เราเชื่อเหลือเกินว่าคุณคงไม่รู้จักผู้หญิงคนนี้!!
แต่ครั้งหนึ่งเธอคนนี้เคยได้ชื่อว่าแม่พระของเมืองไทย
เธอเป็นผู้ต่อสู้เรื่องโสเภณีคนแรกๆ ของคนไทย จนเกิดบ้านตระการตา แหล่งช่วยเหลือโสเภณีแบบครบวงจร
เธอเป็นผู้อุปการะเด็กกำพร้ามากกว่า 1,000 ชีวิต จนเกิดพีรานุเคราะห์ สถานสงเคราะห์เด็กด้อยโอกาส
หลายคนบอกว่า ชีวิตของผู้หญิงคนนี้เต็มไปด้วยวีรกรรมโลดโผนมากมาย ถึงขั้นมีผู้กล่าวว่าน่าจะนำไปทำละครโทรทัศน์
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอแนะนำหญิงแกร่งแห่งยุค 2500 ต้นๆ แพทย์หญิง คุณเพียร เวชบุล ผู้พลิกฟื้นชีวิตของผู้ด้อยโอกาสนับไม่ถ้วน
คุณอาจเคยได้ยินว่า เมืองไทยอุดมไปโสเภณี เป็นดังสวรรค์ของนักท่องราตรี
ความจริงเรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดเมื่อ 20-30 ปีก่อน แต่เป็นสิ่งที่อยู่คู่เมืองพุทธแห่งนี้มานานนับศตวรรษ
ผู้หญิงไทยไม่น้อยถูกหลอกให้กลายเป็นเครื่องมือทางเพศ และอีกบางส่วนจำใจต้องทำเพราะไร้ทางเลือก
ขณะที่พวกเธอถูกสังคมรังเกียจ ดูถูกประณามเหยียดหยาม ผู้หญิงคนหนึ่งกลับกล้าลุกขึ้นมายืนเคียงและคอยช่วยเหลือให้พวกเธอพ้นจากขุมนรก เธอชื่อ เพียร เวชบุล
ย้อนกลับไปสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในกรุงเทพฯ บริเวณสวนกล้วย ตรงทางโค้งของถนนจักรพรรดิพงษ์ มีตรอกไปออกยังข้างวัดแค เป็นที่รู้จักกันดีว่าที่นี่คือย่านโคมแดงหรือซ่องโสเภณี อันดับต้นๆ ของประเทศ
นอกจากสร้างความสุขแก่ผู้ชายมากหน้าหลายตาแล้ว ที่นี่ยังเป็นโรงเรียนเปิดซิงที่หนุ่มด้อยประสบการณ์ต้องมาลองสักครั้ง ว่ากันว่าเมืองไทยยุคนั้นมีโสเภณีมากถึง 20,000 คน
หมอเพียร แพทย์หญิงคนที่ 2 ของเมืองไทย ซึ่งเวลานั้นเพิ่งข้ามน้ำข้ามทะเลจากฝรั่งเศส กลับมารับราชการอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข จึงมีโอกาสได้สัมผัสกับปัญหานี้โดยตรง
หมอเพียรพบว่าโสเภณีล้นเมืองส่วนหนึ่งเป็นเพราะถูกหลอกลวง เด็กชนบทจำนวนมากถูกบังคับให้ค้าประเวณีเพราะคำโกหกว่าจะช่วยมาหางานทำในเมืองบ้าง จะเลี้ยงดูเป็นลูกเป็นเมียบ้าง บางคนก็ถูกปัญหาสังคมผลักดันเข้ามา เช่นเคยถูกข่มขืนกระทำชำเรา ถูกสามีทอดทิ้งไปมีภรรยาใหม่ บางคนก็เป็นเด็กกำพร้าที่ถูกขับไล่ออกมาจากบ้าน ผู้ปกครองละเลย และพอมาอยู่ในระบบโสเภณีก็ยังถูกบรรดาแมงดาบังคับข่มขู่สารพัด
หมอเพียรพยายามหาทางช่วยเหลือ โดยเริ่มแรกใช้เงินทุนส่วนตัวรักษากามโรค ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตในหมู่หญิงค้าบริการ รวมถึงลงทุนเรียนยูโดแล้วปลอมตัวเข้าไปในซ่องเพื่อไปฉีดยาให้และชักชวนให้เลิกอาชีพ
การต่อสู้ของหมอเพียรไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะหลายครั้งที่เธอถูกพวกแมงดาข่มขู่ จับโยนออกมาจากซ่อง แต่หมอก็ไม่เคยท้อ ด้วยถือว่านี่คือภารกิจสำคัญที่ต้องทำเพื่อชาติ!!
“โสเภณีเป็นบ่อเพาะเชื้อกามโรค ทำลายเศรษฐกิจและคุณภาพของชาติ คนไทยเดี๋ยวนี้บ๊องๆ กันเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะส่วนหนึ่งได้รับเชื้อซิฟิลิสมาจากพ่อแม่ ตรวจเลือดผู้หญิงไทยเวลาตั้งครรภ์ มีเลือดบวกถึง 80% น่ากลัวมาก ถ้าปล่อยเอาไว้อย่างนี้ เมืองไทยจะกลายเป็นมีแต่คนบ๊องๆ กันทั้งเมือง เมืองที่ปกครองโดยคนบ๊องๆ จะเป็นยังไงก็คิดกันเอาเอง”
ปัญหาหนึ่งที่หมอเพียรสัมผัสมาตลอดคือ ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายกับหญิง
กว่าหมอเพียรจะเป็นหมอได้สำเร็จ บอกเลยว่าไม่ใช่ง่าย ลองคิดดูในสมัย ร.5-6 เมืองไทยมีสตรีที่เป็นผู้นำกี่คน
อย่างหมอเพียร พอเรียนจบมัธยมก็หวังที่เรียนต่อโรงเรียนแพทย์ศิริราช แต่กลับถูกปฏิเสธ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าไม่เคยมีผู้หญิงเป็นแพทย์มาก่อน
(แพทย์หญิงคนแรกคือ คุณหญิงลิน ศรีวิสารวาจา (มากาเรต ลิน ซาเวียร์) จบแพทย์จากมหาวิทยาลัยลอนดอน)
หมอเพียรต้องเดินทางอ้อมไปเป็นครูอยู่ 2 ปี ก็มีโอกาสติดตามเจ้านายพระองค์หนึ่งไปฝรั่งเศส จึงมีโอกาสได้เรียนต่อแพทย์ที่มหาวิทยาลัยปารีส แต่ก็เรียนไปหยุดไป เพราะทุนทรัพย์ไม่เพียงพอ ต้องออกมาหางานทำบ้าง สอบชิงทุนบ้าง กัดฟันนานกว่า 5 ปี ถึงจะสำเร็จ จากนั้นก็หอบหิ้วใบปริญญากลับเมืองไทยทันที แม้จะมีตำแหน่งงานที่ฝรั่งเศสรออยู่ก็ตาม
เช่นเดียวกับปัญหาโสเภณีที่ส่วนใหญ่ยังมองว่า ผู้หญิงเป็นปัญหา ถึงขั้นจะตีทะเบียนกันเลยทีเดียว โดยไม่สนใจว่าพวกแมงดาคือต้นเหตุที่คอยตักตวงผลประโยชน์ความทุกข์ของคนอื่น และคอยขัดขวางไม่ให้พวกเธอเลิกอาชีพ
“แต่ที่ร้ายที่สุดก็คือ ตำรวจที่มีหน้าที่ปราบปราม กลับไปรู้เห็นเป็นใจกับพวกแมงดาเสียเอง ตำรวจอย่างนี้ก็ต้องปราบให้พันจากกรมตำรวจไปเหมือนกัน”
เพราะปัญหาที่หวังพึ่งรัฐไม่ได้นี่เอง ทำให้หมอเพียรก่อตั้งมูลนิธิสงเคราะห์สตรีบางจำพวก ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิสุขภาพสังคม เพื่อทำหน้าที่สงเคราะห์สตรีที่หวังเลิกอาชีพโสเภณี จนได้ชื่อว่าเป็น ‘แม่พระของโสเภณี’
การลงมาช่วยเหลือหญิงค้ากามที่สังคมมองว่าต่ำช้า ทำให้ญาติพี่น้องรู้สึกอับอายและกดดันให้หมอเพียรเปลี่ยนนามสกุล สมเด็จย่าจึงพระราชทานนามสกุลให้ใหม่ว่า ‘เวชบุล’
การแก้ปัญหาโสเภณีเริ่มเห็นผลมากขึ้น ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการปราบปรามอย่างจริงจัง หมอเพียรคนนี่เองที่ช่วยบุกเบิกสถานสงเคราะห์ของรัฐที่เรียกว่า ‘บ้านตระการตา’ ทำหน้าที่ครบวงจร ตั้งแต่บำบัด ฟื้นฟู พัฒนาอาชีพ โดยกว่า 80% ของผู้ที่ผ่านบ้านนี้เลิกอาชีพโสเภณีเด็ดขาด หลายๆ คนก็ได้แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น
ต่อมาในปี 2512 หมอเพียรยังกระโดดลงสนามการเมือง โดยมีบรรดาหมอนวด โสเภณี เป็นกองเชียร์ แต่น่าเสียดายที่การเมืองยุคนั้นยังไม่ยอมรับท่าน หมอเพียรก็เลยสอบตกไปตามระเบียบ ไม่เช่นนั้นเราอาจจะเห็นสภาพของสังคมไทยในเรื่องนี้ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน
นอกจากจะเป็นหมอคนแรกและคนเดียวของเมืองไทยยุคนั้น ที่สนใจเรื่องโสเภณีและกามโรคอย่างจริงจังแล้ว
อีกเรื่องหนึ่งที่หมอเพียรทำมาตลอดก็คือ ปัญหาวัยรุ่นท้องก่อนแต่ง และเด็กกำพร้า
ความจริงปัญหาเด็กกำพร้าก็สืบเนื่องมาจากปัญหาโสเภณี หลายคนพอมีลูกก็ทิ้งขวางไม่สนใจ บางคนไม่มีกำลังที่จะเลี้ยง จนหมอเพียรต้องยื่นมือเข้าไปช่วย
แต่กรณีที่ฝังใจหมอเพียรมากที่สุด ครั้งนั้นมีลูกสาวคหบดีผู้หนึ่งตั้งครรภ์แบบไม่ตั้งใจ จึงมาปรึกษาหมอเพียรว่าอยากทำแท้ง หมอเพียรเห็นว่าการทำแท้งเป็นบาป ควรจะเก็บเด็กไว้ แต่หลังกลับบ้าน เด็กสาวนำเรื่องไปบอกแม่ กลับถูกดุด่าอย่างรุนแรง เธอน้อยใจจนดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย เมื่อหมอเพียรรู้ข่าวก็รีบพาเด็กสาวไปโรงพยาบาล แต่สายไปแล้ว เด็กคนนั้นตายคาอ้อมอกของหมอเพียร
หมอเพียรไม่อยากให้ใครต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้อีก จึงสร้างเรือนหลังเล็กๆ บริเวณย่านพลับพลาไชย ก่อนที่จะโยกย้ายมาอยู่ที่ถนนสาทร ติดกับโรงพยาบาลบางรัก เพื่อรับเลี้ยงเด็กกำพร้า และเด็กที่เกิดนอกสมรส รวมทั้งเป็นที่พึ่งพิงของแม่ผู้ผิดพลาด แม่ผู้ตั้งท้องโดยไม่ได้ตั้งใจสามารถมาขออาศัยอยู่ที่นี่ได้ชั่วคราว หากคลอดแล้วไม่มีกำลังจะเลี้ยงดูก็สามารถยกลูกให้หมอช่วยดูแล ส่วนตนเองก็กลับไปศึกษาต่อได้
สถานที่พักพิงแห่งนี้ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร อดีตประธานองคมนตรี ประทานนามว่า ‘พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ’
แน่นอนยุคนี้หลายคนคงมองสิ่งที่หมอเพียรทำเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ถ้าสมัยนั้น นี่อาจเป็นทางออกเดียวที่จะช่วยเหลือผู้หญิงกลุ่มนี้ให้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้
ทว่าการทำแบบนี้สิ่งที่ตามมาคือ ค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล ช่วงแรกๆ ก็ใช้ทุนของตัวเอง แต่พอเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มรับภาระไม่ไหว จนได้รับเงินช่วยเหลือจนมูลนิธิหนึ่งในต่างประเทศ
แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะเมื่อปี 2507 ธนาคารออมสิน ส่งคนไปร้องศาลบังคับคดีเรียกเงิน 3,000,000 บาทที่หมอเพียรกู้มาทำสถานสงเคราะห์ ทางจังหวัดก็เลยแนะนำให้เลิกมูลนิธิ แต่เพราะความดีของหมอ ทำให้เกิดกระแสในหมู่ประชาชนที่ช่วยกันบริจาคเงิน สามารถปลดหนี้ได้สำเร็จ
ร้ายที่สุดก็คือ ตำรวจที่มีหน้าที่ปราบปราม กลับไปรู้เห็นเป็นใจกับพวกแมงดาเสียเอง ตำรวจอย่างนี้ก็ต้องปราบให้พันจากกรมตำรวจไปเหมือนกัน
แม้จะเป็นนามสกุลที่เพิ่งตั้ง แต่เชื่อหรือไม่ว่า ครั้งหนึ่งเคยมีคนใช้นามสกุล เวชบุล มากถึง 4,000 คน
เพราะทั้งหมดล้วนเป็นเด็กกำพร้าที่พ่อแม่ไม่ต้องการแล้ว แต่โชคดีที่พวกเขายังเป็นหมอเพียรรับเป็นแม่ และให้ใช้นามสกุลเดียวกับหมอทุกคน หมอมอบทั้งความรัก มอบทั้งโอกาสในชีวิต ส่งเสียให้เรียนจบสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
หมอเคยบอกว่า “อย่าประมาทเด็กไทยว่ามีปัญญาเลว เด็กจากพีระยานุเคราะห์ที่ถูกทิ้งขว้างแต่เล็กๆ นี้ เรียนอะไรได้สำเร็จยิ่งกว่าเด็กๆ ที่มีพ่อแม่พร้อมหน้า เด็กจากที่นี่ไปเรียนต่อเมืองนอกและสอบได้ที่ดีๆ เสียด้วย”
จากความเชื่อในวันนั้นถูกพิสูจน์แล้วในวันนี้ เด็กบางคนเติบโตเป็นครู พยาบาล ช่างภาพ พ่อครัว นักบัญชี และอีกไม่น้อยที่ย้อนกลับมาสืบสานปณิธานของผู้เป็นแม่
เช่นเดียวกับชีวิตของหมอเพียรที่มีผู้ขอชีวประวัติของท่านไปถ่ายทอดออกเป็นภาพยนตร์ฮอลลิวูด หรือแม้แต่นิตยสาร Reader Digest ก็ยังนำเสนอเรื่องราวของหมอเพียรจนโด่งดังไปทั่วโลก
แม้วันนี้หมอเพียรจะเป็นเพียงตำนานที่หลายคนอาจหลงลืมไปแล้ว หากแต่การทุ่มเทแรงใจ แรงกาย ตลอด 40 กว่าปี ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคน พยายามสู้ต่อไป เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิมให้เกิดขึ้น
ย้อนเรื่องราวของตำนานแพทย์ ผู้บุกเบิกงานระบาดวิทยา จนนำไปสู่การควบคุมโรคระบาดในเมืองไทยอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
ครูแพทย์นักคิด นักบุกเบิก ผู้สร้างนวัตกรรมแก่สังคมไทย ทั้งแพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาศาสตร์การกีฬา วิ่งเพื่อสุขภาพ น้ำเกลือ และอื่นๆ อีกมากมาย
นักเล่านิทาน เจ้าของรายการ ‘บ้านเด็กดี’ ที่อยู่ในความทรงจำของเด็กไทยยุค 90
คุณหมอผู้เปลี่ยนชีวิตของตัวเอง และจุดกระแสความเชื่อของคนไทยเรื่องอายุยืน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะใช้ชีวิตถึง 120 ปี
คนรักเมียแดนภารตะ ผู้สร้างนวัตกรรม ผ้าอนามัย ราคาถูก ที่ทุกคนเข้าถึงได้ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง Pad Man
สัมผัสเรื่องราวของ นพ.สุด แสงวิเชียร ครูผู้ให้แก่ศิริราชพยาบาล หนึ่งในแพทย์คนสำคัญผู้บุกเบิกวิชากายวิภาคศาสตร์ของเมืองไทย
อาจารย์ปิง แห่ง DA’VANCE ที่เปลี่ยนห้องเรียนให้กลายเป็นเวทีทอล์กโชว์ และทำให้เด็กไทยนับแสนหลงใหลวิชาไทย-สังคมศึกษา จนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สำเร็จ
หนึ่งในค่ายดนตรีที่เติบโตมากับยุคอินดี้ครองมือ ซึ่งจุดกระแสด้วยเพลงที่มีความเท่และแตกต่าง ทั้ง Sleeper1, Portrait, Morningsurfers, Soundlanding และ Moon
คุณหมอผู้เปลี่ยนชีวิตของตัวเอง และจุดกระแสความเชื่อของคนไทยเรื่องอายุยืน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะใช้ชีวิตถึง 120 ปี
ตำนานแชมป์โลกมวยสากลตลอดกาลของเมืองไทย ผู้เคยจุดกระแส เขาทรายฟีเวอร์ และทำให้ทุกคนต้องรีบกลับบ้านไปรับชมโทรทัศน์
ผู้พลิกชีวิตจากเด็กสลัมคลองเตย สู่ตลกอัจฉริยะของเมืองไทย ที่สร้างมุกสุดคลาสสิกและอยู่ในใจของผู้คนมาจนถึงปัจจุบัน
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.