ใครจะคิดว่า..ชีวิตของศิลปินสาวเสียงดีที่มีแฟนเพลงทั่วประเทศ จะเต็มไปด้วยขวากหนามมากมาย
ข่าวลือสารพัดที่ถูกใส่สีขึ้นมา ทั้งถูกข่มขืน ถ่ายภาพโป๊ หรือแม้แต่ซื้อพระเอกคนดังมาเป็นคู่ชีวิต เป็นเพียงเสี้ยวเดียวที่ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ต้องเผชิญตลอดเวลาที่โลดแล่นบนเส้นทางสายดนตรี
หากเป็นคนทั่วไปคงท้อและถอยหนีไปแล้ว แต่ไม่ใช่ผู้หญิงคนนี้
เพราะความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน ได้หล่อหลอมให้อดีตเด็กสาวไร่อ้อยผู้นี้กลายเป็นหญิงแกร่ง ที่กล้าเสี่ยง กล้าทำ แม้หลายครั้งจะขัดกับกรอบเดิมๆ ที่นักร้องในอดีตเคยทำก็ตาม ยิ่งมาบวกกับพรสวรรค์ทั้งเสียงร้อง และการแสดง ส่งผลให้เธอก้าวสู่จุดสูงสุดของอาชีพได้อย่างรวดเร็ว
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงอยากพาทุกท่านย้อนกลับไปดูเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพื่อค้นหาคำตอบว่า สิ่งใดกันเป็นแรงผลักดันให้ก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ นานา มาครองความเป็นที่ 1 ในใจผู้คนทั่วประเทศ
“เรามีสิทธิ์ที่จะมีผัวใช่ไหมคะ จะให้เป็นขวัญใจกันตลอดไปได้ไง คือผึ้งคิดว่าการมีชีวิตคู่ดีกว่าคนเดียว ไม่ชอบอยู่คนเดียว มันเหงายังไงไม่รู้”
ในปี พ.ศ. นี้ การมีครอบครัวของคนดังเป็นเรื่องแสนธรรมดา แถมพระเอกนางเอกบางคนยังส่งต่อความดังไปถึงลูกๆ อีกต่างหาก แต่ไม่ใช่สำหรับปี 2528 โดยเฉพาะกับนักร้อง ‘ฝ่ายหญิง’ ด้วยแล้ว การมีลูกมีครอบครัวถือเป็นเรื่องต้องห้าม
ผู้บริหารค่ายเพลงหลายคนถึงขั้นขู่ศิลปินในสังกัดว่า หากไม่เชื่อรับรอง ความนิยมหด แฟนเพลงหายหมดแน่นอน
แต่พุ่มพวงไม่กลัว..
เธอตัดสินใจแต่งงานกับพระเอกคู่ขวัญ ไกรสร แสงอนันต์ และมีพยานรักคล้องใจ 1 คน
“ไม่เคยกลัวตก..ถ้ากลัวก็คงไม่มีลูกหรอก คือทำใจไว้แล้ว อะไรก็แล้วแต่มีเกิดก็ต้องมีตาย มีดังก็ต้องมีดับเป็นธรรมดา ผึ้งทำใจเสมอ..แต่เราก็ถือว่าเป็นงานของเรา เรายังรักอยู่”
ผลของความกล้าเสี่ยง ทำให้ค่ายเทปที่มีสัญญาเหลืออีก 2 ปีปฏิเสธที่จะออกอัลบั้มใหม่ให้ เพราะมองว่าเส้นทางของพุ่มพวงได้จบลงแล้ว
แต่นักร้องสาวกลับไม่ท้อ เธอและครูลพ บุรีรัตน์ นักแต่งเพลงคู่บุญยังคงเดินหน้าทำเพลงต่อไป
อัลบั้มพุ่มพวง’31 ที่มีเพลง ‘หนูไม่รู้’ เป็นเพลงเอก กลายอัลบั้มยอดฮิตที่โด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศ และยังครองใจแฟนๆ จนถึงปัจจุบัน
คงไม่ผิดหากกล่าวว่า ความกล้าครั้งนั้นได้สร้างบรรทัดฐานใหม่แก่วงการเพลงลูกทุ่ง บางทีความเชื่อเดิมๆ อาจไม่จริงเสมอไป เพราะปัจจัยความสำเร็จที่แท้จริง คือความสามารถของตัวศิลปินและทีมงานต่างหาก
“พุ่มพวงเป็นสุดยอดลูกทุ่งหญิงตัวจริง ซึ่งยังไม่มีใครแทน เป็นสุดยอดของความเป็นลูกทุ่งร่วมสมัยตลอดกาล เป็นความภูมิใจมากของผู้ที่เคยร่วมงาน โดยเฉพาะอย่างผมซึ่งร่วมงานกันมาตั้งแต่ปี 2526 จนสุดท้ายของชีวิตของเธอ” ครูลพบันทึกเรื่องราวที่ยากจะลืมเลือนของลูกศิษย์สาวผู้นี้
ชีวิตของพุ่มพวงเต็มไปด้วยความท้าทายเกินกว่าใครจะคาดคิด
ได้เรียนแค่ชั้น ป. 2 เพราะต้องออกมาทำงานเลี้ยงน้อง อ่านไม่ออก เขียนก็ไม่ได้ มีเพียงแค่ลายเซ็นที่ใช้ลงนามในเอกสารต่างๆ เป็นเครื่องยืนยันว่าเคยเขียนหนังสือ
เช่นเดียวกับชีวิตรักที่รวดเร็วไม่ทันตั้งตัว เพราะอายุไม่ถึง 15 ปีก็กลายสถานะจากเด็กหญิงเป็นภรรยาแล้ว
ผลจากการชิงสุกก่อนห่าม ทำให้เธอและสามี มือแซกโซโฟนต้องระเห็จจากวงไวพจน์ เพชรสุพรรณ มาอาศัยบ้านเช่าหลังเล็กๆ ตะเกียกตะกายอยู่พักใหญ่ กระทั่งมาอยู่ในวงศรเพชร ศรสุพรรณ และขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด ถึงเริ่มลืมตาอ้าปากได้
กราฟชีวิตเริ่มพุ่งสุดๆ ตอนพบครูมนต์ เมืองเหนือ นักแต่งเพลงชื่อดัง ครูมนต์นี่เองที่เปลี่ยนชื่อจาก ‘น้ำผึ้ง เพชรสุพรรณ’ เป็น ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ แม้ส่วนตัวเธอจะไม่ค่อยชอบเท่าใดเพราะดูใหญ่เกินตัว แต่เพราะชื่อนี้เองที่เปลี่ยนชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือ
พุ่มพวงกลายเป็นศิลปินเพลงแก้ที่มีชื่อ ตั้งวงดนตรีแรก ตอนอายุได้ 16 ปี แต่ละวันมีแฟนเพลงมาเข้าแถวซื้อตั๋วรอดูนักร้องหญิงในดวงใจกันเพียบ ทว่าเหมือนโชคชะตาเล่นตลก เพียงแค่ปีเดียว วงก็ล้มลง ด้วยความไม่เจนประสบการณ์ของสองผัวเมีย เลยไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมอันซับซ้อนในวงการสมัยนั้น
โชคดีที่ทั้งคู่ได้เจอผู้ใหญ่ใจดี นายห้างประจวบ จำปาทอง เข้ามาโอบอุ้ม ทุ่มเงิน 8-9 ล้านบาทออกเทปคาสเซ็ตให้ แถมยังหนุนให้กลับมาทำวงอีกครั้ง โดยเดินสายคู่กับ เสรี รุ่งสว่าง จนโด่งดังและเป็นนักร้องที่ใครๆ ก็อยากได้ตัวไปร่วมงาน
หลังนายห้างประจวบหยุดกิจการ จึงเข้าสังกัดค่ายใหญ่ มีผลงานออกมาอีกนับสิบชุด ที่ติดหูก็มีทั้งสาวนาสั่งแฟน คนดังลืมหลังควาย ดาวเรืองดาวโรย อื้อฮื้อหล่อจัง โดยมีครูลพ บุรีรัตน์ รับหน้าที่แต่งเพลงฮิตส่วนใหญ่
ค่ายใหญ่นี่เองที่มีส่วนช่วยผลักดันให้พุ่มพวงไปไกลยิ่งกว่าเดิม ทั้งการเปลี่ยนลุคจากนักร้องบ้านๆ เป็นลูกทุ่งทันสมัย โดยมีผมซอยสั้นที่เป็นเอกลักษณ์ หรือการก้าวไปสู่วงการภาพยนตร์ และมีโอกาสประกบพระเอกชื่อดังหลายคน เช่น ทูน หิรัญทรัพย์ หรือ ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์
ทว่าสิ่งที่ต้องแลก คือการเอารัดเอาเปรียบจากผู้คนรอบข้างทั้งนายทุน หรือบรรดานักข่าว
พุ่มพวงเคยให้สัมภาษณ์ว่า เทปชุดหนึ่งได้ค่าร้องแค่เพลงละ 5,000 บาท และไม่ได้เปอร์เซ็นต์อะไรเพิ่มเติมทั้งสิ้น สิ่งที่ได้รับมีแค่รางวัลต่างๆ เท่านั้น แถมวันที่ออกจากค่ายยังถูกโจมตีสารพัด หาว่าเนรคุณบ้าง เป็นนักร้องโง่เง่าบ้าง
“ตอนนั้นถูกตีข่าวต่างๆ น่าดู หนังสือพิมพ์ก็ตีจัง.. ทุกวันนี้ ผึ้งพยายามไม่พูด พยายามนิ่งก็ยังโดนอยู่ประจำ เล่นหนังก็ว่าไม่มีคนดู.. เสริมนะ รอบปฐมทัศน์ล้นเลยนะ คอนเสิร์ตมาบุญครองคนดูเป็นพันก็ว่ามีแค่สองร้อย”
แต่ที่หนักสุด คือคนเคยรักกลับมีปัญหาหนักถึงขึ้นต้องแยกบ้าน จนสุดท้ายนักร้องสาวตัดสินใจเลิกราเด็ดขาด แม้จะยอมให้ฝ่ายชายรับหน้าที่ผู้จัดการวงต่อไปก็ตาม กระทั่งต่อมาเธอมีคนรักใหม่ก็ไม่วายถูกกระแสโจมตีหาว่าไปแย่งสามีเขาบ้าง ลงทุนซื้อตัวจากเมียเก่า 1-2 ล้านบาทก็มี แต่เธอไม่แคร์ ใครอยากจะว่าอะไรก็ปล่อยเขาไป
“ผึ้งหยิ่งในตัวเอง ผึ้งรักศักดิ์ศรีตัวเอง แล้วเหตุการณ์แบบนี้ผึ้งก็เคยเห็นอยู่ว่า ผู้หญิงบางคนต้องไปยอมเค้าเพื่อจะให้ตัวเองได้มีคนเชียร์ โอเค ถ้าจะยอมใครสักคน ผึ้งจะยอมเฉพาะคนที่ผึ้งรักหรือผึ้งพอใจเท่านั้น ไม่ใช่เอาเงินมาซื้อมาแลก ทำกับผึ้งไม่ได้หรอก”
“มันผิดเหรอที่ยกระดับตัวเองขึ้นมา ให้พ้นจากที่เค้าเหยียดหยาม โธ่..กะอีแค่ลูกทุ่ง กลับมีปัญหาว่าลืมตัว”
ถ้าสังเกตเพลงของพุ่มพวงจะพบว่าไม่เหมือนกับเพลงสมัยก่อน เนื่องจากเธอนำสไตล์เพลงสมัยใหม่มาผสมผสานเพลงแบบเดิมๆ จนเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ยิ่งบวกกับน้ำเสียงที่มีลูกอ้อนที่น่าหลงใหล กลายเป็นเสน่ห์ให้แฟนๆ ติดใจร้องกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง
พุ่มพวงบอกว่า การพัฒนาตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ จึงพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ทั้งการแต่งตัว ท่าเต้น แม้กระทั่งมิวสิกวิดีโอ อย่าง ‘โลกของผึ้ง’ ก็ยกกองไปถ่ายทำกันถึงเมืองจีน
การออกแสดงแต่ละครั้งคนดูจึงได้เห็นพุ่มพวงในมาดใหม่อยู่เสมอ เพราะจังหวัดหนึ่งเธอไปแสดงตั้งหลายครั้ง อย่างนครสวรรค์มีเป็นร้อยๆ ครั้ง หากให้แสดงเหมือนเดิมตลอด นอกจากจะได้ค่าตัวลดลงแล้ว คนดูก็คงเบื่อ และไม่อยากชมคอนเสิร์ตอีก
“พวกท่าเต้นนี่มีครูสอนนะคะ แต่เครื่องแต่งตัวผึ้งคิดเองหมด โดยดูจากหนังสือแฟชั่นเมืองนอกบ้าง แล้วเอามาดัดแปลง ตอนคิดนี่ไม่นานเลยนะคะแต่ตอนตัดซินาน แล้วชุดหางเครื่องนี่แพงเป็นแสน บางชุดขึ้นหลักหลายแสนเพราะชุดหนึ่งจะมีคนเต้นประมาณ 15-30 คน”
จันทร์จวง ดวงจันทร์ เคยเล่าว่า ปีที่ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ได้ตำแหน่ง Miss Universe พี่สาวจดจำและวาดภาพชุดประจำชาติของทุกประเทศ แล้วนำไปปรับใช้กับหางเครื่องทั้งหมด โดยหัวใจสำคัญของการออกแบบไม่ใช่ความสวยงาม แต่เป็นความเท่ ความดูดี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชุดอื่นๆ ได้
ความละเอียดของเธอไม่ได้มีแค่โชว์ แม้แต่สถานที่แสดงก็ยังไม่เว้น
ก่อนเริ่มงาน พุ่มพวงต้องขึ้นไปสำรวจเวที เพื่อให้ทราบว่าลักษณะเวทีเป็นอย่างไร รวมทั้งจัดวางองค์ประกอบของโชว์ให้เหมาะสม ทั้งตำแหน่งหางเครื่อง หรือการออกลีลาท่าทาง ที่สำคัญคือเรื่องคิวเพลงว่าต้องร้องอะไรก่อนหลัง เธอจัดการเองหมด โดยคาดการณ์จากผู้ชมว่าน่าจะชอบเพลงอะไรมากกว่ากัน
ไม่เพียงแค่นั้น ยังนำประสบการณ์ที่เคยไปชมการแสดงของนักร้องดังระดับโลกมาประยุกต์ใช้กับการแสดง โดยเฉพาะ ‘เมดเลย์พุ่มพวง’ ถือเป็นเมดเลย์เพลงแรกของวงการลูกทุ่งไทย ทำให้ผู้ชมรู้จักเพลงของเธอมากขึ้น และหลายๆ เพลงก็ยิ่งฮิตขึ้นไปอีก
ความนิยมแบบฉุดไม่อยู่ ทำให้เธอกลายเป็นนักร้องลูกทุ่งคนแรกที่ได้ขึ้นไปแสดงที่โรงแรมดุสิตธานี ต่อหน้าแขกผู้มีเกียรติมากมาย และในปี 2534 ยังได้รับคัดเลือกให้ร้องเพลง ‘ส้มตำ’ ถวายต่อหน้าพระพักตร์กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย นับเป็นความสำเร็จที่ยากจะหาศิลปินคนใดเทียบเท่า
การยกระดับของพุ่มพวงจึงไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวเองเท่านั้น แต่ยังมีผลสืบเนื่องไปถึงวงการเพลงลูกทุ่งทั้งวงการ จึงไม่แปลกเลยว่าเหตุใดผู้คนถึงยกให้เป็น ‘ราชินีเพลงลูกทุ่ง’ ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30 ปี
“คำว่า ‘ราชินีเพลงลูกทุ่ง’ สูงมาก จริงๆ แล้วไม่กล้ารับ แต่เมื่อมันบ่อยเข้า มากเข้า ก็เลยต้องยอมรับ โดยที่ตัวเองคิดไม่ถึงว่าจะได้ตำแหน่งนี้ แต่ผึ้งก็ดีใจ ถึงผึ้งจะร้องเพลงเลว ร้องเพลงที่ กบว.เกือบจะไม่ผ่าน แต่ก็มาตั้งเป็นราชินีเพลงลูกทุ่ง”
คำว่า ‘ราชินีเพลงลูกทุ่ง’ สูงมาก จริงๆ แล้วไม่กล้ารับ..แต่ผึ้งก็ดีใจ ถึงผึ้งจะร้องเพลงเลว ร้องเพลงที่ กบว.เกือบจะไม่ผ่าน แต่ก็มาตั้งเป็นราชินีเพลงลูกทุ่ง
ท่ามกลางความสำเร็จที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต คงไม่มีใครคิดว่าช่วงเวลาแห่งความสุขนั้นสั้นเหลือเกิน
ระหว่างทัวร์คอนเสิร์ตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา พุ่มพวงเกิดอาการท้องบวมและแน่นหน้าอก แพทย์ที่นั่นตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจเป็นโรคกระเพาะเลยให้ยามากิน แต่อาการไม่ดีขึ้น ไกรสรเลยตัดสินใจพาภรรยากลับมาเมืองไทย
หลังตรวจร่างกายอย่างละเอียด พุ่มพวงถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพ้ภูมิต้านของตัวเอง อวัยวะทุกส่วนของร่างกายจะเริ่มอ่อนแอลง กว่าครึ่งของผู้ป่วยโรคนี้จะมีไตอักเสบ บวมตามหน้า หนังตา กับเท้าทั้งสองข้าง ต้องมาหาหมอทุกเดือน กินยาทุกวัน ไม่มีทางหายขาด
สมัยนั้นแทบไม่มีใครรู้จักโรคร้ายนี้เลย และไม่ทราบด้วยซ้ำว่าการบรรเทาที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือ การพักผ่อนให้เพียงพอ
แต่อาจเพราะลูกทุ่งหญิงผู้นี้ต่อสู้ดิ้นรนมาทั้งชีวิต เธอจึงเลือกเดินสายร้องเพลงตามต่างจังหวัดเหมือนเดิม ต่อให้ต้องนั่งรถเข็น มีคนมาช่วยร้องแทน หากร่างกายยังไหว ไม่มีทางที่จะไม่เห็นพุ่มพวง
เหตุผลหนึ่งที่ยอมทุ่มชีวิตให้งานมากเช่นนี้ เพราะงานส่วนใหญ่ต้องจองตัวกันข้ามปี หากผิดนัดก็เท่ากับสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ที่สำคัญคือการร้องเพลงเป็นความสุขในชีวิต ไม่ยิ่งหย่อนกว่าความรักที่มอบให้คนในครอบครัวเลย
“บางครั้งยังเจ็บคอแทบตาย แต่พอได้ขึ้นเวทีแล้ว ผึ้งก็จะร้องอย่างเดียว ถ้าคนดูยิ่งชอบ ยิ่งปรบมือให้มากเท่าไหร่ ผึ้งก็ลืมไปเลยเรื่องไม่สบาย จนบางครั้งร้องเกินเวลาที่ผึ้งจะร้องเสียอีก”
ผลจากการโหมงานอย่างหนัก บวกกับไม่รู้จักวิธีจัดการกับโรคร้ายอย่างเหมาะสม ทำให้สุขภาพของศิลปินสาวทรุดเร็วกว่าที่คาด ยิ่งช่วงหลังที่มีปัญหาส่วนตัวประเดประดังเข้ามาด้วย ก็ส่งผลให้พลังกายพลังใจที่จะต่อสู้ลดน้อยถอยลงตามไปด้วย
ช่วงเดือนท้ายๆ พุ่มพวงอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังขอย้ายจากโรงพยาบาลกลับมาอยู่บ้าน โดยมีน้องสาวคอยดูแล ส่วนงานที่เคยรับไว้ก็ต้องยกเลิกไปโดยปริยาย
วันที่ 13 มิถุนายน 2535 ด้วยความคิดถึงลูกชายคนเดียว พุ่มพวงตัดสินใจนั่งรถจากกรุงเทพฯ มุ่งตรงไปที่เชียงใหม่ ระหว่างทางก็แวะกราบพระพุทธชินราชที่พิษณุโลก แต่ด้วยสภาพร่างกายที่อ่อนแอสุดขีด บวกกับความอ่อนล้าจากการเดินทางไกล ทำให้หน้ามืดหมดสติระหว่างก้มกราบพระ และต้องส่งตัวเข้าโรงพยาบาลทันที
ไม่นานหลังจากนั้นเธอก็จากไป.. ปิดฉากชีวิตแสนทรหด ด้วยวัยเพียง 31 ปี ทิ้งไว้เพียงบทเพลงที่เป็นตำนาน และเรื่องราวเล่าขานถึงชีวิตของหญิงสาวธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา ต่อสู้จากเด็กตัดอ้อยผู้ยากจนมาเป็นราชินีลูกทุ่ง เพื่อมอบความสุขให้กับผู้ชมและคนรอบข้าง แม้กระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต
ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ กับชีวิตที่ต้องดิ้นรนเพื่อพิสูจน์ตัวเอง จนสามารถก้าวข้ามคำดูถูกเหยียดหยามได้สำเร็จ
เรื่องราวของนักแต่งเพลง ที่หลายคนยกให้เป็นเจ้าพ่อเพลงปรัชญา ผู้แต่งเพลงบูมเมอแรง จนทำให้ เบิร์ด-ธงไชย กลายเป็นศิลปินล้านตลับ
สัมผัสแง่มุมชีวิตที่ไม่ธรรมดาของศิลปินและนักธุรกิจ ผู้ก่อตั้งค่ายเพลงอันดับ 1 ของเมืองไทย
เรื่องทีมสร้างสรรค์ของค่ายเพลงขนมปังดนตรีในตำนาน ผู้บุกเบิกการทำปกและแพ็กเกตอัลบั้มยุคใหม่ของวงการ
นักร้องนักดนตรี ร็อกสตาร์เบอร์ต้นของเมืองไทย ชายผู้ทำให้เด็กไทยมากมายอยากลุกขึ้นมาจับกีตาร์
เรื่องราวของทีมทำเพลง ผู้อยู่เบื้องหลังวงร็อกดัง อย่าง big ass, bodyslam และ labanoon
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
ย้อนเรื่องราวอัลบั้มในตำนานของสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Bakery Music
DAJIM ศิลปินฮิพฮอพผู้จุดกระแสเพลงใต้ดินให้โด่งดังไปทั่วประเทศ
เส้นทางชีวิตของ จอห์น นูโว จากศิลปินยอดนิยม สู่ผู้บุกเบิกสื่อไอทีของเมืองไทย
ศิลปิน นักแต่งเพลง เจ้าของบทเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) ผู้ที่ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ผลงานที่ล้ำสมัย
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.