เชื่อว่าคนไทยร้อยทั้งร้อย คงเคยได้ยินคำว่า ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ เพราะเมืองไทยเป็นดินแดนเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ ทำนา ทำสวน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ กันเรื่อยมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ
น่าแปลกที่ทุกวันนี้ราคาวัตถุดิบก็ต่างพุ่งสูงจนน่าใจหาย ทั้งหมูแพง ไก่แพง ไข่แพง มะนาวแพง ไปจนถึงผักแพง แถมหลายอย่างยังปนเปื้อนสารเคมี ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และเป็นอันตรายต่อชีวิตอีกต่างหาก จนผู้เชี่ยวชาญหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า บ้านเรากำลังจะเผชิญกับวิกฤตทางอาหารในอีกไม่ช้า
แต่ถึงจะมีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้น ผู้คนจำนวนไม่น้อยกลับมองไม่เห็นปัญหา บางครั้งอาจเป็นเพราะความรู้ที่มีอยู่จำกัด บวกกับไม่ทราบว่าจะหาอาหารปลอดภัยรับประทานได้อย่างไร
นี่เองที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เครือข่ายนักวิชาการ เกษตรกร และองค์กรพัฒนาเอกชน รวมกลุ่มกันตั้ง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เพื่อหวังให้เป็นทัพหน้าในการถ่ายทอดข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี แม้จะขัดกับสิ่งที่ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ หลายคนทำมาก็ตาม
ที่มากกว่านั้น พวกเขายังเป็นกลุ่มที่บุกเบิกแนวคิดใหม่ๆ สู่สังคมไทย เช่น ตลาดสีเขียว ท่ามกลางยุคที่คนไทยเกือบทั้งประเทศยังไม่รู้จักอาหารออร์แกนิกเลยด้วยซ้ำ หรือแม้แต่การสร้างทัศนคติว่า คนเมืองหรือใครๆ ก็ปลูกผักกินเองได้ จนเกิดเป็นโมเดล ‘สวนผักคนเมือง’ ซึ่งชวนชาวกรุงมารวมกลุ่มในชุมชน ปลูกผักด้วยกัน จนกลายเป็นแหล่งอาหารสำรองอย่างดีในยุคที่เมืองไทยเกิดวิกฤตโรคระบาด
จากการทำงานอันยาวนานของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงถือโอกาสนี้ชักชวนสองแกนหลัก อย่าง ภา–สุภา ใยเมือง และแป้น–ทัศนีย์ วีระกันต์ มาร่วมพูดคุยถึงเส้นทางการขับเคลื่อนงานที่เต็มไปด้วยความท้าทาย รวมถึงความฝันที่อยากเห็นเมืองไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่ปลอดภัยและพึ่งพาได้อย่างแท้จริง
เบื้องหลังที่ทำให้เมืองไทยในอดีตมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ เพราะคนสมัยก่อนไม่ได้ปลูกพืชเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในแปลงหนึ่งมักประกอบด้วยผลผลิตหลากหลาย เช่น บางคนปลูกข้าวด้วย เลี้ยงปลาไปด้วย ปลูกผักสวนครัว ปลูกผลไม้ ที่ดินผืนเดียวมีของให้กินมากมาย แถมยังไม่ต้องใช้สารเคมี เพราะเป็นการปลูกตามฤดูกาล บวกกับยังเป็นพันธุ์พื้นบ้านที่ทนต่อโรคและแมลงอีกด้วย
แต่เมื่อบ้านเมืองของเราก้าวสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ แนวคิดการปลูกเพื่อกินเอง ส่วนที่เหลือนำมาจำหน่ายก็ค่อยๆ จางหายไป กลายเป็นปลูกเพื่อขายเพียงอย่างเดียว ไร่นาเรือกสวนที่เคยเต็มไปด้วยความหลากหลายจึงสูญสลายไปกลายเป็นพืชเชิงเดี่ยว เพราะใครๆ ก็อยากปลูกพืชชนิดนั้นให้ได้ปริมาณมากที่สุด เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นตลาดรับซื้อขนาดใหญ่
ผลพวงจากวิถีเกษตรที่ไม่เหมือนเดิม ส่งผลต่อผลผลิตที่เกิดขึ้น หลายบ้านต้องใช้สารเคมีปริมาณมหาศาล เพื่อช่วยให้มีสินค้าจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี แถมคนที่ยังยึดถือการทำเกษตรแบบเก่า ก็มักถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด ทำไปเพื่ออะไร และสุดท้ายจะไปขายให้ใคร
แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือ จากเดิมที่คิดว่า ผลิตของได้เยอะ จะทำให้เกษตรกรกลายเป็นเศรษฐี แต่ทำไปทำมากลับยากจนลง เพราะต้องนำเงินไปหมุนเวียน ซื้อเมล็ดพันธุ์ ซื้อปุ๋ยเคมี ซื้อยากำจัดศัตรูพืช จนบางรายต้องกู้หนี้ยืมสิน และบ่อยครั้งยังต้องรับมือกับคนกลางที่คอยกดราคาสินค้าอีก กลายเป็นวงจรที่ทำให้กระดูกสันหลังของชาติไม่อาจลืมตาอ้าปากได้
ด้วยเหตุนี้ ในปี 2532 บรรดานักพัฒนา นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวที่สนใจเรื่องเกษตรกรรม และการพัฒนาชนบท จึงรวมตัวกันเป็น ‘เครือข่ายเกษตรทางเลือก’ ด้วยความตั้งใจที่อยากนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนได้มากกว่าที่เป็นอยู่
พอดีในช่วงนั้นพวกเขาได้รู้จักกับ พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย ชาวนาจากบ้านตระแบก ตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
พ่อมหาอยู่ไม่เหมือนชาวนาคนอื่น ที่มักปลูกข้าวอย่างเดียว และปลูกต้นไม้อื่นแซมเข้าไปบ้าง แต่เขากลับเนรมิตพื้นที่กว่า 20 ไร่ ให้เป็นแปลงเกษตรผสมผสาน โดยนำระบบสวนยกร่อง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการเกษตรภาคกลางเข้ามาประยุกต์ใช้ มีการยกระดับคันดินให้เป็นร่องสำหรับน้ำผ่าน จากนั้นก็เลี้ยงสารพัดปลา ทั้งปลาตะเพียน ปลานิล ปลาไน รวมทั้งปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น รวมถึงเลี้ยงเป็ด เลี้ยงหมู
เพราะฉะนั้นถึงปริมาณข้าวของพ่อมหาอยู่อาจไม่เท่ากับชาวนาคนอื่น แต่สิ่งที่ได้กลับมาแทนที่ก็คือ ผัก ผลไม้ ปลา ไข่ไก่ เนื้อหมู ซึ่งสามารถนำไปขาย สร้างรายได้ไม่แพ้กัน ที่สำคัญสภาพดินก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยแร่ธาตุ จนไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชเลย จึงอาจกล่าวได้ว่า พ่อมหาอยู่สามารถดำรงชีวิตอย่างสุขสบาย โดยไม่จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินให้ปวดหัว
นอกจากพ่อมหาอยู่แล้ว เมื่อพวกเขาเดินสายไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ก็ได้เจอกับโมเดลเกษตรใหม่ๆ ที่แตกต่างและน่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น ภาคใต้มีภูมิปัญญาที่เรียกว่า สวนสมรม คือ การปลูกพืชหลายชนิดในแปลงเดียวกัน หรือบางรายก็ปลูกยางผสมกับไม้ผล ซึ่งสุดท้ายได้ผลผลิตที่ดีเกินคาด หรือดีไม่ดีอาจมากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะเกิดระบบนิเวศที่คอยเกื้อกูล ดูแลซึ่งกันและกัน
“ความจริงคนสมัยก่อนเขาจะมีภูมิปัญญาแบบนี้ คือปลูกตามนิเวศ ปลูกผสม เช่น ถ้าปลูกทุเรียน ก็ต้องปลูกทองหลางคู่กัน ไม่อย่างนั้นไม่รอด แต่ตอนหลังรัฐส่งเสริมการปลูกเชิงเดี่ยว เพราะเชื่อว่าถ้าปลูกหลายอย่าง ผลผลิตจะไม่ดี แต่ความจริงแล้วพืชอยู่ร่วมกันได้ มันไม่ได้แย่งอาหารกัน เพราะระดับความลึกของรากนั้นแตกต่างกัน” ภาฉายภาพ
เพื่อขยายความรู้เหล่านี้ไปได้ไกลที่สุด เครือข่ายเกษตรทางเลือกจึงนำกรณีศึกษาจากทุกภูมิภาคมาพูดคุยในเวทีเดียวกัน พร้อมกับชักชวนชาวบ้านมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์
แม้อาจจะยังไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง แต่มุมหนึ่งก็ทำให้เกษตรกรรับรู้ว่าตัวเองมีทางเลือก หลายคนที่ลองไปทำตามก็มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น หนี้สินลดลง เริ่มมีเงินเก็บ ปัญหาสุขภาพที่มาจากสารเคมีก็ค่อยๆ บรรเทาลง
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคหนึ่งที่ทำให้แนวคิดเหล่านี้ยังคงเป็นทางเลือก ไม่สามารถแซงหน้าเป็นทางหลักได้สักที ส่วนหนึ่งก็มาจากความเชื่อที่ว่า ทำไปแล้วจะไปขายใคร หรือไม่ก็ลงทุนเยอะกว่า แต่สุดท้ายพอจะขายก็ไม่เห็นว่าต่างจากสินค้าที่ปลูกแบบทั่วไปเลย
พอดีในช่วงปี 2536 เริ่มมีการส่งออกข้าวไปต่างประเทศ โดยกลุ่มชาวนาที่สุรินทร์ และมีสหกรณ์กรีนเนทช่วยดำเนินการ แน่นอนแม้คนไทยในเวลานั้นจะยังมองไม่เห็นความสำคัญ แต่เครือข่ายเกษตรทางเลือกก็คิดว่า คงจะดีกว่า หากสินค้าคุณภาพได้มีช่องทางจำหน่าย พวกเขาจึงจับมือกับ ดร.ชมชวน บุญระหงษ์ นักวิชาการที่สนใจเรื่องตลาดทางเลือก ร่วมกันเปิด ‘ตลาดอิ่มบุญ’ ที่ตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ จำหน่ายพืชผักผลไม้ที่ปราศจากสารเคมีทุกขั้นตอนการผลิต ถือเป็นตลาดสีเขียวแห่งแรกๆ ของเมืองไทยเลยก็ว่าได้
“ตอนนั้นชมชวนทำวิจัยเรื่องตลาดหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งระบบที่เกษตรกรส่งของตรงถึงหน้าบ้าน เหมือนที่เราสั่งออนไลน์ทุกวันนี้ เขาก็เลยคิดว่า ชาวบ้านปลูกกันอย่างดี ไม่มีสารเคมี แต่ไปขายตลาดทั่วไป ราคาก็แบบทั่วไป อยู่ได้บ้างไม่ได้บ้าง ชมชวนก็เลยนำโมเดลนี้ไปทดลองทำหน้าสำนักงานที่เขาเช่าอยู่ โดยที่เรียกว่า ‘อิ่มบุญ’ เพราะหมู่บ้านนั้นชื่ออิ่มบุญ จากนั้นก็ย้ายไปอีกหลายที่ ค่อยๆ เติบโตเรื่อยมา จนปัจจุบันกลายเป็นข่วงเกษตรอินทรีย์ เชียงใหม่” ภาเล่าต่อ
เมื่อโมเดลแรกที่เชียงใหม่เห็นผล พวกเขาก็เริ่มต่อยอดไปสู่จังหวัดอื่นๆ ทั้ง สุรินทร์ ยโสธร มหาสารคาม ขอนแก่น ซึ่งบางพื้นที่ก็ได้เสียงตอบรับที่ดี แต่สำหรับบางจุด เช่น กรุงเทพฯ ซึ่งมีชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน ได้ใช้พื้นที่บ้านครูองุ่น มาลิกที่ซอยทองหล่อเปิดร้าน แต่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งเข้าใจได้ว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้คนในยุคนั้นยังไม่ตระหนักว่าทำไมถึงควรรับประทานอาหารที่ปลอดสารเคมี
นอกจากนี้ พวกเขายังได้เชื้อเชิญสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ IFOAM มาให้ความรู้เรื่องมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับสากล โดยองค์ความรู้เหล่านี้ได้กลายมาเป็นตัวช่วยอย่างดีให้เกษตรกรสามารถจัดการและบริหารพื้นที่ของตัวเองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทว่าในปี 2541 ทีมงานต่างเล็งเห็นว่า การขับเคลื่อนในรูปแบบเครือข่าย อาจจะยังไม่หนักแน่นเพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นแก่คนทั่วไป จึงมองถึงการก่อตั้งองค์กรอย่างเป็นทางการ จนเกิดเป็น ‘มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)’ โดยเชิญ ศ.ระพี สาคริก ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่คนในแวดวงเกษตรกรรมให้การนับถือ มาเป็นประธานมูลนิธิฯ ก่อนจะส่งต่อให้ รศ.บำเพ็ญ เขียวหวาน รับไม้ต่อจนถึงปัจจุบัน
ในเวลานั้น มูลนิธิฯ วางหน้าที่หลักของตัวเอง คือการนำความรู้และภูมิปัญญาจากชาวบ้านเข้ามาสังเคราะห์และถอดบทเรียน เพื่อนำมาต่อยอดหรือเป็นฐานความรู้เพื่อขยายไปสู่สาธารณชน รวมทั้งส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง และสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรต่างๆ ในชุมชน
“เราพยายามทำงานเชิงนโยบายมากขึ้น เพราะมองว่าเกษตรกรหลายคนไม่อาจกำหนดชีวิตตัวเองได้ว่า อยากปลูกพืชแบบนี้ อยากใช้ชีวิตอย่างนี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับรัฐหรือนายทุนหมดว่าอยากให้ทำอะไร เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจึงร่วมกับสมัชชาคนจน ชุมนุมหน้าทำเนียบ 99 วัน บวกกับเวลานั้นมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ซึ่งมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และหนึ่งในเรื่องที่ถูกบรรจุลงไปก็คือ ข้อเสนอจากเกษตรกรในหลายภูมิภาคเรื่องเกษตรทางเลือกหรือเกษตรยั่งยืน ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านเริ่มตื่นตัว อยากพัฒนาพื้นที่ของตัวเองให้ดีขึ้น” แป้นอธิบาย
หลังจากนั้น มูลนิธิฯ ก็เริ่มลงพื้นที่เพื่อทำโครงการนำร่อง โดยหยิบเอาโมเดลทางการเกษตรแบบผสมผสานที่สั่งสมมา ทั้งระบบสวนยกร่อง สวนสมรม รวมถึงเทคนิคและงานวิจัยต่างๆ เช่น การจัดการน้ำ วิธีปรุงดินให้ได้คุณภาพโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี เข้ามาปรับใช้กับพื้นที่ต่างๆ รวม 19 แห่งทั่วประเทศ เรียกว่า ‘ภูมินิเวศ’ มาจากคำว่า ภูมิประเทศบวกกับระบบนิเวศ
“เราต้องคลำอยู่พักใหญ่เลย เพราะหลายอย่างดูเหมือนง่าย แต่ทำยากมาก เช่นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ซึ่งแต่เดิมต้องทำจากที่หนึ่งแล้วขนไปไว้อีกที่ เราก็ต้องทดลองเรียนรู้ หาเทคนิคเล็กๆ เพื่อย่นระยะเวลา จนได้วิธีการที่ลงตัว หรืออย่างเรื่องปุ๋ยพืชสดในภาคอีสาน เราก็ทดลองด้วยการปลูกถั่ว ปลูกผักในที่นาหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว จากนั้นก็ไถกลบ ซึ่งถั่วหรือผักเหล่านั้นก็จะกลายเป็นอินทรียวัตถุให้กับดิน ทำให้เกิดความสมดุลตามมา” ภาช่วยเสริมบ้าง
ผลจากการทำโครงการต่อเนื่อง 4-5 ปี พบว่าหลายพื้นที่เริ่มมีพัฒนาการในทิศทางที่ดีขึ้น เกษตรกรสามารถลดปัญหาหนี้สิน และพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น กลายเป็นภูมิปัญญาการทำกินที่ต่อยอดได้ไม่รู้จบ ไม่เพียงแค่นั้น ภาครัฐเองก็นำบางส่วนขององค์ความรู้ไปสร้างเป็นโมเดล อย่าง ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน และศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล เพื่อแนะนำเทคนิคและวิธีการใหม่ๆ เกี่ยวกับการทำเกษตรอย่างไรให้ยั่งยืน และปลอดภัยแก่ชาวบ้าน
แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงก้าวแรกของเกษตรยั่งยืน เพราะเป็นการทำงานเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตอย่างเกษตรกรเท่านั้น ยังไม่แตะเข้าไปถึงผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้ห่วงโซ่ของระบบสมบูรณ์ และนั่นเองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ขยายปีกการทำงาน เพื่อปักหลักแนวคิดเรื่องความมั่นคงของอาหารในเมืองไทยให้ได้
‘มีอะไรก็กินๆ ไป’ อาจจะเป็นสิ่งที่คนไทยหลายคนคุ้นเคย แต่บางคนอาจไม่เคยตั้งคำถามมาก่อนว่า สิ่งที่นำเข้าปากไปนั้น จะมีอันตรายแฝงอยู่ไหม
ความจริงแล้วความปลอดภัยทางอาหาร ถือเป็นประเด็นที่สังคมไทยเพิ่งหันมาสนใจจริงจังไม่นานนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะช่วงนั้นหลายคนยังไม่เข้าใจว่า สารเคมีที่ตกค้างอยู่ในพืชผักต่างๆ นั้นน่ากลัวอย่างไร จนกระทั่งถึงวันที่จำนวนผู้ป่วยมะเร็งแซงหน้าโรคอื่นๆ ทำให้ผู้คนเริ่มหันมาหาต้นตอ บวกกับเริ่มมีข้อมูลเชิงประจักษ์จากแพทย์และนักวิชาการว่า สารพิษไม่ใช่เรื่องที่คิดกันไปเอง ทำให้หลายคนหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค
หากแต่เรื่องความปลอดภัยนั้นเป็นขาหนึ่งของแนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารเท่านั้น เพราะองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO เคยให้นิยามเกี่ยวกับองค์ประกอบของเรื่องนี้ไว้ 4 อย่าง คือ ต้องมีอาหารเพียงพอ ทุกคนเข้าถึงได้ อาหารต้องมีประโยชน์และถูกสุขลักษณะ รวมทั้งไม่มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนต่อให้เจอวิกฤตใดๆ ก็ตาม
ทว่าพอหันมาดูเมืองไทยแล้ว หลายคนอาจตั้งคำถามว่า เมื่อบ้านเราอุดมสมบูรณ์ถึงขนาดนี้ แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่จะเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางอาหาร
มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) จึงเริ่มต้นผลิตเครื่องมือหนึ่งที่เรียกว่า ‘ตัวชี้วัดความมั่นคงทางอาหาร’ ทั้งในระดับประเทศ และระดับชุมชน โดยนำชุมชนต่างๆ ในจังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดนครปฐม รวมถึงพื้นที่เกษตรในภาคอีสาน และชุมชนประมงพื้นบ้านในภาคใต้ มาเป็นกรณีศึกษาว่าแต่ละพื้นที่มีรูปแบบหรือวิธีทำเกษตรอย่างไร และผลลัพธ์ที่ได้นั้นเป็นอย่างไร
ผลการศึกษาพบว่า หลายพื้นที่ในเมืองไทยยังมีปัญหาเข้าไม่ถึงอาหารอีกมาก เนื่องจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่งผลให้เกษตรกรต้องซื้ออาหารทุกอย่างมารับประทาน แทนที่จะซื้อหาเฉพาะอาหารที่ตนเองผลิตไม่ได้เพียงอย่างเดียว ขณะที่ชุมชนที่มีการแลกเปลี่ยนอาหารและช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้นก็พอมีอยู่บ้าง แต่สัดส่วนของอาหารที่ได้ก็ถือว่าไม่มากนัก
โจทย์ใหญ่ที่มูลนิธิฯ อยากไปให้ถึง คือ การกระจายความรู้เรื่องอาหารแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยเริ่มตั้งแต่เรื่องเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งถือเป็นหัวใจของอาหารทั้งหมด
พอดีก่อนหน้านั้นเมืองไทยเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือ WTO จนทำให้เกิดประเด็นเรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืชขึ้น นำมาสู่การตรากฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อคุ้มครองทั้งพันธุ์พืชท้องถิ่น และพันธุ์พืชใหม่ มูลนิธิฯ จึงจับมือกับมูลนิธิชีววิถี หรือ BioThai ออกสำรวจและเก็บข้อมูลเรื่องนี้ทั่วประเทศ แล้วก็พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ในการถือครองของตัวเองอยู่น้อยมาก แม้แต่สายพันธุ์ท้องถิ่นซึ่งปลูกกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษก็ยังถูกแย่งไปจดทะเบียน
เพราะฉะนั้น เพื่อรักษาเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นให้คงอยู่กับชุมชนต่อไป ทั้งสองมูลนิธิจึงเข้าไปสนับสนุนให้ชาวบ้านช่วยกันค้นคว้า ทำวิจัย พัฒนาสายพันธุ์ของตัวเอง ซึ่งปรากฏว่า เกิดการรื้อฟื้นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่เกือบสูญหายไปแล้วนับร้อยสายพันธุ์ กลายเป็นสมบัติสาธารณะที่ทุกคนใช้ประโยชน์ได้
ไม่เพียงแค่นั้น มูลนิธิฯ ยังร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก รับอาสาเป็นตัวกลาง จัดเวทีแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์เป็นประจำทุกปี เพื่อให้ชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ มีบทบาทในการขยายสายพันธุ์เหล่านี้ และยังนับว่าเป็นการปกป้องทรัพยากรของชาติให้คงอยู่สืบไปด้วย
“พันธุกรรมที่หลากหลายถือเป็นต้นทุนสำคัญในภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับ Climate Change เพราะข้าวบางสายพันธุ์ทนความร้อนได้ 30 องศาเซลเซียส แต่พอขึ้น 40 ก็ไม่ออกรวงแล้ว ดังนั้นจึงต้องหาพันธุ์ข้าวใหม่ที่ทนต่อสภาพอากาศ ทนต่อระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป โดยเราก็จะรับหน้าที่คอยประสานกับนักวิชาการเพื่อหาว่าเกษตรกรสามารถปลูกสายพันธุ์อะไรได้บ้างถึงจะเหมาะสม เพื่อที่เขาจะมีชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้น” ภาย้ำภาพการทำงาน
แต่แน่นอนว่า ความพยายามทั้งหมดคงไม่มีประโยชน์เลย หากไม่ถูกขยายต่อไปสู่วงกว้าง ดังนั้นนับตั้งแต่ปี 2550 มูลนิธิฯ จึงเข้าไปร่วมจัดนิทรรศการในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยหยิบยกเอานวัตกรรม องค์ความรู้ที่สั่งสมมานานกว่า 2 ทศวรรษมานำเสนอ ที่ถือว่าโดดเด่นมากที่สุด คือ การนำข้าวกว่าร้อยสายพันธุ์มาจัดแสดง เพื่อให้คนไทยได้รู้ว่า นอกจากข้าวหอมมะลิ ข้าวเสาไห้ และข้าวหอมปทุมแล้ว เรายังมีข้าวอีกมากมายที่โดดเด่นและอร่อยไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นข้าวสังข์หยด ข้าวเล็บนก ข้าวเข็มทอง และอื่นๆ อีกมากมาย แถมยังเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ลองชิมอีกต่างหาก
บางปีพวกเขาก็หยิบเรื่องผักขึ้นมา เพราะคนไทยเองก็กินผักไม่กี่ประเภท หลักๆ คือ กะเพรา ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ผักบุ้ง วนเวียนอยู่อย่างนี้ ซึ่งแม้ใครต่อใครจะบอกว่า กินผักแล้วดี มีประโยชน์ แต่การรับประทานแต่ผักเพียงไม่กี่ชนิดก็เป็นปัญหาได้เหมือนกัน เนื่องจากผักแต่ละชนิดไม่สามารถเติบโตได้ทุกฤดูกาล ส่งผลให้เกษตรกรบางคนต้องอาศัยตัวช่วยอย่างสารเคมี เพื่อทำให้ผักยังใหม่ สด สวยงามได้ตลอดทั้งปี และสุดท้ายคนกินก็ต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงโรค
มูลนิธิฯ จึงนำผักท้องถิ่นที่บางชนิดหลายคนอาจไม่ค่อยรู้จัก เช่น ผักปลัง ผักแป้น ข่าแดง บวบเหลี่ยม ขี้เหล็ก ผักคาวตอง ตำลึง ดอกโสน และผักโขม มาจัดแสดง และทำเป็นอาหารให้ทุกคนได้ลิ้มลอง ซึ่งไม่เพียงแค่แปลกใหม่และปลอดภัยเท่านั้น แต่ผักหลายชนิดยังมีฤทธิ์เป็นยา ช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เหมาะสำหรับผู้คนที่กำลังเผชิญกับวิกฤตเรื่องสุขภาพ
“มันเหมือนเป็นพื้นที่ของการเจรจา การเรียนรู้แลกเปลี่ยนกันว่าจะทำอย่างไรให้คนเมืองกินผักพวกนี้ได้ อย่างผักปลังหลายคนไม่รู้จัก ลวกออกมาแล้วยังเหนียวๆ บางคนก็กินไม่ได้ แบบนี้เราจะทำยังไง ถ้าเราลองทำเป็นราดหน้าได้ไหม เพราะยังไงก็เหนียวอยู่แล้ว คือเกษตรกรเองก็ต้องปรับตัว ผู้บริโภคก็ต้องปรับตัว” แป้นย้ำสถานการณ์
ผลจากการหยิบภูมิปัญญาเรื่องการเกษตรมาถ่ายทอดกลางพื้นที่อิมแพค เมืองทองธานี ช่วยเปิดโลกกว้างเกี่ยวกับอาหารให้แก่คนไทยจำนวนไม่น้อย ทำให้พวกเขาได้รู้ว่า นอกจากผัก ผลไม้ หรือข้าวสารที่จำหน่ายในตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ยังมีความหลากหลายอีกมากมายรอให้ทุกคนค้นพบ
แต่โจทย์ที่หนักหน่วงยิ่งกว่า คือจะทำอย่างไรให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้มาพบเจอ และแลกเปลี่ยนสินค้ากัน โดยก่อนหน้านี้ มูลนิธิฯ รวมถึงเครือข่ายต่างๆ ก็เคยจัดทำตลาดสีเขียว ซึ่งบางแห่งก็ประสบความสำเร็จ แต่อีกไม่น้อยที่ไปไม่ถึงดวงดาว
หากมาถอดรหัสว่าอะไรคือปัญหา อุปสรรคหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคหลายคนยอมยกธงขาว ขอกลับไปรับประทานอาหารแบบเดิมดีกว่า อย่างแรกคงเป็นเรื่องราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไปถึง 3-4 เท่า แน่นอนว่าคงไม่ใช่ทุกร้านที่เป็นแบบนี้ แต่พอหลายคนเจอของแพงเช่นนี้บ่อยๆ ก็กลายเป็นอคติในใจเรื่อยมา
“ต้องยอมรับว่าหลายแห่งก็แพงจริง ขนาดเรายังไม่ซื้อเลย” แป้นกล่าว
แต่ถ้ามองถึงต้นเหตุของเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากที่ผ่านมาโครงสร้างราคาอาหารของบ้านเรานั้นต่ำกว่าความเป็นจริง เกษตรกรมักไม่มีสิทธิไม่มีเสียงที่จะกำหนดราคาผลผลิตของตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าคนกลางจะให้เท่าไหร่ และผลประโยชน์หลักๆ ก็มักจะอยู่ที่คนขาย ดังนั้นกลไกที่ต้องสร้างขึ้นให้ได้ คือ ราคาที่เป็นธรรม ด้วยการทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้บริโภครู้สึกว่าอาหารปลอดภัยนั้นไม่ได้ราคาแพงถึงขั้นควักเงินจ่ายไม่ได้ ขณะที่เกษตรกรเองก็ต้องได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่ากับเรี่ยวแรงที่ลงไป
แน่นอนแม้มูลนิธิฯ จะไม่ได้ลงไปทำงานเชิงรุกถึงขั้นทำการตลาดให้ แต่พวกเขาก็ช่วยวางระบบบริหารจัดการ โดยได้รับความร่วมมือจาก GreenNet องค์กรธุรกิจเพื่อสังคม และกลุ่มองค์กรเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกที่ทำงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และการค้าที่เป็นธรรม จนได้กระบวนการที่เหมาะสม
“เรื่องการจัดการน่าปวดหัวมากในกรณีส่งออกข้าวอินทรีย์ โชคดีที่เราได้ GreenNet ซึ่งมีประสบการณ์มาก่อนเข้ามาช่วย และขณะเดียวกันก็มีกลุ่มองค์กรเกษตรกรร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกได้ริเริ่มทำตลาด ทำให้เขามีบทเรียนว่าควรปรับตัวอย่างไร เช่น ปกติหากเราไปวางสินค้าในห้างสรรพสินค้า เขาจะไม่ได้จ่ายเงินทันที แต่จ่ายเป็นรอบๆ ดังนั้นระหว่างนั้น กลุ่มก็ต้องมีกองทุนทำหน้าที่จ่ายเงินสำรองให้เกษตรกรไปก่อน เพื่อที่เขาจะได้มีเงินหมุนต่อได้ ขณะเดียวกันในฝั่งของผู้บริโภค เราก็ต้องอธิบายข้อจำกัดที่ชาวบ้านต้องเจอ เขาจะได้เข้าใจว่าทำไมถึงตั้งราคาแบบนี้ ไม่อย่างนั้นสุดท้าย เราก็ต้องอยู่กับโครงสร้างเดิมๆ ต่อไป” ภาช่วยฉายภาพ
จากระบบที่แข็งแรง ส่งผลให้อาหารปลอดภัยเริ่มกระจายไปสู่วงกว้างขึ้น รวมทั้งเกิดเครือข่ายใหม่ๆ เข้ามาช่วยผลักดันและเติมเต็มระบบความมั่นคงทางอาหารให้สมบูรณ์ขึ้น
ตลอดการทำงานหลายสิบปี แม้ว่ามูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) จะไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยทั้งหมดได้ แต่อย่างน้อยๆ พวกเขาก็ได้จุดประกายเรื่องการกินอาหารที่คำนึงถึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ ยืนยันได้จากการที่คนไทยเริ่มมองหาพันธุ์พืชพันธุ์ข้าวที่หลากหลายมาบริโภค พยายามเลือกเฟ้นสินค้าเกษตรซึ่งมีที่มาที่ไปชัดเจน รวมถึงการที่ผู้ผลิตสามารถหยัดยืนผลิตสินค้าคุณภาพต่อไปได้
แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การที่หลายๆ โครงการที่มูลนิธิฯ เคยเข้าไปเริ่มต้น ยังคงเดินได้ด้วยพลังของชาวบ้านและเครือข่ายต่างๆ เพราะทุกคนต่างเชื่อว่า นี่เป็นสิ่งที่ดีต่อตนเองและโลกใบนี้ แค่นี้ก็นับเป็นความสำเร็จที่เกินคาด ซึ่งจะพาสังคมแห่งนี้ไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนอย่างแน่นอน
ในภาพจำของคนส่วนใหญ่ กรุงเทพฯ เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยตึกสูงเสียดฟ้า แหล่งอำนวยความสะดวก รถรามากมาย ห่างไกลจากพื้นที่เกษตรอย่างสิ้นเชิง ถ้าจะมีบ้างก็คงเป็นสวนหน้าบ้าน หรือกระถางต้นไม้ที่ปลูกพืชปลูกผักได้เพียงไม่กี่ชนิด
ปัจจัยหนึ่งเพราะบางคนเชื่อว่า วิกฤตความมั่นคงทางอาหารยุติได้ด้วยการใช้เงิน หากมีเงินซื้ออาหาร ปัญหาทุกอย่างก็จบ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประเทศต้องเผชิญกับภาวะคับขันสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 หรือวิกฤตโรคระบาดที่ส่งผลให้คนทั้งประเทศต้องล็อกดาวน์ออกจากบ้านไปไม่ได้ ก็เป็นเหตุให้หลายคนกลับมาทบทวนว่า สิ่งที่เชื่อมาตลอดยังจริงอยู่หรือไม่ นี่ยังไม่รวมถึงกลุ่มคนที่ตกงาน ไม่มีเงินซื้ออาหารรับประทาน แล้วจะหยัดยืนต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ต่อให้อยู่ในเมืองหรือชนบทก็ตาม หากทุกคนมีศักยภาพ สามารถผลิตอาหารด้วยตนเองได้ อย่างน้อยๆ เราก็จะมีคลังสำรองที่ใช้ได้ตลอดเวลา แถมยังมั่นใจเรื่องความปลอดภัยได้อีกด้วย เนื่องจากเป็นพืชผักที่เราปลูกเอง กินเอง
ด้วยแนวคิดที่อยากป้องกันไม่ให้เมืองไทยเดินไปถึงสถานการณ์ดังกล่าว ในปี 2553 มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) จึงริเริ่มโครงการ ‘สวนผักคนเมือง’ เพื่อให้คนเมืองหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น ด้วยการรวมกลุ่มกันปลูกผักสวนครัว
ครั้งนั้น มูลนิธิฯ ได้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการโดยมีทุนสนับสนุนให้ พร้อมวางกติกาว่า ผู้เข้าร่วมจะต้องรวมกลุ่มอย่างน้อย 5 คน อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตเมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเป็นได้ทั้งชุมชน โรงงาน วัด บ้านจัดสรร ทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว คอนโด ตึกแถว และแฟลต โดยแต่ละกลุ่มจะต้องปลูกพืชผักสวนครัวไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด ซึ่งเหตุผลที่อยากให้ทำงานเป็นกลุ่ม ก็ด้วยมองว่า เรื่องความมั่นคงทางอาหาร ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง แต่อาศัยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
“เราอยากสร้างความสัมพันธ์ของคนในเมือง อยากสร้างพื้นที่ทางสังคม พื้นที่การเรียนรู้ควบคู่กันไป เราไม่ได้คิดว่าถ้าเพาะปลูกแบบนี้ต้องได้ผลผลิตเท่านี้ คุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือเปล่า เพราะในเมืองพื้นที่มันเล็กอยู่แล้ว ถ้าคิดเป็นสัดส่วนของอาหารที่บริโภคอาจจะได้แค่ 30% หรือบางทีหากไปเทียบกับการซื้อรับประทานอาจจะแพงกว่าด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อยๆ ก็ยังตอบโจทย์ในเชิงคุณค่า การรื้อฟื้นความรู้ของคนเมืองเรื่องการเพาะปลูก แถมบางคนอาจจะใช้โอกาสนี้พาครอบครัว พาลูกหลาน มาช่วยกันทำเกษตรด้วย อีกอย่างเราเชื่อว่า การทำงานเป็นกลุ่ม มันรู้สึกไม่เหงา ไม่โดดเดี่ยว คือมีเพื่อนที่พร้อมเรียนรู้ ทำงานร่วมกันไป ไม่หมดกำลังใจระหว่างทาง และนำไปสู่การพัฒนาทักษะต่างๆ ที่ดียิ่งขึ้น” แป้นอธิบาย
ช่วงแรกมูลนิธิฯ จับมือกับภาคีเครือข่ายและนักวิชาการที่สนใจและมีประสบการณ์เรื่องการปลูกพืชผักสวนครัวในเขตเมือง อาทิ ปริ๊นซ์-นคร ลิมปคุปตถาวร เจ้าของฉายา ‘เจ้าชายผัก’ ชูเกียรติ โกแมน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดิน และ คมสัน หุตะแพทย์ แห่งสวนผักบ้านคุณตา เข้ามาช่วยเปิดศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง ทำหน้าที่อบรมและถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ที่มาร่วมโครงการ ทั้งเรื่องการปรับปรุงดิน การคัดสรรและเพาะเมล็ดพันธุ์ ตลอดจนเรื่องการแปรรูป
แต่ที่เหนือกว่าเรื่องเทคนิควิธีการ คือการที่เหล่ากูรูนักปลูกผักยังได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และมุมมองความคิด เพื่อให้โมเดลนี้ยั่งยืนมากขึ้น อย่างครั้งหนึ่งปริ๊นซ์เคยบอกว่า การปลูกผักแบบนี้ตอบโจทย์ความต้องการบริโภคผักอินทรีย์ เพราะต้องยอมรับว่าอาหารเหล่านี้ราคาแพงและหาซื้อลำบากมาก แต่ถ้าอยากให้อาหารปลอดภัยมีมากกว่านี้ ก็อาจจะต้องพัฒนาไปสู่ระบบธุรกิจในเมือง
อย่างเช่นทำระบบสมาชิก ด้วยการให้ผู้ซื้อจ่ายเงินเป็นรายปี จ้างปลูกผักอินทรีย์ จากนั้นก็ให้ผู้ปลูกส่งผักถึงบ้านประจำสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ซึ่งนอกจากจะสร้างหลักประกันในการผลิตอาหารปลอดภัยร่วมกันแล้ว ยังทำให้ระยะทางของอาหารสั้นลง เพราะยิ่งระยะทางใกล้ อาหารก็จะยิ่งสดใหม่ ไม่ต้องใช้สารเคมีมาถนอมอาหาร ไม่สิ้นเปลืองค่าขนส่ง โดยหลายๆ ชุมชนก็นำแนวคิดนี้ไปต่อยอด จนเกิดรายได้กลับมาหล่อเลี้ยงสวนเกษตรให้สามารถหยัดยืนได้
การทำงานของสวนผักคนเมืองต้องถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย และกลายเป็นภาพจำของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่ที่สำคัญมากกว่า แนวคิดนี้ได้กลายเป็นทางออกหนึ่งในยุคที่ทุกคนต้องรับมือกับวิกฤตอาหารขาดแคลนจากเหตุภัยธรรมชาติ ทั้งอุทกภัย ฝุ่นละออง โรคระบาด และโลกรวน
“ก่อนหน้านี้ เมืองพึ่งตนเองในเรื่องอาหารไม่ได้เลย แถมยังมีแนวโน้มการขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ทั้งการที่คนอพยพเข้าเมือง และชนบทกลายเป็นเมือง คนในชนบทมีวิถีชีวิตเหมือนคนเมืองมากขึ้น แม้จะผลิตอาหารได้เอง แต่กลับต้องซื้อหาอาหาร เพราะรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนไป และเมื่อเมืองผลิตอาหารไม่ได้ก็กลายเป็นความเสี่ยง อย่างช่วงน้ำท่วม เส้นทางถูกตัดขาด อาหารจากชนบทไม่สามารถมาเลี้ยงคนในเมืองได้ ก็ทำให้เกิดวิกฤตขึ้นมา การปลูกผักกินเองแม้จะไม่สามารถแก้วิกฤตได้ทั้งหมด แต่ก็ช่วยบรรเทาสถานการณ์ให้ผู้คนเอาตัวรอดได้ในระดับหนึ่ง” ภากล่าวย้ำ
ต่อมามูลนิธิฯ ยังขยายแนวคิดนี้ไปยังกลุ่มคนที่หลากหลายขึ้น เช่น กลุ่มแรงงานนอกระบบ ตลอดจนชักชวนบรรดาโรงงานต่างๆ มาทำแปลงเกษตรภายในพื้นที่สำหรับเลี้ยงคนงาน พร้อมกับผลักดันให้ชุมชนต่างๆ ขยับบทบาทจากการเป็นแหล่งเพาะปลูกอย่างเดียว มาสู่ศูนย์ศึกษาดูงาน เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ชุมชนอื่นๆ นำบทเรียนไปประยุกต์และต่อยอด
หนึ่งในพื้นที่ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จและกลายเป็นโมเดลของโครงการ คือ ชุมชนบูรพา 7 เขตดอนเมือง ซึ่งเดิมมีพื้นที่รกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์กว่า 1,600 ตารางเมตร จนกลายเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์มีพิษ ดังนั้นเมื่อมูลนิธิฯ เปิดโครงการนี้ในปีแรก คณะกรรมการชุมชนจึงไม่ลังเลที่จะสมัครเข้าร่วมโดยทันที
ครั้งนั้นทางมูลนิธิฯ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้ความรู้ แนะนำวิธีการบริหารจัดการพื้นที่ จนเกิดการออกแบบพื้นที่สำหรับการปลูกผักที่คำนึงถึงแสง และการปลูกผักตามฤดูกาล รวมทั้งการคำนึงถึงทิศทางลมหากมีการเลี้ยงสัตว์ เพื่อไม่ให้กลิ่นไปรบกวนข้างบ้านหรือเจ้าของแปลง ตลอดจนมีการออกแบบโรงเห็ดและการเพาะเห็ด รวมถึงสถานที่เก็บอุปกรณ์ต่างๆ โดยมีกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งว่างเว้นจากงานประจำเป็นหัวหอกหลักในการปลูกพืชผักสวนครัว
ด้วยความร่วมไม้ร่วมมือของทุกคน ทำให้สวนเกษตรแห่งนี้ได้ผลผลิตจำนวนมาก สามารถนำมาขาย แจกจ่ายให้เหล่าสมาชิก ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน แม้แต่ในช่วงโรคระบาดที่คนในชุมชนหลายร้อยคนต้องกักตัว ก็ได้ผัก เห็ด และปลาจากสวนในการยังชีพกระทั่งผ่านวิกฤตมาได้ เพราะสำหรับชาวบ้านที่นี่ เป้าหมายของการปลูกผักไม่ใช่กำไรที่เป็นตัวเงิน แต่คือความสุขและชีวิตที่ยั่งยืนของคนในชุมชน
นอกจากพื้นที่ใจกลางของประเทศแล้ว มูลนิธิฯ ยังประสานงานกับกลุ่มองค์กรที่สนใจการปลูกผักตามหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ และหาดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งต่างมีความสนใจไม่แพ้คนกรุงเลย หรือในปี 2563 พวกเขาก็ร่วมมือกับสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้าไปช่วยเปลี่ยนพื้นที่รกร้างในชุมชนกว่า 30 แห่งซึ่งได้ผลกระทบจากโรคระบาด ให้กลายเป็นแปลงเกษตรเขียวขจี เต็มไปด้วยผักสวนครัวที่สดใหม่ สะอาด และปลอดภัย
ระหว่างทาง ชาวบ้านหลายคนไม่เคยปลูกผักมาก่อน และคิดแค่ว่าปลูกให้ผ่านสถานการณ์ฉุกเฉินไปได้เท่านั้น แต่พอลงมือปฏิบัติและพบว่าทุกอย่างไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด มีปัญหาต้องเรียนรู้และแก้ไขอยู่ตลอด อาทิ เจอหอยทากมากัดกินใบผัก ก็ต้องช่วยกันเก็บไปทิ้ง โรยขี้เถ้า โรยปูนขาวรอบแปลง หรือเพิ่มเทคนิคการปลูกผักด้วยการทำปุ๋ยพืชสดจากแหนแดง ตลอดจนปลูกพืชชนิดอื่นแซมเข้าไป เพื่อสร้างระบบนิเวศให้พืชผักแข็งแรง กระทั่งได้อาหารที่พร้อมบริโภค และสามารถส่งต่อให้ผู้ที่เดือดร้อน
ที่สำคัญยังเป็นโอกาสดีในการสร้างความคุ้นเคยกับบ้านใกล้เรือนเคียง ทำให้ชาวบ้านในหลายชุมชนรู้สึกภูมิใจ และอยากรักษาสวนเกษตรให้เป็นทั้งพื้นที่สาธารณะ และแหล่งสำรองอาหารในยามฉุกเฉินตลอดไป
“สิ่งที่เรารู้สึกดีใจที่สุดจากการทำงานสวนผักคนเมือง คือความสัมพันธ์ บางชุมชนปลูกผักออกมาไม่ได้ดีมากนะ แต่ความสัมพันธ์กลับดีขึ้น เพราะมีโอกาสได้เจอกัน และพูดคุยกันบ่อยขึ้น ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่ของคนเมือง” แป้นสรุปคุณค่าที่แท้จริงของโครงการที่ทำมานานกว่าทศวรรษ
ถ้าเมืองผลิตอาหารไม่ได้ก็กลายเป็นความเสี่ยง อย่างช่วงน้ำท่วม เส้นทางถูกตัดขาด อาหารจากชนบทเข้ามาไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร การปลูกผักกินเองแม้จะไม่สามารถแก้วิกฤตได้ทั้งหมด แต่ก็ช่วยบรรเทาสถานการณ์ให้ผู้คนเอาตัวรอดได้
ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไป คงไม่มีใครตั้งคำถามอีกแล้วว่า อาหารปลอดภัยเป็นอย่างไร สำคัญแค่ไหน ทำไมเราถึงต้องรู้จักที่มาที่ไปของอาหารแต่ละชนิด เช่นเดียวกับข้าวสายพันธุ์แปลกๆ ที่ปลูกแบบอินทรีย์ก็เริ่มขายได้ หมู เป็ด ไก่ที่เลี้ยงตามธรรมชาติ เป็นที่นิยมของตลาด ปลาท้องถิ่นที่หลายคนไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน กลายเป็นเมนูที่ใครๆ ก็อยากรับประทาน
แต่ก็ใช่ว่าภารกิจของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) จะเสร็จสิ้นลง พวกเขายังคงเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร และยกระดับความมั่นคงทางอาหารในเมืองไทยให้ดียิ่งขึ้น
อย่างเมื่อเดือนกันยายน 2562 มูลนิธิฯ ตัดสินใจเปิด ‘City Farm Market’ ตลาดจำหน่ายสินค้าอินทรีย์หน้าสำนักงานที่ตำบลไทรม้า จังหวัดนนทบุรี เป็นประจำทุกวันเสาร์สิ้นเดือน เพื่อให้สมาชิกของโครงการสวนผักคนเมืองที่สามารถเพาะปลูกผักและผลไม้ เลี้ยงไก่ไข่ หรือแปรรูปอาหารได้ปริมาณมากจนเกินความต้องการบริโภคและแบ่งปันในกลุ่มของตนเอง นำมาส่งต่อให้คนอื่นๆ ได้บริโภคด้วย รวมทั้งยังมีเกษตรกรที่ปลูกผักและผลไม้อินทรีย์ในละแวกใกล้ๆ กันเข้ามาร่วมจำหน่ายสินค้า
“จริงๆ เราเริ่มโครงการนี้ก่อนที่จะเกิดโรคระบาด แต่พอมีโควิด หลายคนเริ่มขายสินค้าไม่ได้ บางอย่างก็ปล่อยทิ้งเน่าในสวนอย่างนั้น เราก็เลยอยากเป็นโมเดลที่เชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรที่มีผลผลิตกับคนเมืองเองที่ต้องการอาหาร โดยช่วงนั้นเราก็เปิดให้พรีออเดอร์ แล้วให้เกษตรกรมาส่งที่นี่ ซึ่งปรากฏว่ามีคนสั่งเข้ามาเยอะมาก” แป้นอธิบาย
“ตอนแรกก็ยังไม่ค่อยเป็นเรื่องเป็นราวมาก แต่ภายหลังสมาชิกบางคนเขาทำเป็นอาชีพ เช่นครูอุษา–กัญญ์ณัทพัชร บุณยะโหตระ เมื่อก่อนก็ปลูกผักอย่างเดียว แต่พอไปเรื่อยๆ ก็เริ่มแปรรูป สั่งถั่วเหลืองอินทรีย์จากเครือข่ายมาแปรรูปเป็นเต้าหู้ หรือน้ำเต้าหู้ แล้วก็ไปขายตามตลาดต่างๆ ในกรุงเทพฯ หรืออย่างโอเล่–กนกพร ดิษฐกระจันทร์ จากกลุ่มส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี สุดท้ายเราจึงตั้งเป็นกลุ่ม City Farm Market ขึ้นมาต่างหาก แล้วร่วมกันบริหารจัดการ โดยกำหนดว่าจะเอาใครมาขายบ้าง มีหลักเกณฑ์อย่างไร โดยมูลนิธิฯ เอื้ออำนวยเรื่องสถานที่ แล้วก็จัดกิจกรรมร่วมกันบางครั้ง” ภาช่วยเสริม
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสื่อสารที่น่าสนใจ เช่น บทความในเว็บไซต์ของสวนผักคนเมือง ซึ่งแนะนำนวัตกรรมการเกษตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนเมืองที่มีพื้นที่จำกัด อย่างการทำสวนผักแนวตั้ง วิธีปลูกพืชในภาชนะต่างๆ การทำสวนผักบนดาดฟ้า เทคนิคการป้องกันไม่ให้สุนัขรุกรานพืชผักสวนครัว รวมทั้งบทเรียนจากชุมชนต่างๆ ที่รวมกลุ่มปลูกผักได้สำเร็จ ซึ่งทุกคนสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตของตัวเอง
ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีการจัดเทศกาลสวนผักคนเมืองเป็นประจำทุก 2 ปี โดยให้สมาชิกของเครือข่ายมาพูดคุยนำเสนอผลงาน จัดคุยถึงความสำคัญของการผลิตอาหารในเมือง ตลอดจนชักชวนเชฟรุ่นใหม่มาทำอาหาร พร้อมเปิดตลาดให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยได้เข้ามาพบปะกับผู้บริโภค
อีกกิจกรรมหนึ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ เทศกาลข้าวใหม่ ซึ่งต่อยอดจากกิจกรรมที่เคยทำในมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ด้วยการนำพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่หลากหลายจาก 4 ภูมิภาคมานำเสนอ พร้อมกับสอดแทรกเรื่องราววัฒนธรรมเรื่องข้าวของท้องถิ่นต่างๆ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้คนทั่วไปรับรู้ความหมายที่ซ่อนอยู่ในการปลูกข้าว รวมทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่ทุกคนจะได้เฉลิมฉลองข้าวใหม่ร่วมกับเกษตรกร
โดยภายในงานมีกิจกรรมเสวนาประเด็นที่เกี่ยวกับข้าว เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะส่งผลต่อวิถีชีวิตของชาวนาอย่างไรบ้าง แล้วผู้บริโภคต้องปรับตัวอย่างไร และยังมีเวิร์กช็อปนำข้าวมารังสรรค์เป็นเมนูอาหารต่างๆ ให้ทุกคนได้ลองชิม
“Climate Change ส่งผลกระทบต่อทุกคน ชาวบ้านเริ่มปลูกข้าวได้น้อยลง ส่งออกก็ลำบาก เคยคุยกับกลุ่มชาวนาว่า ตอนนี้อาจถึงยุคที่ข้าวไม่ได้เป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศแล้ว เพราะฉะนั้นเราอาจต้องปรับตัว ลดพื้นที่ปลูกข้าวไหม หรือนำข้าวมาแปรรูปเป็นแป้ง ทำขนมปัง ทำพิซซา แต่ถึงคนจะกินข้าวน้อยลง ก็ไม่ได้หมายความว่าข้าวไม่สำคัญ เพราะสุดท้ายก็ยังเป็นอาหารหลักของคนไทย เราจึงอยากทำให้ผู้บริโภคทุกคนได้เรียนรู้กระบวนการของข้าวมากขึ้น เพื่อจะได้เข้าใจและคอยสนับสนุนให้ชาวนายังอยู่ได้” ภาเล่าสถานการณ์ให้ฟัง
“รสนิยมของผู้บริโภคเป็นตัวกำหนดความหลากหลายทางชีวภาพ สมมติถ้าคนรุ่นใหม่กินผักพื้นบ้านไม่เป็น อีกหน่อยตำลึง ชะอมหายแน่ เพราะผลิตแล้วไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ปลูกไปก็ไม่มีคนกิน สุดท้ายก็หายไป กลายเป็นวัชพืชถูกทิ้งร้าง แต่ถ้าเขากินได้หลากหลาย เราก็จะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน” แป้นช่วยเติมข้อมูล
จากการทำงานอย่างต่อเนื่อง สิ่งหนึ่งที่แกนนำทั้งสองคนของมูลนิธิฯ ตกผลึกร่วมกันคือ การสื่อสารที่จับต้องได้ ถือเป็นหัวใจที่ช่วยให้งานขับเคลื่อนอย่างมีพลัง เพราะจากเดิมที่มีเพียงคนในแวดวงเกษตรกรรมไม่กี่คนที่สนใจ แต่เมื่อมีการสื่อสารผ่านเรื่องอาหารหรือตลาด ก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากเริ่มเปิดใจรับฟัง และนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
“เมื่อก่อนเราพูดผ่านการทำงานในระบบเกษตร ซึ่งได้ผลแค่วงแคบๆ เท่านั้น ส่วนใหญ่คือนักวิชาการ หรือเกษตรกรที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่พอมาทำเรื่องตลาด เราสื่อสารสิ่งต่างๆ ผ่านอาหาร ให้เห็นว่า ของที่เขากินอยู่มีสารเคมีนะ หรือเราต้องรักษาระบบนิเวศต่างๆ ไปพร้อมกัน มันทำให้เขาเห็นความเชื่อมโยงต่างๆ ได้หมด
“ที่สำคัญ เรายังใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมืออธิบายเรื่องราวที่ยากขึ้น เช่น เจ้าของพันธุกรรม เรื่องข้อตกลง FTA หรือ WTO ส่งผลอย่างไรกับชุมชน หรืออย่างเทศกาลข้าวใหม่ เราก็สื่อสารว่าชีวิตของชาวนาจะเป็นอย่างไร ท่ามกลางสภาวะที่คนรับประทานข้าวกันน้อยลง สวนผักคนเมืองก็เหมือนกัน ยังมีมิติอื่นๆ เช่น การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน การเป็นพื้นที่บำบัด เพื่อแก้ปัญหาสังคมต่างๆ” แป้นอธิบายต่อ
ถึงอย่างนั้น มูลนิธิฯ ก็ไม่เคยละทิ้งการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ยังคงพยายามนำเสนอรูปแบบแนวคิดต่างๆ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนโยบายเรื่องสวน 15 นาที หรือการทำ Pocket Park ตามชุมชนต่างๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ง่ายขึ้น ซึ่งมูลนิธิฯ ก็เข้าไปช่วยเติมความคิดว่า คงจะดีไม่น้อยหาก หากสวนเหล่านั้นสามารถเป็นแหล่งอาหารของชุมชนต่างๆ ได้ด้วย
แต่แน่นอน ทั้งหมดนี้คงต้องใช้เวลาและพลังของทุกคน ซึ่งภาและแป้น รวมถึงสมาชิกของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ก็ไม่ท้อถอย เพราะความฝันอันยิ่งใหญ่ของพวกเธอ คือการทำให้ประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่รองรับความเปลี่ยนแปลงในทุกสถานการณ์ได้อย่างแท้จริงตลอดไป
ปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 15 ชุมชนหรือเครือข่ายที่รวมพลังกันทำงานเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) คือเครือข่ายชุมชนต้นแบบประเด็นยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 2), ประเด็นสร้างหลักประกันการมีสุขภาพดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย (SDGs ข้อที่ 3), ประเด็นสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 12), ประเด็นดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (SDGs ข้อที่ 13) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)
เจ้าของบาร์แจ๊ซ ผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ ทั้งดนตรี สิ่งแวดล้อม สังคม เพื่อยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เป็นดินแดนที่ของทุกคนอย่างแท้จริง
หนุ่มพังงาที่อยากพลิกฟื้นบ้านเกิดให้ดีขึ้นด้วยกีฬาโต้คลื่น จนนำมาสู่การผลักดัน Khaolak Surf Town และเทศกาลการเล่นเซิร์ฟระดับประเทศ
ศิลปินแห่งชาติ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ผู้พยายามสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง
เภสัชกรหญิง ผู้บุกเบิกยาสมุนไพรอภัยภูเบศร พร้อมฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากจะทำให้ปราจีนบุรีเป็นเมืองแห่งสมุนไพร
จากกลุ่มรณรงค์ในโลกออนไลน์ที่คัดค้านการตัดต้านต้นไม้เก่าแก่เพื่อสร้างคอนโด สู่นักขับเคลื่อนที่ปลุกกระแสการรักษ์ไม้ใหญ่ในเมือง
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.