SATARANA : เรื่องสาธารณะ..ที่ทุกคนออกแบบได้

<< แชร์บทความนี้

เมืองที่ดีเป็นแบบไหน?

หลายคนอาจเคยตั้งคำถามนี้กับตัวเองบ่อยๆ แล้วก็อดคิดหรือบ่นให้คนอื่นฟังไม่ได้ว่า เมื่อไหร่นะ ภาพที่ตัวเองใฝ่ฝันจะกลายเป็นความจริงเสียที แล้วก็จบไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แต่สำหรับคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งกลับคิดต่าง พวกเขาเชื่อว่า ต่อให้ตัวเองไม่มีอำนาจอยู่ในมือ แต่ใช่ว่า การสร้างเมืองในฝันจะต้องถูกปิดประตูตายเสมอไป

ถ้ากล้าลุกขึ้นมาทำ บางทีความเปลี่ยนแปลงก็อาจเป็นไปได้เหมือนกัน และนั่นเองที่นำมาซึ่งนวัตกรรมมากมายที่พวกเขาร่วมกันรังสรรค์ขึ้น อาทิ

Once Again Hostel โฮสเทลกลางย่านเก่าที่ดึงผู้คนมามีส่วนร่วมในการจ้างงานและพัฒนาชุมชนไปพร้อมๆ กัน

Trawell Thailand แพลตฟอร์มแนะนำและพัฒนาการท่องเที่ยว โดยเน้นดึงเสน่ห์ของชุมชนที่กำลังถูกลืมเลือนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่

MAYDAY! เครือข่ายที่สนใจแก้ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะด้วยการนำข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์มาสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยผลงานหนึ่งที่สร้างเสียงฮือฮามาก คือการปรับป้ายรถเมล์ให้เข้าถึงง่าย และให้ข้อมูลที่ครบถ้วน จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนป้ายรถเมล์ในเมืองกรุงอีกหลายจุด

Attention! Studio ทีมออกแบบที่ทำงานร่วมกับองค์กร เครือข่ายต่างๆ ที่มีปัญหาหรือต้องการให้เกิดการพัฒนา เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและเข้าถึงความตั้งใจของหน่วยงานเหล่านั้น

Locall Thailand แพลตฟอร์มสั่งอาหารที่สร้างขึ้นเพื่อชุมชนในช่วงโรคระบาด โดยเน้นไปยังกลุ่มร้านอาหารในพื้นที่ละแวกเดียวกับ Once Again Hostel

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อยากขอพาทุกคนไปรู้จักกับ 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก อย่าง กลุ่ม SATARANA ผ่านตัวแทนสมาชิก 4 คน คือ ศา-ศานนท์ หวังสร้างบุญ, มัย-ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์, อุ้ม-วิภาวี กิตติเธียร และ แวน-วริทธิ์ธร สุขสบาย ที่เปี่ยมด้วยความคิดและความตั้งใจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาชุมชนและเมือง ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชนให้เกิดขึ้นได้จริง

แล้วคุณจะเข้าใจว่า เรื่องสาธารณะไม่ใช่ปัญหาของใครคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องร่วมมือ เพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าให้เกิดขึ้นร่วมกัน

จากโรงแรมสู่ความฝัน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 มีโรงพิมพ์เก่าแห่งหนึ่งในซอยสำราญราษฎร์ ใกล้ประตูผี ถูกปล่อยทิ้งร้างมานานหลายสิบปี และไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อดี

พอดีทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวเจ้าของตึก คือ มิค-ภัททกร ธนสารอักษร ซึ่งเรียนจบสถาปัตยกรรมศาสตร์มา เห็นว่าโครงสร้างอาคารนั้นแข็งแรงมาก น่าจะดัดแปลงเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง เขาจึงปรึกษาศานนท์ เพื่อนเก่าสมัยเรียนอยู่ที่เซนต์คาเบรียล

เวลานั้นศากำลังรู้สึกอิ่มตัวกับงานวิศวกรที่มาทำ 5 ปีเต็ม และนึกถึงกิจกรรมค่ายสมัยยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย จึงอยากสร้างธุรกิจที่แตกต่างที่ดึงการมีส่วนร่วมจากผู้คนได้มากๆ 

ด้วยความที่ช่วงนั้นเมืองไทยเพิ่งผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมได้ไม่นานนัก และยังพบว่า ในบ้านเรายังมีปัญหาเต็มไปหมด ทั้งเรื่องชุมชนแออัด คนยากจน การศึกษา ศาคิดว่า หากจะทำธุรกิจสักอย่างก็อยากช่วยยกระดับชุมชนรอบข้างให้ดีขึ้นด้วย

ก่อนจะตกผลึกร่วมกัน จนเกิดเป็นธุรกิจโรงแรมเล็กๆ ที่ยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง

“ผมมาวิ่งเล่นตรงนี้ตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่เคยคิดว่าจะได้มาทำธุรกิจที่นี่ ซึ่งแถวนี้แต่เดิมเป็นชุมชนโบราณ เป็นจุดขอบของพระนครพอดี เป็นย่านสังฆทาน สังฆภัณฑ์มาก่อน แล้วพอลงคุ้ยข้อมูลต่างๆ ก็พบว่า พอโลกเรามีการปรับตัวของอุตสาหกรรม ทำให้ชุมชนต่างๆ มีรายได้ลดลง เลยคิดว่า ถ้าเราช่วยเป็นกระบอกเสียงหรือส่วนหนึ่งให้สปอตไลต์หันมาที่ชุมชนบ้างก็น่าจะดี” ศากล่าว

ระหว่างนั้น มิคกับศาจึงลงพื้นที่สำรวจเรื่องราวละแวกนั้นอยู่ราวครึ่งปี กระทั่งพบข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย อาทิ บนเกาะรัตนโกสินทร์นั้นเต็มไปด้วยชุมชนมากมาย เช่น ถนนดินสอ ก่อนจะเป็นชื่อถนน ก็เคยเป็นชื่อชุมชนที่ทำดินสอพองกันคึกคัก หรือชุมชนใบลาน ซึ่งทุกวันนี้หลงเหลือแต่ชื่อแล้ว ก็เคยเป็นแหล่งผลิตกระดาษแห่งสำคัญของกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นคงจะดีไม่น้อย หากพวกเขาสามารถทำให้เรื่องราวเหล่านี้กลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง

นั่นเองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Once Again Hostel โฮลเทลที่ไม่ได้เป็นเพียงที่พักของนักเดินทาง แต่ยังวางเป้าหมายใหญ่อย่างการพลิกฟื้นชุมชนรอบข้างให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

โจทย์หนึ่งที่พวกเขาคำนึงถึงคือ การกระจายรายได้ให้ชุมชนต่างๆ มากที่สุด

เริ่มตั้งแต่การออกแบบ อย่างเฟอร์นิเจอร์ก็ใช้ของจากชุมชนภูเขาทอง หรือนำฝาบาตรจากชุมชนบ้านบาตรมาทำวอลเปเปอร์ หรือแม้แต่พนักงาน คนขับรถก็เน้นคนท้องถิ่นเป็นหลัก รวมถึงนำของดีที่น่าสนใจของละแวกนั้นมาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวที่มาเข้าพัก

ทว่าระหว่างที่ทั้งคู่กำลังสนุกกับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ศาก็ได้รับโอกาสครั้งสำคัญของชีวิต เมื่อเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของค่ายผู้นำรุ่นใหม่เพื่อสังคม ในโครงการ One Young World Summit 2015 ซึ่งคัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อสังคมหน้าใหม่ มาร่วมอบรมและเสนอแผนงานเพื่อริเริ่มหรือสานต่อกิจการเพื่อสังคมของตัวเอง

โครงการนี้ทำให้ศาได้เจอกับเพื่อนใหม่มากมาย นั่นคือ มัย ผู้ประกาศสาวจากสถานีโทรทัศน์ NOW26 รวมถึง นุ่น-สุรัชนา ภควลีธร, ลี่-กีรติ วุฒิสกุลชัย และ แบงค์-สพณ พิทักษ์ ทั้งห้าคนมีความสนใจคล้ายๆ กัน จึงรวมกลุ่มกันนำเสนอแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร อย่าง Trawell Thailand

“ช่วงนั้นมีการแบ่งกลุ่มกันตามความสนใจ ซึ่งเราสนใจเรื่องความยากจน โดยเฉพาะความยากจนในเมืองที่เกิดจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น คนต่างถิ่นย้ายเข้ามาแล้วไม่มีทางไปต่อ พอดีช่วงนั้นโฮสเทลใกล้จะเปิดแล้ว ศาก็เลยบอกว่ามีพื้นที่ตรงนี้อยู่ เรามาทำเรื่องท่องเที่ยวกันไหม ตอนนั้นเราก็เลยลงพื้นที่ต่างๆ ไปเก็บข้อมูล ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกกันคือ การท่องเที่ยวเป็นแค่เครื่องมือหนึ่ง แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมดของการแก้ปัญหาความยากจนหรือเศรษฐกิจชุมชนเมือง ชุมชนเองก็ต้องพยายามหา Solution อื่นๆ เข้ามาช่วยด้วย” มัยอธิบาย

ครั้งนั้น พวกเขาเข้าไปร่วมทำงานกับ 4 ชุมชน คือ นางเลิ้ง บ้านบาตร วังกรมพระสมมตอมรพันธ์ุ และป้อมมหากาฬ ซึ่งอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับ Once Again Hostel นั่นเอง

โมเดลที่พวกเขานำเสนอคือ การสร้างธุรกิจที่ทุกคนในชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน เพราะปัญหาหนึ่งที่เห็นคือ ต่างคนต่างทำ แล้วก็เกิดความขัดแย้ง และสุดท้ายชุมชนก็ไม่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงพยายามออกแบบการท่องเที่ยวที่ทุกคนได้ประโยชน์ โดยที่ชุมชนยังคงรักษาวิถีชีวิตของตัวเองได้ด้วย

โดยไอเดียแรกที่วางไว้คือ ส่งเสริมให้ชุมชนสร้างองค์กรกลางอย่างสหกรณ์ออมทรัพย์ชุมชน ทำหน้าที่จัดการผลประโยชน์ต่างๆ ของทุกคนในชุมชน โดยแต่ละคนจะมีโอกาสถือหุ้นและได้รับเงินปันผลที่เหมาะสม จากรายได้ที่ได้รับจากธุรกิจส่วนกลางที่ทุกคนเป็นเจ้าของ เช่น พื้นที่ส่วนกลาง ร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ หรือโฮสเทล ลดความเหลื่อมล้ำภายในชุมชนลง

ขณะเดียวกัน กลุ่ม Trawell ก็เข้าไปเติมเต็มช่องว่างบางอย่างที่คิดว่าอาจจะพอช่วยพัฒนาได้บ้าง เพื่อเพิ่มโอกาสของชาวบ้านให้มากขึ้น อาทิ เรื่องการตลาด ตั้งแต่จัดทำป้ายบ่งบอกความสำคัญของพื้นที่ หาเรื่องราวและจุดขายของชุมชนต่างๆ มาปั้นเป็นจุดขายใหม่ เพื่อทำให้ชุมชนนั้นมีเสน่ห์ เตะตานักท่องเที่ยวให้รู้สึกอยากไปค้นหา ซึ่งปลายทางที่พวกเขาฝันถึงก็คือ ความอยู่รอดของชาวบ้าน 

ตัวอย่างเช่น บริเวณตรอกระหว่างบ้านเต้นรำกับตรอกละครชาตรี ในย่านนางเลิ้ง จะมีตรอกเล็กๆ ที่ทำพายเรือขาย ซึ่งถือเป็นอาชีพที่หายากในเมืองไทย แต่น่าเสียดายที่ตอนนั้นไม่มีใครทำแล้ว เพราะคิดว่า ทำไปก็ขายไม่ได้อยู่ดี กลุ่ม Trawell ก็เข้ามาเสนอหนทางใหม่ๆ เช่น ต่อยอดทำเป็นงานศิลปะหรือของที่ระลึก หรือจัดเวิร์กช็อปผลิตไม้พาย พูดง่ายๆ คือไม่จำเป็นจะต้องผูกติดกับการนำไปใช้พายเรือในแม่น้ำเท่านั้น ส่งผลให้ภูมิปัญญานี้ยังอยู่ได้ในโลกยุคปัจจุบัน

หรือบาตรพระที่ชุมชนบ้านบาตร ถ้าพูดในแง่การแข่งขันในตลาดนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะลำพังการผลิตบาตรหนึ่งใบก็กินเวลาไปแล้ว 2 สัปดาห์ ต่างจากบาตรที่ผลิตในโรงงานที่ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง แถมราคาก็ยังย่อมเยากว่าหลายเท่าตัว แม้จะอ้างอิงพระธรรมวินัยว่า บาตรที่ถูกต้องต้องต่อจากเหล็ก 8 ชิ้น แต่แน่นอนว่าในโลกความเป็นจริงไม่มีใครสนใจ ดังนั้นหากต้องการอยู่ได้ก็ต้องปรับรูปแบบการนำเสนอจากการขายบาตรเพื่อให้พระนำไปใช้อย่างเดียว ก็อาจจะทำเป็นของประดับ หรือหันมาเน้นเรื่องการท่องเที่ยวแทน

จากข้อมูลเหล่านี้ ทีมงานก็นำมาตกผลึกและสร้างสรรค์เป็นกิจกรรม เช่น ทัวร์ชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักและเข้าใจพื้นที่แต่ละแห่งลึกซึ้งมากขึ้น อย่าง นางเลิ้งมีอาหารอร่อย มีละครชาตรี พวกเขาก็พานักท่องเที่ยวจาก Once Again Hostel เข้าไปสำรวจ เข้าไปพูดคุย ทำกิจกรรมต่างๆ เช่นทำอาหาร ทดลองสร้างงานศิลปะ หรือแม้แต่สอนภาษาอังกฤษให้ชาวบ้าน ทำให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้และเข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงของชุมชนมากขึ้น

การสร้างชุมชนที่เน้นความยั่งยืนเป็นสำคัญ ส่งผลให้ Trawell Thailand ชนะเลิศการประกวด One Young World 2015 และได้ทุนก้อนใหญ่เพื่อพัฒนาเป็นธุรกิจจริงจังในปีถัดมา

สำหรับพวกเขาแล้ว การทำงานของ Trawell คือการเรียนรู้ และพัฒนาตลอดเวลา บางอย่างที่คิดไว้ในตอนแรกก็อาจจะใหญ่เกินจะทำได้จริง ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ค้นหาต้นทุนใหม่ๆ ในสังคมเพื่อให้ชุมชนมีทางเลือกอื่นๆ ในชีวิตเพิ่มเติม

อย่างเช่น ชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธุ์เป็นแหล่งผลิตสบงจีวร ซึ่งในการผลิตแต่ละครั้งมีเศษผ้าเหลือเยอะมาก พวกเขาจึงไปช่วยคิดวิธีนำเศษผ้าเหลือทิ้งมาดัดแปลงเกิดเป็นกระเป๋าย่ามสุดฮิปรุ่นเอม มาจากคำว่า เอมใจ พร้อมนำเสนอมิติคุณค่าของการทำบุญรูปแบบใหม่ เพราะรายได้จากการซื้อก็จะช่วยให้ช่างเย็บสบงจีวรมีกำลังในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อพระพุทธศาสนาต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการชักชวนคนรุ่นใหม่เข้ามาระดมไอเดียร่วมกัน อย่างเช่น อุ้ม บัณฑิตด้านสถาปัตยกรรมผังเมือง ก่อนหน้านี้อุ้มเคยทำสารนิพนธ์ เรื่องการเดินเท้าในพื้นที่แขวงพระบรมมหาราชวังเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งตอบโจทย์การทำงานของ Trawell Thailand พอดี

“ตอนที่เลือกทำธีสิสตั้งใจเลือกพื้นที่แถวบ้านตัวเองเป็นหลัก แล้วช่วงนั้นการท่องเที่ยวก็พีกมาก อย่างหน้าวัดพระแก้ว สุดยอดของคำว่ารถติด แล้วส่วนตัวก็เกลียดการเขียนนโยบายมาก เพราะรู้สึกว่ามันเป็นได้แค่ข้อแนะนำ โอกาสที่จะนำไปทำจริงได้นั้นยากมาก จนมาเจอคอนเทนต์ของ Trawell เจอพี่ศาก็เลยลองมาคุยกัน แล้วเหมือนสิ่งที่นำเสนอนั้นนำมาใช้ได้เลย แทบไม่ต้องทำอะไรใหม่ ก็เลยเริ่มมาทำด้วยกัน” อุ้มย้อนความ

ทว่าหลังทำงานมาได้ไม่กี่เดือน พวกเขาก็เจออุปสรรคครั้งสำคัญ เมื่อชุมชนป้อมหากาฬ หนึ่งในชุมชนที่ลงไปทำงานด้วยกำลังถูกไล่รื้อ เพื่อเปลี่ยนพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นสวนสาธารณะ

พวกเขาตัดสินใจลุกขึ้นมาช่วยเหลือชาวบ้าน ด้วยความหวังที่จะรักษาชุมชนเก่าแก่แห่งนี้ให้ยังคงอยู่คู่เกาะรัตนโกสินทร์ต่อไป และนั่นเองคือหมุดหมายสำคัญที่นำไปสู่การต่อยอดจนเกิดเป็นกลุ่ม SATARANA เพื่อทำงานเรื่องเมืองและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง

ความหวังที่เกิดจากความล้มเหลว

ชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่คู่เกาะรัตนโกสินทร์มานานกว่า 200 ปี

ที่นี่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย ด้วยเป็นบ่อเกิดของลิเกทรงเครื่องพระยาเพชรปาณี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดลิเกแห่งแรกในสยาม เป็นแหล่งผลิตเครื่องดนตรีไทย ปั้นเศียรพ่อแก่ ทำกรงนกเขาชวา และยังมีบ้านไม้โบราณหลายหลังที่ปลูกขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3

ด้วยเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตน่าสนใจ Trawell จึงลงพื้นที่ด้วยความหวังจะสร้างการท่องเที่ยวชุมชนที่ยั่งยืน และต่อยอดภูมิปัญญาต่างๆ ให้คงอยู่ต่อไป

หากแต่ปัญหาใหญ่ที่ชาวบ้านต้องเผชิญมานาน คือ พวกเขาไม่มีกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินตรงนี้ และกรุงเทพมหานครก็ต้องการรื้อถอนบ้านและชุมชนทั้งหมดออกจากแนวรั้วกำแพงป้อมมหากาฬ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทำเป็นสวนสาธารณะ ตามแผนที่วางไว้มาตั้งแต่ปี 2502

กระทั่งปี 2535 ก็เริ่มเวนคืนอย่างจริงจัง ซึ่งชาวบ้านบางส่วนก็ยินดีรับเงินแล้วย้ายออก แต่คนส่วนใหญ่ขอเลือกหยัดยืนต่อสู้เพื่อรักษาบ้านและชุมชนที่อาศัยมานานหลายชั่วคนต่อไป

ทว่าการต่อสู้ระหว่างชุมชนกับรัฐกลับยิ่งปะทุหนักขึ้นเมื่อกรุงเทพมหานครประกาศจะรื้อถอนชุมชนออกทั้งหมดภายในวันที่ 30 เมษายน 2559

ทีมงานของ Once Again Hostel และ Trawell Thailand จึงประกาศตั้งกลุ่ม Mahakan MODEL ขึ้นมา เพื่อเป็นสื่อกลางคอยเชื่อมโยงรัฐกับชุมชนไว้ด้วยกัน พร้อมเสนอแนวคิด ‘พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต บ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ’ เพื่อแสดงให้เห็นว่า คนและโบราณสถานสามารถอยู่ร่วมกันแบบเกื้อกูลได้ โดยหวังให้ที่นี่เป็นต้นแบบแก่การพัฒนาชุมชนอื่นๆ ที่มีปัญหาเดียวกันต่อไป

การขับเคลื่อนครั้งนี้ได้รับเสียงตอบรับจากผู้คนมากมาย ทั้งนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ที่เข้ามาเสนอแนวทาง เช่น กรุงเทพมหานครควรอนุรักษ์บ้านไม้โบราณในชุมชนจำนวน 18 หลัง เพราะนอกจากจะสัมพันธ์กับสังคมและวิถีชีวิตผู้คนแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับมิติทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เมืองหลวงแห่งนี้มีพัฒนาการอย่างไรบ้างตลอดสองศตวรรษที่ผ่านมา

ที่สำคัญยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่หลากอาชีพ ที่ตัดสินใจร่วมอุดมการณ์กับ Mahakan MODEL อาทิ มือกราฟิก แวน ฝ่ายศิลป์ที่สนใจเรื่องการพัฒนาเมืองมากเป็นพิเศษ และมาร่วมงานกับศาที่ Once Again Hostel หรือ เต-เตชิต จิโรภาสโกศล อดีตกราฟิกดีไซเนอร์ที่เคยมีโอกาสไปแสดงผลงานถึงมหานครนิวยอร์ก สถาปนิกชุมชนอย่าง ฮิน-ฐากูร ลีลาวาปะ ซึ่งตอนหลังก็ได้บุกเบิกกลุ่ม Cross และยังธน รวมไปถึงกลุ่มนักเขียน นักสร้างคอนเทนต์ อย่าง เนย-สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล เป็นต้น

แม้หลายคนจะเป็นเพียงทีมงานอาสา แต่ก็ตั้งใจขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ ด้วยความหวังที่จะแสดงให้เห็นว่า พลังของคนเล็กคนน้อยก็สามารถสร้างสังคมที่เข้มแข็งได้ โดยนอกจากจะลงพื้นที่เพื่อค้นหาต้นทุนของชุมชนเก่าแก่เพื่อนำไปต่อยอดสู่สาธารณชน พวกเขายังพยายามสร้างนวัตกรรมทางสังคมต่างๆ เพื่อให้ชุมชนนี้มีความเข้มแข็ง และพร้อมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวกลางกรุง 

อย่างเช่น จัดให้มีมัคคุเทศก์น้อยนำชมชุมชน เปิดห้องสมุดมหากาฬ โดยต่อยอดไอเดียจากเด็กและเยาวชนในชุมชนว่าอยากมีพื้นที่เรียนรู้ของตัวเอง จึงให้เด็กๆ นำหนังสือในบ้านมามอบให้ห้องสมุด จากนั้นก็ประชาสัมพันธ์ต่อในโลกออนไลน์ ซึ่งปรากฏว่ามีหนังสือหลั่งไหลเข้ามาเป็นพันเล่มในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน หรือยังมีแปลงผักสวนครัว ซึ่งอยากให้ทุกคนในชุมชนใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างให้มากที่สุด จึงชักชวนให้มาปลูกผักในพื้นที่ของบ้านไม้หลังหนึ่งที่ถูกรื้อออก

ขณะเดียวกัน ก็ยังยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจมานำเสนอ เช่น ตอนที่รัฐบาลจีนเตรียมจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เมื่อปี 2551 ก็มีการอพยพคนในกรุงปักกิ่งออกนอกพื้นที่กว่า 580,000 คน แต่เลือกเก็บชุมชนหูท่ง ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของขุนนางรอบพระราชวังต้องห้ามไว้ พร้อมพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม มีเปิดสอนทำอาหารและงานศิลปะโบราณ เพื่อเชื่อมโยงให้ชาวโลกได้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนปักกิ่งที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี

แต่ถึงพวกเขาจะทำงานหนักเพียงใด น่าเสียดายที่ผู้บริหารบางคนกลับมองว่า การพัฒนากับชุมชนเป็นคนละเรื่องกัน เมืองที่สวยงามไม่จำเป็นต้องมีคนก็ได้ จึงเดินหน้ารื้อถอนบ้านต่อไป พร้อมติดป้ายขนาดใหญ่ ‘ขอบคุณที่คืนพื้นที่ป้อมมหากาฬ โบราณสถานอันล้ำค่าของทุกคน’ และช่วงปลายปีเดียวกัน ชาวบ้านทุกคนต้องย้ายออกจากชุมชนเป็นการถาวร

“เราทำงานนี้ไม่สำเร็จ มันเป็นเหมือนแผลในใจของคนทุกคน เพราะเราเอาชีวิตลงไปกันเยอะมาก มันไม่ใช่แค่แรง แต่เป็นเรื่องอุดมการณ์” ศาเผยถึงความรู้สึก

“ป้อมมหากาฬเป็นชุมชนที่สตอรี่ดีมาก เป็นชุมชนสุดท้ายที่อาศัยอยู่ในป้อมที่เหลืออยู่ในเขตพระนคร เราเป็นเพื่อนบ้านกันตั้งแต่แรก แล้ววันหนึ่งมันหายไปต่อหน้าต่อตาเรา ก็ทำให้เราดำดิ่งไปมากเหมือนกัน มันไม่ใช่เรื่องที่อยู่อาศัย ไม่ได้เป็นเรื่องท่องเที่ยว แต่เป็นชีวิตของเขาเลย” มัยช่วยเสริม

“ตอนนั้นทีมเรามีกันหลายคน ประมาณ 15-20 คน บางคนก็มาชั่วคราว บางคนก็มาประจำ เราก็เลยอยากให้มีการจัดการที่ชัดเจน ซึ่งพอไม่มีป้อมมหากาฬแล้ว เราจะทำอะไรต่อดี ก็เลยนึกถึงโมเดลที่สามารถรองรับความสนใจของทุกคนได้” ศาในฐานะแกนหลักของกลุ่มอธิบาย

และนั่นเองคือจุดเริ่มของ SATARANA องค์กรกลางที่ทำหน้าที่เป็นร่มใหญ่ในการขับเคลื่อนงานทั้งหมดของคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้ให้ดำเนินต่อไป

เพราะสาธารณะคือเรื่องของทุกคน

“เวลาเจอคอมเมนต์แบบว่า ถ้ารัฐบาลทำได้ ถ้า กทม.ทำได้ คนเหล่านี้ไม่ต้องมาทำหรอก จะรู้สึกหงุดหงิดมาก เพราะความจริงแล้ว รัฐบาลไม่ใช่คู่แข่งเรา เราไม่ได้ทำงานแทนรัฐบาล แต่มันต้องเสริมกัน รัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริมเรา เชื่อมโยงเราให้เราทำงานได้ต่อไป” มัยเผยถึงการทำงานของ SARATANA

เพราะพวกเขาเชื่อเสมอว่า ไม่มีใครไม่อยากเห็นเมืองดีขึ้น แต่แน่นอนการนั่งอยู่เฉยๆ แล้วรอให้เมืองดีเองคงเป็นไปไม่ได้ การออกมาช่วยกันคนละไม้คนละมือน่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากที่สุด

อย่างเรื่องหนึ่งที่ศาย้ำบ่อยๆ คือ เวลานี้หมดยุคผู้นำเดี่ยวแล้ว แต่เป็นยุคของการมีส่วนร่วม เพราะทุกคนต่างมีความต้องการของตัวเอง ดังนั้นการพัฒนาใดๆ ก็ควรเริ่มจากการพูดคุย การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งการหาจุดสมดุลที่ลงตัวของทุกฝ่าย

“ป้อมมหากาฬถือเป็นโรงเรียนที่สอนเลยว่า เราจะคิดทุกอย่างเป็นเส้นตรงไม่ได้ เช่นเราเคยมองว่า ชุมชนมีรายได้น้อย ก็เอาการท่องเที่ยวใส่เข้าไป เขาก็น่าจะดีขึ้น แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ทุกคนที่อยากได้การท่องเที่ยว เช่นบางบ้านก็มีหลุมหลบภัยข้างใน แต่ไม่อยากบอกใคร สิ่งเหล่านี้เราเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ก็เหมือนเวลาเราฟังข่าวจากชุมชนกับ กทม. ซึ่งอาจพูดไม่เหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เขาพูดจะไม่จริง มันอาจจะจริงในมุมของเขา ดังนั้นการมีส่วนร่วมมันทำให้เกิดพลวัตขึ้นมา ทำให้เกิดไดอะล็อกขึ้นมา ทำให้ทุกฝ่ายมีโอกาสได้พูดคุย แล้วจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน”

ด้วยการทำงานแบบสงวนจุดต่าง แสวงจุดร่วมเช่นนี้เอง ทำให้ทุกคนใน SATARANA สามารถนำเสนอมุมมองที่ตัวเองสนใจได้อิสระ และหลายครั้งที่ไอเดียดีๆ ซึ่งเคยเป็นเพียงรายงานหรืองานวิจัยส่งอาจารย์ ได้รับการต่อยอดไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

“ความต่างเป็นข้อดีของทีม เพราะเวลาที่ทำงานเมือง ความต่างทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ทางไอเดียในมิติที่หลากหลาย แต่สิ่งสำคัญที่เชื่อมร้อยพวกเราไว้ คือความเชื่อเรื่องกระบวนการทำงานว่า เราสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้ เวลามีไอเดียใดๆ เราจะพยายามดันให้เกิด จะไม่เก็บมันให้เป็นแค่รายงานเล่มหนึ่งแน่นอน” อุ้มอธิบายบ้าง

เพราะฉะนั้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา SATARANA จึงสามารถสร้างงานฉีกกรอบความคิดเดิมๆ ที่เกาะกุมสังคมไทยมายาวนาน อย่างโปรเจกต์หนึ่งที่หลายคนอาจคุ้นชื่อ คือ MAYDAY! ซึ่งนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางในเมืองกรุงด้วยระบบขนส่งสาธารณะให้เข้าใจง่าย และใช้งานได้จริง

ความจริงแล้ว MAYDAY! เกิดก่อน SARATANA เสียอีก เดิมทีเป็นโปรเจกต์ย่อยของ Trawell Thailand ซึ่งแวน กราฟิกหนุ่มผู้หลงใหลในการเดินทางด้วยรถสาธารณะ เป็นผู้ผุดไอเดีย โดยได้แรงบันดาลใจจากงานพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9

สมัยก่อนเขาคิดว่า คนส่วนมากไม่อยากขึ้นรถเมล์เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของความจน แต่พอมาถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ที่มีการเคลื่อนพระบรมศพจากโรงพยาบาลศิริราช มีคนมากมายเดินทางเข้าเมืองเพื่อมารอรับขบวน แวนก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเดินทางมาสนามหลวงด้วยรถประจำทางเก่าๆ คันหนึ่ง ซึ่งพอขึ้นไปเจอหน้าคนคุ้นเคยหลายคน บางคนเป็นถึงผู้บริหาร เขาจึงเริ่มตกผลึกว่า สิ่งที่เชื่อมาตลอดอาจไม่ถูกต้องเสมอไป บางทีรถเมล์ก็เป็นตัวเลือกที่ทุกคนใช้ได้ หากจำเป็น ดังนั้นเขาอยากค้นหาวิธีที่ช่วยทำให้คนลดการใช้รถส่วนตัว และเปลี่ยนมาใช้รถขนส่งสาธารณะแทน

แวนจึงนำโจทย์นี้ไปพูดคุยกับทีมงาน ซึ่งทุกคนก็เห็นตรงกันว่า ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะเป็นหัวใจหลักของการเดินทางในเมือง และนำไปสู่การเก็บรวบรวมข้อมูลปัญหาของรถขนส่งสาธารณะแต่ละประเภท ทั้งรถประจำทาง เรือสาธารณะ รวมไปถึงระบบราง เพื่อจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและแนวทางการดำเนินงานที่เป็นไปได้มากที่สุด โดยโฟกัสมายังพื้นที่ที่คุ้นเคยอย่างเกาะรัตนโกสินทร์เป็นลำดับแรก 

“เราคิดว่า ถ้าขนส่งสาธารณะดี คนก็ไม่ต้องซื้อรถ และก็น่าจะช่วยลดต้นทุนหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องเวลา เพราะบางคนก็ต้องมานั่งรถติดนาน 2-3 ชั่วโมง ถ้าเราแก้ปัญหาตรงนี้ได้อาจจะช่วยให้เขาทำงานได้มากขึ้น มีรายได้มากขึ้น” ศายกตัวอย่าง

ที่สำคัญเรามองว่า เมืองที่บอกว่าตัวเองจะเป็นมหานคร แต่ยังจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ก็ย่อมกระทบต่อการท่องเที่ยวแน่นอน อย่างเกาะรัตนโกสินทร์เป็นตัวอย่าง ชาวต่างหลายคนก็ไม่ได้ชอบนั่งแท็กซี่ตลอดเวลา เขาอยากมีทางเลือกที่ถูกกว่า เพราะฉะนั้นหากการขนส่งสาธารณะดี จากสนามบินนั่งรถสายนี้มาถึงเลย แล้วก็มีป้ายบอกชัดเจน มันจะช่วยได้มากเลย แต่ปัญหาคือ ที่ผ่านมาเราแทบไม่เห็นใครลุกขึ้นมาทำตรงนี้ ทั้งที่เป็นส่วนสำคัญของเมือง แวนอธิบายต่อ

กระบวนการทำงานหลักของ MAYDAY! คือการผสมผสานข้อมูลที่พอเหมาะกับกราฟิกที่ช่วยให้เข้าใจง่ายเข้าไว้ด้วยกัน โดยงานแรกที่พวกเขานำเสนอนั้นเป็นแผ่นพับแผนที่รถเมล์บริเวณสนามหลวง ซึ่งจะบอกถึงจุดจอดรถและเส้นทางเดินรถต่างๆ ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นช่วงที่คนจากทั่วสารทิศเดินทางมาที่สนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง

พอจบงานดังกล่าว พวกเขาสังเกตเห็นว่า ข้อมูลบนป้ายรถเมล์นั้นมีน้อยมาก หลักๆ มีแค่เลขของสายรถเมล์ที่ผ่านหน้าป้ายนั้นเท่านั้น ทั้งที่ความจริงป้ายรถเมล์ควรใช้งานให้เต็มศักยภาพมากกว่านี้ เช่น รถสายนี้จะไปไหนบ้าง ผ่านสถานีรถไฟฟ้าหรือเรือสาธารณะหรือเปล่า เพื่อช่วยให้ทุกคนวางแผนการเดินทางของตัวเองได้ และไม่ทำให้ขึ้นรถเมล์ผิดสายอีกด้วย

เพราะฉะนั้นเพื่อให้ได้ป้ายรถเมล์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนเมืองอย่างแท้จริง จึงมีการระดมความคิดจากกลุ่มคนหลากวัยหลายอาชีพ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความคิดไม่เหมือนกัน เช่น อยากได้ป้ายที่มีตัวหนังสือเป็นอย่างไร มีสีสันแบบไหน หรือควรใส่ข้อมูลอะไรบ้าง ถึงจะดูไม่ยัดเยียดเกินไป

โดยการทำงานครั้งนี้ MAYDAY! ไม่ได้ทำเพียงลำพัง แต่ยังมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าของพื้นที่ เข้ามาร่วมด้วย เพราะสำหรับพวกเขา สิ่งที่ช่วยทำให้งานเดินไปได้ คือการดึงทุกภาคส่วนเข้ามารับทราบปัญหาร่วมกัน และช่วยกันหาวิธีจัดการที่ยั่งยืน

และเมื่อได้ไอเดียเรียบร้อยแล้ว ก็มีการออกแบบป้ายและทดลองนำไปติดทดแทนป้ายเดิมที่บริเวณสี่แยกคอกวัว และเกาะพญาไท-ดินแดง บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก เพราะแม้จะเป็นเพียงป้ายเล็กๆ ไม่กี่ป้าย แต่กลับมีพลังมหาศาล เนื่องจากข้อมูลที่ป้ายนำเสนอนั้นตรงใจกับสิ่งที่ชาวกรุงหลายคนอยากเห็นมานาน ตามหลักคิดที่ว่า Small Change, Big Move

จากนั้นก็มีการพัฒนาปรับเปลี่ยน แต่งเติมรายละเอียดเพื่อให้ป้ายนี้อ่านและทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น หาลูกเล่นต่างๆ เช่นสายนี้ไปไหน ถ้าอยากเดินทางไปจุดนี้ต้องควรนั่งรถสายอะไรดี จากนั้นทางกรุงเทพมหานครนำป้ายรถเมล์ไปเปิดโหวต เพื่อให้ประชาชนตัดสินว่า อยากได้ป้ายแบบไหน จนทุกวันนี้ป้ายรถเมล์ของ MAYDAY! ก็กระจายไปทั่วกรุง

หากแต่ความสำเร็จนี้เป็นเพียงแค่ก้าวแรกเท่านั้น เพราะยังมีปัญหาอีกร้อยแปดพันประการให้ต้องสะสาง ทั้งตัวรถประจำทาง เลขสาย หรือแม้ระบบบริการของรถให้พร้อมเป็นตัวเลือกที่ทุกคนวางใจ

“ตอนนี้เราไปร่วมงานกับ ขสมก. ซึ่งสิ่งที่เราอยากเห็นต่อไปคือ การเปลี่ยนแปลงระบบรถเมล์ของ ขสมก. ให้ดีขึ้น ซึ่งต้องถือเป็นงานหินมาก เพราะลำพังแค่ตัวรถเมล์เอง หากลิสต์มาจะพบว่าเกินร้อยข้อที่ต้องแก้ เราจึงต้องออกแบบดีไซน์ร่วมกัน เอาความต้องการทุกอย่าง ทั้งผู้ใช้งาน และผู้ให้บริการมานั่งวิเคราะห์แล้วเรียนรู้ว่า ช่องว่างที่ขาดหายควรจะเติมเต็มอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่กำลังผลักดันให้เกิดขึ้นจริง” อุ้มในฐานะผู้จัดการโครงการกล่าว

นอกจาก MAYDAY! แล้ว อีกโมเดลหนึ่งที่ SATARANA ริเริ่มขึ้น คือ Attention! Studio เพื่อสร้างสรรค์งานกราฟิกที่เน้นช่วยเหลือภาครัฐและธุรกิจเพื่อสังคมให้สื่อสารงานของตัวเองได้ดีขึ้น

โดยแรงบันดาลใจนั้นมาจากช่วงที่ MAYDAY! จัดเวิร์กช็อปแล้วมีดีไซเนอร์ฝีมือดีมาร่วมกิจกรรมเยอะมาก ด้วยเห็นตัวอย่างแล้วว่างานออกแบบดีๆ ก็สามารถเปลี่ยนสังคมได้เช่นกัน ทีม SATARANA จึงเห็นว่า ความจริงแล้วยังมีงานดีๆ ของหน่วยงานต่างๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา เพียงแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะขาดทักษะการสื่อสารที่น่าสนใจ ฉะนั้นหากอุดช่องว่างตรงนี้ก็น่าจะเพิ่มการรับรู้ของผู้คนในวงกว้างได้เช่นกัน

“เราเชื่อว่าหน่วยงานต่างๆ มีของดีอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือเขาทำกราฟิกไม่เป็น เขียนคอนเทนต์ไม่ได้ ถ่ายวิดีโอไม่เป็น เราก็คิดว่าควรทำยูนิตเพิ่มขึ้นมาเพื่อเน้นงานเรื่อง Communication Design เป็นการเฉพาะ โดยมุ่งเป้าไปยังคนตัวเล็กทั้งหลายที่พูดเรื่องตัวเองไม่ได้ หรือหน่วยงานรัฐที่ทำงานออกมาแล้วดูทางการเหลือเกิน จนไม่มีใครจับต้องหรือเข้าถึงได้ เราก็เข้าไปช่วยตรงนี้” อุ้มอธิบาย

ที่ผ่านมา Attention! Studio อยู่เบื้องหลังผลงานที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ASA CREW Magazine นิตยสารของสมาคมสถาปนิกสยาม รวมรวมเรื่องราวสถาปนิกและผลงานสถาปัตยกรรมไทยที่น่าสนใจ, Hide & Seek at the Flower Market นิทรรศการของ TEDxBangkok ที่มุ่งเน้นนำความคึกคักของปากคลองตลาดกลับคืนมาหลังถูกจัดระเบียบเรื่องทางเท้า

หรืองานสื่อสารของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส แต่ที่ผ่านมากระบวนการสมัครค่อนข้างซับซ้อน จนครูที่มีหน้าที่แนะนำทุนให้นักเรียนไม่เข้าใจ จนเลือกมองข้าม ไม่แนะนำทุนนี้ให้นักเรียน

“สิ่งที่เราทำคือย่อยความซับซ้อนต่างๆ ลงมา ทำให้มันดูเป็นมิตรและเข้าถึงง่ายมากขึ้น ครูสามารถนำไปอธิบายให้นักเรียนต่อได้ โดยที่เขายังได้ข้อมูลเหมือนเดิม เพราะเชื่อว่า หากมีการสื่อสารที่ดี อะไรหลายๆ อย่างก็จะดีตามไปด้วย”

เช่นเดียวกับโปรเจกต์ Trawell Thailand ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่นการทำ Trawell Guide แชตบอตแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านค้าสร้างสรรค์ในย่านเมืองเก่า ที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง และเริ่มขยายขอบเขตการทำงานไปยังนอกพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ด้วย เช่น UNWTO Gastronomy Trip ทริปเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารไทยร่วมกับคนในชุมชนย่านเมืองเก่าและตลาดพลู

นอกจากนี้ทีม SATARANA ไม่ได้จำกัดเฉพาะการทำงานในเมืองหลวงเท่านั้น แต่ยังลงไปช่วยขับเคลื่อนตามเมืองต่างๆ เช่น เมื่อปี 2561 พวกเขาได้ไปจับมือกับทีมพัฒนาเมืองที่ขอนแก่นทำเวิร์กช็อป KHON KAEN MOVE ‘เปลี่ยนสองแถวขอนแก่นให้แล่นฉิว’ เพื่อพัฒนาระบบรถสองแถวในเขตเมือง

“จริงๆ รถสองแถวก็เหมือนรถเมล์นั่นแหละ แต่ความสนุกคือเหมือนได้เจอทีม SATARANA 2 เพราะเขาอินกับสิ่งที่ทำมาก เราเห็นแววตาของคนที่รักเมืองของตัวเอง เรารู้สึกว่าทิ้งเขาไม่ลง อยากช่วยเหลือสนับสนุนเต็มที่ ตอนนั้นเราลงไปทำโปรดักชันกันเต็มที่อลังการมาก เขียนคอนเทนต์ลงใน a day ทำสื่อ ทำวิดีโอหลากหลาย แล้วพอปีถัดไปหลังจากกลับไปแล้ว ก็มีพี่คนหนึ่งเดินเข้ามาเข้ามาทักว่า เราคือ MAYDAY! ใช่ไหม เขาขอบคุณมากที่มาช่วยเมืองขอนแก่น เราภูมิใจมาก เพราะเราเห็นแล้วว่า ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปจริงๆ จากงานที่เราไปช่วย” อุ้มเล่าถึงความประทับใจที่เกิดขึ้นจากการทำงาน

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่จับประเด็นเรื่องเมือง การทำงานของ SATARANA ก็เป็นเสมือนการลองผิดลองถูก เรียนรู้ไปพร้อมกันๆ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ มุมมองและทัศนคติการพัฒนาเมืองว่าทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาได้รวดเร็วและยั่งยืน

พวกเขาเชื่อว่า ต่อให้เรามีภาครัฐที่ดี ก็อาจจะช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีอุปสรรคต่างๆ ที่ต้องเผชิญ เช่นกฎระเบียบ ข้อกำหนดมากมายของระบบราชการ ซึ่งบางครั้งทำให้ไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งนับวันปัญหาก็จะยิ่งซับซ้อนและต้องอาศัยความเข้าใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นหากมีภาคประชาชนที่เข้มแข็งและพร้อมเผชิญปัญหาเดินหน้าควบคู่กันไป สุดท้ายการพัฒนาเมืองไปสู่สิ่งที่ฝันก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินไป 

เพราะสุดท้ายแล้ว สาธารณะก็คือเรื่องของทุกคนนั่นเอง

ผมก็ยังเชื่อเรื่องการทำงานเพื่อคนอื่น ข้อดีคือมันเติมเต็มเราตั้งแต่เริ่มทำเลย ไม่ต้องรอผลลัพธ์ เพราะมันมีเหตุผลของการทำมาตั้งแต่โมเมนต์แรกที่เราเริ่มแล้ว

SATARANA : เรื่องสาธารณะ..ที่ทุกคนออกแบบได้

ส่งต่อเมืองที่ดีสู่ทุกคน

คงไม่ผิดหากจะบอกว่า สถานการณ์โรคระบาด เมื่อต้นปี 2563 คือจุดเปลี่ยนสำคัญของทีม SATARANA ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาทำงานคลุกคลีกับชุมชนนักออกแบบมากมาย รวมถึงเริ่มมีการเปิดยูนิตใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น Luk Hostel โฮสเทลที่เกิดขึ้นจากแนวคิดเดียวกับ Once Again Hostel ตั้งอยู่ในตลาดสำเพ็ง ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยเรื่องราวไม่แพ้เกาะรัตนโกสินทร์ รวมถึง RISE Cafe คาเฟ่เล็กๆ ซึ่งเปิดอยู่ที่ชั้น 1 ของ Luk Hostel แต่เปิดได้เดือนเดียวก็ต้องปิดเพื่อหนีโรคระบาด

สถานการณ์ตอนนั้นนับว่าวิกฤต เนื่องจากเป็นโรคใหม่ที่ไม่มีใครทราบถึงความรุนแรงมาก่อน ภาครัฐจึงใช้ยาแรงสั่งล็อกดาวน์ ห้ามนั่งในร้านอาหาร คนส่วนใหญ่แทบไม่มีใครอยากออกจากบ้าน การทำงานของเกือบทุกองค์กรเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบ Work from home

“โรคระบาดระลอกนั้นทำให้ระบบเศรษฐกิจ Shut down หมดเลย โดยเฉพาะ Hostel ซึ่งเป็นเตียงนอนรวมกันก็เปิดไม่ได้ เราไม่สามารถจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมที่ชวนคนมาระดมไอเดียเพื่อแก้ปัญหาเมืองแบบเดิมได้ แถมตอนนั้นเราเพิ่งรับน้องมาอยู่ในทีมเพิ่มอีก 19 คน เพื่อรองรับ Hostel รองรับ Cafe เตรียมพร้อมจะสนุกแล้ว” อุ้มในฐานะผู้จัดการของ SATARANA ย้อนอดีต

ระหว่างที่ทุกคนกำลังคิดว่าจะกำหนดทิศทางของ SATARANA อย่างไรดี พวกเขาก็สังเกตเห็นว่า ร้านอาหารละแวก Once Again Hostel กำลังเผชิญวิกฤต เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าหลายคนไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีออนไลน์ มือถือที่ใช้ก็เป็นรุ่นเก่า เพราะฉะนั้นการเข้าถึงแพลตฟอร์มสั่งอาหารเดลิเวอรีจึงค่อนข้างลำบาก

ด้วยความเชื่อว่า หากทุกร้านตายหมด หลงเหลือแต่ Once Again Hostel ก็คงไม่มีความหมาย อีกทั้งทุกคนก็เปรียบเสมือนเพื่อนบ้านที่เกื้อกูลกันมานาน พวกเขาจึงออกแบบแพลตฟอร์มที่ชื่อ  LOCALL Thailand โดยมีสมาชิกอีกคนคือ เพียงพลอย จิตรปิยธรรม เป็นแกนหลัก ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงข้อมูลของร้านอาหารในย่านเสาชิงช้า-ประตูผี ไว้ด้วยกันเพื่อให้ลูกค้าเลือกสั่ง จากนั้นก็ให้พนักงานต้อนรับของ Hostel ที่ว่างงานอยู่ไปซื้อมาให้ และจ้างวินมอเตอร์ไซค์ในละแวกนั้นเป็นผู้ส่งอาหารถึงบ้าน ช่วยกระจายรายได้อีกทางหนึ่ง

เช่นเดียวกับ RISE Cafe ก็ปรับตัวเองมาเป็นร้านอาหารแบบเดลิเวอรี และเน้นแนวคิดแบบผูกปิ่นโต สั่งกินกันเป็นสัปดาห์หรือเดือน โดยใช้เรื่องระบบอาหารยั่งยืนมาเป็นจุดขาย เช่นผลไม้แทนที่จะเน้นแต่ผลสวยๆ ก็เลือกใช้ผลที่ถูกคัดออกเนื่องจากไม่สวย เพื่อลดขยะที่ไม่จำเป็น หรือกุ้งก็สั่งตรงมาจากเครือข่ายประมงพื้นบ้านที่ประจวบคีรีขันธ์ แม้แต่บรรจุภัณฑ์พวกเขาก็พยายามเลือกชนิดที่เป็นมิตรต่อโลก ย่อยสลายง่าย อาทิ ใช้ใบบัวมาห่ออาหารของร้าน ใช้กล่องกระดาษที่ไม่เปื่อยยุ่ยใส่แกงหรือของทอด

ทว่าแม้ช่วงแรก โมเดลที่พวกเขานำเสนอ โดยเฉพาะ LOCALL Thailand จะได้เสียงตอบรับที่ดีมาก มีผู้ใช้บริการไม่ขาดสาย แต่เมื่อโรคระบาดทอดยาวกว่าที่คิด มีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาในสนาม บวกกับเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ ผู้คนกลับมารับประทานอาหารที่ร้านได้ แพลตฟอร์มนี้ก็ได้รับผลกระทบไปบ้างเหมือนกัน

ซึ่งที่ผ่านมา SATARANA ก็พยายามสร้างแคมเปญขึ้นมา โดยยังรักษาเป้าหมายเดิมในการช่วยเหลือชุมชนต่อไป อาทิ Stay aLIVE ให้ร้านได้เป้าเท่ากับรอด (ทุกคน)! ด้วยการชักชวนคนดังที่มีชื่อเสียงในสังคมมาช่วยกันไลฟ์สด เพื่อชวนให้ผู้คนมารุมซื้ออาหารจากร้านอาหารในโครงการ ให้ร้านอาหารมีรายได้มากพอที่จะรอดต่อไปได้

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า เราไม่ได้มีหัวการค้ามาก พอต้องอยู่มาใน Red Ocean ก็ลำบากเหมือนกัน ตอนนี้ก็เลยมีแผนที่จะปรับเปลี่ยน LOCALL อีกครั้ง เพราะเราอยากให้ป้าๆ ที่ขายอาหารเหล่านี้สามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกได้ ลองหาช่องโหว่ที่ยังขาดอยู่ แล้วก็ผลักดันไปทางนั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องต่อสู้ในธุรกิจที่หนักหน่วง และไม่มีใครตกหล่นไปจากการพัฒนาด้วยอุ้มฉายภาพอนาคตของแพลตฟอร์มนี้

อย่างไรก็ตาม แม้การทำงานโดยภาพรวมของ SATARANA จะยากขึ้นเรื่อยๆ ตามความซับซ้อนของเมือง แต่พวกเขาก็ยังสนุกกับการได้รับโจทย์ที่ท้าทายความสามารถอยู่ตลอดเวลา และยังเชื่อมั่นว่า กระบวนการมีส่วนร่วมจะเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยนับตั้งแต่ปี 2563 พวกเขาได้ริเริ่ม STRN Citizen Lab ห้องปฏิบัติการประชาชน เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนสร้างความตระหนักว่า ทุกคนมีศักยภาพที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งต่อมา เวทีนี้ได้กลายเป็นสื่อกลางในการพูดคุยประเด็นสังคมอย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเด็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือแนวทางการพัฒนาพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะไม่ว่าใครๆ ก็คงอยากเห็นเมืองของตัวเองเติบโตขึ้นทั้งสิ้น

คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า การคลุกคลีและเข้าใจปัญหาของเมืองอย่างลึกซึ้ง นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของพวกเขาเลยก็ว่าได้ เพราะสิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้อยู่เสมอ คือ การเปิดใจรับฟัง ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง พร้อมจะเรียนรู้คนรอบข้างว่าคิดอย่างไร ต่อให้บางครั้งสิ่งที่ทำลงไปแล้วอาจจะไม่ถูกใจเราร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย

“หัวใจของ SATARANA คือการทำงานเป็นทีม อย่างก่อนหน้านี้มัยเป็นนักข่าว เวลาคิดหรือทำอะไรก็จะค่อนข้างไปคนเดียว แต่พอเรามีทีม เราช่วยกันทำ เราเห็นได้เลยว่า ผลของงานที่เกิดขึ้น มันสร้างอิมแพกต์ได้เยอะกว่ามากๆ หรือเวลาไปลงพื้นที่ ไปทำกิจกรรม เราได้เห็นความรู้สึกห่วงใย เห็นความหวังดีที่มีให้กัน มันก็ช่วยหล่อเลี้ยงตัวเราด้วยเหมือนกัน” มัยอธิบาย

“เสน่ห์อย่างหนึ่งของการทำงานชุมชนคือ เหมือนเป็นการละลายพฤติกรรมของตัวเอง ยังจำได้ว่าวันแรกที่พี่ศาพาเดินเข้าไปที่ป้อมมหากาฬ เราได้เห็นวิธีการพูดคุย ทำให้เราได้รู้วิธีทำงานกับคน หรือสมัยก่อนผมไม่อินกับคำว่า ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวรเลย แต่ผมได้มาทำงานเจอคนเยอะๆ น่าจะเกินพันคน มันสอนให้เราเรียนรู้ว่า ไม่มีอะไรตายตัวเสมอ วันหนึ่งคนคนนี้อาจจะเปลี่ยนไปด้วยเหตุและผลอะไรบางอย่าง ทำให้เราเสียใจ แต่ในทางกลับกันมันก็จะกลายเป็นแรงผลักดันให้เราลองหาทางออกใหม่ๆ และเดินหน้าสู้ต่อไป” แวนช่วยเสริม

“ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาก็มีท้อบ้าง แต่อย่างน้อยๆ เราก็เชื่อว่าสิ่งที่เราคิด เราเสนอ จะถูกผลักดันให้เกิดขึ้นแน่อน เพราะเราเห็นงานของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ออกไปปากซอยก็เจอป้ายรถเมล์ของ MAYDAY! แล้ว หรือมีคนมาขอบคุณบอกว่า ถ้าไม่ได้ป้ายที่เราทำเขาเกือบหลงแล้ว นี่มันเป็นความรู้สึกที่เติมเต็ม และอยากจะพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป” อุ้มย้ำความเชื่อ

ตลอดหลายปีที่ทำงานมา พวกเขาสรุปตรงกันว่า การทำงานเพื่อเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และยังห่างไกลความสำเร็จอีกพอสมควร หากแต่สิ่งสำคัญที่เมืองต้องการมากกว่า คือความตระหนักรู้ของทุกคนว่า ปัญหาของเมืองแท้จริงแล้วก็คือ สิ่งที่เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ หาใช่หน้าที่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และหากทุกคนรวมพลังกันได้ ความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนก็จะตามมาอย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้น ในก้าวถัดไปของ SATARANA สิ่งหนึ่งที่พวกเขาอยากเห็นคือ การบูรณาการระหว่างภาคส่วนต่างๆ หันมาแก้ปัญหาร่วมกัน โดยมีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้ชุมชนเติบโตไปในแนวทางที่ตัวเองเลือกได้ และที่สำคัญคือการได้เห็นแนวคิดเพื่อสาธารณะเกิดขึ้นในใจของคนรุ่นใหม่ เพราะถ้าหลายมือช่วยกันทำ บ้านเมืองที่ดี ที่ทุกคนใฝ่ฝันมานาน ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม

ดังที่ศานนท์กล่าวว่า “ทุกวันนี้ความฝันของเราเล็กลงเรื่อยๆ เพราะมีความจริงเข้าไปแทรกเพิ่มขึ้นมาก แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็ยังเชื่อเรื่องการทำงานเพื่อคนอื่น ข้อดีคือมันเติมเต็มเราตั้งแต่เริ่มทำเลย ไม่ต้องรอผลลัพธ์ เพราะมันมีเหตุผลของการทำมาตั้งแต่โมเมนต์แรกที่เราเริ่มแล้ว 

อีกอย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกดีมากๆ เวลาที่ได้ยินว่า สิ่งที่เราอยากเห็น อยากทำ มันเกิดขึ้นแล้วโดยที่เราไม่ต้องลงไปทำเอง คือเมื่อก่อนผมจะรู้สึกดีเมื่อมีคนรีวิวงานของเราว่าดีอย่างไร แต่ตอนนี้ผมรู้สึกดีใจมากกว่า เวลาที่ทราบว่า มีแนวคิดที่คล้ายๆ กันเกิดขึ้นตรงนั้นตรงนี้ อย่างล่าสุดคือ สกลนคร รุ่นน้องของผมทักมาบอกว่า เขาทำแบบนี้อยู่นะ เราก็ภูมิใจไปกับเขาด้วย เพราะเราเชื่อว่า หากวิธีคิดแบบนี้มันเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย เราก็จะเห็น Movement ที่ยิ่งใหญ่ตามมา และสุดท้ายก็จะนำไปสู่ระบบนิเวศที่ยั่งยืน ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

โครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก

คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เครือข่าย SATARANA คือบุคคลต้นแบบประเด็นยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ (SDGs ข้อที่ 1), ประเด็นส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า (SDGs ข้อที่ 8), ประเด็นสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความต้านทานและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมยั่งยืนและส่งเสริมนวัตกรรม (SDGs ข้อที่ 9), ประเด็นลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (SDGs ข้อที่ 10), ประเด็นทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความทั่วถึง ปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 11), ประเด็นสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 12) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.