สุด แสงวิเชียร : ปรมาจารย์กายวิภาคศาสตร์เมืองไทย

<< แชร์บทความนี้

ไม่มีการพัฒนาใดที่ยั่งยืน หากปราศจากความรู้พื้นฐานที่มั่นคง

เช่นเดียวกับแพทย์ที่ไม่รู้จักร่างกายมนุษย์ดีพอ ก็คงยากจะต่อกรกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ไหว

กายวิภาคศาสตร์จึงเป็นหนึ่งในแขนงวิชาสำคัญที่แพทย์ไทยทุกคนต้องเรียนรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับต่อยอดสู่การศึกษาในขั้นที่สูงขึ้น

แต่เชื่อหรือไม่ เมื่อ 70-80 ปีก่อน วิชานี้เคยถูกมองข้าม และละเลยความสำคัญ

ตั้งแต่ปริมาณบุคลากรที่มีจำกัด เครื่องมือที่ค่อนข้างอัตคัด และยังเคยถูกดูแคลนจากแพทย์บางคนว่าเป็นศาสตร์ชั้นรองที่อาศัยแค่ตำราแพทย์เล่มเดียวก็พอแล้ว

แต่ด้วยการต่อสู้ของนายแพทย์ผู้หนึ่ง ทำให้ศาสตร์แขนงนี้ถูกยกระดับกระทั่งเป็นที่ยอมรับ เกิดการต่อยอด ทั้งการเรียนการสอน อุปกรณ์เครื่องมือ รวมถึงประยุกต์ความรู้พื้นฐานเข้ากับศาสตร์อื่นๆ โดยเฉพาะมานุษยวิทยาและโบราณคดี จนนำไปสู่ทฤษฎีใหม่ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์บ้านเรา

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อยากชักชวนทุกคนไปรู้จักกับอาจารย์หมอผู้ทุ่มเทชีวิตเพื่อวงการกายวิภาคศาสตร์ ตราบจนวาระสุดท้าย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร

เส้นทางกายวิภาคศาสตร์ในเมืองไทย

“อาจารย์เป็นครูที่เก่ง รู้มาก รู้ลึกในวิชากายวิภาคศาสตร์ทุกสาขา” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สรรใจ แสงวิเชียร อดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึง ‘อาจารย์หมอสุด’ ผู้เป็นทั้งบิดาและอาจารย์ของท่าน

กายวิภาคศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยโครงสร้างร่างกายของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักของการเรียนแพทย์ทุกแขนง โดยศึกษาผ่านตัวอ่อน เนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ หลอดเลือด ระบบประสาท และมี ‘อาจารย์ใหญ่’ หรือศพมนุษย์ กับ ‘กระดูก’ เป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้

เมื่อ 130 ปีที่แล้ว วงการแพทย์ไทยได้รู้จักกับวิชากายวิภาคศาสตร์ ในฐานะวิชาแรกของโรงเรียนแพทยากร หรือปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แต่การเรียนการสอนยุคนั้นยังไม่สมบูรณ์นัก เพราะสอนแต่ทฤษฎี การเรียนปฏิบัติใช้หุ่นจำลอง

ผ่านไปร่วมสิบปี จึงเริ่มมีการชำแหละศพจริง โดยใช้ศพสดซึ่งนักเรียนทุกคนจะต้องมาเรียนด้วยกันจนกว่าศพจะเน่า ใช้เรียนไม่ได้ ต่อมาจึงมีน้ำยารักษาศพโดยฉีด Phenol เข้าไปในร่าง ศพจะมีคุณภาพดีขึ้น แต่มีกลิ่นรุนแรง ทำให้นักเรียนใหม่ต้องใช้เวลาพอสมควรจึงจะกล้าเข้าไปเรียน

เมื่อเริ่มปรับปรุงการศึกษาแพทย์ จึงมีการใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมหลายชนิด มี Formalin เป็นหลัก ในช่วงเวลานี้ นักเรียนแพทย์จะต้องจัดหาโครงกระดูกสำหรับเรียนด้วยตัวเอง โดยไปขอจากป่าช้าวัดอมรินทรารามมาทำความสะอาดเก็บไว้ ส่วนสาขาอื่นของกายวิภาคศาสตร์ เช่นสาขาจุลกายวิภาคศาสตร์มีสอนเพียงเล็กน้อย กระทั่งปี 2463 เมื่อปรับปรุงการศึกษาแพทย์แล้ว จึงมีกล้องจุลทรรศน์พอเหมาะกับจำนวนนักศึกษาเป็นครั้งแรก

ต่อมาเมื่อปี 2466 มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ได้ทำสัญญากับรัฐบาลสยามช่วยปรับปรุงการศึกษาแพทย์จากระดับประกาศนียบัตรเป็นแพทยศาสตรบัณฑิต โดยมีหลักการดังนี้ รับนักเรียนความรู้ขั้นต่ำชั้น ม.8 ใช้เวลาเรียน 6 ปี โดย 2 ปีแรก เรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานและภาษาอังกฤษ เรียกว่าระดับเตรียมแพทย์ เรียนที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนวิชาแพทยศาสตร์แท้ๆ ใช้เวลาเรียน 4 ปี ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังส่งศาสตราจารย์ 6 คนเข้ามาจัดการเรียนการสอนวิชาแพทย์ใน 6 วิชาใหญ่ และให้ศาสตราจารย์คนหนึ่งเป็นผู้จัดหลักสูตรทั้งหมด ตำแหน่งนี้เรียกว่า ‘วิชาธิการ’

ศาสตราจารย์กายวิภาคศาสตร์คนแรก เป็นชาวออสเตรเลีย เมื่อท่านกลับประเทศไปแล้ว มูลนิธิฯ จึงส่งศาสตราจารย์ ดร. อี.ดี. คองดอน จาก Peking Union Medical College มาแทน

ศาสตราจารย์คองดอนสามารถจัดการเรียนการสอนกายวิภาคศาสตร์ได้ครบทั้ง 4 สาขาวิชา อย่าง มหกายวิภาคศาสตร์ ท่านได้นำสูตรน้ำยาใหม่ซึ่งมี Formalin และสารประกอบอื่นๆ ในอัตราส่วนที่เหมาะสมทำให้ร่างของอาจารย์ใหญ่มีคุณภาพดี นุ่ม เหมาะสำหรับเรียน และกำหนดให้นักเรียน 4 คนชำแหละอาจารย์ใหญ่ 1 ศพ

นอกจากนี้ท่านได้เก็บรวบรวมโครงกระดูกไว้ และเริ่มจัดทำพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ พร้อมกันนั้นยังจัดหาสไลด์สำหรับเรียนทุกวิชาจนครบจำนวนนักเรียน

แต่สิ่งสำคัญที่มูลนิธิฯ ทำเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้ประสบความสำเร็จ คือการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ด้วยการคัดเลือกอาจารย์ที่มีอยู่เดิมให้ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา คัดเลือกแพทย์ไทยที่สำเร็จจากโรงเรียนแพทย์ให้ไปเรียนต่อในระดับสูงเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์ที่ศิริราช รวมถึงคัดเลือกนักเรียนแพทย์ที่มีแววเหมาะเป็นครูแพทย์ต่อไปให้เป็นนักเรียนผู้ช่วยอาจารย์ และฝึกอบรมเพื่อให้ไปเรียนต่อโดยทุนของมูลนิธิฯ

สำหรับอาจารย์หมอสุด เมื่อจบชั้น ม.8 ท่านอายุน้อยและสายตาสั้นมาก จึงต้องตามเพื่อนมาเรียนแพทย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนิสิตเตรียมแพทย์ปริญญารุ่นที่ 2

อาจารย์หมอสุดเป็นคนดี ขยัน มีฝีมือในการชำแหละ และช่วยอาจารย์ทำงานต่างๆ นอกเวลาเรียนเสมอ ศาสตราจารย์คองดอนจึงเลือกอาจารย์หมอสุดเป็นนักเรียนผู้ช่วยอาจารย์คนแรกของแผนกกายวิภาคศาสตร์

หน้าที่หลักของอาจารย์หมอสุดคือ เตรียมการสอน เขียนแผ่นภาพ ชำแหละไว้สำหรับสาธิต ฝึกทำวิจัย เช่นวัดขนาดร่างกายคนไทยตามภาคต่างๆ รวมถึงช่วยสอนในภาคปฏิบัติด้วยบางครั้ง

นักเรียนแพทย์ในสมัยนั้นได้ทุนเป็นค่าเล่าเรียน ค่าหอพัก และได้เงินเดือนละ 15 บาท แต่ผู้ที่เป็นนักเรียนผู้ช่วยอาจารย์ยังได้เงินเดือนเพิ่มอีก 80 บาท

ด้วยความที่ต้องทำงานครึ่งวัน เรียนอีกครึ่งวัน อาจารย์หมอสุดจึงจบช้าไป 1 ปี แต่ก็ยังเรียนดีจนได้รางวัลเหรียญเงินรองเยี่ยมตลอดหลักสูตร เหรียญทองแดงที่ 1 ศัลยศาสตร์ และเหรียญทองแดงที่ 1 อายุรศาสตร์

หลังจบปี 4 อาจารย์หมอสุดไปสมัครเป็นแพทย์ประจำบ้านศัลยศาสตร์ และได้รับเลือก แต่คณบดีและหัวหน้าแผนกกายวิภาคศาสตร์ได้ขอตัวมาบรรจุเป็นอาจารย์กายวิภาคศาสตร์ และให้ทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาทันที

ก่อนเดินทางอาจารย์หมอสุดได้รับปากกับศาสตราจารย์คองดอนว่า จะต้องเรียนกายวิภาคศาสตร์ให้ครบทุกสาขา และตักตวงความรู้กับประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด

ขณะที่อาจารย์ลิ้ม จุลละพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคของแผนก ก็ย้ำให้ศึกษาเรื่องเทคนิคเป็นพิเศษ ไม่เช่นนั้นแผนกจะไม่สามารถทำวิจัยและยืนบนขาของตัวเองได้เลย

ปีแรก อาจารย์หมอสุดจึงลงเรียนทั้ง มหกายวิภาคศาสตร์ จุลกายวิภาคศาสตร์ และประสาทกายวิภาคศาสตร์ ที่ University of Michigan ซึ่งอาจารย์สามารถทำคะแนนได้ดีเยี่ยมจนมหาวิทยาลัยชักชวนให้ทำปริญญาโท พร้อมแนะนำว่า ‘หากสนใจมากสาขาเกินไปจะเอาดีที่สุดไม่ได้’ แต่เมื่อขัดกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจมาตักตวงความรู้จึงปฏิเสธไป

“ผมไม่ดีเอง เขาจะให้ทำปริญญา แต่เป็นวิชาที่ผมยังไม่ศึกษาละเอียดลึกซึ้ง และยังมีวิชาที่จะต้องเรียนแล้วนำกลับมาใช้อีกหลายวิชา เมื่อให้ผมเรียนกายวิภาคศาสตร์ เพื่อจะได้กลับมาเป็นอาจารย์ ดังนั้นเมื่อรับปากกับเขาแล้ว ผมจึงต้องสนใจทุกๆ สาขาวิชา” อาจารย์หมอสุดเคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อ 30 ปีก่อน

พอปีต่อมา อาจารย์ย้ายไปเรียนที่ Western Reserve University เน้นหนักไปที่เอ็มบริโอ มานุษยวิทยา รวมถึงงานเทคนิคต่างๆ โดยเฉพาะการทำสไลด์และแบบจำลอง เช่นกะโหลกและฟันของกอริลลาหรือชิมแพนซี และพอมีเวลาว่างก็ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ตามโรงเรียนแพทย์อีกหลายแห่ง

ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์เต็มตัวในปี 2476

“เมื่อร็อคกี้เฟลเลอร์ให้ทุนผมไปเรียนต่างประเทศถึง 2 ปี ใช้เงินใช้ทองไม่ใช่น้อย เมื่อกลับมาแล้วผมก็มีข้อผูกมัด มีความรู้สึกว่าจำเป็นจะต้องทำตามหน้าที่ได้รับมอบหมายไป และเมื่อผมได้รับปากกับใครแล้ว ผมก็มีหน้าที่จะต้องทำงานตามที่รับปากไว้ เมื่อทำไปก็เลยทำให้ผมรักวิชานี้ด้วย”

วิชาชั้นรองในสายตาแพทย์ไทย

หากแต่ชีวิตการเป็นอาจารย์หมอไม่ได้สบายอย่างที่บางคนคิด โดยเฉพาะแผนกเก่าแก่อย่าง กายวิภาคศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

เรื่องแรกคือที่นี่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้เลย เพราะอุปกรณ์เกือบทุกอย่างต้องนำเข้า แถมแต่ละอย่างก็ราคาสูงมาก อย่างเอ็มบริโอหมูกับไก่ นักเรียนต้องมีคนละชุด ชุดละ 200 แผ่น ราคาประมาณ 100 กว่าบาท ซึ่งถ้าเทียบกับยุคนี้ก็คงร่วมหมื่นบาท

“แผนกกายวิภาคศาสตร์เหมือนกับเด็กแรกเกิด แม้มีศพใช้ชำแหละ แต่กระดูกเกือบหาเรียนไม่ได้ กระดูกที่ร้อยเสร็จต้องซื้อมาจากต่างประเทศทั้งที่สมัยนั้นกระดูกยังพอหาได้ เรามีกล้องจุลทรรศน์ก็จริงแต่ทำเซ็กชันเองไม่ได้ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ถ้าเรายังต้องซื้อจนถึงเดี๋ยวนี้จะสิ้นเปลืองสักแค่ไหน

“อย่างสไลด์เอ็มบริโอไก่และหมูใช่ว่าจะมีอายุนาน สิ้นปีมาตรวจเห็นได้ชัดว่าชำรุดเสียหายเพราะขาดความระวังรักษา เราจึงต้องทำขึ้น แม้ระยะแรกอาจไม่ได้มาตรฐานเท่าต่างประเทศก็ตาม”

ครั้งนั้นอาจารย์หมอสุดร่วมกับอาจารย์ลิ้ม ทดลองฟักไข่ไก่เอง โดยตู้ฟักก็หาซื้อตามตลาดทั่วไป จนได้เอ็มบริโอครบสมบูรณ์ จากนั้นอาจารย์ลิ้มก็มาตัดและเรียงเซ็กชันของเอ็มบริโอ จนได้อุปกรณ์ที่คุณภาพสูงเทียบเท่าต่างประเทศ แถมยังสามารถต่อยอดใช้ศึกษาการเจริญเติบโตของเต่าทะเลได้ด้วย

แต่ที่ท้าทายยิ่งกว่า คือตัวอ่อนของหมู เพราะอาจารย์หมอสุดต้องตื่นตั้งแต่ตี 2 เดินทางไปโรงฆ่าหมูที่หัวลำโพง คืนเว้นคืนเพื่อดักซื้อมดลูกหมูหรือไส้ตัน จากนั้นก็เอามาล้างหาเอ็มบริโอ ทำอย่างนี้ต่อเนื่องกัน 4 ปี จนสุดท้ายได้สไลด์เพียงพอสำหรับนักเรียน 200 คน

ไม่เพียงแค่นั้น อาจารย์หมอสุดยังเริ่มต้นทดลองร้อยโครงกระดูกด้วยลวด ทำกระจกฉายภาพนิ่งเป็นสื่อการสอน พร้อมแบ่งปันอุปกรณ์ไปยังโรงเรียนแพทย์เกิดใหม่หลายแห่ง ทั้งโรงเรียนนายทหารเสนารักษ์, คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ตลอดจนรณรงค์ให้ประชาชนหันมาบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา ในยุคที่อาจารย์ใหญ่เริ่มขาดแคลน

จากแนวคิดพึ่งพาตัวเองนี่เอง ทำให้แผนกกายวิภาคศาสตร์มีอุปกรณ์เรียนพอในยามวิกฤติ โดยเฉพาะช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศไทยไม่สามารถติดต่อกับต่างประเทศได้

แต่นั่นไม่ใช่ความท้าทายเดียวที่อาจารย์หมอสุดต้องเผชิญ เรื่องที่หนักหน่วงไม่แพ้กัน คือการที่วิชากายวิภาคศาสตร์ถูกมองเป็นศาสตร์ชั้นรองที่ปราศจากความสำคัญ

อาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งเคยพูดถึงวิชากายวิภาคศาสตร์ว่า There is no need for new books and journals, all knowledge of Anatomy is already in ‘Gray or Cunningham’ อธิบายเป็นไทยง่ายๆ ว่า ความรู้ทั้งหมดของวิชากายวิภาคศาสตร์นั้นอยู่ในตำราหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพัฒนาหรือต่อยอดความรู้ใดๆ อีก

เมื่อแพทย์ส่วนหนึ่งไม่เข้าใจว่า การศึกษากายวิภาคศาสตร์มีประโยชน์กับการแพทย์อย่างไร ก็เลยเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ อาทิ องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ไม่สนใจสนับสนุนช่วยเหลือแผนก เช่นเดียวกับบุคลากรก็ไม่อยากมาร่วมงานด้วย เพราะทำอย่างอื่นมีรายได้มากกว่า

เมื่อปี 2499 อาจารย์หมอสุดเคยบันทึกว่า มีอาจารย์ของแผนกลาออกไปถึง 34 คน และบางครั้งส่งคนไปเรียนแต่ไม่ยอมกลับมาสอน แต่อาจารย์ก็ไม่เคยยื้อ เพราะยึดหลักคิดที่ว่า ‘จากกันด้วยดี และช่วยเหลือกันต่อไป’

“ตลอดเวลาที่ผมมีชีวิตคลุกคลีกับวิชานี้ ไม่เคยชวนใครมาทำงานเลย หรือถ้ามีใครอยู่แล้วเกิดจะไปขึ้นมาก็ไม่เคยขัดขวาง มีแต่จะเซ็นว่าแผนกฯ ไม่ขัดข้อง จะขัดขวางได้อย่างไร มีอะไรตอบแทนความเสียสละของเขาบ้างหรือเปล่า..

“ผมจึงขอพูดว่า ทำอย่างไรวิชาการแพทย์ของไทยก็ก้าวทัดเทียมต่างประเทศเขาไม่ได้ เพราะเราไม่มีพื้นฐานที่มั่นคงพอที่จะรับความเจริญก้าวหน้าของวิชานี้ เรามีคนดีจริงๆ อยู่ที่ยอดหลายคน แต่คนดีที่ฐานนั้นเรามีกี่คน เราจะสอนกันแต่ยอดวิชา แต่ขาดพื้นฐานที่ดีรองรับนั้นเราจะก้าวไปได้อย่างมั่นคงหรือถึงก้าวไปได้ก็โงนเงน ไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นให้พ้นไปได้ ฉะนั้นถ้าไม่หาทางสนับสนุนรากฐานให้มั่นคงแล้ว เพียงแต่เราจะตามเขาให้ทันก็แลไม่เห็นหลัง”

ขณะที่อาจารย์สรรใจ บุตรชายเสริมว่า “กายวิภาคศาสตร์ คุณจะเรียนให้มันคร่าวๆ ก็ได้ เรียนให้น้อยก็ได้ แต่เมื่อคุณเรียนจบไปแล้ว คุณจะรู้เองว่าทำตรงนี้ได้หรือไม่ มีความรู้พอไหม สมมติวันหนึ่งเปิดเข้าไปในท้องแล้วอะไรๆ ไม่อยู่ที่เดิม เพราะมีความผิดปกติขณะที่มีพัฒนาการ ถ้าคุณไม่มีพื้นเอ็มบริโอก็จะนึกไม่ออกว่าทำอะไรได้ คนเก่งคือคนที่ทำสิ่งที่คนอื่นทำได้ยาก ซึ่งคนนั้นจะต้องมีพื้นที่แน่น”

แต่ถึงจะมีปัญหาการทำงานรุมเร้าเต็มไปหมด อาจารย์ก็ยังคงสู้ไม่ถอย ด้วยคิดเสมอว่างานที่ทำเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

ตลอดชีวิตการเป็นครู อาจารย์ทุ่มเทเวลาเกือบทั้งหมดเพื่องานและลูกศิษย์

อาจารย์มาทำงานทุกวันตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น เว้นวันอาทิตย์ที่ทำเพียงครึ่งวัน และยิ่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ตำราภาษาอังกฤษขาดแคลน อาจารย์ยอมอดตาหลับขับตานอน จุดตะเกียงเขียนตำรามหกายวิภาคศาสตร์ พอเสียงหวอมาก็ต้องรีบหลบในท้องร่องสวน ทำเช่นนี้ทุกวัน วันละ 1-2 แผ่น พอรุ่งเช้าก็ส่งพิมพ์ จนสามารถรวบรวมเป็นตำราเล่มใหญ่ความยาว 8 ตอน

นอกจากนี้ อาจารย์ยังสนับสนุนคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเพิ่งเปิดสอนครั้งแรกเมื่อปี 2483 ด้วยการช่วยสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ ตลอดจนจัดเตรียมอุปกรณ์การเรียนที่สำคัญ ทั้งอาจารย์ใหญ่ และโครงกระดูก โดยนักศึกษาทันตแพทย์ 5 รุ่นแรก เรียนกายวิภาคศาสตร์ที่ศิริราช กระทั่งบุคลากรของคณะนั้นพร้อมจึงสอนกายวิภาคศาสตร์เอง

แต่ผลงานที่เป็นเสมือนภาพจำของอาจารย์หมอสุด คือการขยายพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ที่ศาสตราจารย์คองดองเคยริเริ่มไว้ ด้วยการจัดหาสิ่งแสดงเพิ่มเติม ทั้งส่วนของร่างกาย อวัยวะ ตัวอ่อน ทารกในครรภ์ ทารกที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด โครงกระดูก พร้อมตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า ‘พิพิธภัณฑ์กายวิภาค-คองดอน’ เพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์คองดอน

เพราะสำหรับอาจารย์หมอสุดแล้ว ‘ศาสตราจารย์ ดร. อี.ดี. คองดอน’ คือ ‘Father of Modern Teaching of Anatomy of Thailand’

สิ่งที่อาจารย์หมอสุดทำทั้งหมด บางคนอาจมองว่าเป็นความรับผิดชอบในฐานะครู แต่ขณะเดียวกันก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียนแพทย์ที่มีโอกาสได้สัมผัสและเข้าถึงวิธีคิดของท่านอีกด้วย

ดังที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประเวศ วะสี เคยเขียนว่า อาจารย์ส่วนใหญ่มักจะสอนเฉพาะเทคนิค แต่จริยวัตรของอาจารย์หมอสุดได้ปลุกจิตสำนึกให้เกิดขึ้นในหมู่ลูกศิษย์

เพราะอาจารย์เป็นบุคคลที่มีน้อยแต่ให้มาก คืออาจารย์มีเพียงบ้านหลังเล็กๆ ขี่จักรยานมาทำงาน เอาข้าวกล่องมากินกลางวัน แต่กลับให้ทั้งเวลา กำลังกาย กำลังใจ ขวนขวายกระจายความรู้ ส่งเสริมการเรียนของลูกศิษย์ทุกวิถีทาง ชีวิตแบบนี้เองที่ทำให้ใครๆ จึงศรัทธาอาจารย์ด้วยหัวใจ

จากร่างกายมนุษย์สู่โบราณคดี

นอกจากกายวิภาคศาสตร์แล้ว อีกศาสตร์หนึ่งที่ผู้คนมักนึกถึงอาจารย์หมอสุดเสมอ คือโบราณคดี

เพราะนอกจากบทความหลายสิบชิ้นที่ท่านเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์ยังเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่ผลักดันให้รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ออกประกาศคุ้มครองโบราณวัตถุที่บ้านเชียง ซึ่งเพิ่งมีการขุดพบเมื่อปี 2510 และกำลังถูกคุกคามจากบรรดาผู้มีอำนาจที่กว้านซื้อไปเป็นสมบัติส่วนตัว

ความจริงอาจารย์ยังสนใจศาสตร์หลายแขนง ทั้งพันธุศาสตร์ ประวัติศาสตร์ บรรณารักษ์ศาสตร์ โบราณชีววิทยา ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดมีอิทธิพลมาจากการเรียนวิชาประวัติศาสตร์กับสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งทรงสอนให้นักเรียนแพทย์มีความรู้กว้างขวางที่สุด เนื่องจากศาสตร์ต่างๆ ล้วนเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน

เหตุผลที่อาจารย์สนใจโบราณคดี คงเพราะมีประสบการณ์วิจัยเรื่องมานุษยวิทยามาตั้งแต่สมัยเป็นผู้ช่วยของศาสตราจารย์คอนดอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลักษณะคนไทย หรือถิ่นกำเนิดของคนไทย อีกทั้งยังคุ้นเคยกับนักโบราณคดีสำคัญหลายคน อาทิ ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี

อาจารย์เริ่มต้นสำรวจแหล่งโบราณคดีอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2503 ในฐานะสมาชิกคณะสำรวจไทย-เดนมาร์ก ที่ลงไปขุดค้นร่องรอยของมนุษย์ตลอดลำแม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี โดยประเด็นที่สนใจเป็นพิเศษคือ ‘คนไทยมาจากไหน?’

อาจารย์เคยเสนอว่า คนไทยส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ที่ดินแดนแห่งนี้มานานแล้ว พร้อมยกตัวอย่างโบราณวัตถุที่ขุดพบ อย่างโครงกระดูก ลูกปัดโบราณ เครื่องดินเผา อาวุธสมัยยุคหินใหม่ อายุร่วม 4,000 ปี ซึ่งสะท้อนภาพว่าบริเวณนี้มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์มาก่อน

“ผมไม่เชื่อเรื่องที่คนไทยหนีมาจากจีน เพราะถ้าเราหนีเขามา เราจะมาสร้างสุโขทัยใหญ่โตได้อย่างไร แค่โบสถ์หลังเดียวก็ต้องอาศัยกำลังงาน เงินทองและเวลาอย่างมาก ที่สำคัญทางฝ่ายจีนเขาระบุว่ากุบไล่ข่านส่งทูตมาเจริญราชไมตรีกับพ่อขุนรามคำแหง ถ้าหนีมาจริง จีนจะยอมรับหรือ

“อันที่จริงดินแดนประเทศไทย เรามีความเจริญมานานพอที่จะประกอบเป็นแว่นแคว้นต่างๆ ได้ แต่เรากลับไปเพ่งเล็งมองที่กรุงสุโขทัยมาก หากมองย้อนกลับไปนิดหนึ่งก็จะพบว่าแคว้นอโยธยานั้นเจริญมาก่อนอยุธยา.. หากคุณไปอยุธยาเวลานี้ ก็จะพบพระองค์ใหญ่และซากโบราณคดีที่เหลือเค้าอยู่”

ทว่าการเข้ามาทำงานครั้งนี้ กลับถูกโจมตีจากคนบางกลุ่มว่า ทำให้ประวัติศาสตร์สับสน

เพื่อนร่วมอาชีพบางคนก็เหน็บแหนมว่า “น่าเสียดายที่เป็นแพทย์แต่กลับไปใช้เวลาค้นหาแต่โบราณวัตถุ” ซึ่งอาจารย์ได้ตอบกลับไปว่า ท่านคิดว่ามีความรู้พอที่ค้นหาว่าต้นตระกูลชาติกำเนิดของคนไทยนั้นมาจากไหนกันแน่ เพื่อจะได้เคารพบูชาได้ถูกต้อง

เมื่ออาจารย์ไม่ได้เก็บคำเสียดสีของผู้อื่นมาเป็นประเด็น จึงเดินหน้าสำรวจขุดค้นเรื่อยมา รวมทั้งจัดทำพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ที่ตึกกายวิภาคศาสตร์ เรียกว่าพิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ สุด แสงวิเชียร โดยเปิดให้เยี่ยมชมอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2515

เพราะที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมโบราณวัตถุยุคเก่ามีแต่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ แถมไม่ได้เน้นเรื่องก่อนประวัติศาสตร์เท่าใดนัก จึงคิดว่าควรมีพื้นที่สำหรับรวบรวมโบราณวัตถุเหล่านี้โดยเฉพาะ

อย่างไรก็ดี ตอนแรกที่ทำโบราณวัตถุจัดแสดงยังค่อนข้างน้อย กระทั่งมีการขุดค้นที่ถ้ำเขาสามเหลี่ยม ตำบลช่องสะเดา กาญจนบุรี อาจารย์เลยขอพวกโครงกระดูกและของที่เหลือๆ จากกรมศิลปากรมาไว้ที่นี่ และภายหลังยังได้ซากของเก่าจากตำบลทัพหลวง นครปฐม เพิ่มเติมกระทั่งที่นี่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก ที่เต็มไปด้วยสิ่งของที่ทรงคุณค่ามากมายหลายร้อยชิ้น

“ผมอยากทำให้เห็นว่า ถึงไม่มีเงินเราก็สามารถตั้งพิพิธภัณฑ์ได้ ตามสภาพที่ควรจะเป็นไปได้ สิ่งของเครื่องใช้ที่แสดงอยู่ก็ไม่ได้เป็นของดีราคาแพง ส่วนใหญ่แตกหัก เขาทิ้งแล้ว ผมไปขอ ไปเก็บมาเอากาวมาติดให้เป็นรูปทรงเดิม เพียงให้รู้ว่ามันมีคุณค่า มีวิวัฒนาการ วัฒนธรรมอย่างไรก็พอ

“สาเหตุที่ผมคิดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น ก็เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้เห็น และสนใจเรื่องราวในอดีตของไทย เพราะอดีตอธิบายปัจจุบัน และปัจจุบันชี้อนาคต” อาจารย์หมอสุดย้ำถึงความตั้งใจของตนเอง

เราจะสอนกันแต่ยอดวิชา แต่ขาดพื้นฐานที่ดีรองรับนั้นเราจะก้าวไปได้อย่างมั่นคงหรือถึงก้าวไปได้ก็โงนเงน ไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นให้พ้นไปได้

สุด แสงวิเชียร : ปรมาจารย์กายวิภาคศาสตร์เมืองไทย

ครูแพทย์ตลอดกาล

หลังรับราชการอยู่ที่ศิริราชพยาบาลนานเกือบ 4 ทศวรรษ ก็ถึงคราวที่อาจารย์หมอสุดเกษียณอายุ เมื่อปี 2513

แม้หน้าที่ทางราชการจะจบสิ้นไป แต่ภารกิจการเป็นครูกลับไม่เคยจางหายไปไหน

อาจารย์ยังคงเดินทางมาทำงานที่ตึกกายวิภาคศาสตร์ไม่เปลี่ยนแปลง พยายามค้นหาสิ่งของมาจัดแสดง กระทั่งพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในวัย 81 ปี อาจารย์เคยกล่าวว่า “ผมยังมีความรู้น้อยนัก ไม่สามารถรอบรู้ไปทุกแขนงวิชา ฉะนั้นจึงหาเวลาเรียนอยู่เท่าที่มีโอกาสและร่างกายจะยินยอมให้ทำ”

แต่สุดท้ายชีวิตคนเราก็หนีไม่พ้นกฎธรรมชาติ อาจารย์หมอสุดจากไปอย่างสงบ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2538 โดยทิ้งกระดูกและสมองไว้ให้นักเรียนแพทย์ได้ศึกษาต่อไป

“คุณพ่อเป็นครูมานานชั่วชีวิต ท่านก็อยากเป็นครูต่อไปเมื่อตายแล้ว ท่านสั่งไว้ว่า พ่อรักตึกนี้และอยากอยู่ที่นี่.. กระดูกและสมองของคุณพ่อทำให้เด็กที่มาเรียนได้รู้จักกระดูก ได้เรียนสมองบางส่วนซึ่งมองเห็นได้ว่าสมองคนที่แก่แล้วเป็นอย่างไร จะได้เห็นความสัมพันธ์ของร่างกายในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปอดหรือหัวใจ..พ่อได้เป็นครูไปอีกนานมาก” อาจารย์สรรใจกล่าวกับนิตยสารสารคดี หลังโครงกระดูกอาจารย์หมอสุดกลับมาอยู่ที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ได้ไม่นาน

นอกจากพิพิธภัณฑ์และร่างกายที่มอบเป็นสมบัติของแผ่นดินแล้ว อาจารย์หมอสุดยังส่งต่อแรงบันดาลใจและความรู้ไปยังผู้ที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ

หนึ่งในนั้นคือ ‘ปาฐกถาสุด แสงวิเชียร’ ปาฐกถาทางวิชาการประจำปี ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2513 โดยเชื้อเชิญบุคคลที่มีผลงานการศึกษาค้นคว้า หรือปฏิบัติงานทางวิชาการในสาขาวิชาที่อาจารย์หมอสุดสนใจ มาถ่ายทอดประสบการณ์และเรื่องราวการทำงาน พร้อมกับมอบรางวัลเหรียญทองเกียรติยศจากศิริราชมูลนิธิ และเงินรางวัลจำนวนหนึ่งจากดอกผลของ ‘ทุนปาฐกถาสุด แสงวิเชียร’ ในศิริราชมูลนิธิ ร่วมกับเงินรางวัลสมทบจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

และทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของอาจารย์หมอที่ยิ่งใหญ่ในใจของผู้คน ผู้ทุ่มเทกำลังเพื่อวางรากฐานกายวิภาคศาสตร์ให้เป็นพื้นฐานที่มั่นคงของแพทย์ไทยอย่างแท้จริง

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • สัมภาษณ์ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สรรใจ แสงวิเชียร อดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 12 และ 22 พฤศจิกายน 2562
  • หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุด แสงวิเชียร 17 ธันวาคม 2538
  • หนังสือชีวประวัติ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุด แสงวิเชียร เรียบเรียงโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สรรใจ แสงวิเชียร
  • หนังสือปูชนียาจารย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชราชพยาบาล จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสแปดสิบสี่ปีอายุมงคล ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุด แสงวิเชียร
  • บทความสุด แสงวิเชียร ขุนแพทย์ผู้ไม่เคยเกษียณการทำงาน นิตยสารสารคดี ปีที่ 3 ฉบับที่ 36 เดือนกุมภาพันธ์ 2531
  • บทความวันวาร 86 ปี ศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ปูชนียาจารย์วงการแพทย์ไทย นิตยสารสารคดี ปีที่ 9 ฉบับที่ 105 เดือนพฤศจิกายน 2536
  • บทความในความเงียบมีความงดงาม อาจารย์หมอสุด แสงวิเชียร นิตยสารสารคดี ปีที่ 11 ฉบับที่ 128 เดือนตุลาคม 2538
  • บทความ 84 ปี ศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร คุณหมอนักปราชญ์ ผู้บุกเบิกประวัติศาสตร์ไทยแบบสุด-สุด นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 เดือนพฤศจิกายน 2534 

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.