“บ้าหรือเปล่า?”
ในศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2539 สุทธิชัย หยุ่น เคยถามประโยคนี้กับผู้สมัครคนหนึ่ง หลังเขานำเสนอนโยบายแปลกประหลาดแหวกแนว
‘อยากทำกรุงเทพฯ ให้เล็กลง ทำเมืองไทยให้ใหญ่ขึ้น’
วันนั้นเขายืนยันหนักแน่นว่า ต้องการกระตุกความคิดของผู้คน.. ถึงขั้นทุ่มเงินกว่า 7 ล้านบาท เพื่อขายความคิดนี้โดยเฉพาะ
แต่คงเพราะความคิดที่ล้ำเกินไป จนแทบไม่มีใครเข้าใจ โดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจบ้านเรากำลังรุ่งโรจน์กระทั่งหลายคนฝันหวานว่า ประเทศไทยจะเติบโตจนกลายเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเชีย
ชัยชนะจึงตกเป็นของ ดร.พิจิตต รัตตกุล ซึ่งกวาดคะแนนถล่มทลายถึง 768,994 คะแนน ขณะที่ชายผู้นั้นตามมาเป็นอันดับ 4 ด้วยคะแนนทิ้งห่างชนิดไม่เห็นฝุ่น 20,985 คะแนน
แต่ด้วยระยะเวลาไม่ถึงปี สิ่งที่เขานำเสนอก็กลายเป็นจริง กรุงเทพฯ ถูกบังคับให้เล็กลง หลังวิกฤติเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ กิจการต่างๆ ล้มระเนระนาด ผู้คนนับล้านชีวิตตกงาน คนต่างจังหวัดมากมายที่เคยมุ่งหน้าเข้ากรุงเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ต่างต้องเดินทางกลับบ้านด้วยความสิ้นหวัง
ผ่านมา 20 กว่าปี ไม่มีใครพูดอีกแล้วว่า กรุงเทพฯ โตเกินไป หากแต่แนวคิดนี้ยังคงกล่าวอ้างอยู่เสมอ ด้วยสภาพบ้านเมืองที่ไม่ต่างจากอดีต การพัฒนาที่ยังมุ่งเน้นไปที่เมืองเป็นสำคัญ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นจริง
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากขอพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘สุภาพบุรุษนักการเมือง’ ชายผู้เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ และอุดมการณ์ เจ้าของวาทะอันลือลั่น “เรายอมเป็นไดโนเสาร์ที่ตายในยุคสูญพันธุ์ ดีกว่ามีชีวิตรอดด้วยวิธีวิวัฒนาการมาเป็นเหี้ย”
อากร ฮุนตระกูล
หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ ‘อากร ฮุนตระกูล’ หลังจากลูกชายคนเดียวของเขา ‘ธนกร ฮุนตระกูล’ ตัดสินใจยกที่ดินกว่า 4,870 ไร่บนเกาะสมุยให้กับทางการ เมื่อปี 2549 เพื่อจัดทำเป็นป่าชุมชน เขตป่าต้นน้ำลำธาร หรือเป็นพื้นที่ป่าสำหรับอนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ครั้งนั้น ธนกรเคยให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงที่อากรยังมีชีวิตอยู่ บรรดาผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นมาเสนอขาย ก็เลยซื้อเก็บไว้เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร เหมือนซื้อกันไม่ให้คนอื่นมาสร้างอะไรเพิ่ม และตั้งใจเก็บไว้เป็นป่าชุมชน ป่าต้นน้ำ สำหรับคนสมุย ซื้อไปเรื่อยๆ กว่า 200 แปลง เมื่ออากรจากไป ก็เริ่มดูแลไม่ไหว มีคนบุกรุกมากขึ้น บางคนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ออกโฉนดโดยไม่รังวัด ทำเอกสารปลอมก็มี จึงตัดสินใจยกที่ดินให้เป็นประโยชน์สาธารณะตามเจตนารมณ์ของบิดา
อากรเป็นนักธุรกิจพันล้าน ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นเจ้าของโรงแรมยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ หากแต่สิ่งที่สนใจไม่แพ้กันก็คือ การเมือง ด้วยความเชื่อว่าการพัฒนาใดๆ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมดุล ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เขาจึงอยากนำความคิด ความฝัน และประสบการณ์ที่สั่งสมมาถ่ายทอดให้สังคมได้รับทราบ
หนึ่งในเวทีสำคัญที่ทำให้ชื่อของอากรยังคงเป็นที่จดจำ คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2539 ครั้งนั้นเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่าง 3 ผู้สมัครดัง คือ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง, ร.อ. กฤษดา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา และ ดร.พิจิตต รัตตกุล
แม้เขาจะเคยเป็น ส.ส.กรุงเทพมหานคร ทว่าทุกฝ่ายต่างประเมินตรงกันว่า คงได้คะแนนไม่เกินครึ่งแสน แต่อากรก็ยังคงยืนกรานที่จะลงสมัคร เพราะสิ่งที่คาดหวังไม่ใช่ตำแหน่ง
ในยุคนั้นกรุงเทพฯ มีปัญหาหลายด้าน ทั้งการจราจรติดขัด สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ คนกรุงไม่น้อยต่างคาดหวังว่า ผู้ว่าฯ จะมีอิทธิฤทธิ์สามารถดลบันดาลใจให้ปัญหา หายไปในชั่วพริบตา
แต่ในมุมของอากรแล้ว ปัญหาของกรุงเทพฯ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้าจะแก้ไขก็ต้องแก้ด้วยนโยบายระดับชาติ ซึ่งอาจกินเวลา 10-15 ปี และผู้ที่จะแก้ปัญหาได้ก็มีแต่รัฐบาลเท่านั้น เขาจึงตัดสินใจลงสมัคร เพื่อบอกความจริงให้ประชาชนได้คิดว่าต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน และควรแก้ไขอย่างไร
“ผมว่า กทม.เป็นคนป่วย เป็นมะเร็งขั้นที่ 2 ซึ่งการรักษาต้องใช้หมอผ่าตัด นอกจากหมอผ่าตัดจะต้องมีหมอยาอีก ผ่าตัดเสร็จต้องมีการฉายแสง เพื่อให้ชัวร์ว่าไอ้เชื้อมะเร็งมันจะตายหมด มีการฉีดทำคีโมเทอราปี เพื่อไล่ฆ่าตัวมะเร็งทั่วร่างกาย.. การรักษาจึงต้องยาวนาน ต้องเจ็บปวด แต่คน กทม. เขาคิดว่าตัวเองเป็นไข้หวัดใหญ่ เขาต้องการหมอที่มาถึง ฉีดยา 2 เข็ม บอกอีก 3 วันแล้วก็หาย”
ทางออกเดียวที่อากรเชื่อว่าแก้ปัญหาได้ คือทำยังไงก็ได้ให้กรุงเทพฯ เล็กลง
ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีลักษณะโตเดี่ยวมานานกว่า 40 ปี คนกว่าครึ่งล้วนแต่มาจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะเชื่อว่าอยู่เมืองกรุงย่อมรวยกว่า เจริญกว่าอยู่บ้านนอก ที่สำคัญหน่วยราชการ บริษัทห้างร้านใหญ่ๆ เกือบทุกแห่งล้วนกระจุกตัวอยู่ที่นี่ ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งสูงมากขึ้นเรื่อยๆ
อากรมองว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไม่แน่ต่อไปคนกรุงเทพฯ อาจต้องขี่คอกันก็เป็นได้
“ผมอยากเห็น กทม.เหลือคนแค่ 6 ล้านคน พยายามชักจูงให้คน 4 ล้านคนออกไปอยู่ต่างจังหวัด ลองคิดดู ถ้า กทม.เหลือแค่ 6 ล้านคน ใช้เวลาอีก 10 ปี กทม.ก็น่าอยู่ เมื่องไทยก็น่าอยู่ด้วย”
เพราะฉะนั้นหากต้องการให้ประเทศไทยโตขึ้นก็ต้องทำให้ทุกภูมิภาคมีงาน เงิน ที่อยู่อาศัย โรงเรียน มหาวิทยาลัย ถนนหนทาง มีรายได้และความเป็นอยู่ที่เสมอภาค เท่าเทียมหรือไม่ด้อยกว่าเมืองหลวงมากนัก โดยเขาจัดทำนโยบายออกมา 5 ข้อ ประกอบด้วย
หนึ่ง-คือลดภาษีรายได้นิติบุคคลให้บริษัทที่ลดทุนในต่างจังหวัด ให้เหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อสร้างงานในพื้นที่ พร้อมกำหนดว่าบริษัทเหล่านั้นต้องมีสำนักงานใหญ่ มีผู้บริหารและพนักงานในพื้นที่ 9 ใน 10 เพื่อป้องกันการแอบจดทะเบียน
สอง-ย้ายหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรุงเทพฯ ออกไป ทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมป่าไม้ กรมทางหลวง ฯลฯ
สาม-ยกเลิกงบ ส.ส. และเปลี่ยนมาจัดสรรงบประมาณพัฒนาจังหวัดต่างๆ อย่างยุติธรรม โดยอัตราที่เหมาะสมคือประชาชน 1 คน คนละ 1,000 บาท
สี่-นำที่ดินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทั้งกรมธนารักษ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย มาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ห้องสมุด สนามกีฬา
และห้า-ยกเลิกระบบผูกขาดสินค้า เช่นโทรศัพท์มือถือ สุรา เพราะการผูกขาดคือเผด็จการทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การแข่งขันทำให้เกิดการพัฒนา และส่งผลดีต่อผู้บริโภค
การนำเสนอไอเดียของอากรครั้งนั้นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย บางคนบอกว่าเขาบ้า บางคนแย้งว่าถ้าโยกคนจากกรุงเทพฯ ไปข้างนอก ก็เท่ากับผลักภาระให้ต่างจังหวัด ซึ่งอากรมองว่า ปัญหานี้เป็นธรรมชาติของเมืองที่เจริญแล้ว สิ่งสำคัญคือการเตรียมมือตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างการวางผังเมืองให้เหมาะสม และอีกไม่น้อยบอกว่า เขาลงผิดสนาม ความจริงควรไปลงสมัคร ส.ส. แล้วเป็นรัฐมนตรีดีกว่า แต่อากรรู้ดีว่า เวทีนั้นอาจไม่มีประโยชน์เท่าใดนัก
“ผมเคยคุยให้เพื่อน ส.ส. เพื่อนรัฐมนตรีฟังทั้งในพรรคที่สังกัด รวมทั้งพรรคอื่นๆ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เขาบอกว่ามันเป็นนโยบายระยะยาว ผมก็พยายามขาย ผลักดันให้เป็นนโยบายของรัฐ ผลกลับมาคือทุกฝ่ายเฉยๆ คราวนี้ก็เลยมาลองสมัครผู้ว่า กทม.บ้างลองดูว่าใครเขามีความคิดอย่างไร”
แม้สุดท้ายการเลือกตั้งจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ แต่อากรก็มองว่า คะแนนเสียงที่ได้รับก็ไม่ต่างจากการแสดงประชามติของประชาชน เพราะลำพังเขาพูดคนเดียวก็คงไม่มีใครฟัง และสิ่งเหล่านี้ก็จะถูกสะท้อนไปยังรัฐบาล และพรรคการเมืองแต่ละพรรค ซึ่งอาจต้องนำแนวคิดเหล่านี้ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาของประเทศไทย
“ผมไม่ต้องการมีอำนาจ แต่ผมต้องการมีอิทธิพลต่อความคิดของคน”
หากย้อนไปเมื่อ 30-40 ปีก่อน คงไม่มีใครไม่รู้จักนักธุรกิจหนุ่มที่ชื่อ อากร ฮุนตระกูล เพราะเขาคือเจ้าของโรงแรมในเครืออิมพีเรียล ซึ่งมีโรงแรมสาขาอยู่เกือบสิบแห่ง มีห้องพักรวมกันเกิน 3,000 ห้อง
ความจริงอากรไม่เคยคิดจะมาทำงานสายนี้มาก่อน แม้ที่บ้านจะทำธุรกิจโรงแรมก็ตาม หลังเรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์ เขาก็เริ่มงานธนาคาร์ชาร์เตอร์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร จากนั้นก็โยกย้ายมาอยุ๋ธนาคารเชสแมนฮันตัน ซึ่งมีสาขาอยู่ที่กรุงเทพฯ พอดี
เขาไต่เต้าจากนักวิเคราะห์สินเชื่อมาจนได้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อ เวลานั้นทางสำนักงานใหญ่ตั้งใจจะโปรโมตให้รับตำแหน่งใหญ่ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา แต่ก็เกิดจุดพลิกสำคัญขึ้นพอดี
เมื่อโรงแรมอิมพีเรียล ซอยร่วมฤดี ที่ครอบครัวถือหุ้นอยู่ 30 เปอร์เซ็นต์ เกิดไฟไหม้หนัก หุ้นส่วนเดิมตัดสินใจถอนหุ้น พ่อของอากรจึงรับซื้อ พร้อมกับขอร้องแกมบังคับให้ลูกชายคนโตกลับมาช่วยบริหาร
อากรในวัย 28 ปีจึงตัดสินใจทิ้งหนทางที่รุ่งโรจน์มาสู่หนทางใหม่
“ถึงผมจะไม่ค่อยรู้เรื่องธุรกิจโรงแรม แต่ผมก็เป็นคนกล้า ผมศึกษาทุกอย่าง ผมเป็นคนเรียนรู้เร็ว พอเรียนปุ๊บก็ทำได้ปั๊ป งานโรงแรมเป็นงานรับใช้ ขายสินค้าอยู่ 3 ตัวคือขายห้องพัก ขายอาหารและเครื่องดื่ม และขายบริการ”
ช่วงแรกของการบริหาร เขาพบว่าถึงโรงแรมจะมีแขกพักเต็ม แต่ก็ยังต้องจ่ายค่านายหน้าให้บริษัททัวร์สูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งยังต้องแข่งขันกับโรงแรมหลายแห่งที่มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าในประเทศเหมือนกัน เขาจึงใช้ความได้เปรียบเรื่องภาษาและเข้าใจธรรมชาติของคนยุโรป บินไปขายห้องกับบริษัททัวร์ในต่างประเทศด้วยตัวเอง ตลอดจนมุ่งทำตลาดกับลูกค้าที่เป็นนักธุรกิจ ซึ่งจองห้องพักโดยตรง จนโรงแรมมีรายได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ต่อมาเขาได้ยกระดับโรงแรม จากเดิมที่มุ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวมาเป็นกลุ่มนักธุรกิจเป็นหลัก ขยายพื้นที่โรงแรมมาถึงถนนวิทยุ และปรับราคาห้องพักสูงขึ้นเท่าตัว แม้มีเสียงคัดค้านจากบริษัททัวร์ที่ทำธุรกิจร่วมกันอยู่ แต่ด้วยความเชื่อมั่นทำให้อากรตัดสินใจแยกทางกับบริษัทเหล่านั้น และหันไปสมัครเป็นสมาชิกของ UTEL International เอเจนซี่เรื่องการจองห้องพักที่มีเครือข่ายทั่วโลกแทน รวมทั้งจัดตั้งทีมฝ่ายขาย เพื่อระดมลูกค้ากลุ่มต่างๆ ปรากฏว่าโรงแรมยังคงได้รับความนิยมไม่เปลี่ยน และมีรายได้สูงขึ้นไปอีกและนำไปสู่การขยายกิจการต่อไป
“การตัดสินใจเลือกจังหวะเวลาลงทุนเป็นตรรกะที่แยกไม่ออกจากตรรกะทางวิทยาศาสตร์ ในบางสถานการณ์ต้องใช้ความกล้าหาญ เด็ดขาด บางสถานการณ์ต้องใช้ความอดทน รอบคอบเพื่อให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น”
นอกจากเขายังพยายามหาช่องว่างและโอกาสใหม่ๆ ที่โรงแรมหลายแห่งไม่เคยทำ เช่นการนำอาหารไทยมาเสิร์ฟในโรงแรมหรู ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีเยี่ยม และนำไปสู่การต่อยอดเป็น ‘ร้านคุณอากร’ ภัตตาคารอาหารไทยที่ขายให้ฝรั่งที่ห้างแฮร์รอดส์ กรุงลอนดอน เพื่อประกาศศักดาของอาหารไทยในยุโรป
“เราเป็นรายแรกที่เข้าไปทำร้านอาหารระดับหรู ขายราคาแพง 2 ปีแรกคนด่ากันแยะ เพราะเราไปแหวกความคิดที่ว่าอาหารไทยต้องเป็นอาหารที่ถูก ถ้าทำร้านอาหารไทยราคาแพงๆ ฝรั่งก็ไม่เข้า คนไทยก็ไม่เข้า แต่เราเสี่ยง จนแหวกตลาดสำเร็จ หลังจากนั้นเราก็ไปเปิดที่ปารีสอีก 1 สาขา ลอนดอนอีกแห่ง”
แต่สิ่งที่ทำให้โรงแรมในเครือของอากรต่างจากที่อื่นโดยสิ้นเชิง คือการเป็นพื้นที่ความคิด
อากรสนใจการเมืองมาตั้งแต่เรียนอังกฤษ เคยตั้งกลุ่มสามัคคีสมาคม เพื่อแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างเสรี เคยเดินขบวนร่วมประท้วงเผด็จการช่วง 14 ตุลาคม 2516 และหลังได้รัฐธรรมนูญปี 2517 เขายังร่วมกับเพื่อนสนิท อย่าง สุทธิชัย หยุ่น และขรรค์ชัย บุนปาน จัดเวทีกลางโรงแรมอิมพีเรียล นำหัวหน้าพรรคการเมืองสำคัญๆ มาซักถามเรื่องนโยบายและวิสัยทัศน์ และถ่ายทอดออกโทรทัศน์
แต่ละเดือนเขายังจัดสนทนาโต๊ะกลมปัญหาบ้านเมือง เชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมเสวนา และนำเสนอในหน้าหนังสือพิมพ์ จนที่นี่กลายเป็นชุมนุมนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน นักหนังสือพิมพ์ ทหาร ตำรวจ นักการเมือง และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปโดยปริยาย
ความสนใจนี้เอง ทำให้หลายๆ ครั้ง เขาตัดสินใจเดินเข้าสู่เวทีการเมือง เช่นเมื่อปี 2518 อากรมีแผนลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคพลังใหม่ แต่ด้วยความไม่พร้อมบางประการ จึงถอยห่างและทำหน้าที่อยู่ข้างสนามนานถึง 17 ปี ก่อนลงสมัครครั้งแรกในนามพรรคพลังธรรม หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งเขาสามารถเข้าสภาได้สมความตั้งใจ พร้อมประกาศไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี แม้หลายคนจะมองว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมก็ตาม
ทว่าอากรทำหน้าที่เพียง 7 เดือนเศษเท่านั้น ก็ปรากฏข่าวว่าเขาพัวพันกับการปั่นหุ้นอสังหาริมทรัพย์ตัวหนึ่ง แม้ไม่มีมูลความจริง แต่เขาก็ตัดสินใจลาออกทันที และกลับไปทำธุรกิจดังเดิม เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานตรวจสอบทำหน้าที่เต็มที่ โดยที่ไม่มีเอกสิทธิ์ ส.ส.มาขัดขวาง และยังเป็นการรักษาภาพลักษณ์ของพรรคพลังธรรม ไม่ให้มัวหมองอีกด้วย
“เพื่อน ส.ส. ร่วมพรรคบอกผมว่า แค่เป็นข่าว 2 อาทิตย์เดี๋ยวมันก็เลิก แต่รู้สึกว่ามันจะไม่ใช่ผม เพราะเมื่อคิดว่าเราโปร่งใส เราก็ควรทำให้ประชาชนเห็นว่า เราไม่ใช่พวกนักการเมืองประเภทเหี้ย แต่เราคือนักการเมืองในส่วนของพวกน้ำดี”
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้อากรได้รับเสียงชื่นชมไม่น้อย ในฐานะของแบบอย่างที่ดีของนักการเมืองที่ดี มีสปิริต และมีสำนึกของจริยธรรมอย่างแท้จริง
หลังวางมือทางการเมืองรอบแรก อากร ฮุนตระกูล ต้องเผชิญกับวิกฤติครั้งสำคัญของชีวิต เมื่อเขาปัสสาวะเป็นเลือด และเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย ทั้งที่เป็นคนแข็งแรงมาตลอด
ครั้งนั้นแพทย์ตรวจพบว่าอากรเป็น ‘มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ’ แต่โชคดีที่อาการไม่รุนแรงมากนัก หมอก็เลยรีบผ่าตัดให้
“ในใจผมไม่เคยมีความกังวลหรือกลัวเลยนะ คิดแต่ว่าถ้าใจไม่สู้ก็ตาย หมอเองก็บอกผมว่า ผมเป็นคนไข้ที่มีกำลังใจดีมาก ก่อนเข้าห้องผ่าตัด ผมไม่คิดเลยว่า ถ้าหมอทำไม่สำเร็จ ผลออกมาจะเป็นอย่างไร”
น่าแปลกที่การผ่าตัดครั้งนั้นแทบไม่มีใครรู้เลยว่า อากรป่วยเป็นอะไร เขานอนพักอยู่ที่โรงพยาบาล 3 สัปดาห์ น้ำหนักลดไปสิบกว่ากิโลกรัม พอกลับมาที่โรงแรม ก็เดินไม่ค่อยไหว ต้องนอนพักอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเฉยๆ นานกว่า 4 เดือน เวลาพนักงานระดับสูงถามว่าเป็นอะไร ก็ตอบไปว่า “ผ่าไส้ติ่งมา”
ช่วงนั้นเองที่อากรมีโอกาสได้อ่านหนังสือ ‘ตัวกูของกู’ ของท่านพุทธทาส และทำให้เริ่มถามตัวเองบ่อยครั้งถึงความหมายของชีวิตที่แท้จริง
“ชีวิตเราทั้งชีวิตพยายามสร้างอะไร พยายามสร้างอาณาจักรเล็กๆ ของเรา ซึ่งเราก็สร้างมาแล้ว เวลาที่เราเอ็นจอยชีวิต ได้ใช้เงินใช้ทองบ้าง มีเวลาสนุกสนานบ้าง เป็นตัวของตัวเองมั่งก็ไม่มีเลย เราเหมือนเป็นทาสของงาน ทาสของเงิน เป็นทาสของความทะเยอทะยานของเราเอง ที่อยากจะทำให้มันโตขึ้น ให้คนรู้สึก เออ เราเป็นคนเก่ง คิดไปคิดมามันก็แค่นั้น”
เวลานั้นอิมพีเรียลขยายตัวสุดขีด เป็นโรงแรมไทยเจ้าแรกๆ ที่เครือข่ายของตัวเองนับสิบแห่ง ครอบคลุมหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ที่สำคัญคือเขายังสร้างโรงแรม 5 ดาวสุดหรูที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ อย่างอิมพีเรียล ควีนปาร์ก ซอยสุขุมวิท 22 ซึ่งมีห้องพักถึง 1,400 ห้อง มีห้องประชุมที่จุดคนได้นับพันชีวิต หากแต่ก็เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดหนี้สินสูงถึง 5,900 ล้านบาท
วันหนึ่งอากรพบกับ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี เขาบอกเพื่อนสนิทคนนี้ว่า
“กูว่าเมืองไทยเจ๊งแหงๆ เพราะคนบ้าเลือด กู้กันยกใหญ่ ลงทุนกันยกใหญ่ ทั้งโรงแรม สนามกอล์ฟ บ้านจัดสรร คอนโด ศูนย์การค้าจิปาถะ.. กูก็ว่ากูบ้า ลงทุนอะไรเยอะแยะไปหมด ทั้งกรุงเทพฯ สมุย แม่ฮ่องสอน ทั้งโรงพยาบาลปิยะเวช กูว่ากูจะขายทั้งหมดเลย.. ถ้าไม่ตัดสินใจ กูก็จะไม่เหลืออะไรเลย ขายตอนนี้ดีกว่า ถ้ารอไปอีกจะไม่มีคนซื้อ หรือซื้อก็ราคาถูกกว่าขี้”
หากแต่เหตุผลที่สำคัญยิ่งกว่าคือ เขาคิดได้ว่า หากตัวเองตายไป ก็คงเอาอะไรไปไม่ได้ และดีไม่ดีอาจสร้างภาระให้แก่ลูกเมีย รวมถึงพนักงานในเครืออีกด้วย
หลังการเจรจากับกลุ่มนักลงทุนหลายราย ทั้งไทยและเทศ ในที่สุดอากรก็ตัดสินใจขายโรงแรมอิมพีเรียลควีนปาร์กให้กับ เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของธุรกิจน้ำเมาคนดัง
ว่ากันว่าครั้งนั้นเสี่ยเจริญติดใจทั้งความโอ่อ่าใหญ่โตของโรงแรม ตลอดจนวิวของสวนเบญจสิริที่อยู่ติดกันด้วย นอกจากนี้ที่ปรึกษาของโครงการยังเป็นรุ่นน้องของอากรสมัยอยู่ที่ธนาคาร จึงแนะนำให้เสี่ยเจริญเทคโอเวอร์เครืออิมพีเรียลทั้งเครือ รวม 6 แห่ง และห้องพักสูงถึง 2,560 ห้อง เหลือเพียงโรงแรม 3 แห่ง คือโรงแรมบ้านท้องทรายที่สมุย โรงแรมจิม ลอร์ด ซึ่งเขายกให้น้องชาย และโรงแรมซิตี้อินน์
เหตุการณ์ครั้งนี้เองที่ทำให้เสี่ยเจริญกระโดดลงสู่สนามธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์เต็มตัว
“ช่วงที่ผมติดต่อขายโรงแรม ไม่มีใครรู้เลยว่าผมกำลังป่วย ผมบอกเพียงแต่ว่า ผมพอแล้ว อยากมีชีวิตสบายๆ เพราะผมเห็นว่าธนกร ลูกชายคนเดียวของผมก็ไม่มีทีท่าว่าจะสนใจงานด้านนี้ และที่ผมต้องปิดข่าวเพราะมันจำเป็น ถ้าใครๆ รู้ว่าผมป่วยก็คงถูกกดราคาแน่นอน หรือถ้าแบงก์รู้ อาจจะช็อกได้ เพราะอิมพีเรียลมีหนี้คาอยู่ 5,000 กว่าล้าน”
การขายธุรกิจเกือกยกแผง ทำให้เขาได้เงินกลับมากกว่า 2,300 ล้านบาท สามารถเดินทางไปรักษาโรคมะเร็งที่อังกฤษได้อย่างหมดห่วง ที่สำคัญสุดคือ อากรแทบไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากนั้นอีก 3 ปีเลย
ผมไม่ต้องการมีอำนาจ แต่ผมต้องการมีอิทธิพลต่อความคิดของคน
ช่วงท้ายชีวิต อากรใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่โรงแรมบ้านท้องทราย เกาะสมุย สำหรับเขาแล้ว ที่นี่คือ ‘สันติสุขในหัวใจ’
ความจริงอากรถือเป็นนักธุรกิจคนแรกๆ ของเมืองไทยที่มาบุกเบิกที่แห่งนี้
เมื่อปี 2528 อากรกับน้องชายและสถาปนิกอีกคน ได้เตรียมถุงกอล์ฟ เดินทางล่องใต้ เพื่อดูว่าพื้นที่ใดสวยพอน่าจะทำโรงแรมได้บ้าง หลังตระเวนมาตั้งแต่ หัวหิน ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ ภูเก็ต ระนอง อยู่เกือบเดือน จึงพบว่า สมุยนั้นสวยที่สุด อากรตัดสินใจซื้อทันทีในราคาที่ไม่แพงนัก
แม้จะไม่มีเวลามาพัฒนาโรงแรมเท่าไหร่ เพราะเวลาส่วนใหญ่ต้องทุ่มเทให้อิมพีเรียล แต่บ้านท้องทรายเป็นสถานที่ที่อากรรักมาก โดยเฉพาะช่วงพักฟื้นจากมะเร็ง เขาใช้เวลาส่วนใหญ่พักฟื้นที่นี่ สัมผัสความงดงามของหาดทราย สายลม และเกลียวคลื่น
“อยู่ที่นี่ดีอย่างคือ สงบ ผมชอบทำอะไรที่สบายเหมือนตอนอยู่ที่อังกฤษ ชอบไปเที่ยวตามเมืองเล็กๆ พักโรงแรมเกรดไม่ดี ทำแล้วรู้สึกว่าชีวิตได้รสชาติดี.. ที่สำคัญคือ ทำให้พบสัจธรรมบางอย่างที่ว่า ‘ยามมอดม้วยหมู่หมาไม่มามอง’ เพราะตอนที่เราเป็นโรงแรมใหญ่หลายแห่ง ผู้คนเข้ามาไหว้แสดงตัว เข้ามาตีสนิท แต่พอเห็นเราขายโรงแรมไปจนเกือบหมด ก็เข้ามาเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนเมื่อก่อน ไหว้แล้วก็แล้วกันไป เขาคงคิดว่าการขายโรงแรมคงหมายถึงเราหมดตัว”
อากรใช้เวลาส่วนใหญ่ใช้เวลาเกือบทั้งหมดบริหารงานในพื้นที่ 70 ไร่ด้วยแนวคิดสร้างความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ เขาทุ่มเทแรงกายแรงงาน ทำงานเกือบทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่คุมงานก่อสร้าง ออกแบบ ต่อเติม บางทีถึงขั้นบินไปเชียงใหม่ เพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์มาประดับห้องพัก โดยมี ธนกร ลูกชายที่เพิ่งเรียนจบเศรษฐศาสตร์จากอังกฤษเป็นผู้ช่วย
อากรบอกว่า ไม่ได้คาดหวังกับลูกชายคนนี้มากนัก และถ้าเขาตายไป ลูกชายจะขายก็คงไม่ว่าอะไร เพราะสำหรับเขาแล้ว การเสแสร้งทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบก็คงเจริญได้ยาก ซึ่งสุดท้ายลูกชายคนเดียวก็ยังคงรับช่วงบริหารโรงแรมต่อถึงทุกวันนี้
ทว่าถึงอากรจะวางมือจากงานหลายๆ อย่าง แต่การเมืองก็ยังคงเป็นเวทีซึ่งดึงดูดความสนใจของเขาได้ไม่เปลี่ยนแปลง จากศึกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2539 อากรยังตั้งใจที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ด้วย
“ผมอยากเป็นตัวอย่างของคนรุ่นหลังให้รู้จักมีความคิดเป็นของตัวเอง เปิดไปสู่แนวคิดใหม่ๆ ที่จะช่วยชาติได้”
แต่น่าเสียดายที่ความตั้งใจสุดท้ายไม่เป็นจริง เพราะมะเร็งศัตรูตัวเก่าที่หลบซ่อนอยู่นั้นกลับมาอีกครั้ง และครั้งนี้หนักหนากว่าคราวแรกมาก อากรต้องผ่าตัดใหญ่ ต้องฉายแสงถึง 15 ครั้ง แต่มะเร็งก็ไม่หมดไป จนอาการทรุดและเขาก็จากไป ในเช้าวันเดียวกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ครั้งแรกของประเทศ
คงไม่มีใครบอกได้ว่า หากวันนั้น อากร ฮุนตระกูล ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สุดท้ายแล้วเมืองหลวงแห่งนี้จะเล็กลง และประเทศไทยจะใหญ่ขึ้นจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่เขาคิด ฝัน และถ่ายทอดออกมานั้นกลับจุดประกายให้คนจำนวนไม่น้อยต้องกลับมาทบทวนและตกผลึกกับตัวเอง
ดาวเด่นจาก กกต.ชุดแรกของเมืองไทย ผู้คร่ำวอดกับการเลือกตั้งมานานกว่า 50 ปี และมีส่วนยกระดับการเลือกตั้งไทยสู่มาตรฐาน
เจ้าสัว ผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์ เติบโตก้าวกระโดดจากธุรกิจรุ่นพ่อ ด้วยการมองเห็นน้ำหนักที่แตกต่างของเสื้อกับน้ำตาล
หนุ่มนักเรียนนอกโนเนม ชื่อ เดช บุลสุข ทำอย่างไรให้ แมคโดนัลด์ ฟาสต์ฟูดส์เจ้าดังแห่งอเมริกัน ยอมขายเฟรนไชนส์เป็นรายแรกในเมืองไทย
ตำนานการสร้าง ยาคูลท์ ของผู้บริหารเดลินิวส์ จากนมที่คนเคยคิดว่าเป็นเสีย สู่นมเปรี้ยวที่ทุกคนผูกพันมานานกว่า 50 ปี
สุดยอดนักธุรกิจไทย ทายาทรุ่นที่ 2 ผู้ปักหมุดให้โอสถสภากลายเป็นแบรนด์ไทยอันดับต้นๆ ของประเทศ
จากลูกจ้างธรรมดาๆ มาสู่การเป็นเจ้าของ ‘แป้งตรางู’ ผู้สร้างแบรนด์และสินค้าที่ประสบความสำเร็จข้ามเวลามานานเกือบ 100 ปี
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
สุดยอดนักพากย์ฟุตบอลและผู้ประกาศข่าวกีฬาแห่งเรื่องเล่าเช้านี้ที่ครองใจผู้ชมผู้ฟังมานานกว่า 3 ทศวรรษ
สาว สาว สาว แอม-แหม่ม-ปุ้ม ต้นตำรับเกิร์ลกรุ๊ปเมืองไทย ผู้สร้างกระแสเพลงประตูใจ ข้ามกาลเวลาถึงปัจจุบัน
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.