Arunachalam Muruganantham : ชายผู้ปฏิวัติวงการ ‘ผ้าอนามัย’ ในอินเดีย

<< แชร์บทความนี้

อินเดียเคยเป็นประเทศหนึ่งที่มีปัญหาผ้าอนามัย เลวร้ายที่สุดในโลก

ผ้าอนามัยแดนภารตะราคาห่อละ 200 บาท นับว่าแพงมากเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำคือ 150 บาท มีการเก็บภาษีสูงถึง 12% เพราะรัฐบาลมองเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย

ผู้หญิงอินเดียนับล้านๆ คนจึงไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย และต้องหันไปพึ่งพาผ้าหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ซับเลือดประจำเดือนแทน

ขณะเดียวกันความรู้เรื่องสุขอนามัยก็จำกัดมาก ผู้ชายไม่น้อยยังคิดว่าประจำเดือนเป็นโรคชนิดหนึ่ง บางพื้นที่เชื่อว่าใช้ผ้าอนามัยแล้วจะเป็นโรคร้าย หรือหาสามีไม่ได้ 

ผู้ชายคนหนึ่งเห็นภรรยาของตนต้องทนทุกข์กับเรื่องนี้ เขาจึงลุกขึ้นมาค้นคว้าและสร้างเครื่องผลิตผ้าอนามัยคุณภาพดี ราคาถูก ให้คนทั่วไปซื้อหามาใช้ได้ ทำให้เกิดการปฏิวัติวงการผ้าอนามัยครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา จนปัจจุบันอินเดียเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัยแล้ว

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับ อรุณาจาลาม มูรูกานันธัม – Arunachalam Muruganantham ชายจากชนบทของอินเดีย การศึกษาไม่สูง แต่ใช้ความมุมานะพยายามศึกษาค้นคว้า จนสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่มีความเชื่ออย่างสุดโต่งได้สำเร็จ

แม้ในช่วงแรกเขาโดนกล่าวหาว่าเป็นพวกวิปริต หมกหมุ่นอยู่กับของสกปรก แต่ท้ายที่สุดก็พิสูจน์ให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นมีประโยชน์ต่อคนจำนวนมากจริงๆ 

เรื่องราวของอรุณาจาลามเป็นแรงบันดาลใจของผู้คนมากมาย นิตยสาร Time ยกย่องเป็น 1 ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลของโลกในปี 2014 ชีวิตของเขาได้รับการนำไปทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง Padman 

ใครจะเชื่อว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาจากจุดเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ 

นั่นคือความรักที่มีต่อภรรยา

ผู้ชายคนแรกของโลก ที่สวมผ้าอนามัย

สังคมอินเดียมีความเชื่อต่างๆ มากมาย หลายอย่างอยู่เหนือการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หนึ่งในนั้นคือการมองประจำเดือนเป็นสิ่งสกปรกและน่ารังเกียจ ทั้งที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์

คนอินเดียจึงต้องแอบซ่อนเวลาพูดถึง ‘เวลานั้นของเดือน’ ในบางพื้นที่ ผู้หญิงที่มีประจำเดือนจะถูกห้ามทำพิธีกรรมทางศาสนา ห้ามเข้าวัดวาอาราม ห้ามเข้าครัว ห้ามแม้กระทั่งนั่งร่วมกับผู้อื่น

ผ้าอนามัยก็จัดเป็นของใช้ราคาแพง องค์กร She Says เคยระบุว่าผู้หญิงอินเดียใช้ผ้าอนามัยเพียง 12% เท่านั้น ที่เหลืออีกประมาณ 300 ล้านคน ใช้วัสดุธรรมชาติแทน เช่น เศษผ้า แกลบ ทราย ข้าวเปลือก ขี้เถ้า เศษฟาง ใบไม้แห้ง หรือพลาสติก ซึ่งนอกจากไม่สะอาด เมื่อใช้แล้วพวกเธอก็ไม่กล้านำมาตากแดดให้แห้ง เป็นผลให้ผู้หญิงอินเดียจำนวนมากติดเชื้อในช่องคลอด ลุกลามไปสู่โรคร้ายต่างๆ

ในปี ค.ศ. 1998 อรุณาจาลาม หนุ่มอินเดียจากรัฐทมิฬนาฑู วัย 29 เพิ่งแต่งงานกับภรรยาชื่อ ซานตี วันหนึ่งเขาเห็นเธอพยายามซ่อนอะไรบางอย่าง เขาตกใจเมื่อรู้ว่ามันคือผ้าขี้ริ้วสกปรกๆ ที่เธอใช้ซับเลือดประจำเดือน เมื่อถามสอบถามซานตีก็บอกว่าผ้าอนามัยที่ขายตามร้านมีราคาแพง เธอและผู้หญิงคนอื่นๆ ในครอบครัวไม่มีเงินซื้อ ถ้าจะใช้หมายความว่าต้องลดเงินค่านมของครอบครัวลงแทน

“ผ้าผืนนั้นสกปรกชนิดที่ว่า ผมไม่กล้าจะเอามาเช็ดรถมอเตอร์ไซค์ของผม และเป็นครั้งแรกที่ผมรู้ว่าผ้าอนามัยเกี่ยวข้องกับค่านมในบ้านด้วย”

ด้วยความรักภรรยา อรุณาจาลามเลยไปซื้อผ้าอนามัยที่ร้านขายของชำในเมือง คนขายรีบเอามายื่นให้แบบหลบๆ ซ่อนๆ ราวกับมันเป็นของผิดกฎหมาย พอซานตีได้รับก็ดีใจมาก แต่พอเห็นราคาห่อละ 55 รูปี เธอบอกว่าไม่กล้าใช้ เพราะถ้าคนอื่นรู้เข้าจะประนามว่าเธอสิ้นเปลือง

อรุณาจาลามแกะห่อผ้าอนามัยดูเป็นครั้งแรกในชีวิต เขาพบว่าผ้าอนามัยแผ่นหนึ่งที่มีราคาถึง 5-10 รูปี หรือ 2.5-5 บาท ทำมาจากฝ้าย 10 กรัม ซึ่งมีราคาเพียง 0.1 รูปี หรือครึ่งสตางค์เท่านั้น ทำให้ยิ่งสงสัยว่าทำไมมันแพงกว่าต้นทุนวัตถุดิบถึง 50 เท่า!

เขาจึงตัดสินใจว่า จะต้องทำผ้าอนามัยดีๆ ราคาถูกให้ภรรยาใช้ให้ได้

ชายผู้เป็นคนงานโรงงาน ลองทำผ้าอนามัยขึ้นเองจากผ้าฝ้าย เขายื่นให้ซานตีและขอทราบผลลัพธ์ทันทีเพื่อนำไปปรับปรุง แต่เธอบอกว่าต้องรอเดือนหน้ากว่าจะมีประจำเดือนอีกครั้ง ดังนั้นเพื่อให้การคิดค้นสำเร็จเร็วขึ้น อรุณาจาลามจึงต้องหาอาสาสมัครทดสอบผ้าอนามัยเพิ่ม เขาติดต่อไปยังพี่สาว น้องสาว คนข้างบ้าน แต่ก็ไม่มีใครเอาด้วย ทุกคนเขินอายเกินกว่าจะยอมให้ข้อมูลที่แท้จริง

ระหว่างนั้นเขาพบว่าแทบจะไม่มีผู้หญิงคนใดในหมู่บ้านที่ใช้ผ้าอนามัยเลย ภารกิจครั้งนี้จึงไม่ใช่เพื่อภรรยาเท่านั้น แต่เขารู้สึกกำลังทำเพื่อผู้หญิงอินเดียทุกคน

ชายหนุ่มติดต่อไปยังโรงเรียนแพทย์ ขออาสาสมัครนักเรียนหญิง 20 คนช่วยทดสอบ โดยทำแบบฟอร์มให้เขียนความคิดเห็นเพื่อลดความเขินอาย แต่เมื่อรับแบบฟอร์มกลับมาก็พบว่าคำตอบทั้งหมดดูไม่น่าเชื่อถือเอาเสียเลย ทำให้อรุณาจาลามตัดสินใจจะทดสอบผ้าอนามัยด้วยตนเอง!

ถ้าโลกบันทึกชื่อ นีล อาร์มสตรอง เป็นคนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ ทุกคนก็ต้องจำชื่อผม ในฐานะผู้ชายคนแรกในโลกที่สวมผ้าอนามัย” เขากล่าวติดตลก

อรุณาจาลามสร้าง ‘มดลูกเทียม’ โดยใช้ไส้ในของลูกฟุตบอล นำเลือดแพะที่ขอจากโรงฆ่าสัตว์บรรจุลงไป และใส่สารป้องกันเลือดแข็งตัวที่ขอมาจากเพื่อนที่ทำงานในธนาคารเลือด จากนั้นนำมดลูกเทียมนี้สอดไว้ใต้เสื้อ ต่อสายปล่อยเลือดหยดลงมายังผ้าอนามัยในกางเกงเพื่อทดสอบการซึมซับ เขาสวมอุปกรณ์ทั้งหมดเดินไปมา ลองวิ่ง ขี่จักรยาน และทำสารพัดกิจกรรม

ชายหนุ่มยอมรับว่า เป็นช่วงเวลา 5 วัน ที่ไม่เคยลืม เพราะมันทั้งเลอะเทอะ เหนอะหนะและน่ารำคาญ จนอยากจะโค้งคำนับผู้หญิงทุกคนที่ทนช่วงเวลานั้นของเดือนกันได้อย่างเหลือเชื่อ

การทดลองทำให้เสื้อผ้าของเขาเปรอะเปื้อนเลือด ส่งกลิ่นเหม็น ชาวบ้านคนอื่นเห็นก็พูดต่อกันไปว่าเขาเป็นโรคทางเพศ หมกมุ่นในกาม เวลาข้ามถนนทุกคนจะเดินเลี่ยงออกไป เสียงซุบซิบนินทาดังกว้างไปเรื่อยๆ ในที่สุดภรรยาสุดที่รักของเขาทนไม่ไหว เธอจึงเก็บของและหนีออกจากบ้านไป

“ผมโดนมองว่าเป็นพวกวิปริต พระเจ้าเล่นตลกกับผม ผมเริ่มต้นทำผ้าอนามัยเพื่อภรรยา แต่หลังจากนั้น 18 เดือนเธอทิ้งผมไป”

ทว่าอรุณาจาลามไม่ล้มเลิกความพยายาม เมื่อผ้าอนามัยที่ทำขึ้นมาซึมซับได้ไม่น่าพอใจ เขาจึงมีไอเดียว่าน่าจะศึกษาจากผ้าอนามัยที่ใช้แล้วดู เขาส่งแผ่นอนามัยให้กลุ่มนักเรียนแพทย์ใช้และรวบรวมกลับมาวิเคราะห์

การศึกษาวิธีนี้ทำให้ต้องแอบทำที่หลังบ้าน และมันดูน่าสยดสยองเต็มไปด้วยมนต์ดำยิ่งนักในสังคมที่เชื่อถือไสยศาสตร์อย่างอินเดีย เมื่อแม่ของเขามาเห็น เธอก็ร้องห่มร้องไห้ เก็บข้าวของมัดใส่ส่าหรีและจากไปอีกคน ซึ่งสร้างปัญหาให้เขาอย่างมาก เพราะอรุณาจาลามต้องทำกับข้าวกินเอง

ชาวบ้านเริ่มเชื่อว่าเขาถูกวิญญาณชั่วร้ายสิง จึงพยายามจับชายหนุ่มมัดไว้แล้วพาไปรักษากับหมอผีท้องถิ่น เขาหลบหนีออกมาได้อย่างหวุดหวิด โดยตกลงว่าจะขอเป็นฝ่ายออกจากหมู่บ้านไปเอง

“ไม่น่าเชื่อว่าการทดลองที่เกิดจากความหวังดี จะทำให้ผมต้องออกมาใช้ชีวิตตามลำพัง”

ความพยายามที่ไม่ไร้ค่า

ความลับอันยิ่งใหญ่ที่อรุณาจาลามอยากรู้คือ ส่วนซึมซับของผ้าอนามัยสำเร็จรูปพวกนั้นทำจากอะไรกันแน่? แม้เขาจะส่งบางส่วนไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการและพบว่ามันเป็นฝ้าย แต่ทำไมผ้าอนามัยจากฝ้ายของเขามันไม่เวิร์ก

“ผมอยากจะถามบริษัทข้ามชาติที่ผลิตอนามัยว่าทำอย่างไร แต่มันเหมือนกับการไปเคาะประตูบริษัทโค้กและพูดว่า ‘ขอถามคุณสูตรการผลิตโค้กของคุณหน่อย’”

ตอนนั้นอรุณาจาลามใช้ภาษาอังกฤษไม่ดีนัก เขาจึงขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ของวิทยาลัย ให้เขียนจดหมายติดต่อไปยังบริษัทที่ผลิตเส้นใย โดยเขาจะช่วยทำงานบ้านเป็นค่าตอบแทน เมื่อได้พูดคุยกันผ่านโทรศัพท์ อรุณาจาลามแกล้งบอกไปว่าเขาเป็นเจ้าของโรงงานสิ่งทอแห่งหนึ่ง ที่กำลังคิดจะเปลี่ยนธุรกิจมาทำผ้าอนามัย จึงอยากจะขอตัวอย่างมาศึกษาดู

ไม่กี่สัปดาห์ถัดมามีพัสดุส่งถึงเขา แกะดูก็พบว่ามันเป็นเยื่อเซลลูโลสจากเปลือกไม้ อรุณาจาลามต้องใช้เวลาอีก 2 ปี 3 เดือน กว่าจะศึกษาพบว่ามันมีวิธีทำอย่างไร แต่อุปสรรคที่สำคัญต่อมาคือเครื่องย่อยเปลือกไม้เป็นเยื่อนี้มีราคาหลายพันดอลลาร์ ดังนั้นเขาต้องคิดค้นเพื่อสร้างขึ้นมาเองให้ได้

ผ่านมาอีกสี่ปีครึ่ง ในที่สุดชายจากรัฐทมิฬนาฑูก็ทำผ้าอนามัยของเขาสำเร็จ เมื่อปี 2006 เครื่องจักรง่ายๆ ทำด้วยไม้แต่ทรงประสิทธิภาพ มีกลไกเดียวกับเครื่องบดเนื้อสัตว์ สามารถย่อยเปลือกไม้ให้กลายเป็นเยื่อพองฟูคล้ายปุยนุ่นสำหรับทำวัสดุซึมซับผ้าอนามัย จากนั้นจะถูกส่งต่อไปห่อด้วยผ้ารูปสี่เหลี่ยม ก่อนนำไปฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต กระบวนการทั้งหมดเข้าใจได้ง่ายภายในหนึ่งชั่วโมง ทุกคนสามารถทำเองได้ที่หลังบ้าน

ตอนนั้นอรุณาจาลามไม่คิดเพียงจะผลิตผ้าอนามัยขายเท่านั้น แต่เขาอยากนำสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ไปให้กับชาวบ้านในชนบทห่างไกลเป็นคนผลิต เพื่อช่วยสร้างงานให้กับผู้หญิงยากจน ชายหนุ่มนึกถึงแม่ที่ขายทรัพย์สินไปเกือบหมดหลังจากที่พ่อของเขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน และไปสมัครงานเป็นคนงานในฟาร์มเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูลูก 4 คน แต่ค่าตอบแทนวันละ 1 ดอลลาร์ นั้นไม่เพียงพอ ตอนที่อายุได้ 14 ปี อรุณาจาลามจึงต้องออกจากโรงเรียนมาทำงาน ดังนั้นถ้าสิ่งประดิษฐ์นี้ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้หญิงในชนบทก็น่าจะดี

เมื่อสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย (Indian Institute of Technology หรือ IIT) ในกรุงมัทราสเชิญให้นำเครื่องผลิตผ้าอนามัยไปแสดง ก็มีคนตั้งคำถามว่าเครื่องของเขาจะผลิตผ้าอนามัยสู้กับบริษัทต่างชาติได้อย่างไร เขาตอบอย่างมั่นใจโดยยกตัวอย่างพ่อของตนเอง พ่อเป็นคนทอผ้าด้วยมือ แต่ก็ยังอยู่รอดได้ในเมืองที่มีโรงงานทอผ้ากว่า 400 แห่ง

เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่การแข่งขัน แต่คือการสร้างตลาดผ้าอนามัยราคาถูก ทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งยังไม่มีใครทำ

สถาบันฯ ส่งเครื่องผลิตผ้าอนามัยของเขาร่วมประกวดในงานนวัตกรรมแห่งชาติ และมันก็คว้ารางวัลชนะเลิศจากผลงานที่ส่งประกวด 943 ชิ้น เขาได้รับรางวัลจากประธานาธิบดีอินเดีย มีสื่อมวลชนเข้ามาสัมภาษณ์อย่างล้นหลาม เรื่องราวของอรุณาจาลาม ปรากฎอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร มีคนเชิญให้เขาไปบรรยายตามสถาบันต่างๆ

จากเด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน ถูกชุมชนขับไล่ วันหนึ่งเขากลายเป็นคนประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อ ทุกอย่างกลับตาลปัตร

ห้าปีถัดมา มีคนติดต่อเข้ามายังโทรศัพท์มือถือของเขา ปลายสายพูดด้วยน้ำเสียงแหบแห้ง แต่เป็นเสียงที่เขาคุ้นเคยดี

“จำฉันได้ไหม –”

ภรรยาของเขาโทรศัพท์มาเพื่อจะกล่าวขอโทษและปรับความเข้าใจ

ในที่สุดทั้งคู่ก็กลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง

ถ้าโลกบันทึกชื่อ นีล อาร์มสตรอง เป็นคนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ ทุกคนก็ต้องจำชื่อผม ในฐานะผู้ชายคนแรกในโลกที่สวมผ้าอนามัย

Arunachalam Muruganantham : ชายผู้ปฏิวัติวงการ ‘ผ้าอนามัย’ ในอินเดีย

ยอดมนุษย์..ผ้าอนามัย

.. ถ้าอเมริกามีซูเปอร์แมน แบทแมน สไปเดอร์แมน อินเดียก็มีแพดแมนคนนี้!

แพดแมน หรือมนุษย์ผ้าอนามัย ผู้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์มากกว่าซูเปอร์ฮีโร่ข้างต้นทั้งหมด

ความจริงแล้วอรุณาจาลามสามารถมีชีวิตอยู่ได้สบายๆ ถ้าเขาจดสิทธิบัตรเครื่องผลิตผ้าอนามัยราคาถูก แล้วขายให้บริษัทใหญ่ๆ เพื่อรับเงินก้อนโต แต่นั่นเป็นวิธีคิดของนักธุรกิจ ไม่ใช่วิธีคิดของคนที่เกิดมาจากครอบครัวยากจนอย่างเขา

“ผมมีความตั้งใจว่าจะทำให้อินเดีย เป็นประเทศที่ใช้ผ้าอนามัย 100% ให้ได้ในช่วงชีวิตของผม และทำให้เกิดการจ้างงานในชนบทไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านตำแหน่ง ผมไม่อยากกอบโกยกำไรจากความทุกข์ของคนอื่น ผมอยากจะให้เราพึ่งพิงกันเหมือนกับผีเสื้อที่ดูดน้ำหวานจากดอกไม้”

อรุณาจาลามใช้เวลา 18 เดือน สร้างเครื่องจักร 250 เครื่อง และนำไปยังพื้นที่ Bimaru อย่างรัฐพิหาร, รัฐอุตตรประเทศ, รัฐมัธยมประเทศ และรัฐราชสถาน ซึ่งยากจนและด้อยพัฒนาที่สุดในอินเดียตอนเหนือ ที่นี่ผู้หญิงต้องเดินเท้าเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรเพื่อตักน้ำ และในช่วงมีประจำเดือนพวกเธอจะไม่สามารถทำได้ ครอบครัวจึงลำบากมาก

ชายเจ้าของฉายาแพดแมน เชื่อว่าถ้าเขาทำสำเร็จที่นี่ ทุกที่ในอินเดียก็น่าจะทำได้ไม่ยาก

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนภายนอกจะเข้าไปในชุมชนที่อนุรักษ์นิยมสุดขั้ว การจะคุยกับผู้หญิงต้องได้รับอนุญาตจากพ่อหรือสามีก่อน และทำได้เพียงการพูดคุยโดยมีผืนผ้ากั้นไม่ให้เห็นหน้า

นอกจากนี้ยังต้องต่อสู้กับความเชื่อโบราณว่าใช้ผ้าอนามัยแล้วผู้หญิงจะตาบอด หรือไม่มีโอกาสได้แต่งงาน อย่างไรก็ตามเมื่อได้ทดลองใช้ ทุกคนก็ให้การยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ เครื่องผลิตผ้าอนามัยราคาถูกของเขาแพร่กระจายไปยัง 1,300 หมู่บ้านใน 23 จาก 29 รัฐของอินเดีย ในเวลาต่อมา

การที่ให้ผู้หญิงผลิตและขายกันเอง มีข้อดีอย่างยิ่งคือพวกเธอสามารถพูดคุยอธิบายวิธีการใช้กันได้ ซึ่งต่างจากการไปซื้อตามร้านค้าที่ผู้ขายส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย บางชุมชนที่ไม่มีเงินนำหัวหอมและมันฝรั่งมาแลกผ้าอนามัยก็มี

ลูกค้าส่วนใหญ่ของอรุณาจาลามคือองค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มสตรี เขาขายเครื่องจักรแบบขั้นที่ต้องใช้มือทำเองราคา 75,000 รูปี ถ้าเป็นเครื่องกึ่งอัตโนมัติจะราคาแพงกว่า แต่ละเครื่องสามารถผลิตผ้าอนามัยเพียงพอสำหรับผู้หญิงประมาณ 3,000 คน และทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 10 คน วันหนึ่งสามารถผลิตได้ 200-250 ชิ้น แต่ละชิ้นมีราคา 2.5 รูปี หรือ 1.25 บาท ถูกกว่าผ้าอนามัยนำเข้า 1-4 เท่า

กลุ่มที่ซื้อเครื่องจักรไป จะนำไปผลิตผ้าอนามัยและตั้งชื่อยี่ห้ออย่างไรก็ได้ตามใจพวกเธอ มันจึงเป็นสินค้าโดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิงอย่างแท้จริง และที่สำคัญที่สุด ผู้หญิงอินเดียมีผ้าอนามัยสะอาด ถูกสุขลักษณะสำหรับใช้ในแต่ละเดือนตามที่เขาตั้งใจเอาไว้

อรุณาจาลามยังเข้าไปสนับสนุนให้โรงเรียนเรียนผลิตผ้าอนามัยใช้เอง เพราะเขาได้ข้อมูลว่า เด็กผู้หญิง 23% เลิกเรียนหนังสือตั้งแต่พวกเธอมีประจำเดือน เขายังสนับสนุนให้สอนเรื่องนี้เพื่อเตรียมพร้อมตั้งแต่เด็ก โดยไม่ต้องรอให้ถึงวัยเจริญพันธุ์

ไม่เพียงในอินเดียเท่านั้น เครื่องผลิตผ้าอนามัยราคาถูกของเขาเดินทางไปทั่วโลก มี 106 ประเทศที่นำไปใช้ เช่น เคนยา ไนจีเรีย มอริเชียส ฟิลิปปินส์และบังคลาเทศ

“เรื่องประจำเดือน และผ้าอนามัยเป็นปัญหาที่คนจำนวนมากในโลกกำลังพัฒนาเผชิญอยู่ มันคงจะดีถ้าสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ช่วยผู้หญิงในประเทศอื่นๆ และทำให้เกิดการจ้างงานนับล้านตำแหน่ง”

แม้ผลงานของเขาจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ แต่อรุณาจาลามก็ยังอาศัยอยู่กับซานตีในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ขับรถจี๊ปคันเก่า

“ผมไม่ได้สะสมเงิน แต่ผมสะสมความสุขมากมาย” เขากล่าวพร้อมรอยยิ้ม

ทุกวันนี้คนในหมู่บ้านยอมรับในตัวเขาแล้ว ผู้หญิงในชุมชนมีสุขอนามัยที่ดีขึ้นมาก จากเดิมที่เคยเหนียมอายก็กล้าพูดคุยเรื่องประจำเดือนกันมากขึ้น โดยเฉพาะซานตีที่มักจะมีคนเข้ามาสอบถามอยู่เรื่อยๆ บางครั้งเธอก็นำผ้าอนามัยไปแจกและอธิบายวิธีการใช้งานให้ผู้หญิงคนอื่นๆ

อรุณาจาลามได้รับเชิญให้ไปพูดถึงการคิดค้นผ้าอนามัยของเขาทั้งในสถานศึกษา ไปจนถึงเวทีระดับนานาชาติเป็นประจำ

สิ่งที่เขาย้ำเสมอคือ จงเห็นความสำคัญของการศึกษา อย่าหยุดการเรียนรู้ แม้ว่าคุณจะไม่ได้อยู่ในโรงเรียนแล้ว

เคยมีคนถามว่าช่วงที่มีความสุขที่สุดในชีวิตคือตอนไหน – อรุณาจาลามตอบว่ามันเกิดขึ้นหลังจากเขาไปติดตั้งเครื่องจักรในหมู่บ้านห่างไกลบริเวณเชิงเทือกเขาหิมาลัย หมู่บ้านแห่งนี้ยากจนขนาดที่ไม่มีใครมีเงินพอจะส่งเด็กๆ ไปโรงเรียน

หลังจากนั้นหนึ่งปีต่อมา ผู้หญิงในหมู่บ้านโทรมาบอกว่าเธอมีเงินพอส่งลูกสาวเข้าโรงเรียน

“เครื่องจักรของผมทำสำเร็จแล้ว” เขาพูดอย่างภาคภูมิใจ

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • เว็บไซต์ BBC World News
  • เว็บไซต์ Al Jazeera
  • เว็บไซต์ The Economic Times
  • เว็บไซต์ Ted Talks
  • เว็บไซต์ KERA News
  • เว็บไซต์ Nylon Thailand
  • เพจ แม่บ้านแคชเมียร์

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.