ไวพจน์ เพชรสุพรรณ : ยอดนักแหล่..ผู้อยู่ในใจเสมอ

<< แชร์บทความนี้

หากพูดถึงชื่อ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ คนรุ่นใหม่อาจคุ้นกับชื่อนี้ผ่านมุกตลก สุดคลาสสิก

ไวพด เพชรตะพึด (เฮ้ย) … ไวพึด เพชรตะพัด (เฮ้ย) … ไวพัด เพชรตะพุด (เฮ้ย) … ไวพุด เพชรตะพิด (เฮ้ย) … ไวพจน์ เพชรสุพรรณ (เฮ้ย) ถูกแล้ว !!!

แต่ความจริงแล้ว ชายผู้นี้คือบุคคลสำคัญในวงการลูกทุ่ง

หากไม่มีเขาคนนี้ บางทีเมืองไทยก็อาจไม่มีราชินีลูกทุ่งที่ชื่อ พุ่มพวง ดวงจันทร์

หากไม่มีเขาคนนี้ บางทีเพลงแหล่ อาจหลงเหลือแค่ความทรงจำ

เพื่อรำลึกถึงศิลปินแห่งชาติผู้จากไป ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปสัมผัสตัวตน และเรื่องราวของราชาเพลงแหล่

ไวพจน์ เพชรสุวรรณ

เกิดมาพร้อมเพลง

คงไม่ผิด หากจะบอกว่า พ่อไวพจน์นั้นเกิดมาเพื่อเป็นศิลปินโดยแท้

เพราะเมื่อลืมตาดูโลก เขาก็ซึมซับเพลงอีแซวจากแม่ ผู้เป็นนักร้องเบอร์ต้นๆ ของหมู่บ้าน

เวลานั้นแม่ของเขามีโอกาสได้เดินสายตามพื้นที่ต่างๆ แล้วก็มักพาลูกชายไปด้วย ดนตรีก็เลยค่อยๆ ซึมซับในใจเด็กชายโดยไม่รู้ตัว

การคลุกคลีกับทางสายนี้ พ่อไวพจน์จึงพบพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่ในตัว คือ เขาสามารถทราบทันทีว่า นักร้องคนไหนร้องเพลงเพราะหรือไม่เพราะ จากการฟังเสียงร้องเพียงไม่กี่ประโยค

“ถ้าร้องดี มันจะไต่กลอนเป๊ะๆ ฟังแล้วมันรื่นหู ตอนนั้นเราเป็นเด็ก เรารู้เลยว่ายัยคนนี้ร้องดี ส่วนคนนี้ร้องไม่ดี เสียงกระด้าง เสียงแข็ง เราก็จะจำในสิ่งที่ดี ถ้าได้ดูเพลงพื้นบ้านไม่เกิน 3-7 วัน ใครร้องกลอนอะไร เราจำได้หมด”

คงเพราะเหตุนี้เอง ทำให้แม่ของเขาส่งเสริมลูกชายเต็มที่ ด้วยการพาไปฝากตัวกับครูเพลงลำตัด ตั้งแต่อายุไม่กี่ขวบ และได้ขึ้นแสดงอยู่บ่อยครั้ง ก่อนจะลาไปช่วยที่บ้านทำนา โดยระหว่างนั้นก็เดินสายประกวดตามเวทีต่างๆ โดยเริ่มแรกมี สมยศ ทัศนพันธ์ เป็นแม่แบบ ต่อมาจึงหันมายึดแนวทางของ พร ภิรมย์ โดยมีเพลงประจำตัวคือ บัวตูมบัวบาน

ว่ากันว่า สมัยนั้นเขาประกวดทีไรก็คว้าอันดับ 1 ทุกที

จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของพ่อไวพจน์เกิดขึ้น เมื่อวันหนึ่ง ชัยชนะ บุญนะโชติ มาเปิดคอนเสิร์ตที่วัดสวนแตง ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านเขาประมาณ 3 กิโลเมตร ลุงข้างบ้านก็เลยชวนให้ไปดูด้วยกัน

“พอไปถึงลุงแกก็บอกว่า นั่นไงชัยชนะนั่งกินข้าวอยู่ เข้าไปไหว้เลย คือเขารู้ว่าเรื่องร้องเพลง เราแน่นอนอยู่แล้ว ก็เดินเข้าไปไหว้ ชัยชนะก็ถามว่ามาจากไหน เราก็บอกว่ามาจากวังน้ำเย็น เขาก็ถามต่อว่า มาทำไม เราก็เลยบอกว่า จะมาสมัครนักร้อง คุณพี่จะรับหรือเปล่า

“ตอนนั้นลุงที่มาด้วยก็เข้ามาประกบ บอกว่าคุณชัยชนะ ถ้ามีเวลาก็ฟังเขาร้องห้ฟังสักเพลงได้ไหม แกก็บอกไม่เป็นไร แล้วก็ถามชื่อ จากนั้นก็เอาซองบุหรี่มาจด พอจดเสร็จก็บอกว่าเดี๋ยวดนตรีจะเล่นแล้ว ถ้าแน่จริงขึ้นเวทีเลย”

ด้วยความที่เป็นคนดังในละแวกนั้น พอชัยชนะบอกว่าจะมีเด็กจากวังน้ำเย็นจะขึ้นมาร้องเพลงด้วย ยังไม่ทันได้บอกชื่อ คนดูก็ปรบมือดังลั่น

“พอได้ยินเสียงปรบมือ ชัยชนะก็บอกว่าแสดงว่ารู้จักนักร้องซิ ก็มีเสียงตะโกนชื่อขึ้นมา แล้วเราก็ร้องเพลงของ พร ภิรมย์ ร้องไปได้ครึ่งเพลงก็หยุด คนก็บอกให้ร้องให้จบ ชัยชนะก็เลยถามว่าทำไมร้องแค่นี้ เราก็บอกว่าเกรงใจครับ อาจารย์บอกให้ร้องครึ่งเพลง แกก็บอกว่าซื่อจัง ร้องให้จบ พอร้องจบ คนก็ตะโกนว่าเอาไปด้วย แกก็บอกว่าไม่ต้องห่วง ผมเอาไปคืนนี้เลย”

นั่นเองคือจุดเปลี่ยนที่พลิกชีวิตของเด็กหนุ่มผู้นี้ไปตลอดกาล

เส้นทางราชานักแหล่

เดิมทีพ่อไวพจน์ไม่ได้ชื่อว่า ‘ไวพจน์’ แต่ชื่อว่า ‘พาน สกุลนี’

เหตุผลที่เปลี่ยนก็เพราะชัยชนะเห็นว่า คำว่า ‘พาน’ นั้นพ้องเสียงกับคำว่า ‘พาล’ ฟังแล้วดูเป็นไม่มงคล ก็เลยไปค้นตำราธรรม จนมาได้ชื่อ ‘ไวพจน์’ คำว่า ‘ไว’ แปลว่า ผู้เฉลียวฉลาด ส่วน ‘พจน์’ ก็คือพูดเป็นหลักเป็นการ เปรียบเสมือนนักปราชญ์ ขณะที่นามสกุลนั้นก็อิงมาจากบ้านเกิดของพ่อไวพจน์นั่นเอง

การได้ไปอยู่วงของชัยชนะ แม้ไม่ได้ขึ้นเวทีบ่อยนัก แต่ด้วยลีลาและน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นไม่เหมือนกัน ก็ทำให้กลายเป็นนักร้องดาวรุ่งที่ทุกคนต่างจับตามอง

“เราก็หิ้วกระเป๋าตามแก วันหนึ่งก็ได้ร้องวันละ 1-2 เพลง บางทีได้รับรางวัลมากกว่าอีก ตอนนั้นยังไม่ได้อัดแผ่นเสียงเลย เราก็อยู่กับแกสักปีกว่า แกก็บอกอยู่กับพี่คงไม่ไหว เพราะแกไม่มีทุนรอน กลัวลงทุนแล้วจะไม่ได้ทุนคืน”

ชัยชนะก็เลยไปฝากกับครูเพลงชื่อ สำเนียง ม่วงทอง ด้วยความหวังว่าจะพาไปอัดแผ่นเสียงให้ ครูสำเนียงเลยทดลองให้พ่อไวพจน์ทดลองร้องเพลงให้ฟัง หลังร้องได้ 1-2 ท่อน ครูก็บอกว่า “พอแล้ว เอาเลย เตรียมอัดแผ่นเสียง ไม่เกิน 7 วัน”

เพลงแรกที่พ่อไวพจน์ร้องคือ ให้พี่บวชเสียก่อน โดยในส่วนของดนตรีและวิธีการร้อง ครูสำเนียงได้แรงบันดาลใจจากเพลงอีแซว ซึ่งพ่อไวพจน์ร้องให้ฟังมาดัดแปลง จนออกมาเป็นเพลงที่สมบูรณ์

หลังบันทึกเสียงและเปิดตามสถานีวิทยุ ปรากฏว่า ชื่อของไวพจน์ก็เปรี้ยงปร้างติดลมบน นักจัดรายการทุกสถานีต่างเดินทางมาหาถึงบ้าน เพื่อขอนำแผ่นไปเปิดออกอากาศ เพราะแฟนๆ ต่างเรียกร้อง

ผลจากความสำเร็จครั้งนั้น ทำให้ครูสำเนียงตัดสินใจผลักดันให้ลูกศิษย์หนุ่มขึ้นมาเป็นนักร้องนำของวงรวมดาวกระจาย เดินสายไปตามจังหวัดต่างๆ จนโด่งดังไปทั่วประเทศ กระทั่งเวลาผ่านไปได้ 3 ปี ครูจึงแนะนำให้เขาทำวงของตัวเอง พ่อไวพจน์จึงแยกตัวออกมา เมื่อราวปี 2512

ด้วยความเป็นยอดฝีมือที่มีความสามารถรอบด้าน ทั้งเพลงลูกทุ่ง เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ หรือแม้แต่ลำตัด ทำให้วงดนตรีไวพจน์ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว มีแฟนเพลงติดตามมากมาย

แต่ที่เรียกว่าโดดเด่นและกลายเป็นสัญลักษณ์จนถึงทุกวันนี้ ก็คือ เพลงแหล่

โดยช่วงนั้นพ่อไวพจน์เริ่มทำวงของตัวเองพอดี แล้วเผอิญได้รู้จักกับครูจิ๋ว พิจิตร ยอดนักแต่งเพลง ซึ่งเคยอยู่กับวงพร ภิรมย์ มาช่วยเขียนเพลงให้ เช่น แบ่งสมบัติ, ลาบวช ฯลฯ เป็นเพลงแหล่ที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ยิ่งมาผสานกับเสียงของพ่อไวพจน์ ก็ยิ่งโดดใจมากขึ้น

เจนภพ จบกระบวนวรรณ นักวิชาการเพลงลูกทุ่ง เคยอธิบายว่า แต่ก่อนไม่มีใครร้องเพลงสไตล์นี้จริงจัง เท่าที่เห็นก็มีแต่ พร ภิรมย์ เท่านั้น แต่ช่วงหลังความนิยมนั้นลดน้อยลงไป เมื่อไวพจน์เข้ามาร้องเพลงแหล่ จึงถือว่าถูกจังหวะพอดี

ยิ่งมาบวกกับปฏิภาณไหวพริบบนเวที เพราะพ่อไวพจน์นั้นถนัดเรื่องการด้นกลอนสด สามารถโต้ตอบได้ทันควัน ไม่นานนักเขาก็เป็นศิลปินที่ดังระเบิด และถูกขนานนามให้เป็น ‘ราชานักแหล่’ ขวัญใจคนไทยเรื่อยมา

นักปั้นตัวจริง

อีกภาพจำของพ่อไวพจน์คือครูผู้สร้าง

อาจเพราะด้วยพรสวรรค์เรื่องการฟังเสียงที่เขามี ทำให้รู้ว่านักร้องคนไหนน่าสนใจและควรนำไปปั้นต่อ โดยช่วงที่ยังเดินสายตามต่างจังหวัด มีคนมาขอฝากตัวเป็นศิษย์นับไม่ถ้วน ลูกศิษย์ที่ดังๆ ก็อย่างเช่น ขวัญจิต ศรีประจันต์, เพชร โพธาราม ฯลฯ

“เยอะจนจำไม่ได้ มาฝากแล้วก็ไป เป็นร้อย ดังมั่งไม่ดังมั่ง แต่พ่อก็จะเขียนเพลงดีๆ ให้ทุกคน แล้วแต่ดวงของคนจะดังไม่ดัง”

หากแต่คนที่ว่าอยู่ในความทรงจำมากที่สุด คงหนีไม่พ้น พุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีลูกทุ่งตลอดกาลของเมืองไทย

พ่อไวพจน์เจอพุ่มพวงตั้งแต่อายุได้ 10 ขวบ ตอนนั้นพ่อแม่ของพุ่มพวงพาขึ้นมอเตอร์ไซค์คันใหญ่ๆ มาจอดหลังเวที พอมาถึงพุ่มพวงก็มากราบ พ่อไวพจน์ก็เลยให้ทดลองร้องเพลงให้ฟัง เธอก็ร้องเพลง รถด่วนขบวนสุดท้าย เพียงแค่นั้นเขาก็รู้ว่าเจอเพชรเม็ดงามแล้ว

สำหรับพ่อไวพจน์แล้ว พุ่มพวงก็เปรียบเสมือนลูกสาว เขาตั้งชื่อให้เธอว่า น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ แต่งเพลงแก้วรอพี่ เป็นเพลงเปิดตัว

“แก้วรอพี่เป็นพลอตเรื่องบ้านนอกบ้านนานี่แหละ แล้วก็มีหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ผู้ชายอยู่สุพรรณ ผู้หญิงอยู่เมืองกาญจน์ ฝ่ายชายตั้งใจจะมาขอ แต่สุดท้ายไม่ได้แต่ง เพราะถึงปีแล้วน้ำมา นาล่มหมด ไม่ได้ข้าว ต้องขายข้าวได้ ถึงจะมีเงินมาแต่ง ก็เกิดเป็นเพลงนี้”

น่าเสียดายที่สุดท้าย พุ่มพวงทำผิดกฎของวง จึงต้องแยกตัวออกไป แต่ความผูกพันของทั้งคู่ก็ไม่เคยเสื่อมคลาย

ไม่เพียงแค่นักร้องเท่านั้นที่พ่อไวพจน์ช่วยเหลือ แม้แต่นักดนตรีที่มีฝีมือแต่ขาดโอกาส เขาก็ไม่เคยลังเลที่จะยื่นมือเข้าไปสนับสนุน

อย่าง หนึ่ง-จักรวาล เสาธงยุติธรรม โปรดิวเซอร์คนดัง เคยเล่าว่า สมัยเด็กๆ เขาเติบโตมาในชุมชนคลองเตย แม้จะรักเสียงเพลง แต่ด้วยความยากจนจึงไม่เคยมีเครื่องดนตรีเป็นของตัวเอง

บังเอิญพ่อไวพจน์นั้นเป็นเพื่อนของพ่อ ด้วยความอยากสนับสนุนหลานชาย พ่อไวพจน์จึงยกคีย์บอร์ดเก่าให้เครื่อง หนึ่งถึงได้เริ่มฝึกหัดจนเชี่ยวชาญ และเริ่มสามารถเล่นกับมืออาชีพได้ ต่อมาเมื่อหนึ่งตั้งวงลูกทุ่งกันเล่นตามงานต่างๆ พ่อไวพจน์ก็ยังมารับหน้าที่เป็นนักร้องประจำวงอีกต่างหาก

ด้วยน้ำใจและความเมตตาอันเปี่ยมล้น จึงไม่แปลกเลยว่าทำไมคนในวงการดนตรีและบันเทิงจึงรักและเคารพในตัวพ่อไวพจน์เสมอมา

เพลงแหล่มันก็เป็นสื่อบอกให้รู้ ต้องเรียนรู้ บางคนเขาไม่อยากแหล่ เพราะว่าเรียนลำบาก แต่คนเสียงดีน่าจะเรียน เพราะว่ามันกำลังจะหมดไป

ไวพจน์ เพชรสุพรรณ : ยอดนักแหล่..ผู้อยู่ในใจเสมอ

ฝันที่ยาวไกลของไวพจน์

แม้สุขภาพจะเสื่อมไปตามวัย แต่พ่อไวพจน์ก็ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ผลงาน

ในช่วงหลังเขาเคยจับคู่กับ ทศพล หิมพานต์ ศิลปินนักแหล่รุ่นลูก ทำอัลบั้มด้วยกัน ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมาก

นอกจากนี้เขายังเดินสายรับงานต่างๆ ทั้งร้องเพลงบวช ทำขวัญนาค แสดงตามคอนเสิร์ตไม่เคยหยุด ต่อให้บางครั้งต้องนั่งรถเข็นไป เพราะมีอาการกระดูกทับเส้นประสาท แต่พ่อไวพจน์ก็ไม่มีเกี่ยง เพราะอยากส่งความสุขให้มิตรรักแฟนเพลงทุกคน

แต่ในฐานะเสาหลักของวงการ และยังเป็นนายกสมาคมนักเพลงลูกทุ่งแห่งประเทศไทยคนแรกอีกด้วย ฝันหนึ่งที่เขาอยากเห็นมาเสมอ คือการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมเพลงลูกทุ่ง โดยเฉพาะเพลงแหล่ ไปสู่คนรุ่นลูกรุ่นหลาน

ดังที่เขาเคยให้สัมภาษณ์เมื่อนานมาแล้วว่า “เพลงแหล่มันก็เป็นสื่อบอกให้รู้ ต้องเรียนรู้ บางคนเขาไม่อยากแหล่ เพราะว่าเรียนลำบาก แต่คนเสียงดีน่าจะเรียน เพราะว่ามันกำลังจะหมดไป ถ้าหมดบุญพ่อไป หมดบุญชินกร (ไกรลาส), หมดทศพล (หิมพานต์) ไป จะทำยังไงกัน”

แม้วันนี้ พ่อไวพจน์ เพชรสุพรรณ จะเดินทางไปไกลแสนไกล

แต่มรดกต่างๆ ที่ท่านได้สั่งสมไว้ ทั้งผลงานเพลงนับพัน ภูมิปัญญาเรื่องการแหล่ ทำขวัญนาค หรือแม้แต่ศิลปินรุ่นหลังที่ถ่ายทอดวิชาไว้ ก็จะยังคงดำเนินอยู่ต่อไป และเป็นเครื่องยืนยันความยิ่งใหญ่ของขุนพลเพลงลูกทุ่งผู้นี้ไปตลอดกาล

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • รายการ Inside Hall of Fame สถานีโทรทัศน์ True Inside วันที่ 16 เมษายน 2662
  • รายการ คุยแซ่บShow สถานีโทรทัศน์ One31 วันที่ 15 กรกฎาคม 2563
  • นิตยสาร ราชาเสียงทอง ปีที่ 5 ฉบับ 112 วันที่ 8 กันยายน 2542
  • นิตยสาร สกุลไทย ปีที่ 47 ฉบับที่ 2430 วันที่ 15 พฤษภาคม 2544
  • หนังสือ ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2540
  • หนังสือ ลูกทุ่ง โดย เจนภพ จบกระบวนวรรณ
  • เพจ ไทยบันเทิง Thai PBS
  • Instagram หนึ่ง-จักรวาล เสาธงยุติธรรม

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.