คงมีมนุษย์น้อยคนนักที่ไม่กลัวตาย…
แม้จะเป็นเรื่องปกติของชีวิตที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ แต่หลายคนกลับเลือกที่จะไม่พูดถึง ด้วยมองว่าเป็นเรื่องอัปมงคล
เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่พร้อม และไม่กล้าเผชิญหน้ากับสัจธรรมของการจากลา สิ่งที่ตามมาก็คือ ความยุ่งยากของคนที่อยู่ข้างหลังที่ไม่รู้ว่า ควรจะตัดสินใจอย่างไรดี
บางคนที่มีอาการป่วยหนัก ญาติพี่น้องอาจไม่กล้าเลือกว่าควรเดินหน้ารักษาต่อ หรือปล่อยให้คนที่รักจากไปอย่างสงบ หรือแม้แต่การแบ่งทรัพย์สินมรดก ซึ่งหากไม่มีการจัดการตั้งแต่เนิ่นๆ ก็อาจลุกลามจนกลายเป็นความขัดแย้งของคนในครอบครัวได้
Peaceful Death คือคนกลุ่มแรกๆ ของเมืองไทยที่นำประเด็นเรื่อง ‘ตายดี’ ขึ้นมาพูดในสังคมอย่างจริงจังตั้งแต่ราว 20 ปีก่อน เพื่อชักชวนให้ทุกคนรู้จักรับมือกับความตายด้วยสติ เอาชนะความกลัวของตัวเองให้ได้
ที่ผ่านมา พวกเขาอยู่เบื้องหลังแนวคิดที่น่าสนใจ เช่น ‘สมุดเบาใจ’ ซึ่งเปรียบเสมือนพินัยกรรมชีวิตที่ชักชวนผู้คนให้กลับมาคิดถึงความต้องการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในช่วงสุดท้ายของชีวิต หรือนิทรรศการชุด ‘Happy Deathday งานที่จะเปลี่ยนวันตายให้กลายเป็นวันสุข’ โดยรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการเตรียมตัวตายมาไว้ในแห่งเดียว ตลอดจนเครื่องมืออย่าง ‘เกมไพ่ไขชีวิต’ และ ‘ไพ่ฤดูฝน’ ที่ชักชวนให้ผู้คนกล้าเปิดใจพูดคุยถึงความปรารถนาสุดท้ายที่อยากทำก่อนจะต้องจากโลกนี้ไปได้ง่ายขึ้น
ที่สำคัญที่สุดคือ การผลักดันแนวคิด ‘ชุมชนกรุณา’ ด้วยการส่งเสริมและผลักดันให้สมาชิกในชุมชนต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในพื้นที่ ให้สามารถมีชีวิตบั้นปลายตามแบบที่ตัวเองต้องการ
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงชักชวน 5 แกนนำของกลุ่ม Peaceful Death คือ สุ้ย-วรรณา จารุสมบูรณ์, มาร์ท-เอกภพ สิทธิวรรณธนะ, เป็ด-ฐนิดา อภิชนะกุลชัย, บัวลี ปานสมุทร และเตย-ถิรนันท์ ถิรสิริสิน มาร่วมพูดคุยถึงการทำงานตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ เพื่อให้เราทุกคนสามารถบอกลาโลกที่แสนวุ่นวายนี้ไปโดยสงบสุขอย่างแท้จริง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2546 สุ้ย อดีตพยาบาลห้องฉุกเฉิน ผู้ใกล้ชิดกับความเป็นความตายมานับไม่ถ้วน ได้รับโอกาสครั้งสำคัญให้ร่วมทำวิจัยในโครงการทบทวนกระบวนทัศน์เรื่องความตายและมิติแห่งสุขภาวะ ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
โดยภารกิจหลักที่ต้องรับผิดชอบคือ การพูดคุยกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 คน และญาติของผู้ป่วยอีก 10 คนที่เพิ่งผ่านพ้นความสูญเสียมาได้ไม่นาน เพื่อเรียนรู้และเข้าใจว่าแต่ละคนมีวิธีรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร รวมถึงชีวิตของคนที่อยู่ข้างหลัง ซึ่งจะต้องก้าวต่อไปให้ได้
ประสบการณ์นี้ถือเป็นบทเรียนที่เปลี่ยนมุมคิดของสุ้ยอย่างมาก เนื่องจากตลอดชีวิตการทำงานกว่าสิบปี เธอเคยมองว่าความตายนั้นเปรียบเสมือนความล้มเหลวของการรักษา หน้าที่ของแพทย์และพยาบาล คือทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ป่วยกลับมามีลมหายใจอีกครั้ง
“ครั้งนั้นเราได้ไปสัมภาษณ์ป้าคนหนึ่งที่ทำใจยอมรับความตายไม่ได้ เราได้เห็นชีวิตของคนที่จากไป แต่อีกคนหนึ่งกลับตายทั้งเป็น หรือบางคนที่ความตายของเขาเรียบง่าย งดงาม หรือบางคนเป็นพี่น้องที่ทะเลาะกัน ไม่คุยกัน ทั้งที่แม่ก็นอนเป็นผักอยู่บนเตียง เนื่องจากพี่สาวอยากให้ยื้อ แต่น้องอยากให้ปล่อย ซึ่งความจริงแล้วแต่ละคนรักแม่มาก แต่เขาถือคุณค่าคนละตัว คนหนึ่งอยากให้แม่อยู่ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าทำไมถึงอยากให้แม่คงสภาพนี้ ขณะอีกคนคิดว่า นี่มันไม่ใช่ชีวิตที่มีคุณภาพ การนอนอยู่บนเตียงและมีเพียงแค่ลมหายใจ เพราะชีวิตของแม่เขาดีกว่านั้น ทำไมถึงไม่ให้แม่จากไปแบบธรรมชาติ
“เราได้เห็นเรื่องราวของพี่สุภาพร ซึ่งป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งแกก็รักษาจนดีขึ้น แต่ก็กลับมาเป็นซ้ำอีก ซึ่งครั้งหลังแกเลือกจะปฏิเสธการรักษาแบบการแพทย์สมัยใหม่ แกไม่เลือกทางนี้เพราะไม่ศรัทธา แต่กลับไปเลือกอีกทาง รักษาด้วยดนตรี ด้วยสมุนไพร ซึ่งก็ถือเป็นความกล้าหาญของคนคนหนึ่ง ที่อยากกําหนดการตายของตัวเองว่าฉันอยากอยู่ที่ไหน อยากให้มีใครอยู่ด้วยบ้าง อยากให้คนรอบข้างทํายังไง ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับชีวิตของตัวเองว่า ถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับตัวเอง กับครอบครัวบ้าง แล้วเราจะทำอย่างไร”
เพื่อจะได้เข้าใจถึงเรื่องความตายได้ลึกซึ้งกว่าทฤษฎีอย่างในอดีต สุ้ยจึงเดินหน้าเข้าไปคลุกคลีกับเครือข่ายต่างๆ ทั้งกลุ่มเอ็นจีโอ องค์กรด้านศาสนา รวมแล้วกว่า 30 เครือข่าย อาทิ ศูนย์ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชุมชน จังหวัดเชียงราย ซึ่งก่อตั้งโดยองค์การบรรเทาทุกข์แห่งคริสตจักรนอร์เวย์ เพื่อดูแลกลุ่มผู้ป่วยโรคเอดส์ ทำให้สัมผัสถึงวิธีการรับมือ และจัดการกับความสูญเสีย รวมถึงเรื่องราวของคนกลุ่มเล็กๆ แต่เปี่ยมด้วยพลังอันยิ่งใหญ่ ที่ทำงานด้วยหัวใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ทั้งหมดนี้เองที่กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้สุ้ยตัดสินใจเลือกที่จะทำงานเรื่องนี้ไปตลอดชีวิต
ก่อนหน้านั้น พระอธิการไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ เคยแปลหนังสือ 2 เล่ม คือ เหนือห้วงมหรรณพ และประตูสู่สภาวะใหม่ ซึ่งเป็นคำสอนทิเบตว่าด้วยการเตรียมตัวตายและช่วยเหลือผู้ป่วยใกล้ตัว รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมเสวนา เชิญวิทยากรทั้งในและต่างประเทศมาพูดคุย ซึ่งปรากฏว่าได้เสียงตอบรับที่ดีมาก
ต่อมาปี 2547 เครือข่ายพุทธิกาและเสมสิกขาลัยจึงร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการอบรมที่ชื่อว่า ‘เผชิญความตายอย่างสงบ’ โดยสุ้ยก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับการชักชวนให้ไปร่วมพัฒนาหลักสูตรด้วย
เนื้อหาของหลักสูตรเน้นสร้างความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานเรื่องความตาย ซึ่งทุกคนต้องเผชิญ รวมถึงแนวทางปฏิบัติต่อภาวะใกล้ตาย เพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้ดูแลตนเอง ญาติพี่น้อง บุคคลรอบข้าง รวมถึงผู้ป่วยระยะสุดท้าย ให้เผชิญความตายได้อย่างสงบ ไม่ทุกข์ทรมาน และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
โดยหลักสูตรเริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนมุมมองทัศนคติเรื่องความตายของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร เพราะหลายครั้งที่ผู้ป่วยรู้สึกถอดใจแล้ว ไม่อยากรักษาต่อ แต่ญาติอยากสู้ หรือบางครั้งก็เป็นฝ่ายแพทย์ที่ไม่อยากยอมแพ้ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีผลต่อแนวทางการรักษา พร้อมกับหยิบยกเรื่องการดูแลจิตใจขึ้นมาขยาย เนื่องจากที่ผ่านมาสังคมไทยมักมุ่งเน้นแต่การรักษาทางกายเป็นหลัก
หลังจากหลักสูตรนี้ได้นำไปใช้อบรมอย่างจริงจัง ปรากฏว่าได้เสียงตอบรับจากผู้คนอย่างล้นหลาม เพราะต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาคนไทยจำนวนมากขาดทักษะ ไม่รู้ว่าจะรับมือกับความสูญเสียอย่างไร จนเกิดเป็นความทุกข์ที่ยากจะเดินต่อไปได้
“เราเคยจัดเวิร์กช็อปครั้งหนึ่งที่ไบเทคบางนา เชิญพระอาจารย์ไพศาล เชิญคุณหมอมาท่านหนึ่ง ตั้งใจว่าจะรับแค่ 50 คน แต่คนล้นไปถึง 75 คน ซึ่ง 80 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เข้าร่วมเป็นหมอและพยาบาล ซึ่งปกติเขาทำงานกับผู้ป่วย น่าจะรู้เรื่องนี้ดีที่สุด แต่วันนั้นเราก็เพิ่งได้รับการเฉลยว่า ตลอด 6 ปีในโรงเรียนแพทย์ เขาไม่ได้สอนเรื่องตาย สอนแต่ช่วยชีวิต พอเจอคนไข้ที่ไปต่อไม่ได้แล้ว ไม่มีแนวทางรักษา เขาก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ แล้วมันกลายเป็นความทุกข์ของบุคลากร โดยเฉพาะพยาบาลที่อยู่กับคนไข้เยอะๆ ก็จะรู้สึกว่าเราทำอะไรไม่ได้แล้วจริงเหรอ เพราะผูกพันมาก อยากจะมีวิธีดูแลให้เขาได้ตายดี”
จากความสำเร็จของการพัฒนาหลักสูตรนี้เอง ทำให้เครือข่ายพุทธิกามองว่า ควรจะมีการนำองค์ความรู้จากเครือข่ายที่ทำงานเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย มาถอดบทเรียน เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ทุกคนสามารถประยุกต์ใช้ได้ทันที
ในฐานะที่เคยคลุกคลีกับเครือข่ายมากถึง 30 แห่ง สุ้ยจึงรับอาสาทำหน้าที่ติดต่อประสานงานไปยังกลุ่มต่างๆ รวมถึงต่อยอดไปยังโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ จัดกิจกรรมเสวนาสัญจร เพื่อนำบุคลากรทางด้านสาธารณสุขมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
“เดิมทีความคิดกระแสหลักของการรักษาพยาบาล คือความตายเป็นเรื่องที่ต้องเอาชนะ แต่พอรักษาไม่ได้ ก็ไม่ได้ทำอะไรต่อแล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงอยากให้บุคลากรในโรงพยาบาลมีทัศนคติใหม่ว่า ถึงช่วยผู้ป่วยให้รอดพ้นความตายไม่ได้ แต่เราช่วยให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีจวบจนวินาทีสุดท้ายได้ เพราะฉะนั้นพอเราเริ่มนำคนที่สนใจเรื่องนี้มารวมกัน สิ่งที่ตามมาคือ เกิดการขยายความรู้
“เวลาคุยแต่ละครั้ง เราก็จะกำหนดหัวข้อขึ้นมา อย่างความตายในเด็กเป็นอย่างไร รับมือยากตรงไหน บางทีความยากอาจไม่ใช่ที่เด็ก แต่อยู่ที่พ่อกับแม่ บางคนบอกว่า เราคุยกับเด็กเรื่องความตายได้ด้วยเหรอ เขารู้ไหมว่าตัวเองต้องตาย ก็มานั่งถอดบทเรียน บางครั้งก็เป็นเรื่องศาสนา โดยเราเชิญผู้นำแต่ละศาสนามาร่วมเสวนาว่า เขามีหลักคิดและวิธีการอย่างไรกับเรื่องตายดี หรืออีกหัวข้อหนึ่งคือคนส่วนใหญ่ไม่ได้กลัวตาย แต่กลัวความเจ็บปวดทรมาน แล้วสุดท้ายเขาจะมีทางเลือกในการดูแลความเจ็บป่วยแบบไหนบ้าง เราก็ไปคุยกับหมอว่า ต้องใช้ยาอะไร ไม่ใช้ได้หรือไม่ เป็นการสร้างองค์ความรู้จากประสบการณ์จริง”
จากการตระเวนพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องมานานนับปี ความรู้ต่างๆ ก็เริ่มตกผลึกและกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางการรักษาใหม่ที่เรียกว่า Palliative Care หรือการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ซึ่งให้ความสำคัญกับการรักษาควบคู่กับการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อลดความทุกข์และความทรมาน ทั้งทางกายและทางใจไปพร้อมๆ กัน
หากแต่การทำให้เรื่องความตายกลายเป็นหัวข้อที่พูดคุยได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องอาศัยความมุ่งมั่นอย่างหนัก เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน
เริ่มแรกเครือข่ายพุทธิกาเน้นทำงานหลัก 3 ส่วน ได้แก่ การฝึกอบรมหลักสูตรเผชิญความตายอย่างสงบ การสร้างเครือข่ายด้วยการจัดเสวนาตามพื้นที่ต่างๆ รวมถึงนำบทความของพระอาจารย์ไพศาลไปเผยแพร่ เพื่อให้ทุกคนรับทราบว่า ชีวิตคนเรายังมีทางออกอีกมากมายให้เลือกเดิน
จากนั้นก็เริ่มต่อยอดกิจกรรมใหม่ๆ เช่น ‘อาสาข้างเตียง’ ซึ่งชักชวนจิตอาสาไปช่วยดูแลและส่งกำลังใจให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ทำจดหมายข่าวราย 3 เดือน ‘อาทิตย์อัสดง’ เพื่อสื่อสารแนวคิดและรวบรวมความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั่วโลก โดยสุ้ยเข้ามารับผิดชอบเต็มตัวตั้งแต่ปี 2549 ในฐานะผู้จัดการเครือข่ายพุทธิกา
ขณะเดียวกัน เครือข่ายแพทย์พยาบาล ซึ่งนำโดย ผศ.นพ.พรเลิศ ฉัตรแก้ว จากภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ จนนำมาสู่การจัดตั้งสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2556 เพื่อรวมกลุ่มแพทย์และพยาบาล หวังจะผลักดันให้องค์ความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองขยายไปสู่วงกว้างมากที่สุด โดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์ ซึ่งถือเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรที่สำคัญของระบบสาธารณสุขเมืองไทย
แต่ผลลัพธ์ที่น่าสนใจกว่าคือ แนวคิดนี้ได้เข้าไปจุดประกายให้คนรุ่นใหม่หลายคนเริ่มหันมาสนใจเรื่องการตายดีมากขึ้น อย่างเช่น มาร์ท ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมเสวนาของเครือข่ายพุทธิกา เพราะตนเองต้องดูแลอาม่าที่กำลังป่วย ทำให้เกิดแรงบันดาลใจเลือกทำวิทยานิพนธ์เรื่องความตายกับความหมายของชีวิต และภายหลังก็เข้ามาช่วยงานสุ้ย ในฐานะนักวิจัยประจำโครงการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาล และชุมชน ในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย
เช่นเดียวกับ เป็ด ซึ่งเคยเข้าอบรมหลักสูตรเผชิญความตายอย่างสงบมาก่อน และคิดว่าประเด็นความตายนั้นทรงพลังและเปลี่ยนแปลงชีวิตคนคนหนึ่งได้จริง จึงตัดสินใจลาออกจากการเรียนปริญญาเอก เพื่อจะได้ช่วยงานของเครือข่ายพุทธิกาเต็มตัว
อย่างไรก็ตาม แม้สิ่งที่พวกเขาพยายามนั้น ทำให้ผู้คนหันมาพูดคุยเรื่องความตายได้ง่ายขึ้น แต่มุมหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า คนที่สนใจยังอยู่ในวงจำกัด ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีประสบการณ์ร่วม กำลังเผชิญกับปัญหา ซึ่งหากต้องการให้เรื่องนี้กลายเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ก็ต้องหาวิธีสื่อสารที่ดีกว่านี้
“ที่ผ่านมา เราพยายามทำงานหลายอย่าง เช่นอบรมพระสงฆ์จิตอาสา เพราะหลายคนก็อยากจะกลับไปตายที่บ้าน ซึ่งหากมีคนรอบข้างมาช่วยเป็นแนวร่วมให้ผู้ป่วยและครอบครัวก็คงจะดี แต่ตอนนั้นก็มีคนตั้งคำถามว่า ปีหนึ่งคุณจัดอบรมได้กี่คน อย่างมากก็แค่ 200-300 คน ซึ่งมันเปลี่ยนสังคมไม่ได้หรอก เหมือนกับเราก็เป็นกลุ่มคนเล็กๆ คุยกันอยู่แค่นี้ หลักๆ ก็จะมีแต่สายปฏิบัติธรรมที่สนใจ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังมองว่าความตายน่ากลัว ไม่ควรพูด ดังนั้นเรามาทำให้ความตายให้เป็นเรื่องที่พูดได้ ถึงค่อยมาขยับเรื่องอื่น” สุ้ยฉายภาพการทำงาน
นั่นเองที่กลายเป็นจุดตั้งต้นของโครงการ ‘ความตายพูดได้’ โดยเริ่มต้นจาก ‘ปทานุกรมความตาย’ ซึ่งรวมคำศัพท์ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับความตาย หวังให้คนที่ทำงานสื่อต่างๆ ทั้งผู้กำกับรายการโทรทัศน์ ละคร ภาพยนตร์ โฆษณา นำเรื่องราวเหล่านี้ไปต่อยอด
กระทั่งปี 2555 มีศิลปินหญิงในเมืองนิวออร์ลีนส์ ชื่อว่า Candy Chang ได้เปลี่ยนบ้านที่รกร้างให้กลายเป็นกระดานดำผืนใหญ่ พร้อมกับชักชวนให้ผู้คนมาช่วยเติมคำในช่องว่างของประโยคที่ว่า ‘ก่อนจะตายฉันอยากจะ…’ ซึ่งคำตอบที่ได้รับก็มีทั้งเรื่องน่าแปลกใจ สะเทือนใจ และน่าตลก แต่ทั้งหมดนี้กลับกลายเป็นภาพสะท้อนตัวตนของชุมชนนี้ได้อย่างดี ภายหลังเธอได้นำเรื่องนี้ไปเล่าบนเวที TEDGlobal 2012 ซึ่งมีผู้สนใจรับชมหลายล้านคน
สุ้ยและน้องๆ ในทีมจึงคิดว่า หากหยิบสิ่งนี้มาต่อยอด อาจนำไปสู่การสร้างบทสนทนาที่ดีก็เป็นได้ แต่ติดปัญหาตรงที่พวกเขาไม่ใช่นักสื่อสารสาธารณะ จึงตระเวนพูดคุยกับเหล่ามืออาชีพ อาทิ โก๋-จิตร์ ตัณฑเสถียร นักกลยุทธโฆษณาชื่อดัง (ปัจจุบันคือ พระจิตร์ จิตฺตสํวโร) และ อาจารย์หลง-ผศ.ดร.มนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“หลวงพี่โก๋แนะนำว่าต้องตีโจทย์ให้แตกก่อนว่ากำลังจะสื่อสารกับใคร เนื่องจากแต่ละกลุ่มก็มีธรรมชาติแตกต่างกัน จะไปบอกว่ากลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทั่วไปไม่ได้ เพราะกว้างเกินไป แต่เราก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี สุดท้ายก็ต้องเชิญอาจารย์หลงมาช่วยทำเวิร์กช็อปให้” สุ้ยอธิบายต่อ
“ตอนนั้นมีการแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ประชาชนทั่วไป ซึ่งยังไม่เผชิญกับปัญหา เราก็ปล่อยเขาไป อีกส่วนคือกลุ่มปฏิบัติธรรม ซึ่งไม่มีปัญหาเพราะเขาอินอยู่แล้ว แต่กลุ่มที่เราคิดว่าน่าสนใจคือ กลุ่มตรงกลางที่เริ่มเข้าสู่วัยดูแล อายุประมาณ 35-50 ปี เริ่มมีคนป่วยหรือคนแก่อยู่ในครอบครัว บางครั้งก็ต้องตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แต่ยังไม่มีความรู้หรือทักษะใดๆ ส่วนวิธีสื่อสารกับเขาคือทำเป็นหัวข้อสั้นๆ ตรงประเด็น ไม่ต้องเป็นศาสนาพุทธจ๋ามาก ทุกคนมาเรียนรู้ได้หมด อย่างน้อยให้เขารู้สึกสะกิดนิดหนึ่งก็พอ หากสนใจก็ง่ายต่อการไปเรียนรู้ต่อ” มาร์ทช่วยเสริม
จากแนวคิดนี้ ก็นำมาสู่นิทรรศการชุด ‘Before I Die พร้อมก่อนตาย’ ซึ่งจัดขึ้นที่ลานอีเดน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 11-12 ตุลาคม 2556 โดยถือเป็นกิจกรรมสื่อสารเรื่องความตายครั้งแรกๆ ของเมืองไทยที่จัดขึ้นในพื้นที่สาธารณะเช่นนี้ด้วย
โดยกิจกรรมหลักคือ การจัดเวทีเสวนา โดยนำกลุ่มผู้ป่วยมาแลกเปลี่ยนมุมมองประสบการณ์ของตัวเองว่า สุดท้ายได้บทเรียนอะไรจากความเจ็บป่วยบ้าง รวมถึงเชื้อเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่าง พระอาจารย์ไพศาล, เอ๋-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนดังเจ้าของนามปากกา ‘นิ้วกลม’ รวมถึง คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ มาสนทนาถึงชีวิตและความตาย และเหตุผลว่าทำไมคนเราถึงต้องเตรียมที่จะตายด้วย
แต่ที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญคือ ‘กำแพง Before I die’ ซึ่งชักชวนผู้คนมาเขียนความปรารถนาของตัวเองก่อนตาย รวมถึง Count Down ชีวิต ซึ่งเป็นการชักชวนผู้คนมาร่วมคำนวณเวลาที่เหลืออยู่ของตัวเองบนโลก พร้อมกับนับถอยหลังแบบวินาทีต่อวินาที
“วันนั้นมีคนมาร่วมงานเป็นพัน ยืนเต็มทั้งชั้นบนชั้นล่างเหมือนมาดูคอนเสิร์ตเลย แต่ที่นิยมมากสุดคือ การเขียนกำแพง คนมาเขียนเยอะมาก นักท่องเที่ยวก็มาเขียน หลายภาษามาก จนเราต้องถ่ายรูปไว้แล้วลบทิ้ง เพราะไม่มีพื้นที่ให้เขียน” เป็ดขยายความ
ผลพวงจากกิจกรรมครั้งนี้ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาใส่ใจแนวคิดเรื่องการตายดีมากยิ่งขึ้น และยังทำให้ชื่อของ ‘โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ’ หรือ Peaceful Death เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
จากนั้นพวกเขาก็เริ่มต่อยอดกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง อาทิ ชักชวน มาโนช พุฒตาล ศิลปินและผู้ดำเนินรายการสามัญชนคนไทย มาทำเวิร์กช็อป ‘เมื่อสามัญชนตาย เรื่องเล่าบรรเลงสด’ นำผลงานของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เรื่องกลับสู่ธรรมชาติแห่งความกรุณา มาจัดทำเป็นหนังสือเสียง
จัดนิทรรศการชุด ‘ตาย ก่อน ตาย Live Exhibition’ ณ ศาลาพีชานนท์ วัดธาตุทอง ในวันที่ 30 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม 2561 โดยได้กลุ่มเอเจนซี ชูใจ กะ กัลยาณมิตร มาช่วยออกแบบงานจนกลายเป็นที่ฮือฮาของสังคม หนึ่งในนั้นคือการให้ ‘นิ้วกลม’ มาจัดงานศพตัวเองเพื่อซ้อมก่อนตายจริง โดยเขาวางคอนเซปต์งานสุดท้ายของชีวิตว่า อยากได้โลงศพที่เรียบง่าย ไม่ต้องมีดอกไม้มาประดับประดา และผู้ที่มาร่วมงานก็ใช้โอกาสนี้มาเจริญมรณานุสติด้วย
อีกกิจกรรมที่ถือเป็นหลักไมล์สำคัญของ Peaceful Death ก็คือ ‘Happy Death Day งานที่จะเปลี่ยนความตาย ให้กลายเป็นความสุข’ เมื่อวันที่ 10-11 มิถุนายน 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยพวกเขาได้ร่วมกับเครือข่าย 18 องค์กร ทั้งกลุ่มครีเอทีฟ กลุ่มเอ็นจีโอ มูลนิธิที่ทำงานเรื่องสุขภาพ จัดนิทรรศการที่รวบรวมทุกองค์ความรู้เกี่ยวกับความตายไว้ในที่เดียวกัน
“เราตั้งใจจัดกิจกรรมในวาระที่พระอาจารย์ไพศาลอายุครบ 60 ปี ตั้งเป้าคนไว้ที่ 1,200 คน ซึ่งตอนแรกก็ยังไม่รู้ว่าจะจัดที่ไหน แต่สุดท้ายก็ไปออกที่ศูนย์สิริกิติ์ ตอนนั้นไม่มีเงินสักบาทเลยนะ แต่เรารู้สึกว่าไม่ได้อยากได้แค่สปอนเซอร์ อยากให้คนที่มาสนับสนุนเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ ดังนั้นเราจึงไม่มีโลโก้ ไม่มีบูธให้ แต่คุณให้เงินเราเพราะอยากช่วยจริงๆ” สุ้ยย้อนเหตุการณ์
เป้าหมายของนิทรรศการชุดนี้เน้นที่การสร้างประสบการณ์ ตั้งแต่ทางเข้างานที่ทำแคบๆ เหมือนกับโลงศพ พอเข้ามาก็จะเจอกระจกส่องเป็นรูปชาตะ-มรณะ เพื่อสะท้อนความจริงของชีวิตว่าไม่มีใครหนีความตายพ้น รอบข้างก็รายล้อมไปด้วยพวงหรีด ซึ่งขนมาจากงานศพจริงๆ
“ปกติดอกไม้สด เขาใช้เสร็จก็ต้องทิ้ง แต่เราไปขนมาจากงานเลย แล้วก็ไปเก็บไว้ที่ออฟฟิศของชูใจ แต่เก็บได้ไม่กี่วัน ทางนั้นก็โทรศัพท์มาหาบอกว่า ไม่ไหวแล้ว เหม็นมาก เราก็ต้องย้ายไปเก็บไว้ที่เสมสิกขาลัย ชั้นดาดฟ้า พอถึงวันจัดกิจกรรม ดอกไม้ก็แห้งพอดี ไม่มีกลิ่นแล้ว แต่ความยากคือ การจะขนของเข้างานตรงๆ ด้านหน้าทำไม่ได้ เพราะเดี๋ยวคนจะตกใจ แถมฝั่งตรงข้ามเราก็เป็นงาน Wedding Fair ก็เลยเป็นที่ฮือฮามาก งานแต่งงานปะทะงานความตาย” เป็ดอธิบายเพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังมีเสียงของผู้คนที่กำลังทะเลาะเบาะแว้ง เพราะตัดสินใจไม่ถูกว่าจะกำหนดวาระสุดท้ายของคนที่รักอย่างไร มีการนำเตียง และอุปกรณ์ช่วยชีวิตมาจัดแสดงในงาน จัดฉากการปั๊มหัวใจเพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วย แสดงการคำนวณค่าใช้จ่ายในงานศพ รวมถึงนำโลงศพจริงๆ มาตั้ง เพื่อให้ทุกคนได้เข้ามาทดลองนอน จะได้จินตนาการออก เมื่อถึงเวลาที่ต้องลาจากโลกใบนี้ไปตลอดกาล เรียกว่าผู้ที่มาเยี่ยมชมงานจะได้รับประสบการณ์เต็มอรรถรส ทั้งกลิ่น เสียง และภาพ อย่างแท้จริง
ไม่เพียงแค่นั้น พวกเขายังเชิญผู้ที่ผ่านประสบการณ์ใกล้ชิดความตาย 9 คน มาจัดทอล์กโชว์แลกเปลี่ยนเรื่องราวส่วนตัวในบรรยากาศแบบเดียวกับ TED Talk รวมถึงจัดเวิร์กช็อปเล็กๆ อาทิ Search Inside Yourself ที่ชักชวนทุกคนไปร่วมหาคุณค่าและความสำคัญของความสุขและความหมายของการมีชีวิต โดยผลลัพธ์ของการจัดงานครั้งนี้ ก็ต้องถือว่าเกินคาด มีคนเข้ามาเช็กอินในโซเชียลมีเดียจำนวนมาก ส่งผลให้ยอดผู้ชมแต่ละวันทะลุถึง 3,000-4,000 คนเลยทีเดียว
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ งานนี้ได้กลายเป็นหัวเชื้อสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนว่า ความตายไม่ใช่เรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยง หากแต่ต้องกล้าเปิดใจพูดคุยและสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา
ความตายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คงเพราะแทบไม่เคยถูกพูดถึงอย่างจริงจังมาก่อน ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายคือ มีวิธีใดบ้างที่จะช่วยให้การเปิดบทสนทนาเรื่องความตายทำได้สะดวกขึ้น
เมื่อปี 2557 กลุ่ม Peaceful Death จึงตัดสินใจหยิบยกเครื่องมือต่างๆ ที่ต่างประเทศนิยมใช้มาประยุกต์ เพื่อให้การเผชิญหน้ากับความตายทำได้ง่ายขึ้น อย่างแรกก็คือ ‘เกมไพ่ไขชีวิต’ ซึ่งทีมงานต่อยอดมาจากเกมไพ่ของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ My Gift of Grace
เป้าหมายจริงๆ ของเกมนี้คือ การล้อมวงคุยเรื่องชีวิต โดยมีผู้นำวงคนหนึ่งคอยทำหน้าที่แจกไพ่และเริ่มต้นการสนทนา ซึ่งไพ่จะมีทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่ ไพ่คำถามอุ่นเครื่อง ไพ่คำถามหลักจำนวน 64 ใบ ไพ่คำถามส่งท้าย ไพ่อธิษฐาน และไพ่ถูกใจ โดยหัวใจของการเล่นเกมคือ การรับฟังอย่างตั้งใจ ขณะที่คนหนึ่งกำลังพูด อีกคนก็ต้องฟัง และพร้อมเปิดใจยอมรับ แม้ว่าจะเห็นต่างก็ตาม
สำหรับวิธีการเล่นก็คือ จะใช้ไพ่อุ่นเครื่องมาช่วยเปิดใจว่า ผู้เล่นรู้สึกกังวลหรือคาดหวังอะไรจากการพูดคุยครั้งนี้บ้าง ตามมาด้วยการเลือกไพ่ชุดหลัก ซึ่งจะมีคำถามแตกต่างกัน เพื่อให้ผู้เล่นได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวหรือหากใครไม่พร้อมตอบก็ขอผ่านได้ โดยคำตอบใดที่สมาชิกร่วมวงถูกใจ ก็อาจจะให้ไพ่ถูกใจตอบแทน พอจบวงสนทนาก็จะมอบไพ่อธิฐาน เพื่อให้ทุกคนได้เขียนสรุปกับตัวเองว่าได้เรียนรู้อะไร และต่อจากนี้จะทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง
“เราปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของไทยมากที่สุด เช่น เดิมเขาถามว่า คุณคิดว่าพระเจ้ามีจริงหรือเปล่า เราก็เปลี่ยนมาเป็น คุณคิดว่าชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร โดยมีการทดสอบกับผู้เล่นชาวไทยว่าคำถามไหนที่ฟังแล้วมีผลให้เขาคิดถึงชีวิตและความตาย” มาร์ทอธิบายความเป็นมาของเกมไพ่
“สิ่งที่เราคิดคือ ทำอย่างไรให้ความตายเป็นเรื่องที่คุยกันบนโต๊ะอาหาร คุยที่บ้าน คุยที่โรงหนัง หรือพื้นที่สาธารณะได้ ซึ่งก็ต้องมีเครื่องมือช่วยในการคุย ซึ่งเกมไพ่นี้เราเน้นความง่ายและสนุก ทุกคนเล่นกันเองได้ โดยไม่ต้องรอให้มีกระบวนกรหรือคนนำคุย เปิดเจอคำถามอะไรก็คุยได้เลย” เป็ดช่วยเสริม
ด้วยความเข้าถึงได้ง่าย ก็ทำให้เกมไพ่ไขชีวิตได้รับความนิยมจากผู้คนพอสมควร ดังนั้นในปี 2562 พวกเขาจึงเริ่มพัฒนาเกมไพ่อีกประเภทหนึ่งขึ้นมาชื่อ ‘ไพ่ฤดูฝน’ ซึ่งมีเป้าหมายในการดูแลจิตใจของผู้ป่วยและคนดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก เพราะเป็นกลุ่มที่เผชิญกับความเครียดและความกดดันค่อนข้างสูง เพื่อให้พวกเขากล้าเผยความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง ที่เปรียบเสมือนเมฆและฝน จะได้นำไปสู่ทางออก หรือความรู้สึกคลี่คลาย ราวกับได้พบรุ้งงามที่จะปรากฏขึ้นหลังลมฝนพัดผ่านไป
เมื่อเห็นว่าทุกคนเริ่มกล้าที่จะพูดคุยเรื่องความตาย ก้าวต่อไปที่กลุ่ม Peaceful Death เริ่มคิดคือ การชักชวนให้ทุกคนอธิบายความปรารถนาและความต้องการของตัวเองในวาระสุดท้ายของชีวิต
โดยเมื่อปี 2557 พวกเขาได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดทำเครื่องมือที่เรียกว่า ‘พินัยกรรมชีวิต’ หรือ Living Will เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถแสดงเจตจำนงว่า ไม่ต้องการรักษาในรูปแบบยื้อชีวิตเมื่อเข้าสู่ช่วงวาระสุดท้ายที่ไม่สามารถตอบสนองหรือสื่อสารได้แล้ว
เอกสารนี้มีผลตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ระบุว่า ทุกคนมีสิทธิทำหนังสือในการแสดงเจตนาปฎิเสธการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิต เพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย โดยมีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่ อยากให้ครอบครัวและแพทย์ดูแลอย่างไร หากอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต ตัวแทนหรือใครเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจแทน โดยจะต้องมีการลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นทางการ ทำให้ผู้ป่วยหลายคนไม่สะดวกใจที่จะเขียน เพราะเกรงว่าจะผูกมัดตัวเองเกินไป ดังนั้น อีก 2 ปีถัดมา พวกเขาจึงพัฒนาเครื่องมือใหม่ที่ยืดหยุ่นและเป็นมิตรกว่า โดยนำไอเดียมาจากแนวคิด Five Wishes หรือความต้องการ 5 ประการของต่างประเทศ มาปรับปรุงจนเกิดเป็น ‘สมุดเบาใจ เพื่อการวางแผนสุขภาพล่วงหน้า’
จุดเด่นของสมุดเบาใจ คือ การชวนทุกคนมาร่วมทบทวน วางแผนชีวิต และสื่อสารเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในช่วงสุดท้ายของชีวิต ให้ครอบครัวได้รับทราบ จะได้ไม่ต้องเดาใจ และลดความขัดแย้งระหว่างครอบครัวกับทีมแพทย์อีกด้วย เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และจากไปอย่างสงบ
เพราะฉะนั้น เนื้อหาของสมุดเบาใจจึงค่อนข้างกว้างกว่าพินัยกรรมชีวิต โดยเริ่มจากการเขียนอธิบายตัวเองว่าเป็นใคร มาจากไหน นิสัยใจคอเป็นอย่างไร ความภาคภูมิใจในชีวิตคืออะไร ป่วยเป็นอะไรหรือไม่ และมองความเจ็บป่วยของตัวเองอย่างไรบ้าง อยากทำอะไรก่อนตาย มองความตายที่กำลังมาถึงว่าอย่างไร หากป่วยระยะสุดท้าย มีสิ่งใดที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เช่น อยากดูแลตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของคนอื่น ได้อยู่กับเพื่อนที่รักและไว้วางใจ ลูกหลานไม่ทะเลาะกัน
จากนั้นก็จะมีการอธิบายความรู้เกี่ยวกับการป่วยระยะสุดท้าย มีการสำรวจจิตใจว่ายอมรับเรื่องความตายได้หรือไม่ ความหมายของการดูแลแบบประคับประคอง การกู้ชีพเพื่อยื้อชีวิต ตลอดจนผู้สื่อสารเจตนาแทน เพื่อมาทำหน้าที่ในวันที่เราไม่สามารถตัดสินใจเองได้แล้ว
เมื่ออธิบายทุกอย่างจนเข้าใจ ก็มาถึงในส่วนของหนังสือแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิต เพื่อให้ผู้ป่วยตัดสินใจว่า อยากให้การจากไปของตัวเองเป็นอย่างไร เกิดขึ้นที่ไหน ระหว่างบ้านหรือโรงพยาบาล รวมถึงการดูแลอื่นๆ เช่น ต้องการให้ร่างกายสะอาด อยู่ในห้องพักที่สะอาด ต้องการให้คนรอบข้างรับฟังความรู้สึก หรือต้องการการสัมผัส จับมือ โอบกอด แม้ในยามที่ไม่รู้สึกตัวแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการสื่อสารกับแพทย์ และคนใกล้ชิดในช่วงท้ายของชีวิต เช่นอยากฟังคำวินิจฉัยของแพทย์เพียงลำพัง หรือไม่อยากรู้เลย ให้แพทย์ไปสื่อสารกับคนที่ผู้ป่วยไว้ใจได้แทน รวมถึงการจัดการร่างกายและงานศพ ต้องการให้บริจาคร่างกายหรือไม่ อยากให้จัดงานศพแบบไหน กี่วัน งบประมาณเท่าไร ต้องการให้ใครเป็นผู้ดูแล มีของที่ระลึกหรือไม่ พร้อมกับแนะนำให้นำสมุดเบาใจส่งมอบให้ครอบครัวหรือผู้สื่อสารแทน ตลอดจนเก็บไว้ในเวชระเบียนของโรงพยาบาลที่สังกัด และตัดบัตรสมุดเบาใจสอดไว้ในกระเป๋าสตางค์ เพื่อสื่อสารกับแพทย์ได้ทันทีกรณีที่ประสบภาวะวิกฤต
“ถ้าลองดูในสมุดเบาใจ เราจะเห็นว่าคนที่เขียนจะมีโอกาสได้ทบทวนชีวิตตัวเอง ได้บอกว่าตัวเองเป็นใคร ให้คุณค่ากับอะไร แล้วถ้าเกิดเจ็บป่วยเขาคิดยังไง ถ้าเป็นระยะสุดท้ายเขาพร้อมไหม มันค่อยเป็นค่อยไป ต่างจากพินัยกรรมชีวิตที่เริ่มแรกก็ให้เลือกเลยว่า หากคุณกำลังจะตายจะให้ปั๊มหัวใจหรือไม่ คนก็รู้สึกไม่อยากทำ มันเหมือนถูกจำกัด เพราะต้องไม่ลืมว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับจิตใจ เราต้องทำให้คนที่เขียนรู้สึกสบายใจด้วย” สุ้ยอธิบาย
ที่ผ่านมา สมุดเบาใจได้กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาให้แก่ครอบครัวต่างๆ เช่น กอเตย–ปิญชาดา ผ่องนพคุณ ผู้ก่อตั้ง Baojai Family ซึ่งต้องดูแลพ่อที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และวันหนึ่งก็ได้เข้าร่วมงาน Happy Death Day และทดลองทำสมุดเบาใจ จนเกิดความรู้สึกว่าอยากให้พ่อทดลองทำบ้าง
“ตอนนั้นเขาเล่าให้เราฟังว่า ไม่รู้จะชวนพ่อคุยอย่างไรดี ก็เลยใช้วิธีเอาบางคำถามไปคุยกับพ่อ ค่อยๆ ทำทีละวัน วันนี้คุยเรื่องคุณค่าของชีวิต วันถัดไปคุยเรื่องการดูแลแบบไหนที่พ่ออยากได้รับ จนถึงเรื่องงานศพว่าพ่อต้องการอะไร อยากให้ทุกคนแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีสดใส อยากได้โลงแบบนี้ อยากขอของที่ระลึกเป็นสมุดเบาใจ แล้วระหว่างนั้นพี่กอเตยเขาก็เตรียมการเรื่องอื่นๆ ไปพร้อมกันว่า ถ้าถึงวาระสุดท้ายของพ่อจะต้องโทรหาใคร ทำอะไรต่อ ทำให้เขาได้มีช่วงเวลาสุดท้ายด้วยกัน จนพ่อหมดลมหายใจไป หลังจากนั้นเขาก็กลายเป็นเครือข่ายของเรา ชักชวนให้คนในพื้นที่ทำสมุดเบาใจ พร้อมกับทำธุรกิจเพื่อสังคมเรื่องวางแผนการดูแลล่วงหน้า ซึ่งมีผู้สนใจเยอะมากๆ เลย” เตย น้องเล็กของทีมเล่าความประทับใจ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทีม Peaceful Death พยายามพัฒนาสมุดเบาใจให้ตอบโจทย์ของทุกคนอย่างแท้จริง ตั้งแต่ลดความซับซ้อนของเนื้อหา เน้นการใช้ภาษาง่ายๆ มีการดีไซน์ที่ทันสมัยและสวยงาม เพื่อให้ทุกคนอยากอ่าน อยากทดลองทำ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่น่าพึงพอใจ
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ แนวคิดนี้ยังเข้าไปเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนให้กล้าสื่อสารเรื่องความตายมากขึ้น เพราะการเตรียมรับความไม่แน่นอนนั้น ย่อมเป็นประโยชน์ทั้งกับตัวเราและคนรอบข้าง ช่วยให้ทุกคนรู้สึกคลายกังวล ในวันที่เราจากโลกนี้ไปตลอดกาล
“ประสบการณ์การตายเกิดขึ้นได้ครั้งเดียว มันสำคัญสำหรับเราและคนที่เรารัก ถ้าเห็นคนที่เรารักตายไม่ดี ก็อาจเป็นแผลในใจ รู้สึกผิดว่าทำหน้าที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งมันกัดกินหัวใจไปอีกนานเลย แต่ถ้าลูกหลานได้ดูแลพ่อแม่อย่างดี สุดความสามารถตามที่เขาร้องขอไว้ ถึงเขาจะจากไป แต่ก็สงบใจมากกว่า” มาร์ท ผู้เรียบเรียงสมุดเบาใจสรุป
ประสบการณ์การตายเกิดขึ้นได้ครั้งเดียว ถ้าเห็นคนที่เรารักตายไม่ดี ก็อาจเป็นแผลในใจ รู้สึกผิดว่าทำหน้าที่ไม่ครบถ้วน แต่ถ้าลูกหลานได้ดูแลพ่อแม่อย่างดี สุดความสามารถตามที่เขาร้องขอไว้ ถึงเขาจะจากไป แต่ก็สงบใจมากกว่า
หลังจาก Peaceful Death ทำงานต่อเนื่องภายใต้ร่มเงาของเครือข่ายพุทธิกา มานานกว่า 15 ปี ในปี 2561 สุ้ยและทีมงานก็เล็งเห็นว่า ภารกิจเรื่องเผชิญความตายอย่างสงบนั้นค่อนข้างกว้างกว่าขอบเขตงานของเครือข่าย และไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะเรื่องพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และเข้าถึงได้ ในฐานะสัจธรรมหนึ่งของชีวิต
พวกเขาจึงแยกตัวออกมาเป็นกลุ่มอิสระ โดยมีพันธกิจหลักคือ สนับสนุนให้สังคมไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการตายดี
“เรามีเครือข่ายการทำงานค่อนข้างหลากหลาย ดังนั้นเพื่อความคล่องตัว จึงคิดว่าควรจะสร้างแพลตฟอร์มที่เอื้อต่อการทำงาน บวกกับเราต้องการทำงานกับคนอายุ 30 ขึ้นไปจนถึง 40 ต้นๆ ซึ่งยังอยู่ในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว และต้องการกระบวนการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เขาจัดการเองไม่ได้ แต่ไม่ได้ถึงขั้นสนใจเรื่องศาสนา หรืออยากบรรลุธรรม เข้าถึงจิตวิญญาณอะไรขนาดนั้น” สุ้ย พี่ใหญ่ของกลุ่มเท้าความ
ภารกิจของ Peaceful Death ไม่ต่างจากเดิมคือ การทำให้เรื่องความตายเป็นสิ่งที่พูดคุยได้ รวมถึงพัฒนาเครื่องมือที่เอื้อต่อการสร้างบทสนทนา แต่ที่มากกว่านั้นคือ การสร้าง ‘ชุมชนกรุณา’ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนทางนโยบาย ด้วยความหวังให้ชุมชนต่างๆ จัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการตายดีมากยิ่งขึ้น อาทิ การประสานงานระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชน การจัดทำเรื่องเล่าที่จะชูให้เห็นว่า อำนาจในการตายดีนั้นเป็นของทุกคน เพื่อให้ครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
หน้าที่ของชุมชนกรุณาจึงเปรียบเสมือนการอุดช่องว่างของสังคมไทย ซึ่งกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว สมาชิกในครอบครัวเริ่มลดน้อยลง บางคนก็ต้องเข้าไปทำงานในเมืองหลวง ส่งผลให้ภาระการดูแลตกอยู่กับคนไม่กี่คน จนกลายเป็นความลำบากและความทุกข์ บางครั้งลุกลามถึงขั้นทำร้ายผู้ป่วยเลยก็มี ดังนั้นหากเปลี่ยนภาระการดูแลผู้ป่วยให้กลายเป็นของคนในชุมชนได้ ก็จะช่วยแบ่งเบาปัญหา สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วย แถมยังกระชับมิตรภาพของคนในสังคมให้แน่นแฟ้นได้อีกด้วย
ในทางกลับกัน แนวคิดนี้ก็ยังช่วยลดความแออัดของสถานพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยระยะสุดท้ายส่วนใหญ่นั้นป่วยเรื้อรัง และต้องอาศัยกำลังของบุคลากรจำนวนมาก ดังนั้น นี่จึงเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยให้โรงพยาบาลสามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง
สำหรับวิธีการทำงานของ Peaceful Death จะเริ่มจากการลงพื้นที่ เพื่อหาผู้นำที่จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อนงาน ทั้งการชวนคุย สร้างองค์ความรู้ และหาพันธมิตร โดยกลุ่มจะเข้าไปช่วยสนับสนุนเรื่องการฝึกอบรม เติมเต็มสิ่งที่ขาด แลกเปลี่ยนมุมมองความคิด และเพิ่มทักษะให้ทุกคนพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
“หลายพื้นที่มีปัญหา ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยาบรรเทาปวด บางทีคนรอบข้างผู้ป่วยเขาก็ไม่รู้ว่ามีระบบการรักษาแบบประคับประคอง ทำให้ผู้ป่วยที่กำลังตายในชุมชนอยู่อย่างทรมาน อีกปัญหาคือคนป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลกลับชุมชนไม่ได้ เพราะครอบครัวไม่พร้อม ไม่รู้จะทำอย่างไร เราจึงเข้าไปแก้ปัญหาด้วยการให้ความรู้ สร้างเครือข่ายการดูแลที่พร้อมมากขึ้น มีการคัดกรองว่านี่คือกลุ่ม Palliative Care เพื่อให้เข้าถึงยา ส่วนอีกกลุ่มก็เข้าไปช่วยปรับสภาพบ้าน เสริมความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสังคมสามารถดูแลการตายได้ ผู้ป่วยจะได้อุ่นใจว่าจะได้รับการดูแลที่ดี” มาร์ทฉายภาพ
ปัจจุบัน Peaceful Death ทำงานร่วมกับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 30 แห่ง โดยรูปแบบการทำงานก็ไม่ได้มีกรอบตายตัว แต่เน้นที่ความพร้อมของชุมชนเป็นหลัก ซึ่งพวกเขาก็ตั้งใจว่า จะขยายองค์ความรู้ให้กว้างขวางที่สุด เพื่อให้เรื่องตายดีกลายเป็นพื้นฐานหนึ่งของการสร้างสังคมที่ยั่งยืนต่อไป
“ผู้นำชุุมชนแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน อย่างคนแรกที่เราเจอที่ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คือ คุณเชค-ดิเรก ชัยชนะ เป็นครูสอนจัดดอกไม้แบบอิเคบานะ แล้วเผอิญพี่สาวเขาเป็น ผอ.รพ.สต. จึงสนใจเรื่องการจัดอบรม อสม. ในพื้นที่ให้มีทักษะการดูแลมากขึ้น เราก็คุยว่าในพื้นที่มีทุนอะไรบ้าง แล้วจะพัฒนาต่อยอดอย่างไร ซึ่งก็จะต่างจากที่เชียงราย ซึ่งมีพี่เจน-เจนจิรา โอชา ที่เคยเป็นกระบวนกรของเสมสิกขาลัยเป็นคนดูแล ซึ่งพี่เจนเขากลับบ้านไปดูแลพ่อแม่ เราก็เลยชวนให้ลงพื้นที่หาข้อมูลชุมชน ทำความรู้จักกับเครือข่ายต่างๆ ว่ามีใครที่สนใจบ้าง แล้วก็ค่อยๆ ต่อยอดการทำงานไป ส่วนที่อุบลราชธานี ผู้นำเขาทำงานเรื่องเยาวชนอยู่ก็เลยเกิดการพัฒนาหลักสูตรเรื่องการดูแลความตายและความสูญเสียในเด็ก ทุกที่ก็เลยไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นใคร อยากเห็นอะไร ไม่มีพิมพ์เขียว” มาร์ทอธิบาย
“จุดแข็งของชุมชนกรุณาคือ เราไม่มีไอเดียตั้งต้นที่โยนให้เขาทำ ทุกอย่างเขาเลือกเอง ตัดสินใจเอง ซึ่งข้อเสียคือ โอกาสที่จะขยายต่อย่อมยากกว่าการสั่งการลงมา แต่เราก็มองว่าแบบนั้นไม่ยั่งยืน เพราะไม่ก่อให้เกิดประสบการณ์การทำงาน ในฐานะที่เคยเป็นนักวิจัยมาก่อน เราเชื่อเรื่องการให้เครื่องมือตกปลา มากกว่าการเอาปลามาให้ เขาต้องเรียนรู้ว่าอะไรคือจุดเด่นของตัวเอง ปัญหาอยู่ตรงไหน สิ่งไหนควรทำก่อน เขาต้องรู้จักจัดลำดับความสำคัญของตัวเอง และไม่ใช่แค่เรื่องความตายเท่านั้น ต่อให้เป็นเรื่องอื่นๆ ถ้าคุณทำด้วยความเข้าใจ ก็ย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แน่นอน” สุ้ยช่วยเสริม
แม้จะเริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็กๆ แต่การทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ทศวรรษก็ทำให้แนวคิดเรื่องการเผชิญหน้ากับความตายค่อยๆ เจริญงอกงามในสังคมไทยอย่างมั่นคง
สมุดเบาใจกลายเป็นเครื่องมือที่ผู้คนให้การยอมรับ เกิดเครือข่ายใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยเติมเต็ม และสร้างสรรค์กิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การจัดทัวร์สุสาน ซึ่งมุ่งสื่อสารกับคนที่อายุต่ำกว่า 30 ปี และเป็นช่วงวัยที่ Peaceful Death ยังเข้าไม่ถึง
ที่สำคัญ ทัศนคติความเชื่อเดิมๆ เรื่องความตายเป็นสิ่งอัปมงคลลดน้อยลง เริ่มมีการพูดถึงนวัตกรรมอื่นๆ ที่ช่วยรับมือกับความตายได้ดียิ่งขึ้น สถานพยาบาลชั้นนำของเมืองไทยก็เริ่มหันมาสนใจเรื่องการรักษาแบบประคับประคองจริงจังขึ้น
ถึงอย่างนั้น พวกเขาไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องคงอยู่ตราบนานเท่านาน เพราะเมื่อถึงเวลาที่สังคมเติบโต ผู้คนพร้อมที่จะรับมือกับความสูญเสียด้วยสติและปัญญา พร้อมจะถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น บางทีองค์กรแบบ Peaceful Death ก็อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
“หากถามว่าอนาคตอยากเห็นอะไร สิ่งแรกคืออยากให้แนวคิดเรื่อง Peaceful Death มีชีวิตของตัวเอง ไม่ต้องมาอยู่กับพวกเราเท่านั้น อยากให้ทุกคนลุกขึ้นมาทำสิ่งนี้ด้วยเครื่องมือต่างๆ เอง องค์ความรู้ที่เราทำไว้ให้ ก็เพื่อให้เขานำไปต่อยอด เพราะมีคนเยอะมากที่เข้าใจเรื่องนี้ เห็นคุณค่าแล้วไปทำต่อเอง อีกอย่างหนึ่งคือ อยากเห็นเครือข่ายหรือคนทำงานได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ เพื่อที่เขาจะได้มีกำลังในการทำสิ่งที่มีคุณค่าแบบนี้ต่อไปได้” สุ้ยเล่าถึงสิ่งที่องค์กรเล็กๆ แห่งนี้มุ่งหวัง
แต่เมื่อภารกิจยังไม่สิ้นสุด พวกเขาทั้งหมดก็ยินดีที่จะเดินหน้าต่อไป เพื่อนำพาผู้คนในสังคมไทยให้ก้าวข้ามความทุกข์ไปสู่ความสงบสุขในจิตใจอย่างแท้จริง
ปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 15 ชุมชนหรือเครือข่ายที่รวมพลังกันทำงานเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
Peaceful Death คือเครือข่ายชุมชนต้นแบบประเด็นสร้างหลักประกันการมีสุขภาพดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย (SDGs ข้อที่ 3), ประเด็นส่งเสริมสังคมที่สงบสุข และครอบคลุมที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบและทุกคนสามารถเข้าถึงในทุกระดับ (SDGs ข้อที่ 16) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)
ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ผู้บุกเบิกกระแสสีเขียวในเมืองไทย กับความฝันของคนวัยเกษียณที่อยากเห็นนนทบุรีไปสู่เมืองอาหารที่ยั่งยืน
เจ้าของ a.e.y.space นักสร้างสรรค์เมืองรุ่นใหม่ จนสงขลา ที่เชื่อมร้อยศิลปะ เศรษฐกิจ สังคม และผู้คน เข้าไว้ด้วยกัน
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
Top Chef Thailand คนแรกของประเทศ กับความตั้งใจที่อยากสร้างความยั่งยืนทางอาหารให้แก่สังคมไทย
ศิลปินแห่งชาติ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ผู้พยายามสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง
นักเขียนนิทานเด็ก เจ้าของผลงาน ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ กับความฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากยกระดับการอ่านให้เด็กไทยทั่วประเทศ
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.