กาลครั้งหนึ่งความซึ้ง By กรณ์ เทพินทราภิรักษ์

<< แชร์บทความนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2546 คนไทยทั่วประเทศ เคยเสียน้ำตาให้แก่หญิงสาวที่ขอร้องให้หมอทำคลอดก่อนกำหนด เพื่อให้สามีมีโอกาสกอดลูกก่อนเขาเสียชีวิต..

หลังจากนั้นก็มีโฆษณาเรียกน้ำตาแบบนี้ออกมาร่วม 10 ชิ้น กลายเป็นต้นแบบความซึ้งบนหน้าจอเมืองไทย

แต่รู้หรือไม่ กว่าจะเป็นปรากฏการณ์ความซึ้งที่ทุกคนได้สัมผัส มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกท่านไปพูดคุยกับ กรณ์ เทพินทราภิรักษ์ อดีตผู้อำนวยการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท Ogilvy & Mather (ประเทศไทย) จำกัด ครีเอทีฟเจ้าของแคมเปญโฆษณาไทยประกันชีวิต ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังที่คุณอาจไม่เคยทราบมาก่อน

2545 - ชั่วนิจนิรันดร์

จุดเริ่มต้นที่ทำให้กรณ์เข้าไปข้องเกี่ยวไทยประกันชีวิต เกิดขึ้นเมื่อปี 2545 

ช่วงนั้นบริษัทครบรอบ 60 ปี และมีโจทย์อยากที่จะทำ Annual Report ฉบับเคลื่อนไหว เขาจึงศึกษาว่าแบรนด์นี้มีเรื่องหรือผลิตภัณฑ์ใดโดดเด่นบ้าง จึงพบว่ามีกรมธรรม์สำหรับทหาร คนพิการ และมีฮอตไลน์สายด่วนขนส่งผู้ป่วยจากสถานพยาบาลต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เข้ามารักษาที่กรุงเทพฯ ซึ่งไม่มีบริษัทประกันชีวิตใดในช่วงนั้นรับทำ

แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะรวมทั้งหมดไว้ในโฆษณาตัวเดียว กรณ์จึงคิดถึงเพลงที่จะร้อยเรื่องราวทั้งหมดไว้ด้วยกัน

“ลูกทุ่งก็อาจจะยังไม่ใช่ ก็เลยนึกถึงเพลงไทยสากล เพลงลูกกรุง เพราะสมัยเด็กๆ ฟังเพลงลูกกรุงเยอะมาก และจู่ๆ ก็นึกถึงเพลงที่ร้องว่า ‘ฉันรักเธอแม้เทียบเสมอกับดวงชีวิต’ เนื้อเพลงมันน่าจะโดนเรา แล้วพอนั่งฟังทั้งเพลง มันก็พูดถึงอะไรบางอย่างที่คล้ายๆ เป็นปณิธานที่จะส่งมอบต่อให้กับคนไทยได้”

วันที่เขาหยิบเพลงชั่วนิจนิรันดร ขึ้นมาเสนอในห้องประชุม ไชย ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการไทยประกันชีวิต ชอบมากถึงกับเอ่ยปากว่า “เพลงนี้ที่ผมกำลังหามาตลอด”

“จำได้เป็นหนังที่สวยมากเลย Shot ที่ Close up ว่ายน้ำ แล้วค่อยๆ Zoom out เห็นเขายืนริมสระแล้วเห็นว่าเป็นคนพิการ ผมว่าคนดูรู้สึกช็อกเหมือนกันนะ แต่ตัวหนังมันค่อนข้าง Positive ก็เลยไม่ได้ดังมากมาย แต่ก็ถือว่าเอาอยู่ระดับหนึ่ง”

2546 - Peace of Mind

Peace of Mind ออกอากาศเมื่อปี 2546 เรื่องราวของหญิงที่ขอร้องให้หมอผ่าคลอดก่อนกำหนด เพื่อให้สามีที่ป่วยเป็นเนื้องอกในสมองได้กอดลูกก่อนสิ้นลม ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการโฆษณาไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการหยิบประเด็นดรามาแบบนี้ขึ้นมาสื่อสารผ่านหน้าจอ

ความแตกต่างของชั่วนิจนิรันดรกับ Peace of Mind คือตัวแรกเป็นการขายผลิตภัณฑ์ ขณะที่ตัวหลังเป็นการขายแบรนด์และภาพลักษณ์ขององค์กร

กรณ์พบเรื่องสั้นๆ ความยาว 4-5 บรรทัดนี้ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง พออ่านแล้วก็รู้สึกจุกอยู่ที่คอ จึงนำเรื่องไปเสนอคุณไชย ไชยวรรณ ปรากฏว่ากรรมการผู้จัดการของไทยประกันชีวิตเงียบไม่พูดอะไร

ครั้งถัดมากรณ์ก็เลยเสนออีกเรื่อง เกี่ยวกับวัยรุ่นนั่งผิดหวังชีวิตอยู่บนดาดฟ้า พอมองลงไปข้างล่างก็เห็นรถตำรวจมาจอด เห็นพ่อแม่วิ่งถลาออกมา แล้วเห็นคนนอนจมกองเลือดอยู่คือตัวเอง เหมือนเป็นการสะท้อนว่า จริงๆ แล้วมีคนที่รักและดูแลเขาอยู่ พอเล่าจบ คุณไชยทักขึ้นมาว่าทำไมไม่ทำสคริปต์เรื่องที่เคยเล่า เขาเลยวกกลับไปที่เรื่อง Peace of Mind อีกครั้ง

ทีมงานมองหาผู้กำกับที่จะมารับงานนี้ ก่อนมาลงตัวที่ ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย แห่ง Phenomena Bangkok ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้กำกับรุ่นใหม่ที่กำลังมีผลงานน่าสนใจ หลังจากนั้นต่อก็รับหน้าที่กำกับโฆษณาไทยประกันชีวิตอีกหลายเรื่อง

“ความจริงไม่ได้คิดว่าจะดังอะไรมากมาย แต่พอเห็นคนที่ไม่เกี่ยวข้องหรือรู้เรื่องงานมาก่อน เช่นผู้ช่วยตัดต่ออีกทีมนึงแวบมาดูแล้วร้องไห้ รู้สึกเหมือนถูกหวยนะ”

2547 - Everlasting Love

2547 เป็นปีที่คนไทยได้รู้จักกับเรื่องราวของปู่ชิว และการเดินทางขึ้นเขากว่า 20 กิโลเมตรเพื่อไปเล่นเพลงจากซอสองสายให้ภรรยาที่อยู่ในหลุมศพฟังทุกๆ วัน จากโฆษณาชุด Everlasting Love

แต่รู้หรือไม่ ตอนแรกโฆษณาภาคต่อของ Peace of Mind ไม่ใช่เรื่องนี้

เพราะเรื่องที่วางไว้คือ ชายหนุ่มที่เพิ่งแต่งงานหมาดๆ วันหนึ่งกลับมาถึงบ้านเจอแฟนสาว มีความสุขตามประสาคนข้าวใหม่ปลามัน แล้วจู่ๆ ผู้ชายก็หายไป ภาพตัดมาอีกทีที่กลางถนน พบศพชายหนุ่มรถคว่ำเสียชีวิตแล้ว หลังขายสคริปต์ผ่าน เตรียมตัวถ่ายเรียบร้อย ก็มีน้องคนหนึ่งมาบอกว่า โฆษณานี้คล้ายกับมิวสิกวีดีโอของอัสนี-วสันต์ โชติกุล

“เราก็ตกใจ เพราะไม่เคยดูมาก่อน พอรู้ว่าพล็อตซ้ำก็ทิ้งเลย หาเรื่องใหม่ จำได้ว่าปวดหัวมาก นั่งกินกาแฟตอนเช้า แล้วก็ไปเจอข่าวเล็กๆ ในแทบลอยด์ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เป็นเรื่องชายชราคนหนึ่งทำน้ำซุป แล้วก็เตรียมซอสองสายไปสีให้แฟนที่เสียชีวิตฟังที่สุสาน พออ่านจบปุ๊บเรียบร้อยเลย วันนั้นสบายแล้ว”

กรณ์บอกว่า เรื่องของปู่ชิวทำให้เขานึกถึงเตี่ย เดินหลังงุ้ม ตัวไม่ใหญ่ หน้าตาก็คล้ายๆ กัน แล้วพอแม่เสีย เตี่ยก็ไม่ได้แต่งงานใหม่ อยู่ดูแลลูกจนกระทั่งเสียชีวิตตามไป ถึงแม้บางรายละเอียดจะไม่เหมือนกัน แต่ก็สะท้อนคุณค่าความเป็นมนุษย์ร่วมกันได้อย่างดี

อีกเรื่องเล่าหนึ่งที่กรณ์จำได้ไม่ลืมคือ ช่วงแรกๆ เขาเขียนบทสรุปตอนจบว่า “แล้วเสียงเพลงจากซอสองสาย ก็ก้องกังวานไปทั่วขุนเขา” แต่พอตัดเสร็จปรากฏว่า เสียงซอหายไป วันนั้นกรณ์ถึงขั้นโทรศัพท์คุยกับ ต่อ ผู้กำกับจนตี 1 พร้อมย้ำว่า ถ้าไม่มีเพลงจากซอก็เหมือนขาดหัวใจไป จนต่อเข้าใจและติดต่อให้ อาเม้ง ป.ปลา ให้มาช่วยสีซอให้

“รุ่งขึ้นเสร็จแล้วตอนบ่ายๆ ต่อก็โทรมาบอกว่าพี่เรียบร้อยแล้ว เวิร์กแน่ๆ เพราะแฟนเขาดูแล้วก็ร้องไห้”

2548 - My Son

จากความสำเร็จของ 2 เรื่องแรก ในปี 2548 กรณ์จึงวกกลับมาทำเรื่องของครอบครัวอีกครั้ง

วันนั้นเขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับคุณค่าชีวิต แล้วพบเรื่องของแม่ที่มีปัญหากับลูกชาย เพราะแม่เป็นคนรวยมาก ขณะที่ลูกชอบใช้ชีวิตปอนๆ กระทั่งวันหนึ่งแม่ประสบอุบัติเหตุเกือบเสียชีวิต ทำให้รู้ว่าการให้ความรักขณะที่มีชีวิตอยู่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด พอมาเล่าให้ผู้กำกับฟัง ต่อจึงเสนอว่าอยากให้เปลี่ยนตัวละครจากพ่อเป็นแม่แทน

“ต่อบอกว่าเอาชีวิตผมละกัน คือเขามีส่วนมากในช่วงที่เปลี่ยนจากสคริปต์เป็นหนัง เข้าใจว่าผู้กำกับฝีมือดีๆ ประสบการณ์เยอะๆ จะให้มานั่งกำกับหนังจากสคริปต์คงไม่เอา แค่ขอแกนหลักมาแล้วไปทำเองดีกว่า ซึ่งหน้าที่ของเราก็คือผลลัพธ์จากแกนเรื่องหลักยังตรงกับที่เราอยากได้หรือไม่”

ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือการใช้ CG เข้ามาช่วยมากขึ้น ช่วงแรกๆ เขาตั้งใจจะเปิดเรื่องด้วยฉากรถคว่ำ เหล็กทะลุกระจกเข้ามาจ่อคอหอย แล้วค่อยตัดเข้าไปฉากเล่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่ คล้ายๆ กับคนใกล้ตายจะกลับย้อนคิดถึงเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต แต่ต่อช่วยเปลี่ยนฉากรุนแรงบางฉาก เช่นการ Slow motion ฉากกระจกหน้ารถแตก รวมไปถึงการใช้ฉาก ‘นาฬิกาแตก’ เป็นสัญลักษณ์เรื่องคุณค่าของเวลา

หลังโฆษณานี้ออกไป มีหนังสือพิมพ์บางฉบับบอกว่า โฆษณารุนแรงเกินไป เด็กเห็นแล้วอาจตกใจ แต่ในมุมของเขากลับมองว่าอยู่ในระดับที่รับได้

“เราทำ Commercial คือเราต้องการผลลัพธ์ที่ได้ผลสำหรับผู้จ้าง และเราก็รับผิดชอบในแง่ของคนดู คืออยู่ในดีกรีที่เหมาะสม สิ่งที่ปรากฏก็คือเรื่องที่เราเห็นกัน แต่เราทำให้มันสวยขึ้น ไม่ให้รุนแรงเกินไป เพราะเรื่องนี้เป็นธีมของเวลา บางคนก็ไม่ได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง พอตระหนักได้ก็สูญเสียมันไปแล้ว”

2549 – Friend

ต้นปี 2549 ไทยประกันชีวิตเปิดตัวโฆษณาชุดใหม่ ชื่อ Friend เป็นเรื่องราวคุณอาภา หญิงชราอดีตนักเปียโนที่เป็นอัมพาตตั้งแต่อายุ 60 ปี มือขวาขยับไม่ได้ แต่ยังหวังว่าสักวันจะมีปาฏิหาริย์ให้กลับมาเล่นเปียโนได้อีกครั้ง

ความจริงแล้ว พล็อตแรกที่กรณ์วางไว้ไม่ได้เป็นอย่างนี้ แต่เป็นเรื่องของผู้หญิงชรามือเหี่ยวๆ สองคนแขนพิการคนละข้างบังเอิญมาเจอกันที่สถานพยาบาล แล้วมาเล่นเปียโนด้วยกัน โดยกรณ์ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ Chicken Soup for Soul และประโยคที่ว่า “มนุษย์เราก็เหมือนเทวดาที่มีปีกข้างเดียว จะโบยบินไปได้ ก็ต่อเมื่อเราบินไปด้วยกัน” แต่ภายหลัง ต่อ ผู้กำกับขอเปลี่ยนโครงเรื่องมาเป็นพยาบาลกับเจ้าของบ้านแทน

“แกนหลักเปลี่ยนไปพอสมควรนะ จากการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นความทุ่มเทของคนที่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ คือปรัชญาการเปรียบเทียบในเชิงให้กำลังใจว่าคนเราเหมือนเทวดาที่มีปีกข้างเดียวหายไป ซึ่งต่ออาจจะมองว่า มือของคนที่ดูแลดูสตรองกว่า ซึ่งส่วนตัวผมโอเคนะ คือผมมีนิสัยอย่างหนึ่งคือ ชอบเห็นคนเก่งๆ หลายๆ คนทำงานแต่ละอันแล้วมาดูกัน เหมือนเราดูบอลเราก็อยากจะเห็นว่าทีมไหนจะชนะเลิศ เราจึงยินดีที่จะเห็นงานที่แตกต่างกัน”

2549 - My Girl

ปลายปี 2549 คงไม่มีโฆษณาใดที่โด่งดังและโดดเด่นเกิน My Girl ไปได้

โฆษณาเล่าเรื่องของพ่อและลูกสาว ซึ่งภายหลังเผชิญปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน แต่ด้วยความรักทำให้พ่อให้อภัยความผิดพลาดของเธอ

กรณ์ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือเรื่อง Chicken Soup For The Soul เป็นเรื่องของลูกสาวที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร แล้วหนีไปซ่อนตัวในโบสถ์ พ่อก็เลยมาตาม แล้วมีฉากที่กระแทกใจสุดคือ การดึงลูกสาวเข้ามากอด เขาจึงนำเรื่องนี้มา Rewrite ใหม่ จนกลายเป็นสคริปต์โฆษณา ส่วนผู้กำกับเรื่องนี้เปลี่ยนจากต่อ ซึ่งทำโฆษณาไทยประกันมาหลายเรื่องจนอิ่มตัวมาเป็น โหน่ง-กำพล วิทย์พิบูลย์รัตน์ แห่ง Sunshine Etcetera แทน

ช่วงที่ทำโฆษณาชุดนี้เป็นช่วงที่บ้านเรามีกระแสเรื่องวัยรุ่นท้องพอดี คุณไชยถึงกับทักว่า เรื่องนี้ดังแน่ แต่ป้องกันให้ดีล่ะกัน โดนด่าชัวร์ๆ ซึ่งปรากฏว่า ก็จริงดังคาด หลายคนมองว่าเป็นโฆษณาที่ฮิตที่สุด แต่มุมหนึ่งก็ถูกกระแสโจมตีหนักไม่แพ้กัน หาว่าไปส่งเสริมให้เด็กใจแตก บางคนถึงกับแช่งครีเอทีฟว่า ขอให้มีลูกสาวแล้วเจอสถานการณ์แบบนี้

“ตอนนั้นมีคนตั้งกระทู้ใน Pantip ว่าเรื่องนี้ตรงกับชีวิตเขาเป๊ะเลย แล้วเขาลืมมันไปแล้ว แต่ว่าเรื่องนี้ทำให้เขากลับมานึกเสียใจอีก แต่ก็ต้องยอมรับว่า การทำงานให้ได้ผลบางทีก็ต้องทำประเด็นล่อแหลมบ้าง คือต้องโดนคนพูดถึง ชม 50 ด่า 50 แต่ถ้าเราก็พยายามทำให้มันรัดกุมที่สุด เพราะถ้าไม่รัดกุมพอก็อาจจะโดนด่าสัก 70 หรือไม่มีใครชมเลยก็ได้”

เรื่องตลกหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังปล่อยโฆษณาชุดนี้ คือมีคนโทรศัพท์หาต่อ ผู้กำกับคนเดิมว่า “Congratulation พี่ ฮิตอีกแล้ว” ต่อก็เลยตอบกลับไปว่า “กูไม่ได้ทำ” แล้วก็บอกให้ Producer โทรศัพท์หากรณ์ว่าเรื่องหน้าขอทำเอง

2550 - Marry Me

แสงดาว หญิงสาวที่ป่วยเป็นโรคลูคีเมีย และมีชีวิตอยู่ได้ 60 วันเท่านั้น เธอจึงตัดสินใจเลิกกับศรัทธา แต่เขาก็กลับมา และขอเธอแต่งงาน

กรณ์ได้แรงบันดาลใจจากข่าวที่ชายหนุ่มขอแต่งงานกับหญิงสาวที่ป่วยเป็นมะเร็งเป็นขั้นที่ 3 เขาก็เลยเอามาดัดแปลง แล้วก็ใส่ลูกเล่นอย่างตอนที่พระเอกเอายามาให้นางเอก แต่ในถ้วยยากลับมีแหวน ซึ่งคุณไชยดูจะชอบ Shot นี้เป็นพิเศษ ส่วนผู้กำกับก็ยังคงเป็นโหน่ง แห่ง Sunshine Etcetera เช่นเดิม

“ตอนนั้น Feedback เป็นไงไม่ค่อยรู้ อาจจะเบื่อแล้วมั้ง ไปนั่งเช็ค Pantip เสียเวลาก็เลยไม่ค่อยรู้ว่าฮือฮาหรือเปล่า แต่พอทำเยอะๆ แล้ว เราก็รู้สึกว่าอะไรก็ได้ ขอให้เป็นประเด็นที่ใช่ เรื่องคุณค่าของชีวิต ความรัก แล้วจะฮิตหรือไม่เป็นเรดาร์ที่เราต้องทำงาน ซึ่งพอทำงานหนักๆ มากก็เหนื่อยนะ” กรณ์เล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

2551 - Melody of Life

หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องราวของครูติ๋ว สุธาสินี น้อยอินทร์ แห่งบ้านโฮมฮัก ที่แม้จะป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ก็ยังยืนหยัดช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสมากมาย คือแรงบันดาลใจสำคัญของภาพยนตร์โฆษณาชุด Melody of Life ในปี 2551

Melody of Life เล่าเรื่องราวของแม่ต้อยที่กำลังจะตายด้วยมะเร็งภายใน 2 ปี แต่เธอก็ไม่ปล่อยชีวิตให้มีความทุกข์ และรับเป็นแม่ให้เด็กที่มีปัญหา 3 คน

กรณ์บอกว่าเรื่องนี้ต้องให้เครดิตต่อ ซึ่งหวนกลับมาเป็นผู้กำกับโฆษณาไทยประกันชีวิตอีกรอบ โดยช่วงนั้นก็จะมีทั้งผู้กำกับ Producer หลายคนเสนอไอเดียเข้ามา แต่ว่ายังไม่โดนใจเท่าใด ส่วนเขาเองก็มีไอเดียเขียนไว้บ้าง แต่ยังไม่นำเสนอให้ใคร

“ตอนนั้นก็มีหลายเรื่อง เช่นแม่คลอดลูกแล้วลูกตัวเล็กมาแค่ฝ่ามือต้องเข้าห้องอบ พอโตขึ้นก็เริ่มพิการ แต่แม่ก็ไม่ได้เลี้ยงดีนะ คือให้ทำอะไรด้วยตัวเอง จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่จึงเข้าใจว่าความรักของแม่คือการดูแลให้เข้มแข็ง แล้วจบด้วยการให้เด็กอ่าน Speech แล้วก็มีเรื่องคุณแม่ขับแท็กซี่ ขับรถไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย ลูกเยอะ แล้วไปอาบน้ำตามปั๊ม เผอิญช่วงนั้น ต่อก็เสนอเรื่องแม่ต้อยเข้ามา”

ความโดดเด่นที่กรณ์รู้สึกกับแม่ต้อย คือไม่รันทดมาก เป็นแม่ที่ไม่ต้องเป็นแม่จริงๆ ก็ได้ และยังมีประเด็นที่โดดเด่นคือ ชีวิตของแม่เองก็ไม่ได้กว่าเด็กๆ ที่อุปการะ ถือเป็นการฉีกกรอบเดิมๆ ออกไป ซึ่งผลก็คือว่าประสบความสำเร็จสูงมาก

2552 - Que Sera Sera

เมื่อโฆษณาชุดนี้ดำเนินมาถึงตัวที่ 8 ทีมงานซึ่งลองทำมาแล้วทั้งหนังที่บรรยายทั้งเรื่อง มี Story ซับซ้อน โยงไปโยงมามีหักมุม ก็คุยกันว่าน่าจะเปลี่ยนมาทำอะไรที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อนดูบ้าง

ตอนนั้นไทยประกันชีวิตกำลังจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ชื่อ ‘กรมธรรม์ก้าวแรก’ เสนอความคุ้มครองให้กับเด็กที่เกิดมาแล้วไม่สมบูรณ์ จึงเกิดเป็นไอเดียที่นำเด็กๆ เหล่านี้มาเป็นตัวแทนในหนังโฆษณา

“เด็กเกิดมาอวัยวะครบหรือไม่ครบ แข็งแรงหรือไม่แข็งแรง สิ่งที่ทำได้คือ ยอมรับมันและเตรียมพร้อม ก็คุยกับต่อว่า ผมเห็นเด็กที่อยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม ทั้งปกติและไม่สมประกอบ แล้วก็มีเพลงๆ หนึ่งที่โอบอุ้มความรู้สึกตรงนี้ไว้ อาศัยความเป็นธรรมชาติของเด็ก หลังจากนั้นก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น สักพักทีมโปรดักชันต่อก็โทรมาก็บอกได้โครงเรื่องเรียบร้อยแล้ว ตอนนั้นก็พยายามหาเพลงไทย แต่มันก็ไม่มีเนื้อที่ใช่ ยังไงก็ไม่ใช่ ต่อก็เลยเสนอ Whatever will be ก็จบเลย”

แม้โครงเรื่องจะง่ายๆ ไม่ซับซ้อน มีฉากหลักเพียงให้เด็กๆ มาร้องเพลง แต่ในความง่ายคือความยาก ตั้งแต่การ Casting ทีมงานต้องไปรวมเด็กๆ กลุ่มนี้มาจากโรงเรียนถึง 20-30 โรงเรียน นั่งทำ Score เพลงแล้วก็ให้เด็กๆ ลิปซิงก์กัน ด้วยความที่พวกเขามีร่างกายที่ไม่แข็งแรงอยู่แล้ว เมื่อต้องมาถ่ายทำโฆษณาที่ต้องแสดงกว่า 20 Take ผ่านไปเพียงแค่ครึ่งเด็กๆ หลายคนก็แทบจะไม่ไหวแล้ว

“การที่เอาเด็กไม่สมประกอบมาร้องมันเหนื่อยนะ มันทรมานเขา เห็นแล้วสงสารมาก บางครั้งต้องเดินหนีเลย เด็กผู้หญิงหน้าตาน่ารักมาก นั่งรถเข็นมา เราก็ถามว่าทำไมไม่เดิน พ่อเขาบอกว่าตัวเขานิ่มเหมือนหัวไชเท้านิ่มเลยๆ ยืนไม่ได้ เดินไม่ได้เลย”

หลังโฆษณาออนแอร์ มีคนโทรศัพท์เข้ามาถามถึงผลิตภัณฑ์อย่างล้นหลาม ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งกว่าโฆษณาชุด Melody of Life เสียอีก เวลานั้นแทบไม่มีใครในเวลานั้นที่จะไม่รู้จักเพลง Whatever will be ที่มีท่อนฮุคว่า Que Sera Sera โดยมีภาพเด็กๆ กำลังประสานเสียงร้องเพลงต่อหน้าครูและผู้ปกครองที่กำลังปาดน้ำตา

2554 - Silence of Love

“หนูอยากมีพ่อที่ดีกว่านี้..พ่อที่ไม่เป็นใบ้”

โฆษณาไทยประกันชีวิต ประจำปี 2554 นำเสนอประเด็นดรามาของเด็กสาวที่อาศัยอยู่กับพ่อเป็นใบ้ เธอถูกล้อ ถูกรังแกที่โรงเรียน เธออายที่มีพ่อเป็นใบ้ และสุดท้ายเธอตัดสินใจฆ่าตัวตาย

แนวคิดของโฆษณาชุดนี้มาจาก นายใหญ่ของไทยประกันชีวิตที่นำข่าวที่ตัดเก็บไว้มาให้ในที่ประชุม

“ที่ผ่านมา เราก็ไม่เคยใช้สคริปต์คุณไชยสักที แต่แกคงเริ่มสนุกที่ได้ครีเอตอะไรด้วย แกเลือกเรื่องพ่อใบ้มาให้ ซึ่งเรื่องมันค่อนข้างย้อนยุคนะ อยู่ที่เทคนิคของการปรับแต่งเท่านั้นเองว่าจะทำอย่างไรให้เป็นปัจจุบันขึ้น ตอนแรกที่คุยกับผู้กำกับ ต่อไม่ทำ เขาบอกว่าถ้าเราทำหนังคนเกลียดพ่อ คนจะเกลียดหนังไปด้วย ผมบอกต่อว่าไม่จริงหรอก

“อย่างผมก็เคยรู้สึกเกลียดพ่อ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ แค่เราพูดภาษาจีนไม่ได้ เวลาพ่อพูดอะไรมาเราจึงไม่รู้เรื่อง เรื่องนี้พ่อเป็นใบ้ก็จริง แต่สคริปต์จะทำให้คนเข้าใจพ่อ เด็กอาจจะไม่เข้าใจ แต่คนดูซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 จะเห็นเบื้องหลังความรักของพ่อที่มีต่อลูก ฉะนั้นการันตีได้เลยว่า คนไม่ได้เกลียดหนังเรื่องนี้แน่ๆ”

ผลปรากฏเรื่องนี้โด่งดังมาก ไปฉายในเมืองจีนมากที่สุด หลายคนดูแล้วร้องไห้ จนหลายคนบอกว่านี่เป็นต้นกำเนิดโฆษณารูปแบบใหม่ Sadvertising (มาจากการเติม S หน้า Advertising)

2555 - Unity

เรื่องของตะปูและเกือกม้า คือสารที่แฝงอยู่โฆษณาชุด Unity ซึ่งจัดทำขึ้นในวาระครบรอบ 70 ปีไทยประกันชีวิต

“เรื่องนี้เป็นปรัชญาที่อ่านเจอมานานแล้ว ตะปูตัวหนึ่งหลุดจากเกือกม้า พอดูทั้งเรื่องเสร็จจะรู้ว่า จุดเล็กๆ ถ้าเราเกาะกันแน่นๆ จะทำให้ทุกอย่างไปได้ แต่ถ้าองค์ประกอบทุกอย่างไม่สามัคคีกัน ก็อาจจะทำให้ม้าล้ม แม่ทัพตกลงมาแล้วถึงแก่ชีวิต และเสียเมืองได้”

โฆษณาชุดนี้ออกมาในช่วงที่บ้านเมืองกำลังตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อ และหวังกระตุ้นให้คนหันมารวมพลังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว แต่สุดท้ายก็ออกอากาศสั้นมาก เพราะคนอาจจะไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่สื่อมากนัก และช่วงนั้นผู้คนก็ทะเลาะกัน คงไม่มานั่งดูโฆษณา

2556 - Forget Me Not

“คุณจำผมไม่ได้ แต่ผมจำคุณได้”

Forget Me Not นำเสนอเรื่องราวของหญิงชราที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่เธอยังโชคดีที่มีคนรักอยู่เคียงข้าง

กรณ์เล่าว่า ประเด็นเรื่องอัลไซเมอร์นั้นคุณไชยเคยพูดถึงนานแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำสักที เพราะช่วงนั้นคนยังไม่เป็นโรคนี้กันมาก สำหรับโฆษณาชุดนี้ไม่มีอะไรมาก เนื้อหาเป็นไปตามสคริปต์ แต่ก็มีลูกเล่นนิดหน่อย

“ผู้กำกับพยายามใส่รายละเอียดต่างๆ เข้ามา เช่นผู้ชายจำได้ทุกอย่างผู้หญิงชอบอะไร รู้จักกันเมื่อไร แต่งงานเมื่อไร ผู้หญิงก็ดูเหมือนจะจำได้ แต่จำไม่ได้ แต่ถึงยังไง การ Take Care ก็ยังดำเนินต่อไป”

2557 - Unsung Hero

Unsung Hero คือภาพยนตร์โฆษณาไทยประกันชีวิตเรื่องสุดท้ายที่กรณ์รับผิดชอบ ก่อนเกษียณจาก Ogilvy

เขาอ่านเจอเรื่องหนึ่งในหนังสือ Chicken Soup for the Soul เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ศาลคนหนึ่งในอเมริกาที่ตื่นแต่เช้าทำอาหารแล้วเอาไปแจกจ่ายให้กับคนยากจนทุกวัน เป็นเวลา 10-20 ปี จนกระทั่งวันหนึ่งเขาไปเจอคนที่เขาเคยช่วยเหลือกลายมาเป็นคนทำอาหารแจกให้คนอื่นต่อ สิ่งที่เขาทำจึงเป็นการให้ที่ไม่สิ้นสุด กรณ์นำเรื่องนี้มาคุยกับต่อ ก่อนจะดัดแปลงเป็นฮีโร่แบบไทยๆ ที่คอยช่วยเหลือผู้ยากไร้ ด้อยโอกาส โดยไม่หวังผลตอบแทนหรือชื่อเสียง

ทว่าเมื่อโฆษณาเผยแพร่ ก็หลีกไม่พ้นเสียงวิจารณ์จากเอ็นจีโอว่ากระตุ้นให้เกิดขอทานขึ้นในเมือง

“ถ้าคุณดูดีๆ ในเรื่องจะมี Shot ถักเชือกทำไว้ขายด้วย ต่อเขาเตรียมการเลยนะพวกรายละเอียด เราไม่ได้ให้เป็นขอทานนะ เขาขายของนะ มีอะไรที่เราเตรียมไว้ให้รัดกุม”

ตลอดเวลาหลายปีที่โฆษณาชุดนี้สร้างปรากฎการณ์ความซึ้งให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย นอกจากตอบโจทย์ของลูกค้าแล้วยังทำให้ใครหลายคนได้กลับมาทบทวนชีวิตของตัวเอง อาจเรียกได้ว่าเป็นโฆษณาชุดหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เป็นโฆษณาที่อยู่ในความทรงจำของคนไทย

“ทั้งหมดนี้ เพราะเรามีไอเดีย มีคอนเทนต์ที่แข็งแรง มีทีมงานที่เยี่ยม และมีลูกค้าที่สนับสนุนมาตลอด ถือเป็นหนี้บุญคุณของคนที่เราทำงานด้วย เพราะเราทำคนเดียวทำไม่ได้หรอก” อดีตครีเอทีฟใหญ่แห่ง Ogilvy กล่าวพร้อมรอยยิ้ม

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • สัมภาษณ์คุณกรณ์ เทพินทราภิรักษ์ วันที่ 25 มีนาคม และ 18 เมษายน 2561

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.