164 กิโลเมตร 1,219 โค้ง คือระยะทางจากอำเภออุ้มผาง มายังตัวเมืองแม่สอด จังหวัดตาก
เส้นทางอันแสนคดเคี้ยว ห่างไกลความเจริญ ระหว่างทางมีแต่ป่ากับภูเขา กว่าจะเดินทางถึงก็กินเวลาไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง จึงจะเจอบ้านคนและสถานที่ราชการ แถมชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มีฐานะยากจน หลายคนเป็นคนไร้สัญชาติ เมืองก็เงียบเหงาสุดๆ ถึงขั้นเคยมีคำกล่าวว่า ‘เงียบจนได้ยินเสียงหญ้างอก’
ไม่แปลกเลยที่ข้าราชการหลายคนจึงมักลังเล เมื่อต้องมาใช้ชีวิตอยู่ที่อำเภอสุดขอบตะวันตกแห่งนี้ แต่สำหรับหมอคนหนึ่งซึ่งเกิดและเติบโตใกล้เมืองหลวง กลับเลือกปักหลักและอาศัยอยู่ที่นี่มานานกว่า 3 ทศวรรษ เขาต้องบุกป่าฝ่าดงไปรักษาผู้คนในถิ่นทุรกันดาร ต้องสื่อสารกับชาวกะเหรี่ยงที่ไม่เข้าใจภาษาไทยเลย แถมยังเคยป่วยเป็นมาลาเรียมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 หน
แต่เขาก็ไม่ท้อถอย ยังคงเดินหน้าพัฒนาโรงพยาบาลเล็กๆ ในพื้นที่แห่งนี้ต่อไป จากเดิมที่ไม่มีใครอยากมารักษาเพราะคิดว่าต่อให้เจอหมอก็คงไม่รอด ก็เริ่มกลายเป็นที่พึ่งพิงของผู้ยากไร้ เพราะเขาพร้อมรักษาคนไข้ทุกสัญชาติต่อให้มีเงินหรือไม่ก็ตาม ด้วยความเชื่อว่า ชีวิตคนสำคัญยิ่งกว่าเป็นคนประเทศอะไร จนนำมาสู่การผลักดัน เพื่อให้คนไร้สัญชาติเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เช่นเดียวกับคนสัญชาติไทย
ที่สำคัญ เขากับทีมงานยังช่วยกันบุกเบิกโครงการรับบริจาคยาเหลือใช้ ชักชวนให้ผู้คนจากทั่วประเทศนำยาดีที่ไม่ใช้แล้วและยังไม่หมดอายุมาบริจาคให้ผู้ยากไร้ จนทำให้โรงพยาบาลที่เคยประสบปัญหาหนี้สินจากยาและเวชภัณฑ์ถึง 36 ล้านบาท กลับมาหยัดยืนได้อีกครั้ง
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอพาทุกคนมาเรียนรู้ความคิดและความตั้งใจของ 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนึ่งที่ยากจนและห่างไกลสุดของประเทศ หมอตุ่ย–นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ แห่งโรงพยาบาลอุ้มผาง คุณหมอนักคิด นักบริหาร ผู้ทำงานกับคนด้อยโอกาสทางสังคมมาต่อเนื่องกว่าสามสิบปี
“อย่าใช้คำว่าเสียสละหรืออุดมการณ์ ผมไม่ได้เป็นอะไรอย่างนั้นเลย”
เพราะความจริงแล้ว หมอตุ่ยไม่เคยคิดอยากจะเป็นหมอ ยิ่งต้องมาอยู่อำเภอไกลปืนเที่ยงอย่างอุ้มผางยิ่งแล้วใหญ่ เนื่องจากความฝันวัยเด็กของเขาคือ วิศวกร
แต่ด้วยโชคชะตาและเหตุบังเอิญได้นำพาให้เขากลายเป็นหมอที่ต้องมาอยู่ในพื้นที่สุดขอบตะวันตกของประเทศไทย แถมโรงพยาบาลที่ประจำการก็ยังเคยติดอันดับโรงพยาบาลที่มีปัญหาสถานภาพการเงินรุนแรงที่สุดของกระทรวงสาธารณสุขอีกต่างหาก
หมอตุ่ยเกิดและเติบโตในครอบครัวคนจีนที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
เขาชอบวิชาช่าง ชอบการประดิษฐ์มากเป็นพิเศษ เคยวางแผนจะนั่งรถไฟจากบ้านเพื่อไปเรียนต่อที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทว่าช่วงที่เรียนใกล้จบนั้นตรงกับตอนที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเตรียมรับนิสิตคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลรุ่นแรกพอดี
เวลานั้นมีการชักชวนนักเรียนเกรดดีจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทยมาเข้าสอบ หมอตุ่ยเห็นเป็นโอกาสดีที่จะได้ลองข้อสอบก่อนเอนทรานซ์จริง แถมค่าสมัครก็ไม่แพง จึงลงสมัครด้วย ปรากฏว่าเขาสอบติด จึงเบนเข็มมาเรียนในคณะเปิดใหม่แทน
“ข้อดีของการสอบครั้งนี้ คือไม่ได้สอบภาษาไทยกับสังคม สอบแค่ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาและภาษาอังกฤษ ตอนนั้นเขาให้เด็กภาคตะวันออกสักสิบจังหวัดมาสอบรวมกัน ผมก็ไม่คิดหรอกว่าจะได้ เพราะปกติฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ 50 ข้อ เอนทรานซ์ให้เวลา 3 ชั่วโมง แต่ที่นี่ให้ชั่วโมงเดียว ตอนนั้นก็ทำไม่ทัน โชคดีที่เราถนัดวิชาคำนวณ ถ้าสอบเต็มเวลาผมคงไม่ได้แน่นอน ซึ่งพอสอบติด ทางบ้านก็เห็นว่าพี่ชายเรียนวิศวะอยู่แล้ว เขาอยากให้ลูกเรียนหมอสักคน ผมก็เลยไปเรียน”
หากแต่ชีวิตการเรียนหมอนั้นไม่ตรงกับจริตของหมอตุ่ยสักเท่าไหร่ ยิ่งเรียนก็ยิ่งเบื่อจนแทบอยากจะลาออกไปเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่เพื่อนที่สนิทกันก็ท้วงว่า เสียดายเวลา เรียนไปเถอะอีกไม่กี่ปีก็จบแล้ว หมอตุ่ยเพิ่งมาพบเสน่ห์ของวิชาชีพนี้ตอนขึ้นปี 6 ซึ่งต้องไปเป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่ที่วชิรพยาบาล เพราะมีโอกาสได้รักษาคนไข้ ได้เห็นคนป่วยค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมามีสุขภาพดี แล้วมีความสุข ก็เลยยอมกัดฟันเรียนจนจบ
หลังสำเร็จการศึกษา หมอตุ่ยวางแผนจะเป็นศัลยแพทย์ด้านสมอง เพราะได้ยินมาว่ารายได้ดี หมอที่เก่งๆ อาจได้เงินถึงวันละ 100,000 บาทเลยทีเดียว แถมยุคนั้นคนไม่นิยมใส่หมวกกันน็อก ทำให้แต่ละเดือนมีคนไข้กลุ่มนี้เยอะมาก ตอนนั้นเขาถึงขั้นขอทุนขอตำแหน่งที่โรงพยาบาลสระบุรีเรียบร้อยแล้ว แต่ติดปัญหาที่แต่ละปีมีแพทย์จบใหม่น้อยมาก ไม่พอกับโรงพยาบาลนับพันแห่งที่กระจายไปทั่วประเทศ แพทยสภาจึงไม่อนุมัติ ต้องไปใช้ทุนในโรงพยาบาลชนบทให้เรียบร้อยเสียก่อน
หมอตุ่ยเลยจับคู่บัดดีกับเพื่อนร่วมรุ่นอีกคน ตั้งใจจะไปเป็นแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลนาน้อย จังหวัดน่าน ซึ่งเวลานั้นรับแพทย์ใช้ทุน 2 คนพอดี แต่เนื่องจากปีนั้น จังหวัดน่านรับแพทย์ทั้งจังหวัด 5 คน บัณฑิตใหม่จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงแพ็กทีม 5 คนมาสมัครด้วย แต่ปรากฏว่า ผลการจับสลาก แพทย์จากศิริราชเข้าวิน 4 คน ส่วนอีกหนึ่งที่เป็นของหมอตุ่ย เพื่อนหมอศิริราชที่จับสลากไม่ได้ก็เลยมาเจรจาขอแลกพื้นที่ ซึ่งเขาก็ไม่มีปัญหาอะไร ยอมตกลงด้วยดี
“ตอนนั้นที่อกข้างซ้ายมีชื่อปักอยู่ เขาก็บอก วรวิทย์ นายไปอยู่ที่อื่นได้ไหม ผมก็บอกว่าได้ แล้วก็หันไปมองกระดานเห็นว่า จังหวัดตาก อำเภออุ้มผาง ว่างไม่มีใครเลือก แล้วข้างหลังก็เขียนว่า อยู่ปีเดียวแล้วย้ายข้ามจังหวัดได้เลย ผมก็เลยบอกเพื่อนศิริราชว่า นายเลือกอุ้มผางให้เราแล้วกัน เรากะจะอยู่สักปีแล้วค่อยย้าย เขาก็เลยเลือกอุ้มผางให้ผม แล้วเราก็ไปแลกกันข้างนอก”
นั่นเองที่เป็นจุดพลิกผันให้เขาต้องมาใช้ชีวิตอยู่ที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2534 เป็นต้นมา
หากพูดถึงอำเภออุ้มผาง คนส่วนใหญ่อาจนึกถึงน้ำตกทีลอซูอันสวยงาม แต่ความจริงที่นี่ซับซ้อนกว่าที่คิด ตั้งแต่ภูมิประเทศจนถึงผู้คน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่หมอไร้ประสบการณ์คนหนึ่งจะผ่านไปได้
หมอตุ่ยจำได้ดีว่า สมัยนั้นเวลาวันเดียวไม่สามารถเดินทางมาถึงที่นี่ได้ ต้องพักกลางทางก่อน แถมพอไปถึงก็เงียบกริบ ถึงขั้นที่หมอรุ่นพี่บอกว่า ‘เงียบจนได้ยินเสียงหญ้างอกเลย’
“ตอนนั้นก็ตั้งใจอยู่ที่นี่แค่ปีเดียว เพราะว่ามันไกลมาก ตอนแรกที่ไปถึงก็รู้สึกว่า ทำไมถึงสกปรกจังเลย มีน้ำหมากเต็มไปหมด ไฟก็ติดๆ ดับๆ เพราะโรงพยาบาลปั่นไฟใช้เอง ไม่มีไฟข้างนอก พอทุ่มหนึ่งก็เลยเงียบมาก ส่วนทีวีก็มีเครื่องเก่าๆ อยู่เครื่องหนึ่ง กับจานดาวเทียม C-Band จานใหญ่ๆ แล้วก็ส่งมาให้ดู 2 ช่องคือ ช่อง 5 กับช่อง 7 แต่อย่าเรียกว่าดูเลย เรียกว่าฟังดีกว่า เพราะภาพเป็นเม็ดหมดเลย หน้าตาพระเอกกับผู้ร้ายเหมือนกันหมดแยกไม่ออก”
กล่าวง่ายๆ ก็คือเป็นโรงพยาบาลที่ปราศจากความพร้อมทุกประการ แต่ที่น่าหนักใจสุดคือ คนไข้ เพราะประชากรที่นี่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีวัฒนธรรมและความเชื่อเป็นของตัวเอง หลายคนต่อให้อยู่ใกล้โรงพยาบาลแค่สิบกว่ากิโลเมตร แต่ก็ไม่อยากมาหาหมอ ซึ่งเขาก็ต้องเรียนรู้ และค่อยๆ ปรับตัว กระทั่งผ่านความเงียบไปได้ 3 เดือนก็เริ่มรู้สึกคุ้นชิน
“คนกะเหรี่ยงเขาชอบอยู่บนเขาสูง อยู่ในป่า อยู่กันแบบนี้มาเป็นร้อยปีแล้ว ก่อนจะมีการขีดเส้นประเทศ ทำให้คนกะเหรี่ยงถูกแบ่งเป็น 2 ฟาก ฟากหนึ่งในประเทศไทย อีกฟากอยู่ฝั่งเมียนมา ซึ่งพอเขาอยู่ในป่าก็จะเจอโรคเยอะแยะไปหมดเลย อันแรกคือ มาลาเรีย เพราะยุงก้นปล่องเยอะมาก เสียชีวิตกันเต็มไปหมด อีกอย่างคือ พออยู่ไกลก็ต้องมีหมอตำแย ต้องคลอดลูกเอง ซึ่งพอคลอดกันเองก็ตายเยอะ เหมือนแม่นาคพระโขนงเลย ที่สำคัญคือ เขาไม่ยอมให้เราจับท้องด้วย เขาเชื่อว่า ถ้าลูกตัวโตจะคลอดยาก อาจตายทั้งแม่และลูก จึงพยายามกินให้น้อย ลูกจะได้ตัวเล็กๆ คลอดง่ายๆ ด้วยสภาพแบบนี้ทำให้ คนสมัยก่อนเลยมีลูกสิบกว่าคน เพราะเดี๋ยวก็ตาย เดี๋ยวก็เป็นไข้ สุดท้ายก็เหลือ 2-3 คน”
แม้จะไม่ตั้งใจปักหลักอยู่ที่นี่ แต่พอได้เห็นสภาพของชาวบ้านบวกกับความรับผิดชอบที่มีในฐานะแพทย์ หมอตุ่ยจึงอยากช่วยเหลือทุกคนอย่างดีที่สุด
ระหว่างนั้นเขาก็พยายามเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตที่แตกต่างของผู้คน เช่นบางครั้งพ่อแม่พาลูกมาหาหมอ พอเจาะเลือดดูก็รู้เลยว่าเป็นมาลาเรีย แต่ผู้ปกครองกลับไม่ยอมให้รักษา อยากเอาลูกไปทำผีก่อน ซึ่งหมอตุ่ยก็ไม่ได้ห้าม ยินดีให้ทำในโรงพยาบาลด้วยซ้ำ เพราะเข้าใจดีว่า นี่คือที่พึ่งพิงทางใจของพวกเขา
เช่นเดียวกับเรื่องการผดุงครรภ์ ซึ่งเขาพยายามคุยกับบรรดาหมอตำแยที่กระจายอยู่เต็มไปหมด เน้นย้ำเรื่องความสะอาดของเครื่องไม้เครื่องมือ เช่นเวลาตัดสายสะดือก็ต้องใช้มีดที่สะอาด ไม่ขึ้นสนิม เด็กจะได้ไม่ติดเชื้อแล้วต้องส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาล รวมถึงส่งเสริมให้แม่เด็กบำรุงร่างกายตัวเองให้เด็กตัวโตขึ้น โดยเน้นว่าแทนที่จะคลอดหลายครั้งแต่ไม่มีคุณภาพ สู้คลอดน้อยๆ แต่ปลอดภัยดีกว่า
ที่สำคัญ เขายังพยายามหาความรู้เพิ่มเติม ให้สามารถรักษาคนไข้ได้มีประสิทธิภาพ แม้จะอยู่ในสภาวะขาดแคลนก็ตาม เช่น บางครั้งหมอตุ่ยต้องต่อสายไปถึงรุ่นพี่ที่โรงพยาบาล เพื่อสอบถามวิธีผ่าตัด เนื่องจากตัวเองเป็นแพทย์จบใหม่ ประสบการณ์ยังมีไม่มากพอ
“โรงพยาบาลเราอยู่ค่อนข้างไกล ถ้าจะส่งคนไข้ไปโรงพยาบาลแม่สอดต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมง ฉะนั้นไม่ว่าโรคอะไรที่ตายภายใน 4 ชั่วโมงต้องทำหมดอยู่แล้ว ซึ่งตอนนั้น ผ่าตัดผมก็ไม่เก่ง ทีมงานก็ไม่พร้อม เครื่องไม้เครื่องมือก็ไม่มี ทำให้เราต้องผ่าตัดแบบประยุกต์บ้าง อย่างผมผ่าตัดคลอด ผมจะเรียกสามีคนไข้มาเลย ‘ผ่ากับหมอที่นี่ แม่มีโอกาสตาย 50 ลูก 50 แต่ถ้าส่งไปแม่สอด ลูกตาย 100 แม่รอด 60-70’ ชาวบ้านบอกแล้วแต่หมอ ตอนผ่า ผมก็ตื่นเต้นนะ เพราะผมไม่ใช่ศัลยแพทย์ ไม่ใช่สูติแพทย์
“แล้วคนไข้แต่ละคนก็ไม่เหมือนกันสักราย ผมไม่รู้ว่าต้องเจออะไรบ้าง บางครั้งก็กางตำราผ่าเลย หรือบางครั้งก็ต้องโทรศัพท์ปรึกษา ยุคก่อนยังไม่มีโทรศัพท์มือถือนะ มีแต่โทรศัพท์บ้านไร้สาย ผมก็ไปรีบหามาใช้เลย เวลาเจอเคสฉุกเฉิน จะได้โทรเลย เพื่อทำให้คนไข้ที่เราดูแลมีโอกาสรอดมากที่สุด”
สำหรับหมอตุ่ยแล้ว หัวใจสำคัญของการทำงานในพื้นที่ คือความจริงใจที่อยากช่วยเหลือ
หลายครั้งที่เขาต้องบุกป่าฝ่าดง นั่งเกวียนไปหาชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล หรือแม้แต่ข้ามฝั่งไปช่วยรักษาชาวบ้านกะเหรี่ยงในเขตเมียนมา พร้อมค่อยๆ เปลี่ยนแปลงความคิดของชาวบ้านให้หันมาเชื่อมั่นในหมอ แม้จะทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
หลังประจำอยู่ที่โรงพยาบาลอุ้มผางได้ครบปี หมอตุ่ยวางแผนจะกลับไปเรียนต่อเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ จากนั้นก็ไปประจำอยู่ในโรงพยาบาลแถวบ้าน
แต่พอดีแพทย์รุ่นพี่ที่อยู่มาก่อนขอกลับไปเรียนต่อ และหากเขาย้ายไปตอนนั้นก็จะเหลือแต่แพทย์ใช้ทุนรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ วัฏจักรเดิมๆ ก็จะวนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป หมอตุ่ยจึงตัดสินใจอยู่ต่ออีกปี พร้อมกับหน้าที่ใหม่คือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2535 เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้ทีมงานแล้วปีถัดมาค่อยย้ายไปก็ได้
ทว่าพอถึงเวลาจริงๆ แผนการที่วางไว้ก็ไม่เป็นไปอย่างที่คิด
“ตอนนั้นขอทุนอะไรเรียบร้อยแล้ว แต่สมัยก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ต ต้องไปสมัครสอบด้วยตัวเอง แล้วการเดินทางก็ลำบากมาก พอถึงเดือนสิงหาคมที่ต้องไปสมัคร ผมดันลืม พอนึกขึ้นมาได้ อ้าว ตายแล้ว มันหมดเขตไปแล้วนี่ ก็เลยไม่ได้สมัคร ก็เลยอยู่ยาวเลย คือไม่ได้รู้สึกว่าอยากอยู่ต่อหรือไม่อยากจากไปนะ แต่มันมีงานที่ต้องทำมากกว่า ก็เลยทำมาเรื่อยๆ”
และนับตั้งแต่วันนั้น เขาก็ไม่เคยย้ายจากอำเภออุ้มผางไปอยู่ที่อื่นอีกเลย
แม้จะมีตำแหน่งเป็นถึงผู้บริหารสูงสุดของโรงพยาบาล แต่หมอตุ่ยก็มักบอกใครๆ เสมอว่า คำนี้ดูสูงส่งเกินไป เนื่องจากหน้าที่ของเขานั้นเปรียบเสมือนผู้จัดการโรงพยาบาลที่ต้องดูแลสารพัดเรื่อง
ตั้งแต่น้ำประปา ที่เปิดออกมาแล้วสีเหมือนชาเย็น ต้องเปิดทิ้งไว้สักพักรอให้ตกตะกอนก่อน หรือระบบไฟฟ้าที่ต้องปั่นไฟใช้เอง เนื่องจากทั้งอำเภอ ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง แถมเครื่องปั่นไฟที่มีก็เก่ามาก ต้องซ่อมบำรุงอยู่ตลอด ระบบออกซิเจนทางการแพทย์เพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนักก็ไม่มี หมอตุ่ยยังต้องเข็นถังออกซิเจนขนาด 200 กิโลกรัมด้วยตัวเอง หรือแม้แต่การบริหารเตียงที่มีอยู่จำกัดมาก เพราะปีแรกๆ ที่เขาไปถึงมีเตียงแค่ 10 เตียง แต่ในหอผู้ป่วยมีคนไข้เกือบร้อย
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความห่างไกลนำมาซึ่งความขาดแคลน แถมด้วยภูมิประเทศที่เป็นป่า เป็นหุบเขา อยู่ติดชายแดน ทำให้อำเภออุ้มผางเต็มไปด้วยโรคระบาด ทั้งมาลาเรีย ไข้ไทฟัส ไข้กาฬหลังแอ่น วัณโรค และอหิวาตกโรค โดยเฉพาะมาลาเรียนั้น หมอตุ่ยเคยป่วยจนต้องนอนซมรวมกับคนไข้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง
“ถ้ารักษาทันก็ไม่ตาย แต่เราเป็นหมอก็ต้องรักษาตัวเองให้ได้ คือทุกอย่างมันมีข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือเราอ่อนแอไปหน่อย แต่ข้อดีคือเข้าใจคนป่วยมากขึ้น รู้ว่าป่วยแล้วเราต้องการแบบไหน”
เพราะฉะนั้น ภารกิจแรกที่ต้องเร่งดำเนินการ คือการทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้มาใช้บริการให้มากที่สุด
เคล็ดลับหนึ่งที่หมอตุ่ยเรียนรู้ คือ งานบริหารโรงพยาบาลจะใช้ความรู้แค่เรื่องการแพทย์อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีทักษะอื่นๆ ผสมผสานด้วย ทั้งวิศวกรรมศาสตร์ การศึกษา การเงิน การคลัง กฎหมาย หรือแม้แต่การสื่อสาร เพราะบ่อยครั้งที่เขาต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับงานเหล่านี้ เช่น หากจะขยายโรงพยาบาล สร้างตึกเพิ่ม ก็ต้องรู้เรื่องทางวิศวกรรมโยธา เพื่อจะได้ตรวจรับงานได้ถูกต้องตามแบบแผน หรือเวลาจัดการโรงพยาบาลอย่างไรไม่ให้ขาดทุนก็ต้องเข้าใจเรื่องตัวเลขทางบัญชี
“เราสามารถศึกษาวิชาชีพอื่นด้วยตนเองได้ เพราะต่อให้เราไม่ได้จบแพทย์ แต่เราก็อาจจะอ่านภาษาแพทย์เข้าใจ คือไม่ได้ยากเกินไป อย่างวิศวกรรมศาสตร์ถึงผมไม่ได้เรียนมา แต่บังเอิญผมมีเพื่อนที่เรียนครบทุกสาขาเลย ผมก็ไล่โทรถาม หรืออย่างเวลาเข้ากรุงเทพฯ ก็ไปศูนย์หนังสือจุฬาฯ หาหนังสือมานั่งอ่าน ซึ่งการที่เราต้องทำงานช่างเยอะๆ ก็เหมือนไปกระตุ้นความสนใจสมัยเด็กๆ ที่อยากเป็นวิศวกรเหมือนกัน ช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป ทำให้เรารู้สึกว่าสนุกและมีความสุข เพราะอยากทำให้โรงพยาบาลมันดี เป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้”
การไม่ยอมแพ้ต่อข้อจำกัดเรื่องระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ของหมอตุ่ย ส่งผลให้โรงพยาบาลอุ้มผางค่อยๆ เริ่มดีขึ้น มีการสร้างอาคารเพิ่มเติม จนสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 30 เตียง จัดทำระบบไฟสำรอง 24 ชั่วโมง ผลิตน้ำประปาและระบบกรอง จัดระบบเตียงให้พร้อมรองรับผู้ป่วยแต่ละประเภท ทั้งผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยโรคติดต่อรุนแรง
นอกจากนี้ยังกำหนดกติกาต่างๆ ในโรงพยาบาลให้ชัดเจน เช่น เวลาเดินขึ้นตึกผู้ป่วยในจะต้องเปลี่ยนรองเท้าเป็นรองเท้าแตะที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ พื้นที่จะได้ไม่สกปรก รวมถึงจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือที่ได้มาตรฐานมาใช้
แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่า ทุกอย่างจะสะดวกสบายไปหมด
“เราก็ดูแลกันไปตามสภาพหน้างาน คนไข้เยอะก็นอนพื้นนี่แหละ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบเดิม อย่างลูกคนหนึ่งป่วย เขาก็ปิดบ้านมาหมดนะ เวลานอนก็ใช้เสื่อ ชาวบ้านเขาไม่ได้เรื่องมากอะไร ไม่มีผ้าห่มเราก็หาให้เพราะอากาศมันหนาว ไม่มีอาหารเราก็หาให้เขากิน คนไข้เยอะเราก็ต้องช่วยกันแบบนี้แหละ”
ทว่าความท้าทายหนึ่งที่หมอตุ่ยยังต้องเผชิญตลอดมาคือ ภาระการรักษาคนไข้ที่หนักหน่วง เนื่องจากโรงพยาบาลอุ้มผางต้องดูแลประชากรมากถึง 84,000 คน และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ถือสัญชาติไทยราว 48,000 คน ส่วนที่เหลือก็มีทั้งกลุ่มคนไร้สัญชาติ หรือบางคนก็ถือสัญชาติพม่า แต่อาศัยอยู่ในเขตไทย ซึ่งทั้งหมดล้วนมีฐานะยากจน แถมตามกฎหมายไทยก็ไม่ให้สิทธิในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเวลาป่วยแต่ละครั้งจึงเบิกไม่ได้
แต่เพราะหลักมนุษยธรรม หมอตุ่ยและทีมงานทุกคนจึงช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ไม่สามารถละทิ้งผู้ป่วยให้เผชิญโรคตามยถากรรมได้
“ผมถือว่าคนไข้กะเหรี่ยงของผมเป็นคนไข้เกรดเอที่บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนจะต้องพอใจ เพราะเขาไม่เคยเรียกร้อง ไม่บ่น ไม่ว่า และไม่เคยด่าทอเราเลย จนเราต้องคิดเองว่า เราได้ให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่เขาหรือยัง คนกะเหรี่ยงเป็นคนชนบทที่แท้จริง อยู่ในสังคมที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีน้ำใจ ทุกๆ ปีพวกเราจะได้รับน้ำผึ้งหรือสิ่งของอื่นๆ จากผู้ป่วยที่เคยดูแลรักษามากมาย ซึ่งไม่สามารถตีค่าน้ำใจเหล่านั้นเป็นตัวเงินได้ มันทำให้ผมมีความสุขและภูมิใจในความมีคุณค่าของตัวเอง”
สำหรับหมอตุ่ยแล้ว ปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้โรงพยาบาลอุ้มผางก้าวเดินได้ด้วยดีคือ การมีทีมงานที่พร้อมทุ่มเทให้กับชาวบ้านอย่างแท้จริง พวกเขาทำงานแทบไม่เคยมีวันหยุด หรือในเคสหนักๆ ที่โรงพยาบาลอุ้มผางไม่สามารถรักษาเองได้ ก็ต้องส่งไปยังโรงพยาบาลแม่สอดให้เร็วที่สุด ซึ่งเสี่ยงกับการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงอยู่ตลอด
แต่พวกเขาก็ไม่เคยท้อถอย และคิดเสมอว่า นี่คือหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่อคนไข้ทุกคน
“คนที่เลือกมาอยู่ที่นี่ บางทีก็เหมือนสกรีนมาแล้วว่า ต้องเป็นคนขี้สงสาร มีมุทิตาจิตถึงจะหล่อเลี้ยงให้เราทำงานต่อไปได้ คล้ายๆ กับว่า ทุกคนเหนี่ยวนำกัน เป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน งานหนักเราไม่ได้กลัวเลย ผมว่ายิ่งดี เพราะเรารู้สึกดีนะที่ชาวบ้านเขาไว้ใจเรา ฝากชีวิตลูกเมียไว้ให้กับเรา ให้เราดูแล”
อย่างไรก็ตาม การมุ่งเน้นเรื่องมนุษยธรรมเป็นอันดับหนึ่ง จนมองข้ามข้อจำกัดของระบบราชการ ส่งผลให้โรงพยาบาลอุ้มผางขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เคยมีหนี้สินมากถึง 36 ล้านบาท จากค่ายาและค่าสนับสนุนการดำเนินการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และถูกจัดเป็นโรงพยาบาลที่มีปัญหาสถานะทางการเงินระดับ 7 หรือระดับรุนแรงที่สุดของกระทรวงสาธารณสุข
โชคดีที่อย่างน้อยก็มีผู้ที่เห็นใจชาวบ้านและยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งเสด็จฯ มายังอุ้มผางเป็นประจำ ตั้งแต่ปี 2534 พร้อมพระราชทานเงินสร้างสุขศาลาในถิ่นทุรกันดาร โดยมีหน่วยงานสาธารณสุขและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนคอยดูแล รวมถึงบริษัทเอกชนหลายแห่งซึ่งคอยให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ
แต่ต้องยอมรับว่า ความช่วยเหลือใดๆ ก็คงคลี่คลายปัญหาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น หมอตุ่ยจึงพยายามดิ้นรนหาวิธีการที่ยั่งยืน ตั้งแต่ยื่นเรื่องไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขอให้ปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน ทำจดหมายเปิดผนึกไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องให้หันมามองปัญหาอย่างจริงจัง
และสำคัญที่สุดคือ การสร้างโมเดลเพื่อลดหนี้สิน แต่ขณะเดียวกันก็ยังทำให้คนไร้สัญชาติเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขที่เท่าเทียมด้วย ซึ่งกลายเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการที่โรงพยาบาลต่างๆ สามารถประยุกต์นำไปใช้ต่อได้
หนึ่งในโครงการของโรงพยาบาลอุ้มผางที่ทุกคนรู้จักมากที่สุด คงต้องยกให้โครงการรับบริจาคยาเหลือใช้ ซึ่งกลายเป็นโมเดลการจัดการยาที่มีประสิทธิภาพ และช่วยลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลชายแดนแห่งนี้ได้มหาศาล
เพราะแต่ละปี โรงพยาบาลอุ้มผางมีค่าใช้จ่ายเรื่องยาตกปีละ 10-12 ล้านบาท แถมยังมีปัญหาหนี้สินกับบริษัทยามาตลอดด้วย ซึ่งพอหนี้เพิ่มมากๆ บริษัทก็จะโทรศัพท์มาเตือนให้รีบชำระเงินคงค้างก่อน แล้วค่อยสั่งยาล็อตใหม่ จึงเป็นหน้าที่ของหมอตุ่ยในการบริหารเงินให้เพียงพอกับค่ายา ค่าอุปกรณ์ และค่าจ้างคน เพื่อให้การทำงานของโรงพยาบาลเดินหน้าไปด้วยดี
กระทั่งปี 2553 ก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อ ภก.เทวฤทธิ์ ประเพชร หัวหน้าเภสัชกร ชาวสงขลาแต่มาทำงานร่วมกับหมอตุ่ยที่อุ้มผางตั้งแต่ปี 2542 ไปเข้าร่วมงานสัปดาห์เภสัชกรรม แล้วพบว่าสภาเภสัชกรรมกำลังรณรงค์เรื่องลดยาขยะ จึงเห็นว่าน่าจะต่อยอดได้
และพอดีทางฝ่ายเภสัชกรรมได้โควตาไปดูงานที่ประเทศจีนจากองค์การเภสัชกรรมมา 2 ที่นั่ง มูลค่า 20,000 กว่าบาท เทวฤทธิ์จึงเสนอหมอตุ่ยว่า แทนที่จะนำเงินตรงนี้ไปดูงานก็เปลี่ยนมาจัดซื้อถุงผ้าดิบสำหรับให้คนไข้นำยาใส่กลับบ้านแทนดีกว่า
ความน่าสนใจคือ ถุงยานี้ไม่ได้ให้แล้วให้เลย แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสำรวจพฤติกรรมการกินยาของชาวบ้านด้วย เพราะเรื่องหนึ่งที่เภสัชกรย้ำกับคนไข้ทุกคนคือ พอกินยาเสร็จให้เก็บไว้ในถุง และเมื่อมาพบแพทย์ตามนัดก็ขอให้นำถุงนี้ติดมาด้วย และสิ่งที่พบคือ พอชาวบ้านกลับมาโรงพยาบาลอีกหน ก็ยังมียาเหลือเยอะมาก หลายคนเหลือมากเกินครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำไป
“ชาวบ้านกะเหรี่ยง พอได้ยาไปก็กินไม่ถูก เพราะเขาอ่านหนังสือไม่ออก แล้วพอไม่ได้กิน โรคต่างๆ ก็ควบคุมไม่ได้ แล้วนอกจากปัญหานี้แล้ว เขายังสับสนด้วย อย่างยาตัวแรกกินตอนเช้า ตัวที่สองกินตอนบ่าย ตัวที่สามกินตอนเย็น คือเขางง เราก็ต้องหาวิธีการปรับ เช่นเจ้าหน้าที่ห้องยาต้องฝึกพูดกะเหรี่ยงไหม จะได้คุยกับเขารู้เรื่องมากขึ้น หรือต่อไปก็เลือกสั่งยาที่กินพร้อมๆ กันไปเลย”
แต่โมเดลหนึ่งที่ช่วยทำให้เข้าใจง่ายคือ การปรับซองยา จากเดิมที่มีแต่ตัวหนังสือ ก็เริ่มมีสัญลักษณ์มาช่วยอธิบาย เช่น ตอนเช้าก็เป็นรูปไก่ขัน ตอนกลางวันเป็นรูปพระอาทิตย์ ตกเย็นเป็นรูปนกบินกลับบ้าน พอช่วงก่อนนอนก็เป็นรูปพระจันทร์และดวงดาว
ส่วนการให้ยาก็จะอิงจากปริมาณยาที่กินเหลือเป็นหลัก หากเหลือเยอะก็ให้น้อย หากเหลือน้อยก็ให้เยอะ เพราะยาที่ให้ไปก็เป็นตัวเดิม และหากกินไม่หมดสุดท้ายก็จะกลายเป็นของหมดอายุ
หลังทดลองทำไปได้ปีหนึ่ง ปรากฏว่า พฤติกรรมการใช้ยาของชาวบ้านดีขึ้นเรื่อยๆ โดยหมอตุ่ยสรุปให้ฟังว่า ลงทุนแค่ 20,000 บาท แต่กลับประหยัดค่ายาไปได้ถึง 453,000 บาท ซึ่งโรงพยาบาลขนาดกลางแบบอุ้มผางยังมียาเหลือขนาดนี้ แล้วโรงพยาบาลใหญ่ๆ จะเจอปัญหาหนักขนาดไหน
“ตอนนั้นเราไปหาข้อมูล ปรากฏว่ามีอาจารย์เภสัชกรท่านหนึ่งเคยทำวิจัยแล้ว เชื่อไหมปีหนึ่งประเทศไทยมียาเหลือทิ้งทั่วประเทศ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งเงินนี้สามารถเอาไปสร้างรถไฟฟ้าได้ครึ่งสาย ไปสร้างโรงพยาบาลใหม่ได้อีกเพียบ ไปทำโรงเรียน ทำถนน สร้างตึกสารพัดได้เลย”
และเนื่องจากในอำเภออุ้มผางมีคนไร้สัญชาติ ที่ไม่มีทั้งบัตรทอง ไม่มีประกันสังคม ไม่มีสิทธิเข้าถึงหลักประกันการรักษาพยาบาลใดๆ เยอะมาก พวกเขาเลยคิดว่า หากนำยาที่เหลือใช้มาช่วยชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ก็คงจะดีไม่น้อย นั่นเองที่กลายเป็นจุดตั้งต้นของการชักชวนคนทั่วประเทศมาร่วมบริจาคยาเก่าที่ยังไม่หมดอายุ และมีคุณภาพสามารถใช้งานได้ให้แก่โรงพยาบาลอุ้มผาง
“เขาไม่มีบัตรแต่เขามีตัวตนอยู่จริง เขาป่วยเป็นมาลาเรีย เป็นวัณโรค เราก็ต้องรักษา ถ้าไม่รักษาเขาก็จะตายไป และยิ่งเป็นโรคติดเชื้อก็จะแพร่เชื้อไปอีกเยอะ แต่เมื่อกฎหมายจำกัดเรื่องสัญชาติ เราก็ต้องหาทรัพยากรมาช่วยเติม ซึ่งยาเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่คนอื่นทิ้งแล้ว ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แล้วเราก็เอากลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง โดยยาที่เรานำมาใช้ก็ต้องคัดเลือกอย่างดี เพราะหลักการหนึ่งที่เรายึดถือเสมอคือ ใจเขาใจเรา ผมคุยกับทีมเภสัชกร ทีมคุณหมอว่า ถ้าเราไม่กล้ากิน เราก็ให้คนอื่นกินไม่ได้นะ”
สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณายาที่ได้รับบริจาค จะแบ่งออกตามประเภท กลุ่มแรกคือ ยาทั่วไป เช่นยารักษาโรคหวัด ยาแก้ไอ รักษาโรคไม่รุนแรง จะพิจารณาจากวันหมดอายุและสภาพของหีบห่อว่ายังอยู่ในสภาพดี โดยสามารถจ่ายยาได้จนหมดอายุ ต่อมาคือกลุ่มยารักษาโรคเรื้อรังและกลุ่มยาฆ่าเชื้อ ยาประเภทนี้ต้องมีอายุเหลือมากกว่า 6 เดือน เพราะต้องใช้รักษาโรคอย่างต่อเนื่อง และสุดท้ายคือยาที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วย ยาแบบนี้ต้องเหลืออายุการใช้งานมากกว่า 1 ปี
ที่ผ่านมาแต่ละปีมีผู้คนส่งยาเข้ามานับไม่ถ้วน อย่างในปี 2564 โรงพยาบาลอุ้มผางได้รับยาที่สามารถใช้งานต่อได้คิดเป็นมูลค่าถึง 12.88 ล้านบาท ช่วยยืดอายุให้แก่ผู้ป่วยได้มหาศาล ที่สำคัญยังช่วยลดงบประมาณการจัดซื้อยาได้ถึงสองในสาม โดยยาหลายประเภท เช่น ยาความดัน และยาเบาหวานนั้น โรงพยาบาลไม่ได้สั่งซื้อมาแล้วหลายปี หรือยาพาราเซตามอล แต่ละปีก็ได้รับมาหลายแสนเม็ด จนเกินความจำเป็น หมอตุ่ยเลยนำไปส่งต่อให้โรงพยาบาลอื่นๆ ที่ขาดแคลน
ไม่เพียงแค่ยาเท่านั้น ข้าวของอื่นๆ ทางโรงพยาบาลก็รับบริจาค เช่น ผ้าอนามัยแบบห่วง เพราะต้องให้แม่เด็กที่เพิ่งคลอดใช้ซับน้ำคาวปลา เนื่องจากแต่ละปีมีเด็กคลอดใหม่นับพันคน และหลายคนก็ยังคลอดกับหมอตำแยนอกโรงพยาบาล หรือแม้แต่ผ้าอ้อมเด็ก นมผง เสื้อผ้าเก่า (แต่ขอให้สะอาด) สมุด ดินสอ ปากกา และแบบเรียนสำหรับเด็ก
“ตอนนี้เรามีกองทุนเยอะมาก ทั้งกองทุนซื้อยา กองทุนเครื่องมือแพทย์ กองทุนช่วยค่าอาหารคนไข้ กองทุนจัดงานศพก็มี พวกศพไม่มีญาติ เอากลับไปไม่ไหว เพราะมันไกลมาก เอารถไปส่งก็ไม่คุ้ม เราก็เผาให้เลย กองทุนทำบ้านผู้พิการก็มี
“ผมเคยคุยกับน้องๆ ว่า โรงพยาบาลเราก็เหมือนคนรับฝากความเมตตาของผู้บริจาค รับฝากไว้แล้วเอาไปส่งต่อ เราเป็นแค่คนส่งผ่าน เพราะเราไม่ได้น่าสงสาร เราเป็นข้าราชการ มีเงินเดือน มีเสื้อกันหนาวใส่ แต่ชาวบ้านเขาไม่มี เพราะฉะนั้นเมื่อมีผู้บริจาคมาให้ เราก็ต้องเป็นผู้รับฝากที่ดี ส่งให้ชาวบ้านครบทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ อย่าให้ตกหล่น เพราะสิ่งที่เกิดตามมาคือ ความสุขในใจว่าอย่างน้อยเราก็เป็นคนที่มีประโยชน์เหมือนกันนะ”
เขาไม่มีบัตรแต่เขามีตัวตนอยู่จริง เขาป่วยเป็นมาลาเรีย เป็นวัณโรค เราก็ต้องรักษา ถ้าไม่รักษาเขาก็จะตายไป และยิ่งเป็นโรคติดเชื้อก็จะแพร่เชื้อไปอีกเยอะ แต่เมื่อกฎหมายจำกัดเรื่องสัญชาติ เราก็ต้องหาทรัพยากรมาช่วยเติม
ตั้งแต่อยู่อุ้มผางมา หลักคิดหนึ่งที่หมอตุ่ยยึดถือไว้เสมอคือ พรหมวิหาร 4 เพราะเมื่อคนเรามีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาแล้ว ความสุขใจที่ได้เป็นผู้ให้ก็จะตามมาเช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเขาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบรรดาน้องๆ ทีมงานด้วย
“ทุกเดือนเราจะมีการนั่งคุยกันว่าเป็นยังไงบ้าง แต่อย่างที่ผมบอกว่า การมาอยู่โรงพยาบาลอุ้มผาง ก็เหมือนเป็นการเหนี่ยวนำซึ่งกันและกัน ซึ่งน้องๆ แต่ละคนเป็นคนใจดี ใจเย็น บางวันผมเดินผ่านก็เห็นเขาผ่าตัดหมากันอยู่ เพราะเวลาหมาแมวคลอดลูกไม่ได้ ชาวบ้านก็จะอุ้มมาให้หมอที่นี่ช่วย เพราะถ้าจะไปให้สัตวแพทย์ที่แม่สอดก็คงไม่ทัน เราก็อนุโมทนา ดีใจกับเขาด้วย”
ที่สำคัญ หมอตุ่ยยังพยายามสร้างสังคมแห่งโอกาส เพราะรู้ว่าคนที่นี่ล้วนแต่ขาดแคลน หากมีอะไรช่วยเหลือ เขาก็ยินดี อย่างเช่นโครงการหนึ่งที่หมอตุ่ยเริ่มทำมาตั้งแต่ปีแรกๆ คือ ส่งเสียค่าเล่าเรียนให้เด็กอุ้มผางที่เรียนดีแต่ยากจน
“ตอนนั้นปี 2535 มีน้องคนหนึ่งเป็นพนักงานทำความสะอาดของโรงพยาบาล เป็นเด็กอุ้มผางนี่แหละ แล้ววันหนึ่งเขาก็ลาออกไปเรียนต่อที่ราชภัฏกำแพงเพชร แต่เรียนได้แป๊บเดียวก็ไม่เรียนแล้ว ก็กลับมาทำงานถ่ายเอกสาร ล้างจาน พอดีก่อนหน้านั้นผมเป็นคนชอบเครื่องเสียง แล้วพอมาอยู่ที่นี่ก็ใช้น้อย เงินเดือนตอนนั้น 5,600 บาท แทบไม่ได้ใช้เลย ข้าวก็กินข้าววัด รายจ่ายมีแค่ 20 บาท เพื่อไปเช่าวิดีโอมาดู เพราะทีวีดูไม่ได้ พอเก็บได้หลายหมื่นบาท ก็เลยตั้งใจว่าจะเอาไปซื้อเครื่องเสียงที่กรุงเทพฯ แล้วตอนที่ไปนั่งฟังเครื่องเสียงอยู่ที่ร้าน แวบหนึ่งก็เกิดคิดขึ้นมาได้ เราก็เปลี่ยนเครื่องเสียงมา 2-3 ครั้งแล้วนะ ถ้าเราจะยังเปลี่ยนอีก มันคงไม่จบหรอก ฟังตอนแรกมันก็เพราะดี แต่พออีกหน่อย เราก็ต้องหาเงินไปซื้อเครื่องใหม่แบบนี้เรื่อยไป ไม่รู้ว่าจะจบตรงไหน ผมก็เลยยังไม่ซื้อ ถือเงินกลับโรงพยาบาล
“พอดีหัวหน้าฝ่ายบริหาร ชื่อพี่หยา มาคุยให้ฟังว่า เด็กคนนี้จะไม่เรียนต่อแล้ว เพราะหาเงินไม่ได้ ผมก็เลยบอกว่า ‘ผมมีเงิน เอาไปส่งเรียนได้นะ’ ต้องใช้เดือนละเท่าไหร่ เขาก็บอกว่า 2,000 บาท ผมก็มานั่งคิด เงิน 40,000-50,000 บาท เราส่งเขาเรียนได้ 2 ปีเลย แล้วค่าเทอมสมัยก่อนก็ถูก แล้วเราถือเงินไว้หลายหมื่นก็เป็นภาระ อีกใจก็สงสารเด็กด้วย เลยให้ไปไม่คิดอะไรมาก ปรากฏว่าพอเด็กคนนี้เรียนจบมา เขาก็ทำประโยชน์ได้เยอะเลย กลายเป็นครูสอนเด็กที่นี่ ได้รับคำชื่นชมมากว่าดูแลเด็กดี ตั้งใจสอนมาก”
พอตอนหลังหมอตุ่ยจึงจัดตั้งเป็นกองทุน โดยกันเงินเดือนส่วนหนึ่งเพื่อเป็นทุนการศึกษา ซึ่งตลอด 30 ปีที่ผ่านมา น่าจะส่งเด็กเรียนต่อได้เป็นร้อยคนแล้ว ซึ่งหลายคนพอจบออกมาก็กลายเป็นครู เป็นพยาบาล ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี เพราะสุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็มักจะทำงานและอยู่พัฒนาพื้นที่ต่อไป
เช่นเดียวกับเรื่องคนไร้สัญชาติ หมอตุ่ยก็ไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง แต่ยังมี รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรืออาจารย์แหวว และทีมงาน มาร่วมกันตั้งคลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงให้พ้นจากภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ และมีสิทธิเป็นพลเมืองรัฐตามกำเนิด
สำหรับคนไร้สัญชาติจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือ ท.99 ซึ่งมักเป็นผู้ตกหล่นและกำลังรอสถานภาพคนไทยอยู่ ซึ่งกลุ่มนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเหมือนคนไทยทั่วไปแล้ว
อีกกลุ่มหนึ่งคือ คนที่ไม่มีหลักฐานทางราชการเลย เช่น ชาวบ้านที่อยู่ในป่าลึก พ่อแม่ไม่มาแจ้งเกิดเพราะอยู่ไกล จึงไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และถูกตีความว่าไม่ใช่คนไทย พอเจ็บป่วยก็ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ ซึ่งคลินิกกฎหมายก็จะมาช่วยสอบสวนหาที่มาของคนกลุ่มนี้ แล้วพิจารณาว่า เข้าเกณฑ์กลุ่มไหน เพื่อหาวิธีช่วยเหลืออย่างถูกต้อง
ที่ผ่านมาคลินิกแห่งนี้ไม่ได้ช่วยเหลือแค่ชาวอุ้มผางเท่านั้น แต่ยังขยายความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ที่เผชิญสถานการณ์คล้ายคลึงกัน เช่นโรงพยาบาลท่าสองยาง โรงพยาบาลแม่ระมาด และโรงพยาบาลพบพระ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
“เราต้องคืนความเป็นธรรมให้ชาวบ้าน อย่างผมเป็นลูกจีนรุ่นที่ 3 ก๋งผมมาจากซัวเถา ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมยังได้สัญชาติไทยเลย แต่ชาวกะเหรี่ยงเขาอยู่กันเป็นร้อยปี ตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว แต่วันนี้กลับยังต้องมาพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นคนสัญชาติไทยหรือเปล่า ผมว่าไม่เป็นธรรมกับเขา ผมถึงอยากทำให้โรงพยาบาลนี้เป็นที่พึ่งให้ชาวบ้านได้
“อย่างเมื่อก่อน อุ้มผางเป็นแชมป์มาลาเรียเลย แต่ตอนนี้มาลาเรียจะหมดแล้ว เพราะเราคุมจนเหลือแค่ที่บ้านเลตองคุแห่งเดียว เนื่องจากอยู่ฝั่งตรงข้ามเมียนมาซึ่งมีมาลาเรียเยอะอยู่ แล้วยุงก้นปล่องก็บินข้ามไปข้ามมาไม่ต้องขอวีซ่าใคร ตอนหลังเราก็เลยคิดว่าต้องทำหน่วยสาธารณสุขเข้าไปช่วยในฝั่งเมียนมาเลย เพื่อกำจัดโรคที่นั่น สุดท้ายหมู่บ้านในไทยก็จะหมดโรคไปเอง ชาวบ้านตรงนั้นได้ประโยชน์ เราก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะเราเชื่อว่าการแพทย์การสาธารณสุขนั้นไม่มีพรมแดน”
ขณะเดียวกัน ก็มีการก่อตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางเพื่อมนุษยธรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนใดๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกินจากงบประมาณของราชการ เช่น ค่าตอบแทนลูกจ้างรายวัน และลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนงานโรงพยาบาล
สำหรับหมอตุ่ยแล้ว ความฝันของเขาคือ การพัฒนาโรงพยาบาลอุ้มผางให้เป็นสถาบันของนักศึกษาแพทย์และทุกสาขาวิชา เพื่อเรียนรู้วิธีทำงานกับชาวบ้าน เพราะเขาเชื่อว่า การทำงานในพื้นที่ห่างไกล ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ จะช่วยเพิ่มพูนทักษะ ประสบการณ์ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของสังคมไทยอย่างแท้จริงด้วย
จากวันแรกที่เคยคิดว่าจะมาอยู่ที่อุ้มผางแค่ปีเดียว พอถึงวันนี้หมอตุ่ยบอกว่า คงไม่ย้ายไปอยู่ที่ไหนแล้ว เพราะที่นี่ก็เปรียบเสมือนบ้านอีกหลังหนึ่งที่เต็มไปด้วยเรื่องราว และความผูกพันมากมาย
“เราอยู่จนชิน อยู่จนกลายเป็นคนอุ้มผางไปแล้ว ที่นี่มันสงบ ถ้าไปอยู่ที่อื่นคงรู้สึกวุ่นวาย คือเราปรับตัวจนไม่รู้สึกทุกข์อะไร แล้วความสุขของผมตอนนี้คือ สุขที่ได้อยู่เบื้องหลังคนอื่น เพราะเราเองก็อายุมากขึ้นเรื่อยๆ จะไปบู๊เหมือนแต่ก่อนก็คงไม่ได้ ต้องให้น้องรุ่นใหม่ๆ ไปบู๊แทน โชคดีที่การทำงานสะดวกขึ้น อุปกรณ์ต่างๆ ก็ดีขึ้น ทำให้ช่วยเหลือชาวบ้านได้มากขึ้น ซึ่งสำหรับผมแค่นี้ก็มีความสุขมากพอแล้ว”
และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของหมอแห่งโรงพยาบาลชายแดนที่ยังคงยืนหยัดทำงานให้ชาวบ้านต่อไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด
คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ คือบุคคลต้นแบบประเด็นสร้างหลักประกันการมีสุขภาพดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย (SDGs ข้อที่ 3), ประเด็นดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (SDGs ข้อที่ 10) และประเด็นส่งเสริมสังคมที่สงบสุข และครอบคลุมที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบและทุกคนสามารถเข้าถึงในทุกระดับ (SDGs ข้อที่ 16)
ฝันอันยิ่งใหญ่ของเจ้าชายหนุ่มที่ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อการสร้างโรงพยาบาลศิริราช ให้สามารถเป็นที่พึ่งของคนไทยได้อย่างแท้จริง
นักอนุรักษ์ทรัพยากรทะเล ผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อม และช่วยยังสื่อสารไปยังประชาชนว่า ทำไมเราถึงต้องทะเล
กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหมที่ทำงานขับเคลื่อนการอนุรักษ์คลองในพื้นที่ฝั่งธนบุรี
สัมผัสเรื่องราวของ นพ.สุด แสงวิเชียร ครูผู้ให้แก่ศิริราชพยาบาล หนึ่งในแพทย์คนสำคัญผู้บุกเบิกวิชากายวิภาคศาสตร์ของเมืองไทย
นักวิจัยแห่งจุฬาฯ ผู้ทำงานเรื่องขยะมายาวนาน และเป็นผู้บุกเบิกโครงการ Chula Zero Waste
นักอนุรักษ์ผู้เป็นแรงบันดาลให้นักเคลื่อนไหวด้านธรรมชาติรุ่นใหม่ เป็นผู้บุกเบิกค่ายเยาวชนเชียงดาว
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
สุดยอดนักพากย์ฟุตบอลและผู้ประกาศข่าวกีฬาแห่งเรื่องเล่าเช้านี้ที่ครองใจผู้ชมผู้ฟังมานานกว่า 3 ทศวรรษ
สาว สาว สาว แอม-แหม่ม-ปุ้ม ต้นตำรับเกิร์ลกรุ๊ปเมืองไทย ผู้สร้างกระแสเพลงประตูใจ ข้ามกาลเวลาถึงปัจจุบัน
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.