ช่วงที่ COVID-19 ระบาดรอบแรก ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน ประกาศยกอพาร์ทเมนท์ทั้งตึกให้เป็นที่พักหมอและพยาบาลศิริราชพยาบาล เพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส COVID-19
ครูเล็กเขียนความตั้งใจผ่าน Facebook ของตัวเองว่า
“คุณแม่ของฉันผูกพันกับโรงพยาบาลศิริราช มายาวนาน เนื่องในยามวิกฤตเช่นนี้ ครอบครัวจึงขอยกตึก Apartment PSB1 ทั้งตึก ซึ่งอยู่ใกล้ รพ. ศิริราช ให้แพทย์และพยาบาลที่ไม่สามารถกลับบ้าน พักผ่อนจนกว่าภารกิจของท่านสิ้นสุด เพื่อตอบแทน ความเสียสละของท่าน ขอบคุณลูกๆ ที่พร้อมใจกันทำสิ่งนี้ ขอบคุณคุณแม่ ขอบคุณแพทย์และพยาบาลทุกท่าน #covid-19”
ครั้งหนึ่ง ยอดมนุษย์..คนธรรมดา เคยแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนครูเล็กถึงโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน เพื่อพูดถึงเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่หล่อหลอมและผลักดันให้เธอก้าวมายืนอยู่จุดนี้
ตอนนั้นเธอได้เล่าเรื่องราวมากมาย ทั้งบทบาท ความเป็น ‘ครู’ ‘หนังสืองานศพ’ และ ‘แม่’ ผู้หญิงที่มีอิทธิพลมากที่สุดในชีวิต เราจึงอยากชวนทุกคนมาสัมผัสตัวตนและความคิดของผู้หญิงธรรมดาที่ไม่ธรรมดาคนนี้
“เราก็เหมือนหัวมันที่ค่อนข้างใหญ่ สร้างต้นไม้ได้เยอะมาก เราจึงต้องใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่สร้างต้นใหม่ๆ เพราะอีกหน่อย พอหมดแรงไปจบไป ต้นใหม่ๆ จะได้โตและนำสิ่งที่เราให้เขาสร้างต้นใหม่ๆ ต่อไป”
ย้อนกลับเมื่อเกือบสิบปีก่อน จากที่ดินสีน้ำตาลที่แทบไม่มีต้นไม้เลยสักต้น แต่วันนี้กลับพลิกฟื้นเป็นดินแดนแสนร่มรื่นเย็นสบาย เขียวชะอุ่มด้วยพรรณไม้นานาพันธุ์
นี่คือ ‘โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน’ โรงเรียนเล็กๆ ที่ครูเล็กตั้งใจทุ่มชีวิตที่เหลือ เพื่อสร้างเด็กดีมีคุณภาพ ทั้งสติปัญญา และคุณธรรม คืนสู่สังคม ตลอดจนสานความฝันของคุณแม่ผู้ล่วงลับ คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ ที่อยากเห็นบุตรสาวคนรองทำประโยชน์แก่แผ่นดิน ให้เป็นจริง
ที่ดินตรงนี้เป็นสมบัติที่คุณหญิงสุภัทรารักมาก ทุกฤดูร้อนเธอมักพาลูกๆ มาเล่นซนอยู่เสมอ เด็กๆ ก็ดูจะผูกพันกับที่นี่ แต่เมื่อลูกสาวคนเล็กเติบโตขึ้น ความรู้สึกก็เปลี่ยนแปลงไป
“แม่บอกว่าวันหนึ่งเธอจะชอบ ไม่มีทาง!! ร้อนจะตายมีแต่แย้วิ่งไปวิ่งมา” ครูเล็กเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
กระทั่งเวลาผ่านไป เด็กสาวคนเก่าอายุล่วงเลยถึง 60 ปี เธอเดินทางมาหัวหินอีกครั้ง ตั้งใจจะปล่อยที่ดินผืนนี้ให้คนอื่นเช่า แต่สุดท้ายกลับเปลี่ยนใจ เมื่อสัมผัสถึงความทรงจำวัยเยาว์ สมัยที่ยังลุยโคลนลุยทราย จึงเปลี่ยนใจหันกลับมาจัดสรรที่ดิน 100 ไร่ด้วยตัวเองแทน
โรงเรียนคือสิ่งแรกที่นึกถึง เพราะแต่ก่อนคุณแม่สังเกตเห็นแววลูกสาวคนนี้ตั้งแต่เล็กๆ ว่าเป็นพวกชอบสอน ชอบนำกลุ่ม และยังเคยออกแบบโรงเรียนในฝันของตัวเองด้วยซ้ำ จึงกันพื้นที่ส่วนหนึ่งข้างวัดระฆังโฆสิตารามมาสร้างเป็นโรงเรียนสุภัทรา หวังให้กลับมารับหน้าที่สอนและบริหาร
ช่วงแรกๆ ครูเล็กเข้ามาสอนวิชาภาษาอังกฤษ กระทั่งได้เจอความท้าทายใหม่ๆ เลยเบนเข็มไปยังสายศิลปินเต็มตัว ก่อนจะพบว่าอาชีพครูก็น่าสนใจไม่แพ้กันจึงหันมาพัฒนา ‘ภัทราวดีเธียรเตอร์’ โรงละครที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 ให้เป็นสถาบันสอนศิลปะการแสดงควบคู่กันไป
“เราไม่อยากเช้าตื่นขึ้นมาสอนหนังสือ อยากสบายๆ แล้วก็เล่นละคร ก็ทำเป็นโรงเรียนการแสดง ซึ่งไม่ต้องทำทุกวัน หน้าที่รับผิดชอบที่ต้องทำทุกวันมันเรื่องใหญ่มาก เราทำไม่ได้ เพราะเราเป็นเด็กที่แบบว่าค่อนข้างจะตามใจตัวเอง”
แต่ในวัยเลข 6 ครูเล็กเชื่อว่าตัวเองมีประสบการณ์และศักยภาพเพียงพอที่จะทำโรงเรียนทั่วไปได้แล้ว
แน่นอนการตัดสินใจนี้มีเสียงท้วงติงจากคนรอบข้างไม่น้อย ด้วยต่างมองว่า เธออายุเกินกว่าการเริ่มต้นอะไรใหม่ แต่เพราะต้องการเอาชนะตัวเอง จึงไม่ปล่อยให้คำทัดทานเหล่านั้นมาเป็นอุปสรรคต่อความตั้งใจ และเลือกเดินหน้าต่อทันที
“ดิฉันถูกปลูกฝังว่าใครๆ เกิดมาก็ทำอะไรไม่เป็น แต่เราศึกษาได้ ถามผู้รู้ ลองผิดลองถูก แล้วส่วนตัวเป็นคนไม่แคร์เรื่องการสบประมาท เพราะคนเราต้องถูกสบประมาท ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีพลังในการต่อสู้”
ประจวบกับเวลานั้นภัทราวดีเธียเตอร์ถูกน้ำท่วมเสียหายหนัก เธอจึงยกที่ดินข้างวัดระฆังฯ ให้บุตรสาวทำโรงแรม Theatre Residence และย้ายมายังประจวบคีรีขันธ์เต็มตัว เพื่อขับเคลื่อนความตั้งใจนี้เต็มที่ กระทั่งโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน และวิกหัวหิน โรงละครแห่งใหม่สำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง
ทว่าการเป็นครูโรงเรียนสามัญไม่ใช่เรื่องง่าย มีเรื่องมากมายที่ต้องฝ่าฝัน และเรียนรู้
“ตอนเปิดใหม่ๆ เราก็ทำแบบที่กระทรวงศึกษาฯ สั่งเลย แต่สุดท้ายเรามองแล้วว่าไม่เวิร์ก คือแก่นถูกต้อง แต่มันจะเวิร์กก็ต่อเมื่อเราเข้าใจเด็กแต่ละคน ที่นี่เราใช้เทคนิคของหลายๆ โรงเรียนที่ดิฉันเคยเรียนมาสอนเด็ก บางทีเราอาจจะใช้ของอังกฤษ ของไทย หรือของที่คิดขึ้นมาเอง ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร เราไม่ได้ทรีตเด็กเหมือนกันหมด เพราะคนไม่ใช่ปลากระป๋อง”
ปัจจุบันโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน มีนักเรียนอยู่ราว 100 คน เริ่มแรกรับเด็กเฉพาะระดับมัธยมศึกษา ก่อนขยายไปสู่ระดับอนุบาลและประถมศึกษา โดยได้รับความกรุณาจากหม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา มอบครูจำนวนหนึ่งที่เคยฝึกสอนไว้ให้มาร่วมงานด้วย
จุดเด่นของโรงเรียนนี้คือการสอนที่หลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการของเด็ก
ที่นี่จึงเต็มไปด้วยกิจกรรมเสริมความรู้และทักษะชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ขี่ม้า เล่นกอล์ฟ ดูแลต้นไม้และบอนไซ ทำอาหาร หรือถ่ายภาพ โดยมีผู้เชี่ยวชาญของแต่ละศาสตร์หมุนเวียนมาให้ความรู้ อาทิ Alicaia Dhyana House ผู้กำกับการแสดงจากนิวยอร์กช่วยสอนการแสดง หรืออานันท์ นาคคง ศิลปินรางวัลศิลปาธร สอนวิธีสร้างดนตรีเพื่อการแสดง ทั้งหมดก็เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจความฝันของตัวเองยิ่งขึ้น
“บางคนอยากเป็นเชฟ ก็ส่งไปอยู่โรงแรมลูกสาวที่พุทธรักษา ให้ไปทำขนมปัง ตั้งแต่ตี 3 พอไปทำแล้ว เขาก็มาบอกว่าไปเรียนรัฐศาสตร์ดีกว่า เป็นทูตหรือเป็นอะไร แล้วจ้างเชฟเอา ไม่ต้องมาทำเอง”
สำหรับครูเล็กแล้วประสบการณ์และความรู้ต่างๆ เป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้สำหรับการเป็นครู
เธอจึงนำบทเรียนตลอด 72 ปีมาตกผลึกและถ่ายทอดไปสู่นักเรียน แม้บางอย่างอาจเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ถือเป็นภูมิคุ้มกันและแนวทางการดำเนินชีวิตได้เช่นกัน
“สมัยเด็กๆ เราจะรู้สึกว่าครูบางคนโหด ดุร้าย เช่นครูที่อังกฤษคนหนึ่งให้วาดรูปดอกไม้ แล้วสั่งให้เขียนไว้ด้วยว่าเป็นดอกไม้อะไร เราก็วาดจนเสร็จ เขียนชื่อตัวเองเรียบร้อย แต่ไม่เขียนว่าดอกอะไร ครูก็ถามว่าทำไมเธอไม่เขียน ให้ศูนย์ เราก็บอกว่าครูไม่รู้หรือว่าดอกอะไร ครูเลยบอกว่า หนูทำงานไม่อ่านโจทย์เหรอ แล้วถ้าคนที่เขาไม่รู้จักล่ะ เราไม่ได้ทำงานให้ครูนะ แต่ทำงานให้คนทั้งโลก ตอนนั้นโกรธมาก แต่ตอนนี้เห็นเด็กๆไม่เขียนชื่อ ถึงนึกขึ้นได้ เราก็เป็น ถ้าครูไม่ให้ศูนย์ไม่จำหรอก คะแนนจึงไม่สำคัญ ความรู้ต่างหากที่สำคัญกว่า”
การเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ ทำให้ครูเล็กฉลาดขึ้น มีเมตตาขึ้น และมองเห็นความสุขอยู่ในตัวของคนอื่นเพิ่มขึ้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือการเข้าใจว่าต้องปลูกฝังเด็กอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด
อย่างล่าสุด ครูเล็กต้องการให้นักเรียนหันมาเล่นดนตรีเพิ่มขึ้น จึงตัดสินใจเรียนกีตาร์ เมื่อเด็กเห็นครูดีดกีตาร์ก็สนใจอยากเล่นบ้าง จนสุดท้ายเกิดนักกีตาร์หน้าใหม่ร่วม 20 คน และพอเด็กเล่นเก่งขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งวงของตัวเอง ครูก็วางมือ ปล่อยเด็กๆ สนุกกันเองต่อไป
ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากครูไม่เข้าใจธรรมชาติของลูกศิษย์ ไม่รู้วิธีจัดการในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ นี่คือความท้าทายครั้งสำคัญที่ครูเล็กพิสูจน์ให้เห็นว่า เธอสามารถก้าวข้ามและสามารถสร้างบุคลากรดีๆ แก่ประเทศนี้ แม้อาจเป็นเพียงแค่หลักร้อยก็ตาม
คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อครูเล็กที่สุดคือ คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ
แม่ของเธอเป็นผู้หญิงเก่ง เป็นนักธุรกิจแถวหน้าของประเทศในยุคที่แวดวงนี้รายล้อมไปด้วยผู้ชาย เป็นเจ้าของเรือด่วนเจ้าพระยา เป็นนักขับเคลื่อนสิทธิสตรี เป็นเนติบัณฑิตหญิงรุ่นแรกๆ ของเมืองไทย และยังเคยเป็นสมาชิกหญิงของสภาเทศบาลนครธนบุรีอีกด้วย
แม้เส้นทางของทั้งคู่อาจไม่เหมือนกันเลย แต่แม่ก็เป็นคนที่เข้าใจครูเล็กมากที่สุด ความฝันของทุกอย่างของเธอล้วนมีแม่อยู่เบื้องหลัง
ในช่วงวัยสาว เมื่อเธอตัดสินใจหยุดเรียนวิชาบริหารธุรกิจ และขอย้ายไปเรียนด้านศิลปะการแสดงและการออกแบบเครื่องกายแทน แม่ก็ไม่ขัดข้อง หรือครั้งที่อยากทำ ‘ภัตตาคารลอยน้ำ’ ที่มีการแสดงดนตรีสด ก็ปล่อยให้ทำ จนกลายเป็น Lex’s Showboat เรือสำราญล่องแม่น้ำเจ้าพระยาลำแรกของประเทศไทย
เช่นเดียวกัน เมื่อภัทราวดีตัดสินใจไม่รับธุรกิจของครอบครัว แม่ก็ไม่เคยต่อต้านและพร้อมสนับสนุนเสมอ
“ท่านเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ ตอนที่เราก็บอกว่า เราไม่รับงานตรงนั้น ขอโทษนะมันสตางค์ทั้งนั้น คือเราไม่เอาสตางค์ เพราะฉะนั้นอย่ามาบ่นว่าจน เพราะเธอรู้นี่ว่ารายได้คืออะไร แต่ไม่เอาเอง แต่ท่านก็ให้นั่นนี่พอมีสตางค์ใช้..
“ที่สำคัญเราต้องยอมรับว่า เราไม่พร้อม สติปัญญาไม่ใช่ แม่เคยให้ไปตรวจท่าเรือ เราก็ไปตรวจ พอไปตรวจเสร็จ ก็ไปเอาสีไปทา เอาต้นไม้ไปปลูก ซื้อเก้าอี้ใหม่ แม่ให้ไปตรวจเรื่องสตางค์ว่ามีคนโกงไหม แต่เราไปตรวจความงาม เสียตังค์เพิ่มอีกคือความคิดเราคนละอย่าง แม่บอกว่าอยากทำอะไรก็ไปเถอะ”
หลายสิบปีบนเส้นทางสายบันเทิง คุณหญิงสุภัทราเป็นแฟนคลับหมายเลข 1 ของ ‘ภัทราวดี มีชูธน’
ภาพยนตร์ทุกเรื่อง ละครทุกตอน การแสดงทุกโชว์ รายการทุกรายการ ไม่เคยมีสักครั้งที่จะพลาด แม้แต่ช่วงที่ลูกสาวมีความคิดจะทำ One Woman Show ในชื่อว่า ‘คืนหนึ่งกับภัทราวดี’ เมื่อปี 2526 ซึ่งเป็นการแสดงคอนเสิร์ตสไตล์บรอดเวย์ครั้งแรกของเมืองไทย ก็ได้แม่เป็นสื่อกลางช่วยหาผู้สนับสนุน จนงานประสบความสำเร็จ และโด่งดังถึงขั้นต้องขยายรอบการแสดงถึง 9 รอบ
“ท่านดูดิฉันเล่นบังลังก์เมฆทุกวันจนจบ หลังจากนั้น 3 วันท่านก็สิ้น คือท่านรอจนจบ ละครไม่จบฉันไม่ตาย” ครูเล็กกล่าวติดตลก
สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นแรงผลักดันครูเล็กให้เดินหน้าตามความฝันของตัวเองอย่างมั่นคง จนกลายเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับในวงการมากที่สุดคนหนึ่ง การันตีจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2557
แต่ถึงมั่นใจในศักยภาพของบุตรสาวเพียงใด ด้วยธรรมชาติของคนเป็นแม่ย่อมมีความห่วงใยลูกเป็นธรรมดา ที่ผ่านมาคุณหญิงจึงพยายามหากลวิธีต่างๆ เพื่อมอบหมายภาระหน้าที่ให้ครูเล็กรับผิดชอบ
“แม่จะทำตัวน่าสงสาร เช่นมาบอกว่าตลาดมีคนโกง แล้วแม่ก็ป่วย คือจับเส้นเราถูกว่าใครโกงไม่ได้ เราก็อ๋อ เดี๋ยวไปดูให้ เห็นไหมตกหลุม ไปดูแล้วก็มารายงาน แม่ก็พยักหน้า จากนั้นก็ให้ไปดูเรื่องนี่นั่น จนเราเข้าไปเต็มตัว จากนั้นไม่นานท่านก็สิ้น แล้วในมรดกท่านยกตลาดให้เรา พอเรารู้จักมันแล้วก็ทำงานต่อได้ เงินตรงนั้นก็ทำให้เราทำอะไรได้อีกเยอะแยะ ถ้าไม่มีเงินตรงนั้น ก็คงไม่มีกิน เพราะเราไม่เอาอะไรเลย”
กระทั่งในปี 2536 ก็เกิดจุดพลิกผันครั้งใหญ่ในชีวิตของครูเล็ก เมื่อคุณแม่วัย 83 ปีได้จากไปตลอดกาล
“ตอนนั้นแม่บอกว่าไม่สบาย แม่ชอบมาหัวหิน อยากให้เราหารถที่นอนได้ให้หน่อย เราก็บอกเดี๋ยวหาให้ เดี๋ยวอยู่นั่นแหละ จนวันหนึ่งเจอรถที่นอนได้ จึงสั่งให้แม่
“2-3 วันก่อนรถจะมา แม่เสีย รถมาจอดหน้าบ้านที่งานศพ มันเป็นอะไรที่ให้อภัยตัวเองไม่ได้เลย คำว่าเดี๋ยวต้องไม่มีอีกแล้วในชีวิตฉัน เพราะว่าชีวิตมนุษย์มันไม่มีคำว่าเดี๋ยว เราต้องใช้เวลานานถึงจะให้อภัยตัวเองได้ รู้สึกโมโหตัวเองมาก เพราะแม่ทำอะไรให้ฉันตั้งเยอะ ฉันทำให้แม่แค่นี้ไม่ทัน
“พอดีเพื่อนๆ เขามางานศพก็นัดกันไปนั่งสมาธิ เขาก็ถามเราว่าไปไหม ไปก็ดีนะ จะได้ทำบุญให้แม่ ตอนนั้นอะไรที่ทำให้แม่ได้ทำหมด ถึงรู้ว่ามันสายไปแล้ว ก็มานั่งสมาธิที่เชียงใหม่กับท่านอาจารย์วสิษฐ เดชกุญชร กับท่านอาจารย์ John Coleman เป็นเวลา 8 วัน พอกลับมาก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลย
“เราเห็นทุกอย่างสวยงาม เริ่มเข้าใจอะไรหลายอย่างเช่น ของพังเพราะเราไม่ดูแลมันให้ดี ก็ต้องเป็นแบบนี้ เหมือนกับแม่ ถ้าเราใส่ใจทำอะไรเดี๋ยวนั้น แม่คงได้สิ่งที่เขาฝัน แต่ว่าเราไม่ได้เจตนาร้าย เป็นเพราะเราไม่รู้ พระท่านเรียกว่าความโง่ ความเขลา แต่ตอนนี้รู้แล้ว ก็อย่าทำอีก”
แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า 26 ปี แต่แม่ยังคงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของครูเล็กไม่เปลี่ยนแปลง
ความคิด ความตั้งใจ หรือคำพูดที่แม่เคยย้ำที่ว่า ‘จะทำอะไรก็ตาม ต้องทำให้ดีที่สุด’ ยังคงฝังแน่นในใจเสมอ เพราะความจริงแล้ว เธอก็คือลูกไม้ที่เติบโตใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ชื่อสุภัทรานั่นเอง
จะมีสักกี่คนที่คิดทำหนังสืองานศพของตัวเองในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
ครูเล็กเป็นหนึ่งในนั้น หนังสือเล่มโตหนา 376 หน้า รวบรวมภาพและเรื่องราวตลอด 7 ทศวรรษของผู้หญิงที่ชื่อภัทราวดี มีชูธน อย่างครบถ้วน ทั้งบทเรียน ความคิด ความสำเร็จ และจุดพลิกผันต่างๆ ในชีวิต
หากแต่สำหรับครูเล็กแล้ว หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นเพียงอนุสรณ์ธรรมดา แต่ยังถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการได้เรียนรู้เรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นรอบกาย และยังสามารถใช้เป็นตำราสอนผู้คนได้อย่างไม่ที่สิ้นสุด
จุดเริ่มต้นของ PATRAVADI BOOK เกิดขึ้นหลังครูเล็กเริ่มเผชิญปัญหาสุขภาพ จนต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุง เธอคิดว่าคงอยู่ได้อีกไม่นานนัก จึงอยากทำหนังสือเล่มสุดท้ายออกมาเพื่อส่งต่อไปยังคนที่รัก
“หนังสืองานศพเรา ใครทำก็ไม่เหมือนเราทำเอง เพราะว่าเรามีความเกี่ยวโยงเกี่ยวพันกับหลายๆ ศิลปินในชีวิตนี้เยอะมาก แล้วเราเป็นคนเก็บรูป คุณแม่เองก็เก็บรูปมาตั้งแต่เล็กๆ เช่นกัน ยังอยู่ในกระบะใหญ่ บางคนที่เรามีรูปเขา เขาคงไม่ได้เก็บรูปพวกนี้ เขาอาจไปใช้ประโยชน์ได้”
ครูเล็กใช้เวลาทำหนังสือเล่มนี้ 3 ปีเต็ม แต่ไม่เสร็จสักที ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังไม่ถูกใจผลงานที่ออกมา กระทั่งเมื่อเพื่อนจากเยอรมันชื่อ Beat Presser มาช่วยสอนถ่ายภาพที่โรงเรียน ครูเล็กจึงเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง
Presser เป็นช่างภาพที่มีชื่อเสียงระดับโลก เคยเป็นบรรณาธิการนิตยสารภาพถ่าย Palm Beach News และ The Village Cry เคยมีผลงานนิทรรศการมาแล้วมากมาย และยังเคยทำงานกับครูเล็ก ตั้งแต่สมัยยังทำภัทราวดีเธียเตอร์เมื่อสิบกว่าปีก่อน
“เขาถามคนที่ทำงานให้เราว่า คุณรู้จักครูเล็กไหม เขาก็บอกรู้จัก แล้วก็ถามต่อว่าเคยกินข้าวกับครูเล็กกี่หน เขาบอกรู้จักในที่ประชุม บรีฟงาน นั่นแหละคุณไม่รู้จักเขา แล้วจะทำหนังสือให้เขาได้ยังไง นี่ไงวิธีที่ฝรั่งคิด คุณจะทำอะไรต้องศึกษา ต้องรีเสิร์จ มันสำคัญมากนะ เราก็ได้เรียนรู้จากตรงนั้น”
ในที่สุด Presser จึงตัดสินเข้ามารับผิดชอบภารกิจทำหนังสืองานศพให้ครูเล็กแทน
วิธีการทำงานของเขาคือการมานั่งคุยกับครูเล็กเป็นเดือน เพื่อสอบถามเรื่องราวของภาพนับหมื่นภาพว่ามีเบื้องหลังอย่างไร กระทั่งครบทุกใบ เสร็จแล้วก็ใช้เวลาอีกพักใหญ่เลือกรูปให้เหลือประมาณ 500 ภาพ ก่อนจะส่งต่อให้ Vera Petchel ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำหนังสือให้คนดังทั่วยุโรปเพื่อออกแบบรูปเล่ม
“เขาบินไปบินมาอยู่ 4 รอบ จนโรงพิมพ์ปรินต์ตัวอย่างออกมา เราก็ส่งไปให้เขาดู พอเขาเห็นเขาบินมาเลยบอกว่ายังไม่ใช่ เนื่องจากสีที่เขาให้ขาวดำมันไม่เหมือนกันแม้แต่อันเดียว เพราะว่าแต่ละรูปมันมีสีตามกาลเวลา นี่คือประวัติศาสตร์ที่ต้องเก็บ ต้องเคารพ โดยเขาจะตกแต่งรูปเพียงแค่ไม่ให้มีขูดขีดอะไรมากนัก บางทีก็ยังเหลือให้เห็นว่าสภาพเป็นยังไง
“หลังจากนั้นเขาก็ไปนั่งเฝ้าแท่นพิมพ์เลย เพื่อตรวจแต่ละแผ่นว่าใช่หรือไม่ นั่งอยู่เป็นเดือนโดยไม่ได้คิดราคาเพิ่ม เขาบอกว่านี่เป็นหน้าที่ของเขา เราถึงบอกว่า เราโชคดีที่เจอครูดีๆ เจอศิลปินดีๆ มาสอนเราตั้งแต่ไหนๆ แล้ว เขาคิดกันอย่างนี้ เขาทำงานกันอย่างนี้ เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่งานคือศักดิ์ศรี เพราะฉะนั้นงานเราต้องดีที่สุด ถึงจะฟรีหรือบาทเดียว ก็ต้องดีที่สุด เพราะมันคือฝีมือเรา”
และนี่คือหัวใจของมืออาชีพทุกคนไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดๆ ก็ตาม
คำว่าเดี๋ยวต้องไม่มีอีกแล้วในชีวิตฉัน เพราะว่าชีวิตมนุษย์มันไม่มีคำว่าเดี๋ยว เราต้องใช้เวลานานถึงจะให้อภัยตัวเองได้ รู้สึกโมโหตัวเองมาก
“ตอนนี้อายุ 70 คิดว่าตัวเองแข็งแรงกว่าตอน 60 เสียอีก”
ทุกวันนี้ ครูเล็กยังสอนหนังสือเกือบตลอด นอกจากนี้ยังมีงานละคร ละครเวที และอื่นๆ บ้างประปราย
ครูเล็กบอกว่า ถึงสภาพร่างกายอาจช้าลงไปบ้าง แต่สติปัญญากลับโตขึ้นเรื่อยๆ สามารถทำอะไรต่อมิอะไรมากมาย ที่สำคัญการได้อยู่กับเด็กที่เต็มไปด้วยพลัง ช่วยเติมเต็มให้ชีวิตที่ช้าลงมีความสมดุลยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจึงไม่เคยคิดจะหยุดทำงานหรือเกษียณอายุเลย
“เกษียณคือลมหมด ถึงบอกว่าถ้านอนแบ็บอยู่บนเตียงก็ยังพูดได้ ยังเขียนได้ คิดอะไรก็จดใส่โทรศัพท์ได้ ก็จะทำต่อไป.. เคยมีบางช่วงที่ไม่ทำอะไรเลย นั่งเฉยๆ ก็จะเลอะๆ โง่ๆ เหมือนรถที่ไม่ได้ใช้ สตาร์ทไม่ติด แล้วก็เริ่มป่วย เลยรู้สึกว่า รถมันต้องใช้ทุกวัน ไม่ต้องวิ่งเร็วนัก แต่มันก็ยังวิ่ง หรือแม้แต่ต้นไม้แก่ๆ ก็ยังมีลูก มีดอกไม้ให้เรา แล้วเราจะยอมแพ้ยังไง
“ไม่เพียงแค่นั้น การสอนเด็กทำให้เราได้ออกกำลัง อาการป่วยที่เคยมีแรกๆ ตอนนี้ไม่มีเลย อย่างหัวเข่าที่ตอนนั้นต้องใช้ไม้เท้า ทุกวันนี้ไม่ต้องแล้ว วิ่งได้เดินได้ นี่คืออานิสงส์ คือบุญกุศลที่เราได้รับ โรคหัวใจที่เคยเป็น ตอนนี้ก็ไม่มีเลย คอเลสเตอรอลก็ไม่มี เพราะเรากินอาหารเด็ก เด็กต้องกิน 5 หมู่ เราเลยได้อาหารครบหมู่ เรียกว่าโตไปพร้อมกับเขา”
แม้ชีวิตของครูเล็กในวันนี้ ไม่ได้อยู่ด้วยความฝันมากมายเหมือนเมื่อวานอีกแล้ว
หากแต่อยู่ด้วยความสุข เป็นความสุขที่ได้สัมผัสกับความจริงของธรรมชาติ ได้ค้นพบความงดงามของศิลปะที่เชื่อมโยงกับจิตใจของมนุษย์ ได้เชื่อมโยงคนสองวัยไว้ด้วยกัน ได้รู้จักถึงวิธีส่งต่อปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสืบสานเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ดี ที่มีคุณภาพต่อไป
“แต่ละช่วงของชีวิต ความหมายของชีวิตไม่เหมือนกัน เรามองโลกไม่เหมือนกันเลยตั้งแต่เด็กๆ เป็นสาว เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เราผ่านโลกมา 72 ปี เก็บเกี่ยวความรู้ ความผิดพลาด ความเศร้าโศก ความสุข เก็บเกี่ยวมาหมด ต้องบอกว่าประสบการณ์ชีวิตมันทำให้เรามองอะไรได้ลึกขึ้น เพราะเรามีประวัติศาสตร์เยอะขึ้น เราก็เลยมองอะไรละเอียดขึ้น สวยงามขึ้น”
และบางทีเพียงเท่านี้ก็อาจพอแล้ว สำหรับชีวิตของคนๆ หนึ่ง
บรมครูของวงการตลก ผู้เป็นต้นแบบของนักแสดงขายขำ ผู้เต็มไปด้วยมุกแพรวพราว
ศิลปินล้านนา จรัล มโนเพ็ชร ชายผู้ทำให้ภาษาคำเมืองกลายเป็นภาษาที่ทั่วประเทศคุ้นเคย และสร้างบทเพลงที่อมตะ
นักแสดงยอดฝีมือ เจ้าของรางวัลตุ๊กตาทองมากมาย เจ้าของสมญาพระเอกตลอดกาล
ครู ผู้สร้างบทเรียนในความทรงจำของคนไทยมากมาย
จำเรื่องราวของผองเพื่อนมานะ มานี ปิติ ชูใจ ได้ไหม เราขอย้อนนำเรื่องราวทั้ง 12 เทอม กลับมาเล่าให้ฟัง
ครูเล็ก-ภัทรวาดี นักแสดงชั้นครูของเมืองไทย กับเรื่องเล่าถึงแม่ บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในชีวิตของเธอ
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
ย้อนเรื่องราวอัลบั้มในตำนานของสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Bakery Music
DAJIM ศิลปินฮิพฮอพผู้จุดกระแสเพลงใต้ดินให้โด่งดังไปทั่วประเทศ
เส้นทางชีวิตของ จอห์น นูโว จากศิลปินยอดนิยม สู่ผู้บุกเบิกสื่อไอทีของเมืองไทย
ศิลปิน นักแต่งเพลง เจ้าของบทเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) ผู้ที่ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ผลงานที่ล้ำสมัย
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.