เพราะยารักษามะเร็งทางเลือกใหม่ที่เพิ่งได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปีก่อนนั้น มีราคาสูงกว่า 200,000 บาทต่อเข็ม ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงยาได้
ในฐานะนักวิจัยคนไทยที่ได้เห็นประสิทธิภาพของยากลุ่มนี้มาแล้ว ทำให้นายแพทย์หนุ่มจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวบรวมทีมงานจากภาคส่วนต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างยาแอนติบอดีรักษามะเร็ง ฝีมือคนไทย เพื่อหนึ่งในทางเลือกของผู้หมดหวัง
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ Curious People ขอเชิญทุกท่านไปร่วมพูดคุยกับ อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงแรงบันดาลใจและความคาดหวังกับโครงการเปลี่ยนโลกครั้งนี้
ความสำเร็จของ 2 นายแพทย์ Tasuku Honjo จาก Kyoto University และ James P Allison จาก MD Anderson Cancer Center บนเวที Nobel Prize เมื่อปี 2561 คงไม่ต่างจากการเปิดประตูบานใหม่ ให้โลกได้รู้ว่ายังมีอีกหนทางที่สามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายได้
ยาแอนติบอดี คือ ยาที่เพิ่มศักยภาพของภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวซึ่งปกติมักมีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมต่างๆ
เพราะต้นเหตุหนึ่งของมะเร็ง มาจากการที่โปรตีนประเภทหนึ่งบนเม็ดเลือดขาว เรียกว่า PD-1 ไปจับคู่กับ PD-L1 ที่อยู่บนเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวหยุดทำงาน เพราะเข้าใจผิดว่าเซลล์มะเร็งคือ เซลล์ปกติ
หน้าที่ยาตัวนี้ คือแยกโปรตีนทั้งสองตัวออกจากกัน เพื่อให้เซลล์เม็ดเลือดขาวกลับมาฆ่าเซลล์มะเร็ง
“เมื่อปี 2559 ผมถูกเชิญให้เข้าร่วมกลุ่ม Facebook เกี่ยวกับการรักษามะเร็งด้วยยาแอนติบอดีนี้ แล้วมีผู้ป่วยในต่างประเทศที่ได้รับยามาเล่าให้ฟังว่า เขาเป็นมะเร็งตับอ่อนแบบกระจาย แต่พอรับยาแอนติบอดี แล้วดูผล MRI ผลเลือดมาให้ดูแล้วมันดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เราก็นั่งอ่านอย่างนี้ทุกวัน แล้วไม่ใช่แค่มะเร็งใดมะเร็งหนึ่งเท่านั้น มันมีหลายมะเร็งเต็มไปหมด เรียกว่าคนที่มาทำให้เราเชื่อมั่นในการรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ใช่หมอไม่ใช่นักวิจัย แต่เป็นคนไข้
“มันเปลี่ยนความรู้สึกเลย เพราะก่อนหน้านี้เราคิดว่าเป็นมะเร็งแล้วคงหมดหวัง แต่พอเห็นอันนี้เหมือนตาสว่างขึ้นมา เป็นไปได้ยังไง ยิ่งพอศึกษาไปสักพักหนึ่ง เราก็เห็นเลยว่ามันคือของจริง”
แม้ไม่รับประกันผล 100% หรือบอกได้ว่าการใช้ยามีโอกาสได้ผลกว่าการรักษาแบบอื่นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ คือ ยาแอนติบอดีนี้มีผลข้างเคียงต่ำ เนื่องจากเป้าหมายหลักของยาคือต้องการให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายกลับมาทำงานได้สมบูรณ์ ซึ่งต่างจากการให้ยาเคมีบำบัดหรือฉายแสงทั่วไปที่มักมีผลกระทบตามมาคือ เซลล์ดีๆ อาจถูกลูกหลง และโดนฆ่าตายไปด้วย
“มะเร็งบางชนิด การรักษาในปัจจุบัน เช่นผ่าตัดฉายแสงอาจดีอยู่แล้ว แต่บางอย่างใช้ยาแอนติบอดีกระตุ้นภูมิต้านทานในร่างกายอาจดีกว่า เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าการรักษาวิธีไหนดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยทุกคน แต่สิ่งที่พูดได้เลยคือ ยาแอนติบอดีทำให้คนมีทางเลือกมากขึ้น ทำให้มีโอกาสหายมากขึ้น”
นี่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คุณหมออยากหาวิธีที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีโอกาสเข้าถึงยากลุ่มนี้อย่างทั่วถึง
ปัญหาคือ ที่ผ่านมามีคนเพียงหยิบมือเดียวที่มีโอกาสเข้าถึงยา เนื่องจากราคาที่แพงมหาศาล เข็มหนึ่งเฉลี่ย 2 แสนกว่าบาท และหากให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจก็ต้องฉีดต่อเนื่อง 2 ปีเป็นอย่างน้อย รวมแล้วต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
การจะทำให้ยาราคาถูกลงได้คือต้องพัฒนายาขึ้นเองโดยทีมนักวิจัยไทยแบบไม่แสวงหากำไร โดยเริ่มพัฒนาจากศูนย์ ไม่สามารถนำตัวยาจากต่างประเทศมาเลียนแบบทันทีได้ เนื่องจากติดสิทธิบัตรของบริษัทผลิตยาต่างประเทศ
“ถ้าเรารอให้สิทธิบัตรหมด คงต้องรอเป็นสิบปีเลย แต่ชีวิตคนนั้นรอไม่ได้ หากเรามียาให้เขาเร็วภายใน 5 ปี ก็สามารถช่วยชีวิตคนไข้ได้ในเวลาอีกไม่นานนัก”
20,000 บาทต่อเข็ม คือตัวเลขในใจที่อาจารย์วาดหวังไว้
แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องอาศัยแรงต่อสู้มหาศาล โดยเฉพาะการหางบประมาณ ซึ่งจากการประเมินคาดว่าอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท ใช้เวลาประมาณ 5-6 ปี
ขั้นแรก อาจารย์ได้รวบรวมทีมงานทั้งชาวไทยและต่างประเทศ มาร่วมกันพัฒนายาแอนติบอดีต้นแบบจากหนู พร้อมนำเสนอไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของยากลุ่มนี้ไม่แพ้กัน จึงอุดหนุนงบประมาณมาเต็มที่ 100 ล้านบาท
“เหตุผลหนึ่งที่โครงการไปได้เร็ว เพราะไม่ใช่แค่ผมที่อินอยู่คนเดียว แต่ทุกคนหาข้อมูล ช่วยกันคิดช่วยกันพัฒนาขึ้นมาเป็นทีม แล้วหลังจากนั้นก็มีทีมอาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์ และคณะอื่นๆ เช่นเภสัชศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์เริ่มเข้ามา ส่วนเราก็เริ่มกระจายข้อมูล ทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญ และร่วมมือกัน”
ผลจากการทำงานอย่างหนัก ทดลองต้นแบบนับแสนแบบ ทำให้ทีมงานสามารถพัฒนายาต้นแบบที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยาต่างประเทศถึง 3 แบบ
ทว่าต้นแบบทั้งสามเป็นเพียงจุดตั้งต้นเล็กๆ ของความฝันเท่านั้น เพราะตามสถิติ ต้นแบบแต่ละตัวมีโอกาสต่อยอดไปสู่ยารักษาโรคเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ ทีมงานจึงไม่สามารถหยุดทำงานในขั้นตอนนี้ได้ ต้องค้นหาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มจำนวนต้นแบบให้มากที่สุด ซึ่งหมายถึงโอกาสสำเร็จของโครงการที่เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย
ขณะเดียวกัน เขายังเริ่มต้นนำยาต้นแบบที่ได้ไปปรับปรุงให้แอนติบอดีของหนูมีความคล้ายคลึงกับคนที่สุด ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้งบประมาณอีกราว 10 ล้านบาท
เมื่อปรับปรุงเรียบร้อยก็ต้องนำไปผลิตในโรงงานที่มีคุณภาพ และมาตรฐานสูง เพื่อให้ได้ปริมาณยาจำนวนมากสำหรับการทดสอบขั้นต่อไป ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้งบประมาณราว 200 ล้านบาท
ทั้งสองขั้นตอนนี้ อาจารย์เลือกใช้วิธีระดมเงินทุนจากภาคประชาชน มาเป็นค่าดำเนินการ ด้วยความตั้งใจที่อยากเห็นยาแอนติบอดีนี้เป็นของคนไทยทุกคนอย่างแท้จริง
อาจารย์ใช้วิธีรณรงค์ ‘มะเร็ง 5 บาท’ ชักชวนคนไทยหลายสิบล้านคนร่วมบริจาคคนละเล็กละน้อยเพื่อสมทบทุน มีประชาชนและบริษัทเอกชนจำนวนมากที่เข้ามาช่วยกัน แม้แต่จัดงานวิ่งเพื่อระดมทุนก็ทำมาแล้ว
“ตอนนี้เราระดมทุนได้ประมาณ 250 ล้านบาท เรียกว่าเพียงพอเกินเป้าหมายที่เราเคยคาดไว้ ทำให้เราสามารถทำเฟสที่ 2 และ 3 ได้อย่างมั่นใจ โดยระหว่างนี้เราก็จะคอยรายงานผลให้ประชาชนทราบ เพื่อเขาจะได้สบายใจว่าสิ่งที่ช่วยนั้นมีผลงานออกมา นั่นคือยาที่มีคุณภาพดีที่สุด”
แต่เส้นทางที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีปัจจัยอีกมากมายที่ต้องฝ่าฟัน ตั้งแต่การทดสอบในสัตว์ อย่างหนูและลิง การทดสอบในมนุษย์ เพื่อตรวจเช็กปริมาณการให้ยา ประสิทธิภาพการรักษา และผลข้างเคียง รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
“ถ้าเราสามารถนำยาไปทดลองในสัตว์ได้แล้ว ก็หวังว่า ช่วงทดสอบในมนุษย์ รัฐบาลน่าจะมั่นใจและให้งบประมาณก้อนใหญ่มา เพราะเราเข้าใจดีว่า โครงการที่มีความเสี่ยงสูงๆ มีโอกาสสำเร็จน้อย นักวิจัยและประชาชนอาจต้องช่วยกันผลักดันให้ใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด จนถึงจุดที่รัฐบาลเห็นว่าความเสี่ยงนั้นน่าลงทุน”
ก่อนหน้านี้เราคิดว่าเป็นมะเร็งแล้วคงหมดหวัง แต่พอเห็นอันนี้เหมือนตาสว่างขึ้นมา เป็นไปได้ยังไง ยิ่งพอศึกษาไปสักพักหนึ่ง เราก็เห็นเลยว่ามันคือของจริง
หากพูดถึงจุดเริ่มต้นของความฝัน คงต้องย้อนกลับไปกว่า 10 ปีก่อน
จากอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต อาจารย์ไตรรักษ์ตัดสินใจหันเหชีวิตตัวเองมาเป็นนักวิจัยเต็มตัว หลังเกิดคำถามขึ้้นในใจว่า เหตุใดการแพทย์ในเมืองไทย จึงต้องอาศัยข้อมูลงานวิจัยจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด เหตุใดบ้านเราไม่สร้างองค์ความรู้ขึ้นมาเองด้วย
ครั้งนั้นเขาตัดสินใจเดินทางไปศึกษาและทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ National Institutes of Health สหรัฐอเมริกา มีโอกาสทำวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกจากสถาบันต่างๆ กว่า 60 โครงการ
ผลงานวิจัยของอาจารย์ได้รับการอ้างอิงในงานวิชาการต่างๆ รวมแล้วกว่า 7,000 ครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในฐานะนักวิจัยชั้นนำของเขาได้อย่างดี
ครั้งหนึ่งอาจารย์เคยให้สัมภาษณ์กับเพจ Cancer Precision Medicine ว่า หัวใจสำคัญของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็คือการทำงานเป็นทีม ที่สำคัญคือต้องทุ่มเท ไม่ยอมแพ้ ไม่ปฏิเสธในการทำสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องผ่านการคิดอย่างเป็นระบบและคิดนอกกรอบด้วย
หลังทำงานอยู่ 9 ปีเต็ม เขาจึงตัดสินใจย้ายไปทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์อาวุโสเพื่อช่วยก่อตั้งห้องปฏิบัติการทาง Proteomics เน้นการศึกษาโปรตีน ณ Aarhus University เดนมาร์กเป็นเวลา 1 ปี ก่อนลัดฟ้ากลับมาประจำอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ผมทำงานจนถึงจุดที่คิดว่ามั่นใจว่าตัวเองสามารถนำประสบการณ์ ทักษะ และเครือข่ายความร่วมมือทั้งหมดกลับมาช่วยพัฒนาประเทศได้ จึงตัดสินใจกลับบ้าน”
ภารกิจสำคัญของอาจารย์ที่จุฬาฯ คือ การตั้งศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ ซึ่งมีเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาวิธีวินิจฉัยและรักษาโรคแบบใหม่ ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน โดยใช้ความรู้จากการศึกษาชีววิทยาในระดับโมเลกุลในระบบต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การผลิตยาภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง
“เราเป็นแพทย์นักวิจัยที่ทำงานด้านแอนติบอดีมาตลอด รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนด้วย ดังนั้น ถ้าเราไม่ทำในวันนี้ก็คงเสียใจในภายหลัง”
แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่า งานนี้ไม่ง่ายเลย แต่อาจารย์ก็ไม่เคยท้อ เพราะเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้คือ การช่วยชีวิตคน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของแพทย์
ที่สำคัญ หากการพัฒนาครั้งนี้สำเร็จ ยากลุ่มนี้จะกลายเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนายาแอนติบอดีกลุ่มอื่นๆ ทั้งโรคเกี่ยวกับข้ออักเสบ โรคหอบหืด โรคไมเกรน รวมถึงโรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งต่างเป็นโรคที่คนไทยจำนวนมากเผชิญอยู่
ทั้งหมดนี้คือ ความฝัน และความหวังของชายที่ชื่อไตรรักษ์ ผู้ยอมทิ้งงานคลินิกมาสู่งานวิจัย เพื่อทำให้เมืองไทยก้าวไปสู่สังคมแห่งความรู้ และความสุขอย่างแท้จริง
อาจารย์แพทย์และนักวิจัย ผู้พยายามสร้างรากฐานความมั่นคงทางด้านสุขภาพแก่สังคมไทย ผ่านการสร้างวัคซีนรักษาโรค
เรื่องราวของนายแพทย์ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่อยากจะสร้างยารักษามะเร็งให้คนไทย
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ที่ต้องบริหารงานภายใต้ข้อจำกัดมากมาย แต่เขาก็ไม่ท้อ เพื่อให้ประชาชนทุกเชื้อชาติสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม
ครูแพทย์ผู้บุกเบิกประสาทศัลยศาสตร์ในเมืองไทย ตลอดจนมีส่วนในการยกเครื่องกระทรวงสาธารณสุข และผลักดันแพทย์ไทยไปสู่ชนบท
นักอนุกรมวิธานมือ 1 ผู้คลั่งไคล้แมลง และอยู่เบื้องหลังการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา
นักธุรกิจที่หลงใหลธรรมชาติ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาระดับต้นๆ ของเมืองไทย และเป็นผู้บุกเบิกเว็บไซต์ Siamensis.org
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
สุดยอดนักพากย์ฟุตบอลและผู้ประกาศข่าวกีฬาแห่งเรื่องเล่าเช้านี้ที่ครองใจผู้ชมผู้ฟังมานานกว่า 3 ทศวรรษ
สาว สาว สาว แอม-แหม่ม-ปุ้ม ต้นตำรับเกิร์ลกรุ๊ปเมืองไทย ผู้สร้างกระแสเพลงประตูใจ ข้ามกาลเวลาถึงปัจจุบัน
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.