วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด : ผู้จุดกระแส ‘สีเขียว’ สู่การสร้างนนทบุรีเป็นเมืองอาหารยั่งยืน

<< แชร์บทความนี้

ถึงวันนี้ การกินอาหารออร์แกนิก จับจ่ายผักสดไร้สารพิษ ซื้อหาเนื้อไก่-ไข่อินทรีย์ อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ต้องบอกว่าไม่ง่าย หากคนเมืองจะกินอาหารสักจานที่วัตถุดิบทั้งหมดปราศจากสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ เว้นแต่จะลงทุนปลูกผัก ทำนา เลี้ยงไก่เอง

ห่วน-วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด คือหนึ่งในคนกลุ่มแรกๆ ที่ขับเคลื่อนเรื่องอาหารปลอดภัยในสังคมไทย เธอมีส่วนสนับสนุนการริเริ่มโครงการผักประสานใจ โครงการที่ทำให้เกษตรกรกับคนกินได้รู้จักกัน เป็นส่วนหนึ่งของการกำเนิดตลาดสีเขียวในเมืองกรุง นอกจากนี้ยังพิมพ์หนังสือ คู่มือใช้ชีวิตวิถีสีเขียว จุดประกายให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการบริโภคเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

นอกจากทำงานด้านอาหารแล้ว อีกบทบาทหนึ่ง ห่วนคือผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ธุรกิจเพื่อสังคมรายแรกๆ ของเมืองไทยที่เน้นคัดเลือกหนังสือที่ยกระดับจิตวิญญาณ หลายเล่มสร้างปรากฏการณ์เล็กๆ ทำให้คนหันมาพูดถึงการใช้ชีวิตที่ใคร่ครวญ เรียบง่าย และการศึกษาทางเลือกมากขึ้น

หลังจากทำงานสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมมาหลายปี เมื่อถึงวัย 60 ปี เธอก็ตัดสินใจเดินออกจากสวนเงินมีมา เพื่อมาบุกเบิกธุรกิจของตัวเองในชื่อ อินี่ (INI-Innovation Network International) ขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคม สร้างภาคีเครือข่าย โดยหนึ่งในเป้าหมายที่วางไว้ก็คือ ทำให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในจังหวัดนนทบุรี อย่างน้อยก็เพื่อเป็นเมืองแห่งอาหารที่ยั่งยืน

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอชวนไปรู้จักกับ 1 ใน 30 บุคคลที่ทำงานเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน จากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก

ห่วนวัลลภา ผู้หญิงที่บอกกับเราว่า ทุกคนทำโลกนี้ให้ดีขึ้นได้ โดยเริ่มจากเปลี่ยนอาหารการกิน

ไม่ซ้าย ไม่ขวา

เส้นทางชีวิต 40 ปีแรกของห่วน ยังไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องอาหารปลอดภัย แต่เป็นเรื่องของมนุษย์คนหนึ่งที่พยายามหาพื้นที่ที่เหมาะกับตัวเอง

เธอมีมารดาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เพราะสามีเสียชีวิตไปตั้งแต่ลูกยังเล็ก แม่มีลูกถึง 11 คน ทรัพย์สมบัติเดียวที่ให้ลูกได้คือการศึกษา แม่จะบอกลูกทุกคนว่าถ้าสอบตกจะต้องออกมาช่วยทำงาน ทำให้ห่วนขวนขวายตั้งใจเรียน พอมีเวลาว่างก็จะเข้าห้องสมุดไปอ่านหนังสือ เธอจึงรักการอ่าน โดยเฉพาะนิยาย วรรณกรรมต่างๆ

ตอนอายุ 16 ปี ขณะเรียนมัธยมปลายอยู่ที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย เป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พอดี ภาพนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวกันเต็มถนนราชดำเนิน จุดประกายให้เธอสนใจสิ่งที่พวกเขาเรียกร้อง นำมาสู่การอ่านหนังสืออย่างสังคมศาสตร์ปริทัศน์ งานของ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์

เมื่อเข้ามาเรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อปี 2519 ชีวิตก็เปลี่ยนไปอีกแบบ เพราะในรั้วมหาวิทยาลัยมีอิสระเต็มที่ ห่วนเพลิดเพลินไปกับการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่เข้าห้องเรียน จนผลการเรียนตก และถูกรีไทร์ในที่สุด หญิงสาวเสียใจที่ทำให้แม่ผิดหวัง ก่อนตั้งหลักและสอบเข้าคณะเดิมได้อีกครั้งใน 2 ปีถัดมา แต่ความรู้สึกกลับไม่เหมือนครั้งแรกแล้ว

“พอเราเข้าไปใหม่ เพื่อนเขาอยู่ปี 3 เราต้องแอบอยู่ในห้องสมุด นั่งอ่านหนังสือแบบเจ้าชายน้อย แผ่นดินของเรา สารพัดวรรณกรรมโนเบล การช้ากว่าเพื่อน 2 ปี มีผลต่อจิตใจเหมือนกัน ทำให้เราสนใจอะไรที่ไม่ต้องไปแข่งขัน เริ่มถามตัวเองว่า ความสำเร็จคืออะไร เราเริ่มรู้สึกเลยว่าชีวิตก็มีแบบอื่นๆ ด้วย”

เพื่อนในตอนนั้นมีทั้งพวกซ้ายจัด และขวาสุดขั้ว แต่ห่วนรู้สึกว่าตนเองไม่เข้ากับทางไหนเลย สถานที่พักใจของเธอคือร้านศึกษิตสยามที่สามย่าน พอมีเวลาก็จะไปอ่านหนังสือทางเลือก เช่น แนวคิดแบบสันติวิธีของท่านติช นัท ฮันห์ หรือหนังสือในเชิงจิตวิญญาณ เพราะรู้สึกเหมาะกับตนเองมากกว่า ความสนใจเหล่านี้ส่งให้เธอเรียนต่อปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ ทว่าก็ไม่ได้สนใจเรียนจนจบ

พออายุ 25 ปี ห่วนตัดสินใจหางานทำ จึงไปสมัครเป็นพนักงานเขียนจดหมายโต้ตอบภาษาอังกฤษ ต่อมาก็เปลี่ยนมาทำงานในบริษัทจัดงานแสดงสินค้าของสิงคโปร์ เธอได้ฝึกฝนความรู้ด้านบริหารจัดการ จนในที่สุดก็ออกมาตั้งบริษัทของตนเอง กิจการเจริญก้าวหน้าจนต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ มีรายได้ดี แม้จะยังสนใจด้านสังคมอยู่บ้างแต่ก็ไม่เหมือนสมัยเรียน จำได้ว่าไปซื้อหนังสือวรรณกรรมซีไรต์เล่มหนึ่งมา แต่อ่านไปก็พบว่าผู้เขียนเล่าเรื่องเนิบช้า ไม่ทันใจ

เธอเริ่มพบว่าตนเองเปลี่ยนไปจากเดิมมาก

“ชีวิตเรามันเหมือนอยู่ในลู่เร็วๆ Fast Lane ที่ไม่มีสุนทรียภาพ ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองกลวงอยู่ข้างใน ไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวจิตใจ มันติดงานจนมีอาการว่าวันอาทิตย์เราหยุดไม่เป็น ถ้าวันไหนหยุด เหมือนชีวิตว่างเปล่า มันทำให้กลับมาทบทวนว่าชีวิตที่หาเงินเพียงอย่างเดียวนี่ใช่หรือเปล่า ชีวิตที่มีความหมายคืออะไร ถ้าไม่มีต้นทุนเดิมที่เคยสนใจด้านสังคมมาก่อน เราอาจจะไม่ถามอะไรแบบนี้ก็ได้”

พอดีกับได้ยินข่าวว่า อ.สุลักษณ์เปิด ‘เสมสิกขาลัย’ สถาบันการศึกษาเพื่อชีวิต สังคม และธรรมชาติ ซึ่งมุ่งกลับมาหาความสุขและความมั่นคงภายใน โดยไม่เน้นความสำเร็จทางวัตถุและความสำเร็จภายนอก

เธอจึงตัดสินใจพักงานตรงหน้าเพื่อไปเข้าคอร์สนิเวศวิทยาเชิงลึก หรือ Deep Ecology กับเสมสิกขาลัยที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กในกาญจนบุรีเป็นเวลา 10 วัน ที่นั่นห่วนรู้สึกเหมือนได้เจอโลกใหม่

“แต่ก่อนเราขับรถ เร่งๆ ไปหาลูกค้า อยู่สีลม สาทร พอไปอยู่ในบรรยากาศธรรมชาติ เช้าฟังวิทยากร บ่ายก็ไปเดินในป่าบ้าง เล่นน้ำตกบ้าง โอ้โห..มันเปลี่ยนไปเลย พอตอนท้ายเขามีวงสนทนา เราก็บอกเลยว่า ฉันไม่กลับไปทำธุรกิจต่อแน่แล้ว”

ขณะนั้น เป็นจังหวะที่เสมสิกขาลัยกำลังหาผู้จัดการอยู่พอดี อ.สุลักษณ์ จึงชวนห่วนไปทำงานด้วย

เธอตอบรับอย่างรวดเร็ว พร้อมตัดสินใจขายกิจการของตนเองทั้งหมดเพื่อไปช่วยอาจารย์ที่เคารพรัก แม้รายได้จะลดน้อยลง และต้องปรับตัวขนานใหญ่เมื่อต้องมาทำงานกับชาวเอ็นจีโอที่ไม่ได้รวดเร็วฉับไวแบบภาคธุรกิจ แต่ก็พึงพอใจกับชีวิตมากขึ้น เพราะไม่ต้องตอบคำถามมากมายที่วนเวียนอยู่ในหัวว่าจะมีลมหายใจอยู่ไปเพื่ออะไร

“ในเสมสิกขาลัย เราได้เจอนักคิดระดับโลกในเรื่องความคิดทางเลือก ชีวิต 3 ปีที่นั่น เหมือนเราได้กลับไปเรียนหนังสือ ซึ่งมันมีผลต่อความคิดของเรามากเลย”

ปีที่ 3 ของการทำงานที่เสมสิกขาลัย เธอได้พบกับ ฮันส์ แวน วิลเลียนส์วาร์ด

เขาทำมูลนิธิชื่อ Innovation Network International อยู่ในอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้มาร่วมงานสัมมนา ต่อมาทั้งคู่รักกันและกลายมาเป็นสามีภรรยา

และชายผู้นี้เองที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนชีวิตของเธอไปสู่อีกโลกหนึ่ง

‘สวนเงินมีมา’ สำนักพิมพ์ชื่อแปลกที่นำเสนอแนวคิดใหม่ๆ

ในวัย 40 ปี ห่วนเริ่มนึกถึงอาชีพอื่นที่ไม่ใช่เอ็นจีโอ ฮันส์จึงแนะนำให้รู้จักกับเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Venture Network ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างงานเอ็นจีโอกับธุรกิจทั่วไป

ทั้งคู่คิดถึงการทำสำนักพิมพ์ทางเลือกเพราะต่างก็เป็นคนรักหนังสือ เมื่อไปคุยกับ อ.สุลักษณ์ อาจารย์ก็เห็นดีด้วย แถมยังสนับสนุนโดยให้หุ้นของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป มาส่วนหนึ่ง

คำถามแรกที่ต้องตอบใครหลายคนคือ สำนักพิมพ์ใหม่นี้จะแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร

“เราบอกไปว่าจะทำหนังสือ Book for Change หนังสือเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ตอนนั้นเราจับคำนี้ไว้เลย เป็นอาหารทางความคิด อาหารทางจิตวิญญาณ อาหารสมองของสังคม เรารู้สึกว่าหนังสือแนว Self-help หรือการพัฒนาตัวเองมันมีคนทำเยอะแล้ว แต่หนังสือที่กำลังพูดให้สังคมได้ฉุกคิดอีกแบบหนึ่งยังมีน้อย เช่น ถ้าเป็นงานของท่านติช นัท ฮันห์ เราจะไม่พิมพ์หนังสือเรื่องความโกรธ ซึ่งเป็นเรื่องของบุคคล แต่จะพิมพ์เรื่องการสร้างสันติภาพสังคมแทน”

ด้วยความเคารพอาจารย์ เธอจึงตั้งชื่อสำนักพิมพ์ว่า ‘สวนเงินมีมา’ มีที่มาจากชื่อของคุณยายของ อ.สุลักษณ์ ทั้งสามท่าน คือ ‘ยายเงิน’ ‘ยายมี’ และ ‘ยายมา’ โดยเริ่มดำเนินการในปี 2544

ตอนเริ่มต้น หนังสือส่วนใหญ่ที่นำมาจัดพิมพ์ก็มาจากเครือข่ายของเสมสิกขาลัย เช่น ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา ของ จอห์น เลน หนังสือของสาทิศ กุมาร นักปรัชญาชาวอินเดีย ผู้รณรงค์เรื่องสันติภาพ บางเล่มสองสามีภรรยาไปช่วยกันเลือกจากร้านหนังสือในอัมสเตอร์ดัมเมื่อกลับไปเยี่ยมบ้านของฮันส์

ช่วงแรกผู้อ่านยังไม่ค่อยรู้จักสำนักพิมพ์น้องใหม่ จึงต้องจัดกิจกรรมเสวนาเปิดตัวหนังสือควบคู่ไปด้วย พร้อมทั้งทำแผนธุรกิจไปขอทุนจากผู้ใหญ่ใจดี ซึ่ง อ.สุลักษณ์ก็เมตตาชวนเพื่อนๆ มาช่วย

หนังสือหลายเล่มของสวนเงินมีมา มีส่วนจุดประกายแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นในสังคมไทย เช่น ‘เด็กตามธรรมชาติ’ พูดถึงการศึกษาทางเลือก สนับสนุนให้เด็กมีอิสระในการเล่นและเชื่อมโยงกับธรรมชาติ, ‘ปล้นผลิตผล’ หนังสือที่เปิดความคิดว่าระบบอาหารขนาดใหญ่กำลังทำลายเกษตรกรรายเล็ก, ‘พลังความเงียบ’ พูดถึงความสำคัญของความเงียบซึ่งช่วยในการทำงานสร้างสรรค์, ‘Living Green Together’ หนังสือที่พูดถึงการใช้ชีวิตสีเขียว ทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เป็นต้น

แม้จะเป็นเพียงสำนักพิมพ์เล็กๆ แต่ก็มีแฟนประจำเหนียวแน่น หลายเล่มที่พิมพ์ออกไปแล้วได้รับความสนใจก็จะมีคนอ่านเดินเข้ามาหา เช่น ‘พลังความเงียบ’ ทำให้ได้พบกับกลุ่มหรี่เสียงกรุงเทพฯ หรือตอนที่ออกหนังสือ ‘โลกยุคหลังบรรษัท’ Green Peace ก็บอกว่าตรงกับการขับเคลื่อนของเขาพอดี โจน จันได ที่เวลานั้นยังไม่ได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ก็ยังนำต้นฉบับเรื่อง ‘บ้านดิน’ มาเสนอถึงสำนักพิมพ์

“อย่างปล้นผลิตผล หนังสือเล่มนี้ดีมากนะ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เคยแนะนำให้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ กรรมการคนหนึ่งอ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วพยายามนำเนื้อหาหนังสือบรรจุไปในงานอาหารแห่งชาติเลย”

นอกจากการจัดทำหนังสือ สวนเงินมีมายังมีร้านเล็กๆ อยู่ฝั่งตรงข้ามวัดราชบพิธฯ จำหน่ายผลงานของสำนักพิมพ์และหนังสือทางเลือกอื่นๆ ในร้านยังมีผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติจำหน่าย เพราะอยากสนับสนุนงานหัตถกรรมผ้าทออยู่แล้วจึงไปรับจากชาวบ้านมาขาย ทั้งจากชาวปากมูล ผ้าย้อมครามสกลนคร

ต่อมาเมื่อห่วนหันมาขับเคลื่อนเรื่องอาหารปลอดภัยมากขึ้น ที่ร้านก็ยังวางขายผลิตภัณฑ์และอาหารออร์แกนิก รวมถึงเป็นจุดกระจายผักไร้สารพิษไปสู่มือคนกินอีกด้วย

จักรวาลในชามข้าว

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสนใจเรื่องอาหารปลอดภัย มาจากตอนที่พิมพ์หนังสือ ‘ปล้นผลิตผล’ และ ‘นำอาหารกลับบ้าน’

หนังสือทั้งสองเล่มพูดคล้ายๆ กันว่า ระบบเศรษฐกิจอาหารในกระแสสร้างปัญหามากมาย ทั้งโลกร้อน ปัญหาสังคม ความยากจน และสุขภาพ ห่วนจึงฉุกคิดขึ้นว่าในสังคมไทยก็ไม่ต่างกัน จากเดิมที่เธอและฮันส์จะเน้นซื้ออาหารนอกบ้านกินด้วยความสะดวก ทำให้เกิดความคิดอยากทำอาหารกินเอง แต่แล้วก็พบว่าการหาผักหรือเนื้อสัตว์ไร้สารเคมีนั้นไม่ง่าย

“ถ้าเราทำอาหารกินเองที่บ้าน เราควรเลือกวัตถุดิบที่ดี และผูกโยงกับเกษตรกร พอทำเรื่องอาหารมากขึ้นๆ แล้วเริ่มเข้าใจ ไปตลาดก็รู้แล้วว่ามันเป็นผักเคมี เอ๊ะ! ทำไมเราอยู่กับวัตถุดิบอาหารที่ไม่ดีแบบนี้นะ ทำให้เรานึกถึงอาหารและวัตถุดิบที่รู้ที่มาที่ไป”

ด้วยความที่ฮันส์เคยทำงานอยู่ที่สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) เขาจึงเล่าเรื่องชุมชนผู้บริโภคที่สนับสนุนเกษตกร หรือ Community Supported Agriculture (CSA) ซึ่งมีรูปแบบคล้ายๆ การสร้างระบบสมาชิก ผู้บริโภคจะจ่ายค่าผลผลิตให้ก่อน ขณะที่เกษตรกรก็จะนำผักผลไม้ตามฤดูกาลมาส่งให้ตามวันเวลาที่ตกลงกัน เช่น ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน

ระบบนี้มีข้อดีคือช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้แน่นอน ส่วนผู้บริโภคก็รู้ว่าพืชผักนั้นปลูกอย่างไร ใครเป็นคนปลูก จึงมั่นใจว่าผลผลิตปลอดภัยตามที่ต้องการ

เวลานั้นเกษตรกรไทยที่ทำระบบนี้มีไม่กี่ราย หนึ่งในนั้นคือ เต้ย-ดิสทัต โรจนาลักษณ์ ที่มีแปลงผักอยู่ที่เขตหนองจอก และส่งผักให้กับเพื่อนๆ ที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ห่วนจึงติดต่อกับเต้ย แต่ก็พบปัญหาใหญ่คือเขาไม่สะดวกมาส่งผักในจังหวัดนนทบุรี ถ้าอยากได้ต้องไปรับตามเส้นทางที่เขาส่งประจำ 

เต้ยจึงแนะนำให้รู้จักกับ ระวิวรรณ และ พยงค์ ศรีทอง สองสามีภรรยาเกษตรกรที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

“จำได้ว่าขับรถไปที่ด่านช้าง 2 คน กับฮันส์ ไกลพอควร ตั้ง 3 ชั่วโมงกว่าจะถึง เราได้เจอกับเกษตรกรที่เคยใช้สารเคมีจนสุขภาพเสีย เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ เราก็เลยเริ่มต้นกัน เมื่อปี 2546 จำได้ว่าตอนตี 3 ครึ่ง เป็นการส่งครั้งแรก นอนไม่หลับเลย พอตื่นมาแล้วเห็นถุงผักแขวนอยู่ที่หน้าบ้าน เรารู้สึกเหมือนได้รับพร ระบบนี้ทำให้รู้จักกับปัญญา เกษตรกรซึ่งเขาดูแลพืชผักที่ดีให้เรา เราดูแลเขาในราคาที่เป็นธรรม และเป็นจำนวนที่แน่นอน มีหลักประกันให้กันและกัน”

เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทราบข่าว จึงมาชวนห่วนทำโครงการขยายระบบ CSA ให้เติบโตขึ้น

“ปีแรกๆ เราต้องกินผักเดิมซ้ำ อาทิตย์ที่แล้วได้กวางตุ้ง อาทิตย์นี้ก็กวางตุ้งอีก กินจนหน้าจะเป็นกวางตุ้ง จับฉ่าย แกงส้มก็ทำหมดแล้ว คือเวลาที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาเป็นอินทรีย์ กวางตุ้งกับผักบุ้งปลูกง่ายที่สุด ดังนั้นระบบนี้เหมือนเราต้องยอมร่วมหัวจมท้ายกัน ถ้าไม่รักกันจริงนี่ไม่อยู่แล้ว คนออกไปก็มี แต่ตอนหลังพออยู่มาได้ 10 ปี ชาวบ้านเขาอยู่ได้ เราถึงได้มะระ แครอท พริก สารพัดผักเลย”

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของระบบ CSA ที่อาจไม่เหมาะกับนิสัยคนไทย ทั้งการต้องจ่ายค่าผลผลิตล่วงหน้า โดยที่อาจเลือกชนิดผักเองไม่ได้ทั้งหมด ทำให้การขยายช่องทางจำเป็นต้องผนวกกับวิธีการอื่นๆ ด้วยจนเธอได้ไปรู้จักกับโครงการตลาดอินทรีย์ที่เชียงใหม่ และทางภาคใต้ จึงชวนผู้จัดตลาดมาเสวนาแลกเปลี่ยนในเวทีสู่ตลาดสีเขียวที่เป็นจริงและมีการร่วมทดลองจัดตลาดสีเขียวในกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นครั้งแรก

ตลาดสีเขียว เป็นตลาดของเกษตรกรรายเล็กรายน้อย ที่ปลูกแบบครัวเรือน ไม่ใช้สารเคมี จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2547 ที่อาคารรีเจนท์เฮาส์ ถนนราชดำริ

ช่วงต้นยังเป็นตลาดขนาดเล็ก มีเกษตรกรแค่สิบกว่าราย ซึ่งมาจากการแนะนำของเครือข่ายเกษตรทางเลือก เช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา, Health Me Organic Farm ของ หน่อย-พอทิพย์ เพชรโปรี, ไข่ไก่อารมณ์ดีจากอุดมชัยฟาร์ม

พอเปิดตลาด ไม่เพียงพนักงานออฟฟิศและคนที่มาทำวีซ่าในอาคารรีเจนท์เฮาส์ที่มาซื้อ แต่ยังมีคนกรุงที่มองหาพืชผักปลอดภัยแวะมาอุดหนุนกันอย่างคึกคัก

ตลาดสีเขียวในเมืองกรุงได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาขยายไปอีกหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลมิชชัน โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และต่อยอดไปเป็นกิจกรรมเยี่ยมชมฟาร์ม การพบปะกันระหว่างคนกินและเกษตรกร โดยทั้งหมดนี้ สสส. ที่เห็นความสำคัญของเรื่องอาหารที่คำนึงถึงสุขภาพและความยั่งยืน เข้ามาช่วยสนับสนุน

การจัดตลาดสีเขียวยังทำให้รู้ว่ามีคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกันอยู่ไม่น้อย แต่คนไม่ค่อยรู้จัก สวนเงินมีมาจึงพิมพ์หนังสือชุด ‘Living Green Together’ เล่าถึงผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ที่ยึดมั่นในการใช้ชีวิตในวิถีสีเขียว รวมถึงหนังสือแนะนำผักพื้นบ้าน แนะนำเมนูอาหารปลอดภัย ตลาดใกล้บ้าน ไปจนถึงเครื่องปรุงรสที่ผลิตด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน

“เราพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับอาหารไม่น้อยเลย มันยิ่งจุดประกายการคิดเชิงระบบอาหารในภาพใหญ่ การกลับไปทำอาหาร มันทำให้เรากลับมาใส่ใจทุกวัตถุดิบ ใส่ใจคุณภาพอาหาร แล้วถ้าผู้บริโภคทุกคนรู้จักเกษตรกร โลกเปลี่ยนเลย”

ยิ่งห่วนรู้จักเกษตรกรมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เธอเห็นว่า ชีวิตของเกษตรกรภายใต้ระบบการผลิตแบบเดิมมีแต่ถูกเอาเปรียบ เสียสุขภาพ หลายครั้งที่ต้องเดินทางไปงานศพของคนปลูกผักที่รู้จักกัน ซึ่งเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง หรือเคยไปเจอวันที่เขาต้องขอตัวหลบหนีเจ้าหนี้ เกษตรกรไทยจำนวนมากอยู่ในวังวนแบบนี้มานานจนหาทางออกไม่ได้

“เวลาฟังเกษตรกร เรารู้สึกว่าเขาเหมือนเป็นคนที่อยู่ล่างสุดของห่วงโซ่ มีคนกลางคอยกดราคาซื้อผักถูกที่สุด มันเป็นระบบเศรษฐกิจที่เราเอาเปรียบคนที่อยู่ล่างสุดของห่วงโซ่ เวลาคนถามว่า ทำไมออร์แกนิกถึงแพง เราจะบอกว่า เพราะตลอดมาคุณอยู่ในระบบที่ราคาไม่เป็นจริง ผักราคาถูกได้ด้วยการเอาเปรียบเกษตรกร ต้นทุนที่แท้จริงก็คือสุขภาพของเกษตรกร สุขภาพของตัวเอง และต้นทุนสิ่งแวดล้อม

“ถ้าเกษตรกรไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เชื่อไหมว่าเขาไม่เปลี่ยน เพราะว่าเขาอยู่ในลู่ของการผลิตเคมี จนมันพันกันไปหมดแล้ว เขากำเงินจากการขายผลผลิตไม่ถึงอาทิตย์ ก็ต้องไปใช้หนี้รอบที่แล้ว จากนั้นปลูกใหม่เพื่อไปใช้หนี้รอบถัดไป มีงานวิจัยพบว่าเกษตรเคมีในที่สุดแล้วจะสูญเสียที่ดินเพราะว่าหนี้สิน การใช้เคมี พอดินแข็งมากก็ต้องเติมสารอาหารเข้าไปเยอะขึ้นเรื่อยๆ เร่งโน่นเร่งนี่ ค่าใช้จ่ายก็จะพุ่ง แต่พอเปลี่ยนเป็นอินทรีย์ปั๊บ ผลผลิตช่วงแรกจะลดลงเหลือแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วต้องไปเริ่มต้นใหม่ เจรจาพักหนี้ เขาต้องกล้าหาญพอที่จะออกจากระบบที่มันพันกันแบบนี้”

ในขณะที่รัฐไม่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาได้ เธอเชื่อว่าสิ่งที่ควรทำคือการสร้างความรู้ให้กับผู้บริโภคว่าถ้าอยากได้อาหารดีก็ต้องดูแลคนปลูก แล้วคนปลูกก็จะดูแลเรา การทำงานจึงขยายไปอีกขั้นด้วยการใช้ระบบ CSA จับคู่โรงเรียนและโรงพยาบาลเข้ากับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้เด็กๆ และผู้ป่วยได้กินอาหารที่ไร้สารพิษ ขณะเดียวกันก็ทำให้เกษตรกรมีหลักประกันรายได้ แถมยังช่วยลดการเดินทางขนส่ง และพ่อค้าคนกลางที่จะทำให้ราคาอาหารแพงขึ้นไปอีกด้วย

“มันตลกมากที่พบว่า เขาปลูกผักส่งเข้าไปขายที่ตลาดไท เสร็จแล้วพ่อค้าแม่ค้าในอำเภอนั้น ก็ไปรับผักเหล่านี้จากตลาดไทกลับเข้ามาขายอีกทีหนึ่ง ทำไมไม่ปลูกแล้วขายกันตรงนี้เลย จะได้ไม่ต้องส่งไปขายไกลๆ ค่าขนส่งก็ไม่เสียด้วย ราคาก็ถูกลง คนเข้าถึงได้ด้วย ระบบเล็กๆ เหล่านี้เกิดในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ แล้วมันจะเปลี่ยนสังคมได้”

ผลจากการขับเคลื่อนเรื่องอาหารต่อเนื่องมากว่า 15 ปี ร่วมกับเครือข่ายและพันธมิตรที่มีความคิดเดียวกัน ก็ทำให้กระแสการบริโภคสีเขียวเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย

ผู้คนหันมาซื้อวัตถุดิบไร้สารพิษมากขึ้น เกษตรกรจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนมาปลูกพืชผักอินทรีย์ มีคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ เกิดตลาดสินค้าออร์แกนิกกระจายตัวไปหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศไทย แม้แต่ในชั้นขายผักตามห้างสรรพสินค้าก็ยังเปิดพื้นที่ให้กับพืชผลไร้เคมี

แม้จะเดินมาจากจุดเริ่มต้นไกลมาก แต่เธอก็ยังมองว่า ผู้ผลิตและผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระบบเดิม ถ้าเปลี่ยนพวกเขาเหล่านี้ได้ ไม่เพียงแค่เรื่องสุขภาพเท่านั้น แต่ยังช่วยให้โลกใบนี้ดีกว่าเดิมได้อย่างแน่นอน

“การกินอาหาร 3 มื้อ มันคือการเมืองแห่งชีวิตประจำวัน การเลือกอาหารของเราส่งผลต่ออะไรมากมาย แค่กินน้ำตาลมากเกิน นอกจากไม่ดีต่อสุขภาพแล้วมันยังทำลายพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามในอีสานหมดไปหลายหมื่นไร่ เพราะตอนนี้โรงงานน้ำตาลกำลังจะเปิดใหม่ 8 โรง แล้วในหนังสือ ‘ไกด์…ไม่ไร้สาระสู่อาหารโลก’ ของเวย์น โรเบิร์ตส์ บอกว่าวันหนึ่งเราตัดสินใจเกี่ยวกับอาหารถึง 300 ครั้ง โดยไม่รู้ตัว กินอะไร ซื้อที่ไหน จำนวนเท่าไร และที่สำคัญคือ 1 ใน 3 ของปัญหาโลกมาจากอาหาร ไม่ว่าภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาขยะ ถ้าคนเห็นว่าสิ่งเล็กๆ ที่ตัวเองตัดสินใจมันมีผล และรวมพลังกัน มันจะเปลี่ยนโลกทั้งโลกเลย”

จริงอยู่ที่การเปลี่ยนมาเป็นผู้บริโภคสีเขียวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องปรับทั้งการกิน การทำอาหาร การหาซื้อวัตถุดิบ รวมถึงมีค่าใช้จ่ายซื้อพืชผักไร้สารพิษที่สูงกว่าผลผลิตเกษตรเคมีทั่วไป การอยู่กับระบบ CSA มาเกือบ 20 ปี ค่าสมาชิกปรับจากปีละ 8,000 บาท ขึ้นมาเป็น 17,000 บาท แต่ห่วนก็มีความสุขที่ได้รู้ว่าสิ่งนี้ช่วยดูแลเกษตรกรที่ปลูกผักให้เธอกิน และส่งผลดีต่อครอบครัวของเขาและสิ่งแวดล้อมด้วย

เราลงทุนสิ่งนี้ได้ เพราะเราไปลดรายจ่ายเรื่องอื่น มันขึ้นอยู่กับว่าคุณให้ความสำคัญกับอะไรในชีวิต ถ้าคุณอยากจะลงทุนกับสังคมที่คุณอยากเห็นน่ะ สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมกันสร้าง

การกินอาหาร 3 มื้อ มันคือการเมืองแห่งชีวิตประจำวัน การเลือกอาหารของเราส่งผลต่ออะไรมากมาย แค่กินน้ำตาลมากเกิน นอกจากไม่ดีต่อสุขภาพแล้วมันยังทำลายพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามในอีสานหมดไปหลายหมื่นไร่

วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด : ผู้จุดกระแส ‘สีเขียว’ สู่การสร้างนนทบุรีเป็นเมืองอาหารยั่งยืน

INI การผจญภัยครั้งใหม่ ในวัย 60+

ในปี 2560 ห่วนรู้สึกอิ่มตัวกับงานที่สวนเงินมีมา หลังทำมาถึง 16 ปี จึงตัดสินใจวางมือเพื่อเปิดทางให้น้องๆ รุ่นใหม่ได้ก้าวขึ้นมาบริหารแทน ส่วนตัวเธอลาออกมาตั้งบริษัทแห่งใหม่ในละแวกบ้านย่านนนทบุรี ใช้ชื่อว่า ‘อินี่’ INI- Innovation Network International ซึ่งนำมาจากชื่อมูลนิธิของฮันส์ ในกรุงอัมสเตอร์ดัม และยังสอดคล้องกับความสนใจในปัจจุบันของเธอเรื่องนวัตกรรมทางสังคม

เธอตั้งใจให้บริษัทแห่งนี้ทำงานด้านนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) หรือแนวคิดใหม่ๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่พิมพ์หนังสือหรือทำงานเฉพาะเรื่องอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสร้างเวทีสนทนา ทำกิจกรรม สร้างเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนสังคมในมิติต่างๆ

“เราไปรู้จักกับหนังสือ ‘Design, When Everybody Designs: An Introduction to Design for Social Innovation’ ที่อินี่เอามาแปลในชื่อ ‘เราต่างเป็นนักออกแบบ’ อ่านแล้วรู้สึกว่ามันใช่เลย มันโดนมาก เวลาพูดถึงนวัตกรรม คนจะนึกถึงเทคโนโลยี แต่จริงๆ แล้วมันมีนวัตกรรมทางสังคม ที่มองโจทย์และแก้ปัญหาสังคมวัฒนธรรมด้วยวิธีการใหม่ๆ อย่างการจัดตลาดสีเขียวขึ้นในกรุงเทพฯ คือนวัตกรรมนะ มันไม่เคยมีในเมืองมาก่อน หรือการที่เกษตรกรและคนกินร่วมเป็นหุ้นส่วนกันในระบบ CSA นี่เป็นโคตร Innovation เลย ในหนังสือบอกว่าเราทุกคนเป็นนักออกแบบ ดังนั้นออกแบบชีวิตตัวเองสิ จินตนาการให้มันเป็นไปได้ แล้วจะเกิด Social Innovation”

อินี่ ผลักดันนวัตกรรมสังคมหลายประเด็น เช่น เรื่องพลเมืองอาหาร หรือ Food Citizenship ที่หมายถึงการสร้างพลเมืองที่เป็นพลังของระบบอาหาร ชวนคนมาร่วมมือกันและเดินหน้าเปลี่ยนแปลงวิถีการกินให้ดีขึ้น

ในประเด็นนี้มีกิจกรรมหลายอย่าง เช่น จัดเวทีเสวนาคาเฟ่พลเมืองอาหาร สร้างเครือข่ายคนกิน เชฟ เกษตรกร โรงเรียน หมู่บ้าน ให้รู้จักกัน จัดกิจกรรมทำอาหารชวนคนมากินข้าวด้วยกัน เล่าเรื่องราวของพลเมืองอาหารที่น่าสนใจ รวมถึงพิมพ์หนังสือ ‘ไกด์… ไม่ไร้สาระ สู่อาหารโลก’ กระตุ้นให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงบทบาทของผู้บริโภคที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม 

หรือแนวคิดเมือง 15 นาทีว่าด้วยเรื่องการออกแบบเมืองที่สามารถไปทำงาน พักผ่อน ซื้อของ เรียนหนังสือ ภายในรัศมีการเดินทางด้วยเท้าหรือปั่นจักรยานเพียง 15 นาที ซึ่งจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นอย่างมากมาย

นอกจากนี้ ห่วนยังเปิดเพจ Connecting the Commons พูดถึงการสร้างเมืองที่มี Commons หรือ ‘สมบัติส่วนรวม’ ที่เป็นประโยชน์กับทุกคน เช่นมีพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนมาพบเจอกัน พูดคุยกัน มีเทศกาลศิลปะ ถนนคนเดิน สมบัติส่วนรวมนี้ยังรวมถึงตลาดสีเขียว ร้านออร์แกนิก ร้านหนังสือ ระบบ CSA ทุกคนต้องร่วมกันสร้าง ช่วยกันสนับสนุนและดูแลสมบัติเหล่านี้ ซึ่งต่างจากวิธีคิดของระบบทุนนิยมปัจจุบัน ที่มีรายใหญ่หรือใครสักคนพยายามผูกขาดทุกอย่างเป็นสมบัติของตนเอง

อีกหนึ่งเป้าหมายสุดท้าทาย ที่อินี่วางไว้ก็คือ การทำให้จังหวัดนนทบุรีเป็นเมืองแห่งอาหารยั่งยืน โดยการผลักดันให้มีสภาอาหารเมืองนนทบุรี ทำหน้าที่วางนโยบายและจัดการระบบอาหารเพื่อให้คนในเมืองได้กินอาหารที่ปลอดภัย ในราคาที่ถูกลง

“ตอนเราพิมพ์หนังสือ ‘ไกด์…ไม่ไร้สาระสู่อาหารโลก’ เราพบว่าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือคนก่อตั้งสภาอาหาร ตอนแรกมันเริ่มที่โตรอนโต แล้วก็ขยายไปมิลาน อัมสเตอร์ดัม และอีก 300 เมืองทั่วโลก เราก็เลยอยากทำแบบนั้นบ้าง อยากให้ในระดับเทศบาลเมืองสามารถจัดการอาหารในพื้นที่ของตัวเองได้

“สภาอาหารควรเป็นอาณาเขตหนึ่ง ที่ทั้งการผลิต การกระจาย และการกิน ครบวงจรอยู่ในที่เดียวกัน ผลิตที่นี่แล้วต่อตรงมาที่คนกินให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่ว่าปลูกแล้วขนส่งออกไปตลาดไทแล้วกลับมา ถ้าทำได้มันจะลดการขนส่งลง เราพยายามจะสร้างสายสัมพันธ์ของผู้คนในระบบอาหาร พาคนปลูกกับคนกินมาเจอกันปีหนึ่ง 2-3 หนก็ยังดี พอเรารู้ว่าใครปลูกใครกิน รู้จักกัน อาหารจะมีความปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงการแก้ปัญหาขยะอาหาร เราเอาเศษอาหารตามบ้านไปส่งให้เกษตรกรทำเป็นปุ๋ยหมักได้ไหม มันคือการคิดทุกเรื่องของอาหารในพื้นที่หนึ่ง และเราคิดว่าน่าจะทำได้ที่จังหวัดนนทบุรี”

ช่วงที่ผ่านมา อินี่พยายามขับเคลื่อนแนวคิดสภาอาหาร โดยนำเกษตรกร คนกิน หน่วยงานราชการ เอกชน ในพื้นที่ใกล้เคียงกันมาพบปะพูดคุย แต่ด้วยสถานการณ์ของโรคระบาด ก็ทำให้งานต่างๆ ต้องหยุดชะงักลงไปบ้าง เธอตั้งใจว่าเมื่อทุกอย่างดีขึ้น ก็จะกลับมาเดินหน้าประเด็นนี้อย่างจริงจังอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม วิกฤตที่ผ่านมาช่วยทำให้เธอเห็นว่า แนวทางการขับเคลื่อนสังคมที่ทำอยู่ จะเป็นทางรอดที่สำคัญต่อไปในอนาคต ที่ทุกสิ่งทุกอย่างมีความไม่แน่นอนมากขึ้น

“โรคระบาดยิ่งช่วยตอกย้ำว่า ระบบอาหารที่ยั่งยืน คือคำตอบที่จะพาโลกไปสู่ทางรอดได้ พวกที่ทำตลาดสีเขียวอยู่ในระดับพื้นที่ หรือพื้นที่ที่คนปลูกส่งอาหารให้คนกินแบบห่วงโซ่สั้น โรคระบาดไม่กระทบพวกเขาเลย แต่ที่กระทบคือคนเมืองที่พึ่งตัวเองด้านอาหารไม่ได้ต่างหาก เวลาถูกล็อกดาวน์แล้วมีปัญหา อาหารขาดแคลน วัตถุดิบแพง ดังนั้นระบบอาหารที่ดีคือภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะมีวิกฤตกี่ครั้ง โลกร้อน หรือโรคระบาด สุดท้ายมันจะผ่านได้”

เรื่องราวของห่วนวัลลภา คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าอยากเห็นสังคมที่เราอยู่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องอาหาร สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งสำคัญคือการที่เราต้องมาช่วยกันคิด ออกแบบ หาวิธีการใหม่ๆ และกล้าลงมือทำเพื่อร่วมกันสร้างสังคมในฝันให้เกิดขึ้นจริง

โครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก

คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด คือบุคคลต้นแบบประเด็นยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 2), ประเด็นสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 12) และประเด็นดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (SDGs ข้อที่ 13)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.