นหน่วยงานราชการที่มีเครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่างพร้อมหมด แต่ว่าไม่มีใครทำสารคดี แม้แต่ฝ่ายรายการก็ยังไม่ทำ เพราะเขารู้ว่าขาดทุนตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ทำแล้วจะไปขายใคร.. ตอนแรกที่เข้ามา ผมรับปากไว้แค่ 6 เดือน ทางสถานีก็ปล่อยเวลาให้ฟรีๆ ไม่เก็บตังค์ ให้เราลองของ ผมก็เอา คิดว่าน่าจะเป็นไปได้
“เพราะก่อนหน้านั้น ผมรู้จักกับเพื่อนพ่อคนหนึ่ง เขาทำสัมปทานรถไฟ แล้วก็มีรายการท่องเที่ยวกึ่งสารคดีที่ค่อนข้างจะเป็นจริงแต่ไม่ทั้งหมด หลายๆ อย่างถูกเมคขึ้นมา ผมดูแล้วไม่ชอบ ทำให้มีไอเดียว่า ถ้าวันหนึ่งเราทำสารคดีเอง เราอยากจะเป็นลูกตาแทนคนเพื่อเล่าเรื่องจริงที่คนอาจไม่รู้ แล้วตอนทำข่าว การใช้กล้องถ่ายงานแต่ละครั้ง ข้อห้ามเยอะ มุมที่แปลก หรือพิสดารต่างๆ เขาจะไม่ค่อยให้ออกอากาศแต่ผมอยากทำในสิ่งที่ผมอยากทำ ไม่ใช่ทำในสิ่งที่คนอื่นอยากให้ทำ”
แล้วชีวิตปีแรกของผู้ผลิตรายการน้องใหม่ก็สะบักสะบอมอย่างที่คาด
เพราะรายการ ‘หลากชีวิต’ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของสิ่งมีชีวิต ทั้งคน สัตว์และชุมชน ขาดทุนแหลกราญ ไม่มีรายได้เข้ามาเลย เงินทุกบาททุกสตางค์ที่สั่งสมมาถูกเทมาลงกับรายการเกือบหมด เวลานั้นถึงใจจะสู้ แต่โจ๋ยก็ยอมรับตามตรงว่า หากปีที่ 2 ยังเป็นแบบนี้ก็คงต้องเลิกรา
แต่อาจด้วยฟ้าลิขิต บวกกับความเป็นคนชอบลุย ชอบทำอะไรแหวกแนว ตะลุยลงพื้นที่ไปรู้จักกับนักทำลายใต้น้ำ ติดตามสืบ นาคะเสถียร ไปช่วยสัตว์ป่าหรือตามไปดู ทำให้รายการหลายชีวิตเริ่มถูกพูดถึงในวงกว้าง จนมีผู้ประกอบการใจกล้าเริ่มลงโฆษณาอย่างต่อเนื่อง
แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญสุด คงเป็นช่วงที่โจ๋ยบุกเข้ากัมพูชาไปตามติดชีวิตทหารเวียดนามระหว่างถอนกำลัง ทั้งที่เวลานั้นสงครามยังไม่จบ แถมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา-เวียดนามก็ไม่ค่อยดี
ส่งผลให้โจ๋ยได้รับเสียงชื่มชมอย่างสูง เรตติงติดลำดับท็อปของสถานี จนนำไปสู่การต่อยอดผลิตรายการที่ชื่อ ‘ส่องโลก’ เมื่อปี 2530
แม้วางตัวเองเป็นสารคดีท่องเที่ยว แต่ส่องโลกกลับแหวกขนบรายการยุคนั้น ด้วยพาไปสัมผัสเมืองไทยในมุมที่แปลกใหม่ หลายแห่งน้อยคนนักจะไปถึง และต่อให้ถึงก็ไม่มีใครนำเสนอเรื่องได้แบบเขา
โจ๋ยชักชวนผู้ชมขึ้นเขาไปดูชนเผ่าต่างๆ สัมผัสประเพณีแปลกๆ ที่หลายอย่างไม่เคยได้ยินมาก่อน ลงพื้นที่อุทยานทั่วประเทศสำรวจวิถีธรรมชาติ ตามติดกระทิงในห้วยขาแข้งจนถูกต่อรุมต่อยเกือบตาย
รวมทั้งเป็นทีมสารคดีแรกของโลกที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเหล็กไหล
“ครั้งแรกที่ออกอากาศ มีคนทักเหมือนกันว่ากล้ามากที่ทำชื่อรายการนี้ ถึงเวลาจริงๆ คุณกล้าที่จะออกไปส่องทั่วโลกและนำเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาออกเหรอ แต่เมื่อทำตอนแรกออกไปฟีดแบคดีมาก..
“เหตุผลที่ทำให้รายการประสบความสำเร็จ เพราะสารคดีของผมมีกลิ่น มีความร้อนความหนาว มีสลัว มีเวลา มีเช้ามีเย็น มีนอนหลับ ถึงเวลาพักก็ต้องนอน คือมีความเป็นคน ผมจึงใช้คำว่า ‘สารคดีมีชีวิต’ คือจะมีความเป็นมนุษย์ออกมา..
“สำหรับผมการเขียนบทจะต้องใส่บรรยากาศเข้าไปเสมอ ไม่ใช่เสนอแต่ความสวยงามเท่านั้น เราต้องการให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงสภาพที่แท้จริงของสถานที่ ตั้งแต่เริ่มออกเดินทาง จนถึงจุดหมาย เสมือนลงไปเหยียบย่ำในพื้นที่นั้นด้วยตัวเอง”
นอกจากนี้ โจ๋ยยังบุกบั่นข้ามไปยังดินแดนเพื่อนบ้านที่คนไทยยุคนั้นหวาดกลัว ทั้งพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา
“ช่วงแรกๆ ไม่มีใครต้อนรับเราเลย หาว่าเป็นสายลับ ยิ่งรายการของเราออกอากาศทางช่องของทหาร ยิ่งทำให้ถูกมองว่าเป็นลูกน้องกองทัพบก..
“อย่างเมื่อก่อนผมเข้าบางประเทศได้ด้วยการลักลอบ กลับออกมาอีกทีก็โดนจับปรับ 500 บาท แถมยังถูกสันติบาลตามล่า หาว่าค้ายาบ้าง ส่งอาวุธให้กับกระเหรี่ยงบ้าง”
แต่ถึงใครจะเข้าใจผิด โจ๋ยก็ยังเดินทางข้ามแดนไม่หยุดถูกจับซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเจ้าหน้าที่จำหน้าได้ กลายเป็นความคุ้นเคย
ช่วงนั้นเองที่เขาเริ่มเปิดมิติใหม่ให้วงการสารคดีไทยด้วยการสำรวจเส้นทางหมายเลข 13 โฮจิมินห์โรด (ปากเซ-จำปาสัก-โฮจิมินห์)
“ตอนที่ผมเริ่มบุกสำรวจอินโดจีนใหม่ๆ เส้นทางหมายเลข 13 ใกล้บ้านเราที่สุด แล้วตอนนั้นมันหรือหวามาก เนื่องจากเราเอารถเข้าไปเอง ซึ่งเมื่อก่อนเป็นไปไม่ได้ เพราะเขายังรบกันอยู่ พอเลิกรบก็ให้ใช้พื้นที่ได้ไม่เกิน 40 กิโลเมตรจากชายแดน แต่อยู่ได้แค่คืนเดียวนะ
“ผมก็หากุศโลบายต่างๆ ตั้งแต่ง่ายๆ จนตอนหลังอาศัยวิธีการทูต อ้างเหตุผลต่างๆ จนตอนหลังโดนจับ เราก็เปลี่ยนสีรถกลับป้ายทะเบียนกัน ผมโดนจับถึงขั้นว่าตอนแรกจะปรับ 200,000 แต่ตอนหลังไม่เสียเพราะเขาจะเอาติดคุก”
ถ้าวันหนึ่งเราทำสารคดีเอง เราอยากจะเป็นลูกตาแทนคนเพื่อเล่าเรื่องจริงที่คนอาจไม่รู้
ความกล้าบ้าบิ่นที่จะบุกตะลุยไปส่องโลกของโจ๋ยนำไปสู่การเปิดประเด็นใหม่ๆ ให้สังคม
เช่นช่วงที่เขาค้นพบโลมาหัวบาตร สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพันธุ์ใหม่ในลำน้ำโขง ส่งผลให้มีนักวิจัยจากแคนาดาลงพื้นที่เข้ามาสำรวจข้อมูลในลาว หรือแม้แต่การฉายภาพวัฒนธรรม ประเพณีของเพื่อนบ้านฝั่งอินโดจีน ก็ทำให้คนไทยเริ่มเปิดใจว่า บางทีสิ่งที่เขาคิด เรื่องราวความน่ากลัวต่างๆ ที่เคยถูกปลุกปั่นนั้นอาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป
หากแต่มีหลายครั้งที่ประเด็นที่เขาตั้งใจนำเสนอนั้นสวนทางกับความคิดของเจ้าของเวลา จนนำไปสู่การงดเผยแพร่ และถูกถอดออกจากผังก็มีมาแล้ว
“บางครั้งผมก็เบื่อเพราะทุ่มเทไปเสี่ยงชีวิตมา แต่นำเสนอออกอากาศไม่ได้ อย่างเรื่องในอินโดจีน เขามองว่าไปกระทบเพื่อนบ้าน เป็นเป็นกิจการระหว่างประเทศ คือผมโมโห ไม่เข้าใจ..
“แต่บางเรื่องผมเคยแกล้งให้เขาแบนทั้งรายการไปเลยก็มี อย่างการรบกันฆ่ากันตายเละเทะ แต่กลับได้ออกอากาศ แล้วผมก็โดนรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านฟ้อง”
สำหรับโจ๋ยแล้ว เขานิยามตัวเองว่าเป็นนักหาประสบการณ์ชีวิต
ตลอดการทำงานไม่เคยเรียกร้องให้คนหันมาอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่เคยบอกให้ใครต้องทำความรู้จักกับประเทศเพื่อนบ้านหรือเพื่อนต่างสายพันธุ์
แต่เขาเชื่อว่าสิ่งที่ถ่ายทอดออกไปนั้นจะช่วยให้ผู้คนได้คิดได้เข้าใจเรื่องรอบตัวมากยิ่งขึ้น
คงเพราะเหตุนี้เองที่ทำให้รายการส่องโลกไม่เคยหายไปจากหน้าจอทีวี แม้โจ๋ยจะจากไปแล้วก็ตาม
เนื่องจากคุณค่าที่แท้จริงของรายการไม่ใช่ตัวเจ้าของ แต่คือจิตวิญญาณและประสบการณ์ที่โจ๋ยและทีมงานทุ่มเทตลอด 30 ปี
ครูผู้อุทิศชีวิตให้งานอนุรักษ์และการศึกษา ผ่านเรื่องเด็กและช้าง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างธรรมชาติที่ยั่งยืน
นักพากย์ฟุตบอล ผู้เปิดโลกให้คนไทยเข้าใจและอินกับฟุตบอลอังกฤษ และซึมเข้ากระแสเลือดมาจนทุกวันนี้
เรื่องราวของรายการสารคดีเดินทางที่มีหนังเป็นแรงบันดาลใจ
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
นักเศรษฐศาสตร์ที่บุกเบิกและทำงานเรื่องพลังงานยาวนานกว่า 30 ปี และจุดประกายให้ทุกคนเห็นพลังงานนั้นใกล้ตัวเรามากเพียงใด
นอกจากบทบาทนักพากษ์ เอกชัย นพจินดา หรือ ย.โย่ง ยังเป็นเจ้าของคอลัมน์ยอดฮิตในนิตสารสตาร์ซ็อกเกอร์
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.