อวย เกตุสิงห์ : ครูแพทย์ผู้สร้างสรรค์สิ่งใหม่สู่สังคมไทย

<< แชร์บทความนี้

วิจัยและผลิตยาสมุนไพรผลิตน้ำเกลือใช้เองริเริ่มกลุ่มอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดลบุกเบิกวิทยาศาสตร์การกีฬาในเมืองไทยเริ่มต้นกิจกรรมวิ่งการกุศลนำแพทย์แผนปัจจุบันมาผสมผสานกับแพทย์แผนไทย จนเกิดเป็นแพทย์แผนไทยประยุกต์ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติการแพทย์ไทย ฯลฯ

เชื่อหรือไม่ว่า ทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากชายที่ชื่อว่า อวย เกตุสิงห์

ตลอดชีวิต 82 ปี ผู้คนต่างยกย่องว่าท่านเป็นนักประดิษฐ์ นักบุกเบิก และนักพัฒนาที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทย

เพราะถ้าท่านไม่เริ่มต้นเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา เมืองไทยก็คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะกวาดเหรียญจากกีฬาระดับนานาชาติได้

เช่นเดียวกัน หากท่านไม่ทำเรื่องแพทย์แผนไทยประยุกต์ บางทีภูมิปัญญาดั้งเดิม อย่างสมุนไพร การนวด การผดุงครรภ์ อาจกลายเป็นของล้าสมัยและไม่ได้รับการยอมรับอย่างทุกวันนี้

หากแต่ไม่ว่าจะเป็นงานใดๆ ก็ตาม ภารกิจสำคัญที่สุดของท่าน คงหนีไม่พ้นการเป็นครูที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ให้คนรุ่นใหม่ได้อย่างดีเยี่ยม เพราะท่านไม่ได้สอนให้นักศึกษาแพทย์เป็นหมอเท่านั้น แต่ยังผลักดันให้ลูกศิษย์หลายคนช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศได้เช่นกัน

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ขอพาทุกคนไปสัมผัสกับตัวตน ความคิด และผลงานของครูแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เรือโท นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ร.. อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และอดีตหัวหน้าแผนกสรีรวิทยา (ซึ่งสมัยนั้นครอบคลุมเภสัชวิทยาและชีวเคมีด้วย) คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

ครูแบบอวย

สำหรับนักศึกษาแพทย์ศิริราชยุคก่อน พ.ศ. 2510 ต่างคุ้นเคยกับอาจารย์หมออวยเป็นอย่างดี เพราะท่านเป็นครูคนแรกๆ ที่ทุกคนจะต้องรู้จัก

เนื่องจากท่านสอนวิชาสำคัญๆ อย่างสรีรวิทยา ซึ่งว่าด้วยการทำงานอย่างปกติของระบบต่างๆ ในสิ่งมีชีวิต, ชีวเคมี ซึ่งศึกษาเรื่องกระบวนการเคมีในสิ่งมีชีวิต เช่น การแปรรูปสารอาหารเป็นพลังงาน และเภสัชวิทยา ซึ่งว่าด้วยเรื่องยาหรือสารเคมีต่างๆ ว่าทำให้เกิดปฏิกิริยากับระบบต่างๆ ในร่างกายได้อย่างไร

รวมทั้งบางทียังเป็นครูผู้ปกครอง คอยให้คำปรึกษาเวลานักศึกษามีปัญหา เช่น คนไหนได้คะแนนเรียนน้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ท่านก็จะเรียกมาซักถาม และหาวิธีแก้ปัญหา หรือแม้แต่ปัญหาทางบ้าน ท่านก็ยังตามช่วยเหลืออย่างเต็มที่

เส้นทางการเป็นครูของอาจารย์หมออวยเริ่มต้นจากการเป็นนักเรียนผู้ช่วยอาจารย์ โดยสมัยก่อนนั้นการเรียนแพทย์ในบ้านเรายังไม่แข็งแรง มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์จึงส่งครูชาวต่างชาติมาช่วยปรับปรุงและยกระดับการศึกษา ซึ่งหนึ่งในกุศโลบายคือ การดึงนักเรียนที่มีแววมาช่วยสอน ช่วยทำงานวิจัย แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาต่อยอด เพื่อให้กลับมาเป็นอาจารย์ที่ศิริราช

อาจารย์หมออวยเป็นคนที่เรียนเก่งมาก เชี่ยวชาญศาสตร์แพทย์เกือบทุกแขนง ทั้ง สรีรวิทยา, พยาธิวิทยา, อายุรศาสตร์, ศัลยศาสตร์, สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา รวมถึงศาสตร์อื่นๆ อย่างภาษาศาสตร์ด้วย จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ช่วยของ ศ.นพ.แอร์เร็ตต์ ซี ออลบริตตัน หัวหน้าแผนกสรีรวิทยา และพอเรียนจบก็ได้รับการบรรจุทันที

เป้าหมายในการสอนของอาจารย์ คือการผลักดันให้ลูกศิษย์เติบโตเป็นแพทย์หรือครูแพทย์ที่ดี รู้จักคิด ไตร่ตรอง และพยายามพัฒนาตนเองมากที่สุด เพราะฉะนั้นบ่อยครั้งคนรอบข้างจึงมักมองว่า ท่านเป็นคนดุ เจ้าระเบียบ หากแต่เนื้อแท้แล้วกลับเปี่ยมไปด้วยความเมตตา และความปรารถนาดี

อย่างในห้องเรียนของอาจารย์จะเป็นที่รู้กันว่า เต็มไปด้วยกฎระเบียบมากมาย เช่น ทุกคนจะต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย ห้ามเล่นกันหรือพูดคุยส่งเสียงดัง ถ้าไม่ทำตามก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้อง เหตุผลเพราะอาชีพแพทย์นั้นต้องทำงานสัมพันธ์กับความเชื่อถือของผู้คน ทั้งคนไข้และญาติ นักศึกษาจึงต้องวางตัวให้เหมาะสม

อาจารย์จะมาถึงคณะตั้งแต่ 7 โมงเช้า โดยก่อนสอนก็จะเข้าไปเขียนหัวข้อ สูตร คำศัพท์ คำแปล คำนิยามที่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียนในวันนั้น หน้าที่ของนักศึกษาคือ ต้องเข้าห้องก่อนสักครึ่งชั่วโมง เพื่อจดข้อความต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อนจะเข้าบรรยายตอน 8 โมงเช้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักศึกษาได้ความรู้หลักๆ อย่างถูกต้องมากกว่าการฟังอย่างเดียวในห้อง

เคยมีคนถามอาจารย์เหมือนกันว่า ทำไมจึงไม่ยอมแจกเอกสาร เพราะดูง่ายและสบายกว่าการเขียนกระดานดำตั้งเยอะ ซึ่งท่านก็บอกว่า คนเราต้องลงมือทำด้วยตัวเอง ตาดู มือจด หูฟัง คิดตาม ซึ่งได้ผลดีกว่าการได้แผ่นบันทึกไปแบบง่ายๆ แล้วการที่ทุกคนต้องมาเช้าก่อนเวลาเรียน เรื่องมาสายจึงตัดไปได้เลย แต่ถ้าใครมาสาย ก็จะโดนซักถามแบบละเอียดยิบ และอธิบายต่อว่า เป็นแพทย์ต้องหัดทำตัวให้ตรงต่อเวลา จะมาอ้างว่าตื่นเช้าไม่ไหวไม่ได้ รวมทั้งให้ความรู้เรื่องธรรมะลงไปด้วยเสมอ เพื่อให้นักศึกษามีแนวทางที่ถูกต้องไว้ยึดถือ

เวลาอยู่ห้องปฏิบัติการก็เหมือนกัน หากเห็นนักศึกษาคุยเล่นกัน หรือแอบหนีออกไปหลังทดลองเสร็จ ก็จะมีเสียงกริ่งดังขึ้น แล้วก็สอบทันที อาจารย์เป็นคนที่คิดคำถามเร็วมาก ทุกคนจึงต้องตื่นตัวตลอด มองเผินๆ หลายคนอาจคิดว่าโหด แต่ความจริงแล้วท่านต้องการฝึกนิสัยของแพทย์ที่ต้องรับมือกับเรื่องที่ไม่คาดคิดอยู่ตลอด

ไม่ใช่แค่นักเรียนแพทย์เท่านั้น แม้แต่ลูกศิษย์ที่เข้ามาเป็นลูกน้องที่แผนก อาจารย์ก็ดูแลใกล้ชิด ท่านมักบอกเสมอว่า ทุกคนควรเคร่งครัดเรื่องระเบียบเหมือนท่าน เพราะครูใหม่บางคนก็ไม่กล้าปรามนักเรียน กลัวนักเรียนจะไม่รัก จนบางครั้งต้องถามกลับว่า ถ้านักเรียนไม่รักแล้วเราจะถูกตัดเงินเดือนไหม

เวลาสอนภาคปฏิบัติก็เช่นกัน อาจารย์จะยึดหลักว่า การที่ครูจะสอนนักเรียนได้นั้น ต้องรู้ ทำได้ ทำเป็น และทำถูกเสียก่อน ไม่เช่นนั้นจะคุมงานปฏิบัติได้อย่างไร หรือเวลาผ่าตัดสัตว์ทดลองก็ต้องซ้อมผ่าให้ดูก่อน อาจารย์จะคอยดูว่าจับมีดยังไง ท่านมักบอกเสมอว่า การจับมีดนั้นไม่ใช่แบบผ่าหมูบนเขียง แต่ต้องทำให้ประณีตเหมือนเวลานั่งโต๊ะดินเนอร์

“ย้อนกลับไป 50 ปีก่อน ตอนนั้นเพิ่งเข้ามาเป็นสต๊าฟใหม่ๆ อาจารย์ให้หนังสือไปอ่านเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการเพาะเนื้อเยื่อซึ่งยากมาก คิดว่าอาจารย์ให้ไปอ่านเพื่อทำความเข้าใจเท่านั้น ตอนนั้นถึงขั้นต้องเปิดดิกชันนารีแปล พออ่านเสร็จก็ภาคภูมิใจมาก ไปบอกว่า อ่านแล้วค่ะ เขาว่าอย่างนี้ ท่านก็บอกว่า ไม่ได้ให้อ่านเฉยๆ แต่ให้ไปทำ คือต้องคิดเลยว่าจะต้องเตรียมอุปกรณ์การทดลองอย่างไร คิดให้เสร็จเลย คือท่านสอนว่าทำอะไรต้องทำแบบลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่ผิวๆ อ่านรู้เรื่องแล้วก็จบ แต่อ่านแล้วทำได้ไหม” รศ.พญ.กาญจนา เกษสอาด หนึ่งในลูกศิษย์เล่าถึงครูที่เคารพรักยิ่ง

หรือช่วงปิดเทอมใหญ่ อาจารย์ทุกคนในแผนกจะต้องเข้าห้องเก็บของพร้อมกับผ้าขี้ริ้วและถังน้ำคนละใบ จากนั้นก็เริ่มปัดขี้ฝุ่น เช็ดชั้นวางของ เครื่องมือทองเหลืองทุกชิ้นต้องนำมาขัด ของที่อยู่บนชั้นสูงๆ ก็ต้องปีนเก้าอี้เอาลงมา ครูน้อยหลายคนมักบ่นว่าทำไมต้องทำงานเหมือนคนงานด้วย อาจารย์ก็บอกว่า ต่อไปจะเป็นนายเขา ถ้าไม่รู้งานเสียก่อนจะใช้ใครเขาได้อย่างไร ผลจากการเช็กของ ทำให้ทุกคนรู้จักเครื่องมือทุกชิ้นว่า มีอะไรบ้าง อยู่ที่ไหน มีมากน้อยเท่าไหร่ และพอถึงเวลาสั่งของ ก็จะรู้ว่าควรซื้อแค่ไหน หรือเวลาพบเครื่องมืออะไรที่ไม่รู้จัก อาจารย์ก็จะไม่บอกชื่อ แต่จะส่งแค็ตตาล็อกให้ไปค้นเอง ท่านบอกว่า ให้ง่ายก็ลืมง่าย อะไรที่กว่าจะรู้ต้องใช้ความพยายามก่อนจะจำได้ไม่มีวันลืม

อาจารย์จึงไม่ใช่แค่ครูหรือเจ้านาย แต่ยังเปรียบเสมือนพ่อแม่ที่พร้อมให้คำปรึกษาทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องส่วนตัว อย่างครั้งหนึ่งบ้านของอาจารย์ในแผนกถูกเพลิงไหม้ ท่านก็เข้ามาช่วยดูแล ให้ความช่วยเหลือในส่วนที่จำเป็น พร้อมแนะนำอย่างละเอียดว่าควรจัดการอย่างไร

แม้อาจารย์แทบไม่เคยยิ้มเลย แต่ลูกศิษย์ทุกคนต่างตระหนักดีว่า ทุกการกระทำของอาจารย์ล้วนมีเหตุผล และมีผลประโยชน์ของลูกศิษย์เป็นตัวตั้ง ต่อให้บางครั้งต้องรับมือกับกระแสต่อต้านจากสังคมรอบข้าง ท่านก็พร้อมเผชิญหน้าอย่างกล้าหาญ เช่น เมื่อครั้งรับตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ อาจารย์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดทำกลุ่มอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

จุดเริ่มต้นของโครงการมาจากท่านเห็นว่า นักศึกษาคณะต่างๆ ขัดแย้งกันมาก เวลาจัดงานอะไรก็ทำได้ลำบาก บังเอิญว่าก่อนหน้านั้น ท่านเคยไปช่วยงานน้องสาวของภรรยา ทำค่ายของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ ซึ่งมีนักศึกษามาร่วมจากหลายประเทศ พอจบค่ายทุกคนก็สนิทสนมกลมเกลียวกัน ท่านจึงคิดว่าอาจนำโมเดลนี้ไปช่วยแก้ปัญหาความสามัคคี รวมถึงการที่บัณฑิตใหม่ไม่ยอมไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล

ทว่าการจัดค่ายอาสาในยุค พ.ศ. 2510 ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสมัยนั้นกระแสคอมมิวนิสต์รุนแรงมาก พอนักศึกษาลงไปทำงานต่างจังหวัดก็มักจะถูกมองอย่างสงสัย ทั้งตัวผู้ปกครองหรือแม้แต่ชาวบ้านในพื้นที่เอง แต่อาจารย์ก็ไม่เคยหวั่นไหว พยายามผลักดันจนได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัย จากนั้นก็ยกทีมกันไปสร้างโรงเรียนในหมู่บ้านตังหมอง ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งอยู่ริมทุ่งกุลาร้องไห้ และทุรกันดารมาก

และแน่นอนท่านเดินทางไปด้วยทุกครั้ง แม้แต่ตอนที่เกษียณอายุราชการแล้ว ท่านต้องทำงานแบกหาม นอนกลางดิน กินกลางทราย แต่ก็ไม่เคยบ่น จนลูกศิษย์หลายคนอดเป็นห่วงไม่ได้ แต่อาจารย์ก็บอกเสมอว่า ไม่เป็นไร เพราะกิจกรรมนี้เป็นเสมือนการต่ออายุ และสิ่งที่ตามมาก็เป็นไปตามคาดคือ หลายคนในค่ายสนิทสนมกลมเกลียวกัน แถมท้องถิ่นอีกหลายแห่งก็ได้รับการพัฒนาขึ้น จนค่ายอาสาพัฒนานี้ค่อยๆ เติบโต และเป็นกิจกรรมทำสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้บุกเบิกชุมนุมศึกษาพุทธธรรม (ศิริราช) ในปี 2503 โดยเริ่มจากโต๊ะอาหารกลางวัน วันพุธตอนเที่ยงอาจารย์จะเรียกครูในแผนกมานั่งฟังธรรม ใครมีปัญหาก็ถาม ใครไม่มีก็รับฟังไป รวมถึงนิมนต์พระอาจารย์ดีๆ เช่น ท่านพุทธทาส อินทปญฺโญ, หลวงพ่อชา สุภทฺโท,พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร มาสนทนาธรรม เพื่อให้ทุกคนเข้าใจถึงแก่นพุทธศาสนา ตลอดจนสนับสนุนให้นักศึกษาบวชภาคฤดูร้อน จนความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาค่อยๆ ซึมซับ

หรือนักศึกษาบางคนมาจากต่างจังหวัดรู้สึกว้าเหว่ขาดที่พึ่ง พอได้มาเข้าชุมนุม ก็ทำให้จิตใจสงบ เหมือนได้กลับบ้านของตัวเอง ไม่ใช่แค่นักศึกษาและบุคลากรเท่านั้น แต่แนวคิดนี้ยังส่งต่อไปยังคนไข้และญาติที่เคยนำผ้าสีต่างๆ ไปผูกต้นไม้ บนบานศาลกล่าว ก็หันไปสวดมนต์ สงบจิตใจ และทำบุญทำทานให้กับพระสงฆ์ กระทั่งแนวคิดนี้หยั่งรากลึกในศิริราชมานานกว่า 60 ปี

ผลจากการทำทุกอย่างเพื่อลูกศิษย์นี่เอง จึงไม่แปลกว่าเหตุใดอาจารย์หมออวยกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หมอหลายคนเจริญรอยตามเรื่อยมา

นักทดลองผู้ยิ่งใหญ่

ในยุคที่อาจารย์สอนหนังสือใหม่ๆ เป็นช่วงที่เมืองไทยเต็มไปด้วยความขาดแคลน ทั้งอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ทางการแพทย์ แต่ด้วยความเป็นคนรักการทดลอง และชอบค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ อาจารย์จึงกลายเป็นนักประดิษฐ์และนักบุกเบิกคนสำคัญของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

หนึ่งในผลงานสำคัญที่มีส่วนสร้างคือ น้ำเกลือ เพราะแต่เดิมเมืองไทยทำยาฉีดไม่ได้เลย ทุกอย่างต้องสั่งจากต่างประเทศ รวมไปถึงน้ำเกลือด้วย ทว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ราคายาฉีดแพงขึ้นมาก อย่างน้ำเกลือ 500 มิลลิลิตร ฮ่องกงขายขวดละ 150 บาท ถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่าไม่เห็นแพงอะไร แต่ถ้าลองไปเทียบกับก๋วยเตี๋ยวสมัยนั้นที่ราคาชามละ 5 สตางค์ ก็เท่ากับว่า ซื้อน้ำเกลือขวดหนึ่ง สามารถกินก๋วยเตี๋ยวได้ถึง 3,000 ชามเลยทีเดียว

ตอนนั้นโรงพยาบาลต่างๆ ก็มีความพยายามผลิตน้ำเกลือขึ้นเอง แต่พอฉีดเข้าไปแล้วคนไข้มักมีอาการหนาวสั่น จนแพทย์ไม่กล้าใช้ แผนกศัลยศาสตร์ซึ่งต้องใช้น้ำเกลือมากกว่าใคร ก็เลยขอให้อาจารย์หมออวยช่วยหาวิธีผลิตน้ำเกลือ

ตอนนั้นอาจารย์จึงมาตั้งต้นว่า องค์ประกอบสำคัญของน้ำเกลือคือ เกลือกับน้ำกลั่น แต่เกลือนั้นต้องเป็นของบริสุทธิ์จากต่างประเทศ ซึ่งไม่มีปัญหา ส่วนที่ยากคือน้ำกลั่นที่ต้องบริสุทธิ์จริงๆ นี่แหละคือความท้าทาย เพราะบางทีตอนกลั่นก็อาจมีสารอื่นๆ ปะปนเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องหาวิธีสกัดสารปะปนเหล่านี้ให้ได้ อาจารย์ก็เลยออกแบบเครื่องกลั่นใหม่ โดยทำท่อนำไอน้ำออกจากหม้อต้มให้สูงมาก และติดตัวกั้นไว้ภายในเป็นระยะ ไอน้ำก็จะไหลเลี้ยวไปเลี้ยวมา สิ่งปะปนก็จะแยกตัวออกไป แล้วไหลกลับลงไปในหม้อต้ม จากนั้นก็นำไปทดลองใช้กับกระต่าย ปรากฏว่าได้ผลดี ก็เลยนำมาใช้กับคนไข้ ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ จึงเริ่มผลิตจริงจัง เริ่มแรกก็วันละ 5 ขวด จนขยายเป็น 200 ขวด

ต่อมาท่านก็คิดว่า การใช้เกลือบริสุทธิ์จากต่างประเทศ ยังไม่ค่อยตอบโจทย์การผลิต เพราะหากเกิดภาวะคับขันหาซื้อไม่ได้ก็จะลำบาก จึงนำเกลือของโรงงานเภสัชกรรมมาทดลอง ปรากฏว่าใช้ดีเหมือนกัน แถมยังประหยัดกว่าเยอะ ระหว่างนั้นอาจารย์ก็เก็บสถิติไว้ตลอด แล้วเห็นว่ายังมีคนไข้บางคนที่มีอาการหนาวสั่นบ้าง จึงพยายามตามหาว่าต้นเหตุมาจากที่ไหน ระหว่างอุปกรณ์การฉีดกับเกลือ เลยอาสาทำความสะอาดเครื่องมือต่างๆ อย่างหลอดยาง เข็มฉีด เครื่องหยด เพื่อลดการปนเปื้อน จนสุดท้ายได้น้ำเกลือที่มีคุณภาพสูง สามารถต่อยอดถึงขั้นแจกจ่ายและจำหน่ายแก่โรงพยาบาลอื่นได้ด้วย

ในปี 2501 เกิดอหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ มีความต้องการน้ำเกลือมากขึ้นเป็นทวีคูณ อาจารย์เลยสร้างเครื่องกลั่นเพิ่มเติม ภายในระยะเวลาสัปดาห์เศษๆ สามารถผลิตน้ำเกลือได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว ช่วยชีวิตคนได้มหาศาล

จากความสำเร็จครั้งนั้น อาจารย์จึงนำวิธีทำน้ำเกลือและสร้างเครื่องกลั่นไปเผยแพร่ในสารศิริราช วารสารรายเดือนของคณะที่ท่านเป็นผู้จัดทำ เพื่อนำความรู้ที่มีประโยชน์กระจายไปสู่วงกว้าง จนโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเริ่มเปิดแผนกน้ำเกลือเป็นของตนเอง

นอกจากนี้ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจารย์ยังผลิตอุปกรณ์สำหรับห้องแล็บไว้ใช้งานเองด้วย เช่น หม้อจับคาร์บอนไดออกไซต์ แบบขัดสน ทำจากกระป๋องโอวัลติน เศษมุ้งลวด และหลอดทองเหลือง หรือหลอดฮอลเดน แบบศิริราช สำหรับเก็บอากาศจากถุงลม

อาจารย์เป็นคนที่สนุกกับการทดลอง และมีหลักคิดว่า ทุกอย่างต้องพิสูจน์ได้ เพราะเรื่องบางอย่าง บางคนก็คิดเอง เชื่อเอง โดยปราศจากข้อยืนยันทางวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นเวลาทำอะไร จะต้องหาข้อมูลยืนยัน และทำวิจัยจนสิ้นสงสัย

ว่ากันว่า นิสัยเช่นนี้ถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่สมัยเรียนแพทย์ ครั้งหนึ่งอาจารย์เคยเล่าถึงครูแพทย์ท่านหนึ่งชื่อว่า ขุนศรีภิษัช เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยา เวลาสอนท่านชอบถากถางและท้าทายลูกศิษย์อยู่เสมอ อาจารย์หมออวยก็เลยพยายามหาวิธีเอาชนะให้ได้ อย่างหนึ่งที่อาจารย์ขุนศรีฯ มักอ้างเสมอคือ ตำราแพทย์ที่ชื่อ Mallory ท่านก็เลยไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ พอต้องโต้เถียงกับอาจารย์ขุนศรีฯ อีก จึงสามารถหาข้ออ้างหลักฐานในตำราเล่มนั้นมาสู้ได้

สำหรับอาจารย์แล้ว แรกๆ ก็แค่อยากเอาชนะ แต่ตอนหลังถึงเข้าใจว่านี่เป็นกุศโลบายของอาจารย์ผู้ใหญ่ที่อยากกระตุ้นให้นักเรียนพยายามหาความรู้ รู้จักหาหลักฐานมายืนยันความคิด ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีจากในตำราหรือหลักฐานจากการปฏิบัติก็ตาม และสิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือคอยปกป้องเวลาที่เราจะทำสิ่งใดต่อไป

อย่างสมัยก่อนเคยมีแพทย์อเมริกันมาช่วยงานที่คณะ แล้วเสนอให้ฉีดน้ำมะพร้าวเข้าหลอดเลือด เพราะคิดเองว่าน้ำมะพร้าวสะอาดปลอดเชื้อโรค พูดง่ายๆ ก็คือใช้คนไทยเป็นหนูทดลอง พออาจารย์กลับจากต่างประเทศแล้วทราบเรื่อง เลยยับยั้งการกระทำดังกล่าว ท่านสั่งให้อาจารย์ในแผนกช่วยกันพิสูจน์ วิเคราะห์น้ำมะพร้าวทุกแง่ทุกมุม จนพบว่าน้ำมะพร้าวไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่แพทย์อเมริกันเชื่อ หลังจากนั้น ท่านก็เขียนรายงานภาษาอังกฤษพร้อมเหตุผลประกอบลงในจดหมายเหตุฯ แพทยสมาคม ทำให้หมอฝรั่งคนนั้นถูกเรียกตัวกลับทันที

อาจารย์ใส่ใจเรื่องรายละเอียดมาก แม้บางคนอาจคิดว่าเกินไปก็ตาม

อย่างครั้งหนึ่งท่านเคยได้รับเชิญให้เป็นประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ซึ่งนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับสมุนไพร ตอนนั้นท่านตรวจทุกคำ ทุกประโยค ทุกหน้า และไม่เคยละเลยประเด็นใดเลย แต่มีเรื่องหนึ่งที่อาจารย์ติดขัดมากๆ คือ ในวิทยานิพนธ์ระบุอุณหภูมิน้ำที่ต้มยาสมุนไพรว่า 100 องศาเซลเซียส โดยที่ไม่วัดอุณหภูมิก่อน เพราะผู้ทำวิจัยคิดว่าไม่จำเป็น เนื่องจากใช้น้ำเปล่าต้มตลอดเวลา อาจารย์จึงแย้งว่า มั่นใจได้ยังไงว่านี่เป็นน้ำบริสุทธิ์ ไม่ได้มีไขมันจากพืชหรือสัตว์ปนเปื้อนออกมาจากการต้ม

สุดท้ายจึงต้องมาทำวิจัยใหม่ตั้งแต่ต้น เสียเวลาหาสมุนไพรใหม่อีกครึ่งเดือน เวลานั้นผู้เขียนวิทยานิพนธ์แอบเถียงในใจว่า เมื่อต้มน้ำก็ต้องเดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสอยู่แล้ว แต่เมื่อมาคิดอีกมุมก็พบว่า ความละเอียดเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าพลาดขึ้นมาก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้เช่นกัน

หลักคิดแบบนี้เองที่ทำให้อาจารย์สามารถสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่อีกมากมาย ทั้งเรื่องกีฬา สมุนไพร และแพทย์แผนไทยประยุกต์

เบื้องหลังชัยชนะของนักกีฬาไทย

เดิมทีวงการกีฬาไทยไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนทุกวันนี้ เวลาส่งไปแข่งขันอะไรก็แทบไม่เคยชนะเลย โดยเฉพาะกีฬาใหญ่ๆ อย่างเอเชียนเกมส์นี่ชัดเจนมาก เมืองไทยเป็นรองทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย หรือแม้แต่ปากีสถาน กว่าจะได้เหรียญทองแรกก็ครั้งที่ 4 แล้ว

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่ได้มีหลักคิด หรือวิธีการพัฒนาร่างกายของนักกีฬาที่ถูกต้อง อาจารย์หมออวยเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ของเมืองไทยที่นำความรู้เรื่องเวชศาสตร์เข้ามาจับกับกีฬา จนเกิดเป็นศาสตร์ใหม่ และกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้วงการกีฬาบ้านเราก้าวกระโดด

“อาจารย์เคยไปนั่งข้างสนามแล้วสังเกตเห็นว่านักกีฬา ตอนเริ่มออกวิ่ง วิ่งนำ แต่สักระยะก็เริ่มแผ่ว พอใกล้ถึงเส้นชัยก็ล้มแปะ ท่านสงสัยว่าทำไมเป็นแบบนั้น แสดงว่ามันเกี่ยวกับเรื่องการเสียเหงื่อ เสียเกลือแร่แน่ๆ จึงกลับมาทำวิจัยด้วยการเอากระดาษซับตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด 1-2 ตารางนิ้ว แปะตามจุดที่มีเหงื่อออกมากของบรรดาอาจารย์และเจ้าหน้าที่ในแผนก แล้วก็เอาเราไปเข้ากระโจมไก่ โผล่มาแค่หัว โดยข้างในก็มีเตาอยู่ พอนานๆ เข้า เหงื่อมันก็ออกเหมือนคนที่ไปเล่นกีฬา อาจารย์ก็ดูว่าภายใน 1 ชั่วโมง เหงื่อออกเท่าไหร่ มีเกลือแร่ออกมาเท่าไหร่ โดยเอากระดาษมาชั่งน้ำหนัก น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นก็คือเหงื่อที่ร่างกายเสียไป ต่อมาก็เอากระดาษใบเดิมไปละลายน้ำ ล้างเกลือออกมา ก็จะทราบว่าเสียเกลือแร่อะไรบ้าง ปริมาณเท่าไหร่” อาจารย์กาญจนาอธิบายถึงหนึ่งในการทดลองของอาจารย์หมออวยเพื่อหาวิธีเสริมสร้างสมรรถภาพของนักกีฬาไทย

กระทั่งในปี 2507 กรุงเทพมหานครได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 5 เพื่อเตรียมความพร้อม องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยจึงมอบหมายให้อาจารย์หมออวยไปหาวิธีพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา ท่านจึงเสนอไอเดียให้จัดตั้ง ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา นำความรู้เรื่องแพทย์มาประยุกต์ใช้กับกีฬา ถือเป็นการพลิกโฉมแนวทางการพัฒนานักกีฬาเลยก็ว่าได้

“ผมได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการฝ่ายการแพทย์เพื่อจะศึกษานักกีฬา ตอนนั้นก็มีการตรวจสุขภาพนักกีฬา แต่ผมคิดว่ามันไม่ได้ผลหรอก เพราะเวลาแข่งขันที ก็มาตั้งกรรมการกันที มันไม่ต่อเนื่อง ไม่มีความก้าวหน้าหรืออะไร ผมคิดว่าบ้านเราควรจะมีองค์กรหนึ่งที่ทำประจำ ไม่เพียงแต่นักกีฬาที่จะแข่งขันเท่านั้น จะแข่งหรือไม่แข่งก็ให้มีการส่งเสริมกันไปเลย” อาจารย์อวยเคยกล่าวไว้เมื่อนานมาแล้ว

อาจารย์จึงถือโอกาสนี้แวะเวียนไปศึกษาดูงานในหลายๆ ประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา เยอรมนีตะวันตก ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น พอกลับมาก็ได้รับการอนุเคราะห์จากกรมพลศึกษา แบ่งพื้นที่บริเวณใต้ถุนอัฒจันทร์สนามศุภชลาศัย เพื่อเป็นสถานที่ทำการของศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาฯ ซึ่งนับเป็นสถาบันแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยครั้งนั้นท่านได้ดึงลูกศิษย์ 2 คนเข้ามาเป็นมือไม้ นั่นคือ รศ.นพ.เจริญทัศน์ จินตนเสรี และ รศ.นพ.วิชัย วนดุรงค์วรรณ และได้นักกีฬาจากสมาคมจักรยานแห่งประเทศไทยมาช่วยเรื่องการทดลองต่างๆ ด้วย

“ครั้งแรกอาจารย์ก็เอาหมอเจริญทัศน์ที่จบรุ่นเดียวกันไปอยู่ที่นั่นเลย ไปดูแลเรื่อง Physical Fitness เรื่องสมรรถภาพทางกาย ส่วนผมตอนนั้นก็ประจำอยู่ศิริราช เป็นหมอผ่าตัด อาจารย์ดึงไปช่วยดูแลนักกีฬาที่บาดเจ็บ เป็นแพทย์สนาม ไปช่วยผ่าตัด จำได้ว่าช่วงเดือนที่เปิดศูนย์มีนักกีฬาบาดเจ็บเข้ามาหลายคน แต่พอมาถึงท่านจับมาทดลองหมดเลย เจาะเลือด จับเข้าห้องอุณหภูมิ นักกีฬาก็หายไปทีละคนสองคน ตอนนั้นก็ปวดหัวจะทำยังไงกันดี ผมเลยคุยกับหมอเจริญทัศน์ว่า นักกีฬาที่เข้ามาต้องการจะมารักษา ให้หมอมาดูเรื่องคลินิกกีฬา จะได้ดึงดูดนักกีฬา พอเริ่มติดแล้วค่อยเอานักกีฬาที่มากายภาพบำบัดมาทำการทดลองได้ ซึ่งอาจารย์อวยก็ยอม ผมก็ไปช่วยตรวจ ตอนแรกตั้งใจจะไปสัปดาห์ละครั้ง แต่คนไข้มากันเยอะเลย สุดท้ายก็ต้องไปสัปดาห์ละ 2 วัน” อาจารย์วิชัยย้อนความทรงจำ

อาจารย์มุ่งมั่นกับเส้นทางสายนี้มาก หลังเกษียณอายุราชการ เมื่อปี 2511 จึงตัดสินใจไม่เป็นอาจารย์พิเศษที่ศิริราช แต่มารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาเต็มตัว

แนวคิดที่อาจารย์วางไว้คือ การสร้างระบบที่ยั่งยืน ตั้งแต่การสอนและฝึกอบรมแพทย์ให้มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา รวบรวมสถิติเกี่ยวกับสมรรถภาพของนักกีฬา จัดบริการเวชศาสตร์แก่นักกีฬา จนหลายคนเริ่มรู้ว่า เวลาออกกำลังกายควรเน้นตรงไหน กล้ามเนื้อแต่ละส่วนสัมพันธ์กันอย่างไร และถ้าบาดเจ็บต้องจัดการอย่างไร จนเกิดแนวทางการรักษาแบบใหม่ เช่น การผ่าตัดนักกีฬาที่ไหล่หลุด ไหล่ติด หรือหมอนรองกระดูกขาด ซึ่งพอผ่าตัดแล้วก็สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้

“อาจารย์ให้ข้อคิดว่า การรักษาคนทั่วไปกับรักษานักกีฬาไม่เหมือนกัน ถ้าไหล่หลุดคนธรรมดาเอาเข้าก็จบไป แต่ถ้านักกีฬาไหล่หลุด ต้องเพิ่มความแข็งแรงเขาเป็นเท่าตัวเลย เพราะเขาต้องใช้ไหล่ข้างนั้นอีก จนกระทั่งเปิดเป็นแพทย์เฉพาะทางเรื่องเวชศาสตร์การกีฬา” ผศ.พญ.สายสุณี วนดุรงค์วรรณ กล่าวเสริม

อาจารย์หมออวยนำความรู้เหล่านี้ไปขยายต่อตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งต่อมาแนวคิดนี้ก็เจริญเติบโต กลายเป็นคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา และมีบุคลากรที่ทำงานสายนี้นับไม่ถ้วน

ที่สำคัญ อาจารย์พยายามผลักดันให้ประชาชนออกกำลังกายและเล่นกีฬา อย่างตัวอาจารย์เองแม้เมื่ออายุจะขึ้นเลข 7 ก็ไม่เคยหยุด ยืนยันได้จากการที่ท่านไปแข่งขันจักรยานสปรินท์ ประเภทอายุเกิน 45 ปี ในการแข่งขันกีฬาโลกสำหรับแพทย์ เมื่อปี 2521 โดยครั้งนั้นอาจารย์ได้เหรียญทองแดงมาครอง

แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว อาจารย์แนะนำให้วิ่ง เพราะทำได้ง่าย ทำแล้วดีต่อสุขภาพของตัวเอง จึงริเริ่มจัดงานที่เรียกว่า วิ่งการกุศล โดยเอาเรื่องทำบุญมารวมกับการออกกำลังกาย ด้วยเห็นว่าคนไทยชอบเรื่องทำบุญ ถ้าจัดงานแบบนี้ก็ได้ผลดีเป็นสองเท่า

หากแต่เวลาอาจารย์จัดงาน กลับไม่เคยสนใจเรื่องจำนวนเงินเลย เพราะสิ่งที่เน้นมากกว่าคือ ปริมาณคนที่เข้ามาร่วมงาน โดยการวิ่งครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2514 มีผู้เข้ามาร่วมงานนับร้อยคน ไม่เพียงแค่นั้นอาจารย์ยังขายแนวคิดต่างๆ ไปยังกาชาดทั่วประเทศ จนเกิดเป็นกระแสความนิยม

ทว่าก็มีประเด็นหนึ่งที่อาจารย์อดเป็นห่วงไม่ได้ คือ บางคนที่เข้าไปแข่งขันไม่ได้สมบูรณ์พอ หรือไม่ได้ฝึกซ้อมบ่อยๆ ทำให้ใช้แรงเกินกำลัง และกลายเป็นอันตราย จึงย้ำเสมอว่า วิ่งการกุศลนั้นไม่ใช่การวิ่งแข่งขัน เป็นการวิ่งตามสบาย ต่างคนต่างวิ่ง เหนื่อยก็หยุดพัก แล้วค่อยวิ่งใหม่ ความพอใจของนักวิ่งการกุศลไม่ได้อยู่ที่รางวัล แต่คือสมรรถภาพของตัวเอง

นอกจากนี้ อาจารย์ยังส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ จัดหาสถานที่เพื่อสร้างสวนสุขภาพ สำหรับเป็นสถานที่ในการออกกำลังกาย ท่านผลักดันจนเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนปัจจุบันมีสวนแบบนี้เกิดขึ้นเต็มไปหมด

ที่สำคัญ อาจารย์ยังคิดค้นกีฬาใหม่ๆ อย่างเช่นการเล่นลูกเดาะ โดยนำลูกไหมพรมมาตีด้วยมือ ท่านบอกว่า นี่เป็นลูกผสมระหว่างแบดมินตันกับวอลเลย์บอล เป็นเกมที่ลงทุนน้อย เพราะใครๆ ก็ทำเองได้ เสียแค่ค่าไหมพรม 5-6 บาท แถมเล่นไปแล้วยังได้เหงื่อไม่แพ้การตีแบดมินตันเลย ต่อมาภายหลังมีศาสตราจารย์จากเยอรมนีมาเห็นเกมนี้เลยเอาไปส่งเสริมต่อในประเทศ เรียกว่า อวยบอล น่าเสียดายที่ช่วงหลังความนิยมลดลง แต่ก็ถือเป็นต้นแบบให้เห็นว่าการออกกำลังกายนั้นทำได้ง่ายนิดเดียว

ความหวังเรื่องกีฬาของอาจารย์ไม่ได้มีเพียงแค่นี้ ท่านเคยให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากพัฒนามวยไทยมาใช้เป็นการออกกำลังกาย เหมือนมวยจีน รวมทั้งส่งเสริมเรื่องการนั่งสมาธิ เพราะทำให้จิตใจสงบเยือกเย็น ท่านบอกว่า นั่งสมาธินั้นดีกว่าการนอนมาก

อาจารย์หมออวยทำงานด้านนี้ต่อเนื่องมานานเกือบ 30 ปี จนใครต่อใครยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการกีฬาสมัยใหม่ แต่สำหรับอาจารย์แล้ว คำยกย่องนั้นไม่ได้มีความหมายเลย เพราะสิ่งที่ทำมาทั้งหมดก็เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้แข็งแรง ซึ่งนี่ก็คือจิตวิญญาณของคนที่เป็นครูแพทย์นั่นเอง

ปัจจุบันการแพทย์ไทยได้เสื่อมโทรมลงมาก ... ถ้าปล่อยเช่นนี้ต่อไป ไม่ช้าการแพทย์ไทยเดิมซึ่งเป็นสมบัติอย่างหนึ่งของชาติก็จะสิ้นสูญไป

อวย เกตุสิงห์ : ครูแพทย์ผู้สร้างสรรค์สิ่งใหม่สู่สังคมไทย

ผู้บุกเบิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์

ในวัย 72 ปี อาจารย์หมออวยได้เริ่มภารกิจสำคัญหนึ่งของชีวิต นั่นคือ อายุรเวท หรือการประยุกต์แพทย์แผนไทยให้ได้มาตรฐาน ด้วยการผสมผสานกับการแพทย์ยุคปัจจุบัน เพื่อทำให้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยพัฒนาและได้รับการยอมรับในวงกว้างยิ่งขึ้น

แต่การขับเคลื่อนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องต่อสู้กับคนมากมายที่ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ จนถึงขั้นท่านต้องบอกว่า “เมื่อใดที่อายุรเวทเป็นปึกแผ่นขอให้ช่วยจุดธูปบอกด้วย”

ความจริงแล้ว อาจารย์หมออวยสนใจศาสตร์แพทย์แผนไทยมาตั้งแต่ยังเด็ก เพราะเดิมทีการแพทย์แผนใหม่ยังไม่ค่อยแพร่หลาย เวลาป่วยเมื่อใดก็กินยาแผนไทยตลอดมา จนเรียนแพทย์ถึงเลิกใช้ แต่ก็ไม่ได้ทิ้ง เพราะคิดว่ามีประโยชน์ และเมื่อได้ทุนไปเรียนต่อที่เยอรมนี ก็ทำรายงานเรื่อง การศึกษาเภสัชวิทยาของใบเมี่ยง เป็นรายงานเรื่องสมุนไพรเรื่องแรกของประเทศ พร้อมกับบรรยายสรรพคุณของสมุนไพรไทยให้เพื่อนแพทย์ชาวต่างชาติฟัง

ต่อมาเมื่อกลับถึงเมืองไทย ก็เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี อาจารย์จึงสมัครไปเป็นแพทย์ทหารเรือเพื่อทำวิจัยสมุนไพรที่รักษามาลาเรียในทหารเรือ ซึ่งตอนนั้นเริ่มระบาดทั่วประเทศแล้ว โดยเฉพาะที่สัตหีบนั้นหนักกว่าใครเพื่อน อาจารย์หมออวยจึงได้รับบรรจุเป็นทหารเรือยศเรือโท

“เราไปที่โรงพยาบาลทหารเรือสัตหีบ มีคุณหลวงประกอบเวชกิจ เป็นผู้อำนวยการ ท่านพยายามหายาพื้นเมืองรักษามาลาเรีย ทุกๆ เช้าจะเห็นท่านควบคุมให้พวกจ่าต้มยาหม้อในปี๊บหลายใบ ส่วนมากเป็นยาถ่าย ท่านว่าการถ่ายท้องช่วยทำให้ไข้ลด ซึ่งท่านพูดตามความรู้ทางแพทย์แผนโบราณ”

ระหว่างนั้นอาจารย์ก็เริ่มต้นทดลอง โดยยาที่ทดลองเป็นยาที่ใช้กันมานมนานแล้ว และพยายามเลือกแต่คนไข้ที่ร่างกายแข็งแรง ไม่ทรุดโทรมมาก รวมทั้งวางกฎว่า ถ้าคนไข้มีอุณหภูมิร่างกายสูงถึง 40 องศาเซลเซียสจะหยุดทดลองทันที และถ้ากินครบแล้ว 7 วัน ไข้ยังไม่ลดก็ถือว่าไม่ได้ผล

อาจารย์ทดลองอยู่ 3-4 สัปดาห์ ใช้ยาไป 5-6 ขนาน ผลปรากฏว่าทุกขนานทำให้คนไข้หายหมดเลย แต่น่าแปลกคือ คนไข้ที่กินยาเหมือนกัน ไข้ลดไม่เหมือนกัน บางคนลดมาก บางคนลดน้อย บางคนไม่ลดเลย ก็เลยกลับมาคิดมุมใหม่ว่า เป็นไปได้หรือเปล่าว่าที่ไข้ลด เป็นเพราะตัวคนไข้เองไม่เกี่ยวกับยา ก็เลยทดลองใช้ยาหลอก ไปหาซื้อแป้งมันจากตลาดมาอัดเป็นเม็ดเล็กๆ เหมือนยา ปรากฏว่า คนไข้หายไข้สัดส่วนพอๆ กับครั้งก่อน ก็เลยทราบว่า ยาที่กินไปนั้นไม่มีประโยชน์เท่าไหร่

แต่ถึงอย่างนั้นอาจารย์ก็ยังคิดว่า คงจะมีสมุนไพรสักตัวที่ช่วยรักษาโรคได้ ตอนหลังเมื่อกลับมาประจำที่ศิริราช จึงส่งเสริมให้ลูกศิษย์ทำวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรหลายคน รวมทั้งไปศึกษาเรื่องเภสัชเวทเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์กที่เยอรมนีนานถึง 2 เดือน

ศ.เกียรติคุณ พญ.อุ่นใจ แววศร หลานสาวของอาจารย์เล่าว่า ตอนที่ท่านอยู่ที่นั่นมีโอกาสได้ทดลองอะไรหลายอย่าง เนื่องจากหลานสาวอีกคนเป็นเภสัชกรอยู่ที่นั่น จึงดึงมาเป็นผู้ช่วย

อาจารย์ทำงานเกี่ยวข้องกับสมุนไพรที่ศิริราชมาต่อเนื่องหลายสิบปี เพราะภารกิจหนึ่งของท่านคือ หัวหน้าแผนกเภสัชวิทยา ซึ่งต้องศึกษาเรื่องตัวยาใหม่ๆ ตลอดเวลา รวมทั้งแนะนำให้ชาวบ้านทำสวนสมุนไพรประจำหมู่บ้าน เพื่อจะได้นำพืชเหล่านั้นมารักษาโรคโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ต่อมาในปี 2504 อาจารย์ก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติการแพทย์ไทย เพื่อฉลองในวาระศิริราชพยาบาลอายุครบ 72 ปี นำเสนอเรื่องราวอย่างการคลอดที่ใช้หมอตำแย การทำยาแบบสมัยก่อนที่ต้องใช้วิธีการบดสมุนไพรจนละเอียดแล้วมาปั้นเป็นยา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ฉายให้เห็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งน่าติดตามศึกษา

ทว่าเมื่อเกษียณ ท่านก็เริ่มปล่อยมือจากเรื่องเหล่านี้ เพราะมีภารกิจเกี่ยวกับเวชศาสตร์การกีฬาที่ทุ่มเทอยู่ กระทั่งวันหนึ่งอาจารย์ก็ได้มาพบจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ อันนำมาซึ่งความตั้งใจสุดท้ายในชีวิต

จากคำบอกเล่าของอาจารย์ประกิต สุมนกาญจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า วันหนึ่งขณะที่กำลังคุมสอบแพทย์แผนไทยที่วัดสามพระยา อาจารย์อวยก็เดินมาเจอพอดี แล้วท่านก็ถามว่า “สอบเช้าเมื่อไหร่เลิก” อาจารย์ประกิตจึงตอบไปว่า “เช้าเลิกเที่ยง” ท่านจึงซักต่อว่าทำไมถึงสอบแค่นี้ จนได้ความว่า ส่วนใหญ่คนที่มาสอบเป็นลูกหลานของหมอแผนโบราณ ต้องการได้ใบประกอบโรคศิลป์ ที่ผ่านมาก็เรียนรู้เอง เรียนจากพ่อแม่บ้าง ทางการไม่ได้สนับสนุนเท่าไหร่ แม้แต่สนามสอบก็ยังต้องมาอาศัยวัดสามพระยา

หลังจากนั้นท่านก็สอบถามเรื่องแพทย์แผนโบราณอีกหลายเรื่อง เช่น การเรียนมีแต่ท่องอ่าน ไม่ได้ฝึกปฏิบัติในสถานพยาบาล ปีหนึ่งสอบแค่หนเดียว ถ้าสอบตกก็ต้องมาสอบใหม่ปีหน้า

อาจารย์เห็นว่า ความรู้เหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็น และหนทางที่จะทำให้การแพทย์แผนไทยได้รับการยอมรับก็คือ ต้องนำหลักวิทยาศาสตร์เข้ามาผสมผสาน จึงระดมลูกศิษย์ลูกหามาช่วยกันวางแผน ทำหลักสูตร หาตำรับตำราสมัยเก่ามาใช้เป็นพื้นฐานการฟื้นฟูความรู้แพทย์แผนไทย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านทำจึงไม่เหมือนของโบราณ อย่างเรื่องการผดุงครรภ์ ท่านใช้ความรู้เรื่องสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยามาเป็นพื้นฐาน แล้วก็นำมาผสมกับเรื่องการนวด การอยู่ไฟ หรือเวลาใช้สมุนไพรอะไร ก็ไม่สุ่มสี่สุ่มห้า ตำราโบราณเขียนไว้ยังไงก็ใช้แบบนั้นหมด แต่ต้องทำวิจัย ศึกษาว่าปลอดภัยหรือไม่เสียก่อน

อาจารย์ตั้งชื่อศาสตร์ใหม่นี้ว่า ‘อายุรเวท’ โดยคำว่า ‘อายุร’ มาจากคำว่าอายุยืน ส่วน ‘เวท’ แปลว่า ความรู้ รวมกันก็แปลว่า ความรู้ที่ทำให้อายุยืน

หากแต่ความคิดนี้กลับถูกต่อต้านอย่างหนัก กลุ่มแรกคือพวกแพทย์แผนโบราณเอง เพราะไม่เคยเรียนวิทยาศาสตร์มา จึงไม่เข้าใจว่าการมีเครื่องไม้เครื่องมือหรือองค์ความรู้สมัยใหม่เข้ามาช่วยจะทำให้การวินิจฉัยและรักษาแม่นยำมากขึ้น ส่วนบรรดาลูกศิษย์คนใกล้ชิดหลายคน แรกๆ ก็ยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของอาจารย์เท่าใดนัก

ศ.เกียรติคุณ นพ.นรา แววศร หลานเขย เล่าว่า แพทย์บางคนสอบถามอาจารย์ตรงๆ ว่า ตั้งใจจะผลิตหมอเถื่อนใช่หรือไม่ ซึ่งท่านก็อธิบายให้ฟังว่า ในหลายประเทศ ความรู้เรื่องแพทย์ดั้งเดิมเติบโตมาก ส่วนหนึ่งเพราะได้รับการอนุรักษ์ และนำความรู้สมัยใหม่เข้ามาต่อยอด และในโลกยุคใหม่ ประเทศที่เจริญแล้วล้วนสนใจเรื่องสรรพคุณของสมุนไพร ซึ่งแพทย์แผนไทยเองก็มีศักยภาพเช่นกัน จึงควรสนับสนุนอย่างเต็มที่

“ปัจจุบันการแพทย์ไทยได้เสื่อมโทรมลงมาก หมอแผนโบราณที่ดีมีแต่จะหมดไป หมอที่เกิดขึ้นใหม่ก็หาคนเก่งได้ยาก ถ้าปล่อยเช่นนี้ต่อไป ไม่ช้าการแพทย์ไทยเดิมซึ่งเป็นสมบัติอย่างหนึ่งของชาติก็จะสิ้นสูญไป” อาจารย์หมออวยเคยกล่าวไว้

แต่ถึงจะมีอุปสรรคมากมาย อาจารย์ก็ไม่เคยท้อ ยังคงเดินหน้าต่อไป ด้วยการตั้งมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม และใช้เวลาอีก 2 ปี จึงสามารถตั้งอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) สำเร็จเมื่อปี 2525 โดยได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศในขณะนั้น อนุญาตให้ใช้ห้องสมุดของมหามกุฎราชวิทยาลัย โดยแบ่งครึ่งกับสมาคมโหรแห่งประเทศไทย

อายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) สอนเนื้อหาหลักๆ ตั้งแต่ เวชกรรม (การรักษาโรคด้วยยา) เภสัชกรรม (การทำยาและการปรุงยา) ผดุงครรภ์ และหัตถเวชกรรม (การนวด) รุ่นแรก มีนักเรียนทั้งหมด 28 คน รับคนที่จบการศึกษาไม่ต่ำกว่า ม.ศ. 5 และมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ต้องผ่านการสอบคัดเลือกวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ที่สำคัญต้องเป็นคนมีเมตตา และศีลธรรม โดยอาจารย์เป็นผู้สัมภาษณ์เองหมดทุกคน

นอกจากนี้ท่านยังดึงลูกศิษย์ที่คุ้นเคยจากศิริราชมาช่วยสอน อาทิ ศ.พญ.นันทา ติตถะสิริ, รศ.นพ.กรุงไกร เจนพานิชย์, ศ.นพ.สรรใจ แสงวิเชียร ฯลฯ โดยทุกคนมาสอนให้ฟรี

ว่ากันว่า การเรียนที่นี่เข้มข้นมาก เรียนกันทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ต่อเนื่องกัน 3 ปี โดยวิชาหนึ่งที่ต้องเรียนก็คือ กายวิภาคศาสตร์ เพราะท่านบอกว่าแพทย์แผนใดก็ต้องรู้จักร่างกายมนุษย์ก่อนเป็นลำดับแรก เพียงแต่อายุรเวทไม่จำเป็นต้องรู้ละเอียดมากเหมือนนักศึกษาแพทย์

นอกจากเรื่องทฤษฎีแล้ว อายุรเวทยังต้องฝึกปฏิบัติด้วย เช่น ไปฝึกทำคลอดที่โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ฝึกทำแผลที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และต่อมายังมีการเปิดสถานพยาบาลบวรนิเวศโบราณ เพื่อรองรับคนไข้ที่อยากรักษาด้วยวิธีการแพทย์ทางเลือกอีกด้วย

ส่วนอาจารย์หมออวยเองก็สอนเหมือนกัน แต่สิ่งที่เน้นมากสุดคือ เรื่องคุณธรรม เพราะนอกจากความรู้ที่แน่นแล้ว ท่านอยากได้หมอที่เปี่ยมด้วยจรรยาบรรณ

“เราพยายามเคี่ยวเข็ญเรื่องจิตใจมากที่สุด รุ่นแรกของเรา จะต้องเรียนทุกอย่าง แต่ละปีตกเยอะ ออกไปเองบ้าง ไล่ออกบ้าง สอบตกบ้าง คือเรามุ่งเอาคุณภาพ เพราะเราไม่ใช่แพทย์แผนปัจจุบันชั้น 2 แต่เป็นแพทย์แผนโบราณอย่างพิเศษที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งพวกนี้จะมีประโยชน์ต่อสังคม เพราะรักษาโรคได้ โดยเฉพาะโรคที่เราเป็นกันบ่อยอย่างปวดหัวตัวร้อนเป็นไข้ ช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์แผนปัจจุบันที่มีความรู้ดี เขาจะได้ไปรักษาโรคยากๆ ไป”

อย่างไรก็ตาม แม้อาจารย์จะเปี่ยมด้วยบารมีและลูกศิษย์ลูกหาเต็มไปหมด แต่ก็ยังต้องต่อสู้อยู่ตลอด ว่ากันว่าท่านต้องขายที่ดินเอามาช่วยการดำเนินงานของโรงเรียน

แต่ที่หนักที่สุด คือ พอนักศึกษาจบออกไปแล้ว ไม่มีใบประกอบโรคศิลป์ ต้องขวนขวายสอบใบประกอบโรคศิลป์สาขาแพทย์แผนโบราณแทน ซึ่งท่านก็พยายามให้กำลังใจเต็มที่ สังเกตได้จากการที่ท่านเรียกทุกคนที่เรียนจบว่า ‘หมอ’ พร้อมกับบอกว่า “พวกคุณเป็นหมอซึ่งเรียนอายุรเวทฯ มา ไม่ต้องกลัวอดตาย หมอที่เขาไม่ได้เรียนอย่างเรามายังอยู่ได้เลย พวกคุณมีความรู้มากกว่าเขาตั้งเยอะ จะกลัวทำไม” โดยนักศึกษาบางคน ท่านก็ดึงมาช่วยสอน แล้วก็ส่งไปเรียนหลักสูตรเพิ่มเติม

ที่สำคัญ ท่านยังเดินหน้าขับเคลื่อนผ่านรัฐสภา จนสุดท้ายกฎหมายเรื่องอายุรเวทก็ผ่านเมื่อปี 2531 แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องเปลี่ยนชื่อจากอายุรเวท เป็นแพทย์แผนไทยประยุกต์

นอกจากนี้ท่านยังพยายามผลักดันให้แพทย์แผนไทยประยุกต์สามารถเป็นข้าราชการได้ เพราะก่อนหน้านี้เป็นวุฒิที่ทาง ก.พ.ไม่รับรอง มีสิทธิเป็นได้เพียงแค่ลูกจ้างของรัฐ

ท่านมักบอกลูกศิษย์เสมอว่า “ทำงานชิ้นนี้ช้าเกินไป ในขณะที่อายุมากแล้ว ร่างกายก็เสื่อมโทรมไป แต่สมองยังหนุ่มยังมีกำลัง ไม่รู้ว่าทำได้นานแค่ไหน อายุรเวทวิทยาลัยต้องฝากไว้ให้นักเรียนทุกคนให้ช่วยทำต่อให้เสร็จ ถ้าสำเร็จเมื่อไหร่ก็ให้จุดธูปบอกด้วย”

และสุดท้ายก็เป็นดังที่คิด เพราะช่วงต้นเดือนธันวาคม 2533 อาจารย์เกิดอาการเส้นโลหิตในสมองแตก และหลังจากนั้นอีกไม่กี่วันก็จากไปอย่างสงบ

หากแต่ไฟที่อาจารย์ได้จุดไว้ไม่เคยมอด เพราะลูกศิษย์เองก็พยายามผลักดันความฝันนี้เต็มที่ จนนักศึกษาของวิทยาลัยได้รับรองวุฒิ ปวส.จากกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2542 และ 4 ปีหลังจากนั้น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลก็รับโอนย้ายโรงเรียนอายุรเวทมาอยู่ในสังกัด มีสถานะเทียบเท่ากับภาควิชาหนึ่ง เรียกว่า สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ พร้อมต่อยอดขยายองค์ความรู้อยู่ตลอด จนทุกวันนี้ ศาสตร์ที่ท่านวางรากฐานก็เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของครูแพทย์นักบุกเบิกที่พยายามสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อสังคมไทยจนถึงลมหายใจสุดท้าย

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • สัมภาษณ์ รศ.พญ.กาญจนา เกษสอาด วันที่ 21 และ 24 กันยายน 2564
  • สัมภาษณ์ รศ.นพ.วิชัย-ผศ.พญ.สายสุณี วนดุรงค์วรรณ วันที่ 21 กันยายน 2564
  • สัมภาษณ์ ศ.เกียรติคุณ นพ.นรา-ศ.เกียรติคุณ พญ.อุ่นใจ แววศร วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564
  • สัมภาษณ์ กลุ่มลูกศิษย์ โรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) วันที่ 9 กันยายน 2564
  • หนังสือ อวยนิมิต เล่ม 1-2-3 และอวยนิมิตอนุสรณ์
  • หนังสือ ฉลองวาระครบรอบวันเกิด 100 ปี ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ 3 กันยายน พ.ศ. 2551
  • หนังสือศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ “ปูชนียบุคคลของชาติ ปราชญ์ของแผ่นดิน”
  • หนังสือ 2 ทศวรรษอายุรเวท
  • นิตยสารใกล้หมอ เดือนธันวาคม 2525
  • นิตยสารดิฉัน ปักษ์แรก เดือนเมษายน 2528

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.