เศรษฐา ศิระฉายา : ชีวิตที่เป็นมาแล้วทุกอย่าง

<< แชร์บทความนี้

“..หากฉันมีสิบหน้าดังทศกัณฐ์ สิบหน้านั้นฉันจะหันมายิ้มให้เธอ..”

คงไม่ผิดหากจะบอกว่า เพลงเป็นไปไม่ได้ คือสิ่งที่สะท้อนตัวตนของ อาต้อย-เศรษฐา ศิระฉายา ได้อย่างดี

เพราะตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่เขาคร่ำหวอดบนถนนสายบันเทิง เขาได้สร้างผลงานไว้นับไม่ถ้วน หลายคนทราบดีว่า เขาคือนักร้องเสียงดี แห่งวง The Impossible อดีตวงสตริงคอมโบอันดับ 1 ของเมืองไทย ที่สร้างสรรค์เพลงเพราะที่ตราตรึงในใจไว้มากมาย 

บางคนคุ้นเคยกับเศรษฐาในฐานะพิธีกรรายการมาตามนัด รายการเกมโชว์เบอร์ต้นๆ ของยุค 80-90 ที่ครองใจผู้ชม จนกลายเป็นตำนานที่ทุกคนไม่เคยลืม

นอกจากนี้ เขายังเป็นนักแสดงมากฝีมือ เป็นผู้กำกับการแสดงละครหลายเรื่อง แถมมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขายังก้าวไปจัดการแข่งขันสนุกเกอร์ Thailand Open ในปีที่ต๋อง ศิษย์ฉ่อย คว้าแชมป์ได้สำเร็จ

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนย้อนไปอ่านเรื่องราว ชีวิต และความคิดของอาต้อยว่า เหตุใดเขาผู้นี้ถึงเป็นศิลปินอมตะในใจของใครต่อใคร ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

บทเพลงเปลี่ยนชีวิต

เดิมทีอาต้อย เป็นเพียงเด็กยากจนแถวฝั่งธน พ่อของเขาเสียตั้งแต่ยังเล็ก จึงต้องต่อสู้ดิ้นรนสารพัด ตั้งแต่ขายเรียงเบอร์เลี้ยงชีพ รับจ้างเข็นสามล้อประทังชีวิต

ต่อมาเมื่อน้าชาย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ พระเอกชื่อดัง เปิดวงดนตรีลูกทุ่ง ชื่อวง King’s Combo เดินสายทั่วประเทศ จึงพาหลานรักไปช่วยยกข้าวยกของ คอยจัดการเรื่องต่างๆ และเวทีนี้เองที่ทำให้เด็กหนุ่มมีโอกาสได้ฝึกร้องเพลงเป็นครั้งแรก 

ความจริง อาต้อยมีความฝันอยากจะเป็นทหารอากาศ เพราะเป็นคนชอบเครื่องบินมาก เวลาเครื่องบินบินผ่านหลังคาบ้านก็ต้องแหงนมองตลอด

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อน้าชายเลิกวงด้วยเหตุบางประการ อาต้อยจึงตัดสินใจหยุดเรียนหลังจบมัธยม 8 และออกมาเผชิญโชคในเส้นทางสายดนตรี โดยไปร่วมกับวงดนตรีของปราจีน ทรงเผ่า และยงยุทธ มีแสง รับจ้างเล่นดนตรีตามแคมป์ทหารอเมริกัน ยุคสงครามเวียดนาม เดินสายไปต่างจังหวัด ทั้งสงขลา นครราชสีมา และอุบลราชธานี อยู่ราว 7-8 ปี

“ตอนนั้นผมอยู่อุบลฯ ไปเล่นดนตรีร้องเพลงอยู่ในฐานทัพของทหารอเมริกัน วินัยอยู่ไหนก็ไม่รู้ อยู่คนละที่เลย พอตกงานผมก็เข้ากรุงเทพฯ เมื่อก่อนถนนเพชรบุรีตัดใหม่นี่บาร์ทั้งนั้น เป็นบาร์ที่จีไอเที่ยว นักดนตรีเลยจะมากระจุกตัวกันอยู่แถวนี้ เพราะทุกบาร์จะมีดนตรี บาร์หนึ่งบางทีมีวงดนตรี  2-3 วง วันหนึ่งเจอวินัยก็ถามสบายดีเหรอ วินัยก็ถามผมสบายดีเหรอ แล้วเล่นที่ไหน ไม่มี ตกงาน คือทุกคนที่มาเป็นวงดิอิมฯ นี่ตกงานกันหมดเลย แล้วมาจากไหนกันก็ไม่รู้ มาเจอกันก็มานั่งคุยกันว่า เราลองตั้งวงดูไหม แล้วก็เข้าไปคุยกับเจ้าของบาร์นั่นแหละ ซื้อเครื่องดนตรี เขาก็ออกให้แล้วก็เล่นใช้หนี้เขาไป”

ตอนนั้นพวกเขาใช้ชื่อวงว่า Holiday J-3 มีสมาชิกทั้งหมด 5 คน คือ ตัวอาต้อยเอง, วินัย พันธุรักษ์, พิชัย ทองเนียม, อนุสรณ์ พัฒนกุล และสุเมธ อินทรสูต

“พอดีวงเราตั้งชื่อตามเจ้าของบาร์ที่ให้ยืมเงิน เขาเปิดบาร์ชื่อฮอลิเดย์ เจ้าของบาร์ชื่อเฮียจุ่น พอเข้ามาปั๊บ จะชื่ออะไรดี เขาบอกว่า เฮ้ยเอาชื่อที่มีเฮียอยู่ด้วยนะ ก็เลยเป็น Holiday J-3 แล้วตอนนั้นมีการ์ตูนทีวีชื่อ Impossible ตัวละครในการ์ตูนมี 3 ตัว เล่นดนตรีเหมือนกัน คนหนึ่งเป็นมนุษย์น้ำ คนหนึ่งเป็นมนุษย์สปริง คนหนึ่งเป็นมนุษย์ไฟ ผมก็ว่าเอาชื่อนี้ดีกว่า เพราะเด็กๆ ต้องดูเยอะเหมือนกัน เด็กๆ อาจจะจำชื่อนี้ง่าย เฮียจุ่นก็ยอม”

สมัยนั้น The Impossible มักจะเล่นเพลงสากลของ The Beatles, Rolling Stones เน้นไปทางเพลงเพราะ เพลงประสานเสียง ตอนหลังพอวงเริ่มขยาย มีเครื่องเป่าเข้ามาเติมก็เลยเปลี่ยนสไตล์แนวเพลงเป็นชิคาโก เริ่มเล่นเพลงแบบ Tower of Power 

คงเหมือนโชคชะตาจะลิขิตให้พวกเขาต้องโด่งดัง เพราะขณะที่เล่นๆ อยู่ไม่คิดอะไร ก็บังเอิญได้ยินข่าวมาว่า สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยกำลังรับสมัครประกวดวงสตริงคอมโบ พวกเขาจึงตัดสินใจไปเข้าแข่งขันดู และด้วยเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะเทคนิคการประสานเสียง ซึ่งสมัยนั้นเพลงไทยแทบไม่มีเลย เพียงแค่ครั้งเดียว พวกเขาก็คว้าถ้วยรางวัลอันดับ 1 ได้เลย 

และต่อมาเมื่อประกวดซ้ำอีก 2 ปี The Impossible ก็ยังคงคว้าแชมป์เรื่อยมา จนได้รับถ้วยพระราชทานมาครอบครอง และกลายเป็นวงดนตรีที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ

หนึ่งในเครื่องยืนยันความดังของพวกเขาคือ หากดู The Impossible ต้องเสียตังค์ เพราะคนแย่งกันไปชมมาก แต่ถึงต้องควักเงินทุกคนก็เต็มใจ เพราะรู้ดีว่า วงนี้เล่นสนุกมากแค่ไหน 

ผลของความโด่งดังนี่เองที่ไปเข้าตาผู้กำกับรุ่นใหม่ อย่าง เปี๊ยก โปสเตอร์ ชักชวนมาทำเพลงประกอบหนังเรื่อง โทน จากนั้นก็มีอีกหลายคนตามมา จนทำให้ The Impossible กลายเป็นวงที่ทำเพลงประกอบหนังมากที่สุดวงหนึ่งของเมืองไทย เพลงอย่าง เริงรถไฟ ปิดเทอม ชื่นรัก และทัศนาจร หรือแม้แต่อัลบั้มแรกของพวกเขาต่างก็มาจากเพลงประกอบหนังล้วนๆ

ยุคนั้น The Impossible ถือเป็นวงที่โด่งดังขึ้นขีดสุด มีแฟนเพลงติดตามกันจนแน่นคาเฟ่ กระทั่งชื่อเสียงของพวกเขาขจรขจายไปถึงต่างประเทศ จนตอนหลังก็มีการติดต่อจากผู้ประกอบธุรกิจด้านดนตรีที่ฮาวาย ให้เดินทางมาเล่นดนตรีเป็นเวลา 3 เดือน ถือเป็นวงดนตรีไทยวงแรกๆ ที่ได้ไปโกอินเตอร์

ระหว่างนั้น ครูพยงค์ มุกดา ก็มาหาที่ผับ บอกว่า จะไปต่างประเทศแบบนี้ แฟนเพลงคงคิดถึงแย่เลย เดี๋ยวจะแต่งเพลงให้ชุดหนึ่ง อัดเพลงทิ้งไว้แล้วจากนั้น 3 เดือนค่อยกลับมา รับรองว่าติดตลาด และนั่นคือ จุดเริ่มต้นของอัลบั้ม ‘เป็นไปไม่ได้’ โดยชื่อนี้ก็แปลงมาจากชื่อวงนั่นเอง

ว่ากันว่าตอนแรกที่อาต้อยเห็นเพลงนี้ เขารู้สึกว่าเนื้อหามันช่างแปลก จนอดสงสัยไม่ได้ว่า จะดังได้ยังไง แต่ปรากฏว่า ผลจากความไม่เหมือนใครนี่เอง ส่งผลให้อัลบั้มเป็นไปไม่ได้ ขายดีถล่มทลาย

แต่น่าเสียดายที่สุดท้ายวงก็ไม่ได้กลับมาตามที่คาดหวัง เพราะแฟนเพลงที่นั่นเรียกร้อง จนฝรั่งคนนั้นขอขยายสัญญาเป็น 1 ปีแทน

“ไปอยู่ฮาวายไม่น่าเชื่อว่ามันแน่นจริง คนมานั่งเก้าอี้รอ แน่นจนกระทั่งเขาต่อสัญญา พอครบปี ผมก็บอกขอกลับบ้านก่อนได้ไหม คิดถึงบ้านเหลือเกิน เราก็กลับมา พอมาถึงเมืองไทยบาร์ปิดไปแล้ว เราก็หันมาเล่นที่โรงแรมแทน โรงแรมอินทรา เล่นอยู่พักหนึ่ง ก็มีฝรั่งมาอีกคน คราวนี้มาจากสแกนดิเวีย เขามาขอให้ไปเล่น เราก็ไปอีก คราวนี้เล่นไปทั่ว พอเล่นเสร็จก็มีจากสวิตเซอร์แลนด์มาขอให้เล่นต่อ จากสวิตฯ เราจะขอเลิก เพราะนานมากแล้ว อยากกลับบ้าน”

หากแต่ชีวิตที่พัวพันอยู่กับการเล่นดนตรีแบบไม่ได้หยุดพักตลอดเกือบสิบปี ทำเอาสมาชิก The Impossible อิ่มตัวกับวงการดนตรีไปไม่น้อย โดยเฉพาะอาต้อย จนในที่สุด ทุกคนก็เห็นตรงกันว่า คงถึงเวลายุบวงเสียที

“ตอนที่คุยกันก็เสียดายเหมือนกัน แต่ในที่สุดเราก็มองเห็นสัจธรรมว่า เราคงไม่อยู่กันไปจนตายแน่ด้วยสังขารด้วยอะไร ต่อไปมันคงต้องเหลวและเลิกกันไป สู้ในขณะที่เรากำลังพีกสุดๆ แล้วเลิกดีกว่า คนจะได้คิดถึงให้คนจำได้ แล้วมันค่อนข้างเป็นอย่างที่เราคิดจริงๆ เราเลิกไปเป็นสิบปี พอเรากลับมาเล่นคอนเสิร์ต เรายังมีแฟนเหนียวแน่นเยอะมาก”

หลังยุบวงสมาชิกแต่ละคนก็แยกย้ายไปทำงานตามที่ตัวเองสนใจ เช่น ปราจีนไปทำวง Hot Pepper Singers วินัยไปร่วมกับ เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์ สมาชิกอีกคนวงที่มาเจอกันตอนทัวร์เมืองนอก ทำวง The Oriental Funk

ส่วนอาต้อยเขาเลือกทิ้งการร้องเพลง และเข้าสู่โลกใบใหม่นั่นคือการแสดง

จากเพลงสู่หนัง และอื่นๆ อีกมากมาย

ชีวิตในวงการบันเทิงของอาต้อย มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นคนชักพา นั่นคือ ป้าจุ๊-จุรี โอศิริ นักแสดงและนักพากย์ยอดฝีมือของเมืองไทย 

ความจริงอาต้อย เริ่มเล่นหนังตั้งแต่ตอนทำเพลงประกอบภาพยนตร์ โดยไปแสดงฉากเล่นดนตรีอะไรนิดๆ หน่อยๆ จนวันหนึ่งผู้กำกับเรื่องฝ้ายแกมเพชร อยากจะหาคนมาเล่นบทพระรอง ซึ่งต้องมีมาดกวนๆ หน่อย เกเรหน่อย ป้าจุ๊จึงบอกว่า อีตานักร้องนั่นแหละเล่นได้ เขาก็เลยมารับบทนี้

“เขาชอบผม บอกว่าไปดูเราร้องเพลงแล้วเห็นคาแร็กเตอร์เหมาะกับตัวละคร ก็ไปบอกกับเจ้าของหนัง ตอนนั้นป้าจุ๊มีพาวเวอร์มาก เพราะหนังเรื่องไหน เขาก็ต้องพากย์ เขาบอก ฉันเห็นตาเศรษฐา ท่าทางกวนๆ น่าจะเล่นได้ ก็ติดต่อผมไปเล่น แล้วป้าก็รักผมเหมือนเป็นลูกเลย บอกเล่นเก่งมาก”

และไม่น่าเชื่อ เพียงเรื่องแรกเขาก็สามารถคว้ารางวัลมาครอบครองได้ด้วย 

อาต้อยบอกว่า การแสดงไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ท้าทายมากกว่า คือ รูปร่างหน้าตา ไม่ใช่พิมพ์นิยมสำหรับวงการบันเทิงยุคนั้น ที่นิยมพระเอกหุ่นเท่ๆ หรือตัวร้ายที่ดูน่าเกรงขาม

“ด้วยหน้าตา ด้วยสรีระ เราจะแสดงเป็นอะไร พระเอกก็ไม่ได้ ผู้ร้ายก็ไม่ดี มันเป็นอะไรก็ไม่รู้ มันกลางๆ จนมีหนังสือพิมพ์เขียนถึงผมว่า ถ้าคิดผิดโดยเลิกเล่นดนตรีมาเป็นนักแสดงอย่างเดียว ผมต้องอดตายแหงๆ พาดหัวเลยนะ แต่ผมไม่ได้คิดอะไรมาก ไม่ดังผมก็มาร้องเพลง” 

แต่อาต้อยก็พิสูจน์ให้เห็นว่า เขาอยู่ด้วยฝีมือจริงๆ เพราะหลังจากนั้นเขาก็เล่นหนังมาอย่างต่อเนื่อง ปีหนึ่ง 4-5 เรื่อง อาต้อยรับบทหลากหลาย ตั้งแต่พระเอก ตัวตลก ผู้ร้าย สารพัดอย่าง ไม่เคยเลือกบท จนกลายเป็นขาประจำที่ทุกคนติดตราตรึงใจ พอตอนหลังละครเริ่มบูม อาต้อยก็เข้าสู่วงการโทรทัศน์ เล่นละครเป็นร้อยๆ เรื่อง จนแทบไม่ได้จับไมค์ร้องเพลงอีกเลย

โดยตอนนั้นเขาเข้าไปอยู่กับช่อง 3 ยุคที่ ภัทราวดี มีชูธน เริ่มมาช่วยบุกเบิกงานละคร เขาเลยรับเล่นเรื่องขบวนการคนใช้ กับตุ๊กตาเสียกบาล เพียงเรื่องเดียวก็ตูมเลย อาต้อยบอกว่ายุคนั้น หลายคนมักคิดว่า ดาราที่แสดงจอเงิน ไม่ควรมาเล่นจอแก้ว เพราะด้อยกว่า แต่เขาไม่สนใจ เพราะมองไม่เห็นว่าเสียหายตรงไหน แถมคนดูทีวียังเยอะกว่าหนังอีก แล้วสุดท้าย หนังฉายโรงเสร็จก็ต้องมาลงทีวีอยู่ดี 

ต่อมาเขาก็เลยขยายขอบเขตการทำงานไปสู่ตำแหน่งเบื้องหลัง โดยอาต้อยไปแสดงหนังของท่านมุ้ย-ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล แล้วก็ถามถึงเทคนิคการทำงานไม่หยุด จนท่านมุ้ยบอกว่า ต่อไปเอ็งต้องเป็นผู้กำกับแน่นอนเลย

หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ได้กำกับละครจริงจัง โดยเริ่มจากเรื่องสามหัวใจ ทางช่อง 3 เขาบอกว่าวันแรกที่เริ่มนั้นยืนงงอยู่พักใหญ่ ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน แต่เขาก็ลองผิดลองถูกจนสามารถทำได้ 

แต่ผลงานละครที่หลายคนจดจำได้มากที่สุด คือละครพื้นบ้านไทย โดยตอนนั้นประวิทย์ มาลีนนท์ได้เรียกไปพบ และบอกว่า ละครแบบนี้ช่อง 3 ไม่ค่อยมี อยากให้นำเสนอโปรเจ็กต์ หลังจากนั้นเขาไปค้นหาหนังสือต่างๆ ก็พบว่า ขุนช้างขุนแผน น่าสนใจ ก็เลยทำเป็นสตอรีบอร์ดไปนำเสนอ ปรากฏว่าได้ 

“ละครปกติทำสบายกว่าเยอะเลย โลเกชันก็หาง่าย บ้านก็ไปเช่าหรือยืมเขาถ่าย ที่ไหนผมก็ถ่ายได้ แต่เรื่องนี้ผมมึนเลย งานแรกก็เริ่มจากเขียนบทก่อน แล้วก็ประชุมกันเคร่งเครียดเลย ใครทำอะไร โลเกชันหาที่ไหน เสื้อผ้าต้องเริ่มตัดกัน คือไม่มีอะไรมาก่อนเลย”

แต่ด้วยความพยายามและความพิถีพิถัน ถึงขั้นยกกองไปถ่ายทำที่เพชรบุรี ไปปรับที่ดินเอาต้นยูคาลิปตัสออกไป ในที่สุดก็ได้ฉากที่สมจริง แถมบทละครก็สนุกสนาน ส่งผลให้ละครของค่ายเมืองละครของอาต้อยประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว และนำมาสู่การผลิตละครเรื่องถัดไป อาทิ นางสิบสอง แก้วหน้าม้า พระสุธน-มโนราห์ สังข์ทอง ฯลฯ กระทั่งช่วงหลังเมื่อตลาดละครเปลี่ยนไป อาต้อยจึงกลับมาทำงานเบื้องหน้าเต็มตัว ก่อนที่ปี 2562 จะกลับมาทำละครอีกครั้งในฐานะผู้จัดในชื่อ ทรัพย์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ผลิตละครเรื่องร้อยป่า ซึ่งทำเรตติงสูงถึง 10 เลยทีเดียว

นอกจากนี้เขายังมีส่วนสำคัญในการก่อตั้ง มูลนิธิสวัสดิการนักแสดงอาวุโส เพราะเห็นว่าคนเป็นศิลปินนั้นแทบไม่ได้รับเกียรติอะไรเลย บางคนย่ำแย่เวลาป่วยก็ไม่มีเงินรักษา ก็เลยตั้งเป็นชมรมก่อน ช่วงแรกก็ยังไม่มีใครร่วมมือ จนตอนหลังป้าจุ๊ช่วยเอาเรื่องนี้ไปคุยกับรัฐมนตรี จนได้รับเงินสนับสนุนเข้ามา และคอยเป็นกำลังเสริมให้นักแสดงอาวุโสหลายๆ คนยังสามารถดำรงชีวิตได้ยามขาดแคลน 

ความรักและความทุ่มเทแบบเต็มพิกัดนี่เอง ทำให้อาต้อยสามารถหยัดยืนในเส้นทางการแสดงมาต่อเนื่องกว่า 40 ปี และเป็นภาพจำของคนทุกรุ่นทุกวัยไม่เคยเปลี่ยนแปลง

พิธีกรในตำนาน

หากใครเป็นแฟนรายการเกมโชว์ยุค 80-90 คงไม่มีใครไม่รู้จักรายการมาตามนัด ทาง ททบ.5 และพิธีกรคู่ขวัญ เศรษฐา ศิระฉายาญาณี จงวิสุทธิ์

เพราะนี่คือเกมโชว์ยอดนิยมอันดับ 1 ของเมืองไทย ซึ่งมีแข่งขันสัปดาห์ละ 3 วัน

จุดเด่นที่ทำให้มาตามนัดสามารถหยัดยืนสู้กับละครจากช่อง 3 และ 7 คือความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่สนุกมาก อย่างเกมใบ้คำ แย่งกันตอบคำถาม เพื่อหาผู้ชนะเพียงคนเดียวหรือ The Winner มาล่ารางวัลใหญ่ในรอบแจ็กพอต

ความจริงอาต้อยไม่ได้มาเป็นพิธีกรรายการนี้มาตั้งแต่แรก แต่เขากับตุ๊ก-ญาณี มารับบทบาทแทนหลังรายการออกอากาศไปแล้ว 2 ปี และด้วยการดำเนินรายการที่สนุก มีลูกล่อลูกชนแพรวพราว และชอบหยอกล้อกับผู้เข้าแข่งขันเป็นประจำ ก็ส่งให้ชื่อของอาต้อยกลายเป็นพิธีกรระดับตำนานของเมืองไทย

จุดเริ่มต้นของเส้นทางพิธีมาจากตอนนั้นเขาไปรับเป็นผู้กำกับละครให้รัชฟิล์มทีวี แล้ว พ.อ.พยุง ฉันทศาสตร์โกศล เจ้าของบริษัทก็เรียกเขาไปพบ บอกว่าอยากจะเปลี่ยนพิธีกรรายการมาตามนัดใหม่ สนใจจะทำไหม จากนั้นก็เรียกตุ๊กมาพบด้วย

อาต้อยบอกว่าเขาไม่เคยเจอตุ๊กมาก่อนเลย แต่พอเจอแล้วก็รู้สึกว่า บุคลิกที่ดูห้าวๆ ก็น่าจะไปด้วยกันได้ไม่ยาก โดยตอนนั้นเขาขอเวลา 3 เดือน ถ้าเห็นว่าไม่เวิร์กก็เปลี่ยนได้ทันที

“ผมบอกเขาว่าจะทำให้เต็มที่ แต่ไม่ต้องบอกว่าให้ผมทำยังไง บุคลิกก็ต้องสไตล์ผมนะ เพราะพิธีกรยุคนั้นปกติจะต้องอยู่ในกรอบ ต้องพูดตามสคริปต์ แต่ผมไม่ใช่ ผมก็ใส่สไตล์ตัวเองลงไปเต็มที่ ส่วนตุ๊กเขาก็ห้าวนะ ผมใส่คำเขาก็ต่อคำ ซัดกันเรื่อย ฟีดแบ็กกลับมา ผมผ่าน แต่ก็มีเสียงถึงตุ๊กหน่อยหนึ่งว่าก้าวร้าวเกินไปหรือเปล่า ผมก็บอกตุ๊กไม่ต้องกลัว เชื่อเถอะว่าพอเราเข้าขากันแล้วมันก็สนุกเอง พอ 3 เดือนผ่านไป ไม่ต้องพูดอะไรกันแล้ว เรตติงไปไหนต่อไหน แต่ละปีเราจะมีสัญจรไปต่างจังหวัดกัน ผู้คนมาต้อนรับยิ่งกว่าดูคอนเสิร์ต”

สำหรับอาต้อยแล้ว เขาบอกว่างานพิธีกรเป็นงานที่ทำให้เขาตั้งหลักได้อย่างแท้จริง เพราะตอนแสดงภาพยนตร์ รายได้ไม่แน่นอน ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่พอมาทำมาตามนัด แล้วรายการฮอตฮิตก็เริ่มมีคนชวนเขาไปเป็นพิธีกรรายการเปิดตัวสินค้า เรียกว่าเดือนหนึ่งมี 30 วัน เขารับงานพิธีกรไปแล้ว 25 วัน 

ต่อมาเขายังทำรายการเพิ่มมาอีกรายการหนึ่งคือ น่ารักน่าลุ้น ซึ่งนำความน่ารักของเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายมาเป็นจุดขาย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน

อาต้อยอยู่กับมาตามนัด นาน 10 ปีเต็ม จนรู้สึกอิ่มตัว อยากทดลองหาอะไรใหม่ๆ ทำดูบ้าง แน่นอน หากให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการใหม่ก็คงไม่เวิร์ก เพราะของเก่าเขาก็ดีอยู่แล้ว เขาจึงตัดสินใจขอลาออก แล้วก็มาเปิดบริษัทของตัวเองชื่อ ทีวีสแควร์ ทำรายการเกมโชว์ ตั้งแต่ กล้าๆ หน่อย ดวงกับดาว ซึ่งรายการหลังนี้แจกของเพียบ ตั้งแต่ของเล็กๆ ไปยังของใหญ่ๆ แบบรถเบนซ์ นอกจากนี้เขายังริเริ่มรายการเด็ก คือ ยังคลับ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น แบบ เด็ก เด็ก โดยนำลูกสาว อีฟ-พุทธิดา ศิระฉายา มาเป็นพิธีกรร่วม ซึ่งปรากฏว่าได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังที่เขาหันมาทุ่มเทเวลากับการผลิตละครโทรทัศน์เป็นหลัก จึงต้องวางมือจากงานพิธีกรไปโดยปริยาย

กระทั่งปี 2547 อาต้อยก็หวนกลับมารับหน้าที่เป็นพิธีกรอีกครั้ง เมื่อ UBC กำลังมีรายการเรียลริตี 24 ชั่วโมง ที่ชื่อ Academy Fantasia โดยเขามีภารกิจต้องเป็นพิธีกรในช่วงคอนเสิร์ตประจำสัปดาห์ แม้จะไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ แต่อาต้อยก็ไม่เคยทำให้ผิดหวังเลย เพราะเขาช่วยทำให้นักล่าฝันหลายคนคลายความกดดัน และสามารถทำโชว์ออกมาได้ดี

“เริ่มแรกไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ เพราะดูจากรูปแบบคิดว่าน่าจะเป็นรายการสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่พอลองทำดูก็รู้สึกว่าไปด้วยกันได้ เพราะวิธีการของเราคือ ให้กำลังใจไม่สร้างความกดดันแก่นักล่าฝันบนเวที ผ่านซีซัน 1 มาก็รู้สึกสนุก

“หลังจากนั้นอีกหลายปีก็บอกทีมงานว่า ขอไม่ทำได้ไหม เพราะทำมาต่อเนื่องแล้ว ก็เริ่มถามตัวเองว่า คนดูเบื่อหรือเปล่า เราไม่อยากทำงานไปแล้วมีคนบอกว่า เบื่อพิธีกรคนนี้แล้ว ทำไมไม่เปลี่ยนสักที แล้วบางทีเราก็รู้สึกว่าทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ทีมงานก็บอกว่าทำต่อเถอะ เพราะเขารู้สึกว่าอาต้อยเหมือนเป็นโลโก้อย่างหนึ่งของรายการไปแล้ว ซึ่งสำหรับคนอายุมากอย่างเรา ได้ยินแล้วก็ภูมิใจ”

ด้วยการวางบทบาทที่พอดีกับทุกรายการที่ทำ และพยายามพัฒนาความสนุกของรายการแต่ละอย่างให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่แปลกเลยว่า ใครหลายคนจึงยกให้อาต้อยเป็นพิธีกรระดับตำนาน ที่ยังคงยืนหนึ่งในใจไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ผมเป็นคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตอย่างธรรมดาที่สุด ผมไม่ยึดติดกับอะไรทั้งนั้น

เศรษฐา ศิระฉายา : ชีวิตที่เป็นมาแล้วทุกอย่าง

กลับสู่จุดเริ่มต้น

ผมเป็นซำเหมา ผมเป็นคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตอย่างธรรมดาที่สุด ผมไม่ยึดติดกับอะไรทั้งนั้น” 

คือคำจำกัดความที่อาต้อยมีไว้ให้ตัวเอง เพราะตลอดชีวิตบนเส้นทางสายมายา เขาทำมาแล้วแทบทุกอย่าง แต่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เขาก็พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด

แต่มีสิ่งหนึ่งที่เขาแทบไม่เคยแตะต้องเลยตลอดสิบกว่าปี ก็คือ การร้องเพลง 

ตอนนั้นทำอะไรหลายอย่างมาก แต่ไม่ยอมร้องเพลง เชื่อไหมผมไม่กล้าเขาบาร์เลย เพราะกลัวเขาเชิญร้องเพลง ผมห่างมานาน ก็ไม่รู้ว่าเราะทำได้ดีหรือเปล่า กลัวเขาจะว่านี่หรือเศรษฐา คือ ความมั่นใจในตัวเองไม่มีเลย ผมไม่คิดว่าผมจะร้องเพลงได้ เหมือนเมื่อก่อน

กระทั่งมีน้องคนหนึ่งโทรมาหา บอกว่าพี่ครับ ผมอยากทำคอนเสิร์ต The Impossible Reunion ผมติดต่อทุกคนหมดแล้ว ยกเว้นพี่คนเดียว ถ้าพี่โอเคก็พร้อมเลย ทุกคนบอกแล้วแต่พี่เลย ด้วยความที่ผมทิ้งมานาน ก็ยังไม่ได้รับปาก เพราะยังไม่มั่นใจตัวเอง มีวันหนึ่งไปเดินเอ็มโพเรียมกับลูก มีผู้ชายอ้วนๆ คนหนึ่งเดินมา สวัสดีครับพี่ ผมที่โทรหาพี่มา 6 เดือนแล้ว ขอเวลาครึ่งชั่วโมงคุยกันได้ไหมครับ เราก็นั่งคุยกับเขา เขาบอกว่า วงอยากแสดงมาก ขอให้ผมมาขอร้องพี่ ผมก็บอกว่า ถ้าคิดว่าผมทำได้ก็ลองดูแล้วกัน แต่ขอเวลาซ้อมหน่อยนะ เพราะผมไม่ได้ร้องเพลงมานาน ก็เริ่มซ้อม

ตอนนั้นเล่นที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ เป็นครั้งแรก คนแน่นมาก ช่วงมีภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ผมก็บอกว่า ตอนนี้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นนะ ผมอยากเล่นโชว์พรุ่งนี้ ขอสถานที่ไว้แล้ว ถ้าไม่เบื่อก็เข้ามาดู คนเต็มเอี๊ยด เกิดความมั่นใจทีเดียว คนก็ยังต้อนรับอยู่

สำหรับอาต้อยแล้ว คอนเสิร์ตครั้งนั้น ทำให้เขาตัดสินใจกลับมาสู่เส้นทางสายดนตรีอีกครั้ง และเริ่มกลับมาจัดคอนเสิร์ตเล็กๆ เป็นประจำทุกปี สำหรับแฟนคลับที่คิดถึง

หากแต่ต้องยอมรับว่า ตอนนั้นแฟนเพลงของเขามีแต่รุ่นใหญ่เท่านั้น ส่วนคนรุ่นใหม่ต่างจดจำเขาได้ในฐานะนักแสดงและพิธีกรมากฝีมือเป็นหลัก กระทั่งในปี 2546 เมื่อเขาได้รับเชิญไปร่วมร้องเพลง เหมือนเคย ในอัลบั้ม Million Ways to Love Part 1 ของบอย โกสิยพงษ์

“วันหนึ่งลูกสาวผมเอาเดโม่มาให้ฟัง บอกว่าพี่นภ (พรชำนิ) เขาติดต่อมาจากพี่บอย ให้พ่อร้องเพลงนี้ในอัลบั้มของพี่บอย ผมก็เหรอ เอาเนื้อมาดูซิ ยังไม่ได้ฟังทำนองก็บอกว่า เนื้อดีนะ ความหมายดี แล้วผมก็เอาวางไว้เฉยๆ ไม่ใช่ไม่ชอบนะ ชอบแต่เวลามันไม่มี งานเยอะมาก เดี๋ยวต้องไปทำพระอภัยมณี ไปทำอิเหนา แล้วน้องอีฟก็บอกหลายทีว่า พ่อ..พี่บอยเขารอพ่อนะ คนอื่นเขาร้องเสร็จหมดแล้ว พ่อนี่เหลือเพลงเดียว จะถ่วงเขาไว้ทำไม คุณนภ เขาเข้าใจติดต่อคน ติดต่อคนที่บังคับผมได้ ผมก็โอเค แล้วก็ร้อง เริ่มฟังทำนองก็เพราะดีนะ แต่ยังไม่มีเวลาอยู่ดี

“จนวันหนึ่งคุณบอยเขาคงรำคาญผมเต็มที่ เขาก็เลยโทรหาผมว่า พี่ถ่ายละครอยู่ที่ไหน บอกผมอยู่เพชรบุรี พี่รออยู่ที่นั่น เดี๋ยวผมจะยกเครื่องอัดไปหาพี่ที่เพชรบุรี แต่ก็รีบรับคำว่า ไม่ต้อง เดี๋ยวคืนนี้พี่กลับแล้ว แล้วพรุ่งนี้ 7 โมงพี่ไปร้องให้ ผมมาฟังเขาสัมภาษณ์ภายหลังว่า ถ้าเพลงนี้เขาไม่ได้ผมร้อง เขาก็จะไม่ปล่อยเพลงนี้”

ด้วยเพลงที่มีเนื้อหาลึกซึ้ง เป็นความผูกพันของครอบครัวที่รักกันมานาน ส่งผลให้เพลงเหมือนเคยขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ของเกือบทุกสถานี แต่ที่สำคัญที่สุด คือทำให้ชื่อของอาต้อยกลับมาโดดเด่นอีกครั้งในฐานะของศิลปิน และนำไปสู่การออกผลงานอย่างต่อเนื่อง 

หลายครั้งเขาได้มีโอกาสร่วมงานกับนักสร้างสรรค์เพลงรุ่นใหม่ เช่น จากวันนั้น…ถึงวันนี้ เพราะมีคุณ ซึ่งเขาได้นำเพลงดังของครูเพลง 4 ท่านมาทำใหม่ ผ่านการดูแลงานของ 4 โปรดิวเซอร์ เช่น ชาตรี คงสุวรรณ, พนเทพ สุวรรณะบุณย์, วิชัย ปุญญะยันต์ และปธัย วิจิตรเวชาการ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะหลังอาต้อยเริ่มมีอาการป่วย ด้วยโรคมะเร็ง แต่เขาก็ยังเปี่ยมด้วยกำลังใจ เขาอยากจะทำงานไปเรื่อยๆ และมีความสุขที่ได้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ เสมอมา

แม้วันนี้อาต้อยจะจากไปอย่างสงบ แต่ผลงานมากมายที่เขาได้ถ่ายทอดสู่ผู้คนก็จะไม่จางหายไปไหน และชื่อของเขาก็จะอยู่ในใจของทุกคนตลอดไป

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • นิตยสาร GM ปีที่ 7 ฉบับที่ 95 ปักษ์แรก เดือนเมษายน 2536
  • นิตยสาร ขวัญเรือน ปีที่ 35 ฉบับที่ 753 ปักษ์แรก เดือนเมษายน 2546
  • นิตยสาร สกุลไทย ปีที่ 58 ฉบับที่ 2997 วันที่ 27 มีนาคม 2555
  • หนังสือ ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2554
  • หนังสือ TRUE ACADEMY FANTASIA • THE ANTHOLOGY
  • หนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน วันที่ 23 กรกฎาคม 2544
  • รายการ นักผจญเพลง ตอนปฐมบทคนดนตรี วันที่ 21 ตุลาคม 2561
  • บันทึกการแสดง BOYd Kosiyabong : Million ways to love – Part I LIVE

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.