คุณยังจำ พี่กระรอกน้อย ได้ไหม?
หากคุณอายุ 30 ปีขึ้นไป รับรองว่าต้องคุ้นกับรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งทางช่อง 11 ที่มีอาจารย์ผู้หญิงหน้าตายิ้มแย้ม น้ำเสียงใจดี เล่านิทานให้ฟัง โดยมีหุ่นมือกระรอกโผล่ออกมาจากพุ่มไม้ โพรงไม้บ้าง คอยเติมสีสันอยู่เสมอ
อาจารย์ผู้หญิงคนนั้นชื่อ พรจันทร์ จันทวิมล
เธอไม่ได้เป็นเพียงพิธีกร รายการ บ้านเด็กดี เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังสร้างสรรค์สื่อสำหรับเด็ก โดยเฉพาะหนังสือนิทานภาพนับร้อยเล่มที่กลายมาเป็นแรงบันดาลของใครอีกหลายคน
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนย้อนอดีตกลับไปรู้จักกับผู้ที่ชักชวนให้เราเพลิดเพลินกับโลกแห่งจินตนาการ เพื่อรำลึกถึงความสุขวัยเยาว์ที่เราอาจหลงลืมไปแล้วอีกครั้ง
เวลา 1 ทุ่มตรง ทุกวันอังคารและพุธ คือช่วงเวลาที่เด็กๆ ในยุคนั้นต่างใจจดใจจ่อหน้าจอทีวี
“สวัสดีค่ะท่านผู้ชมและเด็กๆ ทางบ้านทุกคน มาสนุกกันอีกแล้วนะคะ” เสียงของอาจารย์พรจันทร์ จันทวิมล ดังขึ้นเป็นสัญญาณของการเปิดรายการเด็กดี ทางช่อง 11
แม้รายการจะมีความยาวเพียงครึ่งชั่วโมง แต่ก็อัดแน่นไปด้วยสาระและความบันเทิง
ช่วงแรกของรายการเริ่มด้วยนิทาน นิทานหลายร้อยเรื่องถูกเล่าผ่านเสียงอ่อนโยน อาจารย์มักนำหนังสือนิทานดีๆ หายากจากต่างประเทศมาอ่านให้ฟัง อย่างหนังสือ Pop-Up อาจารย์ก็เป็นคนแรกที่นำเข้ามา อาจารย์มีบัดดี้คนหนึ่งที่คอยอ่านนิทานสลับกัน คือ ‘ป้ากุล’ กุลวรา ชูพงษ์ไพโรจน์ ซึ่งรับหน้าที่เล่านิทานภาษาไทย
ช่วงเล่านิทานนี่เองที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ หลายคนจนติดนิสัยรักการอ่าน ที่สำคัญนิทานทุกเรื่องยังมีข้อคิดดีๆ สอดแทรกไว้เสมอ
ต่อมาเป็นช่วงเปิดโอกาสให้เด็กๆ เข้ามาแสดงความสามารถในห้องส่ง บางทีก็เป็นการแสดงหุ่นเชิดมือประกอบเพลงและนิทานสอนใจต่างๆ ก่อนจะมาถึงช่วงศิลปะ 5 นาที ซึ่งอาจารย์พรจันทร์จะสอนการประดิษฐ์ของจากเศษวัสดุต่างๆ สลับกับ ‘น้าป๋อ’ ประภาส สรณคมน์ ที่มาสอนวาดการ์ตูนด้วยลีลาเทคนิคแพรวพราว แต่ไม่ยากเกินคุณหนูจะเลียนแบบได้
ท้ายสุดเป็นเวลาที่ทุกคนรอคอย คือช่วง ‘เด็กดี’ ที่พี่กระรอกน้อย ผู้ช่วยพิธีกรสุดน่ารักจะมาตอบจดหมาย และสอนคุณธรรมแก่เด็กๆ วันละข้อ
แฟนๆ รายการเด็กดีไม่ได้มีแค่เด็กๆ เท่านั้น พ่อแม่ผู้ปกครองก็ยังติดตาม บางคนใช้โอกาสนี้ช่วยสอน แนะนำ หรืออธิบายบางเรื่องที่เด็กๆ ไม่เข้าใจ หรือแยกแยะไม่ได้ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก รายการเด็กดีจึงช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นเฟ้นยิ่งขึ้น
หากถามถึงเสน่ห์สำคัญที่ยังทำให้อาจารย์เป็นที่จดจำถึงทุกวันนี้ ก็คงหนีไม่พ้นความเป็นครูผู้ให้ที่มีเต็มเปี่ยมหัวใจ
อาจารย์อยากเป็นครูตั้งแต่เด็ก สมัยเรียนมัธยมที่อเมริกาก็มักเข้าร้านของขายกระจุกกระจิก และมุมหนึ่งที่ต้องแวะเวียนไปเสมอ คือโซนหนังสือสำหรับเด็ก
“ตอนนั้นได้เห็นหนังสือลักษณะพิเศษที่เรียกว่า Pop-up ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อนเลย พอเปิดแต่ละหน้า ก็จะเห็นภาพเป็น 3 มิติ เช่นภาพปราสาทก็จะมีปราสาทยอดแหลมโผล่ขึ้นมา เล่มแรกที่ซื้อมาคือแจ็คผู้ฆ่ายักษ์”
ภายหลังยิ่งได้เห็นพ่อแม่ฝรั่งอ่านหนังสือก่อนนอนให้ลูกฟัง ลูกๆ ดูมีความสุข กลายเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความสุขให้แก่ครอบครัวบ้าง จึงตัดสินใจเลือกเรียนวิชาอนุบาล เพราะอยากให้เด็กไทยมีหนังสืออ่านที่เป็นกึ่งของเล่นสวยๆ แปลกๆ เหมือนเด็กฝรั่ง
อาจารย์กลับเมืองไทยพร้อมหนังสือนิทานมากมาย บวกกับของแถมอย่าง เทคนิคการเล่านิทานให้ตื่นเต้นเร้าใจ ช่วงแรกอาจารย์เริ่มสอนเด็กเล็กที่มูลนิธิพีระยานุเคราะห์ ซึ่งเป็นสถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้า แล้วก็ย้ายไปสอนโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ สอนได้ 4 ปี ก็ลาออกมาเป็นแม่บ้าน เพราะอยากมีเวลาให้กับลูกมากที่สุด
“ก่อนจะลาออกจากครู รู้สึกใจหาย เป็นความผูกพันกับเด็ก เขาจะรอวันรุ่งขึ้นว่าครูจะเอาหนังสืออะไรมา คิดถึงเด็กนักเรียนก็เลยเริ่มเขียนหนังสือ สามีก็ให้กำลังใจว่าการเขียนหนังสือจะสอนเด็กได้กว้างขวางกว่าถ้าหนังสือแพร่หลาย”
เล่มแรกที่เขียนคือ ‘เด็กดี’ เป็นหนังสือเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันของเด็ก เช่นสอนให้เด็กช่วยตัวเอง ช่วยพ่อแม่ทำงาน ช่วยครูทำงาน ช่วยเพื่อนฝูง และช่วยสังคม
“ข้อมูลที่นำมาเขียนได้จากการสอนหนังสือและการเลี้ยงลูก คืออยากให้ลูกเป็นเด็กดีก็อยากให้เด็กอื่นดีด้วย การเขียนเรื่องให้เด็กติดใจขึ้นอยู่กับเทคนิคการถ่ายทอด ผสมผสานกันระหว่างถ้อยคำรูปแบบและรูปภาพ เพื่อให้เด็กสนุกและรับหนังสือมาเป็นเพื่อน ตรงนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ คิดว่าการเป็นครูและแม่อาจทำให้ง่ายขึ้นอีกนิดนึง แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่”
อาจารย์ทดลองผลิตหนังสือหลายประเภท ทั้งหนังสือผ้า หนังสือพลาสติกที่ลอยน้ำได้ หนังสือรูปทรงสัตว์ เช่น ปลา แมว หนังสือเหล่านี้ควบคุมคุณภาพการผลิตทุกขั้นตอน ขอบไม่คม สีไม่เป็นอันตราย เด็กเอาเข้าปากได้
“หนังสือลอยน้ำนี้เราตั้งใจทำสำหรับเด็กทารกจริงๆ วัย 6 เดือนขึ้นไป พราะว่าเด็กมักทำเปื้อน เช่นขณะที่ทานข้าวอยู่ก็อาจนำไปที่ชามข้าว หรือบนโต๊ะอาหาร เวลาอาหารก็อาจทำหนังสือเปื้อนได้ คุณแม่ก็อาจซักล้างได้ เวลานอนก็สามารถเอากอดได้เช่นเดียวกัน หนังสือบุฟองน้ำแล้วก็เหมือนตุ๊กตาตัวหนึ่ง”
ไม่ใช่แค่รูปทรงเท่านั้นที่อาจารย์พิถีพิถัน เนื้อหาก็เป็นอีกสิ่งที่อาจารย์ความสำคัญ อาจารย์จะคิดก่อนเขียนเสมอว่าหนังสือเล่มนั้นจะสอนอะไรกับเด็กๆ เช่น สอนให้รู้จักออกกำลังกาย รับประทานอาหาร การเล่นและอ่านหนังสือ แล้วก็นำไปร้อยเรียงเป็นเรื่องราวให้สนุก ใช้คำที่อ่านง่าย ให้เด็กๆ เข้าใจได้ในประโยคสั้นๆ บางทีจะเขียนเก็บเข้าลิ้นชักไว้ก่อน อ่านไปแก้ไป จัดส่งต้นฉบับก็ต่อเมื่ออ่านแล้วยิ้มพอใจกับงานตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย
อาจารย์ผลิตหนังสือออกมานับร้อยเล่ม ทุกเล่มทำด้วยความตั้งใจจึงไม่แปลกเลยว่า ทำไมผลงานของอาจารย์จึงได้รับรางวัลอยู่เสมอ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับความตั้งใจที่จะทำหนังสือดีๆ ให้เด็กไทยอ่านในราคาไม่แพง
“บางเล่มถึงขาดทุนก็ต้องทำ ไม่ใช่ว่าเป็นหนังสือแปลกแล้วจะบวกราคาเข้าไป และโดยส่วนตัวเวลาเขียนเรื่องไม่คำนึงเลยว่าจะได้ลิขสิทธิ์ค่าเขียน เพราะถ้าคิดแล้วจะรู้สึกว่าไม่คุ้มค่า”
ถ้าเรารักจะทำแล้วไม่เดือดร้อน เพราะถือว่าคุ้มค่ามาก และประโยชน์ที่เด็กและเยาวชนได้รับนั้นประเมินค่าไม่ได้
ถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า จากคนทำหนังสือ อาจารย์กลายเป็นคนทำทีวีได้อย่างไร?
เรื่องมาจากอาจารย์ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงให้เป็นวิทยากรรายการเพื่อเด็กและเยาวชน เมื่อปี 2530
ความจริงอาจารย์ไม่อยากเป็นคนเบื้องหน้าเลย แต่ด้วยความที่มีสื่อการสอนอยู่ในมือมากมาย และเห็นว่าสื่อโทรทัศน์มีผู้ชมกว้างขวาง จึงตัดสินใจรับงานนี้ อาจารย์ทำหน้าที่ตั้งแต่เป็นพิธีกร เขียนบท ผลิตเนื้อหา โดยแทบไม่ได้ค่าตัว ซึ่งโชคดีมากที่สถานีไม่ได้คิดค่าเช่าเวลาด้วย
“ค่าใช้จ่ายต่อเดือนก็หลายหมื่นบาทเพราะเสื้อผ้าก็ซื้อเอง ต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับออกรายการ เช่นซื้อหนังสือจากต่างประเทศ แต่ว่าตรงนี้ไม่ใช่จุดสำคัญหรอก ถ้าเรารักจะทำแล้วไม่เดือดร้อน เพราะถือว่าคุ้มค่ามาก และประโยชน์ที่เด็กและเยาวชนได้รับนั้นประเมินค่าไม่ได้ และไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก สังคมก็ได้รับด้วย”
แม้ช่วงหลังๆ รายการเด็กดี (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านเด็กดี) จะมีผู้ชมน้อยลงเรื่อยๆ ตามกระแสและยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่ก็อาจารย์ยังคงมุ่งหวังที่จะทำสื่อคุณภาพสำหรับเยาวชนเสมอมา
อาจารย์พรจันทร์ จันทวิมล จากไปไม่วันกลับเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554 ปิดฉากรายการเด็กที่เป็นตำนานของเมืองไทย แต่ความสุขที่ได้รับจากอาจารย์ ป้ากุล น้าป๋อง และพี่กระรอกน้อย ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำตลอดไป
ซิทคอมในตำนาน เรื่องราวของ 3 พี่น้องตระกูลเบญจวรการ ที่ยังคงอยู่ในใจผู้คนมานานกว่า 3 ทศวรรษ
เรื่องราวของรายการสารคดีเดินทางที่มีหนังเป็นแรงบันดาลใจ
ย้อนเรื่องราวของนักสร้างสรรค์หญิงจากออสเตรเลีย ผู้ริเริ่มตัวละคร ‘กล้วยหอมจอมซน’ ซึ่งกลายเป็นขวัญใจคนทั่วโลก
เส้นทางความคิดของผู้กำกับและมือเขียนบทฝีมือเก๋าของวงการ ผู้เคยสร้างปรากฏการณ์ แรงเงา จนดังทั่วบ้านทั่วเมือง
Strawberry Cheesecake รายการวาไรตี้สำหรับคนวัยพรีทีน ยุคต้นปี 2000 ที่นำเด็กสาวสิบกว่าคน มาเป็นพิธีกร และทำให้ใครหลายคนต้องยอมตื่นเช้าวันอาทิตย์
ย้อนเรื่องราวของ อภิวัฒน์ วัฒนางกูร หรือ วรฑา วัฒนะชยังกูร พิธีกรมืออาชีพแห่งรายการจันทร์กะพริบ ผู้ทุ่มเทชีวิตเพื่องาน จนหลงลืมดูแลตัวเอง
ศิลปิน นักแต่งเพลง เจ้าของบทเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) ผู้ที่ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ผลงานที่ล้ำสมัย
ย้อนเรื่องราวตำนานความฮาฉบับกระเป๋าของเมืองไทย ‘ขายหัวเราะ’ ผ่านปากคำของ บ.ก.วิติ๊ด และครอบครัว
เส้นทางจากศูนย์ของติวเตอร์แถวหน้าของเมืองไทย ที่เริ่มด้วยการเป็นไม่ยอมเรียน สู่โรงเรียนกวดวิชาเคมี อ.อุ๊ ที่มีลูกศิษย์นับล้าน
ผู้กำกับคนแรกที่สร้างตำนานหนังผีตลกสุดคลาสสิกของเมืองไทยอย่าง บ้านผีปอบ
ย้อนเวลา Hormones วัยว้าวุ่น ซีรีส์ที่พลิกมุมมองเรื่องวัยรุ่นในสังคมไทย
ปูชนียบุคคล ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่พยาบาลในโรงพยาบาลศิริราช
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.