เราเชื่อเหลือเกินว่าคุณคงไม่รู้จักผู้หญิงคนนี้!!
แต่ครั้งหนึ่งเธอคนนี้เคยได้ชื่อว่าแม่พระของเมืองไทย
เธอเป็นผู้ต่อสู้เรื่องโสเภณีคนแรกๆ ของคนไทย จนเกิดบ้านตระการตา แหล่งช่วยเหลือโสเภณีแบบครบวงจร
เธอเป็นผู้อุปการะเด็กกำพร้ามากกว่า 1,000 ชีวิต จนเกิดพีรานุเคราะห์ สถานสงเคราะห์เด็กด้อยโอกาส
หลายคนบอกว่า ชีวิตของผู้หญิงคนนี้เต็มไปด้วยวีรกรรมโลดโผนมากมาย ถึงขั้นมีผู้กล่าวว่าน่าจะนำไปทำละครโทรทัศน์
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอแนะนำหญิงแกร่งแห่งยุค 2500 ต้นๆ แพทย์หญิง คุณเพียร เวชบุล ผู้พลิกฟื้นชีวิตของผู้ด้อยโอกาสนับไม่ถ้วน
คุณอาจเคยได้ยินว่า เมืองไทยอุดมไปโสเภณี เป็นดังสวรรค์ของนักท่องราตรี
ความจริงเรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดเมื่อ 20-30 ปีก่อน แต่เป็นสิ่งที่อยู่คู่เมืองพุทธแห่งนี้มานานนับศตวรรษ
ผู้หญิงไทยไม่น้อยถูกหลอกให้กลายเป็นเครื่องมือทางเพศ และอีกบางส่วนจำใจต้องทำเพราะไร้ทางเลือก
ขณะที่พวกเธอถูกสังคมรังเกียจ ดูถูกประณามเหยียดหยาม ผู้หญิงคนหนึ่งกลับกล้าลุกขึ้นมายืนเคียงและคอยช่วยเหลือให้พวกเธอพ้นจากขุมนรก เธอชื่อ เพียร เวชบุล
ย้อนกลับไปสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในกรุงเทพฯ บริเวณสวนกล้วย ตรงทางโค้งของถนนจักรพรรดิพงษ์ มีตรอกไปออกยังข้างวัดแค เป็นที่รู้จักกันดีว่าที่นี่คือย่านโคมแดงหรือซ่องโสเภณี อันดับต้นๆ ของประเทศ
นอกจากสร้างความสุขแก่ผู้ชายมากหน้าหลายตาแล้ว ที่นี่ยังเป็นโรงเรียนเปิดซิงที่หนุ่มด้อยประสบการณ์ต้องมาลองสักครั้ง ว่ากันว่าเมืองไทยยุคนั้นมีโสเภณีมากถึง 20,000 คน
หมอเพียร แพทย์หญิงคนที่ 2 ของเมืองไทย ซึ่งเวลานั้นเพิ่งข้ามน้ำข้ามทะเลจากฝรั่งเศส กลับมารับราชการอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข จึงมีโอกาสได้สัมผัสกับปัญหานี้โดยตรง
หมอเพียรพบว่าโสเภณีล้นเมืองส่วนหนึ่งเป็นเพราะถูกหลอกลวง เด็กชนบทจำนวนมากถูกบังคับให้ค้าประเวณีเพราะคำโกหกว่าจะช่วยมาหางานทำในเมืองบ้าง จะเลี้ยงดูเป็นลูกเป็นเมียบ้าง บางคนก็ถูกปัญหาสังคมผลักดันเข้ามา เช่นเคยถูกข่มขืนกระทำชำเรา ถูกสามีทอดทิ้งไปมีภรรยาใหม่ บางคนก็เป็นเด็กกำพร้าที่ถูกขับไล่ออกมาจากบ้าน ผู้ปกครองละเลย และพอมาอยู่ในระบบโสเภณีก็ยังถูกบรรดาแมงดาบังคับข่มขู่สารพัด
หมอเพียรพยายามหาทางช่วยเหลือ โดยเริ่มแรกใช้เงินทุนส่วนตัวรักษากามโรค ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตในหมู่หญิงค้าบริการ รวมถึงลงทุนเรียนยูโดแล้วปลอมตัวเข้าไปในซ่องเพื่อไปฉีดยาให้และชักชวนให้เลิกอาชีพ
การต่อสู้ของหมอเพียรไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะหลายครั้งที่เธอถูกพวกแมงดาข่มขู่ จับโยนออกมาจากซ่อง แต่หมอก็ไม่เคยท้อ ด้วยถือว่านี่คือภารกิจสำคัญที่ต้องทำเพื่อชาติ!!
“โสเภณีเป็นบ่อเพาะเชื้อกามโรค ทำลายเศรษฐกิจและคุณภาพของชาติ คนไทยเดี๋ยวนี้บ๊องๆ กันเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะส่วนหนึ่งได้รับเชื้อซิฟิลิสมาจากพ่อแม่ ตรวจเลือดผู้หญิงไทยเวลาตั้งครรภ์ มีเลือดบวกถึง 80% น่ากลัวมาก ถ้าปล่อยเอาไว้อย่างนี้ เมืองไทยจะกลายเป็นมีแต่คนบ๊องๆ กันทั้งเมือง เมืองที่ปกครองโดยคนบ๊องๆ จะเป็นยังไงก็คิดกันเอาเอง”
ปัญหาหนึ่งที่หมอเพียรสัมผัสมาตลอดคือ ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายกับหญิง
กว่าหมอเพียรจะเป็นหมอได้สำเร็จ บอกเลยว่าไม่ใช่ง่าย ลองคิดดูในสมัย ร.5-6 เมืองไทยมีสตรีที่เป็นผู้นำกี่คน
อย่างหมอเพียร พอเรียนจบมัธยมก็หวังที่เรียนต่อโรงเรียนแพทย์ศิริราช แต่กลับถูกปฏิเสธ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าไม่เคยมีผู้หญิงเป็นแพทย์มาก่อน
(แพทย์หญิงคนแรกคือ คุณหญิงลิน ศรีวิสารวาจา (มากาเรต ลิน ซาเวียร์) จบแพทย์จากมหาวิทยาลัยลอนดอน)
หมอเพียรต้องเดินทางอ้อมไปเป็นครูอยู่ 2 ปี ก็มีโอกาสติดตามเจ้านายพระองค์หนึ่งไปฝรั่งเศส จึงมีโอกาสได้เรียนต่อแพทย์ที่มหาวิทยาลัยปารีส แต่ก็เรียนไปหยุดไป เพราะทุนทรัพย์ไม่เพียงพอ ต้องออกมาหางานทำบ้าง สอบชิงทุนบ้าง กัดฟันนานกว่า 5 ปี ถึงจะสำเร็จ จากนั้นก็หอบหิ้วใบปริญญากลับเมืองไทยทันที แม้จะมีตำแหน่งงานที่ฝรั่งเศสรออยู่ก็ตาม
เช่นเดียวกับปัญหาโสเภณีที่ส่วนใหญ่ยังมองว่า ผู้หญิงเป็นปัญหา ถึงขั้นจะตีทะเบียนกันเลยทีเดียว โดยไม่สนใจว่าพวกแมงดาคือต้นเหตุที่คอยตักตวงผลประโยชน์ความทุกข์ของคนอื่น และคอยขัดขวางไม่ให้พวกเธอเลิกอาชีพ
“แต่ที่ร้ายที่สุดก็คือ ตำรวจที่มีหน้าที่ปราบปราม กลับไปรู้เห็นเป็นใจกับพวกแมงดาเสียเอง ตำรวจอย่างนี้ก็ต้องปราบให้พันจากกรมตำรวจไปเหมือนกัน”
เพราะปัญหาที่หวังพึ่งรัฐไม่ได้นี่เอง ทำให้หมอเพียรก่อตั้งมูลนิธิสงเคราะห์สตรีบางจำพวก ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิสุขภาพสังคม เพื่อทำหน้าที่สงเคราะห์สตรีที่หวังเลิกอาชีพโสเภณี จนได้ชื่อว่าเป็น ‘แม่พระของโสเภณี’
การลงมาช่วยเหลือหญิงค้ากามที่สังคมมองว่าต่ำช้า ทำให้ญาติพี่น้องรู้สึกอับอายและกดดันให้หมอเพียรเปลี่ยนนามสกุล สมเด็จย่าจึงพระราชทานนามสกุลให้ใหม่ว่า ‘เวชบุล’
การแก้ปัญหาโสเภณีเริ่มเห็นผลมากขึ้น ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการปราบปรามอย่างจริงจัง หมอเพียรคนนี่เองที่ช่วยบุกเบิกสถานสงเคราะห์ของรัฐที่เรียกว่า ‘บ้านตระการตา’ ทำหน้าที่ครบวงจร ตั้งแต่บำบัด ฟื้นฟู พัฒนาอาชีพ โดยกว่า 80% ของผู้ที่ผ่านบ้านนี้เลิกอาชีพโสเภณีเด็ดขาด หลายๆ คนก็ได้แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น
ต่อมาในปี 2512 หมอเพียรยังกระโดดลงสนามการเมือง โดยมีบรรดาหมอนวด โสเภณี เป็นกองเชียร์ แต่น่าเสียดายที่การเมืองยุคนั้นยังไม่ยอมรับท่าน หมอเพียรก็เลยสอบตกไปตามระเบียบ ไม่เช่นนั้นเราอาจจะเห็นสภาพของสังคมไทยในเรื่องนี้ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน
นอกจากจะเป็นหมอคนแรกและคนเดียวของเมืองไทยยุคนั้น ที่สนใจเรื่องโสเภณีและกามโรคอย่างจริงจังแล้ว
อีกเรื่องหนึ่งที่หมอเพียรทำมาตลอดก็คือ ปัญหาวัยรุ่นท้องก่อนแต่ง และเด็กกำพร้า
ความจริงปัญหาเด็กกำพร้าก็สืบเนื่องมาจากปัญหาโสเภณี หลายคนพอมีลูกก็ทิ้งขวางไม่สนใจ บางคนไม่มีกำลังที่จะเลี้ยง จนหมอเพียรต้องยื่นมือเข้าไปช่วย
แต่กรณีที่ฝังใจหมอเพียรมากที่สุด ครั้งนั้นมีลูกสาวคหบดีผู้หนึ่งตั้งครรภ์แบบไม่ตั้งใจ จึงมาปรึกษาหมอเพียรว่าอยากทำแท้ง หมอเพียรเห็นว่าการทำแท้งเป็นบาป ควรจะเก็บเด็กไว้ แต่หลังกลับบ้าน เด็กสาวนำเรื่องไปบอกแม่ กลับถูกดุด่าอย่างรุนแรง เธอน้อยใจจนดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย เมื่อหมอเพียรรู้ข่าวก็รีบพาเด็กสาวไปโรงพยาบาล แต่สายไปแล้ว เด็กคนนั้นตายคาอ้อมอกของหมอเพียร
หมอเพียรไม่อยากให้ใครต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้อีก จึงสร้างเรือนหลังเล็กๆ บริเวณย่านพลับพลาไชย ก่อนที่จะโยกย้ายมาอยู่ที่ถนนสาทร ติดกับโรงพยาบาลบางรัก เพื่อรับเลี้ยงเด็กกำพร้า และเด็กที่เกิดนอกสมรส รวมทั้งเป็นที่พึ่งพิงของแม่ผู้ผิดพลาด แม่ผู้ตั้งท้องโดยไม่ได้ตั้งใจสามารถมาขออาศัยอยู่ที่นี่ได้ชั่วคราว หากคลอดแล้วไม่มีกำลังจะเลี้ยงดูก็สามารถยกลูกให้หมอช่วยดูแล ส่วนตนเองก็กลับไปศึกษาต่อได้
สถานที่พักพิงแห่งนี้ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร อดีตประธานองคมนตรี ประทานนามว่า ‘พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ’
แน่นอนยุคนี้หลายคนคงมองสิ่งที่หมอเพียรทำเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ถ้าสมัยนั้น นี่อาจเป็นทางออกเดียวที่จะช่วยเหลือผู้หญิงกลุ่มนี้ให้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้
ทว่าการทำแบบนี้สิ่งที่ตามมาคือ ค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล ช่วงแรกๆ ก็ใช้ทุนของตัวเอง แต่พอเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มรับภาระไม่ไหว จนได้รับเงินช่วยเหลือจนมูลนิธิหนึ่งในต่างประเทศ
แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะเมื่อปี 2507 ธนาคารออมสิน ส่งคนไปร้องศาลบังคับคดีเรียกเงิน 3,000,000 ล้านที่หมอเพียรกู้มาทำสถานสงเคราะห์ ทางจังหวัดก็เลยแนะนำให้เลิกมูลนิธิ แต่เพราะความดีของหมอ ทำให้เกิดกระแสในหมู่ประชาชนที่ช่วยกันบริจาคเงิน สามารถปลดหนี้ได้สำเร็จ
ร้ายที่สุดก็คือ ตำรวจที่มีหน้าที่ปราบปราม กลับไปรู้เห็นเป็นใจกับพวกแมงดาเสียเอง ตำรวจอย่างนี้ก็ต้องปราบให้พันจากกรมตำรวจไปเหมือนกัน
แม้จะเป็นนามสกุลที่เพิ่งตั้ง แต่เชื่อหรือไม่ว่า ครั้งหนึ่งเคยมีคนใช้นามสกุล เวชบุล มากถึง 4,000 คน
เพราะทั้งหมดล้วนเป็นเด็กกำพร้าที่พ่อแม่ไม่ต้องการแล้ว แต่โชคดีที่พวกเขายังเป็นหมอเพียรรับเป็นแม่ และให้ใช้นามสกุลเดียวกับหมอทุกคน หมอมอบทั้งความรัก มอบทั้งโอกาสในชีวิต ส่งเสียให้เรียนจบสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
หมอเคยบอกว่า “อย่าประมาทเด็กไทยว่ามีปัญญาเลว เด็กจากพีระยานุเคราะห์ที่ถูกทิ้งขว้างแต่เล็กๆ นี้ เรียนอะไรได้สำเร็จยิ่งกว่าเด็กๆ ที่มีพ่อแม่พร้อมหน้า เด็กจากที่นี่ไปเรียนต่อเมืองนอกและสอบได้ที่ดีๆ เสียด้วย”
จากความเชื่อในวันนั้นถูกพิสูจน์แล้วในวันนี้ เด็กบางคนเติบโตเป็นครู พยาบาล ช่างภาพ พ่อครัว นักบัญชี และอีกไม่น้อยที่ย้อนกลับมาสืบสานปณิธานของผู้เป็นแม่
เช่นเดียวกับชีวิตของหมอเพียรที่มีผู้ขอชีวประวัติของท่านไปถ่ายทอดออกเป็นภาพยนตร์ฮอลลิวูด หรือแม้แต่นิตยสาร Reader Digest ก็ยังนำเสนอเรื่องราวของหมอเพียรจนโด่งดังไปทั่วโลก
แม้วันนี้หมอเพียรจะเป็นเพียงตำนานที่หลายคนอาจหลงลืมไปแล้ว หากแต่การทุ่มเทแรงใจ แรงกาย ตลอด 40 กว่าปี ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคน พยายามสู้ต่อไป เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิมให้เกิดขึ้น
ฝันอันยิ่งใหญ่ของเจ้าชายหนุ่มที่ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อการสร้างโรงพยาบาลศิริราช ให้สามารถเป็นที่พึ่งของคนไทยได้อย่างแท้จริง
เรื่องราวของอาจารย์หมอจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้เปิดคลินิกราคาคนไข้ในราคาย่อมเยา
เรื่องราวของนายแพทย์ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่อยากจะสร้างยารักษามะเร็งให้คนไทย
ครู ผู้สร้างบทเรียนในความทรงจำของคนไทยมากมาย
หมอเพียร แม่พระเมืองไทย เจ้าของนามสกุลที่มอบให้เด็กกำพร้านับร้อยชีวิต
ย้อนเรื่องราวของตำนานแพทย์ ผู้บุกเบิกงานระบาดวิทยา จนนำไปสู่การควบคุมโรคระบาดในเมืองไทยอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.