มีเซียม ยิบอินซอย : จากแม่บ้านวัย 42 สู่ศิลปินแถวหน้าของเมืองไทย

<< แชร์บทความนี้

ชีวิตของเธอ เริ่มต้นเมื่ออายุ 42 ปี

สำหรับใครหลายคนแล้ว เมื่อตัวเลขชีวิตมาถึงหลักสี่แล้ว อาจไม่กล้าจะเริ่มทำอะไรใหม่ๆ

แต่สำหรับผู้หญิงคนนี้แล้ว กลับมีความเชื่อที่ต่างออกไป เพราะเธอได้เปลี่ยนชีวิตตัวเอง จากภรรยาของนักธุรกิจที่มีชีวิตอยู่

เพื่อสามีกับลูกๆ อีก 5 คน มาเป็นศิลปินชั้นยอดที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ แม้แต่ศาสตาจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังทึ่งในความสามารถ

ผลงานของสุภาพสตรีผู้นี้ ถูกจัดแสดงตามสถานที่สำคัญ ทั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระตำหนักดอยตุง ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ศิลปะและคอลเลกชันส่วนตัวของนักสะสม จากเอเชีย ยุโรป และอเมริกา

ที่สำคัญคือ เธอไม่เคยหยุดที่จะสร้างสรรค์งานใหม่ๆ เลย รวมถึงส่งเสริมศิลปินรุ่นใหม่ให้ก้าวออกมาแสดงความสามารถ จนกระทั่งปีสุดท้ายของชีวิต

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากพาทุกคนไปรู้จักกับยอดศิลปินหญิงที่ไม่เคยยอมให้วัยมาเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ผลงานอันยิ่งใหญ่

มีเซียม ยิบอินซอย

คือ..ชะตาชีวิตของศิลปิน

ครั้งหนึ่งระหว่างที่นั่งรถไฟจากโรมไปปารีส เพื่อหาแพทย์ชั้นยอดมารักษาบุตรสาวที่เดินไม่ได้ เพราะป่วยเป็นโปลิโอ มีเซียมได้พบหญิงชาวอิตาเลียนคนหนึ่ง ซึ่งมาชะโงกหน้าดูเธอกรอกเอกสารตรวจคนเข้าเมือง พร้อมกับทักด้วยประโยคที่ประหลาดยิ่งนัก

“ลายมือคุณบอกว่า คุณเป็นศิลปิน และกำลังจะมีชื่อเสียงโด่งดัง”

มีเซียมจึงถามกลับไปว่า “ศิลปินหรือคะ?” พร้อมกับสั่นศีรษะ

จากนั้นหญิงอิตาเลียนก็พยายาม ถามถึงอาชีพของมีเซียมว่า เป็นนักเต้นรำ นักร้อง นักดนตรี นักแสดง หรือจิตรกร แต่มีเซียมก็ตอบอยู่คำเดียวว่า “ไม่ใช่” เพราะศิลปะอย่างเดียวที่เธอสนใจก็คือ การออกแบบเสื้อผ้า และเครื่องประดับไว้สำหรับสวมใส่เอง

สุดท้ายแล้ว หญิงสาวผู้นั้นจึงเฉลยงานของตัวเองว่า “ฉันเป็นนักพยากรณ์มืออาชีพ ฉันอ่านลายมือได้ และไม่เคยทำนายพลาดเลย ถ้าตอนนี้คุณยังไม่ได้เป็นศิลปิน คุณจะได้เป็น และมีชื่อเสียงด้วย คอยดูไปก็แล้วกัน”

แม้มีเซียมจะรู้สึกว่า คำพูดนี้เป็นเรื่องตลก แต่ไม่น่าเชื่อว่า อีกไม่กี่ปีคำทำนายนี้จะกลายเป็นจริง

มีเซียมเป็นภรรยาของนักธุรกิจใหญ่ของเมืองไทย นาม ยิบอินซอย

ตลอดชีวิต หน้าที่ของเธอคือ การอยู่บ้าน เลี้ยงลูก 5 คนให้ดีที่สุด เธอไม่เคยรับรู้หรือข้องเกี่ยวกิจการใดๆ ของครอบครัว เส้นทางชีวิตของเธอดำเนินด้วยความสุขมาตลอด จนกระทั่งลูกสาวป่วย หาหมอกี่รายก็รักษาไม่หาย เธอตัดสินใจเดินทางไปยุโรปเพื่อจะมาหนทางที่ดีกว่า

การรักษาครั้งนั้นไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่ก็เปลี่ยนชีวิตของเด็กน้อยไม่น้อย เพราะมีเซียมได้ชักชวนให้ลองหัดเล่นเปียโน เพื่อบำบัดความเศร้า จนกลายเป็นกิจกรรมสร้างรอยยิ้ม และส่งให้เธอกลายเป็นนักเปียโนฝีมือดีระดับโลก

เช่นเดียวกับมีเซียม ในวัย 42 ปี ด้วยความเหงา บวกกับความทุกข์จากอาการป่วยของลูกสาว จึงออกเดินทางท่องเที่ยวไปตามพิพิธภัณฑ์ และสถาบันศิลปะต่างๆ รวมทั้งมีโอกาสเยี่ยมเยียนบ้านของคนเดนมาร์กที่แม้ไม่ได้มีฐานะมาก แต่ก็มีสไตล์การตกแต่งที่น่าสนใจ

“บ้านพวกเดนมาร์กเขาจัดบ้านสวยๆ อย่างการจัดโต๊ะ บางทีเขาก็เอาผักมาจัดแทนที่จะใช้ดอกไม้ เพราะที่เมืองเขาดอกไม้หายากแพงเหลือเกิน เขามีเทสต์มากทีเดียว อย่างรูปที่แขวนตามบ้าน เขาก็มีห้องละรูปสองรูป เพราะรูปดีๆ นี่แพงมากกว่าจะซื้อรูปหนึ่งต้องเสียสละ สามีต้องไม่ตัดเสื้อใหม่หรือภรรยาไม่ซื้อเสื้อหนาวใหม่ หรือไม่ไปเที่ยวตากอากาศสักปี เพื่อจะเอาเงินไปซื้อรูป เพราะฉะนั้นรูปในบ้านจึงมีความหมายมากสำหรับเขา”

หากแต่ศิลปะที่มีเซียมรู้สึกหลงใหลมากเป็นพิเศษคือ ศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์ ทั้งสีสันที่สว่าง รอยพู่กันอันหนักแน่น เปี่ยมไปด้วยชีวิต

แต่การอยู่เมืองนอก 14 เดือน ไม่ได้ทำให้คิดเปลี่ยนแปลงชีวิต กระทั่งกลับมาถึงเมืองไทย เมื่อปี 2491 และได้เห็นภาพเขียนที่ลอกลายมาจากจิตรกรดังๆ ระดับโลก ซึ่งประดับอยู่ฝาผนังบ้านยิบอินซอย

ภาพเขียนบนผนังห้องต่างๆ นั้นช่างจืดชืดไร้ชีวิต น่าแปลกใจว่าภาพเหล่านั้นไม่เคยก่อความรำคาญให้แก่ฉันมาก่อน แต่บัดนี้มันกลับรบกวนใจฉันทุกครั้งที่แลเห็น ฉันเริ่มตระหนักว่า นัยน์ตาฉันถูกฝึกให้รู้จักแยกศิลปะเลิศออกจากศิลปะพื้นๆ เสียแล้ว ฉันอยากจะเปลี่ยนภาพของฉันให้เป็นภาพงามๆ อย่างที่ได้ไปเห็นมาตามบ้านที่ไปเยี่ยมในยุโรปเสียเหลือเกิน”

หลังตระเวนตามแกลเลอรี่ต่างๆ ก็ไม่พบภาพถูกใจเสียที ส่วนภาพที่โดนใจก็ราคาสูงเกินไป มีเซียมคิดว่าทางเดียวที่จะได้ภาพสวยๆ อย่างที่หวังไว้ คือต้องวาดเอง

ซึ่งตอนแรกเธอก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เพราะไม่เคยข้องแวะกับสถาบันศิลปะใดๆ มาก่อน จนกระทั่งเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้รู้จักกับ มูเน ซาโตมิ อดีตฑูตวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ซึ่งมาประจำอยู่ที่เมืองไทย ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อแรกพบ ซาโตมินึกว่าคุณนายยิบอินซอยอยากให้เขาเขียนภาพให้ เธอจึงรีบบอกว่า

“ไม่ใช่หรอกค่ะ ดิฉันอยากเรียนเขียนภาพ.. แกสงสัยว่าจะเริ่มต้นอย่างไร เขียนไม่เป็นเลย ดิฉันก็บอกว่าสมัยอยู่โรงเรียนฉันเขียนได้นะ แกบอกว่าลองดูซิ ต้องทำให้ได้นะ ถ้าทำไม่ได้เราก็เลิก แกก็ให้เขียนคร่าวๆ เขียนเร็วๆ ก็เขียนได้”

หลังจากพูดคุยกันอยู่พักใหญ่ ศิลปินชาวญี่ปุ่น จากสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งฝรั่งเศส ก็ยอมแพ้ความจริงจังและความกระตือรือร้นของมีเซียม ยอมรับเธอเป็นลูกศิษย์คนใหม่

นั่นเองคือก้าวแรกของศิลปินหญิงแถวหน้าของเมืองไทยที่มีบทบาทต่อเนื่องในวงการมากว่า 4 ทศวรรษ

ชีวิตเริ่มต้นเมื่อ ‘หลักสี่’

แม้จะมีพรสวรรค์เป็นทุนเดิม แต่สิ่งที่เธอมีมากกว่า คือ ความหลงใหลและความตั้งใจที่อยากจะสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ดีที่สุด

วันแรกของการเรียนศิลปะ มีเซียมหอบอุปกรณ์ ทั้งสี พู่กัน ผ้าใบ จนภรรยาของครูถามว่า แบกมาทำไม พร้อมบอกว่า ซาโตมิต้องใช้เวลาถึง 2 ปี วาดภาพด้วยดินสออย่างเดียว ถึงได้รับอนุญาตให้ใช้สีได้

มีเซียมจึงบอกว่า ตอนที่เริ่มวาดซาโตมิอายุเพียง 18 ปี ยังมีอนาคตอีกไกล แต่เธออายุเกิน 40 ปีแล้ว คงหัดทุกอย่างจากพื้นฐานไม่ไหว และส่วนตัวก็ไม่ได้หวังจะเป็นจิตรกรชื่อดัง แค่อยากพอระบายสีเป็นเท่านั้นเอง 

พอได้ยินอย่างนั้นครูก็เดินออกมารับ แล้วพาไปยังมุมหนึ่งของห้องรับแขก เอาต้นโกศลมาวาง พร้อมยื่นฝากล่องขนมปังให้ แล้วบอกว่า ใช้พู่กันวาดบนฝานี้ไปก่อน วันหลังชินกับสีแล้วค่อยเขียนลงผ้าใบ วันนั้นมีเซียมเขียนภาพต้นโกศลกระถางนั้น แต่รูปออกมาไม่ดีเอาเสียเลย

พอจะลากลับมีเซียมจึงบอกครูว่า ไม่อยากเขียนบนฝากระป๋องแล้ว และรู้สึกว่าตัวเองจะวาดได้ดีขึ้น หากได้เขียนภาพบนผ้าใบ

พอวันรุ่งขึ้น ครูจะให้เธอวาดกระถางอีก มีเซียมก็บอกว่าเบื่อแล้ว อยากวาดภาพวิวแทน ซึ่งครูก็ยอมตามใจ เพราะคิดว่าไฮโซรุ่นใหญ่คงเห่อวาดภาพพักเดียว และอีกไม่นานก็เลิกสนใจ แต่เขาคิดผิดถนัด เพราะนอกจากไม่เลิกเห่อแล้ว เธอยังหลงใหลกับศิลปะแบบถอนตัวไม่ขึ้น

ภาพทิวทัศน์แรกที่มีเซียมวาด เป็นบ้านที่ติดอยู่กับบ้านของครู ซึ่งมองเห็นจากหน้าต่าง รูปทรงของอาคารและความลึกของภาพ ทำให้ผลงานออกมาไม่ดีนัก

ครั้งนั้นเธอเขียนแค่ภาพบ้านแล้วก็สวน ส่วนหลังคายังวาดไม่เป็น โชคดีที่มีอาจารย์คอยช่วยร่างภาพให้ด้วยดินสอ ผลงานก็เลยออกมาไม่เลวนัก

จากนั้นมีเซียมก็เริ่มวาดภาพวิวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีครูคอยแนะนำเทคนิคต่างๆ ให้ เช่น บอกให้ใช้พู่กันที่ใหญ่ขึ้น เวลาแต้มสีต้องใจกล้าหน่อย อย่าไปเสียดายสี หรือบางทีก็พาขับรถไปไกลๆ นอกเมือง เพื่อหาวิวที่เหมาะกับการเขียนภาพมากขึ้น

“เรียนกับแกนี่เรียนทางลัด แกรู้ว่าดิฉันไม่มีความอดทน แต่ทะเยอทะยาน อยากเขียนเป็นรูปออกมา แกพาไปขับเที่ยว เมื่อผ่านทางไหนเห็นสวย ดิฉันอยากเขียนตรงนั้น เป็นชาวนาทำนาหรือเป็นสวนผักอะไรๆ แกก็หยุดรถให้ แล้วก็บอกว่า ไม่ใช่เขียนทั้งวันจะให้รูปเสร็จเลยไม่ได้หรอก มันต้องมีชั่วโมง มีเวลา ตอนเช้าเขียนตั้งแต่ 9 โมง พอ 11 โมงก็เลิก เขียน 2 ชั่วโมงพอดีๆ บรรยากาศไม่เปลี่ยนแปลง และถ้าจะเขียนตอนกลางวัน อีกรูป อย่าไปเขียนรูปตอนเช้า เพราะตอนบ่ายก็มีความสวยงามแบบตอนบ่าย

“แรกๆ ดิฉันก็เขียนหมด เห็นอะไรก็เขียน แล้วแกก็ติชมว่า ใบไม้ใบอะไรแกก็บอกไม่เป็นนะ ถ้าต้นไม้มันเล็กก็ทำให้มันใหญ่ได้ ต้นไม้มันตรงๆ ก็ทำให้คดเคี้ยวได้ ถ้าเห็นว่ามันสวย ถ้าต้องการให้มีชีวิตชีวาใบไม้ต้องมีลมพัด อย่าให้มันนิ่ง”

แม้จะเรียนด้วยวิธีแบบไม่ปกติ แต่ด้วยความรักที่มีต่อศิลปะ ทำให้พัฒนาการของสุภาพสตรีผู้นี้ไปไกล เธอเริ่มเข้าใจภาษาของสี ความอ่อนแก่ เข้าใจความงามของธรรมชาติ แม้แต่น้ำที่ขุ่นข้นดำคล้ำตามลำคลอง ก็สามารถสะท้อนความงามของแสงสีให้ปรากฏได้ แต่ที่สำคัญสุด คือเธอรู้สึกไม่อยากจะวางพู่กันเลยแม้แต่นาทีเดียว และเฝ้ารอให้วันใหม่มาถึงเสมอ เพื่อจะได้เริ่มงานอีกครั้ง

ผ่านไป 10 เดือน ซาโตมิ บอกว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรกำลังจะจัดประกวดภาพวาด เรียกว่า ‘งานศิลปกรรมแห่งชาติ’ อยากให้เธอส่งผลงานเข้าร่วมด้วย ด้วยความเป็นมือใหม่ มีเซียมจึงปฏิเสธ แต่ครูก็บอกว่า ลองดูไม่เสียหาย อย่างน้อยก็ฝึกหนักมาแล้วหลายเดือน และภาพของเธอก็คุณภาพดีพอ

หลังถูกคะยั้นคะยออย่างหนัก มีเซียมเลยส่งผลงานไปจำนวนหนึ่ง แต่ที่โดดเด่นสุดคือ ภาพทิวทัศน์ของซอยชิดลม ยาว 1 เมตร กว้าง 80 เซนติเมตร เป็นสไตล์อิมเพรสชันนิสม์ เขียนด้วยพู่กันขนาดใหญ่ ซาโตมิเรียกภาพนี้ว่า ‘Dreamer’s Avenue’ หรือ ‘วิถีแห่งความฝัน’ แต่มีเซียมเรียก ‘สันติคาม’

มีเซียมไม่คาดหวังเรื่องรางวัลใดๆ มาก่อน แค่ไม่ตกรอบแรกก็พอใจแล้ว แต่ปรากฏว่า อาจารย์ซาโตมิ กลับมาพร้อมรอยยิ้มและบอกว่า “ยินดีด้วย เธอชนะได้รางวัลเหรียญทอง”

“ฉันตกตะลึงจังงัง..อาจเป็นเหตุบังเอิญที่เกิดขึ้นได้สักครั้งในชีวิต ฉันคงจะเป็นจิตรกรภาพเดียว เหมือนกับที่นักเขียนบางคนเป็นนักเขียนเล่มเดียว คงไม่สามารถเขียนภาพที่มีคุณค่าได้อีกแล้ว”

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีเสียงนินทาว่า ภาพนี้ซาโตมิเขียนให้ กรรมการลำเอียง เพราะเห็นว่าเป็นผู้หญิง ทำให้มีเซียมฮึกเหิม และยิ่งพัฒนาฝีมือมากขึ้นเรื่อยๆ จนปีที่ 2 เธอก็ส่งภาพประกวดอีกครั้ง คราวนี้เป็นภาพวิวบนเกาะฮาวาย ชื่อ ‘ทิวทัศน์ (โฮโนลูลู)’ ซึ่งวาดขึ้นระหว่างไปเที่ยว ในห้องพักของโรงแรม ซึ่งสุดท้ายภาพนี้ก็ชนะผลงานของบรรดาปรมาจารย์ในแวดวงศิลปะ คว้าเหรียญทองได้อีกหน

มีเซียมคว้ารางวัลอันดับ 1 ของงานศิลปกรรมแห่งชาติ 3 ปีซ้อน จนไม่สามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้อีก มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงยกย่องให้เธอเป็น จิตรกรเหรียญทองประจำชาติ พร้อมกับเชิญมาเป็นกรรมการพิจารณารางวัลแทน

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี บอกว่า มีเซียมคือศิลปินหญิงที่เขายกย่อง งานเขียนในสไตล์อิมเพรสชันนิสม์ของเธอ มีสีสันตัดกันรุนแรง และให้ความรู้สึกประทับใจเป็นที่สุด เธอเรียนรู้ศิลปะได้รวดเร็วอย่างประหลาด โดยเฉพาะภาพทิวทัศน์นั้นทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยม เธอสามารถแสดงอารมณ์ส่วนลึกออกมาโดยปราศจากความคิดลังเลใจว่าจะเนรมิตแบบงานเป็นสมัยเก่าหรือสมัยใหม่ สิ่งที่เธอทำนั้นอยู่กับความรู้สึกของเธอเอง จึงบังเกิดผลดีอย่างน่าประหลาดใจ

และนี่คือย่างก้าวสำคัญของผู้หญิงที่ไม่เคยปล่อยให้ความฝันจางหายไป แต่พยายามถึงที่สุด จนสามารถสร้างผลงานที่มหัศจรรย์ได้สำเร็จ

จากภาพวาดสู่ประติมากรอันยิ่งใหญ่

มีเซียมเรียนวาดภาพกับอาจารย์ซาโตมิอยู่ 3 ปีเต็ม ครูก็ย้ายไปอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส โดยที่เธอยังคงสร้างผลงานต่อเนื่องอีกหลายสิบภาพ ประมาณ 4 ปี

ระหว่างนั้นเองที่เธอรู้สึกอิ่มตัวกับงานวาด ประกอบกับตอนนั้นเธอไปเยือนพิพิธภัณฑ์โรแดงที่กรุงปารีส แล้วเห็นงานของออกุสต์ โรแดง เลยเกิดแรงบันดาลใจ อยากสร้างงานปั้นขึ้นเองบ้าง จึงปรึกษาอาจารย์ศิลป์ ซึ่งรู้จักกันผ่านคำแนะนำของซาโตมิ แต่อาจารย์ศิลป์กลับบอกว่า ไม่ควรทิ้งงานวาดภาพ แต่ควรศึกษาอย่างจริงจัง ที่สำคัญคือ งานปั้นเป็นงานหนัก แม้แต่ผู้ชายหลายคนยังทำไม่ไหวเลย

“ท่านบอกว่า เธอวาดรูปไม่เป็น ถ้าเธอเริ่มจากวาดรูปก่อนแทนที่จะรีบลงสีไปเลย เธอก็จะเขียนภาพจากจินตนาการได้ ไม่ต้องอาศัยเพียงสิ่งที่เห็นตรงหน้า เชื่อฉันเถอะ หยุดเขียนภาพสักพัก แล้วฝึกวาดรูปอย่างจริงจัง จนสามารถเข้าใจเทคนิคอย่างลึกซึ้ง เธอใส่อารมณ์ในภาพมากเหลือเกิน ต้นไม้ของเธอสวยแต่ก็แสนเศร้า ฉันเกือบร้องไห้เมื่อดูภาพของเธอ รู้ไหมว่า ถ้าเธอพยายามต่อไป เธออาจจะได้เป็นจิตรกรเลื่องชื่อทีเดียว”

แต่เมื่อตัดสินใจจะมาทางนี้ มีเซียมเลยขอเปลี่ยนมาเรียนงานปั้นอย่างจริงจัง และถ้าลองแล้วทำไม่ได้ก็จะหันมาทำตามคำแนะนำของอาจารย์ และด้วยความเป็นคนไม่ชอบเรียนทฤษฎี ก็เลยอยากจะขอปั้นจากหุ่นจริงทันที แต่อาจารย์ศิลป์ก็บอกว่า ไม่ได้เด็ดขาด จะไม่ยอมให้มีเซียมทำผิดเหมือนตอนหัดเขียนภาพอีกแล้ว เธอจึงฝึกปั้นจากหุ่นไร้ชีวิต ศีรษะแบบกรีกที่อยู่ในห้องของอาจารย์ เพื่อจะได้รู้จักเรื่องสรีรวิทยาที่ถูกต้อง มีเซียมปั้นแบบเป็นสิบหัว แต่งานออกไม่น่าพอใจเลย จนอาจารย์ศิลป์บอกว่า ไม่มีแววเป็นช่างปั้นเลย

ด้วยความรู้สึกเบื่อสุดขีด เพราะปั้นแต่กะโหลก ไม่ถึงส่วนกล้ามเนื้อเสียที ก็เลยคิดจะเลิกปั้น และกลับไปทำงานวาดอีกครั้ง แต่แล้ววันหนึ่งโอกาสของเธอก็มาถึง เมื่ออาจารย์ศิลป์ป่วยเป็นไข้หวัด มาสอนไม่ได้ ก็มีแม่บ้านเข้ามาทำความสะอาดที่ห้องทำงานของอาจารย์พอดี มีเซียมเลยขอให้เธอเป็นแบบ ซึ่งเธอก็ตอบตกลงทันที

“เด็กคนใช้นี่ผอมแก้มโหนกเชียว แล้วซี่โครงขึ้นเห็นชัด กำลังทำความสะอาดอยู่ นึกในใจว่า ถ้าเราได้ปั้นก็น่าจะสนุกดี ก็เลยขอเขาว่า หนูมาเป็นแบบให้ฉันหน่อย ให้ค่าจ้างนั่ง 15 บาท เขาก็มาเป็นแบบให้ ฉันก็สนุก พอปั้น เห็นกระดูก เห็นอะไรๆ ไม่ได้ให้เขาพักเลย 3 ชั่วโมง เขาก็เป็นลม พอวันหลังที่ต้องเรียนที่ศิลปากรก็เอาวิตามินไปให้เขากินจะได้ทนหน่อย แล้วก็บอกกับแบบว่า เมื่อไหร่เหนื่อยให้บอกนะ เวลาฉันปั้นแล้วก็จะลืมไปว่าคนนี้เป็นแบบ

“ผ่านมาอาทิตย์หนึ่ง ศีรษะนั้นเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ไม่เหมือนกับหุ่นเลยแม้แต่นิดเดียว แต่เปี่ยมไปด้วยชีวิต รู้สึกว่ามันไม่ตาย เพราะเวลาปั้นไปก็คุยกับเขาไปด้วย และฉันเองก็รู้สึกพึงพอใจกับความสำเร็จครั้งนี้.. ฉันรักสิ่งที่ท้าทายใหม่ๆ และมักคลั่งไคล้ในสิ่งที่ทำได้ยากๆ เมื่อเทียบกับการเขียนภาพแล้ว การปั้นรูปซึ่งมีถึง 3 มิติ ช่างชวนพิศวง จนกลายเป็นความหลงใหลใฝ่ฝันที่ครอบงำชีวิตจิตใจของฉัน”

มีเซียมปั้นไปประมาณ 20-30 หน้าเห็นจะได้ กระทั่งอาจารย์ศิลป์หายป่วย เมื่อเห็นผลงานของศิษย์นอกห้องเรียนวัยเกือบ 50 เลยบอกว่า ต่อไปไม่ต้องก๊อปปี้จากแบบอีกแล้ว ปั้นโดยใช้แบบคนจริงๆ ก็ได้ แล้วก็ไม่ต้องมาปั้นต่อหน้าอาจารย์ ให้กลับไปปั้นที่บ้าน ถ้าติดอะไรก็ให้มาถามแล้วกัน

อาจารย์ศิลป์ดูแลศิษย์คนนี้แบบใกล้ชิด เช่นครั้งหนึ่งมีเซียมหายหน้าไป 2-3 อาทิตย์เพราะต้องฝึกซ้อมกอล์ฟเพื่อเข้าแข่งขัน เมื่ออาจารย์โทรศัพท์ไปหาและทราบเหตุผล ก็พูดด้วยเสียงอันกราดเกรี้ยวว่า “เธอเห็นกอล์ฟสำคัญกว่าศิลปะอย่างนั้นหรือ ถ้าพระเจ้าประทานพรสวรรค์แก่เธอแล้ว แต่เธอกลับไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ เธอบิดเบือนพรของพระเจ้า เธอกำลังทำบาปนะ ครูหวังในตัวเธอไว้มาก แต่เธอก็ทำให้ครูผิดหวัง เธอไม่สมควรจะได้รับความสำเร็จ” จากนั้นก็วางสายทันที นับแต่นั้นเธอก็ไม่เคยร่วมแข่งกอล์ฟอีกเลย และกลับมากระตือรือร้นเรื่องงานศิลปะ

มีเซียมปั้นผลงานออกมานับร้อยชิ้น ทั้งแบบเฉพาะหัว แบบครึ่งตัว แบบเต็มตัว ค่อยๆ เรียนรู้เรื่องสรีรวิทยาจากการสังเกต จนมีงานเด่นๆ ออกมาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะชุดที่เกี่ยวกับแม่และเด็ก เนื่องจากตอนนั้นลูกสะใภ้เพิ่งคลอดหลานคนแรก

จุดเด่นในงานของมีเซียมคือ เธอสามารถถ่ายทอดอารมณ์และชีวิตออกมาได้อย่างชัดเจน เช่นรูปปั้นผู้หญิงผอมโซน่าสงสารก็มาจากคนรับใช้ในบ้าน หรือแม้แต่ผลงานชุด ‘วิปโยค’ ซึ่งสร้างขึ้นจากความเศร้าหลังสูญเสียสามีสุดที่รัก ยิบอินซอย และบุตรสาวคนเล็ก ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

“สำหรับดิฉันแล้ว ความรู้สึกในระหว่างที่ได้สร้างงานศิลปะ ก็เสมือนได้ทำวิปัสสนา และสตูดิโอก็คือสถานที่สำหรับปฏิบัติธรรมนั่นเอง”

กระทั่งวันหนึ่งก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อมีเซียมประสบอุบัติเหตุหกล้ม จนนิ้วหัวแม่มือขวาหัก ต้องหยุดปั้นไป 2 ปี แต่เธอก็ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ และหันไปเริ่มทำศิลปะด้วยเหล็ก เป็นประติมากรรมแบบแอบสแตรกต์อาร์ต ซึ่งเธอก็ทำออกมาได้ดีไม่แพ้กัน

มีเซียมเคยสรุปว่า ความสำเร็จทั้งหมดเกิดขึ้นได้ หาใช่พรสวรรค์อย่างเดียว แต่มาจากความอดทนและความเมตตาของครูทั้งสองคน คือ มร.ซาโตมิ ที่ยอมตามใจและเข้าใจเธอ กับอาจารย์ศิลป์ ที่เปี่ยมด้วยพลังและความเด็ดเดี่ยว

“ท่านทั้งสองได้ปั้นชีวิตศิลปินของฉัน ท่านได้ปั้นฉันให้เป็นอย่างทุกวันนี้ ‘อย่ายอมให้เหตุผลครอบงำอารมณ์ ศิลปะนั้นเป็นความนึกคิดของจิตใจ หาใช่ทฤษฎีไม่ เดินตามดวงดาวของเธอไป สู่จุดหมายปลายทางอร่ามเรือง’ ข้อความนี้อาจารย์ศิลป์ส่งมาให้ฉัน ในวาระที่จัดแสดงผลงานครั้งแรก ถ้อยคำทั้งมวลนี้จารึกอยู่ในหัวใจฉันตลอดมา”

ความรู้สึกในระหว่างที่ได้สร้างงานศิลปะ ก็เสมือนได้ทำวิปัสสนา และสตูดิโอก็คือสถานที่สำหรับปฏิบัติธรรมนั่นเอง

มีเซียม ยิบอินซอย : จากแม่บ้านวัย 42 สู่ศิลปินแถวหน้าของเมืองไทย

สวนศิลป์มีเซียม

หลังอาจารย์ศิลป์จากโลกนี้ไปอย่างกะทันหัน เมื่อปี 2505 มีเซียมยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่อง วันละอย่างน้อย 7 ชั่วโมง

ผลงานเด่นๆ ของเธอมีตั้งแต่รูปปั้นชุดความต่อเนื่อง ที่พระตำหนักดอยตุง เป็นรูปเด็ก 17 คนต่อตัวขึ้นไปบนอากาศ, รูปปั้นชุดเสียงอีสาน ซึ่งเป็นรูปคนเป่าแคน สะท้อนวัฒนธรรมของชาวอีสาน

นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นบุคคลสำคัญ อาทิ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, พญ.คุณเพียร เวชบุล นักสังคมสงเคราะห์ที่ช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กสาวที่ท้องก่อนวัยอันควร, อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยร่วมก่อตั้งหอศิลป์ พีระศรี ด้วยกัน และ แม่ชีเมี้ยน โยมอาของหลวงพ่อจำรูญ ปานจันทร์ แห่งวัดถ้ำกระบอก ซึ่งอยู่เบื้องหลังในการดูแลรักษาผู้ติดยาเสพติด

ต่อมาในปี 2523 มีเซียมได้เนรมิตพื้นที่กว่าร้อยไร่ที่สามพรานให้กลายเป็นพื้นที่ศิลปะ เรียกว่า ‘สวนศิลป์มีเซียม ยิบอินซอย’ รวบรวมประติมากรรมนับร้อยชิ้นมาจัดแสดง พร้อมสร้างกระท่อมหลังเล็กๆ สำหรับเป็นที่พักเวลาต้องการชื่นชมความงามของงานศิลปะที่ผสมกลมกลืนกับธรรมชาติอย่างลงตัว

“ฉันเชื่อว่าประติมากรรมควรอยู่นอกบ้าน เพราะประติมากรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ และสมควรจะได้พำนักอยู่ที่ซึ่งพระเป็นเจ้าได้ประทานไว้ ด้วยเหตุนี้สวนในบ้านของฉันจึงมองดูแน่นไปด้วยรูปปั้น”

มีเซียมจากไปเมื่อปี 2531 ด้วยวัย 82 ปี โดยไม่เคยหยุดทำงาน จึงไม่แปลกที่อาจมีงานบางชิ้นที่ยังคั่งค้างอยู่ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญเลยเมื่อเทียบกับแรงบันดาลใจที่เธอได้ฝากไว้ว่า คนเราสามารถก้าวจากข้อจำกัดใดๆ หากมีความทุ่มเทและตั้งใจอย่างแท้จริง

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสือ มีเซียม ยิบอินซอย / Misiem Yipintsoi : retrospective 1949-1976
  • หนังสือ สวนศิลป มีเซียม ยิบอินซอย / มีเซียม ยิบอินซอย
  • หนังสือ คือแพทย์ผู้ให้ด้วยหัวใจ : ธาดา ยิบอินซอย โดย สันติสุข โสภณสิริ
  • นิตยสารศิลปากร ปีที่ 30 ฉบับที่ 6 มกราคม 2530
  • นิตยสารลลนา ฉบับที่ 99 ปักษ์หลังเดือนกุมภาพันธ์ 2520
  • นิตยสารบานไม่รู้โรย ปีที่ 4 ฉบับที่ 3 เมษายน 2531

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.