สรยุทธ สุทัศนะจินดา : ‘กรรมกรข่าว’ ผู้ปฏิวัติหน้าจอโทรทัศน์ไทย

<< แชร์บทความนี้

คงไม่ผิด หากจะบอกว่า สรยุทธ สุทัศนะจินดา คือบุคคลที่ปฏิวัติวงการข่าวอย่างแท้จริง

เพราะเขาคนนี้เอง ที่ทำให้ ‘ข่าว’ กลายเป็นรายการสามัญประจำบ้านที่คนไทยเกือบทั่วประเทศต้องเปิดดูทุกเช้า จนมีเรตติ้งสูงไม่แพ้ละครเลย

เขาทำให้เรื่องยากๆ ประเด็นหนักๆ ให้กลายเป็นเรื่องน่าสนใจ ชาวบ้านก็ฟังได้รู้เรื่อง ดูโดยไม่เบื่อ แถมรู้สึกว่าพลาดไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นจะตกกระแส ที่สำคัญคือหลายประเด็นที่นำมาพูดถึงช่วยเปิดทางนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ดีขึ้น

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงอยากชวนทุกคนไปย้อนดูเส้นทางการทำงาน ตลอดจนแนวคิดเบื้องหลังที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จของบุคคลผู้นิยามตัวเองว่าเป็น ‘กรรมกรข่าว’

เพราะชีวิตของเขาไม่มีอะไรได้มาโดยง่าย ล้มเหลวก็หลายครั้ง แต่ด้วยความรักและทุ่มเทที่จะนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดกับผู้ชม ทำให้เขากลับมาได้ และเดินมาถึงจุดนี้

ชีวิตไม่มีทางลัด

“คนอย่างคุณนี่แหละ ทำให้กรุงศรีอยุธยาแตก”

พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ตอบกลับด้วยอารมณ์เดือดดาลจัด หลังโดนนักข่าวหนุ่มชื่อสรยุทธ จี้ถามเรื่อง ผบ.เหล่าทัพไม่ยอมมารับประทานอาหารเช้าร่วมกัน ซึ่งว่ากันว่าเป็นสัญญาณบอกเหตุถึงความไม่ลงรอย ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ

นักข่าวหน้าใหม่หลายคนอาจจะกลัว มีลูกเกรงใจ เมื่อต้องสัมภาษณ์นักการเมืองรุ่นเดอะที่เปี่ยมไปด้วยอิทธิพลบารมี แต่กับสรยุทธไม่ใช่ เขากล้าถามในเรื่องที่อยากรู้ และหลายคำถามนั้นแรง ตรงไปตรงมาเหมือนนักมวยปล่อยหมัดฮุก แถมเกาะติดไม่ปล่อย แม้ผู้ตอบอาจระคายเคืองใจบ้าง แต่เขาถือว่าตนเองทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างเต็มที่

ไม่แปลกเลยที่เขาจะกลายเป็นขวัญใจของคนดู โดยเฉพาะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอาจเรียกได้ว่าสรยุทธคือพิธีกรรายการข่าวอันดับ 1 ของประเทศ แม้หลังจากนั้นเขามีเหตุให้ต้องลาหน้าจอไปหลายปีก็ตาม

ชีวิตของสรยุทธเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามมาตั้งแต่เด็ก ในสายตาคนอื่น เขาเหมือนเด็กเกเร เพราะโดนไล่ออกจากโรงเรียนมัธยม เคยถูกส่งไปอยู่บ้านเมตตา ทั้งที่จริงๆ แล้ว หลายครั้งเกิดจาก ‘อุบัติเหตุ’ มากกว่าเจตนาร้าย

สรยุทธเป็นลูกแม่ค้าผลไม้ ย่านสนามเป้า พออายุได้ 3 ขวบพ่อก็เสียชีวิต แม่จึงต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเพียงลำพัง สิ่งที่เด็กหนุ่มซึมซับจากแม่คือความขยัน อดทน และฝีปากจัดจ้านแบบแม่ค้า ซึ่งติดตัวมาจนถึงสมัยทำงาน เพียงแต่เปลี่ยนจากขายผลไม้มาเป็นขายข่าว

ผลเรียนของเด็กหนุ่มอยู่ระดับกลางๆ เพราะไม่สนุกกับการเรียนในห้อง บางวันโดดเรียนไปนั่งดูหนังคนเดียว จนโดนตามผู้ปกครองมาพบ ช่วงมัธยม 2 เขามีความรักแบบป็อปปีเลิฟกับเพื่อนสาวคนหนึ่ง จู่ๆ สาวเจ้ากรรมก็ขอมานอนค้างที่บ้านหลายวัน สรยุทธนึกว่าเธอขออนุญาตพ่อแม่มาแล้วจึงไม่ว่าอะไร โดยให้นอนกับพี่สาว แต่พอทางโรงเรียนรู้เข้าจึงให้ทำเรื่องลาออก

เด็กหนุ่มต้องไปเรียนศึกษาผู้ใหญ่ ร่วมกับพี่ๆ ช่างซ่อมรถ ยาม คนทำงาน โชคดีที่ทุกคนเอ็นดูในฐานะน้องเล็ก จากนั้นเขาไปเรียนต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ แต่ก็ยังไม่วายหลงไปอยู่ในกลุ่มนักเรียนตีกันจนโดนตำรวจจับเข้าบ้านเมตตา นอนอยู่ 15 วัน จนแม่มารับ ระหว่างกลับบ้าน แม่พาแวะไปวัด รดน้ำมนต์ล้างซวย

ครั้งนั้นเขารู้สึกเสียใจที่ทำให้แม่ผิดหวัง จึงสำนึกตัวอยากเป็นคนที่ดีขึ้น ด้วยความที่คะแนนไม่สูงพอเข้ามหาวิทยาลัยรัฐ ทำให้ขอแม่ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ช่วงเวลานี้เองที่ชีวิตเปลี่ยนไปราวพลิกฝ่ามือ

สรยุทธเลือกเรียนนิเทศศาสตร์เพราะชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ชอบการเมือง เขาตั้งใจเรียนมากเพราะอยากได้รับการยอมรับจากคนอื่น ก่อนสอบจะอ่านหนังสือถึง 3 รอบ แถมยังเป็นนักกิจกรรมตัวยง จนเคยได้ตำแหน่งประธานคณะ ถึงอย่างนั้นก็ไม่ทิ้งการเรียน สุดท้ายจึงจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 กลับบ้านมาบอกแม่ด้วยความภูมิใจ

“ชีวิตผมไม่เคยมีทางลัด ทุกอย่างมาจากการลงมือทำทั้งนั้น บอกเลยเกียรตินิยมก็ได้มาจากการอ่าน เพราะผมอ่านก่อนสอบอย่างเอาเป็นเอาตาย ..ซึ่งมันคงเป็นความรู้แบบสะสมให้ผมมาเป็นนักข่าว ..อีกอย่างที่เรียนรู้ด้วยตัวเองคือคนเราเท่ากัน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ถ้ามีความพยายามเสียอย่าง ไม่ว่าอะไรก็ทำได้”

เขาเริ่มทำงานที่เนชั่น ซึ่งเคยมาฝึกงานตั้งแต่สมัยเรียน โดยได้รับโอกาสจากเทพชัย หย่อง ช่วงแรกเป็นนักข่าวภาคสนาม ประจำการที่รัฐสภา ต่อมาก็ถูกส่งตัวไปทำข่าว 3 จังหวัดชายแดนใต้ ลุยเลือกตั้งอีสาน เกาะติดน้ำท่วมภาคใต้ แรกๆ ก็ยังทำอะไรไม่เป็น เคยโทรศัพท์มาส่งข่าวยืดยาว แต่ไม่ได้ลงเลยสักคำก็มี

แต่คติประจำตัวที่เขายึดถือคือต้องอึด ถ้าไม่อยากตกงาน จากน้องใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ก็อาศัยความทุ่มเท ตีซี้กับแหล่งข่าว เขาไปไหนก็ไปด้วย ตระเวนไปทั่วจนได้ข่าววงในที่คนอื่นไม่มี ผลงานจึงดีขึ้นเป็นลำดับ

ต่อมา เนชั่นให้โอกาสสรยุทธทำรายการวิทยุ ตั้งแต่คลื่น 97 เนชันนิวส์ทอล์ก 96 สายตรงจากห้องข่าว 89.5 พูดจาภาษาข่าว และ 90.5 เก็บตกจากเนชั่น นับเป็นช่วงสำคัญในอาชีพ เพราะเขาต้องฝึกฝนเคี่ยวกรำตัวเอง เนื่องจากต้องสัมภาษณ์แขกรับเชิญสด ดังนั้นจึงต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ข่าวอย่างทะลุปรุโปร่ง

สรยุทธต้องอ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ควานหาข่าวเอ็กซ์คลูซีพเพื่อเตรียมคำถาม ขณะสัมภาษณ์ก็ต้องคอยจับประเด็น นอกจากนี้บางรายการยังต้องวิเคราะห์ข่าว เล่าเบื้องหลัง เชื่อมโยงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บางครั้งถ้ามั่นใจมากเขาก็กล้าฟันธง ด้วยลีลาดุดันแกมกวน จึงมีทั้งแฟนรายการที่ชื่นชมและด่า แต่ก็ทำให้ชื่อของสรยุทธเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ

สำคัญที่สุด คืองานวิทยุทำให้สรยุทธได้ซึมซับวิธีการทำงานของ สุทธิชัย หยุ่น อย่างใกล้ชิด ซึ่งเขาเรียนรู้และนำมาป็นแบบอย่างในเวลาต่อมา

การเติบโตของ 'คนข่าว'

แม้จะสัมภาษณ์คนใหญ่คนโตมานับไม่ถ้วน แต่เมื่อต้องมาจัดรายการวิทยุคู่กับสุทธิชัย เขากลับรู้สึกไม่มั่นใจ กลัวและเกรง ครั้งแรกๆ ที่ทำงานด้วยถึงกับขาสั่น ใช้เวลาหลายวันกว่าจะกลับมาเป็นตัวของตัวเอง

สิ่งที่เขาได้รับมากที่สุดจากรุ่นพี่คนนี้ คือการเตรียมตัวให้พร้อม เพราะสุทธิชัยจะไม่บอกล่วงหน้าว่าจะพูดเรื่องอะไร ทำให้สรยุทธต้องอ่านทุกเรื่อง เพื่อให้คุยได้ทุกเรื่อง ต้องอ่านหนังสือพิมพ์หนักกว่าเดิม เช็กข่าวแล้วจัดลำดับไว้ ทั้งหมดต้องอยู่ในสมองพร้อมดึงออกมาใช้โดยไม่ต้องหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาเปิด

เวลาจัดรายการ ถ้าพูดข้อมูลผิดสุทธิชัยจะแทรกขึ้นมาทันที ถ้าเผลอถามขยี้แขกรับเชิญมากเกินไปก็จะโดนเตือน ทั้งหมดคือการสอนที่ทำให้เขาเก่งขึ้น

อีกสิ่งที่ติดมาคือลีลาการถาม ชั่วโมงนั้นทุกคนต่างรู้กันดีว่า สุทธิชัยคือเจ้าของลีลาการถามที่ดุเดือดแต่มีชั้นเชิง เมื่อสรยุทธถามแขกรับเชิญด้วยสไตล์คล้ายกัน จึงไม่พ้นโดนวิจารณ์ว่าเลียนแบบคนข่าวรุ่นพี่

“ยิ่งมีคนพูดว่าถอดแบบมากจากคุณสุทธิชัยมากเท่าไร ผมยิ่งต้องหลบ แต่จริงๆ มันหลบไม่ได้หรอกเพราะอยู่ด้วยกัน จัดรายการด้วยกัน ฟังเขาพูดทุกวัน สำเนียงภาษากริยาที่เห็นก็ติดมาบ้าง แล้วบางทีผมถามดุกว่าคุณสุทธิชัยอีก ..เป็นครูที่เราได้ซึมซับวิชามาโดยไม่ตั้งใจ”

หลังฉายแววกับงานวิทยุ พอเนชั่นได้โอกาสทำช่องข่าวโทรทัศน์กับเคเบิลทีวีไทยสกาย จึงดึงสรยุทสรยุทธเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้ก่อการ ตอนแรกเขาทำงานเบื้องหลัง คิดเนื้อหารายการ ส่งโน้ตรายงานสถานการณ์ ตอนหลัง สุภาพ คลี่ขจาย บอกว่าให้มาเล่าเองเลยดีกว่า เขาจึงได้ออกทีวีครั้งแรก

“สภาพดูไม่ได้เลย ผมหน้าม้ากระเซิง หน้าตาไม่เจอแป้ง แถมเหงื่อแตกพลั่ก ตื่นเต้นน่าดู ต่อมาก็ยังเป็นอย่างนั้น..หลายคนมักจะกลัวดูไม่ดีเวลาออกทีวี แต่ผมไม่แคร์ ด้วยข้ออ้างที่เข้าข้างตัวเองว่าฉันขายเนื้อหา แต่ลึกๆ น่ะ กลัวจนไม่กล้าคิด กระทั่งคุณสุทธิชัยฝากคนมาบอกว่า เอาผมหน้าม้าขึ้นเถอะ ไม่อย่างนั้นจะไม่มีใครฟังสิ่งที่ผมพูดเลย เพราะทรงผมมันเตะตามาก นี่คือที่มาของการหวีเอาผมขึ้น”

แม้ช่องข่าวที่ไทยสกายต้องปิดตัวลงไปภายในระยะเวลาเพียงเดือนเศษ แต่ผู้ใหญ่ก็เห็นว่าเขามีส่วนในความสำเร็จ ต่อมาเมื่อเนชั่นไปทำข่าวกับไอทีวี สุทธิชัยจึงให้สรยุทธทำรายการวิเคราะห์ข่าว 5 นาที ซึ่งต้องพูดให้ลึกแบบหนังสือพิมพ์ แต่ฟังแล้วน่าสนใจแบบโทรทัศน์ แรกๆ เขาไม่รู้จะพูดอะไร นานๆ ไปก็เริ่มเครื่องติดจนไม่รู้จะจบอย่างไรแทน

“ผมมีลูกบ้าเยอะ แถมถนัดประชดประชัน อย่างเรื่องโครงการผักสวนครัวรั้วกินได้ ถั่วกิโลละ 8,000 ผมบอกว่านี่คงเป็นถั่ววิเศษ โยนปุ๊ปขึ้นปั๊ป ใหญ่ขนาดที่แจ็กปีนขึ้นไปฆ่ายักษ์ได้ เพราะทีวีไม่เหมือนหนังสือพิมพ์ที่จบอย่างไรก็ได้ แต่ต้องหักมุม คิดมุข มีลูกบ้า”

ความที่เป็นฟรีทีวี มีคนดูกว้าง ลีลาวิเคราะห์วิจารณ์ที่ดุเดือด ฝีปากจัดของสรยุทธทำให้เขามีชื่อเสียงขึ้นไปอีก คนดูติด โฆษณาเต็ม ถึงขั้นโน้ต-อุดม เอาไปล้อเลียนในเดี่ยวไมโครโฟน 3

แต่เนื่องจากตอนหลังไอทีวีและเนชั่นมีปัญหากัน จึงต้องยกเลิกรายการในที่สุด เล่ากันว่าหลังจบเทปสุดท้าย มีคนโทรศัพท์เข้าไปที่สถานีถล่มทลายชนิดไม่เคยเป็นมาก่อน

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของธุรกิจรายการข่าวทีวี ทำให้เนชั่น ตัดสินใจทำสถานีของตัวเอง ในชื่อ เนชั่นชาแนล รายงานข่าวตลอด 24 ชั่วโมง ทางยูบีซี สรยุทธถูกเรียกให้ไปร่วมโปรเจ็คต์อีกครั้ง ในช่วง ‘ห้องข่าวรับอรุณ’ และ ‘เก็บตกจากเนชั่น’ ซึ่งรายการหลังเขาประกบคู่กับ กนก รัตน์วงศ์สกุล และดูเหมือนว่าเคมีของทั้งคู่จะตรงกัน รับส่งกันลื่นไหลเข้าขา ทำให้รายการมีสีสันอย่างมาก

อีกรายการที่โดดเด่นคือ ‘คม ชัด ลึก’ ที่เขาสลับกันทำกับสุทธิชัย คอนเซปต์คือให้คนที่เกี่ยวข้องกับข่าวมานั่งพูด มีตั้งแต่ข่าวชาวบ้านไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างอิรักถูกสหรัฐถล่ม หรือดวงดาวโคจรมาพบกัน แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นของรายการนี้ คือการทำข่าวให้ คม-ชัด-ลึก สมชื่อ อย่างตอนที่มีข่าวปลาปักเป้าเป็นพิษ รายการอื่นอาจเอารูปมาดู สรยุทธบอกให้ทีมงานเอาตัวปลามาเลย แถมแล่ให้ดูด้วย เล่นเอาเหม็นคาวหึ่งไปทั่งห้องส่ง แต่คนดูเห็นภาพทันที

ในขณะที่เขากำลังเป็นดาวรุ่งจรัสแสง ก็เกิดเหตุการณ์ ‘อุบัติเหตุชีวิต’ อีกครั้ง จนทำให้ สรยุทธต้องออกจากเนชั่น บ้านที่เขารักและอยู่มานานถึง 15 ปี

เปิดตำนาน 'นักเล่าข่าว'

เรื่องของเรื่องเกิดจากหลังจากเขาได้รับโอกาสไปเป็นพิธีกรเกมโชว์หนึ่งชื่อ กล่องวิเศษ ทางช่อง 3 แม้ตัวรายการอาจจะไม่โด่งดังมาก แต่ดูบุคลิกที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ทางผู้จัดเลยทาบทามให้เขามาเป็นพิธีกรรายการคุยตอนเช้าๆ อีกรายการหนึ่ง

ด้วยความที่สรยุทธอยากฉีกแนวไปทำอะไรใหม่ๆ และมองว่าเป็นคนละตลาดคนละรูปแบบกับงานที่เนชั่น จึงบอกผู้ใหญ่เพื่อขออนุญาต เรื่องเงียบหายไปหลายวัน ก่อนได้รับคำปฏิเสธโดยไม่ชี้แจงเหตุผล ทำให้เขาฮึดฮัดไม่พอใจ

ปกติเวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เขามักจะโดนเรียกไปตักเตือนแล้วทุกอย่างจบ แต่ครั้งนี้กลับเป็นว่ามีการประชุมหาคนทำงานแทน และบอกให้สรยุทธพักรายการของเนชั่นไว้ก่อน รวมถึงคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ จนกว่าจะปฏิเสธช่อง 3 แล้วค่อยมาคุยใหม่ ไม่ต่างจากการบีบให้ลาออก เขาเสียใจมาก

แม้มีการนัดเคลียร์ใจกัน แต่สุดท้ายเรื่องราวก็บานปลายกลายเป็นความเข้าใจผิด จนเขาต้องเดินออกจากเนชั่น ชีวิตเปลี่ยนจากคนที่ยุ่งวุ่นวายกับงานข่าว กลายเป็นคนตกงาน ไม่มีอะไรทำ

“นกน้อยตกจากรัง คำพูดนี้ผมคิดตอนไปออกรายการ ‘ที่นี่ประเทศไทย’ หลังลาออกจาเนชั่น วันนั้นคิดว่าจะพูดอย่างไรไม่ให้คนอื่นเสียหาย .. ผมก็เหมือนลูกนกที่อยากออกมาดูโลกบ้าง เลยออกมาเดินตามกิ่งไม้นอกบ้าน นกตัวอื่นในรังอาจมองว่าผมเป็นนกตะกละ อยากออกไปหาเศษหาเลย เข้ามารุมตุ้บตั๊บๆ จนผมร่วงเผละตกรัง มารู้ทีหลังเขารุมล้อมด้วยความเป็นห่วงว่าเราจะตกต้นไม้ลงไปต่างหาก”

ด้วยความรู้ตัวดีว่ารักงานข่าวมาก เขาจึงพยายามหาเวทีอีกครั้ง ด้วยเข้าไปคุยกับผู้ใหญ่ในช่อง 3 จนได้เริ่มต้น ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ รายการวิเคราะห์ข่าวสบายๆ สไตล์ตัวเองขึ้น โดยจับคู่กับอรปรียา หุ่นศาสตร์ แต่ด้วยความที่ช่อง 3 ไม่อยากมีปัญหากับเนชั่น จึงเลี่ยงไม่ใช้คำว่าข่าวในชื่อรายการ

นอกจากนี้ยังได้รับโอกาสจาก มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ผู้บริหารของ อสมท. ให้ทำรายการทอล์กแนวเดียวกับคม ชัด ลึก จนเกิดเป็น ‘ถึงลูกถึงคน’ ทุก 5 ทุ่มวันจันทร์ถึงศุกร์ ทางช่อง 9 สรยุทธดีใจมากเพราะเชื่อว่าถ้าตนเองไม่เหลือภาพที่แข็งแรงในด้านข่าว ก็จะเหมือนฆ่าตัวตายในอาชีพนี้

“ข้อดีคือทั้งหมดเป็นฟรีทีวี ข้อเสียคือเวลาเช้ามากและดึกมาก เลยไม่รู้จะไปได้ถึงแค่ไหน แต่ไม่ว่าอย่างไรผมก็ต้องยอมรับและเข้าใจ.. ชีวิตเหมือนเริ่มนับหนึ่งใหม่ คงถึงเวลาที่นกน้อยต้องจากรัง ..ออกไปสร้างชื่อบนเวทีของตัวเองเสียที”

เรื่องเล่าเช้านี้ ได้ฤกษ์ลงจอวันที่ 2 มิถุนายน 2546 สรยุทธตั้งใจเอาเรื่องที่ชาวบ้านสนใจขึ้นมานำเสนอก่อนข่าวยากๆ เพราะเชื่อว่าเมื่อไรที่คนดูสนุก ก็จะเปิดรับเรื่องที่สำคัญอย่าง ข่าวเศรษฐกิจ GDP หนี้เสีย หรือปฏิรูปการศึกษา ได้ เป็นวิธีคิดกลับข้างให้คนดูเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ตัดสินด้วยสายตาของคนข่าว

จุดเด่นของสรยุทธที่ไม่เหมือนใคร คือเขาเล่าข่าวได้สนุกมาก ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ย่อยเรื่องยากให้คนทั่วไปนึกภาพออก โดยช่วงแรกๆ ที่จัดรายการ สรยุทธจะมีหนังสือพิมพ์วางเต็มโต๊ะไปหมด เขาจะหยิบเอาพาดหัว เนื้อหาขึ้นมาเล่า โดยมีพิธีหญิงมาช่วยเติมรสหวาน เพื่อถ่วงดุลความดุดันของเขา

ว่ากันว่า เมื่อเริ่มทำเรื่องเล่าเช้านี้ สรยุทธถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า ทำให้ภาพลักษณ์ของรายการข่าวเสียหาย เพราะเอาหนังสือพิมพ์มาอ่านในรายการ แต่สรยุทธก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าวิธีแบบนอกกรอบนี้สามารถเรียกความสนใจจากผู้ชมที่ไม่เคยสนใจข่าวมาก่อนได้เพียงไหน

ที่สำคัญ เขาไม่ได้สักแต่อ่าน หากยังต้องตื่นมาทำการบ้านตั้งแต่เช้า ตกผลึก ใช้ปูมหลังที่มีของตัวเองเชื่อมโยงกับเนื้อหาข่าว เพื่อช่วยทำให้เรื่องนั้นมีมิติยิ่งขึ้น

เมื่อเนื้อหาโดนใจ เล่าเรื่องดี เข้าใจง่าย แถมเติมใส่สีสันครบเครื่อง ไม่แปลกเลยที่ผู้ชมจะรัก เรตติ้งจึงพุ่งทะยานขึ้นเรื่อยๆ จนเคยคอยู่ระดับสูงสุดของช่วงเช้าในระยะเวลาหนึ่ง

ส่วน ถึงลูกถึงคน คืออีกรสชาติ ที่สะท้อนตัวตนและฝีมือคนข่าวของสรยุทธอย่างแท้จริง คอนเซปต์ของรายการนี้ก็ตามชื่อ นั่นคือมีสองฝั่งมานั่งคุยกัน แลกหมัดกันตรงๆ ไม่อ้อมค้อม ให้ถึงเนื้อหาถึงอารมณ์ ถ้าแขกรับเชิญมาคนเดียว สรยุทธจะเป็นฝ่ายตรงข้ามอย่างดุเดือด ถ้ามีสองฝั่งเขาจะเป็นคนกลางที่คอยสร้างบรรยากาศที่เหมือนขัดแย้ง เพื่อให้ต่างฝ่ายแสดงเหตุผลออกมาเต็มที่ มีความหวือหวาถึงพริกถึงขิง ทำให้คนดูก็ไม่ง่วง ไม่หลับ นอกจากนั้นต้องคอยควบคุมจังหวะให้ไหลลื่นไปจนจบ

“การจะคุยจะถามให้ถึงลูกถึงคน ผมต้องอยู่ระดับเดียวกับแหล่งข่าว คุยกับขอทานต้องเป็นขอทาน คุยกับรัฐมนตรีต้องทำให้คนดูไม่รู้สึกว่าผมด้อยกว่าเขา ขณะเดียวกันก็ไม่เหนือกว่า เหมือนการแลกหมัดคนละหมัด แล้วดูว่าใครมีวิธีตอบโต้อย่างไร

“ซัดกันเต็มที่ โดยไม่ลืมดึงประเด็นให้ชาวบ้านทั่วไปเขาเข้าใจด้วย..บางทีผมบอกว่าช่วยอธิบายอีกทีได้มั้ย คนทางบ้านฟังไม่ทัน พูดอย่างนี้พิธีกรดูโง่ ไม่รู้เรื่อง แต่ผมไม่สนใจเท่าการถามแทนใจชาวบ้าน.. ถ้าสื่อสารให้คนดูเข้าใจก็ประสบความสำเร็จได้”

ถึงลูกถึงคน มีส่วนผสานทั้งประเด็นข่าวแนวตลาดและข่าวคุณภาพ โดยสิ่งสำคัญที่เขายึดถือคือต้องทำให้ถึงรสถึงชาติ ถึงเนื้อหาไม่ว่าแนวไหน ทำให้แม้รายการจะมาดึก แต่ก็ยังมีแฟนๆ ติดตามกันอย่างเหนียวแน่น และสร้างกระแสสังคมให้คนพูดถึงได้แทบทุกวัน

ชีวิตผมไม่เคยมีทางลัด ทุกอย่างมาจากการลงมือทำทั้งนั้น

สรยุทธ สุทัศนะจินดา : ‘กรรมกรข่าว’ ผู้ปฏิวัติหน้าจอโทรทัศน์ไทย

ข่าวคือรายการของทุกคน

คงไม่ผิดหากจะบอกว่า สรยุทธ สุทัศนะจินดา สร้างปรากฏการณ์หลายอย่างขึ้นมาบนหน้าจอโทรทัศน์ไทย เห็นได้จากรายการเล่าข่าวที่ผุดขึ้นตามกันมาเป็นดอกเห็ด และทำให้คนไทยหันมานิยมดูข่าวตอนเช้า ไม่เว้นแต่เสาร์อาทิตย์ รวมถึงเปลี่ยนความคิดว่ารายการทอล์กหนักๆ ก็เข้าถึงคนดูได้

สมภพ รัตนวลี อดีตบรรณาธิการบริหารเนชั่นแชนแนล เคยแสดงทรรศนะเอาไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัวด้วยบทความชื่อว่า “วงการข่าวใครๆ ก็ไม่รัก “สรยุทธ” (นอกจากผู้ชม)” โดยกล่าวว่า ชายผู้นี้ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ของรายการข่าวไป 360 องศา

ตั้งแต่ทำให้รูปแบบรายการข่าวที่เคร่งขรึมจริงจัง น่าเชื่อถือ กลายมาเป็นการเล่าข่าวที่ผ่อนคลาย จับต้องได้ ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงมากกว่าเดิม แถมหยอกล้อ เล่นกับคนดู ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นพวกหรือครอบครัวเดียวกัน นอกจากนี้ยังให้ผู้ชมมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นได้โดยผ่านข้อความ SMS

สรยุทธปฏิวัติราคาโฆษณาข่าวจากหลักหมื่น ให้ไปถึงหลักแสน ในช่วงพีกสุดๆ ทุกเช้ามีคนดูเรื่องเล่าเช้านี้ ถึง 3 ล้านคน ต่ำสุดก็ 2.5 ล้านคน เรียกได้ว่าเป็นเวลากว่า 10 ปีที่ไม่มีใครโค่นเขาลงจากบัลลังก์ข่าวเช้าได้เลย

ขณะที่รายการคุยข่าวแบบเข้มข้น สรยุทธก็เป็นมือหนึ่ง ประสบความสำเร็จทั้งด้านคุณภาพและรายได้ มีรางวัลการันตีจากหลายสถาบัน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือปัญหาหลายเรื่องที่หยิบยกขึ้นมาในรายการ กลายเป็นกระแสสังคมกระตุ้นให้ภาครัฐนำไปแก้ไขอย่างจริงจัง

นอกจากภาพของนักข่าว เขากลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ที่ผู้ชมรัก ไปไหนคนก็รู้จัก และยังมีบทบาทเป็นนักสังคมสงเคราะห์ โดยเฉพาะการออกไปรายงานข่าวน้ำท่วมและช่วยเหลือชาวบ้านในปี 2554 ที่ทำให้ภาพลักษณ์การช่วยเหลือสังคมเด่นชัดยิ่งขึ้น เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ ภัยพิบัติ ทะเลาะเบาะแว้ง ผู้คนวิ่งหาเขาก่อนภาครัฐ เพราะว่าถ้าเรื่องถึงสรยุทธ คือคนทั้งประเทศรู้

“ทุกอย่างเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ผมไม่ได้เป็นคนที่อยู่ดีๆ จะเริ่มทำอะไรแบบนั้น ผมไม่ได้เป็นพระเอกขนาดนั้นหรอก จุดเริ่มต้นจริงๆ มาจากตอนแผ่นดินไหวที่เฮติ ที่เราได้รับรู้ว่าผู้คนยากลำบากกันมาก พอมีการส่งอาหารเข้าไปทีถึงกับต้องปล้นต้องแย่งกัน นั่นคือจุดเริ่มต้น แล้วจากนั้นทุกอย่างก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ขณะเดียวกันก็มีแขกรับเชิญในรายการมาเล่าเรื่องราวที่ชวนหดหู่ จนเราคิดว่าน่าจะขึ้นหมายเลขบัญชี เผื่อมีใครอยากส่งเงินไปช่วยเขา

“แต่ของแบบนี้ทำสะเปะสะปะไม่ได้ ต้องมีวาระ มีความจำเป็นที่เพียงพอ จนบางทีก็เป็นแรงกดดันเหมือนกัน อย่างคราวน้ำท่วม ได้เงินรวมเป็นร้อยล้าน กลายเป็นปรากฏการณ์ ซึ่งส่งให้เวลาเกิดอะไรขึ้น คนจะมาหาด้วยความคาดหวัง ผมจึงเสนอให้ช่อง 3 ทำเป็นระบบไปเลย”

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เบื้องหลังคือการทำงานหนัก อย่างที่เขาเรียกตัวเองว่า ‘กรรมกรข่าว’

สมัยทำงานหัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ เขาจะกลับบ้านเป็นคนสุดท้าย พอมาเป็นพิธีกรรายการเล่าข่าวเช้าก็ต้องทำงานทุกวัน โดยตื่นตั้งแต่ตี 4 ทำธุระส่วนตัวแล้วขับรถมาห้องส่ง รีบอ่านหนังสือพิมพ์เตรียมตัวเข้ารายการตอน 8 โมง พอจบแล้วประชุมทีมงาน จากนั้นกลับบ้านไปพักผ่อน นอน 2-3 ชั่วโมง ตกเย็นขับรถมาที่ช่อง 9 เพื่อทำรายกรถึงลูกถึงคนต่อ จบแล้วก็ประชุมทีมงาน กว่าจะได้นอนก็ราวตี 2 หัวถึงหมอนก็หลับ ชีวิตวนเวียนแบบนี้ พอถึงวันหยุดก็นอนยาวทั้งวัน

ทุกรายการของเขาเก็บรายละเอียดทุกเม็ด ตั้งแต่การเลือกประเด็น แขกรับเชิญ ซึ่งต้องต่อสู้แย่งชิงกับรายการอื่น บางวันมีการเปลี่ยนประเด็นไปมาถึง 7 ครั้ง เพราะเรื่องไม่น่าสนใจหรือแขกรับเชิญคนสำคัญไม่มา เขารู้ว่าทีมงานเหนื่อย แต่ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรักษาคุณภาพรายการออกมาให้ดีที่สุด

“ชีวิตไม่เคยมีทางลัด ผมไม่เคยเจออะไรแล้วรู้สึกว่าตัวเองโชคดี๊โชคดี สิ่งที่ใครเห็นว่าผมถูกหวยในวันนี้ ความจริงมันเกิดจากการที่ผมผ่านอะไรมาไม่รู้ตั้งกี่ขั้น ทุกอย่างมาจากการทำงานหนัก เอาแค่เรื่องข้อมูล ผมอ่านหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่เด็ก คุณจะอ่านให้ตายภายในไม่กี่วันก็ไม่เหมือนสะสมมาตลอดชีวิต

“ทุกอย่างต้องแสวง ต้องเข้าไปหาโอกาสทั้งนั้น อย่างเรื่องพูด.. สรยุทธเป็นเด็กพูดน้อย งเียบๆ หงิมๆ ไม่กล้าพูด พูดไม่ค่อยชัด จับใจความไม่เก่ง ถามคำตอบคำ วันนี้กลายเป็นคนพูดต่อยหอยได้ไง ถ้าไม่ใช่เพราะพรแสวง”

ในวันนี้ที่สรยุทธ จะกลับคืนหน้าจอโทรทัศน์อีกครั้ง จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่งว่า เขาจะเรียกความศรัทธาเดิมๆ จากผู้ชมกลับมาได้หรือไม่ หรือจะพลิกโฉมอะไรในวงการข่าวต่อไปอีก คงต้องรอดูกัน

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสือ กรรมกรข่าว เล่ม 1-3 โดยสรยุทธ สุทัศนะจินดา
  • นิตยสาร SECRET ปีที่ 3 ฉบับที่ 73 เดือนกรกฎาคม 2554
  • นิตยสารแพรว ปีที่ 23 ฉบับที่ 536 วันที่ 25 ธันวาคม 2544
  • นิตยสารแพรว ปีที่ 27 ฉบับที่ 633 วันที่ 10 มกราคม 2549

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.