กฤษณา ไกรสินธุ์ : การเดินทางที่ไม่รู้จบของ ‘เภสัชกรยิปซี’

<< แชร์บทความนี้

“ชีวิตอยู่ในกระเป๋า” คือคำจำกัดความที่ ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เจ้าของสมญา ‘เภสัชกรยิปซี’ นิยามตัวเอง เพราะตลอดทั้งชีวิต เธอไม่เคยหยุดเดินทางเลย

เธอท่องมาแล้วทั่วโลก ทั้งคองโก แทนซาเนีย เซเนกัล แกมเบีย และบูร์กินาฟาโซ

สำหรับเธอแล้ว การเดินทางแต่ละครั้งล้วนมีความหมาย ด้วยปลายทางที่วาดหวัง คือการสร้างความเท่าเทียมและโอกาสการเข้าถึงยาให้แก่ผู้คนในถิ่นทุรกันดาร

เธอใช้ความรู้ทางยาสอนประเทศต่างๆ ผลิตยาที่จำเป็น ทั้งยาต้านไวรัสเอชไอวี และยารักษามาลาเรีย พร้อมกับตั้งโรงงานเล็กๆ ให้ จนสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้นับล้าน

ผลจากความทุ่มเททำให้เธอได้รับรางวัลนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะรางวัลแมกไซไซ ซึ่งเปรียบเสมือนรางวัลโนเบลของทวีปเอเชีย เมื่อปี 2552 หากแต่รางวัลใดๆ ก็ไม่มีความหมาย เพราะรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก็คือ การได้เห็นทุกคนกลับมามีชีวิตที่เป็นสุข และยั่งยืน

ไม่แปลกเลยว่า ทำไมคนที่อายุล่วงเข้าเลข 7 อย่างอาจารย์กฤษณาจึงยังคงตระเวนทำงานไม่เคยหยุด ทั้งในเมืองไทย และอีกหลายประเทศที่อยู่ห่างไกล

เมื่อ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดทำโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก เราจึงถือโอกาสดีแวะไปพูดคุยกับอาจารย์ถึงเรื่องราวชีวิต และความตั้งใจที่ไม่เคยจบสิ้น เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า คนเล็กๆ ก็เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้เช่นกัน

จากนักผลิตยาสู่เภสัชกรยิปซี

คงไม่ผิดหากจะบอกว่า ชีวิตของอาจารย์กฤษณานั้นเต็มไปความโลดโผน เพราะจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม เธอตัดสินใจพลิกตัวเองไปเป็นนักผลิตยาในประเทศที่ห่างไกลและยากจน ซึ่งน้อยคนนักจะกล้าเดินทางไปถึง

ความคิดอันบ้าบิ่นนี้คงมาจากครอบครัวที่เป็นทั้งผู้ให้และปลูกฝังเลือดนักสู้ที่ไม่เคยหวั่นเกรงปัญหาใดๆ

อาจารย์กฤษณาเกิดและเติบโตบนเกาะสมุย

พ่อของเธอเป็นแพทย์ ส่วนแม่เป็นพยาบาลที่ต้องคอยดูแลประชากรกว่า 30,000 ชีวิต เธอมีตาเป็นปลัดอำเภอคนแรกของเกาะที่ชอบบริจาคที่ดินให้ชาวบ้าน และมียายเป็นแม่ชีที่แสนใจดี

อาจารย์คลุกคลีอยู่กับคุณยายมากที่สุด แม่ชีมักให้ข้อคิดต่างๆ แก่หลานสาว เช่นตอนเด็กๆ เธอชอบตกปลา ยายก็บอกให้ลองเอาเบ็ดมาเกี่ยวปากดูบ้าง แล้วจะเข้าใจ ตั้งแต่นั้นเธอก็ไม่เคยฆ่าสัตว์อีกเลย

“คุณยายไม่ใช่แค่พูด แต่ปฏิบัติด้วย เรามีของเยอะเราก็แจก ใครเดินขายของผ่านหน้าบ้าน คุณยายซื้อหมดเลย เพื่อที่เขาจะได้กลับบ้านไปดูแลครอบครัว ส่วนเราก็มีหน้าที่ไปเอาเงินมาให้คุณยายเพิ่ม ซื้อจนเงินหมด แล้วก็ไปเอามาใหม่ มันก็เลยจำฝังใจเรื่อยมา”

สำหรับเธอแล้ว ยายคือคนที่ทำให้ได้ค้นพบว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจ เป็นสุขที่ได้แบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าการมีบ้านหลังโตๆ หรือเงินทองมากมาย

เมื่อโตขึ้น เธอก็ย้ายเข้ากรุงเทพฯ มาอยู่โรงเรียนราชินี ก่อนจะขึ้นเหนือไปเรียนต่อที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความจริงเธอตั้งใจจะเรียนเป็นสัตวแพทย์ แต่พลาดไปแค่คะแนนเดียว ชีวิตจึงหักเหกลายมาเป็นเภสัชกร

อาจารย์กฤษณาเป็นคนมุ่งมั่นจนเหลือเชื่อ เมื่อตั้งใจอะไรแล้วก็มักจะพยายามทำให้สำเร็จ

ครั้งหนึ่งเธอเคยประกาศต่อหน้าเพื่อน จะขอได้คะแนนท็อปวิชาเคมีบ้าง เพราะเห็นเพื่อนบางคนได้อันดับ 1 อยู่ตลอด เวลานั้นทุกคนต่างก็ไม่เชื่อ เพราะภาพที่คุ้นเคย กฤษณาไม่ใช่คนขยันเรียน แต่เธอก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้

หลังเรียนจบ ก็ยังไม่อยากทำงาน เพราะคิดว่าความรู้ที่มีคงไม่พอทำยาช่วยชีวิตคนได้ ส่วนเรื่องเปิดร้านขายยาก็ไม่เคยอยู่ในหัวเลย อาจารย์จึงตัดสินใจขอพ่อแม่ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ

แต่พอไปถึงก็ไม่ได้ลงเรียนเภสัชศาสตร์ทันที เพราะอยากสัมผัสกับทางสายอื่นบ้าง ตอนนั้นเธอเลือกเรียนภาษาอังกฤษ และศึกษาวรรณกรรมโบราณ แถมบางห้วงก็อยากเป็นคอนดักเตอร์ เพราะชอบไปเทศกาลดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ แต่สุดท้ายก็หวนกลับมาเรียนตามทางที่ตั้งใจไว้

การเรียนในเมืองนอก อาจารย์ต้องทนกับคำดูถูกสารพัด เพราะชาวตะวันตกหลายคนยังเชื่อฝังหัวว่า เมืองไทยเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน เป็นพวกไร้ความสามารถ แต่เธอก็เอาชนะจนสามารถเรียนจบปริญญาเอกได้ในระยะเวลาไม่นาน ครั้งนั้นอาจารย์ได้รับการชักชวนให้ทำงานต่อที่บริษัทยาขนาดใหญ่ แต่เธอปฏิเสธและเลือกเดินทางกลับมาอยู่เมืองไทย

ด้วยตั้งใจอยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิด อาจารย์จึงไปสมัครคณะเปิดใหม่ อย่างคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเส้นทางก็ดูราบรื่น ได้เป็นถึงหัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมี แต่เพราะต้องเผชิญกับกฎระเบียบ ต้องบริหารจัดการเรื่องคน พัสดุ และอื่นๆ อีกมากมาย บวกกับรู้สึกว่า ไม่ได้ใช้ความรู้อย่างเต็มที่ หลังทำงานได้ 2 ปีจึงขอลาออก และย้ายมาทำงานอยู่ที่องค์การเภสัชกรรมแทน

ว่ากันว่า เวลานั้นมีแต่คนคัดค้าน บอกว่าลาออกทำไม เป็นอาจารย์มีเกียรติกว่า แต่สำหรับเธอแล้วนี่ไม่ใช่เป้าหมายชีวิต เพราะสิ่งที่อยากทำมากกว่าคือ ผลิตยาให้คนจนได้ใช้

“เป็นอาจารย์ ดีตรงได้สอนเด็ก ได้ถ่ายทอดอะไรให้เด็ก แต่พอปีที่ 2 เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราถ่ายทอดคือ สิ่งที่เราเรียนมา แล้วนอกจากนั้นก็ไม่มีอะไร เรารู้สึกไม่อยากจะต้องฝังตัวเองอยู่กับการเป็นอาจารย์ที่นี่ ก็เลยออกมาอยู่ที่องค์การเภสัชฯ เพราะช่วยคนได้มากกว่า”

ครั้งนั้นเธอรับตำแหน่งหัวหน้าแผนกพัฒนาวิธีวิเคราะห์ ตั้งแต่ปี 2526 ทำหน้าที่ติดตั้งเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ยา รวมถึงควบคุมคุณภาพวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยาด้วย

กระทั่งปี 2532 องค์กรเภสัชกรรมมีแนวคิดจะจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาขึ้นมา ผู้อำนวยการจึงเรียกตัวอาจารย์เข้าพบ เพราะอยากให้รับหน้าที่บริหารจัดการงานส่วนนี้ ซึ่งอาจารย์ตอบรับด้วยดี โดยมีข้อแม้ 3 ข้อคือ ขอเลือกนักวิจัยที่จะมาร่วมงานเอง ของบประมาณในการปรับปรุงสถานที่ และขอดูแลเรื่องการจัดการเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งทางผู้อำนวยการก็ไม่มีปัญหา

แต่อาจารย์มีแผนในใจว่า หากภายใน 2 ปีไม่สามารถพัฒนางานวิจัยได้ ก็จะขอลาออก และด้วยความมุ่งมั่นนี้เอง ภายในระยะเวลาไม่นาน เธอก็สามารถผลักดันงานวิจัยยาได้กว่า 100 รายการ

แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2534 เมื่ออาจารย์มีปัญหากับนักการเมืองระดับหัวหน้าพรรค เรื่องโรคเอดส์ เพราะอีกฝ่ายบอกว่า คนเป็นเอดส์คือคนเลว ต้องแยกออกจากสังคม ครั้งนั้นอาจารย์โต้เถียงกับเขานานถึง 3 ชั่วโมง ด้วยใจนึกถึงผู้ป่วยที่เป็นเด็กและสตรีที่ต้องรับเชื้อโดยไม่รู้ตัว

พอโต้เถียงเสร็จก็กลับมาสถาบัน มุ่งมั่นที่จะวิจัยงานต้านไวรัสเอดส์

“เรารู้สึกว่าเอดส์เป็นปัญหาสังคมและสาธารณสุขควบคู่กัน คนเป็นมะเร็งไม่ถูกรังเกียจ แต่คนเป็นเอดส์ สังคมรังเกียจว่าพฤติกรรมทางเพศไม่ดี ทั้งที่ผู้หญิงและเด็กไม่ใช่คนก่อ แต่ได้รับเชื้อมาจากแม่หรือสามี เขาไม่มีความผิด หรือแม้แต่โสเภณีบางคนอาจจะมีความจำเป็นในชีวิตเขา เราไม่ควรตัดสินความดีและความเลวของคนที่ตรงนั้น จำได้ว่า ตอนนั้นโกรธมากถึงขั้นถามเขาว่า ถ้าภรรยาท่านเป็นล่ะ และคิดในใจว่าต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อท้าทายคนคนนี้ คือจุดพลิกผันมันเกิดจากเรื่องแค่นี้เอง”

ทว่าการวิจัยครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะหลายคนมองไม่เห็นประโยชน์ อย่างตอนที่เธอขอความเห็นชอบเพื่อซื้อยาต้นตำรับชนิดหนึ่ง ซึ่งราคาสูงมาก ก็ถูกท้วงอย่างหนักว่าไม่คุ้มค่า ยังไม่รวมคำโจมตีอีกสารพัดจากกลุ่มที่มีผลประโยชน์แอบแฝง เช่น ยาที่เธอทำเป็นสารพิษ หรือการถูกสหภาพแรงงานเรียกตัวไปซักถาม ราวกับว่าทำอะไรผิด

แต่อาจารย์ก็ยืนหยัดต่อสู้เรื่อยมา กระทั่งผ่านไป 3 ปีเต็มจึงได้ยาตัวแรกที่ชื่อ Zidovudine หรือ AZT เป็นยาต้านเอดส์ที่ลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก เมื่อปี 2538 ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่สามารถผลิตยาต้านเอดส์ที่เป็นยาชื่อสามัญ ทั้งยังเป็นยาราคาถูกที่ผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงได้

“เราต้องการช่วยผู้หญิง ช่วยเด็ก ตอนทำก็ลำบาก เพราะต้องกินยาด้วยตัวเอง คือเขาบอกว่ายาเราเป็นพิษต่อเซลล์ ถ้าไม่พิสูจน์ว่าเรากินแล้วยังไม่เห็นตายเลย ใครเขาจะเชื่อล่ะ เราก็กินของเราเอง ตอนที่ต้องเจาะเลือดมาพิสูจน์ว่ายาเราทัดเทียมกับต่างประเทศหรือเปล่า ก็ต้องกินยาเข้าไปแล้วเจาะเลือดตัวเอง มียาอยู่ตัวหนึ่งแพ้มากเลย กลับมาถึงบ้านเป็นผื่นทั้งตัว ต้องนอนอยู่บนเตียง 3 วันไม่ได้ลุกขึ้นเลย”

แต่ปัญหาคือ พอเสร็จแล้วกลับไม่มีใครยอมใช้ แม้จะราคาถูกกว่ายาต้นแบบของบริษัทยาต่างประเทศถึง 5 เท่าตัว เหตุผลหนึ่งเพราะบุคลากรบางส่วนก็ไว้ใจยาต่างประเทศมากกว่า แต่ไม่เชื่อมั่นว่าคนไทยก็ทำได้ ซึ่งอาจารย์ก็ไม่ย่อท้อ เดินหน้าผลิตยาต้านเอดส์ออกมาอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งตอนหลังเธอก็ผลิตยาที่ชื่อ GPO-VIR ได้สำเร็จ โดยยาชนิดนี้เป็นการนำยารักษาโรคเอดส์ 3 ชนิดที่ไม่มีสิทธิบัตรในเมืองไทย คือ Stavudine, Lamivudine และ Nevirapine มารวมเป็นเม็ดเดียว ปรากฏว่า พอยานี้ถูกนำเสนอ ประเทศไทยโด่งดังไปทั่วโลก เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยลง จากเดิมต้องจ่ายเดือนละ 20,000 บาท และต้องกินยาวันละ 6 เม็ด ก็เหลือแค่วันละ 2 เม็ด ส่วนค่าใช้จ่ายก็เหลือแค่เดือนละ 1,200 บาท และเมื่อยาถูกลง สถานพยาบาลหลายแห่งจึงจ่ายยาฟรีให้แก่ผู้ป่วย นับเป็นการพลิกชีวิตของผู้ติดเชื้อเอดส์จากหน้ามือเป็นหลังมือ

จากความสำเร็จครั้งนั้น องค์การอนามัยโลกภาคพื้นแอฟริกาจึงเชิญอาจารย์ไปหารือว่า พอจะมีทางถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตยาเอดส์บ้างไหม เพราะแอฟริกาเป็นทวีปที่มีผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก พอกลับมาเมืองไทยอาจารย์จึงเขียนโครงการเสนอรัฐมนตรีว่า อยากจะถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับ 5 ประเทศ คือ ไนจีเรีย แคเมอรูน กานา ซิมบับเว และยูกันดา รัฐมนตรีจึงนำเรื่องนี้ไปพูดต่อบนเวทีระดับโลก เสมือนเป็นสัญญาประชาคม แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดอะไรขึ้น แถมยังโยนกลับไปกลับมาระหว่างหน่วยงานอีกต่างหาก

ในเวลานั้นมีคนตั้งประเด็นว่า หากทำแล้ว เมืองไทยจะได้อะไร หรือไม่ก็เสนอว่า แทนที่จะใช้วิธีถ่ายทอดเทคโนโลยีก็ให้เปลี่ยนมาบริจาคยา แต่อาจารย์ก็ตระหนักดีว่า วิธีนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

เพื่อทำตามคำสัญญา เธอจึงลาออกจากองค์การเภสัชกรรมเมื่อปี 2545 ออกมาเดินหน้าช่วยเหลือประเทศยากไร้ตามวิถีของตัวเอง

และนั่นเองคือ จุดเริ่มต้นเส้นทางของ เภสัชกรยิปซี

ผลิตยาเพื่อชาวโลก

ประเทศแรกที่อาจารย์กฤษณาเข้าไปช่วยเหลือคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

เหตุผลที่เลือกมาที่นี่ เพราะช่วงนั้นยา GPO-VIR ได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลก ถึงขั้นที่นิตยสารสัญชาติเยอรมันที่ชื่อ Der Spiegel เดินทางมาสัมภาษณ์อาจารย์ที่เมืองไทย ครั้งนั้นอาจารย์พูดกับนักข่าวว่า ‘ถ้าเธอจน เธอตาย’ เพราะยาต้านเอดส์ที่มีอยู่ในเวลานั้นล้วนราคาสูงลิ่ว คนยากคนจนที่ป่วยไม่มีสิทธิ์จะเข้าถึงได้เลย

เผอิญมีนักธุรกิจชาวเยอรมันคนหนึ่งได้อ่านบทความนี้ เขาเป็นเจ้าของบริษัทผลิตยาควินิน (ยาต้านมาลาเรีย) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และอยากจะหาวิธีช่วยเหลือพนักงานของบริษัทในคองโกที่ป่วยเป็นโรคเอดส์ จึงหาทางประสานงานขอความช่วยเหลือจากอาจารย์กฤษณา

“เขาติดต่อผ่านหลายต่อเลยกว่าจะมาถึงเราว่าให้ไปช่วยเหลือที่นั่นหน่อย คนที่นั่นเป็นเอดส์เยอะ แค่เขาบอกว่าช่วยรักษาพนักงานของบริษัทฟรี แค่นั้นก็พอแล้วที่จะทำให้เราไป แค่คิดว่าผู้ป่วยเอดส์จะได้รับยา เราก็รู้สึกมีความสุขแล้ว ได้มีส่วนช่วยก็ดีเหมือนกัน ไม่เคยเรียกค่าตอบแทน ทั้งๆ ที่เขาก็ร่ำรวยนะ เป็นเจ้าของบริษัท แต่เราก็ไม่เคยเรียกร้องอะไร”

ภาพของคองโกในเวลานั้น คือประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง มีการสู้รบตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถึงจะมีทรัพยากรมากมาย แต่กลับเป็นประเทศยากจนอันดับ 2 ของโลก ครั้งนั้นอาจารย์ต้องปรับวิถีชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือ ต้องทนอากาศร้อน ต้องยอมกินอาหารที่ไม่เคยกินมาก่อน แต่เธอก็ไม่หวั่นไหว เพราะใจคิดว่า อยู่ที่ไหนก็มีความสุขได้เหมือนกัน

“เราฝึกปรับตัวตั้งแต่เด็ก เพราะตอนอยู่เกาะสมุย ข้ามน้ำข้ามทะเล นั่งเรือ 3 วัน 3 คืนกว่าจะถึงกรุงเทพฯ หรือว่านั่งรถไฟ เราก็เลยชินในการที่จะไปอยู่กับคนนั้นคนนี้ แล้วอาหารไทยก็ไม่ได้เอาไปเลยนะ ใส่แต่ยา ตอนนั้นก็ต้องกิน Norfloxacin ทุกสัปดาห์เลย เพราะกินอาหารเขาแล้วท้องเสีย แต่ก็ไม่ได้ลำบากอะไร กิน 3 วันก็หายแล้ว ทำงานต่อได้ คิดแต่ว่าถ้าช่วยเขาก็ต้องช่วยให้ถึงที่สุด”

สำหรับภารกิจหลักที่คองโก คือการเขียนแปลนสร้างโรงงานใหม่ เพราะเดิมมีแต่โรงงานผลิตควินิน ส่วนพนักงานเกือบ 100% ล้วนเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งสิ้น ซึ่งเหตุผลที่ได้รับเชื้อก็เพราะถูกทหารจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาข่มขืนในช่วงสงคราม

ครั้งนั้นอาจารย์ต้องบริหารจัดการวางแผนภายใต้งบประมาณที่จำกัด ต้องซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต ทดสอบเครื่องด้วยตนเอง รวมถึงสอนคนที่นั่นให้ผลิตยาได้เอง

หลังทำงานอยู่ 3 ปีเต็ม โรงงานผลิตยาต้านเอดส์ก็สำเร็จลุล่วง คุณภาพยา AFRI-VIR ที่ผลิตได้นั้นไม่ต่างจากยาที่ผลิตในเมืองไทยเลย และสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยในดินแดนสมรภูมินี้ได้มหาศาล

ระหว่างกำลังก่อสร้างโรงงานที่คองโกอยู่นั้น อาจารย์ก็ยังแบ่งเวลาส่วนหนึ่งไปช่วยประเทศแทนซาเนีย ผลิตยารักษามาลาเรียด้วย เพราะที่นี่มีภูมิประเทศเป็นป่าซึ่งมียุงชุกชุม

ในเวลานั้นยารักษาโรคมาลาเรียแพงมาก ราคาถึงเม็ดละ 400 บาท ไม่มีทางที่คนยากจนจะเข้าถึงได้เลย ซ้ำร้าย แท้ที่จริงแล้วยาตัวนี้ผลิตจากสมุนไพรจีนที่ปลูกในแอฟริกาได้ โดยแทนซาเนียนั่นเองคือพื้นที่ที่ปลูกได้ดีที่สุด แต่กลับต้องนำใบไปรมให้แห้งแล้วส่งไปสกัดที่อังกฤษ จากนั้นส่งไปสังเคราะห์ต่อที่เบลเยียม แล้วส่งกลับมาขายที่แทนซาเนียอีกที

อาจารย์ใช้เวลาอยู่ 1 ปีเต็มก็ผลิตยารักษาโรคมาลาเรียที่ถูกที่สุดในโลกได้สำเร็จ ชื่อ Thaitanzunate รวมทั้งใช้โอกาสนี้ปรับปรุงโรงงานเพื่อผลิตยาต้านเอดส์ที่นี่ด้วยเลย

หลังจากนั้น อาจารย์ก็ตระเวนไปตามประเทศต่างๆ เช่น เซเนกัล แกมเบีย บูร์กินาฟาโช มาลี และเคนยา โดยภารกิจหลักก็ไม่ต่างกันนัก นั่นคือ การผลิตยาต้านเอดส์ ยารักษามาลาเรีย รวมถึงยา Artesunate ซึ่งเป็นยาเหน็บสวนทวารสำหรับเด็ก ใช้รักษาโรคมาลาเรีย

“แต่ละประเทศเขาขอมาเอง เราไม่ได้เที่ยวไปอาสาว่า ฉันมีเทคโนโลยี ฉันจะไปให้เธอ เขามีจดหมายจากรัฐมนตรี จากนายกรัฐมนตรี เราก็ไปตามนั้น แต่ก่อนไปเราก็ต้องศึกษาให้ละเอียดก่อนว่า ผู้คนเป็นอย่างไร เพราะแต่ละที่มันต่างกัน เห็นเขาเป็นคนดำเหมือนกัน แต่ความจริงแค่ในประเทศเดียวก็ยังต่างกันเลย ก็เหมือนกับบ้านเราที่มีทั้งคนเหนือ คนใต้ คนอีสาน”

การได้เข้าไปสัมผัสแทบทุกประเทศของทวีปแอฟริกา ทำให้อาจารย์ตกผลึกว่า สาเหตุที่แท้จริงของโลกมาจาก ‘ความยากจน’ เพราะเมื่อจนก็ไม่มีใครอยากจะเข้ามาลงทุนแก้ปัญหา

“ตอนนั้นแอฟริกันตายจากเอดส์ปีละ 1 ล้าน แต่ตายเพราะมาลาเรีย 2 ล้าน มาลาเรียเป็นโรคของคนจน ขณะที่คนยุโรป คนอเมริกัน เขาไม่เป็นกัน ก็เลยไม่มีใครวิจัยยา เพราะวิจัยไป พวกนั้นก็ไม่มีปัญญาซื้ออยู่แล้ว คือคนมักจะมองว่าสาเหตุของโรคคือยุง แต่ถ้าลองคิดดีๆ มันเป็นเพราะเขาไม่มีมุ้ง ไม่มีบ้านจะอยู่ ก็ต้องนอนกลางหาวอย่างนั้น ยุงมันก็กัดใช่ไหมล่ะ แล้วถามว่าทำไมถึงจน ก็เพราะผู้นำไม่ดี คอร์รัปชันอะไรต่างๆ ก็วนกลับมาเป็นปัญหาสังคม”

เพราะฉะนั้นทางเดียวที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือต้องทำให้พวกเขายืนบนขาของตนเองให้ได้ ไม่คอยร้องขอความช่วยเหลือหรือนอนรอความตายอย่างเดียว

“เราจะสอนตั้งแต่รากจะได้ยั่งยืน เพราะถ้าเขาตั้งต้นได้แล้ว ต่อไปเขาจะไปกระจายตรงไหนก็ได้ ไม่ใช่ว่าพอเรากลับมาแล้วทุกอย่างล้มหมด บางครั้งเราอาจจะต้องไปใหม่ สอนใหม่ ยอมเสียเวลาหน่อย แต่เราถือว่าทุกคนเรียนรู้ได้หมด ทุกคนมีสมองเท่ากัน ข้อเด่นของชาวแอฟริกันคือความอึด เวลาเราให้เขาผสมยาในทัปเพอร์แวร์ เขาเขย่าได้ 30 นาทีโดยไม่หยุด แต่ของเราแค่ 1 นาทีก็ไม่ไหวแล้ว แถมบางทีในนั้นมันหนัก 1-5 กิโลกรัม เราก็ยกไม่ไหว แต่เขาทำได้ นี่คือความได้เปรียบของเขา”

ตลอด 20 กว่าปีของการเดินทาง อาจารย์หมดเงินส่วนตัวไปหลายล้านบาท แต่ก็ไม่เคยรู้สึกเสียดายเลย เธอยังคงมุ่งหน้าไปยังประเทศต่างๆ ด้วยความเชื่อที่ว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดี และเข้าถึงยาอย่างเท่าเทียม

แน่นอนการทำงานบางครั้งก็สำเร็จด้วยดี ตั้งโรงงานผลิตยารักษาโรคได้ แต่บางครั้งก็ไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง เพราะมีปัญหากับผู้นำคอร์รัปชัน แต่เภสัชกรยิปซีก็ไม่เคยโกรธเคือง ด้วยเข้าใจดีว่า นี่คือกิเลสของมนุษย์ พร้อมกับบอกผู้เกี่ยวข้องว่า “หากพร้อมเมื่อไหร่ค่อยมาบอกอีกที แล้วจะกลับไปช่วย”

อาจารย์ทำงานแบบเงียบๆ เพียงลำพังนานหลายปี จนกระทั่งปี 2550 ดำรง พุฒตาล แห่งนิตยสารคู่สร้างคู่สม ทราบข่าวจากเอกอัครราชทูตไทยที่อียิปต์โดยบังเอิญ จึงติดต่อขอสัมภาษณ์ลงหนังสือ กระทั่งเภสัชกรผู้นี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ได้รางวัลจากองค์กรต่างๆ นับไม่ถ้วน แต่สำหรับอาจารย์แล้วทั้งหมดไม่มีความหมายเลย เพราะเป้าหมายอย่างเดียวของเธอคือ ช่วยชีวิตคน

ได้มา 200 กว่ารางวัลแล้วนะ ก็รู้สึกขอบคุณเขา แต่ไม่ได้คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่อะไรแบบนั้น ก็เฉยๆ ตำแหน่ง ชื่อเสียงเกียรติยศคืออะไร เดี๋ยวก็ไปแล้ว แต่สิ่งที่เราทำให้คนอื่นอย่างการให้ความรู้มันยังอยู่ จากคนหนึ่งไปอีกคน แล้วก็มีอีกหลายคนที่รู้ ไม่ใช่ว่าตายไปพร้อมกับตัวเรา

จากแอฟริกาสู่เมืองไทย

แม้จะเดินทางท่องโลกในทวีปที่แสนห่างไกล แต่เมื่อมีโอกาสที่จะช่วยพัฒนาบ้านเกิด อาจารย์กฤษณาก็ไม่เคยลังเลที่จะทำ

แต่โครงการที่เมืองไทยกับประเทศในแอฟริกานั้นต่างกัน เพราะเมืองไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องยาขาดแคลน แต่เป็นปัญหาสังคมและปากท้อง เพราะฉะนั้นแทนที่จะตั้งโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบัน อาจารย์จึงสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกสมุนไพร และนำมาแปรรูปเป็นยาแผนโบราณ

ความจริงแล้ว อาจารย์ผูกพันกับเรื่องสมุนไพรมาตั้งแต่เด็ก เพราะนอกจากคุณตาจะเป็นปลัดอำเภอแล้ว ยังเป็นแพทย์แผนโบราณที่เชี่ยวชาญเรื่องต้นไม้ มีสูตรยาเต็มไปหมด

ต่อมาเมื่อมาทำงานอยู่ที่องค์การเภสัชกรรม นักวิชาการรุ่นพี่ก็เคยมาชักชวนให้ทำงานวิจัยกระเทียม แล้วต่อยอดมาสู่สมุนไพรชนิดอื่นๆ อาทิ มะแว้ง ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ว่านหางจระเข้ กระทั่งตอนหลังจึงได้เริ่มผลักดันให้สมุนไพรขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติ และเกิดการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย เช่น อัดเป็นแคปซูล แปรรูปเป็นเจล เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง รวมแล้ว 64 รายการ

เพราะฉะนั้นอาจารย์จึงเข้าใจถึงประโยชน์ของสมุนไพรเป็นอย่างดี และนำมาใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ โดยโครงการแรกที่อาจารย์เริ่มผลักดันเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ชื่อว่าโครงการ ‘ลังกาสุกะโมเดล’

เพราะในอดีตอาจารย์เคยติดตามพ่อไปอยู่ที่ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เป็นเวลา 1 ปี ในตอนนั้นเป็นพื้นที่ที่สงบสุขมาก แต่เมื่อเวลาผ่านมา 40-50 ปี สถานการณ์ในพื้นที่กลับพลิกผัน และลุกลามมาสู่ปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องปากท้อง ความรุนแรง คอร์รัปชัน และความขุ่นเคืองใจของชาวบ้านที่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม อาจารย์จึงอยากเข้ามามาช่วยเหลือให้คนในพื้นที่หยัดยืนได้

แนวคิดง่ายๆ ที่อาจารย์หยิบยกขึ้นมาใช้ คือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เพราะคนที่นี่พูดภาษามลายูปัตตานี (ภาษายาวี) กัน ดังนั้นจึงต้องมีสื่อกลางที่ช่วยเป็นสะพานเชื่อมต่อ อาจารย์จึงร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดทำคู่มือสมุนไพรฉบับภาษายาวีแจกจ่ายชาวบ้าน

ขณะเดียวกันก็เริ่มพัฒนาโรงงานตามพื้นที่ต่างๆ เช่น ในจังหวัดนราธิวาสก็ไปที่อำเภอจะแนะ ส่วนจังหวัดปัตตานีไปเริ่มที่อำเภอสายบุรี และจังหวัดยะลาไปสร้างที่อำเภอยะหา โดยโรงงานแปรรูปได้มาตรฐาน GMP รับประกันว่ายาที่ออกจากที่นี่ปลอดภัย 100%

จากนั้นก็เริ่มแนะนำเรื่องการปลูกสมุนไพรที่เหมาะสม โดยชาวบ้านต้องใส่ใจเรื่องความปลอดภัย ดินและน้ำต้องสะอาด ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง จากนั้นก็สอนวิธีแปรรูปเบื้องต้น โดยทำเป็นผง เพื่อนำเข้าโรงงาน และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอีกทอดหนึ่ง

“เราสอนเขาโดยการกระทำ ทำให้เขาดูทีละขั้นตอน เรารู้ เขาก็ต้องรู้ด้วย รู้ว่าทำไมต้องเอาดิน เอาน้ำไปตรวจ ทำไมอาจารย์ต้องไปขุดดินเองได้ เพราะถ้าเราทำไม่เป็น จะไปสอนคนอื่นได้อย่างไร แค่พูดอย่างเดียวไม่รู้เรื่องหรอก แล้วเราก็สอนทุกอย่างตั้งแต่ต้น บางอย่างก็ต้องปรับต้องเรียนรู้กันไป”

นวัตกรรมหนึ่งที่อาจารย์ริเริ่มขึ้น คือ โรงแปรรูปยาเคลื่อนที่ เป็นรถหกล้อที่ติดตั้งเครื่องจักรแปรรูปยาสมุนไพรออกตระเวนรับผลผลิตจากชาวบ้านมาแปรรูป รวมถึงคอยควบคุมคุณภาพของสมุนไพรให้ได้มาตรฐานอยู่เสมอด้วย

“เราไม่ได้ทำรถคันแรกของโลก แต่เพราะชุมชนมันอยู่ห่างกัน กว่าจะขนมาโรงงานก็ลำบาก แพงด้วย บางชุมชนก็เลยทิ้งไว้ที่บ้าน สุดท้ายก็เน่า เราก็เลยทำรถขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา เช่น เขาปลูกขมิ้นชัน พอรถไปถึงก็แปรรูปตรงนั้น 2 ชั่วโมงเสร็จแล้วส่งเข้าโรงพยาบาลได้เลย ตอนนี้มีอยู่ 3 คัน คันที่ 2 เป็นรถ QC คอยควบคุมคุณภาพ เนื่องจากเราต้องการสอนเขาให้เห็นความสำคัญของคุณภาพ ถ้าของดี วัตถุดิบก็ต้องดีด้วย เพราะฉะนั้นของที่นี่ คนอยากได้หมดเลย เพราะมันมีคุณภาพ”

อาจารย์ทำโครงการนี้ต่อเนื่อง 13 ปี 11 เดือน จึงได้ฤกษ์ปิดโครงการเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 พร้อมส่งต่อโรงงานและรถให้โรงพยาบาลจะแนะดูแล เป็นสัญญาณว่าชาวบ้านเหล่านี้สามารถหยัดยืนด้วยตนเองได้แล้ว

นอกจากนี้ อาจารย์ยังเริ่มต้นโครงการปลูกสมุนไพรอีกหลายพื้นที่ เช่น มุ่งเน้นไปยังคนไร้สัญชาติที่จังหวัดตาก หรือชักชวนนักโทษจากเรือนจำกลางคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา และผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด ในโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาปลูกพืชสวนครัวและพืชสมุนไพร และล่าสุดอาจารย์ก็ไปชักชวนชาวบ้านใกล้ๆ เทือกเขาพนมดงรัก ในจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษมาทำสวนฟ้าทะลายโจร โดยมีแผนจะขยายผลต่อไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ด้วย

มองเผินๆ โครงการทั้งหมดที่อาจารย์ทำ เหมือนตั้งใจจะส่งเสริมเรื่องการปลูกสมุนไพร แต่ความจริงแล้ว เธอต้องการใช้สิ่งนี้เป็นใบเบิกทางเพื่อสร้างชุมชนที่ยั่งยืน และช่วยพัฒนาองค์ความรู้และอาชีพแก่ชาวบ้านต่อไป

“สมุนไพรปลูกที่ไหนก็ได้ แต่เราไม่ได้มองเรื่องวิทยาศาสตร์ เรามองเรื่องสังคมเป็นหลักมากกว่า เหมือนตอนที่เราทำเรื่องยาเอดส์ เป้าหมายลึกๆ มันคือ สิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรเข้าถึงยาได้ เราส่งเสริมเรื่องสมุนไพรเพราะอยากช่วยคนด้อยโอกาส อย่างนักโทษก็ไม่ได้หมายความว่าจะเลวไปหมดทุกคน เขาอาจจะทำผิด แต่นั่นคืออดีต ซึ่งกลับไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเขาออกมาแล้วต้องสามารถมีชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่ว่าทำผิดแล้วไปเข้าคุกใหม่ หรือคนติดยาเสพติดก็เหมือนกัน เราช่วยเขาเต็มที่ ส่วนจะช่วยได้แค่ไหนก็ช่างมัน”

เจตนารมณ์นี้เองที่เป็นแรงผลักดันให้อาจารย์กฤษณายังคงก้าวเดินต่อไปไม่เคยหยุด เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ตั้งใจทำงานจนกระทั่งตายนั่นแหละ ตายเมื่อไหร่ก็จบ แต่เมื่อยังไม่จบ ยังเดินได้อยู่ สมองยังทำงาน ก็ทำต่อไป

กฤษณา ไกรสินธุ์ : การเดินทางที่ไม่รู้จบของ ‘เภสัชกรยิปซี’

ขอทำงานตราบจนวันสุดท้าย

ในวันนี้อาจารย์กฤษณามีอายุล่วงเลยเลข 7 มาแล้ว แต่ก็ยังคงเดินสายไปยังจังหวัดต่างๆ ขึ้นเหนือล่องใต้ เพื่อติดตามและเยี่ยมเยียนโครงการอยู่ตลอด พร้อมกับบันทึกเรื่องราวผ่านสมุดบันทึกและเฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นประจำทุกวัน

“จดไดอารีตั้งแต่เด็กแล้ว พ่อบอกว่าจดเอาไว้เถอะลูก พอวันหลังจะได้รู้ว่าวันนี้เราทำอะไร ที่สำคัญมันช่วยพัฒนาความคิด ทำให้เราสามารถนึกได้ว่า วันนี้เราจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้บ้าง เพราะส่วนตัวเป็นคนงกเวลา เวลาแค่ 1 นาทีก็งก เพราะเวลาผ่านไปแล้ว เราเอาคืนกลับมาไม่ได้”

ด้วยเหตุนี้เอง อาจารย์จึงไม่เคยคิดจะหยุดทำงานเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะถือเป็นหน้าที่ของมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องช่วยเหลือและมีเมตตาต่อกัน

เรื่องหนึ่งที่วางแผนนานแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มสักที เพราะติดปัญหาวิกฤตโรคระบาด ก็คือเดินทางไปต่างประเทศ ตามคำร้องขอที่ยังส่งเข้ามาไม่ขาดสาย

“ตอนนี้ได้รับเชิญจากประเทศภูฏานให้ไปเซ็ตอัปโรงงานให้ แล้วก็มีแกมเบีย แทนซาเนีย อินเดียตอนเหนือ อย่างเช่น นากาแลนด์ อัสสัม อะไรพวกนั้น แล้วก็ยังมีจีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งถ้าไปได้ก็อยากจะไป แต่ถ้าไปไม่ได้ก็คงทำงานอยู่ที่เมืองไทยไปเรื่อยๆ เจออะไรอยากทำก็ทำอันนั้น และถ้าเริ่มแล้วก็ต้องทำจนถึงที่สุด คือตั้งใจทำงานจนกระทั่งตายนั่นแหละ ตายเมื่อไหร่ก็จบ แต่เมื่อยังไม่จบ ยังเดินได้อยู่ สมองยังทำงาน ก็ทำต่อไป”

ที่สำคัญ อาจารย์ไม่ได้คิดถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ เพียงแค่ทำแต่ละช่วงของชีวิตในทุกๆ วันให้ดีที่สุดก็พอแล้ว ส่วนสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ทั้งความสำเร็จ คำสรรเสริญเยินยอ หรือคำต่อว่าใดๆ ก็ไม่จำเป็นต้องไปรู้สึกอะไรมากนัก เพราะไม่มีประโยชน์สำหรับชีวิตอีกแล้ว

และนี่แหละคือ ชีวิตของคนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ชื่อ กฤษณา ไกรสินธุ์

โครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก

คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ คือบุคคลต้นแบบประเด็นยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ (SDGs ข้อที่ 1), ประเด็นสร้างหลักประกันการมีสุขภาพดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย (SDGs ข้อที่ 3) และประเด็นลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (SDGs ข้อที่ 10)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.