..รายการนี้ไม่เหมาะกับคนที่พอใจแล้วกับสภาพสังคมไทย
..รายการนี้ไม่เหมาะกับพวกอนุรักษ์นิยมแนวอ่อนไหว
..รายการนี้ไม่เหมาะกับคนสูงวัยแต่ใจไม่กว้างพอ
..และรายการนี้ไม่เหมาะเลยกับคนที่ไม่มีเสียงหัวเราะในหัวใจ
สโลแกนท้าทายสังคม ซึ่งมาพร้อมกับเสียง ‘ชักโครก’ ครื้ดดด..
คือสิ่งที่คนฟังวิทยุยุค 90 ต่างจดจำได้อย่างดี เมื่อพูดถึง ถามมาซิจ๊ะ…โดน The Toilet Show ทอล์กโชว์ในตำนานที่ครองใจวัยรุ่นไทยมานานนับสิบปี
รายการวิทยุเล็กๆ แต่เต็มไปด้วยความไม่ธรรมดา ทั้ง การขนผู้ดำเนินรายการมาเป็นกองทัพ ไม่ว่าจะเป็น บอล-กิตติพัฒน์ ลิมพะสุต, เอ็ม-สุรศักดิ์ วงศ์ไทย, ป๋อง-กพล ทองพลับ, ไก่-ทรงพล พงษ์สร้อยเพชร, น้าหวัง-ทวีรัชฏ์ รัชไชยบุญ, ก้องภพ วิบูลสมัย, ดร.กะทิ-สิราภรณ์ มันตาภรณ์, อ๋ายดอทคอม-พงศ์อมร สุขสมจิตร และผองเพื่อนอีกมากมาย ซึ่งต่างพร้อมใจกันมาสาดมุก จิกกัด อำ แกล้ง แซว ผู้ฟังแบบไม่มียั้ง
ประเด็นพูดคุย ซึ่งมีสารพัดเรื่อง ตั้งแต่ กีฬาสีโรงเรียน บ้านอยู่ไหน ไปเที่ยวที่ไหนมา ไปจนถึงหนัง เพลง ประสบการณ์แปลกๆ หรือแม้แต่สถานการณ์ในสังคมที่ถูกนำมาขยี้ใหม่ ต่อยอดเป็นประเด็นใหม่ที่แปลกแหวกแนว ถึงขั้นต้องอุทาน ‘คิดได้ยังไง!!’ กันเลยทีเดียว
ไม่แปลกเลยว่า เหตุใดรายการที่หายจากหน้าปัดวิทยุไปตั้งแต่ปี 2547 จึงเข้าไปสู่ในใจผู้คนมากมาย และยังถูกพูดถึงมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงขั้นหลายคนยกให้เป็นต้นแบบรายการทอล์กแนวเฮฮากันเลยทีเดียว
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา เลยถือโอกาสดีชักชวน บอล-กิตติพัฒน์ ลิมพะสุต บุรุษผู้ฝังตัวกับรายการในตำนานนี้ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย มาร่วมทบทวนเรื่องราวของพื้นที่เล็กๆ แต่เปี่ยมล้นด้วยความทรงจำ ซึ่งพร้อมจะเป็นเพื่อน เป็นพี่ชาย ให้น้องๆ ได้รู้สึกผ่อนคลายและแสดงความเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่
ถ้าพร้อมแล้ว..เตรียมตัวไปกดชักโครกกันได้เลย
ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 30 ปีก่อน หากถามว่ารายการวิทยุคลื่นไหนดังสุดในประเทศ เชื่อว่าคงไม่มีอะไรเกินหน้า Smile Radio FM 88.0 คลื่นสุดท้ายทางซ้ายสุดไปได้
เพราะที่นี่คือแหล่งรวมตัวดีเจชื่อดังของยุค ไม่ว่าจะเป็น วินิจ เลิศรัตนชัย, หัทยา เกษสังข์, สาลินี ปันยารชุน, มณฑาณี ตันติสุข, นิมิตร ลักษมีพงศ์ หรือแม้แต่ สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ก็ทำรีมิกซ์เพลงออกอากาศ ก่อนไปสร้างปรากฏการณ์ Z-MXZ และ Bakery Music
แต่ถึงสถานีจะเป็นที่ติดอกติดใจของแฟนๆ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นมากเพียงใด ก็ยังมีเวลาอยู่ช่วงหนึ่งที่ถือเป็นจุดบอดเข็นยังไงก็ไม่ขึ้น นั่นคือคืนวันอาทิตย์ เคยมีการวิเคราะห์กันว่า ปกติวันอาทิตย์ผู้คนมักจะเข้านอนเร็ว เพื่อเตรียมตื่นเช้าไปประกอบกิจธุระในวันจันทร์ ฉะนั้นถ้ารายการไม่น่าสนใจจริงๆ ก็คงยากจะดึงดูดผู้คนไว้ได้
ดีเจ.วินิจในฐานะ Program Director ประจำคลื่น เลยคิดว่าควรจะทำอะไรที่ฉีกแนวออกไป จากเดิมที่มีแค่เปิดเพลงเป็นหลัก พอดีช่วงนั้นมักมีแฟนรายการจำนวนมากส่งจดหมายมาหาดีเจ มาคุยเล่นบ้าง ให้กำลังใจบ้าง วินิจก็เลยเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะใช้ช่วงนี้อ่านจดหมายปริมาณมหาศาลที่ส่งเข้ามา พร้อมดึงดีเจชื่อ ‘เกษม พุฒเรืองศรี’ กับครีเอทีฟหนุ่มซึ่งอายุผ่าน 20 มาได้ไม่นาน อย่าง บอล-กิตติพัฒน์ ลิมพะสุต มาดำเนินรายการคู่กัน
“ตอนนั้นผมเป็นก๊อปปี้ไรเตอร์ เป็นครีเอทีฟของบริษัท Media Plus ซึ่งตอนที่ไปทำงานอยู่ที่ Smile Radio ยังเรียนอยู่ปี 4 ที่เกษตรศาสตร์อยู่เลย สมัยนั้นเราก็ไปทำงาน 3-4 วัน แล้วก็แวบไปเรียนสักวันหนึ่ง พอดีพี่วินิจเขาก็มาถามว่ากำลังจะมีช่วงตอบจดหมาย ลองดูไหม เพราะสมัยก่อนคืนวันอาทิตย์เป็นช่วงที่เงียบเหงามาก เหมือนจัดรายการรอเช้าวันจันทร์เพื่อเตรียมบู๊กันใหม่ เรียกว่าจัดเพื่อส่งให้ดีเจมืออาชีพว่างั้น เราก็เลยลองทำดู โดยเกษมเป็นตัวหลัก ส่วนผมก็อาศัยลูกเฮฮา แล้วก็ช่วยเสริมๆ ไป เป็นแนวลูกคู่ เพราะเกษมเขาเป็นคนเรียบร้อยๆ”
ส่วนชื่อรายการ เดิมทีพวกเขาคิดถึงชื่อ ‘Mail Box’ เพราะเป็นช่วงตอบคำถาม แต่ ม.ร.ว.รุจยาภา อาภากร ผู้บริหารของบริษัท เห็นว่าควรใช้ชื่อที่ดูแปลกใหม่ ฟังแล้วสะดุดหู เลยเสนอชื่อ ‘ถามมาซิจ๊ะ…โดน’ ขึ้นมา
ถามมาซิจ๊ะ…โดน ออกอากาศครั้งแรก ในวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม 2534 เวลา 2 ทุ่มครึ่ง แรกๆ เน้นพูดคุยเรื่องสัพเพเหระมากกว่า ยังไม่ได้เปิดสายเป็นเรื่องเป็นราว โดยมีแขกรับเชิญเป็นดีเจคนอื่นหมุนเวียนมาตอบจดหมาย
ด้วยความใหม่ของตัวรายการ บวกกับบุคลิกของผู้ดำเนินรายการที่แตกต่างกันมาก แถมบางทีจดหมายที่ส่งเข้ามาก็ยังไม่สนุกพอ ทำให้รายการยังไม่เปรี้ยงเท่ากับที่ตั้งใจไว้ จึงต้องสร้างจุดขายใหม่ๆ เช่น หาคำถามขึ้นมาเล่น เช่น อะไรเอ่ย 2 แขน ไม่มีขา 1 คอแต่ไม่มีหัว แล้วให้ผู้ฟังเขียนตอบเข้ามา ใครตอบถูกก็จะได้รับรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งต้องใช้เวลานานถึงครึ่งปี ถึงค่อยเข้าที่เข้าทาง
ถามมาซิจ๊ะ…โดน มาดังระดับพีคจริงๆ ก็เป็นช่วงขึ้นปีที่ 2 แล้ว
ตอนนั้นเกษมลาออกไปอยู่ A-Time Media บวกกับสัมปทานคลื่น FM 88.0 หมดพอดี บริษัทก็มาได้คลื่น FM 98.0 แทน ผู้บริหารเลยไปเจรจากับคลื่นวิทยุต่างจังหวัด เพื่อกระจายสัญญาณ Smile Radio ไปทั่วประเทศ เมื่อกลุ่มคนฟังกว้างขึ้น วินิจเลยเห็นว่า ควรมีบุคคลที่มีชื่อเสียงมาร่วมจัดด้วย พอดีเขาเคยได้ยิน เอ็ม-สุรศักดิ์ วงศ์ไทย ปรารภว่าอยากจัดรายการวิทยุ จึงชวนมาร่วมงาน ซึ่งเอ็มก็ตอบตกลงทันที
ในยุคนั้น เอ็มเป็นนักแสดงเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย มีผลงานทั้งภาพยนตร์ ละคร ละครเวที และเพลง ยิ่งมาผสมผสานกับความเป็นคนตลก อารมณ์ดี มีปฏิภาณไหวพริบเป็นเลิศ สามารถเปลี่ยนเรื่องธรรมดาให้กลายเป็นความบันเทิงได้ ก็ยิ่งทำให้ผู้ชมติดตามฟังมากขึ้น
“พี่เอ็มทำให้รายการป๊อปมากขึ้น จากเดิมที่ใครไม่รู้สองคนมานั่งพูด แต่พี่เอ็มเขามีตัวตน มีหน้าตาที่คนรู้ว่า ฟังเสียงแล้วรู้เลยว่านี่คือเอ็ม-สุรศักดิ์ วงศ์ไทย ก็ทำให้คนสัมผัสได้ง่ายขึ้น จินตนาการได้ง่ายขึ้น เช่น ตอนนี้เขาคงทำท่าแบบนี้อยู่นะ หรืออย่างพี่เอ็มกับเราพูดประโยคเดียวกัน ถ้าเป็นพี่เอ็มพูดคนจะขำกว่า ที่สำคัญพี่เอ็มเขาเป็นคนเก่ง เขามีวิธีเล่น วิธีบิวท์ ทำให้ทุกอย่างสนุกได้ เราใช้คำว่าเขาเป็นคนครึกครื้น ซึ่งเวลาเขาพีคเขาจะตลกมากเลย”
ไม่เพียงแค่นั้น บอลยังนำลูกเล่นแปลกๆ เข้ามาเสริมความสนุก อย่าง เพลงถ่านไฟฉายตรากบ ซึ่งเริ่มต้นมาจากการที่เขาไปเจอแผ่นเสียงเก่าในสถานี พอเปิดฟังก็รู้สึกว่าตลกดี เลยนำมาเปิดก่อนเริ่มรายการจนทุกคนจำได้
แล้วยังมีเรื่องซาวนด์แอฟเฟกต์ต่างๆ ซึ่งบอลตั้งใจอยากให้ถามมาซิจ๊ะ…โดน เป็นเหมือนรายการในบ้านของทุกคน ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ใช่ห้องรับแขก หรือห้องนอน แต่น่าจะเป็นห้องส้วม เป็นพื้นที่ปลดทุกข์ ใครเซ็งๆ เครียดๆ ก็มาฟังได้ เขาจึงทำจิงเกิล The Toilet Show ขึ้นมา พร้อมกับเสียงประกอบเกี่ยวกับห้องน้ำ แต่ที่คนคุ้นเคยมากสุด คงหนีไม่พ้นเสียงกดชักโครก ซึ่งนำมาเล่นตอนวางสายจากผู้ฟัง จนกลายเป็นโลโก้ประจำรายการเรื่อยมา
ช่วงนี้เองที่เริ่มมีการเปิดสายจากผู้ฟังทางบ้านมากขึ้น จากแรกๆ ที่มีแค่ไม่กี่สาย ก็กลายเป็น 20-30 สาย ประเด็นที่พูดคุยก็หลากหลาย ตั้งแต่เรียนที่ไหน ทำอาชีพอะไร ประสบการณ์อะไรที่อยากแบ่งปัน ยิ่งมาเสริมกับความเฮฮาของทีมผู้ดำเนินรายการ โดยเฉพาะเอ็มที่มักชอบแซวชอบหยอกสาวๆ เป็นประจำ ก็ยิ่งทำให้อรรถรสในการคุยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ไม่เพียงแค่นั้น ถามมาซิจ๊ะ…โดน ยังเป็นรายการแรกๆ ที่นำเพจเจอร์มาใช้อย่างจริงจัง จนเกิดศัพท์คำว่า ‘เพจเจอร์มหัศจรรย์’ ขึ้นมา ซึ่งผู้ฟังก็มักจะส่งข้อความมาทักทาย ส่งมุกมาแซวผู้ดำเนินรายการบ้าง จากนั้นเหล่าดีเจก็จะนำข้อความเหล่านั้นมานั่งอ่านออกอากาศ
“ตอนนั้นเพจเจอร์เป็นอุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัยมาก คือยุคก่อนจะมีพวกแพ็คลิ้งค์ โฟนลิ้งค์ ซึ่งส่งมาได้แต่ตัวเลข สมมติว่า 191 หมายความโทรกลับด่วน แต่พอดีสปอนเซอร์ของรายการเวลานั้นคือ ฮัทชิสัน เพจโฟน ซึ่งมีภาษาไทย ทำให้ความ Interactive ระหว่างเรากับคนฟังมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องโทรศัพท์เข้ามาสวัสดีครับ หรือเวลาเราพูดเรื่องอะไร แล้วคนฟังเขานึกมุกออก เขาก็จะเพจเข้ามา เป็นเหมือนตัวละครตัวที่ 3 ซึ่งมีคาแรกเตอร์หลากหลาย เป็นใครก็ได้ ตรงนี้มันทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม”
จากรูปแบบที่ฉีกแนวจากรายการอื่นชัดเจน จนหลายคนรู้สึกเหมือนหลุดไปอยู่ในโลกของแก๊งพี่ชายจอมกวน หรือในวงเหล้า จึงไม่แปลกเลยว่า เหตุใดวัยรุ่นยุคนั้น ทั้งมัธยม มหาวิทยาลัย หรือวัยเริ่มทำงานติดรายการนี้กันงอมแงม และเปลี่ยนให้ช่วงเวลาของคลื่นวิทยุที่ใครๆ ยกให้เป็น Bad Time กลายเป็นเวลาสุดฮอตขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
หากถามว่าอะไรคือ จุดเด่นที่สร้างสีสันให้ ถามมาซิจ๊ะ…โดน มากที่สุด คงไม่พ้น ทีมดีเจอารมณ์ดี ซึ่งล้วนแต่เป็นมิตรสหายของบอลนั่นเอง
ตลอดระยะเวลาร่วมทศวรรษ ถามมาซิจ๊ะ…โดน มีสมาชิกหมุนเวียนมาร่วมสนทนาไม่ต่ำกว่าสิบชีวิต คนที่เด่นๆ เลยก็คือ ป๋อง-กพล ทองพลับ ซึ่งมาจัดแทน เอ็ม-สุรศักดิ์ ซึ่งช่วงหลังภารกิจรัดตัว ไม่สามารถมาประจำการได้เหมือนเดิม
“สมัยก่อนผมจัดรายการถึงเที่ยงคืน แล้วป๋องก็ต้องจัดต่อกัน Smile Shock ก็เลยมาจัดด้วยกัน แล้วป๋องเป็นคนครึกครื้นโดยธรรมชาติ เป็นคนไม่มีฟอร์ม ไม่มีเสียงหล่อ ก็เป็นของมันแบบนั้นแหละ ซึ่งทำให้รายการสนุกมาก”
เช่นเดียวกับ เปิ้ล-ทวีรัชฏ์ รัชไชยบุญ ทายาทร้านสีฟ้า ซึ่งนอกจากจะเป็นสปอนเซอร์รายการแล้ว ยังชอบขนอาหารมาเลี้ยงทีมงานอยู่เสมอ สุดท้ายก็เลยมาร่วมจัดรายการด้วยเลย กระทั่งได้รับฉายาว่า ‘น้าหวัง’
“คาแรกเตอร์ของพี่เปิ้ลก็จะเป็นผู้ใหญ่ๆ ที่ยังซ่าอยู่ แล้วเป็นคนแบบว่าไม่ใช่คนตลก แต่พยายามจะตลก แล้วก็เหมือนเป็นลูกไล่ของน้องๆ เด็กห่ามพวกนี้ มาตอนหลังๆ เราก็ตั้งชื่อเป็นน้าสมหวัง ชอบโฆษณาแฝงตลอด แล้วปกติทุกวันอาทิตย์แกก็จะหอบหิ้วปิ่นโตมาให้กิน เพราะรายการมันจัดตั้ง 4 ชั่วโมง ซึ่งเราก็มานั่งคอมเม้นต์อาหารกัน โอ้โห้! ผมว่าเป็ดมันเน่านะ หรือผมสั่งข้าวหน้าเป็ด ไม่ใช่ข้าวเนื้อเป็ด ไม่เห็นมีหน้าเลย หน้าเป็ดต้องมีปาก มีจมูกนี่ คือคิดอะไรไม่ออก ก็อำน้าหวัง แหย่แก เหมือนเป็นตัวถูกรังแก คนก็จะบอกว่าน้าหวังใจดี ไปทำแบบนั้นได้ยังไง”
อีกคนที่กลายเป็นคู่หูของบอลเรื่อยมาจนรายการเลิกทำ ก็คือ ไก่-ทรงพล พงษ์สร้อยเพชร
บอลรู้จักไก่มาตั้งแต่สมัยเรียน เพราะเขามักแวะเวียนไปหาเพื่อนสนิทที่คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศึกษา จุฬาฯ เสมอ แล้วบังเอิญไก่ก็อยู่ในกลุ่มนั้นพอดี ก็เลยคุ้นเคยกันมาตั้งแต่นั้น
จุดเด่นของไก่คือ เขาเป็นคนที่ใช้ภาษาไม่เหมือนใคร ยกตัวอย่าง เวลาซื้อกล้วยแขก คนทั่วไปจะถามว่า กี่บาท? แต่ไก่จะมีสำนวนแปลกๆ อย่าง ชำระเงินยังไง? สนนราคาเท่าไหร่? จนบอลอดสงสัยไม่ได้ว่า ยังมีคนใช้คำแบบนี้ในโลกอีกด้วยเหรอ ที่สำคัญเขายังเป็นคนมีวินัยสูง เข้าเรียนทุกคาบ ไม่เคยส่งงานช้า ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติของคนทำงานวิทยุ ที่มาสายไม่ได้ บอลเลยชวนไก่มาร่วมงาน ช่วงที่ย้ายรายการมาอยู่กับ Pirate Rock Radio เมื่อปี 2538
ว่ากันว่า ช่วงแรกไก่โดนแฟนๆ รายการกระหน่ำอย่างหนักว่าไม่ตลกเลย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเอ็มและป๋อง แต่บอลกลับมองต่าง เขาคิดว่าความตลกมีได้หลายรูปแบบ อย่างไก่แม้ไม่ได้มีบุคลิกตลกเหมือนคนอื่น แต่ก็มีสำบัดสำนวนไม่แพ้ใคร
“มุกหนึ่งที่เรายังจำได้อยู่เสมอ คือสมัยก่อนมีน้องคนหนึ่งมาช่วยคอนโทรลเครื่อง ชื่อเก่ง แล้วเขาเป็นคนเท้าเหม็น ไก่ก็เลยทักว่า ‘นี่คุณไปเหยียบศพมาเหรอ’ คือเราไม่เคยคิดถึงคำเปรียบเปรยแบบนี้เลย แล้วเก่งก็บอกว่า ‘พี่ผมล้างแล้วนะ ล้าง 3 รอบ’ ไก่ก็ตอบทันทีว่า ‘อย่างนี้เลือดคุณเน่าแล้ว คือเหม็นมาจากข้างใน’ การประชดประชัน กระแหนะกระแหนอย่างนี้ เล่าทีไรก็รู้สึกว่าขำ ที่สำคัญเราเชื่อว่าไก่ตลก ไม่อย่างนั้นไม่ชวนมาหรอก ซึ่งพอเขาจัดไปเรื่อยๆ จนคนเริ่มเก็ตคาแรกเตอร์ จะรู้สึกว่าเขาเป็นคนตลกมาก ทุกวันนี้ ผมยังบอกทุกคนเลยว่าคนที่ตลกสุดในชีวิตที่รู้จักมาก็คือไก่”
เพราะสำหรับรายการแบบ ถามมาซิจ๊ะ…โดน แล้ว ปฏิภาณไหวพริบเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรายการไม่มีสคริปต์เลย พอไมค์เปิดปุ๊บ ทุกคนก็ซัดกันแบบสดๆ ถ้าสายไหนโทรเข้ามา คุยไม่สนุกก็ต้องพร้อมตัดสายโดยไม่เกรงใจ เช่นเดียวกับเวลามีแขกทั้งรับเชิญและไม่ได้รับเชิญ ก็ต้องหาวิธีรับมือให้ได้
“เพื่อนที่มาจอยในรายการมักมีอาชีพแตกต่างกันไป อย่างพี่ก้องภพเป็นสจ๊วต ก็จะชอบพาแอร์โฮสเตสมาด้วย เราก็เล่นกันสดๆ เดี๋ยวนั้นเลย เช่นถ้ามีแอร์ต่างชาติมาด้วย เราก็ให้ลองพูด เช้าฟาดผัดฟัก เย็นฟาดฟักผัด มันเป็นการโชว์ความครึกครื้นอย่างหนึ่ง หรือสมัยจัดอยู่ที่ไพเรท ในห้องจัดมันมีกลองชุดไว้แสดงคอนเสิร์ตเวลาศิลปินมา เราก็บอกว่าวันนี้ไม่พูดนะ ใช้ตีกลองตอบ พอน้องถามสวัสดีค่ะพี่บอล เราก็ตึ่งๆ โป๊ะ แล้วก็มีคนมาแปล พี่บอลตอบว่าสวัสดีครับ”
ด้วยความด้นสดแบบนี้ ทำให้ใครหลายคนมักติติงว่า ถามมาซิจ๊ะ…โดน เน้นขายขำอย่างเดียว หาสาระไม่ค่อยได้ แต่บอลกลับเห็นต่าง ด้วยมองว่าแต่ละคนย่อมตีความคำว่า ‘สาระ’ ไม่เหมือนกัน บางทีสาระที่ดีๆ ก็ไม่จำเป็นต้องอัดแน่นหรือยัดเยียดไปเสียทุกวินาที แต่อาจสอดแทรกอยู่ระหว่างบทสนทนาก็เป็นได้
“เราเคยคนหนึ่งโทรศัพท์เข้ามาบอกว่า ทำงานการรถไฟ เราก็ถามเขาว่าไอ้ห่วงๆ หวายๆ เวลาที่พนักงานต้องไปคล้องห่วงตามคนขับรถไฟ มันคืออะไร การสับรางมันคืออะไรบ้าง เพราะเราอยากรู้จริงๆ หรือแม้แต่คนตาบอดที่โทรเข้ามา เราถามว่า พี่ครับอยากรู้จริงๆ พี่เคยฝันไหม เขาบอกว่าไม่เคยฝัน เพราะว่าตาบอดตั้งแต่เกิด คือเราอาจไม่ได้ตั้งใจว่าต้องมีสาระ แต่ด้วยความอยากรู้ก็ทำให้รายการเกิดสาระขึ้นมา เพียงแต่วิธีนำเสนออาจเน้นไปที่ความครึกครื้นเท่านั้นเอง
“บางครั้งก็มีเรื่องราวดีๆ ส่งเข้ามา เช่นเราเคยได้จดหมายฉบับหนึ่งประทับตรากรมราชทัณฑ์ เซ็นชื่อรับรองโดยพัสดี ปรากฏว่าคนส่งเป็นนักโทษ เราไม่รู้หรอกว่าเขาฟังด้วยวิธีไหน แต่มันทำให้เรารู้สึกว่ารายการไม่มีพรมแดนจริงๆ แล้วเขาก็ชอบเอาเรื่องในคุกมาเล่า มีเรื่องหนึ่งที่ผมว่าพล็อตดีมาก เป็นเรื่องคู่รักคู่หนึ่งที่ติดคุกด้วยคดีค้ายา ซึ่งถ้าคนเป็นแฟนกันต่างคนต่างติดคุกเขาจะไม่มีวันได้เจอกันเลย แต่ทั้งคู่พยายามอยากจะเจอกัน เลยเรียนหนังสือในคุกเพื่อให้จบพร้อมกัน แล้วจะได้เจอกันในวันรับปริญญา เราก็รู้สึกว่านี่เป็นเส้นบางๆ แต่เรานึกไม่ถึง”
นอกจากนี้ บอลกับทีมยังพยายามสรรหาไอเดียแปลกๆ มาสร้างเป็นช่วงใหม่ๆ เช่น ถามโดนคนไม่ดัง ซึ่งเอาใครๆ ก็ได้มาคุย อย่างครั้งหนึ่งมีรุ่นน้องถูกลอตเตอรี รางวัลที่ 1 บอลก็ชวนมาออกมารายการ มาสัมภาษณ์ความรู้สึกว่า เป็นยังไง หรือคนทางบ้านที่อยากจะมาเป็นแขกรับเชิญ ก็สามารถส่งจดหมายแนะนำตัวเข้ามาได้ หากทีมงานเห็นว่ามีประเด็นน่าสนใจ ก็จะเชิญเข้ามาร่วมรายการ
บางครั้งก็มีการหยิบเอากระแสฮอตฮิตในช่วงนั้นมาต่อยอด เช่นตอนที่เพลงสั่งนาง ของมนต์สิทธิ์ คำสร้อย ซึ่งมีท่อนเด็ดว่า ‘..ไหล่นี้อย่าให้ใครมาเกาะ..’ กำลังดัง ทีมงานก็หยิบมาตั้งเป็นโจทย์ชวนคุยว่า ถ้าไม่ใช่ไหล่จะเป็นอวัยวะอะไรแทนได้ ซึ่งก็มีบรรดาวัยรุ่นหลายสิบชีวิตโทรศัพท์และส่งข้อความเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งทีมดีเจก็นำความเห็นเหล่านั้นมาต่อเติมหรือขยี้มุกซ้ำเพื่อให้เกิดความบันเทิงขึ้นเป็นทวีคูณ
ความสนุกแบบไร้ขีดจำกัดที่ผสมผสานสาระความรู้อย่างลงตัว ทำให้ถามมาซิจ๊ะ…โดน มีแฟนพันธุ์แท้ติดตามมากมาย บางคนโทรศัพท์เข้ามาเกือบทุกวัน แม้จะโดนอำ โดนแกล้ง โดนแซวสารพัดก็ตาม
“ผมว่าเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งของโชว์ หรือรายการนี้อาจไปสะกิดต่อมบางอย่าง เช่น เมื่อวานเขาโทรเข้ามา เขาไปคุยในหมู่เพื่อนได้ว่าเมื่อวานฟังหรือเปล่า หรือบางทีก็เป็นความคุ้นเคย พอเขาฟังทุกสัปดาห์ เขาก็จะรู้สึกสนิทกับเรา อยากคุยกับเรา เรามีสายโทรเข้ามาเป็นหมื่นๆ สาย สายแปลกๆ ก็เยอะ อย่างครั้งหนึ่งเคยมีคุณพ่อโทรเข้ามา แล้วบอกว่า ผมทราบว่ารายการนี้เด็กๆ ชอบฟังกันเยอะ ลูกผมก็กำลังฟังอยู่ แต่ลูกปิดวิทยุก่อน ไปอ่านหนังสือ สอบเสร็จแล้วค่อยมาฟังใหม่ คือผมสั่งลูกโดยตรงไม่ได้ เลยต้องมาสั่งออกทางวิทยุ” บอลเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
ในจำนวนนี้มีแฟนรายการคนหนึ่งชื่นชอบมากถึงขั้นตัดต่อเทปรายการ พร้อมแยกประเภทให้ด้วยว่าเป็นมุกแบบไหน เช่นโหมดรับโทรศัพท์ โหมดอ่านเพจ โหมดแซว โหมดด่า อัดเป็นเทป แล้วก็ทำเป็น Box Set ส่งมาให้ เรียกชื่อว่า ‘ถามมาซิจ๊ะ…โดน BOXSEX’ ซึ่งต่อมาบอลได้ขออนุญาตน้องคนนั้นนำ Box Set ชุดนี้ไปผลิตจำหน่าย แล้วนำรายได้ทั้งหมดไปซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์มอบให้โรงเรียนเศรษฐเสถียร ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนคนหูหนวก
เพราะฉะนั้น แม้ในสายตาคนทั่วไป ถามมาซิจ๊ะ…โดนอาจดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ในอีกมุมก็ต้องยอมรับว่า นี่เป็นเวทีเล็กๆ ของวัยรุ่นไทยที่เปิดโอกาสให้เขาแสดงความเห็นหรือตัวตนออกมา ท่ามกลางยุคที่แทบไม่มีพื้นที่ของตัวเองเลย
แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกเรื่อง หากสิ่งไหนไม่ถูกไม่ควรหรือกระทบต่อคนอื่น ก็ต้องมีการแตะเบรก ควบคุมบ้าง เพราะหน้าที่ของพวกเขาก็คือพี่ชายที่พร้อมรับฟังและเป็นที่ปรึกษาของน้องๆ นั่นเอง
หลังจากยืนหยัดจองเวลาคืนวันอาทิตย์นานหลายปี ถามมาซิจ๊ะ…โดน ก็มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อ Pirate Rock Radio เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจยุคต้มยำกุ้ง จนต้องปิดบริษัทพร้อมหนี้ก้อนโต เมื่อปี 2540
บอลในฐานะหุ้นส่วนต้องร่วมแบกรับภาระก้อนนี้ด้วย เลยพาลูกน้องบางส่วนมาเปิดบริษัท Radio Show พร้อมเปลี่ยนรูปแบบรายการ จากเดิมที่ออกอากาศอาทิตย์ละวันเป็นวันจันทร์-ศุกร์แทน เพื่อให้ถามมาซิจ๊ะ…โดน สามารถเดินหน้าทางธุรกิจไดัอย่างจริงจัง
ในยุคที่สอง ถามมาซิจ๊ะ…โดน แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ Mouth To Mouth เป็นช่วงที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังทางบ้านโทรศัพท์มาเล่าเรื่องอะไรก็ได้ที่อยากเล่า จากนั้นก็เป็น Big Idea ซึ่งเป็นช่วงที่ดีเจตั้งประเด็นให้ผู้ฟังแสดงความคิดเห็น และสุดท้ายคือ Question M เป็นช่วงเล่นเกม อารมณ์เหมือนเปิดป้ายรางวัลในเกมโชว์
“พอเป็น 5 วันเราจะด้นแบบเดิมไม่ได้แล้ว แต่เราต้องทำให้เหมือนกิจวัตรประจำวันของคนฟัง เปิดมาฟังวันไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีหัวข้อในแต่ละวัน เราจึงทำสคริปต์ เช่นวันนี้เกิดอะไรบ้าง แต่เราไม่ได้เอาข่าวนั้นมาเล่นเลย เอามาแค่เป็นหัวเชื้อ เช่นสมมติวันนี้มีเรื่องพิมรี่พายไปทำแผงโซลาเซลล์บนดอย เราอาจตั้งประเด็นว่า ถ้าเป็นคุณ คุณอยากซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรให้น้องๆ บ้าง คือทำให้คนรู้สึกว่าไม่ใช่ฟังอย่างเดียว แต่ยังต้องคิดตามด้วย”
กระทั่งรายการเริ่มอยู่ตัวแล้ว จึงแตกย่อยคอลัมน์ใหม่ๆ เพิ่มเติม อาทิ หวังอร่อย พาคุยเรื่องอาหารโดยน้าหวัง, อ้ายดอทคอม พูดคุยเรื่องเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต, กีฬาเฮฮา, ดูหนังสุดสัปดาห์ และมีเพื่อนฝูงมาร่วมจัดรายการอีกเพียบ เช่น ดร.กะทิ-สิราภรณ์ มันตาภรณ์ นักกีตาร์แจ๊สมือดีของไทย หรือ ปั๋ง-ประกาศิต โบสุวรรณ จากสุเมธ & เดอะปั๋ง
“ข้อดีอย่างหนึ่งคือพวกเราเป็นคนชอบที่จะรู้ ชอบที่จะสังเกตมาแต่ไหนแต่ไร เพราะฉะนั้นเราจึงสามารถประมวลเรื่องราวต่างๆ มาใช้ตอนจัดรายการได้ อย่างเรื่องดนตรีเราก็คุยได้ กีฬาเราก็ได้ อาหารเราก็ได้ แน่นอนว่าอาจไม่ได้ลึกมาก เพราะเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่เราอ่านหนังสือ เราเสพสื่อกันเยอะ เพราะเราเชื่อว่าคนจะไม่ฟังคนที่รู้น้อยกว่าเขา ถ้าเขารู้สึกว่าคนนี้รู้น้อยกว่า หรือข่าวสารที่เอามาเล่าฉันรู้มาตั้งนานแล้ว เครดิตของคนจัดรายการก็จะน้อยลงตามไปด้วย”
แต่แน่นอน กว่าที่รายการจะออกมาสนุกเช่นนี้ ต้องแลกมาด้วยการทำงานที่หนักหน่วง ตั้งแต่การคิดไอเดีย ทำสปอต ทำจิงเกิลสารพัด ซึ่งแต่ละขั้นตอนกินเวลาอยู่นานมาก แถมบางครั้งยังต้องคอยระมัดระวัง เพราะบางประเด็นก็ค่อนข้างอ่อนไหวสำหรับสังคมยุคนั้น
อย่างครั้งหนึ่ง เคยมีช่วงให้ความรู้เพศศึกษา โดยมี นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ เป็นวิทยากร แล้วระหว่างคุยกันเรื่องสมรรถภาพทางเพศ คุณหมอก็เอ่ยคำว่า ‘มะเขือเผา’ ขึ้นมา ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่สถานีบอกว่าเป็นคำลามก จึงสั่งให้หยุดออกอากาศ (แต่ตอนผู้บริหารคลื่นบอกว่า ไม่เป็นไร เพราะถือเป็นคำเปรียบเทียบ แล้วคนพูดก็เป็นแพทย์)
อย่างไรก็ตาม ด้วยเนื้อหาที่แน่นขึ้นของถามมาซิจ๊ะ…โดน ก็ทำให้ฐานผู้ฟังกว้างขึ้น จากเดิมที่มีแต่กลุ่มวัยรุ่น ก็เริ่มขยายไปยังกลุ่มอื่นๆ เช่น นักเรียนศิลปะ คนทำงาน ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง ซึ่งอยากหาอะไรที่ฟังแล้วผ่อยคลาย แก้ง่วง แถมบางครั้งยังอาจนำไอเดียที่จากการสนทนาไปต่อยอดเป็นผลงานใหม่ๆ ได้ด้วย
นอกจากนี้ พวกเขายังพยายามเสริมกิจกรรมอื่นที่นอกเหนือไปจากวิทยุ เพื่อให้แฟนๆ รู้สึกมีส่วนร่วมกับรายการมากยิ่งขึ้น เช่นเตะบอลแข่งกับทีม The Shock หรือถามโดนทัศนาจร ทริปพาเที่ยวต่างจังหวัด นำทีมโดยพี่บอลกับพี่ไก่ ซึ่งแทบไม่มีความรู้เรื่องวัฒนธรรมเลย แต่มีคนซื้อทัวร์เยอะพอควร เพราะอยากรู้ว่าพี่ๆ จะพาไปเที่ยวในสถานที่แบบไหน
“เขาไปกันเพราะอยากให้เราอำ เราแกล้ง เราเคยพาไปเที่ยวชัยภูมิ พอไปถึงโรงแรมสร้างไม่เสร็จ ไปแล้วก็ให้แข่งทำอาหารกัน เพราะไม่มีแม่ครัว โดยพวกเราจะเป็นคนตัดสินว่าใครอร่อยไม่อร่อย ซึ่งข้อดีอย่างหนึ่งคือคุณจะ Complain ไม่ได้เลยว่า อาหารทริปนี้ไม่อร่อย เพราะคุณทำกันเอง”
หรืออีกกิจกรรมที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน คือ ‘ดูหนังฟังเพลง’ เป็นการชวนผู้ฟังมาดูหลังรอบเช้าที่โรงภาพยนตร์ EGV โดยครั้งนั้นบอลได้แรงบันดาลใจมาจากอีเวนต์หาเงินช่วงตัวเองยังเรียนมัธยม นั่นคือปิดโรงหนังช่วง 6-7 โมงเช้า โดยก่อนฉายหนังก็จะมีวงดนตรีเรียกอารมณ์ผู้ชม พอฉายเสร็จถึงค่อยปล่อยให้โรงฉายรอบปกติต่อไป
“เราอยากทำอะไรที่เป็น Nostalgia หน่อย เลยคิดว่าถ้ารื้อฟื้นกิจกรรมแบบนี้ขึ้นมาก็ดีนะ แต่แทนที่จะให้วงดนตรีเล่นเพลงอะไรก็ได้ เราก็มี Gimmick นิดหนึ่ง คือให้เขาเล่นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องที่ฉายด้วย โดยเราก็จะเอาภาพในหนังซิงก์เข้าไปด้วย ให้ดูมีโปรดักชันหน่อย ซึ่งปรากฏประสบความสำเร็จ จนกลายเป็นกิจกรรมที่เราทำกันทุกเดือน”
สิ่งเหล่านี้เองที่กลายเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างทีมถามมาซิจ๊ะ…โดน กับแฟนรายการให้แน่นเฟ้นขึ้น จากเดิมที่แทบไม่มีใครเคยเห็นหน้ามาก่อน ซึ่งส่งผลให้รายการเล็กๆ นี้สามารถยืนระยะได้นานอีกหลายปี แถมผู้ฟังหลายคนก็ยังพัฒนากลายมาเป็นเพื่อนสนิทกับทีมผู้จัดจนถึงทุกวันนี้
เราอาจไม่ได้ตั้งใจว่าต้องมีสาระ แต่ด้วยความอยากรู้ก็ทำให้รายการเกิดสาระขึ้นมา
เชื่อหรือไม่ กว่าสิบปีบนหน้าปัดวิทยุ ถามมาซิจ๊ะ…โดน โยกย้ายคลื่นบ่อยถึง 9 ครั้ง
บอลบอกว่า นี่เป็นธรรมชาติของรายการเล็กๆ ที่มีรายได้ไม่เยอะ จึงต้องพยายามเลือกไปอยู่ในสถานีที่คิดค่าเช่าเวลาน้อยที่สุด แม้จะเสี่ยงต่อการที่คนฟังจะหาคลื่นไม่เจอก็ตาม
“ด้วยความที่เราเป็นบริษัทเล็ก ถ้าคลื่นไหนค่าเช่าเวลามันถูก เราก็ต้องไป บางครั้งเราขายสปอนเซอร์ได้เท่าเดิม แต่แค่ย้ายคลื่น เรามีกำไรเหลือ แน่นอนเรื่องคนฟังก็ย่อมกระทบบ้าง แต่เราเชื่อว่า ถ้ามีคนฟังเขาก็ตาม ถ้าไม่ตามก็ไม่เป็นไร แล้วเราก็คิดแง่ดีว่า พอย้ายคลื่นเราอาจได้กลุ่มคนฟังใหม่ๆ
“อีกเรื่องหนึ่งคือ การขายโฆษณาสมัยนั้นยากมาก อย่างเอเจนซีก็จะบอกว่าต้องดูเรตติงก่อน แล้วรายการคืนละ 2-3 ชั่วโมงจะมีเรตติงอะไรได้ คือมันเป็นรายการที่ Niche เฉพาะทางมาก สปอนเซอร์ที่เข้ามาก็ต้องเก็ตกับรูปแบบรายการจริงๆ หรือบางทีก็ต้องสร้างกิจกรรมขึ้นมา เช่น เราได้สปอนเซอร์จาก EGV เราก็มาทำเป็นดูหนังฟังเพลง”
แต่ทว่ายิ่งทำรายการไปนานวันเข้า บอลก็เริ่มรู้สึกอิ่มตัว บวกกับมีความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต ส่งผลให้เขาตัดสินใจปิดตำนานถามมาซิจ๊ะ…โดน ลงเมื่อประมาณปึ 2547
“พอเราทำดูหนังฟังเพลงบ่อยๆ ทางโรงหนังก็ถามว่า อยากทำโปรโมตหนังไหม เราเองไม่มีทักษะด้านนี้มาก่อน แต่ว่าก็ต้องทำ เพื่อหารายได้ให้ออฟฟิศ ซึ่งข้อดีคือเราทำงานครีเอทีฟมาตลอดก็เลยไม่ยากนัก เราจัดเล่นเกม ทำอีเวนต์เล็กๆ จำได้ว่าเรื่องแรกที่ทำคือ Entrapment ก็ทำมาเรื่อย จนมาเจอลูกค้ามากขึ้น บางคนก็เหมาโรงแล้วก็ให้เราจัดกิจกรรมให้ด้วย ออฟฟิศก็เลยแตก มาทำอีเว้นต์เป็นเรื่องเป็นราว ส่วนวิทยุก็เริ่มดร็อปลง เพราะเราก็เริ่มไปจัดไม่ไหวแล้ว
“อีกอย่างคือ ตอนหลังผมไปเป็นอาจารย์พิเศษที่นิเทศ จุฬาฯ ด้วยสถานภาพทางสังคม อายุก็มากขึ้น แล้วลูกเราก็เริ่มโตขึ้นทุกวัน เรื่องบางอย่างที่เราเคยพูด เช่นตลกโปกฮา แซวหญิง ก็ไม่กล้าพูดแล้ว ความรู้สึกคึกคักซ่าๆ หรือ Passion ในจัดรายการเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ เช่นมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราต้องหยุดไปเดือนหนึ่ง ก็ไม่เห็นเป็นไร ไม่ต้องจัดก็ได้ เราก็เลยเลือกที่จะเลิกทำดีกว่า คือถ้าจะดิ้นรนทำต่อก็ได้ แต่เรารู้สึกอิ่มมากไปแล้ว”
หลังถามมาซิจ๊ะ…โดน หยุดไป สมาชิกแต่ละคนก็แยกย้ายไปมีเส้นทางของตัวเอง
บอลมุ่งไปทางสายอีเวนต์ ก่อนลัดฟ้าไปสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้ ‘เข้มข้น’ บุตรชายคนโต ซึ่งไปเทิร์นโปรกอล์ฟอาชีพอยูู่ที่นั่น ส่วนไก่รับงานเป็นที่ปรึกษาด้านโฆษณา และอาจารย์พิเศษอีกหลายแห่ง ด้านน้าหวังก็กลับไปบริหารงานร้านสีฟ้าเต็มตัว ขณะที่เอ็มผันตัวไปทำงานเบื้องหลัง เป็นผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ และรับงานแสดงอยู่บ้าง และสุดท้ายคือ ป๋องซึ่งยังยืนหยัดกับ The Shock และโลกหลังความตายเรื่อยมา
แม้ที่ผ่านมา จะมีเสียงเรียกร้องเรื่อยๆ ให้บอลกับทีมงานกลับมาจัดรายการถามมาซิจ๊ะ…โดน อีกครั้ง หากแต่บอลกลับมองว่า คงเป็นเรื่องยากแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากตารางชีวิตที่เปลี่ยนไป รวมถึงรูปแบบของรายการทอล์กโชว์วันนี้ก็ต่างไปจากยุคที่ถามมาซิจ๊ะ…โดนเฟื่องฟูไปมาก
“ถ้าเป็นสมัยก่อน เขาจะเรียกเราว่าเป็นรายการฮาร์ดคอร์ แต่ถ้าเราพูดเหมือนเดิมตอนนี้อาจกลายเป็นรายการหน่อมแน้มไปแล้วก็ได้ ล่าสุด ผมเพิ่งคุยกับป๋องว่า เป็นยังไงบ้างจัดรายการ ป๋องบอกว่า เดี๋ยวนี้มันต้องพูดแรงๆ ไม่อย่างนั้นไม่ได้ มันไม่ขำ ซึ่งถ้าให้เราไปทำแบบนั้นก็คงไม่ไหวแล้ว อีกอย่างพออายุเรามากขึ้น มันไม่ใช่พี่แล้ว แต่กลายเป็นอาเป็นลุง ถ้าจะต้องกลับมาจัดกันอีกมันคงไม่ใช่คาแรกเตอร์แบบเดิม อาจต้องพูดจาเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น หรือนำเสนอมุมมองแปลกๆ ใหม่ๆ ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันแทน”
อย่างไรก็ดี หากมองย้อนกลับไป ถามมาซิจ๊ะ…โดน ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตของบอลเลยก็ว่าได้ ทั้งการพัฒนาศักยภาพต่างๆ ระเบียบวินัย ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และยังทำให้เขารู้ว่าถ้าตั้งใจแล้วย่อมทำได้หมดทุกอย่าง
“ผมเป็นเด็กราชบุรี ซึ่งตอนขึ้นมาเรียนกรุงเทพฯ มักถูกล้อว่าเสียงเหน่อ แต่พอเรามาทำงานนี้ เราก็พยายามฝึกวิธีใช้เสียงจนไม่เหน่อ รวมถึงฝึกเรื่องปฏิภาณไหวพริบด้วย เนื่องจากต้องรับสายใครเต็มไปหมด ซึ่งไม่รู้ว่าจะโดนจู่โจมอะไรบ้าง จึงต้องมีสติมาก
“เพราะฉะนั้นสมัยนั้นผมจะมีสมุดอยู่เล่ม แล้วนั่งจดทุกสายที่โทรศัพท์เข้ามา เช่น คุณ ก.ไก่ พูดเรื่องนี้ แล้วหัวข้อของเราเป็นเรื่องอะไร ซึ่งข้อดีคือถ้าเขาโทรเข้ามาอีก เราก็สามารถเปิดย้อนดูได้ทันที ซึ่งผมว่านี่เป็นเสน่ห์ของรายการ แถมตอนท้ายผมยังเอาข้อมูลที่จดไว้ไปทำวิทยานิพนธ์ตอนเรียนปริญญาโทได้อีกด้วย”
แต่ที่สำคัญสุด คือ รายการนี้ได้ทำหน้าที่สร้างความสุขแก่ผู้ฟังทั่วประเทศ เป็นมิตรแท้ที่ไม่เคยทำอันตรายต่อสังคม ด้วยคอนเซปต์หนึ่งที่บอลยึดไว้เสมอคือ ทำให้ทุกคนรักกัน
“แรกๆ เราอาจเน้นเรื่องความสนุกสนาน แต่พอทำไปเรื่อยๆ วุฒิภาวะและวัยวุฒิต่างๆ มันเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะไม่ให้อะไรที่เป็นสารพิษกับเขา เรารู้ว่าแบบไหนควรพูดไม่ควรพูด เพราะคนฟังที่โทรเข้ามา บางทีเขาก็อยากได้คำปรึกษาในมุมของเรา
“ที่สำคัญ สิ่งหนึ่งที่เราพยายามให้เขาก็คือองค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งเราเชื่อว่าทุกคอนเทนต์ที่เราคุยกัน มันมีเรื่องดีอยู่ เช่นน้าหวังเอาข้าวมันไก่มา เราก็อาจมาคุยกันใส่อะไรบ้าง ต้องใส่ขิงด้วยเหรอ มันเป็นความรู้ เพียงแต่เรานำเสนอออกมาในแนวเฮฮาก็เท่านั้นเอง”
แม้วันนี้ถามมาซิจ๊ะ…โดน จะหายไปจากหน้าปัดไปนานนับสิบปี แต่เรื่องราวและความทรงจำของพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้ก็ยังคงเด่นชัดในใจของหลายคน เป็นตำนานของวงการทอล์กโชว์ที่แค่นึกถึงก็เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้แล้ว
ย้อนเรื่องราวของนักสื่อมวลชน ผู้ยกระดับช่อง 9 จากแดนสนธยา สู่การเป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อสังคมไทย
เบื้องหลังความคิดของโปรดิวเซอร์แห่งเรียลริตี 24 ชั่วโมงรายการแรกของเมืองไทย เวทีนักล่าฝันที่สร้างคนคุณภาพสู่วงการบันเทิงไทย
เส้นทางความคิดของผู้กำกับและมือเขียนบทฝีมือเก๋าของวงการ ผู้เคยสร้างปรากฏการณ์ แรงเงา จนดังทั่วบ้านทั่วเมือง
ตีท้ายครัว รายการเยี่ยมบ้านที่อยู่จอทีวีไทยมายาวนาน โดยมีเสน่ห์อยู่ตรงที่ความเป็นกันเองของพิธีกร และการพาไปสัมผัสกับแง่มุมของคนดังที่น้อยคนจะเห็น
ทีนทอล์ก ต้นแบบรายการโทรทัศน์สำหรับวัยรุ่น ที่ฉีกขนบเดิมๆ ของวงการทิ้งไป และเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงตัวตนอย่างเต็มที่
ย้อนเวลา Hormones วัยว้าวุ่น ซีรีส์ที่พลิกมุมมองเรื่องวัยรุ่นในสังคมไทย
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
ย้อนเรื่องราวอัลบั้มในตำนานของสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Bakery Music
DAJIM ศิลปินฮิพฮอพผู้จุดกระแสเพลงใต้ดินให้โด่งดังไปทั่วประเทศ
เส้นทางชีวิตของ จอห์น นูโว จากศิลปินยอดนิยม สู่ผู้บุกเบิกสื่อไอทีของเมืองไทย
ศิลปิน นักแต่งเพลง เจ้าของบทเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) ผู้ที่ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ผลงานที่ล้ำสมัย
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.