สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ : ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ วรรณกรรมเยาวชนที่เสกเวทมนตร์สู่นักอ่านไทย

<< แชร์บทความนี้

กว่า 2 ทศวรรษแล้วที่เรื่องราวของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ยึดกุมจิตใจของเด็กไทยนับล้าน กลายเป็นหนังสือชุดประวัติศาสตร์ที่ปลุกพลังการอ่านในสังคมไทยขึ้นมาได้สำเร็จ

ด้วยเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น เปี่ยมล้นไปด้วยจินตนาการ บวกกับการวางโครงที่มีชั้นเชิงของ J. K. Rowling ทำให้ผู้อ่านสนุกและอยากติดตามชีวิตของพ่อมดน้อยและผองเพื่อนตลอดเวลา

เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกเลยว่า ต่อให้เวลาจะผ่านไปนานสักเพียงใด แต่ความประทับใจที่มีต่อวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ ก็ไม่เคยเสื่อมคลายเลย

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ The Cloud อยากขอพาทุกคนไปพูดคุยกับ 3 บุคคลที่มีส่วนผลักดันหนังสือเล่มนี้ ทั้ง สุมาลี บำรุงสุข ผู้แปลหนังสือแฮร์รี่พอตเตอร์ 5 ใน 7 เล่ม, พรกวินทร์ แสงสินชัย บรรณาธิการบริหารหนังสือแฮรร์ พอตเตอร์ เล่ม 6-7 แต่คลุกคลีกับพ่อมดน้อยตั้งแต่เล่มที่ 1 และ  คิม จงสถิตย์วัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทนานมีบุ๊คส์ จำกัด ลูกสาวของ สุวดี จงสถิตย์วัฒนา เจ้าของสำนักพิมพ์ที่อยู่เบื้องหลังผลงานทั้งหมด เพื่อย้อนถึงจุดตั้งต้นของการนำแฮร์รี่ พอตเตอร์ ข้ามน้ำข้ามทะเลจากเกาะอังกฤษมาถึงเมืองไทย 

อ่าน :  22 ปีแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเบื้องหลังสุดมันในการทำฉบับภาษาไทยจนกลายเป็นปรากฏการณ์ ที่ https://readthecloud.co/harry-potter

แต่ก่อนที่จะไปเต็มอิ่มกับเรื่องราวทั้งหมด เรามีเรื่องสนุกๆ มาเล่าสู่กันฟัง

1. ก่อนจะมาแปลแฮร์รี่ พอตเตอร์ สุมาลีเคยเป็นนักเขียนของสตรีสาร ภาคพิเศษ ตั้งแต่อายุ 15 ปี เคยมีผลงานมาแล้วหลายเล่ม เช่น เรื่องเล่าของม่าเหมี่ยว ม่าเหมี่ยวและเพื่อน เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือเรื่อง โลกของโซฟี รวมทั้งยังเคยแปลหนังสือ เรื่องเล่าก่อนเข้านอน ร่วมกับพี่สาวฝาแฝด

2. ก่อนที่จะตีพิมพ์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ เคยตีพิมพ์วรรณกรรมเยาวชนมาแล้ว 38 ปก โดยส่วนใหญ่ยอดขายจะอยู่ที่ 1,000-3,000 เล่ม ซึ่งต่างจากแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งพิมพ์ครั้งแรก ก็มากถึง 10,000 เล่มแล้ว

3. ตอนอ่านบทแรกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ สุมาลีบอกว่า น่าเบื่อมาก แต่พออ่านไปเรื่อยๆ ก็ติดใจจนวางไม่ลง ถึงขั้นต้องส่งติดต่อไปยัง สุวดี เพื่อขอให้นานมีบุ๊คส์ ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้มาแปล

4. แฮร์รี่ พอตเตอร์ และศิลาอาถรรพ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 นานมีบุ๊คส์ได้เชิญ กัญจนา ศิลปอาชา รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้น และ ศุ บุญเลี้ยง นักเขียนดังมาร่วมคำนิยม โดย ศุ บุญเลี้ยง มีคำแปลกๆ อย่าง คมนิยำ ซึ่งเท่ากับ คำนิยม หรือ โสรก่พนยงก่รนยย แปลว่า ขอขอบคุณที่นึกถึงผมและให้เขียนคำนิยมด้วยความยินดี

5. ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากขอนำอนุญาตนำคำนำของ สุมาลี ในการพิมพ์ครั้งแรกมาแบ่งปัน เพื่อเห็นให้ว่า ทำไมเธอถึงอยากสนับสนุนให้นำผลงานเรื่องนี้มาถ่ายทอดเป็นภาษาไทยมาก

นี่เป็นหนังสืออีกเล่มที่ผู้อ่านวางไม่ลง พ่อแม่และครูที่โรงเรียนที่อ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ ให้ลูกๆ และเด็กๆ ในชั้นเรียนฟัง ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นหนังสือที่สนุกทั้งคนอ่าน เพลิดเพลินทั้งคนฟัง และไม่แปลกที่บ่อยครั้งเด็กๆ จะขอร้องว่า อ่านต่อไปอีกบทได้ไหม แน่นอน บ่อยครั้งคนอ่านไม่ปฏิเสธ

เด็กหลายคนที่ข้าพเจ้ารู้จักสารภาพว่า เมื่ออ่านแล้วก็ติดใจและอ่านเพลินจนลืมเวลา ข้าพเจ้าตอบเด็กๆ ว่า ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน ด้วยความที่เป็นแฟนเหนียวแน่นของแฮร์รี่ พอตเตอร์ และ เจ. เค. โรล์ลิ่ง ข้าพเจ้าจึงดีใจมากที่มีโอกาสแปลหนังสือเล่มนี้ให้ผู้อ่านได้เพลิดเพลินไปกับเรื่องราวของแฮร์รี่ด้วย

ข้าพเจ้าขอขอบคุณญาติมิตรสหาย รวมถึงลูกศิษย์ที่ช่วยอ่านชื่อตัวละคร อธิบายศัพท์และธรรมเนียมต่างๆ ที่ไม่อาจหาได้จากพจนานุกรม ท้ายที่สุด ขอบคุณสามีที่คอยเตือนว่าถึงเวลานอนแล้ว ให้หยุดอ่าน หยุดแปล แล้วผู้อ่านล่ะ จะต้องมีใครคอยเตือนหรือเปล่า

6. ในช่วงที่แฮร์รี่ พอตเตอร์ วางแผงใหม่ๆ สุมาลีถูกโจมตีไม่น้อยว่า แปลไม่ดี แล้วหลังจากนั้นไม่นานก็มีคนเชิญเธอไปพูดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตอนนั้น เธออธิบายว่า เท่าที่อ่านงานของตัวเอง ยอมรับว่าไม่สามารถทำงานที่สมบูรณ์แบบ ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และนี่ก็เป็นงานที่เร่งด้วย แต่เราต้องการให้หนังสือเราออกมาได้ไวที่สุด ดิฉันคิดว่าทำแปลได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ดิฉันพอใจ ถือว่าสอบผ่านแล้ว และการแปลหรือการทำงานทั้งหลายต้องมีผิดพลาด ถ้าคนที่ไม่เคยทำงาน ก็ย่อมไม่เคยผิดพลาด หลังจากนั้นก็ไม่มีเสียงว่า สุมาลีแปลผิดอีกต่อไป เพราะสุมาลียอมรับว่าแปลผิดได้ แล้ว บก.ก็ช่วยแก้ไขด้วย ถือว่าไม่ได้เลวร้าย ถึงขั้นสอบตก

7. หนึ่งในธรรมเนียมช่วงแรกๆ ของการพิมพ์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย คือ นานมีบุ๊คส์มักจะนำจดหมายจากเด็กๆ ที่ส่งเข้ามา มาตีพิมพ์ในหนังสือด้วย ซึ่งจดหมายที่เข้ามาก็มีหลากหลาย บางคนถึงขั้นลงท้ายนามสกุลตัวเองว่า พอตเตอร์ เลยทีเดียว

8. ระหว่างการจัดทำต้นฉบับ มีบ่อยครั้งที่กองบรรณาธิการไม่แน่ใจว่า ใช้ศัพท์ถูกไหม โดยเฉพาะสรรพนามที่เกี่ยวข้องกับการระบุเพศ เช่น เขาหรือเธอ จนต้องเขียนอีเมลล์ไปสอบถามกับ J. K. Rowling แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยได้คำตอบ จึงต้องหาวิธีเลี่ยงไปใช้คำกลางๆ แทน

9. ในชีวิตนี้ สุมาลีเคยพบกับ J. K. Rowling ครั้งหนึ่ง โดยตอนนั้น ตัวแทน J. K. Rowling ได้จัดงานเลี้ยงที่ Guildhall และเชิญสำนักพิมพ์ต่างๆ มาร่วมด้วย สุวดีซึ่งได้รับเชิญด้วย จึงบอกให้สุมาลีมาร่วมงานด้วย โดยตอนแรกผู้จัดไม่ยอม เพราะบอกว่าสุมาลีเป็นนักแปล ไม่ใช่สำนักพิมพ์ สุวดีจึงแจ้งกลับไปว่า ตัวเองไม่ถนัดภาษาอังกฤษ อยากจะให้สุมาลีมาเป็นล่ามให้ ทางผู้จัดจึงยินยอม 

10. หลังจากจัดการต้นฉบับเล่มที่ 7 แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต เสร็จเรียบร้อย พรกวินทร์บอกว่า ตอนเขียนคำนำในหนังสือ ถึงขั้นน้ำตาไหลเลย เพราะใจหายที่การเดินทางของพ่อมดน้อยและผองเพื่อนมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว ส่วนสุมาลีเองก็เช่นกัน แต่อีกใจหนึ่งก็รู้สึกมีความสุขมาก เพราะ J. K. Rowling เขียนตอนจบด้วยความหวัง แต่ถึงอย่างนั้นคนที่น่าจะมีความสุขคือ สามีของสุมาลี เพราะบอกมาตลอดว่า “Harry Potter stoles my summer!” เนื่องจากพอหยุดหน้าร้อนเมื่อไหร่ก็ไม่ได้ไปเที่ยวไหนสักที เพราะภรรยาต้องแปลแฮร์รี่ พอตเตอร์ตลอดเลย

11. นับตั้งแต่ 2543-2565 นานมีบุ๊คส์ประเมินแล้วพบว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์น่าจะพิมพ์รวมกันไม่ต่ำกว่า 3,000,000 เล่ม และเฉพาะเล่ม 1 แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ มียอดพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 500,000 เล่ม นับเป็นความสำเร็จของวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้อย่างแท้จริง

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.