เกรียงไกร วชิรธรรมพร : ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ก็เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย…นี่หว่า

<< แชร์บทความนี้

โรงเรียนนาดาวบางกอก ไม่มีอยู่จริง แต่เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักกับสถาบันการศึกษาแห่งนี้เป็นอย่างดี เพราะที่นี่คือฉากหลังของซีรีส์วัยรุ่นเรื่องดัง Hormones วัยว้าวุ่น ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ พลิกมุมมองของสังคมไทยที่มีต่อวัยรุ่น แบบสุดขั้ว

ด้วยการนำเสนอ เรื่องราวสุดเรียล ที่เกิดขึ้นจริงในรั้วโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความแค้น ความหลงใหล คึกคะนอง และอื่นๆ อีกมากมาย 

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ The Cloud ถือโอกาสดีชักชวน ปิงเกรียงไกร วชิรธรรมพร ทีมเขียนบท และผู้กำกับซีซัน 2-3 มาร่วมทบทวนความทรงจำตั้งแต่จุดตั้งต้นของซีรีส์ จนถึงวันนี้ที่โลกของวัยรุ่นยังคงว้าวุ่น และยุ่งเหยิงไม่ต่างจากเดิม

อ่าน : 10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด ที่ https://readthecloud.co/hormones-the-series

แต่ก่อนที่จะไปอ่านเรื่องราวฉบับเต็ม เรามีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Hormones มาเล่าให้ฟังกันก่อน

1. ก่อนที่จะมาเป็นชื่อซีรีส์ Hormones เคยเป็นชื่อภาษาอังกฤษของภาพยนตร์เรื่องปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น ที่ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ เคยกำกับมาก่อน

2. ในซีซัน 1 นักแสดงวัยรุ่นหลักมาจากนาดาวหมดเลย ยกเว้น เก้าสุภัสสรา ธนชาต ซึ่งเคยอยู่ทีวีธันเดอร์ โดยเริ่มแรก มีนักแสดงอีกคนที่ทีมงานเล็งไว้ แต่พอมาเวิร์กช็อปแล้วปรากฏว่า เคมียังไม่ลงตัว จึงต้องมาหานักแสดงคนใหม่ กระทั่งมาลงตัวที่เก้า ซึ่งข้อดีก็คือ เก้ากับต่อนั้นรู้จักกัน เพราะเคยแสดงโฆษณาด้วยกัน

3. ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร เคยเป็นเด็กต่อยตีเหมือนกับตัวละคร ไผ่ จนแม่พาไปหาพระ แล้วพระก็ทักว่าต่อจะชะตาขาด ต้องบวช ซึ่งการบวชที่วัดป่าครั้งนั้นคือจุดเปลี่ยน เพราะมีอยู่วันหนึ่งต่อพลาดไปเหยียบหินจนเจ็บเท้า จึงเพิ่งระลึกได้ว่ามันเจ็บ เหมือนกับการมีเรื่องชกต่อยกัน ทำให้เขาได้สติ และไม่อยากต่อยตีอีกเลย ในขณะเดียวกัน ต่อก็ยังเป็นเด็กที่ตั้งใจกับการทำงานมาก ๆ เวลาถ่ายทำเสร็จในกอง ก็จะไลน์มาถามย้งตลอดว่า พี่ครับวันนี้โอเคไหม

4. ชื่อจริงของตัวละครทุกตัวในเรื่อง ก็มาจากมันสมองของทีมเขียนบท ซึ่งการคิดชื่อตัวละครนั้นนับเป็นกิจกรรมสนุกๆ พักสมอง เปลี่ยนบรรยากาศ เวลาที่ทุกคนเหนื่อยจากการคิดเส้นเรื่อง หรือคิดไม่ออก แต่ละชื่อนั้นยังมีความหมายที่สอดคล้องกับตัวละครตัวนั้น นอกจากนี้ยังคิดไปถึงวันเกิด กรุ๊ปเลือด ถึงแม้ว่าตอนถ่ายทำจริงๆ จะไม่ได้ใช้กรุ๊ปเลือดเลยก็ตาม 

5. ตอนจบของซีซัน 1 ที่ตัวละครรวมตัวกันไปเทศกาลดนตรี Big Mountain เนื่องมาจากความอินส่วนตัวของย้ง ย้งเคยไปแล้วรู้สึกว่างานนี้เป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ของวัยรุ่น ซึ่งน่าจะเหมาะกับตอนจบของซีซัน 1 ที่เป็นบรรยากาศการเฉลิมฉลอง และเป็นปลายทางของตัวละครที่ต้องผ่านเรื่องหนักๆ กันมา ซึ่งพอไปถึงแล้วเหมือนทุกคนได้ระบายสิ่งที่แบกรับไว้ออกไป

6. นับเป็นบทเรียนหนึ่งที่ทำให้ทีมเขียนบทต้องเรียนรู้ เมื่อมีเด็กหลายคนบอกว่าอยากเอาตัวละครสไปรท์เป็นแบบอย่างบางคนถึงกับพิมพ์ในคอมเมนต์ YouTube ว่าพี่คือไอดอลของหนูแม้ว่าทีมเขียนบทจะพยายามอธิบายว่า ในครึ่งหลังของซีซัน ตัวละครจะได้เรียนรู้ผลจากสิ่งที่ตนเองทำ แต่ก็มีบางคนแย้งว่า ในช่วงเวลา 1 เดือน กว่าจะไปถึงจุดนั้น เด็กที่เลียนแบบสไปรท์จะไปทำอะไรมาแล้วบ้าง ใครต้องรับผิดชอบตรงนี้ ปิงยอมรับว่าเป็นมุมมองที่มีเหตุผล อย่างไรก็ตาม ในฐานะสื่อ พวกเขาคงทำหน้าที่ชี้แนะได้แค่ประมาณหนึ่ง ส่วนที่เหลือทุกคนในสังคมต้องช่วยกันดูแลด้วย  

7. เหตุการณ์ในซีซัน 2 ที่นักเรียนโรงเรียนนาดาว บางกอก ติดละคร ‘รักกรุ้มกริ่ม’ กันงอมแงม จนผู้ใหญ่เกรงว่าจะเลียนแบบพฤติกรรมทางเพศที่ออกจะดูแรงจากในละคร จึงมีการเรียกประชุมครูและผู้ปกครอง ความจริงแล้วเรื่องราวตอนนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริง ที่ Hormones วัยว้าวุ่น กลายเป็นกระแส จนทีมเขียนบทได้รับเชิญจากโรงเรียนแห่งหนึ่งให้ไปประชุมผู้ปกครอง เพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหา แต่เมื่อทีมเขียนบทอธิบายความตั้งใจไปจนหมด ปรากฏว่าบรรดาผู้ใหญ่ก็ดูจะเปิดใจ และบอกว่า เดี๋ยวจะลองกลับไปดูซีรีส์พร้อมกับลูก

8. เวลาทำงานเขียนบท ภายในทีมจะแบ่งตัวละครกันไปเขียน เมื่อตัวละครมีเส้นเรื่องที่มาชนกัน ก็จะมาพูดคุยถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปที่ลงตัวที่สุด ซึ่งในบางครั้งการถกเถียงนี้ช่วยนำไปสู่ทางออกใหม่ๆ อย่างเช่นเหตุการณ์หนึ่งในซีซัน 3 ปิงถือตัวละครออย กุ๊ก สมาชิกอีกคนของทีม ถือตัวละครขนมปัง โดยเส้นเรื่องแล้วขนมปังจะต้องจับโกหกออยได้ ซึ่งออยจะต้องแพ้ แต่ปิงรู้สึกว่า ออยโกหกมาทั้งชีวิตแล้ว ครั้งนี้จะไม่มีทางยอม เขาต้องซื่อสัตย์กับตัวละครตัวนี้ แม้ทีมเขียนบททุกคนจะรุม แต่ปิงก็ยืนกราน จนในที่สุดเกิดเป็นเหตุการณ์ใหม่คือ ออยแกล้งชัก เพราะไม่ยอมจนถึงนาทีสุดท้าย ซึ่งเป็นการคลี่คลายที่ทุกคนรู้สึกว่าดีขึ้นกว่าเดิม

9. คำสอนหนึ่งที่ย้งบอกกับปิง คือ งานจะออกมาดีได้ คนทำต้องอินกับเรื่อง ถ้าคนทำอินจริงๆ แล้วใส่สุด คนดูจะรับรู้ได้ว่าคนทำอินจริง ๆ ซึ่งตลอด 3 ปีที่ทำซีรีส์เรื่องนี้ ปิงรู้สึกว่าตนเองอิน และทุ่มเทอย่างเต็มที่ ถึงวันนี้เมื่อมองย้อนกลับไป เขาก็ภูมิใจกับผลลัพธ์ทั้งหมดที่เกิด

10. 3 ตัวละครที่อยู่ตั้งแต่ซีซันแรกจนจบซีซัน 3 คือ ดาว (ฝนศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล), ก้อย (เบลล์เขมิศรา พลเดช) และเภา (ต้นหน ตันติเวชกุล)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.