“แม้คนในภาพอาจไม่เป็นที่รู้จักหรือถูกหลงลืมไปแล้ว แต่รูปถ่ายก็ยังต้องสร้างความตื่นเต้นและความน่าสนใจให้กับผู้ชม” คือ แนวคิดที่ Arnold Newman – อาร์โนลด์ นิวแมน ช่างภาพชาวอเมริกันคนสำคัญ ผู้บุกเบิกภาพแนว Environmental Portrait หรือภาพถ่ายบุคคลกับสภาพแวดล้อม
ภาพของนิวแมนถ่ายออกมาเน้นไปที่ผู้คนกับบรรยากาศจริง โดยแทบไม่ได้มีการเซ็ตฉาก เซ็ตแสงไว้ล่วงหน้า ทำให้ผลงานที่เกิดขึ้นมีความเป็นธรรมชาติสูง พร้อมกับสะท้อนตัวตน ทั้งอารมณ์ ความรู้สึก และบุคลิกของตัวแบบได้อย่างชัดเจน ไม่แปลกเลยว่า เหตุใด ศิลปิน นักดนตรี และบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อย จึงยอมเป็นแบบให้เขาถ่ายภาพ
ด้วยความกล้าฉีกกรอบจากแนวทางเดิมๆ กลายเป็นเอกลักษณ์และแรงบันดาลใจให้ช่างภาพรุ่นหลังอีกมากมายเจริญรอยตาม ถึงขั้นที่ยกให้เขาเป็นหนึ่งในช่างภาพที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ D1839 ขอพาทุกคนไปสัมผัสเรื่องราว ชีวิต และความคิดของบุรุษในตำนานผู้ยกระดับภาพถ่ายให้ฝังแน่นในความทรงจำของผู้คนไปอีกนานแสนนาน
“ฉันเป็นจิตรกรตั้งแต่จำความได้ ฉันวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก”
นิวแมนเติบโตที่แอตแลนติกซิตี รัฐนิวเจอร์ซีย์ ก่อนจะโยกย้ายไปอยู่ไมอามีบีช รัฐฟลอริดา เขาเป็นศิลปินที่มีพรสวรรค์ ผลงานของเขาโดดเด่นถึงขั้นที่ศิลปินรุ่นใหญ่หลายคนยังเอ่ยปากชม จนได้รับทุนให้เรียนต่อด้านศิลปะที่ University of Miami
แต่ท่ามกลางชีวิตที่รุ่งโรจน์ เขากลับมีอาการป่วยเป็นภาวะซึมเศร้า บวกกับสถานภาพทางการเงินที่ไม่สู้ดี หลังเรียนไป 2 ปี ก็ถูกให้ออกจากสถาบัน โชคดีที่เพื่อนของพ่อได้เสนองานให้นิวแมนทำที่ฟิลาเดลเฟีย เป็นงานถ่ายรูปในห้างสรรพสินค้าที่ชื่อ Lit Brothers เขาจึงตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่นี่แทน
“ตอนนั้นผมอายุ 20 และเพิ่งได้งานช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เพื่อนๆ ทุกคนในฟิลาเดลเฟียไปเรียนต่อกันที่ School of Industrial Arts ซึ่งเป็นโรงเรียนศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกา ปัจจุบันชื่อว่า University Art School แต่เมื่อมารับงานนี้ก็ไม่มีเวลาพอจะไปโรงเรียนได้อีกต่อไป”
นิวแมนทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพบุคคล ซึ่งคิดค่าถ่ายภาพ 49 เซนต์ต่อภาพ 1 ใบ โดยเขาจะได้รับค่าจ้าง สัปดาห์ละ 16 เหรียญ มีผู้คนหลายพันคนแวะเวียนเข้ามาถ่ายรูป นิวแมนถือโอกาสนี้เรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพ โดยยังคงมีความหวังที่จะกลับไปเรียนต่อด้านศิลปะอีกครั้ง
หากแต่จุดเปลี่ยนสำคัญมาจากเพื่อนศิลปิน อาทิ Ben Rose, Saul Meznick, Vincent Traceoff, Irving Penn ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ Alexey Brodovitch ได้ชักชวนให้เขาไปถ่ายภาพที่ Dock Street ยามค่ำคืนที่เต็มไปด้วยเกษตรกรมากมายที่นำสินค้าของตัวเองมาวางขาย
แม้จะเป็นเพียงการติดสอยห้อยตาม แต่ประสบการณ์ครั้งนั้นก็จุดประกายให้เขาหันมาสนใจงานถ่ายภาพ ในฐานะผลงานศิลปะแขนงหนึ่ง
เขาตัดสินใจขอยืมกล้องของลุงพร้อมเลนส์เพื่อถ่ายภาพอย่างจริงจัง
เขาได้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้เห็นเมื่อตอนวาดภาพ เขาเปรียบเทียบว่า ภาพถ่ายที่อยู่ตรงหน้าก็เหมือนการคัดสรรสิ่งที่สายตามองเห็นเพื่อนำเสนอไปสู่ผู้ชม โดยภาพที่เขาถ่ายส่วนใหญ่จะเป็นแนวสารคดี และภาพแอบสแตรกต์
นิวแมนทำงานในสตูดิโอที่ฟิลาเดลเฟีย จนถึง ค.ศ. 1941 เขาก็เริ่มรู้สึกอยากหาความท้าทายใหม่ เพื่อนๆ จึงแนะนำให้เขาเดินทางขึ้นเหนือ เขามายังมหานครนิวยอร์ก และได้รับโอกาสให้แสดงงานที่ Museum of Modern Art ร่วมกับช่างภาพดังๆ หลายคน
นิวแมนกล่าวยอมรับว่า ไม่แน่ใจเรื่องพรสวรรค์ของตัวเองว่า ควรจะเลือกเดินในทิศทางใด แต่เขารู้สึกว่า การถ่ายภาพนอกจากจะสร้างความสุขแล้ว ยังช่วยให้สถานะทางการเงินมั่นคงกว่าการวาดภาพ และในช่วงนั้นเองที่เขาเริ่มต้นทดลองถ่ายภาพบุคคลที่ต่างออกไป
“ผมเริ่มคิดถึงการถ่ายภาพบุคคล เพราะผมได้ทำงานในสถานที่ถูกๆ ด้วยกล้อง แสงไฟ หรือม้านั่งที่ถูกตอกตะปูลงไป โดยมีพื้นหลังเป็นตึกเก่าๆ ปัญหาก็คือ คุณไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างชายที่เป็นเจ้าของโรงงานในเมือง กับหัวหน้าคนงานได้ เพราะพวกเขาแต่งตัวเหมือนกันหมด ผมจึงเริ่มตระหนักว่า ผมควรทำอะไรมากกว่าสำหรับการถ่ายภาพบุคคล.. ผมได้เห็นภาพบุคคลที่ยอดเยี่ยมจากปรมาจารย์มากมาย แต่ส่วนใหญ่แล้ว พวกเขาไม่ได้พยายามจะบอกว่า ชายคนนี้เป็นจิตรกร หรือแสดงให้เห็นว่า ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น พวกเขาทำอะไร”
เขาใช้พื้นฐานสมัยเป็นนักเรียนศิลปะมาประยุกต์ ทั้งการจัดองค์ประกอบภาพแบบเรขาคณิต การใช้สภาพแวดล้อมมาช่วยเสริมภาพถ่ายให้มีพลัง
และนั่นเองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของภาพที่เรียกว่า Environmental Portrait ซึ่งพาเขาไปสู่โลกใหม่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงชีวิตของช่างภาพหนุ่มผู้นี้ไปตลอดกาล
ระหว่างนั้นนิวแมนได้เริ่มจัดแสดงนิทรรศการของตัวเองหลายงาน รวมทั้งตั้งสตูดิโอเล็กๆ ที่ไมอามี หากแต่หมุดหมายสำคัญที่ช่วยยกระดับช่างภาพธรรมดา ให้กลายเป็นช่างภาพในตำนาน ก็คงเป็นนิทรรศการภาพถ่าย ‘Artists Look Like This,’ ที่ฟิลาเดลเฟีย เมื่อปี 1945
ภาพของเขากลายเป็นที่ต้องการของพิพิธภัณฑ์ศิลปะและมหาวิทยาลัยต่างๆ และถูกจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว
“พวกเขาซื้อผลงานทั้งหมด 50 ภาพในราคา 750 เหรียญ ซึ่งถือเป็นโชคดีของผมมาก แต่ที่สำคัญกว่านั้น คืองานนี้ได้รับความสนใจจากนิตยสารหลายฉบับ เช่น LIFE ให้พื้นที่ผม 2 หน้าครึ่ง ส่วน Harper’s Bazaar ก็เขียนถึงนิทรรศการและงานศิลปะเหมือนกัน และทำให้ผมเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น
“พอดีช่วงนั้นเป็นช่วงสงคราม Elliot Elisophin ก็เดินทางมาที่ไมอามี มายังสตูดิโอเล็กๆ ของผม แล้วก็ถามผมว่าเขาสามารถใช้ห้องมืดของผมได้ไหม ผมก็บอกว่าแน่นอน แล้วต่อมาเราก็กลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน แล้ววันหนึ่งเขาก็พาผมมานิวยอร์ก เขาจับมือผมแล้วก็บอกว่า คุณต้องไปพบทุกคนที่ LIFE”
หลังจากนั้นเขาก็เริ่มต้นกลายเป็นช่างภาพอิสระให้นิตยสารหลายหัว ทั้ง LIFE, Harper’s Bazaar, Look, Fortune และ Newsweek
หลักคิดในการสร้างงานของนิวแมน คือ การเข้าใจตัวตนของบุคคลที่อยู่ในภาพ
โดยก่อนที่จะถ่ายภาพ นิวแมนจะเตรียมตัวอย่างหนัก เขาอ่านประวัติของคนๆ นั้นว่า เป็นใคร มาจากไหน ทำอะไรมาบ้าง รวมถึงหาฉากหลังที่น่าสนใจ ที่ช่วยสะท้อนตัวตนของตัวแบบ ซึ่งต่างจากช่างภาพคนอื่นที่มักเลือกภาพพื้นหลังที่ว่างเปล่าหรือฉากหลังของสตูดิโอ
อย่างภาพหนึ่งที่หลายคนคุ้นเคย คือ Igor Stravinsky คีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซีย โดยเขาได้รับการติดต่อจากนิตยสาร Harper’s Bazaar ให้ถ่ายภาพนักประพันธ์คนดังที่โรงแรมในนิวยอร์ก
“ผมรักงานของเขา ผมรักเสียงเพลง ผมไปคอนเสิร์ตตลอด ผมดูทุกอย่างตั้งแต่ Beethoven ไปจนถึง New Orleans Jazz ผมสังเกตเปียโน ผมรู้สึกว่ามันดูแข็งแกร่ง ดุร้าย และสวยงาม ซึ่งเหมือนกับงานของ Stravinsky เลย”
นิวแมนจัดองค์ประกอบภาพให้นักประพันธ์ดังอยู่ตรงมุมล่างซ้าย และอุทิศพื้นที่ส่วนใหญ่ให้แกรนด์เปียโน ทว่าภาพที่ดูเป็นเอกลักษณ์นี้ กลับไม่โดนใจบรรณาธิการนัก จึงถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ แต่ไม่น่าเชื่อว่า สุดท้ายภาพเดียวกันนี้กลับเป็นผลงานที่ทุกคนจดจำได้มากที่สุด และสร้างรายได้แก่นิวแมนมากที่สุดเช่นกัน
อีกภาพหนึ่งที่โดดเด่นมาก คือภาพของ Alfried Krupp นักอุตสาหกรรมชาวเยอรมันซึ่งถ่ายให้กับ Newsweek ในปี 1963 โดย Krupp มีใบหน้ายาว และมีขนคิ้วที่ขมวดเหมือนปิศาจเมฟิสโตเฟเลสในตำนานของเยอรมนี นิ้วของเขาประสานกันเหมือนกำลังเผชิญหน้ากับผู้ชมที่กำลังต่อต้านเขา เหตุผลที่นิวแมนเลือกจัดองค์ประกอบภาพแบบนี้ เพราะเขารู้ดีถึงภูมิหลังของ Krupp ว่าเขาใช้แรงงานทาสในสมัยนาซี และถูกจำคุกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการสร้างยุทโธปกรณ์ให้ฮิตเลอร์
“ตอนแรกที่บรรณาธิการขอให้ผมไปถ่ายรูปเขา ผมปฏิเสธ เขาก็ถามว่าทำไม ผมก็เลยบอกว่า ผมคิดว่าเขาเป็นปิศาจ เขาก็ตอบกลับมาว่า นั่นคือสิ่งที่เราก็คิดเหมือนกัน จากนั้นเราก็เลยไปที่โรงงานของเขา เจ้าหน้าที่ของ Krupp ขอให้ผมเอารูปภาพที่ถ่ายมาแสดงเพื่อให้ Krupp ตัดสินใจ หลังจากนั้นเขาก็กลับมา แล้วก็บอกว่า Krupp อยากพบคุณ
Krupp บอกว่า มันคือรูปที่สวย และเขาอยากให้ถ่ายภาพให้ ผมเดินไปดูโรงงาน แล้วก็หาฉากหลัง เมื่อได้ตำแหน่งเรียบร้อย ผมก็ส่องไฟดวงเล็ก 2 ดวงไปยังหน้าของ Krupp จากนั้นผมก็ให้เขาโน้มตัวไปข้างหน้า เส้นผมของผมก็ตั้งขึ้นเอง ตอนนั้นเขาดูเหมือนปิศาจจริงๆ”
ตลอดชีวิต นิวแมนมีโอกาสได้ถ่ายภาพคนดังมากมาย เช่น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ Harry S. Truman จนถึง Bill Clinton รวมถึงบุคคลที่มีอิทธิพลในโลกศิลปะและบันเทิง อาทิ Pablo Picasso จิตรกรเอกของโลก, Truman Capote นักเขียนอเมริกันชื่อดัง และ Marilyn Monroe นางเอกสาวระดับตำนานแห่งฮอลลิวูด
หากแต่บุคคลที่นิวแมนชื่นชอบมากที่สุด คือ อดีตประธานาธิบดี John F. Kennedy
“ผมรู้จักเขาตั้งแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักของสาธารณชน ส่วนใหญ่เขาดังเรื่องการออกเดทกับผู้หญิงสวยๆ ตอนนั้นเขายังไม่แต่งงาน ผมใช้เวลากับเขา 3 ชั่วโมง ภาพของเขาเป็นส่วนหนึ่งสมัยที่ยังเป็นสมาชิกวุฒิสภา เราดื่มกาแฟด้วยกัน ผมจำไม่ได้ว่าถ่ายรูปเขาไปเยอะแค่นั้น
“หลังจากนั้นเราก็เริ่มคุ้นเคยกัน ผมได้รับคำเชิญอย่างเป็นทางการว่าสามารถมาทำเนียบขาวเมื่อใดก็ได้ที่ต้องการ แต่ผมก็ไม่ได้ทำแบบนั้นหรอก โดยภาพสุดท้าย เป็นภาพเขากับที่ปรึกษา แล้วหลังจากประมาณเดือนหนึ่ง เขาก็ถูกฆ่าตาย”
ผมเคยบอกนักเรียนว่า กล้องถ่ายรูปไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่ากล่องที่มีรูเข็มซึ่งมีแก้วขนาดใหญ่ที่ปลายด้านหนึ่งและวัสดุที่ไวแสง
คงไม่ผิด หากจะกล่าวว่า กว่า 60 ปีบนถนนสายช่างภาพ นิวแมนคือบุคคลหนึ่งที่ประสบความสำเร็จสูงสุด เขาได้รับรางวัลจากการถ่ายภาพนับไม่ถ้วน มีผลงานนิทรรศการจัดแสดงเป็นประจำ และกลายเป็นต้นแบบให้ช่างภาพรุ่นหลังหลายคนเดินตาม
ทว่าในมุมของนิวแมนกลับมองต่าง เขาไม่สนใจคำเยินยอเหล่านั้น และมักบอกใครต่อใครเสมอว่า เขาก็เป็นช่างภาพถ่ายรูปบุคคลธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น
“มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของสิ่งที่ผมกำลังทำและทำมาตลอด สิ่งที่คนอื่นมองข้ามไปคือการที่ภาพถ่ายของผมนั้นยังมีความเป็น Symbolic เป็น Impressionist หรืออะไรก็ตามที่คุณอยากเรียก”
สิ่งหนึ่งที่เขาเรียนรู้คือ หัวใจสำคัญของช่างภาพ คือ ความคิด ไม่ใช่เครื่องมือ เขาเคยบอกว่า กล้องที่ดีอาจไม่มีความหมายอะไรเลย หากช่างภาพไม่มีอะไรอยู่ในหัวและในใจ
“ผมเคยบอกนักเรียนว่า กล้องถ่ายรูปไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่ากล่องที่มีรูเข็มซึ่งมีแก้วขนาดใหญ่ที่ปลายด้านหนึ่งและวัสดุที่ไวแสง ในช่วงหลายปีมานี้ ผมเลือกที่จะใช้กล้องขนาดเล็ก ทำให้ผมมีอิสระมากขึ้น เพราะสำหรับผม วิธีการถ่ายภาพ คือการสร้างมากกว่าการถ่าย มันเป็นวิธีเฉพาะของผมเท่านั้น เพราะผมเป็นคนแบบนี้
“คนหนุ่มสาวหลายคนมักงุนงงว่า ทำไมจึงมีภาพของ Eugene Smith แขวนอยู่ที่กำแพงของผม ความจริงแล้วผมยังมีภาพของช่างภาพอีกมากมาย ทั้ง Jerry Aldman, Man Ray ผมมักสลับเอารูปถ่ายของพวกเขามาแขวนอยู่เสมอ แต่คนทั่วไปมักไม่เข้าใจว่า คุณจะทำงานออกมาได้อย่างไร ถ้าคุณชื่นชมคนที่ทำงานแบบอื่นไปด้วย”
การทำงานแบบนี้เอง ทำให้นิวแมนสามารถก้าวพ้นจากกรอบแบบเก่าๆ และสามารถปรับตัวได้เสมอ เมื่อวิทยาการสมัยใหม่เข้ามา อย่างการถ่ายภาพดิจิทัล นิวแมนก็เป็นคนแรกๆ ที่เปิดรับ เขาบอกว่า มันช่วยเรื่องสีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะเลย
ในวัย 80 กว่า นิวแมนยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง คิดโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ออกมาเสมอ พร้อมกับเดินสายบรรยายความรู้แก่นักเรียนถ่ายภาพ
“การวาดภาพและการถ่ายภาพมีความเกี่ยวพันกัน ก่อนอื่นคุณต้องรู้ถึงความแตกต่างทั้งทางจิตใจ ร่างกาย และทุกสิ่งทุกอย่าง พวกเขาควรศึกษาอดีตจริงๆ จากนั้นก็ศึกษาปัจจุบันเพื่อดูว่าอะไรดี มันเป็นการดีที่คุณจะต้องทำงานหนักมากๆ ผมรู้สึกประหลาดใจที่พบว่า ตอนนี้คนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่รู้จักอดีตในการถ่ายภาพ เพราะเป็นเรื่องที่ดี หากคุณรู้ว่างานของใครมีอิทธิพลต่อใคร โดยเฉพาะเมื่อคุณทำงานสร้างสรรค์ มีคนจำนวนมากคิดว่าพวกเขาเป็นต้นแบบ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่
“อย่างที่ผ่านมา มีงานขาวดำในระบบดิจิทัลน้อยมาก แต่พวกเขาไม่ได้เรียนรู้เรื่องสีและพวกเขาไม่ได้รู้วิธีใช้และทำให้มันมีความหมายมากกว่าที่จะโยนมันลงไป ช่างภาพที่เก่งกาจทุกคนที่ผมรู้จักในช่วงแรกๆ ต่างมีพื้นฐานด้านศิลปะหรืออย่างน้อยก็เรียนศิลปะด้วยตัวเอง เขาจึงมีวิธีการประกอบสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน แม้ว่าจะเป็นการถ่ายภาพแบบตรงไปตรงมาก็ตาม”
นิวแมนเสียชีวิตจากอาการหัวใจวายด้วยวัย 88 ปี แต่แม้เขาจะจากไป แต่ความคิดและผลงานมากมายมหาศาลก็ยังคงไม่จางหายไปไหน เฉกเช่นเดียวกับบุคคลในรูปภาพที่เขาเป็นผู้ถ่ายทอดนั่นเอง
ช่างภาพในตำนาน ผู้บุกเบิกภาพถ่ายสถาปัตยกรรมแนวโมเดิร์นในสหรัฐอเมริกา ยุค 1950
เรื่องราวของช่างภาพหญิงสารคดี ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวที่คนส่วนใหญ่เลือกจะมองข้าม แต่เป็นสิ่งที่อยู่จริงในสังคม ซึ่งต่อมาภาพของเธอก็กลายเป็นผลงานที่โด่งดังและมีอิทธิพลต่อช่างภาพรุ่นถัดมา
ช่างภาพบุคคลระดับตำนานที่เป็นทั้งแรงบันดาลและต้นแบบให้ช่างภาพรุ่นหลังได้เจริญรอยตาม
ช่างภาพบุคคลระดับตำนานชาวอเมริกัน ผู้สามารถดึงดูดเสน่ห์ของคนที่แบบออกมาได้เหลือเชื่อ และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักถ่ายภาพรุ่นหลังมาจนถึงปัจจุบัน
ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับตำนาน ผู้บุกเบิกและพาภาพยนตร์ไทยไปสู่ระดับบนานาชาติ หวังยกระดับอุตสาหกรรมนี้ให้ทัดเทียมนานาชาติ
แรงบันดาลใจของช่างภาพสัตว์ป่าแถวหน้าของเมืองไทยที่มาจากพ่อ
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
สุดยอดนักพากย์ฟุตบอลและผู้ประกาศข่าวกีฬาแห่งเรื่องเล่าเช้านี้ที่ครองใจผู้ชมผู้ฟังมานานกว่า 3 ทศวรรษ
สาว สาว สาว แอม-แหม่ม-ปุ้ม ต้นตำรับเกิร์ลกรุ๊ปเมืองไทย ผู้สร้างกระแสเพลงประตูใจ ข้ามกาลเวลาถึงปัจจุบัน
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.