“ไม่มีใครจดจำคนมาที่สอง” – คำพูดนี้ยังคงเป็นจริงเสมอ แม้เวลาจะผ่านไปนานสักเท่าใด
เหมือนชีวิตของ Buzz Aldrin ชายผู้เหยียบดวงจันทร์เป็นคนที่ 2 ต่อจาก Neil Armstrong
“ด้วยลำดับอาวุโส Neil เหมาะสมแล้วที่เขาจะเป็นคนแรก แต่การถูกแนะนำว่าคนที่ 2 บ่อยๆ ก็ทำให้ผมรู้สึกเซ็งเหมือนกัน เพราะเราฝึกบิน ฝึกลงจอดมาเหมือนกัน ความจริงแล้วนี่เป็นเรื่องของการทำงานเป็นทีมมากกว่า” Buzz เคยเปิดใจกับ National Geographic
ความจริงแล้ว อย่าว่าแต่จะมาเป็นลำดับที่เท่าใดเลย เส้นทางชีวิตหลายปีก่อนหน้านั้นของ Buzz แทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับอวกาศเลยแม้แต่น้อย แม้สิ่งนี้จะอยู่ในความทรงจำในวัยเยาว์มาก่อนก็ตาม
สมัยเด็กๆ Buzz ชอบอ่านเรื่องราวของ Buck Rogers มนุษย์ในศตวรรษที่ 25 เขาสนใจเรื่องการผจญภัยของ Flash Gordon ฮีโร่แห่งอวกาศ รวมทั้งเคยเขียนเรียงความเกี่ยวกับนิยายวิทยาศาสตร์ แต่นั่นก็เป็นเพียงความฝันธรรมดาๆ เท่านั้น เพราะเมื่อโตขึ้น เขาตัดสินใจเลือกเป็นทหาร และได้ทำหน้าที่นักบินขับไล่ในช่วงสงครามเกาหลี
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อเพื่อนสนิท Ed White ได้รับคัดเลือกให้ร่วมโครงการ Gemini ของ NASA ทำให้เขาคิดถึงความฝันในวัยเยาว์อีกครั้ง แต่เส้นทางนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะ Buzz ไม่เคยเป็นนักบินอวกาศฝึกหัดมาก่อน NASA จึงปฏิเสธใบสมัครของเขา
Buzz เกือบจะเลิกล้มความตั้งใจไปแล้ว แต่โชคดีที่มีการเปลี่ยนกฎในเวลาต่อมา และเขาก็ได้รับโอกาสที่รอคอยมานาน
ชีวิตของนักบินอวกาศไม่ได้สวยงามอย่างที่หลายคนคิด พวกเขาต้องฝึกหนัก เผชิญความเสี่ยงมากมาย และหลายครั้งต้องพบกับความสูญเสีย
“เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายที่ไม่ได้ถูกคาดการณ์ไว้ที่ทำให้ผมกับ Neil ได้ไปดวงจันทร์ เพราะตอนแรกผมไม่ได้ถูกวางตัวไว้ จนกระทั่งเมื่อ Apollo 1 ไฟไหม้เมื่อปี 2510 ซึ่งคร่าชีวิตนักบินไป 3 คน รวมถึงเพื่อนของผม Ed White ทำให้รอบปฏิบัติการของ Apollo 11 วนมาถึงผมกับ Neil Armstrong พอดี”
Apollo 11 เป็นยานอวกาศลำแรกที่มีภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์ ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 16-24 กรกฎาคม 2512 โดย Neil กับ Buzz เคยทำหน้าที่นักบินสำรองของยาน Apollo 8 มาก่อน ส่วนนักบินอีกคน คือ Michael Collins ก็เคยเกี่ยวข้องกับ Apollo 8 เหมือนกัน โดยทำหน้าที่ CapCom หรือผู้ที่ประจำอยู่ที่ศูนย์ควบคุมเพื่อคอยสื่อสารกับนักบินอวกาศคนอื่นๆ
“การฝึกซ้อมในโครงการ Apollo หนักมาก ตารางการฝึกแบ่งเป็นชั่วโมงต่อชั่วโมง ทำให้ผมมั่นใจมากกับระบบนี้ ที่สำคัญผมเคยไปรบมาแล้ว ก็เลยคิดว่าการจัดการกับเหตุฉุกเฉินเป็นเรื่องปกติ
“และถึงจะเกิดปัญหาขัดข้องที่ทำให้ยานไม่สามารถยานลงจอดได้อย่างราบรื่น ผมก็เชื่อว่าเราจะกลับมาที่โลกได้ เพราะเรามีโอกาสลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ แต่มีโอกาสกลับมาที่โลกถึง 90 เปอร์เซ็นต์”
แม้ว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในอวกาศก็คือความตาย แต่ทีมงานก็ไม่ได้เอามาใส่ใจ ทุกคนพยายามโฟกัสกับภารกิจมากกว่า
แล้ววันสำคัญก็มาถึง ยาน Apollo 11 ลงจอดสำเร็จ ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2512 Neil Armstrong ก้าวเท้าลงสัมผัสบนพื้นผิวดวงจันทร์เป็นคนแรก Buzz ก้าวตามลงมาเป็นคนที่ 2
Buzz เป็นคนถ่ายภาพ Neil กำลังปักธงชาติสหรัฐอเมริกาลงที่ดวงจันทร์ซึ่งเป็นภาพประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เขายังจำความรู้สึก ณ วินาทีนั้นได้เป็นอย่างดี
“มองจากดวงจันทร์ โลกจะใหญ่เป็น 4 เท่าเมื่อเทียบกับว่าเราอยู่บนโลกแล้วมองไปที่พระจันทร์เต็มดวง โลกเป็นเหมือนอัญมณีที่อยู่บนท้องฟ้าสีดำมืด ผมรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ท้าทายมากที่เรามาถึงที่นี่ เมื่อคิดว่ามันอยู่ไกลจากบ้านเราแค่ไหน
“ที่ผ่านมา เราใฝ่ฝันมาตลอดว่าสักวันจะขึ้นไปบนดวงจันทร์ และเราทำสำเร็จแล้ว แต่พอผมมองไปรอบๆ ผมก็พบแต่ฝุ่นสีเทาเข้มที่เหนียวและละเอียดมากเหมือนปูนซีเมนต์ ไม่มีออกซิเจน ไม่มีชีวิต ไม่มีสัญญาณของสิ่งมีชีวิตใดๆ มีเพียงพื้นผิวของดวงจันทร์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงมาแล้วเป็นพันปี และความมืดมิดของท้องฟ้า มันเป็นความว่างเปล่าที่สุดในชีวิต”
Buzz มักเรียกความทรงจำนี้ว่าเป็น ‘ความเวิ้งว้างอันงดงาม’
หลังกลับมาจากดวงจันทร์ แม้ไม่ได้โด่งดังเมื่อเทียบ Neil แต่ Buzz ก็ถือเป็นวีรบุรุษคนหนึ่งเช่นกัน ขบวนพาเหรด เสียงโห่ร้องแสดงความยินดี คือสิ่งที่เขาได้รับทันทีหลังนำยานลงจอดบนพื้นโลก
หากแต่ชื่อเสียงอาจไม่ใช่สิ่งที่ชายผู้นี้ต้องการมากนัก Buzz บอกเสมอว่าชีวิตของเขาย่ำแย่ลงเรื่อยๆ
หลังเสร็จภารกิจ เขากลับมายังโรงเรียนของกองทัพอากาศอีกครั้ง ด้วยความหวังที่จะได้เป็นผู้บัญชาการโรงเรียน แต่สุดท้ายแล้วตำแหน่งนี้ก็ตกเป็นของเพื่อนร่วมรุ่น ซึ่งเป็นลูกชายนายพล Buzz จึงถูกส่งไปดูแลนักบินฝึกหัดอวกาศแทน
แต่ที่น่าตลกคือ เขาไม่เคยเป็นนักบินฝึกหัดอวกาศมาก่อน หลังทำหน้าที่นี้ได้ระยะหนึ่งก็ตัดสินใจลาออก
ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องงานเท่านั้น ชีวิตส่วนตัวของเขาก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน เมื่อแม่ของเขาฆ่าตัวตาย แม้ไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่ Buzz สันนิษฐานว่า สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากที่เขากลายเป็นคนมีชื่อเสียง จนครอบครัวไม่อาจแบกรับความกดดันนี้ได้
การสูญเสียแม่ทำให้ Buzz กลายเป็นคนซึมเศร้า ติดเหล้า รวมถึงต้องหย่าร้างกับภรรยา ชีวิตเขาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง จนต้องไปทำงานเป็นพนักงานขายรถ
หลังชีวิตดิ่งเหวจนเกือบถึงที่สุด ถึงขั้นเมาจนพยายามทำลายประตูห้องของแฟนสาว กระทั่งแฟนสาวขู่จะยุติความสัมพันธ์ เขาเริ่มกลับมาตั้งสติได้ และคิดว่าหากยังคงปล่อยให้ตัวเองมีสภาพเช่นนี้ต่อไป สุดท้ายแล้วอาจไม่เหลืออะไรเลย
ในที่สุดเมื่อปี 2521 Buzz จึงตัดสินใจหยุดดื่มเด็ดขาด และกลับมาทำงานด้านอวกาศอีกครั้งที่ University of North Dakota โดยหนึ่งในนั้นคือการพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์ที่ชื่อว่า Buzz Aldrin’s Race Into Space
ถึงวันนี้ Buzz ยังมีความฝันเกี่ยวกับการพัฒนากิจการอวกาศอีกมากมาย เช่นการส่งมนุษย์ไปสำรวจดาวอังคาร รวมถึงการส่งพลเรือนไปยังอวกาศ แม้ว่าเขาจะตระหนักดีว่า บางทีสิ่งเหล่านี้อาจไม่สำเร็จในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ก็ตาม
“ผมไม่ได้มีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ ผมผ่านความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชีวิต แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องอยู่กับมันให้ได้”
ปล. 1 Buzz Aldrin เป็นมนุษย์คนแรกที่ถ่ายภาพเซลฟีในอวกาศ
ปล. 2 ชื่อตัวละคร Buzz Lightyear ในภาพยนตร์ Toy Story ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Buzz Aldrin คนนี้นั่นเอง
ผมไม่ได้มีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ ผมผ่านความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชีวิต แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องอยู่กับมันให้ได้
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมือง อย่างสร้างสรรค์ และเข้าใจถึงปัญหาของพื้นที่อย่างแท้จริง
นักข่าวโทรทัศน์คนแรกของเมืองไทย ผู้นำเสนอภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สู่สาธารณะจนกลายเป็นบุคคลล้มละลายอยู่นานหลายปี
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
รู้จักกับหน่วยทหารที่ไม่ธรรมดา มนุษย์กบ กับภารกิจสำคัญเพื่อช่วยชีวิตผู้ประสบภัย
ฝันอันยิ่งใหญ่ของเจ้าชายหนุ่มที่ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อการสร้างโรงพยาบาลศิริราช ให้สามารถเป็นที่พึ่งของคนไทยได้อย่างแท้จริง
นักธุรกิจเพื่อสังคมรุ่นใหม่ที่ทำงานเรื่องคนพิการ ผู้ก่อตั้ง ‘กล่องดินสอ’ ที่สร้างสรรค์กิจกรรมและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.