บุญนาค ศศะภูริ : จากแรงบันดาลใจสู่ต้นแบบของพยาบาลศิริราช

<< แชร์บทความนี้

หลายคนมักบอกว่า ‘พยาบาล’ เป็นอาชีพที่ปิดทองหลังพระ

เพราะแม้จะไม่ได้เป็นผู้วินิจฉัยโรคโดยตรงเหมือนกับแพทย์ แต่ทุกการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จะขาดพยาบาลไม่ได้เป็นอันขาด

ด้วยหน้าที่หลักของพยาบาล คือการเป็นผู้ดูแล คอยประคับประคองผู้ป่วย เฝ้าสังเกตและติดตามอาการต่างๆ ของคนไข้ ตลอดจนช่วยเหลือแพทย์ กระทั่งการรักษาสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

พยาบาลแต่ละคนจึงต้องทำงานอย่างหนัก ต้องรับมือกับสถานการณ์ยากๆ ที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบและความเคร่งเครียด แถมการดูแลคนไข้ก็ไม่ใช่ดูแลเพียงร่างกาย แต่ยังต้องดูแลไปถึงหัวใจ และความรู้สึกของผู้มารับบริการ จึงนับเป็นงานที่ท้าทาย และต้องอาศัยความรักในวิชาชีพเป็นอย่างยิ่ง

เช่นเดียวกับที่โรงพยาบาลศิริราช แม้ที่นี่จะมีพยาบาลประจำการกว่า 4,000 คน แต่ปริมาณที่มากก็ไม่ได้หมายความว่า ภารกิจงานจะลดลงตามไปด้วย

เนื่องจากแต่ละปีจะมีคนไข้นับล้านชีวิตหมุนเวียนเข้ามารับการรักษาพยาบาล แถมบ่อยครั้งพวกเขายังต้องเผชิญวิกฤตต่างๆ ทั้งโรคระบาด หรืออุบัติเหตุที่ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก แต่ทุกคนก็ไม่เคยท้อถอย และเลือกที่จะปักหลัก ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ จนคว้าชัยชนะมาได้

ที่สำคัญ นอกจากการทำภารกิจตรงหน้าให้ดีที่สุดแล้ว พยาบาลที่ศิริราชยังไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง แต่เดินหน้าหาความรู้ใหม่ๆ รวมถึงสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลคนไข้ให้ดียิ่งขึ้น

แน่นอนความสำเร็จต่างๆ ย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย หากปราศจากปูชนียบุคคลทั้งหลายที่ช่วยกันวางรากฐาน ทั้งการทำงาน การใช้ชีวิต และบ่มเพาะจิตวิญญาณความเป็นพยาบาล จากรุ่นสู่รุ่น

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ขอพาทุกคนไปสัมผัสกับเรื่องราวของ บุญนาค ศศะภูริ อดีตหัวหน้าแผนกการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช หนึ่งในผู้มีส่วนสำคัญที่ช่วยยกระดับงานพยาบาลของศิริราช ให้เป็นที่พึ่งพิงของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง

เกิดมาเพื่อเป็นพยาบาล

แม้คนทั่วไปจะแทบไม่เคยได้ยินชื่อของ บุญนาค ศศะภูริ มาก่อน แต่สำหรับชาวศิริราชเมื่อหลายสิบปีก่อนแล้ว ผู้หญิงคนนี้คือ บุคคลที่บรรดาแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลต่างให้การยอมรับ ในฐานะของบุคคลต้นแบบและผู้สร้างแรงบันดาลใจ

เพราะนอกจากเธอจะรั้งตำแหน่งหัวหน้าของแผนกการพยาบาลลำดับที่ 2 แล้ว คุณบุญนาคยังสร้างผลงานที่น่าจดจำไว้มากมาย ทั้งเป็นคนแรกที่ริเริ่มการสอนสุขศึกษาให้แก่ผู้ป่วยและญาติ หาวิธีแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำของศิริราชแบบยั่งยืน จากเดิมที่เคยใช้บ่อบาดาลที่ไม่มีคุณภาพ ไปสู่การทำระบบน้ำประปาจากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร และคุณภาพชีวิตของพยาบาลให้สามารถเติบโตในวิชาชีพนี้ได้อย่างมั่นคง

แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท ดูแลผู้ป่วยเสมือนญาติพี่น้อง จนได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประเภทดีเด่นเฉพาะทาง สาขาการบริการ ประจำปี 2528

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสโน) แห่งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ยังเคยมีลายพระหัตถ์ชื่นชมว่า “คุณบุญนาคมีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี เห็นอกเห็นใจผู้อยู่ในปกครอง ให้ความอนุเคราะห์สงเคราะห์แก่ผู้น้อยสมหน้าที่ ตั้งตนเป็นเหมือนพี่สาวของเหล่าพยาบาล ตลอดจนผู้ป่วยไข้ที่เข้ามารักษาโรคอย่างทั่วถึง”

พยาบาลอาวุโสหลายๆ คน ยังยืนยันเป็นเสียงเดียวว่าคุณบุญนาค คือหัวหน้างานที่ดีที่สุดในชีวิต เพราะนอกจากมอบความเมตตากรุณาให้แล้ว อดีตหัวหน้าคนนี้ยังยึดหลักทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เพื่อที่ทุกคนจะมีหลักในการดูแลคนไข้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งหลายคนก็ยังคงจดจำ และถือปฏิบัติเรื่อยมา จนกระทั่งวันสุดท้ายในอาชีพราชการ

แม้ไม่ปรากฏแน่ชัดว่า อะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้สาวน้อยเมืองปากน้ำผู้นี้เลือกเดินบนเส้นทางสายพยาบาล ด้วยการสมัครเป็นนักเรียนโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย รุ่นที่ 43 เมื่อปี พ.ศ. 2489 แต่หากใครที่มีโอกาสได้สัมผัสหรือใกล้ชิดก็มักจะยกย่องว่า เธอเกิดมาเพื่อเป็นพยาบาลอย่างแท้จริง

ช่วงที่เรียนอยู่นั้น เธอได้รับเลือกจากอาจารย์ให้เป็นรองหัวหน้าชั้น เนื่องจากมีระเบียบวินัย และความเป็นผู้นำสูง แต่ขณะเดียวกันก็ยังเปี่ยมด้วยความโอบอ้อมอารี ไม่เคยแสดงอาการโกรธ หรือไม่พอใจใครเลย รวมทั้งพร้อมจะช่วยเหลือทุกคนตลอดเวลา จนเป็นที่รักของคนรอบข้างเสมอมา

เมื่อเรียนจบ ก็เริ่มมาทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ในแผนกวิชารังสีวิทยา ภายใต้การดูแลของ ศาสตราจารย์ นพ.อำนวย เสมรสุต ซึ่งแม้จะมีภารกิจอันหนักหน่วงอย่างการรับมือกับคนไข้โรคมะเร็ง แต่เธอยังไม่เคยปริปากว่าเหนื่อยเลยสักครั้ง ยังคงตั้งใจเดินหน้าทำงานอย่างตั้งใจ 

ที่สำคัญเธอยังพร้อมยื่นมือช่วยเหลือคนไข้อย่างเต็มที่ แม้หลายครั้งจะไม่ใช่หน้าที่โดยตรงก็ตาม อย่างเช่น การประสานหาที่พักสำหรับคนไข้ที่อยู่ในระยะพักฟื้น เพราะต้องยอมรับว่า สมัยนั้นการรักษามะเร็งในเมืองไทยยังไม่แพร่หลาย คนไข้จากต่างจังหวัดจึงต้องเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่พอรักษาเรียบร้อยแล้วจะให้นอนพักที่โรงพยาบาลต่อก็คงลำบาก เนื่องจากเตียงมีจำกัด ด้วยความสงสาร คุณบุญนาคจึงรับหน้าที่เป็นตัวกลางคอยติดต่อขอความอนุเคราะห์จากเจ้าอาวาสวัดรอบๆ ข้าง เพื่อให้ผู้ป่วย รวมถึงญาติพี่น้องได้พักอาศัยชั่วคราว

ต่อมาเมื่อ อาจารย์อำนวยกับคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต ภรรยา ก่อตั้งสมาคมต่อต้านโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นสถานที่พักฟื้นของคนไข้ คุณบุญนาคก็รับอาสามาช่วยดูแลคนไข้ ตลอดจนระดมทุนจากญาติสนิทมิตรสหาย เพื่อมาช่วยขับเคลื่อนงานของสมาคมฯ

จากความขยันขันแข็ง และความทุ่มเทอันโดดเด่นนี่เอง ทำให้เธอได้รับทุนโคลัมโบ ไปศึกษาต่อวิชาการพยาบาล ผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาด้วยรังสี ณ ประเทศออสเตรเลีย ก่อนที่จะกลับมารับตำแหน่งเป็นหัวหน้าหอผู้ป่วยตึกอายุรกรรม และหอผู้ป่วยพิเศษ จากนั้นก็เลื่อนตำแหน่งมาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้เป็นหัวหน้าพยาบาลประจำแผนกการพยาบาล สาขาการพยาบาลอายุรศาสตร์และจิตเวชศาสตร์

พี่สาวของเหล่าพยาบาลศิริราช

หากถามถึงความแตกต่างของคุณบุญนาคเมื่อเทียบกับพยาบาลคนอื่นๆ สิ่งแรกที่ชัดเจนมากคือ วิธีอบรมพยาบาลรุ่นน้องๆ

เพราะสมัยก่อน เวลาพยาบาลอาวุโสหลายท่านสอนงาน มักใช้วิธีดุ หรือสั่งการอย่างเฉียบขาด แต่สำหรับหัวหน้าบุญนาคแล้ว เธอมักจะพูดคุยกับทุกคนด้วยน้ำเสียงเมตตา ไพเราะ ไม่เคยว่ากล่าวหรือตำหนิใครเลย แถมบ่อยครั้งยังลงมือปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง ทำให้ทุกคนเรียนรู้ได้ถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น จนกลายเป็นความผูกพันและสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว

อย่างเช่น คุณดวงจันทร์ ทิพย์ปรีชา อดีตหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งคุ้นเคยกับคุณบุญนาคมาตั้งแต่เริ่มทำงาน เล่าว่า “สมัยนั้นพยาบาลต้องทำทุกอย่างเองหมด ทั้งการสวนปัสสาวะ เจาะเลือด ให้น้ำเกลือ ตอนนั้นเรายังเป็นเด็กๆ ประสบการณ์ยังน้อย ก็ทำไปตามเรื่องตามราว แต่พี่บุญนาคจะมาช่วยสอนว่า ต้องทำแบบนี้นะ คือแกเป็นหัวหน้าที่เราเห็นแล้วไม่ได้รู้สึกกลัวลนลาน กล้าที่จะเข้าใกล้หรือพูดเล่น แล้วทุกปีพอถึงวันเกิดแกก็จะจัดเลี้ยงที่บ้าน พวกเราก็จะไปร่วมชุมนุมกัน”

เช่นเดียวกับ คุณกิตติวราห์ เศรษฐบุตร อดีตผู้ตรวจการพยาบาล ระดับ 8 โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งย้ำว่า คุณบุญนาคเป็นคนที่ละเอียดลออ อ่อนน้อมถ่อมตน มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี พูดจากับคนไข้ด้วยรอยยิ้ม ไม่เคยตั้งข้อรังเกียจแม้จะยากดีมีจนเพียงใด

ที่สำคัญคือ พร้อมจะถ่ายทอดความรู้ทุกอย่างให้แก่ลูกน้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐาน หลักที่ควรปฏิบัติหรือควรระมัดระวัง โดยเฉพาะคนไข้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความใส่ใจและความพิถีพิถันมากเป็นพิเศษ 

“พี่บุญนาคจะสอนตั้งแต่เรื่องการสระผมเลยว่าต้องสระอย่างไร หรืออย่างเวลาเช็ดตัว พี่บุญนาคจะไม่ใช่แค่เช็ดมือเช็ดเท้าเท่านั้น แต่จะให้แช่มือแช่เท้าไปเลย ซึ่งข้อดีคือ ทำให้คนไข้รู้สึกเหมือนตัวเองได้อาบน้ำ แล้วเขาจะรู้สึกโล่ง สบาย พูดง่ายๆ คือทุกซอกทุกมุมในร่างกายของคนไข้นั้นต้องดูแลอย่างดี” คุณเดือนน้อย ใบคำ อดีตผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งทำงานกับคุณบุญนาคตั้งแต่เรียนจบช่วยอธิบายเสริม

นอกจากนี้ คุณบุญนาคยังนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ มาผสมผสานกับงานพยาบาล เนื่องจากภารกิจหน้าที่ของพยาบาลนั้นเต็มไปด้วยความกดดัน เพราะบางทีหอผู้ป่วยหนึ่งมีคนไข้มากกว่า 40-50 คน แต่กลับมีพยาบาลทำงานเพียง 2 คน ทุกคนจึงต่างทำงานด้วยความเครียด จนบางครั้งก็เผลอพูดไม่ดีกับคนไข้ แต่เมื่อนำหลักศาสนาเข้ามาปรับใช้ แต่ละคนก็เริ่มมีจิตใจที่อ่อนโยน ระงับอารมณ์ของตัวเองได้ และทำให้บรรยากาศในหอผู้ป่วยดีขึ้นตามไปด้วย

อย่างประโยคหนึ่งที่คุณบุญนาคเคยเอ่ยกับลูกน้องคือ “น้องรู้ไหม ทำงานนี้นอกจากเราจะได้เงินเดือนแล้ว ยังได้บุญอีกต่างหาก” ซึ่งช่วยสร้างทัศนคติในการทำงานที่ดี และยังปลุกพลังให้มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับภารกิจที่หนักหน่วงต่อไปด้วย

ด้วยแนวคิดการบริหารคนที่ใช้หัวใจนำทาง ได้หลอมรวมกลายเป็นจิตวิญญาณในการบริการประชาชนแก่พยาบาลในศิริราชเรื่อยมา และที่สำคัญยังทำให้ชื่อของคุณบุญนาคเข้าไปอยู่ในใจและความทรงจำของใครมากมาย

เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อมีการซาวเสียงหาหัวหน้าแผนกการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราชคนใหม่ในปี 2525 คุณบุญนาคจึงได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น และกลายเป็นผู้นำของเหล่าพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล และเจ้าหน้าที่ต่างๆ รวมแล้วกว่า 3,000 คน ยาวนานถึง 5 ปีเต็ม

ฝันอันยิ่งใหญ่ของหัวหน้าพยาบาล

คุณบุญนาคถือเป็นหัวหน้าแผนกการพยาบาลคนที่ 2 ของโรงพยาบาลศิริราช 

เพราะเดิมทีพยาบาลทั้งหมดล้วนสังกัดอยู่ในโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กระทั่งปี 2515 จึงได้ยกฐานะโรงเรียนขึ้นมาเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมแยกงานบริการมาเป็นแผนกการพยาบาล ในสังกัดของโรงพยาบาลศิริราช โดยมีคุณอุทิศ ศุขะทัต รับหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกคนแรก

ในสมัยที่คุณบุญนาครับตำแหน่ง ถือเป็นอีกช่วงที่งานพยาบาลของโรงพยาบาลนั้นเฟื่องฟูมาก เธอเป็นหัวหน้าที่แพทย์พยาบาลสามารถเข้าพบได้ทุกเวลา และเต็มไปด้วยโครงการที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการต่างๆ ของพยาบาล อย่างในหอพักก็จะมีห้องเสริมสวย ห้องเสื้อ ร้านอาหาร ริเริ่มการกีฬา นันทนาการ ฌาปนกิจสงเคราะห์แก่เจ้าหน้าที่

รวมถึงประสานงานและระดมทุน ขอใช้ที่ดินของกรมธนารักษ์ ในแขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน มาจัดสร้างเป็นหอพักพยาบาล เพื่อความสะดวกในการเดินทางมาทำงานของผู้ปฏิบัติงานทุกคน 

หากแต่เรื่องที่คุณบุญนาคให้ความสำคัญมากที่สุด คือ การศึกษา

ด้วยความรู้จะช่วยทำให้พยาบาลแต่ละคนพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ ดังนั้นเธอจึงเปิดสนับสนุนให้พยาบาลมีการศึกษาที่สูงขึ้น ตั้งแต่การจัดระบบการลาศึกษา ดูงานของพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาลให้เหมาะสมและจำเป็น และไม่กระทบต่อการทำงาน จนกระทั่งมีผู้ที่สำเร็จวุฒิปริญญาตรีและปริญญาโทมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนริเริ่มจัดอบรมภายในแผนก ตั้งแต่เรื่องทั่วไป อย่างเช่น ศิลปะการพูดในที่ชุมชน ภาษาต่างประเทศ ไปจนถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ตลอดจนเน้นย้ำหน้าที่ของพยาบาลให้ชัดเจนขึ้นว่า สิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

“แรกๆ ไม่มีใครกล้าสอนกันหรอก เพราะกลัวตัวเองผิด พี่บุญนาคจึงลงมือสอนเอง ทั้งแนวทางทฤษฎีและปฏิบัติ อย่างเรื่องการดูดเสมหะ พี่เขาจะสอนให้เรากลั้นหายใจไปด้วย ถ้าเราทนไม่ไหว คนไข้ก็ทนไม่ไหวเหมือนกัน คือแกจะมีวิธีเปรียบเทียบเล็กๆ น้อยๆ ให้เราจำ หรือการสวนปัสสาวะ พี่เขาบอกว่า เราต้องนึกถึงตัวเองด้วย เพราะเวลาสวนมันจะเจ็บ จึงต้องทำด้วยความนุ่มนวล แล้วก็อย่าลืมใส่ยาชาที่เป็นเจลลีด้วย และข้อสำคัญคือ ดูเรื่องอุจจาระคนไข้ด้วย ถ้าไม่ได้ถ่ายเกิน 2 วัน ให้สวน เพราะหากอุจจาระเต็มท้องจะทำให้ร่างกายได้รับผลกระทบไปด้วย” คุณดวงจันทร์อธิบาย

ทั้งหมดนี้ได้กลายเป็นภูมิความรู้ที่ติดตัวพยาบาลศิริราช และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมา

และไม่เฉพาะพยาบาลเท่านั้นที่ให้ความเคารพ แม้แต่อาจารย์แพทย์หลายท่านก็ยังให้ความนับถือ เนื่องจากเธอมีภาวะผู้นำสูงมาก ใส่ใจและพร้อมจะสนับสนุนทุกคน แม้จะยากลำบากเพียงใดก็ตาม

อย่างเรื่องหนึ่งก็ที่ทุกคนสัมผัสได้ก็คือ การมอบรางวัล มอบโล่เกียรติยศให้แก่ผู้ที่มีผลงานดีเด่นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นกำลังใจให้คนแก่ทำงาน รวมถึงเสนอความดีความชอบแก่ลูกน้องปีละ 2 ขั้นแทบทุกคนต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี แต่กลับไม่เคยเสนอชื่อตัวเองเลย จนกระทั่ง ศาสตราจารย์ นพ.วีกิจ วีรานุวัตติ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องเรียกมาไต่ถามว่า ทำไมไม่เสนอตัวเองบ้าง ทั้งๆ ที่เปรียบเทียบกับคนอื่นแล้ว ตัวคุณมีภาษีมากกว่าเสียอีก

ซึ่งคุณบุญนาคก็ตอบกลับทันทีว่า “ดิฉันคิดว่าตัวดิฉันยังไม่สมควร และมีคนอื่นที่ดีกว่าจึงเสนอผู้ที่สมควรขึ้นมาแทน” ซึ่งเป็นคำตอบที่ประทับใจอาจารย์วีกิจอย่างยิ่ง เพราะสะท้อนให้เห็นถึงน้ำใจและความเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมจะเสียสละของหัวหน้าแผนกผู้นี้

แม้แต่ช่วงที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร กำลังจะริเริ่มบุกเบิกงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล แต่ติดปัญหาเรื่องหาบุคลากรมาช่วยงานไม่ได้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานใหม่ จึงขอความช่วยเหลือจากคุณบุญนาคให้หาพยาบาลเข้ามาทำงานสัก 1-2 คน

แม้ภารกิจนี้จะดูไม่ซับซ้อน แต่ความจริงแล้วไม่ง่ายเลย เพราะทุกคนต่างก็มีเส้นทางการทำงานที่มั่นคงของตัวเอง จึงไม่มีใครกล้าที่จะฝากชีวิตกับหน่วยงานที่ไม่มีใครทราบอนาคตเช่นนี้ หากด้วยทักษะการโน้มน้าว ชี้ให้เห็นความสำคัญ ในที่สุดจึงได้พยาบาลตรวจการมาช่วยบุกเบิกงาน 2 ท่าน หลังจากที่เสาะหามานานหลายปี

ทำให้งานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลศิริราชสามารถเดินหน้าได้สำเร็จ ช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตได้มหาศาล รวมทั้งกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เมืองไทยรับมือกับโรคระบาดต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาต่อมา

แม้การทำหน้าที่ของคุณบุญนาคเป็นเพียงส่วนเล็กๆ แต่คุณูปการที่อดีตหัวหน้าแผนกการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราชผู้นี้สร้างขึ้น ก็เปรียบเสมือนส่วนสำคัญช่วยหยั่งรากที่ยั่งยืนให้แก่วิชาชีพพยาบาลในเมืองไทย

ความทรงจำที่ไม่เคยเลือนหาย

แม้จะเกษียณอายุราชการไปตั้งแต่ปี 2530 แต่คุณบุญนาคก็ยังเป็นศูนย์รวมใจของเหล่าพยาบาลศิริราชไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในวันเกิด และเทศกาลสำคัญ ทุกคนจะนัดรวมตัวกันไปอวยพรอดีตหัวหน้าผู้นี้ถึงบ้านพัก ด้วยถือว่าเป็นต้นแบบที่ทำให้พยาบาลรุ่นหลังเจริญรอยตาม

ที่สำคัญคุณบุญนาคยังมีบทบาทในการสนับสนุนกิจกรรมการกุศลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังเป็นสะพานบุญที่เชื่อมโยงชาวศิริราชเข้าไว้ด้วยกัน

“พี่บุญนาคเป็นพุทธมามกะที่ทุกคนให้การยอมรับ แม้แต่แพทย์ทั้งหลายก็ยังยกย่อง จึงมีคนมาบอกบุญเยอะ พี่บุญนาคจึงตั้งกองทุนขึ้นมา ซึ่งมีสมาชิกเป็นร้อยๆ คน ทั้งแพทย์ พยาบาล คนเปล คนงาน เสมียน ทุกระดับก็ส่งเงินมาให้ บางคนส่งเดือนละ 100-200 บาท บางคน 3 เดือนส่งทีหนึ่ง หรือบางคนก็ให้ 20-30 บาท ซึ่งไม่มีการกะเกณฑ์อะไร แล้วพี่บุญนาคก็จะทำบัญชีไว้เลยว่า ไปทำบุญที่ไหนอย่างไร แล้วเหลือเงินเท่าไหร่ จากนั้นก็จะส่งแจกให้แก่สมาชิกทุกคนเป็นประจำทุกปี ถือว่าโปร่งใสมาก จนตอนหลังทำไม่ไหว จึงเลิกไป” คุณเดือนน้อยช่วยขยายความเพิ่มเติม

เพราะฉะนั้น ถึงคุณบุญนาคจะจากไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2560 ด้วยวัย 91 ปี แต่ภาพความทรงจำ และความดีที่เธอสร้างขึ้นก็จะยังคงปรากฏชัดในใจและความทรงจำของชาวศิริราชหลายคนไม่เปลี่ยนแปลง

เรื่องราวของเธอยังสะท้อนถึงความสำคัญของพยาบาล ในฐานะของผู้ที่มุ่งมั่น ทุ่มเท ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อให้คนไข้หายจากความเจ็บป่วย และกลับไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • บทสัมภาษณ์ คุณดวงจันทร์ ทิพย์ปรีชา อดีตหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช
  • บทสัมภาษณ์ คุณเดือนน้อย ใบคำ อดีตผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช
  • บทสัมภาษณ์ คุณกิตติวราห์ เศรษฐบุตร อดีตผู้ตรวจการพยาบาล ระดับ 8 โรงพยาบาลศิริราช
  • หนังสืออนุสรณ์เกษียณอายุราชการ “บุญนาค ศศะภูริ” ๓๐ ก.ย. ๓

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.