สุทธิชัย หยุ่น : ตำนานคนบ้า THE NATION

<< แชร์บทความนี้

ก่อนจะก้าวเป็นสุดยอดนักข่าวแห่งโลกออนไลน์ เจ้าของแพลตฟอร์ม suthichai live อย่างทุกวันนี้

สุทธิชัย หยุ่น คือบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการก่อตั้ง The Nation สื่อหัวแถวของเมืองไทย ก่อนจะโบกมือลา เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561

แต่รู้หรือไม่ว่า อาณาจักรสื่อแห่งนี้ถูกก่อตั้งขึ้นด้วย ‘ความบ้า’ ล้วนๆ

หากอยากรู้ว่าวันนั้นชายผู้นี้คิดอะไร ยอดมนุษย์..คนธรรมดา มีคำตอบ

คนบ้าข่าว

คงไม่มีใครที่จะกล้าลาออกจากงานที่มั่นคง และมีอิทธิพลในวงการสูงมาก เพื่อมาก่อตั้งบริษัทคู่แข่งเล็กๆ หากไม่ใช่สำหรับผู้ชายที่ชื่อ ‘สุทธิชัย หยุ่น’

ด้วยเลือดรักชาติที่ยอมไม่ได้ที่จะให้นายทุนต่างชาติถูกฮุบตลาดสื่อภาษาอังกฤษทั้งหมด

หลังบางกอกโพสต์ซึ่งมีเจ้าของเป็นคนอังกฤษเข้าเทคโอเวอร์บางกอกเวิลด์ที่มีเจ้าของเป็นอเมริกัน เมื่อปี 2514 สุทธิชัยซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าข่าวและบรรณาธิการฉบับวันอาทิตย์ กับพรรคพวกอีก 2 คน คือธรรมนูญ มหาเปารยะ และ ม.ร.ว.สุนิดา กิติยากร จึงตัดสินใจถอนตัวออกมาเพื่อตั้งหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่มีเจ้าของเป็นคนไทย 100%

แต่การก่อการครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งเมื่อบริษัทใหม่ไม่มีความพร้อมใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งเงิน ทั้งประสบการณ์ ทั้งการตลาด โอกาสที่แข่งขันจึงเป็นเรื่องลำบากยิ่งนัก

กำเนิด THE NATION

“ต้องเจ๊งแน่ภายใน 3 เดือน” ไมเคิล กอร์แมน ผู้จัดการบางกอกโพสต์กล่าวกับสุทธิชัยในวันที่จากลา

“เขาบอกว่ายูไม่รู้หรอกว่าทำหนังสือพิมพ์นั้นก็เหมือนเอาทองเข้าไปในแท่นพิมพ์แล้วก็บอกมาเป็นกระดาษ ผมก็บอกไม่รู้ละ ผมรู้อย่างเดียวว่าเป็นคนไทย จะยอมให้คนต่างด้าวเข้ามาผูกขาดในวงการที่บังเอิญผมอยู่ไม่ได้…

“ผมบอกกับทางโพสต์ว่าคนไทยต้องพิสูจน์ การที่เราไม่ได้เป็นเมืองขึ้นเขาในสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นไม่เพียงพอ ต้องพิสูจน์ด้วยว่าเรามีเอกราชในยามสงบด้วย เขาก็หัวเราะ ผมก็เลยบอกว่านี่เป็นบ้านเมืองเรานะ เราเป็นเจ้าของประเทศ ยูเพียงบังเอิญมาทำมาหากินที่นี่ ยูอาจจะเก่งกว่าเราตรงภาษาอังกฤษดีกว่า อาจจะมีเงินมากกว่า แต่สองอย่างนี้เราคิดว่าเราสร้างได้ แต่สิ่งที่เราคิดว่า เรามีแต่ยูไม่มีคือความเข้าใจต่อประเทศชาติ”

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือพิมพ์ The Nation ฉบับแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2514 ซึ่งผู้คนในวงการสื่อในเวลานั้นต่างขนานนามว่าเป็นแจ๊คที่หาญกล้ามาต่อสู้กับยักษ์อย่าง Bangkok Post

การพิสูจน์ตัวเองของคนข่าวน้องใหม่

The Nation ไม่เพียงแต่จะเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของคนไทยแห่งแรกเท่านั้น แต่สุทธิชัยยังตั้งใจให้เป็นต้นแบบของสิ่งพิมพ์ที่เติบโตขึ้นโดยปราศจากนายทุน

ในช่วงแรกๆ มีผู้มีบารมีหลายคนพยายามเข้ามาช่วยเหลือด้วยการเสนอตัวเป็นนายทุน แต่สุทธิชัยปฏิเสธไปหมด แม้แต่หุ้นบริษัทที่นำมาแบ่งขายก็ตั้งเอาไว้ไม่ให้มีใครซื้อเกิน 5% เพื่อกันไม่ให้มีเสียงส่วนใหญ่ เพราะสิ่งที่เขาต้องการคือการที่กองบรรณาธิการเป็นผู้กำหนดเนื้อหาด้วยตนเอง ไม่ใช่นายทุน

หลังขายหุ้นบริษัทได้เงินมา 2 ล้านบาท แต่เพียง 3 เดือนก็ใช้เงินหมด เพราะต้องไปจ้างโรงพิมพ์ ซึ่งราคาแพงเพราะไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลย ค่าพิมพ์ตกฉบับละ 1.5 บาท ขาย 2 บาท หักค่าเงินเดือนพนักงาน ค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ไม่คุ้ม แถมพอหาโฆษณาได้ เจ้าของโรงพิมพ์ก็ยังมาขอเพิ่มค่าพิมพ์ ดูแล้วแทบไม่มีทางที่บริษัทจะอยู่ได้

แต่ด้วยความโชคดีจึงได้รับแรงสนับสนุนจากผู้คนที่หลากหลาย โดยเฉพาะแวดวงโฆษณา เพราะทุกคนเห็นตรงกันว่าหากปล่อยให้เนชั่นล้มลง ก็หมายความว่าฝรั่งก็จะผูกขาดในตลาดสื่อทันที และสิ่งที่ตามมาคือค่าโฆษณาที่จะต้องปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความอยู่รอดของพวกเขาด้วย ทำให้เนชั่นประคองตัวผ่านพ้นวิกฤตไปได้

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือการสร้างศรัทธาให้คนอ่าน สุทธิชัยเผยความคิดในขณะนั้นว่า การทำงานอย่างเต็มที่ ตรงไปตรงมา และยึดมั่นในหลักการคือ หนทางรอดที่จะทำให้หนังสือพิมพ์เติบโตอย่างแท้จริง

เพราะจุดอ่อนที่สำคัญของวงการสื่อบ้านเราคือ การที่นักข่าวไม่ยอมหาข่าวเอง แต่รวมกลุ่มกันแบ่งข่าว หากส่งโดยไม่รอฉบับอื่นก็จะกลายเป็นแกะดำ ถูกตั้งข้อรังเกียจจากเพื่อนสื่อด้วยกันเอง

คุณต้องการให้คนขี้เกียจมาบงการคนขยันเหรอ นี่เป็นการเอาเปรียบคนอ่าน

สุทธิชัย หยุ่น : ตำนานคนบ้า THE NATION

การจากลา

“ถ้าคนของเราไม่มีหลักการที่มั่นคงก็พังหมด นักข่าวทุกคนก็จะเตี๊ยมกันไป เพื่อความอยู่รอดของนักข่าวเองคุณต้องการให้คนขี้เกียจมาบงการคนขยันเหรอ นี่เป็นการเอาเปรียบคนอ่าน ถ้าฉบับอื่นไม่มีคนรับข่าว ก็เป็นความผิดของเขาที่ต้องแก้ปัญหา แต่ไม่ใช่เนชั่นต้องพลอยไม่ได้ข่าวด้วย”

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สุทธิชัยพยายามกระตุ้นนักข่าวให้ตื่นตัวอยู่เสมอ พร้อมทำงานหนัก เพราะสำหรับเขาแล้วข่าวเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นนักข่าวไม่ควรจะตกข่าวเสียเอง

เช่นเดียวกับความน่าเชื่อถือ สุทธิชัยเคยเปรียบเทียบว่าหนังสือพิมพ์มีชีวิตเพียง 5-10 นาทีเท่านั้น เน่าเสียง่ายยิ่งกว่าผักปลาในตลาดตอนเช้า ฉะนั้นสิ่งที่มีค่าที่สุดคือ ความน่าเชื่อถือ หากไม่น่าเชื่อถือแล้วก็ไม่มีความหมายเลย

สิ่งเหล่านี้คือปณิธานที่เขาใช้วางรากฐานเนชั่นจนยืนหยัดได้อย่างมั่นคงมาเกือบ 5 ทศวรรษ

ถึงจะมีเหตุให้เนชั่นจะต้องปรับตัวอยู่หลายต่อหลายครั้ง เช่นการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ การเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น การขยายธุรกิจไปสู่รูปแบบต่างๆ ทั้งสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์ แต่เนชั่นก็ยังแสดงบทบาทในฐานะสื่อที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คนในสังคมได้ไม่เสื่อมคลาย

แม้สุทธิชัย หยุ่น จะอำลาจากเนชั่น แต่โลกก็คงต้องจารึกกับความบ้าบิ่นของเขาตลอดไป เพราะหากไม่มีความเชื่ออันยิ่งใหญ่ในวันนั้น ก็คงยากที่สื่อบ้านเราจะมาได้ไกลเหมือนเช่นทุกวันนี้

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสือพิมพ์ THE NATION วันที่ 14 กรกฎาคม 2514
  • นิตยสารกรุงเทพ 30 ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 เดือนตุลาคม 2529
  • Facebook Suthichai Yoon

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.