ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีอาหารถูกทิ้งวันละเกือบ 50,000 ตัน ในจำนวนนั้นมีส่วนหนึ่งที่ยัง ‘กินได้’ เพราะไม่ใช่เศษอาหาร แต่เป็น ‘อาหารส่วนเกิน’ ของระบบการจัดจำหน่าย
ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์นมที่ใกล้หมดอายุ เบเกอรีที่ขายไม่หมด ผักผลไม้ที่ต้องนำออกจากชั้นสินค้า อาหารในไลน์บุฟเฟต์ที่ไม่มีคนตัก ฯลฯ ทั้งหมดนี้ต้องถูกส่งไปบ่อฝังกลบอย่างน่าเสียดาย
แต่ในทางกลับกัน ยังมีคนไทยอีกราว 6.5 ล้านคน ที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจน และไม่มีโอกาสเข้าถึงอาหารคุณภาพดีได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะยุคที่ข้าวของราคาแพงอย่างในปัจจุบัน
การได้เห็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำนี้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Scholars of Sustenance Thailand หรือ SOS Thailand มูลนิธิที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนหน่วยกู้ชีพอาหารส่วนเกินจากโรงแรม ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ตลอดจนผู้ผลิตต่างๆ นำมาส่งต่อให้แก่ชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ ก่อนที่อาหารจะถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะ สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
แม้จะเป็นอาหารส่วนเกิน แต่ล้วนต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเข้มข้น เพื่อให้มั่นใจว่าอยู่ในสภาพดี สะอาด และไม่เป็นอันตรายต่อผู้รับ
นอกจากนี้ SOS Thailand ยังร่วมกับชุมชน จัดตั้ง ‘ครัวรักษ์อาหาร’ ชวนแม่ครัวอาสามาร่วมกันปรุงอาหารจานใหม่จากวัตถุดิบส่วนเกิน แจกจ่ายไปตามครัวเรือนต่างๆ อีกทั้งยังมีโครงการส่งต่ออาหารไปยังชุมชนในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ประสบภัยพิบัติอีกด้วย
ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงไตรมาสแรกของปี 2567 พวกเขาส่งต่ออาหารส่วนเกินไปแล้วกว่า 8.1 ล้านตัน หรือคิดเป็น 34 ล้านมื้อ ให้แก่ชุมชนกว่า 3,600 แห่งได้อิ่มท้อง และลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากขยะอาหารได้ถึงกว่า 20,000 ตัน
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงชักชวน แป๊ก-ศศิวรรณ ใจอาสา เจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชนอาวุโส และ อีฟ-สิริเนตร เกตุเที่ยงกิจ ผู้ช่วยฝ่ายการสื่อสารและกิจกรรมองค์กร มาพูดคุยถึงแนวคิดในการทำงานของ SOS Thailand รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะสร้างความยั่งยืนทางอาหาร ด้วยการชุบชีวิตอาหารส่วนเกิน เพื่อเติมเต็มความสุขให้ผู้คนนับล้านผ่านมื้ออาหาร
แม้ว่าอาหารจะเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิต แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ได้กินอาหารที่ดี มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน หรือเลือกกินได้ตามใจ
สำหรับคนที่มีกำลังซื้อสูง พวกเขามีโอกาสเลือกว่าวันนี้จะกินอะไร เลือกใช้วัตถุดิบแบบไหนมาทำอาหาร แต่กับคนที่มีรายได้น้อย อาจต้องกินอาหารคุณภาพไม่ดีนักเพราะราคาถูกกว่า บางมื้ออาจแทบไม่มีเนื้อสัตว์เลย หรือเน้นข้าวเป็นหลัก ยิ่งในช่วงที่รายได้ไม่เพียงพอ บางคนถึงกับต้องยอมอดมื้อกินมื้อ จนนำไปสู่การขาดสารอาหารและความเจ็บป่วย
ประสบการณ์ครั้งหนึ่งจากการเดินทางมาที่กรุงเทพฯ ทำให้ โบ เอช โฮล์มกรีน (Bo H. Holmgreen) นักการเงินชาวเดนมาร์ก มองเห็นความเหลื่อมล้ำทางอาหารเหล่านี้ กลายเป็นแรงบันดาลใจสู่การก่อตั้ง Scholars of Sustenance Foundation Thailand หรือ SOS Thailand ในปี 2559
“ผมนั่งอยู่ที่สกายเลาจน์ของโรงแรม และเห็นว่าอาหารบุฟเฟต์อีก 97% นั้นไม่มีใครแตะต้องเลย เมื่อถามพนักงานว่า พวกเขานำอาหารที่เหลือกลับบ้านหรือไม่ คำตอบคือต้องนำไปทิ้ง ผมตกใจมาก เพราะชุมชนใกล้ๆ โรงแรมอาจต้องการอาหารเหล่านี้ ทันใดนั้นก็คิดขึ้นมาได้ว่าผมสามารถนำแนวคิดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดจากงานธนาคารมาใช้ได้ โดยนำอาหารไปส่งต่อให้แก่ชุมชนที่ขาดแคลน แทนที่จะเททิ้งลงถัง เราจึงก่อตั้งมูลนิธิ Scholars of Sustenance ขึ้นมาเพื่ออุดช่องว่างนี้” โบเคยอธิบายไว้ในการสัมภาษณ์กับ Scandasia.com
ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการบริหารต้นทุนธุรกิจ ทำให้นักการเงินชาวเดนมาร์กมองว่า มี 2 ปัจจัยที่จะช่วยแก้ปัญหา อย่างแรกคือ สร้างระบบขนส่งและกระจายอาหารขึ้นมา โดยเข้าไปรับอาหารส่วนเกินมาจัดการต่อโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งโรงแรมน่าจะยินดีอยู่แล้วที่มีคนเข้ามาช่วยดูแล
อย่างที่สองคือสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัย เพราะเหตุผลหลักที่ผู้จัดการโรงแรมต่างๆ ไม่กล้าบริจาคอาหาร เนื่องจากกังวลว่าถ้ามีใครรับประทานแล้วเกิดโรคภัยไข้เจ็บ พวกเขาอาจถูกฟ้องร้อง ดังนั้นกระบวนการทั้งหมดต้องสะอาด ปลอดภัย และไม่มีสิ่งปนเปื้อน
“ผมเรียกมันว่า ‘เกมง่ายๆ’ เราขนส่งทั้งหมดฟรี เราทำความสะอาดภาชนะของเรา แล้วไปรับอาหาร นำภาชนะที่สะอาดไปเปลี่ยนกับผู้บริจาคและผู้รับ ทำทุกอย่างให้ง่าย” โบกล่าว
แต่การทำงานในช่วงแรกนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะ SOS Thailand ต้องต่อสู้กับทัศนคติของคนไทยที่มีการปลูกฝังมายาวนานว่าไม่ควรบริจาคอาหารเหลือ หรืออาหารคุณภาพไม่ดีให้กับใคร ด้วยเชื่อว่าควรทำบุญด้วยของที่ดีที่สุด ดังนั้นการหาพันธมิตรที่จะมาบริจาค และชุมชนที่จะมารับอาหารจึงยากมาก เรียกว่า ‘คนจะบริจาคก็กลัว คนจะรับก็ยังไม่กล้า’ โชคดีที่ทีมงานรู้จักกับเจ้าหน้าที่ในโรงแรมแห่งหนึ่ง ทำให้มีโอกาสพูดคุยอธิบายจนเขาเห็นถึงความตั้งใจ และยอมร่วมมือ
“ทีมงานตั้งต้นมีไม่กี่คน จำได้ว่าแรกๆ มีกล่องน้ำแข็งแค่หนึ่งใบ ไปรับอาหารจากโรงแรมมาประมาณ 1 กิโลกรัม ตอนแรกยังไม่รู้ว่าจะไปส่งต่อให้ใครดี ก็เริ่มจากชุมชนที่อยู่ใกล้ๆ อย่างชุมชนวัดดอน สาทรก่อน” แป๊ก ในฐานะเจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชนอาวุโส ย้อนภาพการทำงานขององค์กรที่ทำหน้าที่ส่งต่ออาหารส่วนเกินแห่งแรกในประเทศไทย
จาก 1 โรงแรมในวันนั้น พวกเขาพยายามเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จนค่อยๆ ขยายไปโรงแรมอื่น รวมทั้งธุรกิจอาหารที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ไปจนถึงผู้ผลิต ขณะเดียวกันก็ขยายเครือข่ายชุมชนผู้รับอาหารออกไปทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงส่งต่อให้มูลนิธิต่างๆ และกลุ่มผู้อพยพ
สิ่งสำคัญที่ใช้ในการสร้างความเชื่อมั่นจนผู้บริจาคและผู้รับเปิดใจ คือการทำให้ทุกฝ่ายเห็นว่ามูลนิธิมีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน มุ่งมั่นทำให้อาหารที่บริจาคเกิดประโยชน์ และปลอดภัยแก่ผู้รับที่สุด รวมทั้งกระจายสู่ผู้ขาดแคลนอย่างแท้จริง โดยไม่นำไปหาผลประโยชน์อื่นแอบแฝง
คำถามแรกที่พวกเขามักพบเจออยู่บ่อยๆ คือ SOS Thailand รับบริจาคอาหารอะไรบ้าง อาหารเหลือแบบไหนที่ส่งต่อได้หรือไม่ได้
นับเป็นความท้าทายของทีมงานที่ต้องอธิบายให้ทุกคนเข้าใจร่วมกันว่า อาหารที่ขอรับไปส่งต่อไม่ใช่ขยะอาหาร แต่คือ ‘อาหารส่วนเกิน’ ซึ่งหมายถึงอาหารที่ผลิตออกมามากเกินจนจําหน่ายไม่หมด หรือบริโภคไม่ทัน จะเป็นอาหารปรุงสุกหรือดิบก็ได้ และต้องเป็นอาหารที่สะอาด รับประทานได้อย่างปลอดภัย ไม่หมดอายุ ไม่เน่าเสีย ไม่ใช่อาหารเหลือจากจานที่คนอื่นกิน
ที่ผ่านมามีทั้งอาหารปรุงสุกที่เหลือจากไลน์บุฟเฟต์ เบเกอรี ผักผลไม้สด ผลไม้ตัดแต่ง อาหารกล่องที่ขายไม่หมด รวมถึงกลุ่มสินค้าป้ายเหลืองตามซูเปอร์มาร์เก็ตที่นำมาลดราคาเพราะถึงเวลาที่ต้องเคลียร์สต๊อก แต่ยังมีคุณภาพที่รับประทานได้ โดยมีข้อกำหนดว่าขอไม่รับอาหารที่บูดเสียง่าย เช่น แกงกะทิ และไม่รับอาหารดิบ เช่น ซูชิ ซาซิมิ ซึ่งมีโอกาสทำให้ผู้รับท้องเสีย
อีกกลุ่มหนึ่งคือผลผลิตหรือวัตถุดิบจากผู้ผลิต ที่อาจไม่ได้มาตรฐานในการจำหน่าย หรือเกิดความผิดพลาดในเรื่องของการพิมพ์ฉลาก ขั้นตอนบรรจุภัณฑ์ เช่น ผลไม้กระป๋องจากโรงงานที่ใกล้ถึงวันหมดอายุ ผักผลไม้ที่ผลิตมาแล้วขนาดเล็กไม่ตรงตามมาตรฐานหรือมีตำหนิไม่สวยงาม ปลากะพงที่มีขนาดใหญ่เกินไป ฟักทองที่ราคาตกมาก ทั้งหมดนี้สามารถส่งมาให้ SOS Thailand ได้
ปริมาณอาหารที่รับบริจาคคือตั้งแต่ 1 กิโลกรัม ไปจนถึง 10 ตัน เรียกได้ว่า อะไรที่ยังรับประทานได้ พวกเขาขอรับทั้งหมด โดยทุกวันจะมีทีมงานที่เรียกว่า ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์รักษ์อาหาร’ เดินทางเข้าไปกอบกู้อาหารส่วนเกินจากผู้บริจาค เพื่อส่งมอบให้แก่ชุมชนต่อไป
นอกเหนือจากการช่วยจัดการอาหารส่วนเกินแล้ว สิ่งที่ผู้บริจาคจะได้รับจาก SOS Thailand คือการช่วยรวบรวมข้อมูลสถิติเรื่องความรับผิดชอบดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้เป็นตัวเลขรูปธรรมที่จับต้องได้ ซึ่งช่วยตอบโจทย์องค์กรผู้บริจาคอาหารที่ตั้งเป้าพันธกิจในด้านการสร้างความยั่งยืน
“เรื่องข้อมูลหลังบ้าน เราให้ความสำคัญมาตั้งแต่ต้น ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมแห่งหนึ่งบริจาคอาหารมา 300 กิโลกรัม เราก็สามารถคำนวณผลบวกที่เกิดขึ้นต่อสังคมได้ว่า ทั้งหมดนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายอาหารให้กับชุมชนเท่าไร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร คิดเป็นคาร์บอนเครดิตเท่าไร ซึ่งเราทำมาตั้งแต่แทบยังไม่มีใครพูดถึงคาร์บอนเครดิตเลยด้วยซ้ำ ทุกคนก็จะว้าวกับตัวเลขพวกนี้ ผู้บริจาคเองก็สามารถนำไปสื่อสาร อ้างอิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรได้” แป๊กอธิบาย
ด้วยกระบวนการที่ SOS Thailand ทำหน้าที่เสมือนเป็นโซ่ข้อกลาง เชื่อมประสานระหว่างผู้บริจาคและชุมชนต่างๆ ก็ทำให้อาหารส่วนเกินเหล่านี้ยังมีประโยชน์และได้นำไปใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด ก่อนที่จะถูกทิ้งหรือทำลายไป
คงไม่ดีแน่ หากอาหารที่ส่งต่อทำให้ผู้รับท้องเสียหรือเจ็บป่วย เพราะจะส่งผลกระทบย้อนกลับมาถึงความน่าเชื่อถือของมูลนิธิ และผู้บริจาคด้วย
SOS Thailand จึงวางกระบวนการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหาร หรือ Food Safety อย่างเข้มข้นตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เพื่อให้มั่นใจว่าอาหารทุกชิ้นจะช่วยเพิ่มโภชนาการให้คนในชุมชน มากกว่าไปทำลายสุขภาพ
“เราจริงจังกับเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ การสัมผัสอาหาร วิธีจัดเก็บ การตรวจสอบคุณภาพอาหาร การขนส่ง กระบวนการทั้งหมดนี้เรียกว่า Food Safety ที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้บริจาคไปจนถึงผู้รับ” อีฟกล่าว
ในส่วนของผู้บริจาคนั้น SOS Thailand จะจัดอบรมเรื่องการจัดการอาหารให้แก่พนักงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การคัดเลือกอาหารส่วนเกิน การตรวจสอบคุณภาพ ไปจนถึงการเก็บรักษา
ถ้าเป็นอาหารสดที่ไม่มีวันที่กำกับ พนักงานต้องสังเกตรูปลักษณ์ทั้งรูป รส กลิ่น สี เช่น อาหารปรุงสุกต่างๆ ผัก ผลไม้ ไข่ไก่ เนื้อสัตว์ ต้องยังดูสดใหม่ ไม่บูดเน่าเสีย ไม่เป็นรา ไม่มีน้ำเจิ่งนอง หากเป็นอาหารที่มีกำกับวันหมดอายุ (Expiry Date) หรือวันที่ควรบริโภคก่อน (Best Before) เช่น ผลิตภัณฑ์นม ขนมปัง น้ำผลไม้ หรืออาหารกระป๋อง ต้องตรวจสอบวันที่ระบุไว้ก่อนบริจาค
กรณีที่เป็นวันหมดอายุ (Expiry Date) หมายถึงครบกำหนดแล้วไม่ควรรับประทาน ดังนั้นจะไม่นำมาบริจาคต่อ อาหารกลุ่มนี้ควรส่งมอบล่วงหน้า 7 วันหรืออย่างน้อย 1 เดือน ก่อนถึงวันหมดอายุ เพื่อคงคุณภาพของอาหาร แต่ถ้าผลิตภัณฑ์นั้นถึงวันที่ควรบริโภคก่อน (Best Before) คืออาหารยังรับประทานได้แม้อาจเสื่อมคุณภาพลงไปบ้าง ทางมูลนิธิก็จะรีบนำมาแจกจ่าย โดยกำชับให้ชุมชนรู้ว่าต้องกินให้หมดภายในกี่วัน ซึ่งส่วนมากมักไม่เกิน 7 วัน
หากเคสไหนไม่แน่ใจ SOS Thailand ก็จะส่งเข้าห้องแล็บให้เจ้าหน้าที่ Food Safety ช่วยตรวจสอบอีกครั้ง และมีการสุ่มตรวจสอบอยู่เป็นประจำ
“ที่ผ่านมา อาหารส่วนเกินที่บริจาคมา 98% เป็นอาหารที่ดี จะมีแค่ 2-3% เท่านั้น ที่เราต้องปฏิเสธ และเราก็จะแจ้งกลับไปยังผู้บริจาคเพื่อให้มีการปรับปรุงกระบวนการ” แป๊กเล่าถึงการทำงาน
นอกจากคุณภาพของอาหารแล้ว ผู้บริจาคต้องใส่ใจวิธีการเก็บรักษา อาทิ สวมถุงมือ หรือใช้ที่คีบเมื่อสัมผัสอาหาร กล่องหรือภาชนะต้องสะอาด รู้ว่าอาหารแต่ละประเภทควรเก็บไว้ในอุณหภูมิเท่าใด ต้องแช่เย็นหรือไม่
ทั้งหมดนี้คือกระบวนการที่ทาง SOS Thailand ทำงานร่วมกับผู้บริจาค และพัฒนาระบบมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดขยะอาหารน้อยที่สุด อย่างสินค้าป้ายเหลือง เดิมทีมีระยะเวลาวางบนชั้น 3 วัน จากนั้นจะถูกตัดทิ้ง ต่อมาได้หารือแนวทางร่วมกัน จึงปรับให้ระยะเวลาป้ายเหลืองเหลือเพียง 1 วัน เพื่อให้อาหารยังคงคุณภาพที่นำไปส่งต่อได้โดยไม่ต้องถูกทิ้ง
เมื่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์รักษ์อาหารเข้ามารับ ก็จะต้องตรวจสอบอย่างรวดเร็วอีกรอบหนึ่งว่าไม่มีอาหารที่บูดเน่าเสีย ขึ้นรา หรือบรรจุภัณฑ์บุบบวมผิดปกติ ก่อนนำขึ้นรถไปส่งชุมชนภายในวันเดียวกัน เพื่อคงความสดใหม่ที่สุด ส่วนใหญ่ใช้ ‘รถตู้เย็น’ ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิรักษาคุณภาพของอาหาร โดยรถและภาชนะที่ใช้จะมีการล้างทำความสะอาดทุกวัน ไม่ให้มีสิ่งปนเปื้อน
ในส่วนของชุมชนก็ต้องผ่านการฝึกอบรม เพื่อให้กระบวนการรับอาหารปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การประสานงานเตรียมทีม 3-5 คนมารอรับ มีสถานที่ที่รถเข้าได้ ใช้ภาชนะและอุปกรณ์ต่างๆ ที่สะอาด วางอาหารสูงจากพื้นมากกว่า 60 เซนติเมตร พร้อมกับประกาศให้ผู้ที่มารับนำกล่องหรือถุงผ้ามาใส่อาหาร ลดการใช้ถุงพลาสติก มีการจัดระเบียบไม่ให้เกิดการรุมแย่ง รวมถึงให้ความรู้ว่าอาหารใดบ้างที่ต้องนำไปใส่ตู้เย็น หรืออุ่นร้อนก่อนรับประทาน หากสภาพอาหารไม่ดีให้ทิ้งทันที
หลายชุมชนก็มีเครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคม ทั้ง อพม. อสส. ประธานชุมชน เข้ามาเป็นกลไกสําคัญในการจัดการอาหารให้เป็นไปตามข้อตกลงของ SOS Thailand
“กว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องผ่านการเรียนรู้มาพอสมควร อย่างช่วงแรกบางชุมชนกรูกันเข้ามาเลย เราก็ต้องไปช่วยสร้างระบบให้มีการจัดการที่ถูกต้อง ให้ความรู้ว่าต้องนำภาชนะแบบไหนมารับอาหาร จนตอนหลังชุมชนสามารถบริหารจัดการได้เอง” แป๊กย้อนภาพ
นอกจากความสะอาดปลอดภัยแล้ว ทางมูลนิธิยังคำนึงถึงโภชนาการและประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้รับมากที่สุด จึงพยายามจัดให้แต่ละชุมชนได้รับอาหารที่หลากหลายในแต่ละวัน ทั้งเนื้อสัตว์ ผักสด ผลไม้ ขนม อาหารปรุงสุก โดยไม่ให้มีประเภทใดประเภทหนึ่งมากหรือน้อยเกินไป นับเป็นความยากในการจัดเส้นทางรับอาหารที่ต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย
ไม่เพียงภารกิจประจำวัน หลายๆ ครั้งมักมีภารกิจพิเศษที่ท้าทายเข้ามาอยู่เสมอ เช่น มีการบริจาคอาหารล็อตใหญ่เกินกว่า 10 ตัน ที่ใกล้ถึงวันหมดอายุมากๆ แล้ว ทีมงาน SOS Thailand ก็ต้องวางแผนกระจายอาหารออกไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เช่น ได้รับน้ำผลไม้ 30 ตัน จากโรงงานไปกระจายภายในวันเดียว ซึ่งมากเกินกว่าที่จะนำรถทั้งหมดไปจัดส่งทีละชุมชน ก็ต้องประสานงานกับชุมชนต่างๆ ให้ช่วยหารถมารับ แบ่งเป็นจุดใหญ่ๆ ที่จะส่งออกไปให้ถึงมือคนกินให้เร็วที่สุด พร้อมกับให้ข้อมูลว่าควรบริโภคให้หมดภายในวันไหนถึงจะปลอดภัย
อีกครั้งหนึ่งเคยมีผู้บริจาคนมถุงใหญ่ที่อีกเพียง 1 วันจะหมดอายุ ปกติแล้วต้องเก็บรักษาในถังน้ำแข็งหรือตู้เย็น แต่หลายชุมชนไม่มี จึงใช้วิธีรีบแจกให้หมดภายในหนึ่งชั่วโมง และขอให้ผู้รับดื่มทันที ซึ่งแต่ละภารกิจก็จะมีตัวแปรแตกต่างกันไปให้ทีมงานคิดหาวิธีแก้ปัญหา
“ความยากของภารกิจพิเศษไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่คือเราจะทำอย่างไรเพื่อนำอาหารส่วนเกินไปกระจายต่อโดยไม่เหลือทิ้ง บางทีปริมาณอาหารไม่ตรงกับที่แจ้งมา เราก็ต้องปรับแผนกันหน้างาน หลายครั้งทํางานในสถานการณ์เร่งด่วน ดังนั้นเราจึงขอให้ชุมชนยอมรับและมีความยืดหยุ่น เพราะเราไม่ใช่ห้างสรรพสินค้า เราคือองค์กรตัวกลาง บางครั้งชุมชนอาจไม่อยากได้อาหารประเภทนั้นแต่ก็ต้องรับไปแจกจ่าย หรือถ้าเอารถมารับก็ต้องจ่ายค่าน้ำมันเอง ถือเป็นกติการ่วมกัน เพราะ SOS Thailand มีแต่อาหารและหัวใจ ทั้งหมดนี้คือการแบ่งปันกัน” แป๊กอธิบาย
ถึงวันนี้รถของ SOS Thailand กว่าสิบคัน พร้อมกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์รักษ์อาหาร ออกปฏิบัติหน้าที่ตลอด 7 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่มีวันหยุด เพื่อเติมความสุข และสร้างความเท่าเทียมทางอาหารให้เกิดขึ้นแก่ผู้รับมากที่สุด
หนึ่งในผลงานที่ทำให้ต๊ะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แน่นอนว่า องค์กรขนาดเล็กที่มีพนักงานเพียงไม่กี่คน คงไม่สามารถช่วยเหลือผู้หิวโหยทั่วประเทศได้ทั้งหมด พวกเขาจึงมุ่งเน้นแจกอาหารให้คนที่จำเป็นที่สุดก่อน
ปัจจุบัน SOS Thailand มีชุมชนผู้รับอาหารในเครือข่ายมากกว่า 3,000 แห่ง ทั้งชุมชนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้เปราะบาง กลุ่มแรงงาน หรือคนที่ไม่มีสิทธิทางสังคม ไปจนถึงผู้ประสบภัยหรืออยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม เกิดสงคราม
“ทุกครั้งที่แจกจ่ายอาหาร เราพยายามให้เกิดความเท่าเทียม ถ้าเป็นชุมชนใหญ่ เราจะให้ทุกคนมาเข้าแถวรับ โดยจะเน้นกระจายอาหารไปให้กลุ่มผู้เปราะบางก่อน แต่ถ้าในกรณีเป็นชุมชนเล็กที่มีคนไม่เยอะ มีผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียง ก็จะใช้วิธีจัดเป็นเซ็ต เพื่อนำไปมอบให้” อีฟเล่า
รถหนึ่งคันของ SOS Thailand จะตระเวนไปรับอาหารส่วนเกินจากผู้บริจาควันละ 30-40 แห่ง ก่อนนำไปส่งมอบให้ 1-2 ชุมชนต่อวัน แต่ละคันจะมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์รักษ์อาหาร 1 คน ทำหน้าที่ตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งขับรถ เดินเข้าไปรับอาหาร และส่งต่อให้ชุมชน บางครั้งอาจมีอาสาสมัครมาช่วยอีก 1 คน
โดยเฉลี่ยแล้ววันหนึ่งพวกเขาได้รับอาหารราว 2-3 ตัน อาหารจำนวนนี้จะถูกแบ่งให้แก่ผู้รับประมาณคนละ 1-3 กิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่สามารถรับประทานได้ราว 3 มื้อ หากคำนวณว่าผู้รับ 1 คน นำไปรับประทานภายในครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน ก็แสดงว่า SOS Thailand อาจช่วยคนได้มากสุดถึงวันละ 3,200 คน
“พวกเราภาคภูมิใจที่อย่างน้อยๆ ช่วยให้เขามีอาหารกินไปหนึ่งมื้อ ให้เขาเอาอาหารนี้ไปสร้างความสุขให้กับครอบครัว นําอาหารที่ใครมองว่าเป็นส่วนเกิน มาเติมความสุขในส่วนที่ขาดหายไป
“ถ้ามองกันเร็วๆ อาหารที่เราบริจาคให้กับชุมชน อาจลดค่าใช้จ่ายไปได้สัก 10-20 บาทต่อมื้อต่อวัน ดูแล้วก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่รู้หรือไม่ว่าบางคนอาจเอาเงินส่วนนี้ไปเป็นค่าขนมของลูก ไปเป็นค่ารถ ค่ารักษาพยาบาล ก็ทำให้เขาเข้าถึงโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้น” แป๊กอธิบาย
นอกเหนือจากการเก็บกู้อาหารส่วนเกินในทุกๆ วันแล้ว มูลนิธิ SOS Thailand ยังทำงานร่วมกับทีมอาสาและทีมงานภาคส่วนต่างๆ เพื่อขยายขีดจำกัดการจัดการอาหารและส่งต่อความช่วยเหลือไปให้ไกลขึ้น หนึ่งในนั้นคือ การจัดตั้ง ‘ครัวรักษ์อาหาร’ ตั้งแต่ในช่วงวิกฤตโรคระบาด ซึ่งในเวลานั้นหลายครอบครัวถูกกักตัว ออกไปไหนไม่ได้ จึงไม่สามารถทำอาหารเองได้ โครงการนี้ก็เลยเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือ
ไอเดียหลักๆ ของครัวรักษ์อาหาร คือ การทำงานร่วมกับอาสาสมัครแม่ครัวในชุมชน เพื่อปรุงวัตถุดิบส่วนเกินให้เป็นอาหารจานใหม่ ก่อนนำไปแจกจ่ายให้ผู้คนในละแวกนั้นได้อิ่มอร่อยกับอาหารที่ทำเสร็จร้อนๆ สะอาดปลอดภัย และมีคุณค่าโภชนาการมากขึ้น
“อาหารที่เราไปรับ ไม่ได้มีแค่อาหารปรุงสุกอย่างเดียว เพราะมีทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ไข่ ดังนั้น การมีครัวรักษ์อาหารเกิดขึ้น คือการปลุกชีพอาหารเหล่านี้ขึ้นมากลายเป็นเมนูใหม่ๆ มันคืออีกขั้นหนึ่งของการส่งต่ออาหาร เพราะเราได้มาทำสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมร่วมกัน” อีฟกล่าว
โครงการครัวรักษ์อาหาร เริ่มจากชุมชนนางเลิ้งที่อยู่ใกล้กับสำนักงานของ SOS Thailand แล้วขยายไปอีกหลายชุมชนในเขตบางพลัด บางบอน บางขุนเทียน บางกอกน้อย คันนายาว ฯลฯ จนปัจจุบันมีครัวชุมชนทั้งหมด 22 แห่งทั่วกรุงเทพฯ
ชุมชนที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีแม่ครัว มีพื้นที่ในการรับอาหาร มีอุปกรณ์เครื่องครัวที่สามารถจัดการวัตถุดิบที่มีให้อย่างจํากัดมาปรุงเป็นอาหารแต่ละมื้อได้ ที่สำคัญคือ มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนว่าทําแล้วจะนำไปแจกใคร
นอกจากการทำงานที่เชื่อมโยงกับชุมชนแล้ว SOS Thailand ยังมีโครงการเฉพาะกิจที่จัดขึ้นนอกเหนือจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ปกติ เช่น โครงการรักษ์อาหารสู่พื้นที่ห่างไกล โดยเดินทางไปส่งต่ออาหารที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้แก่ผู้อาศัยในพื้นที่ทุรกันดาร กลุ่มชาติพันธุ์ หรือคนชายขอบ ซึ่งทีมงานจะไปร่วมกันทำอาหารที่คนในชุมชนนั้นๆ ไม่มีโอกาสได้รับประทานในชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้รับต่างมีความสุขกันมาก หรือโครงการรักษ์มื้ออาหารโรงเรียน ส่งต่ออาหารกลางวันเพื่อสุขภาพสำหรับนักเรียนที่ด้อยโอกาส เป็นต้น
ตลอดการทำงานหลายปีของ SOS Thailand เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าประทับใจมากมาย โดยเฉพาะการได้เห็นผู้รับอาหารมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลายคนเคยขาดแคลนอาหารจนเจ็บป่วย แต่หลังจากได้รับอาหารส่วนเกินก็มีสุขภาพแข็งแรงทั้งครอบครัว รวมไปถึงได้เห็นการพึ่งพากันภายในชุมชน และชุมชนที่เปลี่ยนตัวเองจากผู้รับเป็นผู้ให้
“เป้าหมายของพวกเราคือ ไม่ต้องการส่งต่ออาหารให้เขาไปตลอด แต่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้คนที่รับอาหาร เมื่อพวกเขารอดวิกฤต หรือหลุดพ้นจากความหิวโหยแล้ว ก็อยากให้เกิดการส่งต่อ ยกตัวอย่างเช่น วันนี้มีหลายชุมชนที่ผันตัวเองมาทำครัวรักษ์อาหาร หรือเป็นศูนย์ประสานงานในการส่งต่ออาหาร ช่วยเหลือคนอื่นต่อไป เราภูมิใจที่มีคนแบบนี้เกิดขึ้นมากมายในระหว่างการทำงาน” แป๊กอธิบาย
ตัวอย่างคนหนึ่งที่ทีมงานชื่นชมคือ คุณป้าวัยเกษียณที่ตำบลบางสีทอง จังหวัดนนทบุรี จากที่เคยมารับอาหารส่วนเกิน พอความเป็นอยู่ดีขึ้นแล้วก็ลุกขึ้นมาเปิดครัวที่บ้าน ปรุงอาหารให้เด็กๆ ที่พ่อแม่ไปทํางานดึก เด็กๆ หิวข้าวก็จะเดินมาหาป้าว่าวันนี้มีอะไรกินบ้าง นับเป็นการดูแลกันเองที่น่ารักภายในชุมชน
อีกแห่งหนึ่งคือ ชุมชนบางบอน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยรับอาหารเพียงอย่างเดียว แต่วันนี้พวกเขารวมตัวกันเปิดครัวกลาง และตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ออมเงินกันวันละบาท มาช่วยสนับสนุนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าบริหารจัดการ โดยนำวัตถุดิบที่ได้รับบริจาคจาก SOS Thailand มาปรุงอาหาร แจกจ่ายกันในละแวกบ้าน และยังส่งให้กับชุมชนอื่นอีกด้วย
“การทําครัวชุมชน ก็ทําให้คนไม่รู้จักกันหรือคนข้างบ้านที่ไม่ค่อยได้คุยกัน ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาชุมชนในอีกทางหนึ่ง” แป๊กกล่าวถึงผลลัพธ์ทางอ้อมของโครงการครัวรักษ์อาหาร
เรื่องราวเหล่านี้ช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่า อาหารที่ถูกมองเป็นส่วนเกิน ยังมีคุณค่ามากมายกับคนอีกมหาศาล นำไปสู่การลดค่าใช้จ่าย สร้างสุขภาพที่ดี รวมทั้งช่วยปลุกพลังแห่งความร่วมมือ พลังแห่งการแบ่งปัน ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย
พวกเราภาคภูมิใจที่อย่างน้อยๆ ช่วยให้เขามีอาหารกินไปหนึ่งมื้อ ให้เขาเอาอาหารนี้ไปสร้างความสุขให้กับครอบครัว นําอาหารที่ใครมองว่าเป็นส่วนเกิน มาเติมความสุขในส่วนที่ขาดหายไป
ปัจจุบันนี้ SOS Thailand เปิดดำเนินการทั้งหมด 4 สาขา ได้แก่ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสาขาหลัก สาขาเชียงใหม่ ภูเก็ต และหัวหิน ขณะเดียวกันก็ขยายไปที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในอนาคตพวกเขามีแผนจะขยายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“จะเห็นว่า มูลนิธิเน้นขยายสาขาไปตามหัวเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเรื่องอาหารก่อน ซึ่งการทำงานแต่ละแห่ง จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ แต่อยู่ภายใต้มาตรฐานและเป้าหมายเดียวกัน คือ ส่งต่ออาหารส่วนเกินให้ถึงกลุ่มผู้ขาดแคลน” แป๊กอธิบาย
ถ้าวัดในเชิงตัวเลขทางสถิติ ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงไตรมาสแรกของปี 2567 พวกเขากอบกู้อาหารส่วนเกินไปแล้วกว่า 8.1 ล้านตัน หรือคิดเป็นประมาณ 34 ล้านมื้อ โดยมีกลุ่มผู้รับทั้งสิ้นราว 3,200 ชุมชน มีประชากรที่รับอาหารประมาณ 3 ล้านคน
แต่หากมองในเชิงผลกระทบต่อสังคม SOS Thailand ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนมุมมองจนทำให้หลายภาคส่วนหันมาเห็นความสำคัญของการบริจาคอาหารส่วนเกิน จากวันแรกที่มีผู้บริจาคไม่กี่ราย ถึงวันนี้พวกเขามีผู้บริจาคในเครือข่ายมากกว่า 1,000 รายแล้ว
การสื่อสารเรื่องอาหารส่วนเกินอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงปัญหามากขึ้น มีคนทั่วไปและนักเรียนนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครสนับสนุนงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์รักษ์อาหาร รวมทั้งเกิดความเข้าใจว่าการกินอาหารเหลือทิ้งจำนวนมากสร้างผลกระทบอย่างไรต่อโลกใบนี้ และทางมูลนิธิเองก็ยังมีโครงการที่เปิดให้หน่วยงานที่สนใจ สามารถเข้ามาร่วมทำกิจกรรมครัวรักษ์อาหาร ทั้งช่วยกันทำครัว แจกอาหารในชุมชน เพื่อให้คนภายนอกได้มาสัมผัสการส่งต่ออาหารที่ดีด้วยตนเอง
ขณะที่ในมิติของสิ่งแวดล้อม อาหารกว่า 8.1 ล้านตันที่ได้รับการกู้ชีพก่อนไปสู่บ่อฝังกลบ ก็ช่วยลดการเกิดมลภาวะและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
ผลลัพธ์ในเชิงเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ไม่เพียงประเทศลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะอาหาร แต่คนเล็กคนน้อยก็ได้ลดค่าใช้จ่ายในการครองชีพ และนำเงินที่เคยจ่ายค่าอาหารไปใช้จ่ายกับสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นต่อชีวิต ทั้งหมดนี้มีส่วนทำให้ช่องว่างของความไม่เท่าเทียมทางอาหารลดน้อยลงไปได้บ้าง
“สิ่งที่เป็นของขวัญในการทำงานของเรา คือคำขอบคุณ รอยยิ้มจากคนในชุมชน 1 มื้อที่เขาอิ่มท้องคือ 1 ความสุขที่เราได้รับ และอยากลุกขึ้นไปรับอาหารทุกวัน เพื่อปกป้องให้อาหารเหล่านั้นยังคงเป็นมื้ออาหาร ที่ช่วยให้ผู้รับมีชีวิตรอดต่อไปอีก 1 มื้อ
“แต่เราก็เป็นแค่คนตัวเล็กๆ กลุ่มหนึ่งเท่านั้น ที่เติบโตมาถึงวันนี้ได้เพราะการช่วยเหลือกันตั้งแต่ผู้บริจาค ผู้รับ อาสาสมัครในชุมชน ไปจนถึงหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” แป๊กกล่าว
เพราะรู้ว่าความสำเร็จคงเกิดขึ้นไม่ได้หากขับเคลื่อนเพียงลำพัง SOS Thailand จึงมุ่งหน้าขยายการทำงานโดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ในการสร้างระบบการจัดการอาหารส่วนเกินในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น
ที่ผ่านมา พวกเขาร่วมกับกรุงเทพมหานครจัดทำโครงการ BKK Food Bank เพื่อสร้างระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางในเมืองหลวง โดยนำร่องใน 10 เขต และไม่นานมานี้ก็ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. รวมทั้งพันธมิตรอื่นๆ จัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย – Thailand’s Food Bank ซึ่งจะทำให้ระบบบริหารจัดการอาหารส่วนเกินขยายพื้นที่ไปทั่วประเทศ นำร่องที่จังหวัดนครสวรรค์และขอนแก่น โดยตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่อีก 10 จังหวัด ภายในปี 2569
ในส่วนของมูลนิธิเอง ตั้งเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนที่จะกอบกู้อาหารส่วนเกินให้ได้ถึง 40 ล้านมื้อ หรือประมาณ 10 ล้านตัน ให้สำเร็จภายในปี 2568
อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาหวังให้เกิด คือภาครัฐปรับเปลี่ยนนโยบายให้การบริจาคอาหารส่วนเกิน สามารถมีสิทธิทางภาษีเทียบเท่ากับการบริจาคเงิน ซึ่งจะจูงใจให้เกิดการส่งต่ออาหารมากยิ่งขึ้น และทำให้ทรัพยากรถูกนำไปจัดการอย่างคุ้มค่าที่สุด
“ประเทศไทยไม่ได้ขาดแหล่งวัตถุดิบ แต่เราอาจเข้าถึงอาหารที่ดีได้ไม่ทั่วถึงทุกคน ทั้งหมดทั้งมวลที่พวกเราอยากให้เกิดคือความยั่งยืนของอาหาร หมายถึงมีอาหารเพียงพอในการดํารงชีวิต ทุกคนเข้าถึงอาหารที่ดีได้ในราคาที่เขาจ่ายได้ และทำให้คนไทยมีโภชนาการที่สมดุล มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง” เจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชนอาวุโสย้ำถึงภาพที่ SOS Thailand อยากเห็นในอนาคต
ทั้งหมดนี้คือการทำงานขององค์กรเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่มุ่งมั่นขจัดความหิวโหย และสร้างความเท่าเทียมทางอาหารให้เกิดขึ้นกับทุกคนอย่างแท้จริง
ปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 15 ชุมชนหรือเครือข่ายที่รวมพลังกันทำงานเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ThaiWhales คือเครือข่ายชุมชนต้นแบบประเด็นสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุม เท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDGs ข้อที่ 4), ประเด็นอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 14) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)
จากกลุ่มรณรงค์ในโลกออนไลน์ที่คัดค้านการตัดต้านต้นไม้เก่าแก่เพื่อสร้างคอนโด สู่นักขับเคลื่อนที่ปลุกกระแสการรักษ์ไม้ใหญ่ในเมือง
นักธุรกิจเพื่อสังคมรุ่นใหม่ที่ทำงานเรื่องคนพิการ ผู้ก่อตั้ง ‘กล่องดินสอ’ ที่สร้างสรรค์กิจกรรมและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
คู่รักนักเพศวิทยาที่ตัดสินใจเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้มาพูดคุยเรื่องเพศของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา พร้อมเป็นสื่อกลางถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเพศที่เหมาะสมต่อสาธารณชน
โค้ชหนุ่ม Money Coach เบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย ผู้แปลหนังสือ พ่อรวยสอนลูก ที่คอยเป็นที่ปรึกษาการแก้หนี้ และวางแผนการใช้เงินให้แก่ผู้คน
ครูผู้สร้างโรงเรียนพอดี พอดี โรงเรียนเพื่อเด็กพิเศษ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมเยาวชนโต๊ะโตะจัง
ฟาร์มสเตย์จากโคราชที่ก่อตั้งโดยกลุ่มพิการ ซึ่งพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นถึงศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ด้วยการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวที่พร้อมรองรับทุกคน
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.