กุลวัฒน์ พรหมสถิต : ชีวิต ‘ไม่บังเอิญ’ ของคนทำเพลง

<< แชร์บทความนี้

“..หากบังเอิญสายตาเธอจะผ่านมาที่ฉัน และเธอนั้นบังเอิญจะสนใจ หากบางทีหัวใจเธอเจอสิ่งที่ซ่อนไว้ ก็คงเพราะว่าใจเราตรงกัน..”

นี่คือ ไม่บังเอิญ บทเพลง One-Hit Wonder ของศิลปินนักแต่งเพลง ต้อ-กุลวัฒน์ พรหมสถิต

เพราะแม้คนส่วนใหญ่แทบไม่รู้เลยว่า เขาเป็นใคร หน้าตาเป็นแบบไหน หากแต่บทเพลงที่ว่าก็ยังคงความคลาสสิกและถูกขับกล่อมเรื่อยมา นับตั้งแต่อัลบั้ม Just a Song วางแผงเมื่อปี 2540

แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือเขายังเป็นมือแต่งทำนอง ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน นักดนตรีแบ็กอัพ ไปจนถึงโปรดิวเซอร์ ที่อยู่เบื้องหลังผลงานเพลงในความทรงจำมากมาย อาทิ ยามเมื่อลมพัดหวน, เพื่อเธอ, ขีดเส้นใต้ ฯลฯ

เพื่อรำลึกถึงศิลปินผู้เคยให้ความสุขแก่นักฟังเพลงมานานกว่า 3 ทศวรรษ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอชักชวนทุกคนไปอ่านเรื่องราวและการทำงานของเขาสักครั้งหนึ่ง

เส้นทางแห่งเสียงที่ไม่บังเอิญ

กุลวัฒน์เริ่มสนใจดนตรีจากความบังเอิญ เพราะแต่เดิมโลกที่ทำให้เขาสนุก ก็คือการเล่นกีฬา ทั้งซ้อมบอล ฝึกแบดมินตัน ตีปิงปองไปเรื่อยเปื่อย

แต่เหมือนเป็นพรหมลิขิต เพราะตอน 11 ขวบ เขาแวะไปหาเพื่อนที่บ้าน แล้วดันไปเจอกีตาร์ของพี่ชายเพื่อนซึ่งเรียนต่อต่างประเทศตัวหนึ่ง ถูกทิ้งไว้ในกล่อง จึงหยิบขึ้นมาดีดเล่น พอเริ่มดีดก็เหมือนมีแรงดึงดูดให้หลงใหลแทบจะทันที

นับแต่นั้นเขาก็เริ่มถูกดึงเข้าสู่เส้นทางของเสียงเพลงแบบไม่รู้ตัว

กุลวัฒน์หัดกีตาร์โดยมีญาติผู้พี่เป็นคนดูแล โดยเฉพาะเพลง Ready For Love ของ Bad Company เขาเล่นทั้งวันทั้งคืนจนไม่ยอมนอนเลย จากนั้นเขาก็ถูกดึงมาร่วมเล่นวงดนตรีในฐานะมือเบส เนื่องจากมือกีตาร์ครบแล้ว

เวทีแรกของกุลวัฒน์ เกิดขึ้นตอนที่เขาอายุได้ 12-13 ขวบ ครั้งนั้นเขาเล่าผ่านนิตยสาร DDT ว่าเขาย้ายมาอยู่กับวงของรุ่นพี่คนหนึ่ง ซึ่งเคยตระเวนเล่นดนตรีในแคมป์ทหารจีไอ แล้วกลับมาเปิดห้องซ้อมของตัวเอง สมัยนั้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เขาจะเล่นดนตรีอยู่ที่โคลีเซี่ยมสเก็ต แถวยมราช ซึ่งเป็นศูนย์รวมของวัยรุ่นไทย โดยได้ค่าเหนื่อยครั้งละ 200 บาท รวมทั้งเคยไปออกรายการโทรทัศน์ ฉันทนาโชว์ ทาง ททบ.5 ด้วย

กุลวัฒน์เล่นดนตรีอยู่นานหลายปี จนกระทั่งสมาชิกบางคนเข้ามหาวิทยาลัย วงก็เลยแตกไปโดยปริยาย จึงหันเหชีวิตไปสู่การเล่นดนตรีกลางคืนในโรงแรม ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

พออายุได้ 19 ปี เขาก็เปลี่ยนเส้นทางไปเป็นอาจารย์สอนดนตรี ที่โรงเรียนสยามกลการ (จังหวัดขอนแก่น) พร้อมกับรับปากว่า ภายใน 3 เดือน นักเรียนจะต้องเล่นดนตรีและฟังเพลงเป็น ถัดมาอีก 3 ปี ชีวิตก็จับพลัดจับผลูกลายเป็นมือกีตาร์ของวง Mighty Queen ซึ่งมีพี่สาว ตุ๊ก-วรัชยา พรหมสถิต เป็นมือคีย์บอร์ดอยู่

จากนั้นเขาก็ไปร่วมกับนักดนตรีรุ่นใหญ่ ชื่อวง 3rd Dimension และก็มีโอกาสได้จับเครื่องดนตรีอื่นๆ ทั้ง เปียโน คีย์บอร์ด กลอง ฟลุต และแซกโซโฟน ซึ่งกลายเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงานดนตรีเรื่อยมา ก่อนจะได้รับคำแนะนำจากเพื่อนวัยเด็ก ปุ้ม-พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งยุคนั้นเป็นโปรดิวเซอร์อยู่ที่ Butterfly Sound & Film ให้มาทำงานที่นี่

“ตอนนั้นไปสมัครเป็นนักแต่งเพลง แต่ตำแหน่งมันเต็ม เขาเลยถามว่า เป็น Sound Engineer ได้ไหม ซึ่งผมก็ทำได้อยู่แล้ว ก็เลยเริ่มที่บัตเตอร์ฟลาย”

แต่กุลวัฒน์ทำงานอยู่ที่นี่ได้ไม่ถึงปี ก็ขอลาออกไปทำเพลงอยู่กับ ประชา พงศ์สุพัฒน์ ที่รายการสโมสรผึ้งน้อย และเมื่อน้าประชาย้ายมาทำงานที่แกรมมี่ เขาก็ได้เข้ามาร่วมทำงานในอาณาจักรดนตรีแห่งนี้ตั้งแต่ยุคบุกเบิกด้วย

แกรมมี่สมัยนั้นจะแบ่งการทำงานเป็นทีม สุรักษ์ สุขเสวี เล่าว่า กุลวัฒน์ทำงานอยู่ภายใต้ทีมของ กริช ทอมมัส โดยว่ากันว่าเขาเป็นนักดนตรีในกลุุ่ม ‘โคตรติ๊สท์’ ที่เก่งจริง และมากด้วยความสามารถ

กุลวัฒน์เป็นคนทำเพลงที่ทุ่มเท และพร้อมถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนทำงาน ไม่แปลกเลยที่หลายคนจะยกให้เขาเป็นครูทางดนตรี

“..อัดกีตาร์ถูกจังหวะและโน้ตแล้ว แต่การเป็นมืออาชีพ เราต้องใส่ความรู้สึกของเราเข้าไปในตัวโน้ตด้วย..” คือสิ่งที่เขาเคยบอกรุ่นน้องโปรดิวเซอร์คนหนึ่งที่คุ้นเคยกันไว้

กุลวัฒน์อยู่เบื้องหลังเพลงเด่นๆ มากมาย โดยเฉพาะเพลงละครโทรทัศน์ อย่าง ยามเมื่อลมพัดหวน ร้องโดย เจ-เจตริน วรรธนะสิน, ด้วยมือของเธอ เพลงประกอบละครคือหัตถาครองพิภพ ร้องโดย นัท มีเรีย หรือ เพื่อเธอ ร้องโดย ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง

ว่ากันว่า การทำเพลงยุคนั้น นอกจากแต่งเนื้อเพลงที่ได้มืออาชีพ เช่น ตุ้ย-ธนา ชัยวรภัทร์ หรือ ตุ๊ก-มณฑวรรณ ศรีวิเชียร มาช่วยเขียนให้ กุลวัฒน์ต้องทำเองเกือบหมด ตั้งแต่เล่นดนตรี ควมคุมร้อง รวมถึงหาทีมงานที่เข้ามาเสริมให้บทเพลงสมบูรณ์ที่สุด

เขาเคยเล่าถึงหลักการทำเพลงของตัวเองว่า “..การเป็นที่หนึ่ง ความมีชื่อเสียง ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หรือมีความหมายใดๆ เลยสำหรับผม เพียงแค่…ทำยังไงก็ได้ ให้เพลงนั้นๆ มันอยู่ในใจของพวกเค้าตลอดไปต่างหาก..”

Just a Song

กุลวัฒน์ทำงานอยู่ที่แกรมมี่นานหลายปี ก่อนตัดสินใจลาออกไปบุกเบิกค่ายเพลงของตัวเอง อย่าง  Art Factory มีผลงานที่น่าสนใจ คือ มินิอัลบั้มเด็กหลังห้อง ของ ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง รวมถึงเคยไปช่วยแต่งเพลง Theme ให้รายการวิทยุในตำนานอย่าง ถามมาซิจ๊ะ…โดน

น่าเสียดายที่สุดท้ายค่ายเพลงนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร กระทั่งปี 2540 เมื่อ ชนินทร์ โปสาภิวัฒน์ อดีตหัวหอกของค่ายเพลง Creatia Artist และ พนเทพ สุวรรณะบุณย์ โปรดิวเซอร์แถวหน้าของเมืองไทย และญาติผู้พี่ของกุลวัฒน์ มาตั้งค่ายเพลง Oh! My God เขาก็เลยถูกดึงมาร่วมด้วย

ค่ายเพลงเล็กๆ นี้ ผลิตงานที่น่าสนใจและกลายเป็นตำนานหลายอัลบั้ม เช่น Crossroad ของ อัญชลี จงคดีกิจ, ดอกไม้และก้อนหิน ของปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว, อยากจะมีเธอ ป้อม-เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์, The Must และวงพรรณนา

แต่ที่สำคัญสุด คือที่นี่เปิดโอกาสให้กุลวัฒน์ผันตัวเองจากคนเบื้องหลังมาสู่เบื้องหน้า

“มีคนชวนให้มาทำงานเดี่ยวหลายครั้งแล้ว แต่เราก็ยุ่งเกินที่จะคิดแบบนี้ จนพอมา Oh! My God นี่ก็เป็นพวกเพื่อนๆ กันหมด เขาก็ยุว่า “เฮ้ย นายทำหน่อยเด่ะ” ก็โอเค เขาให้ทำก็ทำไป..การทำเพลงให้ตัวเองไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราส่องกระจกเราเห็นตัวเราเองทุกวันอยู่แล้ว ตัวเราเองเรารู้อยู่แล้ว เราเป็นคนง่ายๆ เราอยู่ง่ายๆ ก็น่าจะทำเพลงง่ายๆ แต่ผมคงไม่ได้ทำแบบเขาฮิตๆ กัน ผมมองว่าตัวเราเป็นอะไรมากกว่า ผมคงทนตัวเองไม่ได้ถ้าเราไม่ใช่” กุลวัฒน์เล่าเรื่องผ่านนิตยสาร DDT

อัลบั้ม Just a Song ไม่ได้มีภาพของกุลวัฒน์อยู่บนปก แต่เป็นภาพเด็กน้อยหันหลังถือกีตาร์ เพราะเหมือนเป็นการย้อนเวลาสู่จุดเริ่มต้นเมื่อครั้งแรกที่เขาเริ่มหลงใหลดนตรี

ที่สำคัญคือ เขาแทบไม่ไดไปออกอีเวนต์ ร้องเพลงที่ไหน โปรโมตเพลงไม่กี่ครั้ง สำหรับกุลวัฒน์แล้ว เขาก็แค่ปล่อยให้บทเพลงที่ตั้งใจสร้างขึ้น ทำหน้าที่ขับกล่อมผู้ฟัง จึงไม่แปลกเลยที่แฟนเพลงแทบจะไม่เคยเห็นหน้าศิลปินรายนี้ 

“มีคนเคยถามผมว่า เอาแรงบันดาลใจจากไหนมาแต่งเพลง..ผมก็หยิบจากสิ่งรอบข้างผมนี่แหละครับ มาสร้างเป็นเพลง พอศึกษาเพิ่มเติม ก็ค่อยๆ ขยายมันขึ้นไป ไม่ต้องเยอะ เอาแค่เราสามารถอธิบายสิ่งที่เราคิด ไปสู่คนฟังก็พอแล้ว..”

แล้วสิ่งที่เขาตั้งใจก็เป็นจริง เพราะแม้อัลบั้มชุดนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จในด้านยอดขาย แต่ ไม่บังเอิญ เพลงลำดับที่ 3 ของอัลบั้ม ซึ่งได้ ตุ๊ก-มณฑวรรณ มาร่วมเขียนเนื้อ และกุลวัฒน์แต่งท่อนแยกที่ว่า ‘อยู่กับความเหงา กอดกับความฝัน’ ก็กลายเป็นหนึ่งในผลงานคลาสสิกที่ถูกส่งต่อข้ามกาลเวลามาถึงปัจจุบัน

การเป็นที่หนึ่ง ความมีชื่อเสียง ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หรือมีความหมายใดๆ เลยสำหรับผม เพียงแค่...ทำยังไงก็ได้ ให้เพลงนั้นๆ มันอยู่ในใจของพวกเค้าตลอดไปต่างหาก

กุลวัฒน์ พรหมสถิต : ชีวิต ‘ไม่บังเอิญ’ ของคนทำเพลง

เบื้องหลังตลอดกาล

เมื่อหมดยุค Oh! My God เขาก็กลายเป็นนักแต่งเพลงอิสระ มีบางช่วงที่หันไปทำนิตยสารดนตรีที่ชื่อ disc@zine ในตำแหน่ง Music Director เมื่อปี 2545 รวมถึงบุกเบิกการทำห้องบันทึกเสียง

เขาถือเป็นมือ Sound Engineer เบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย โดยเฉพาะงานของ RS ยุคที่ ชมพู-สุทธิพงศ์ วัฒนจัง เป็นผู้บริหาร กุลวัฒน์ก็มีส่วนร่วมหลายชิ้น เช่น เพลงรักคนมีเจ้าของ ของไอน้ำ หรือเพลงใจเหลือเหลือ ของ Dr.fuu

เขาบอกว่า งานบันทึกเสียงเป็นงานที่น่าสนใจ และมีส่วนช่วยทำให้งานเพลงโดนใจของผู้คนได้ด้วย ทว่าที่ผ่านมากลับพบว่าคนที่ทำงานนี้อย่างถูกต้องมีน้อยลงเรื่อยๆ เขาจึงอยากมีส่วนพัฒนางานตรงนี้ให้ได้คุณภาพมากขึ้น

ในช่วงระยะหลัง กุลวัฒน์ เริ่มถอยห่างจากการผลิตงานเพลง แต่ก็ยังคงถ่ายทอดความรู้เรื่องดนตรี และประสบการณ์ตลอด 30 กว่าปีผ่าน Facebook ของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาแก่น้องๆ ที่ส่งเพลงมาให้ฟัง

“..เพลงมันจะดัง ได้ยินครั้งแรก absorb (ดื่มด่ำ) ได้เลย ดังแน่ ผมเคยบอกกับเพื่อนๆหลายคนแล้ว เพลงนี้มาว่ะ.. มันก็ตามนั้นแหละ Simple is the best หรือ Simply the best .. สรุปแต่งเพลงให้มันเพราะๆ ไม่มักง่าย แล้วมันจะเป็น good asset ที่ติดตัวคุณไปจนวันตาย..”

และทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของคนดนตรี ที่ผลงานของเขาอยู่คงอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนอีกนานแสนนาน

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • Facebook : Kullavat Bramasthita (กุลวัฒน์ พรหมสถิต)
  • นิตยสาร DDT ปีที่ 4 ฉบับที่ 42 เดือนกรกฎาคม 2550
  • ปกอัลบั้ม Just a Song
  • Facebook : Peerapat Pothisaratana
  • Fackbook : สุรักษ์ สุขเสวี
  • Facebook : Wern Ruangkit

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.