ยุวรัตน์ กมลเวชช : ตำนาน ดรีมทีม กกต. ผู้ยกระดับการเลือกตั้งไทย

<< แชร์บทความนี้

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง นอกจากการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองที่ดุเดือดแล้ว บุคคลอีกกลุ่มที่ทุกคนเฝ้าติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด ก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เพราะพวกเขามีหน้าที่สำคัญคือ จัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม และโปร่งใสมากที่สุด

กกต.ถือเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นในยุคที่มีการปฏิรูปการเมืองไทย เมื่อปี 2540 หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นว่า กระทรวงมหาดไทยที่ทำหน้าที่มาตลอดจะปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ ในเมื่อบ่อยครั้งรัฐมนตรีผู้คุมกระทรวงก็คือ หนึ่งในผู้เข้าแข่งในสนามเสียเอง

ทว่าเริ่มแรก ทุกคนต่างตราหน้าว่า กกต. คือ ‘เสือกระดาษ’ ไม่มีทางจะคุมการเลือกตั้งได้แน่นอน

กระทั่งเมื่อ 5 เสือ กกต.ชุดแรก ได้ลงปฏิบัติหน้าที่จริง ทั้งการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภาครั้งแรก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี 2544 ทุกคนจึงตระหนักว่าพวกเขาคือ ของจริง และกลายเป็นดรีมทีม ที่ทุกคนยกย่องเรื่อยมา

และ กกต.คนสำคัญที่กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทุกคนนึกถึง แม้ไม่ได้ทำหน้าที่ประธานก็ตาม คงต้องยกให้ ยุวรัตน์ กมลเวชช อดีต กกต.ฝ่ายจัดการการเลือกตั้ง

เพราะชายผู้นี้ครบเครื่องทั้งเรื่องบู๊และบุ๋น แถมมีประสบการณ์คุมเลือกตั้งมาโชกโชน รวมทั้งยังมีส่วนให้ใบเหลือง ใบแดง มาแล้วนับไม่ถ้วน จนหลายคนได้เป็นเพียงแค่ ‘ว่าที่’ ผู้แทนเท่านั้น

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนมาร่วมย้อนความทรงจำถึงชายผู้มีส่วนช่วยยกระดับการเลือกตั้งไทยให้ได้มาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น

มือโปรการเลือกตั้ง

คงไม่ผิดหากจะบอกว่า อ.ยุวรัตน์ คือ นักจัดการเลือกตั้งมืออาชีพ

เพราะเขาคลุกคลีกับหน้าที่นี้มาตั้งแต่อายุ 24 ปี จนอายุล่วงเลยถึง 70 ปีเลยทีเดียว

อ.ยุวรัตน์เป็นลูกหม้อมหาดไทย รับราชการเป็นปลัดอำเภอตั้งแต่อายุ 19 พอปีถัดมาก็ได้เลื่อนชั้นเป็นนายอำเภอ โยกย้ายมาหลายจังหวัด จนสุดท้ายก็มาประจำอยู่ที่อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดมุกดาหาร)

แต่ไม่รู้ว่า เพราะโชคชะตาหรือผู้ใหญ่เห็นหน่วยก้านดี จึงดึงตัวจากภูธรมาอยู่ส่วนกลาง รับหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกวิจัย และกองงานการเลือกตั้ง ดูแลการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร เรื่อยมาตั้งแต่ปี 2499

“ตอนนั้นผมอายุได้ 24 ปีเอง โดยคุณวงศ์ ช่อวิเชียร เป็นหัวหน้าฝ่ายอำนวยการการเลือกตั้งได้มอบหมายให้ผมดูแลการเลือกตั้ง ผมเองก็มีประสบการณ์มาบ้างจากการทำงานในส่วนท้องถิ่น อีกอย่างผู้หลักผู้ใหญ่คงเห็นว่า ผมทำงานแล้วไม่สร้างปัญหา”

หากแต่ อ.ยุวรัตน์ได้อยู่ดูแลการเลือกตั้งเพียงไม่กี่ครั้ง เขาก็ได้รับทุนให้ไปเรียนต่อปริญญาโท ด้านบริหารรัฐกิจ ที่ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา น่าแปลกตรงว่า ตอนที่เขาไปอยู่เมืองนอกนั้น เป็นช่วงที่เมืองไทยร้างราจากการเลือกตั้งพอดี หลังรัฐบาลสฤษดิ์-ถนอม ครองอำนาจอยู่เกือบสิบปี

กระทั่งเมื่อกลับมาถึงเมืองไทยราวปี 2511 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ประกาศใช้ อ.ยุวรัตน์ จึงได้หวนกลับมาทำงานเดิมอีกครั้ง

เหตุผลสำคัญที่ทำให้อาจารย์ต้องทำงานนี้อยู่ตลอด เพราะงานเลือกตั้งเป็นภารกิจที่ไม่ค่อยมีคนอยากทำ เนื่องจากงานหนัก ยุ่งยาก แถมยังต้องรับมือกับกลเม็ดกลโกงสารพัดอย่าง ทั้งซื้อสิทธิ์ขายเสียง แจกข้าวของ ข่มขู่ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่สำคัญพอทำอะไรไม่ได้ คนจัดเลือกตั้งก็ต้องกลายเป็นผู้รับเคราะห์ ถูกกระแสสังคมกระหน่ำอย่างหนัก

“สมัยนั้นไม่มีอำนาจที่จะไปทำอะไร มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งอย่างเดียว จะบอกว่าใครทุจริตหรือไม่เป็นเรื่องของศาล ก็ส่งขึ้นศาลแล้วก็ว่ากันอีกที เลือกตั้งทุกครั้งก็มีการทุจริตทุกครั้ง แล้วคุณก็รู้ว่าการทุจริตมันไม่มีหลักฐานแน่นอนหรอก”

แต่ถึงจะมีข้อจำกัดมากมาย อาจารย์ก็พยายามเรียนรู้และเข้าใจ เพื่อให้เท่าทันเหลี่ยมกลโกงสารพัดวิชาที่ถูกงัดมาใช้ ซึ่งข้อได้เปรียบหนึ่งที่อาจารย์มีคือ การที่เขาสนิทสนมและคุ้นเคยกับนักการเมืองแทบทุกพรรค อย่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็เป็นนักเรียนรุ่นร่วมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็มีความสัมพันธ์แบบเครือญาติ เพราะลูกชายของอาจารย์ไปแต่งงานกับคนในตระกูลนั้น หรือแม้แต่คนของพรรคประชาธิปัตย์ อาจารย์ก็เคยบอกว่ากินเหล้าด้วยกันบ่อยๆ เพราะคุยสนุกที่สุด

แต่ถึงอย่างนั้น หลักการหนึ่งที่อาจารย์ยึดไว้ในใจคือ คนที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ต้องเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ ต้องไม่รู้จักบุญคุณคน ไม่รู้ความรักของเพื่อน และต้องทำตัวไม่รู้จักกับใคร เพื่อจะได้รักษาหลักการและการทำงานให้เที่ยงธรรมที่สุด

.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยพูดรู้ไหม ยุวรัตน์เป็นคนของใคร ไปถามนักการเมืองดูซิว่า มีใครไม่รู้จักยุวรัตน์บ้าง เพราะผมทำงานเกี่ยวกับการเลือกตั้ง คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาทุจริตกันอย่างไรถ้าคุณไม่เข้าไป เสมือนว่าไม่เข้าถ้ำเสือจะได้ลูกเสือได้อย่างไร แต่การที่ผมรู้จักพวกเขาไม่ได้หมายความว่าต้องช่วยเหลือให้เขาทำผิด ผมอยู่มหาดไทยมานาน หลายคนรู้ว่าผมเป็นอย่างไร ตั้งแต่ทำงานไม่ว่าที่ไหน เขาจะรู้กันหมด ถ้าคุณทำล้ำเส้นแล้วคุณไม่ต้องมาพูดกับผม

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังมีโอกาสเดินสายไปสัมผัสการเลือกตั้งในประเทศต่างๆ ทั่วโลกว่า มีรูปแบบการจัดการอย่างไร และนำกลับมาใช้ในประเทศไทย เพราะหลายคนมักคิดว่า การจัดเลือกตั้งนั้นง่าย แต่ความจริงแล้วมันยาก เนื่องจากมีเรื่องให้ต้องคิดและจัดการมากมาย 

อย่างเมื่อปี 2531 อ.ยุวรัตน์ ในฐานะรองอธิบดีกรมการปกครอง ต้องทำงานตั้งแต่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครว่ามีสัญชาติไทยหรือเปล่า ซึ่งกรมการปกครองก็ต้องไปขอความร่วมมือไปยังกรมวิชาการ เพื่อแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไว้เป็นการเฉพาะ คอยให้คำแนะนำและตอบข้อหาแก่ทางจังหวัดต่างๆ รวมถึงประสานงานไปยังพรรคการเมืองว่ามีปัญหาอะไรอยากปรึกษาหารือบ้างไหม ตลอดจนจัดทำแผนป้องกันการทุจริต โดยให้เหล่านายอำเภอ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นมือไม้ในการควบคุมสถานการณ์

ที่สำคัญคือให้ทางจังหวัดคัดเลือกประชาชนมาทำหน้าที่ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ หน่วยละ 5 คน รวมถึงรับสมัครอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตย คอยสอดส่อง พฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจของเจ้าหน้าที่ แล้วนำมาเปิดเผยต่อสาธารณชน เป็นต้น

แม้สุดท้ายกระบวนการดังกล่าวอาจจะสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง ในฐานะเครื่องมือสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง

อ.ยุวรัตน์ รับหน้าที่เป็นมือจัดเลือกตั้ง ทั้งระดับเล็ก ระดับใหญ่เรื่อยมา รวมแล้วกว่า 20 ปี โดยอาจจะมีเว้นวรรคบ้างช่วงที่ไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด และอธิบดีกรมแรงงาน จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี 2537 พร้อมกับตั้งใจที่จะวางมือจากหน้าที่จัดเลือกตั้งตลอดไป 

แต่แล้วโชคชะตาก็กำหนดให้เขาต้องกลับมาทำงานเดิมอีกครั้ง

รวมทีมตำนานดรีมทีม กกต.

ในปี 2540 เป็นอีกปีที่การเมืองไทยเติบโตสุดขีด หลังรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนประกาศใช้ เกิดการปฏิรูปการเมืองหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือระบบเลือกตั้ง เกิดการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรก เกิดระบบเลือกตั้ง ส.ส. โดยใช้บัตร 2 ใบ แต่ที่สำคัญสุดคือ การเปลี่ยนบทบาทผู้ดูแลการเลือกตั้งจากกระทรวงมหาดไทย มาเป็นองค์กรอิสระที่ชื่อว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการ 5 คน

แต่เป็นธรรมดาขององค์กรใหม่เพิ่งตั้งไข่ ที่มีเรื่องให้จัดการเต็มไปหมด

คำถามสำคัญคือ แล้วใครที่จะเหมาะสมมารับตำแหน่งสุดท้าทายนี้

หลังจากคัดสรรคนได้ประมาณ 1 เดือน ในที่สุดสมาชิกวุฒิสภาก็ได้เลือกผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คนมารับตำแหน่ง ประกอบด้วย อ.ธีรศักดิ์ กรรณสูต อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง และศาลอาญาธนบุรี, อ.สวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา, อ.โคทม อารียา เลขานุการองค์กรกลางการเลือกตั้ง, อ.วิสุทธิ์ โพธิแท่น อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสุดท้ายก็คือ อ.ยุวรัตน์ นั่นเอง

ความจริงแล้ว อ.ยุวรัตน์ไม่ได้ตั้งใจที่จะลงสมัครคัดเลือกเป็น กกต. แต่ถูกขอร้องแกมบังคับจากผู้ใหญ่ที่นับถือให้มาช่วยชาติ ด้วยเห็นว่า คนที่เคยทำงานด้านนี้จริงๆ จังๆ ในเมืองไทยมีน้อยมาก

“ข้อแรกการเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งนั้นเป็นครั้งแรก ไม่ว่าใครจะมาดูแลการเลือกตั้งต้องนั่งเทียนทั้งนั้น จึงต้องอาศัยประสบการณ์ ซึ่งผมเองก็มี ผ่านงานด้านนี้มาเยอะ ข้อสองผู้ใหญ่ก็ขอร้องถามว่า ถ้าผมไม่ทำใครจะทำ ถามว่ายุวรัตน์ คุณเป็นหนี้แผ่นดินไหม ผมเองก็เป็นหนี้เยอะอยู่เมืองนอกมา 10 กว่าปี ข้อสามผมคิดว่า เราจะปฏิรูปการเมืองได้อย่างไร ถ้าเราเลือกตั้งไม่สำเร็จ และสุดท้ายผมไม่ถือว่าการเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตยเท่านั้น แต่เป็นการป้องกันประเทศในปัจจุบัน ให้เขาใช้หัวแม่มือ เลือกคนที่ไม่โกงเข้าไป.. ตอนนั้นผมก็ไม่คิดว่าจะได้รับเลือกหรอก เพราะมีผู้อาวุโสหลายท่าน ซึ่งแต่ละท่านในอดีตต่างก็มีตำแหน่งสูงกว่าผมทั้งนั้น ผมเองมีตำแหน่งเล็กที่สุด และก็มีแผลด้วย”

หลังมีประกาศแต่งตั้ง อาจารย์ได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านบริหารการเลือกตั้ง ควบคุมการเลือกตั้งทุกระดับ ตั้งแต่ ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น ไปจนถึงการเลือกตั้งในต่างประเทศ

ทว่า ถึงจะมีประสบการณ์ก็ใช่ว่า การทำงานนี้จะง่ายดาย เนื่องจาก กกต.กับกระทรวงมหาดไทย นั้นไม่เหมือนกัน ทั้งอำนาจ บุคลากร งบประมาณ ลองคิดดูง่ายๆ แค่ที่ทำงานกว่าจะลงตัวก็ต้องโยกย้ายมาแล้วไม่รู้กี่หน แถมยังต้องขอยืมตัวเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานๆ อื่น จนกระทั่งได้คนมาทำงานหลักๆ ครบถ้วน 

เพราะฉะนั้นหัวใจที่ทำให้ กกต.ทำงานสำเร็จลุล่วงคือ ต้องประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ให้เป็น ให้ทุกคนเข้ามาช่วยงานอย่างเต็มที่ ที่สำคัญต้องคิดเสมอว่า กกต.ทำงานให้ประชาชน ไม่ได้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลเหมือนช่วงที่การเลือกตั้งอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย

แน่นอนวิธีทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ก็ต้องเอาชนะกลวิธีทุจริตต่างๆ ซึ่งจุดอ่อนอย่างหนึ่งของสังคมไทยที่ต้องเอาชนะให้ได้ คือ การก้าวข้ามบุญคุณ หรือความแค้นต่างๆ

“ธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์ประหลาด เกิดขึ้นมาต้องมีคนเลี้ยง ต้องพึ่งพาคนอื่น ถึงเป็นสังคมพึ่งพา เมื่อเป็นสังคมพึ่งพา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็แข่งกันระหว่างมนุษย์ แข่งกันมาก เมื่อแข่งกัน มันก็คือการเอาชัยชนะ หมายถึงอยากให้คนมาพึ่ง แทนที่จะไปพึ่งคนอื่น อันนี้ต่างหากที่ทำให้เกิดการทุจริต มีบุญคุณ อะไรเกิดขึ้น ยิ่งคนไทยเราเป็นคนที่กตัญญู สิ่งเหล่านี้ยิ่งพอกพูน”

เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือการออกกฎระเบียบกติกาที่ชัดเจน เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกคน รวมถึงผู้ที่เข้ามาช่วยปฏิบัติงาน จะได้รู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ ทำแบบนี้แล้วจะผิดกฎหมาย และเป็นพฤติกรรมที่จะส่อไปในทางทุจริต

“ในการเลือกตั้งจะต้องมีคู่มือในการปฏิบัติงาน ไม่อย่างนั้นคุณจะหลง คุณอาจจะขาดตอนไป เพราะคุณต้องจัดการทำให้คนลงคะแนน 40 ล้านคนภายใน 7 ชั่วโมง คู่มือนี้มันจะบอกรายละเอียดทั้งหมด ตั้งแต่ต้นจนจบว่าต้องทำอะไรบ้าง ที่สำคัญงานของการเลือกตั้ง มีทุกสาขาไปหมด คุณไม่สามารถจะสร้างผู้เชี่ยวชาญใน กกต. ได้ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะส่งบัตรเลือกตั้งไปสถานทูต จะต้องทำอย่างไรบ้าง มันเกี่ยวข้องตั้งแต่โรงพิมพ์ มาที่ไปรษณีย์ กระทรวงการต่างประเทศที่ควบคุมอะไรต่างๆ จะต้องปิดผนึก เซ็นชื่อกำกับไปรษณีย์ ส่งไปดอนเมืองก็เข้าไปกับคาร์โก เพราะฉะนั้นคุณจะเห็นว่า ต้องละเอียดหมด และข้อสำคัญที่สุด คนที่มาช่วยงานคุณไม่ใช่ข้าราชการประจำ ทำแล้วเขาก็ลืม”

นอกจากการวางหลักให้คนทำงานแล้ว กกต.ชุดนี้ยังได้สร้างนวัตกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ เพื่อให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ใช้หีบกระดาษมาแทนหีบเหล็ก เพราะโอกาสที่คนจะโกงหรือแอบใส่บัตรทีหลังทำได้ยากกว่า เริ่มใช้หมึกปั้มนิ้วหัวแม่มือ ป้องกันการวนคนมาเลือกตั้งซ้ำ มีการเซ็นชื่อที่ต้นขั้วของบัตรเลือกตั้ง จัดทำเอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร จัดคูหาให้คนมาเลือกตั้งล่วงหน้า รวมถึงเปิดโอกาสให้คนไทยในต่างแดนเลือกตั้งได้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

แต่ถึง กกต.ชุดนี้จะช่วยวางรากฐานการเลือกตั้งของเมืองไทยหลายเรื่อง พวกเขาก็ยังถูกมองว่าเป็นเสือกระดาษอยู่ดี

เส้นทางใบเหลือง-ใบแดง

4 มีนาคม 2543 คือวันประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 200 คน แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ การเลือกตั้งครั้งนี้ยังเป็นบทพิสูจน์องค์กรอิสระน้องใหม่อย่าง กกต.ว่าจะมีความศักดิ์สิทธิ์เพียงใด

ด้วยความเป็นมือใหม่ ทำให้ กกต.ต้องรับมือกับปัญหาสารพัด ตั้งแต่คำจำกัดความเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัคร ซึ่งปรากฏว่า กกต.กับศาล ตีความไม่เหมือนกัน และส่งผลให้ อ.วิสุทธิ์ ซึ่งเป็น กกต.ฝ่ายพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ แสดงความรับผิดชอบขอลาออกจากตำแหน่ง

แถมยังต้องเผชิญกับกลโกงที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น แจกพระเพื่อเป็นสิริมงคล ส่งผีไปเลือกตั้ง ทำให้คนมีสิทธิ์ตัวจริงไม่ได้ลงคะแนน ขู่ตัดสิทธิ์ว่าถ้าไม่เลือกเขาจะโดนทำร้ายบ้าง ยกเลิกสิทธิการรักษาในโรงพยาบาลบ้าง หรือแม้แต่บอกว่าจะเอาถนนลาดยางที่เคยทำไว้ให้คืนก็ยังมี

นอกจากนี้ ยังต้องอธิบายให้สังคมทราบว่า การเลือกตั้ง ส.ว.นั้นเป็นอย่างไร เพราะไม่เหมือนการเลือกตั้ง ส.ส.ที่แล้วมา ซึ่งประชาชนสามารถกาได้ 1-3 เบอร์ แต่การเลือกตั้ง ส.ว.นั้น แต่ละคนเลือกได้แค่เบอร์เดียว ต่อให้ในจังหวัดนั้นจะมีจำนวน ส.ว. เป็นสิบคนก็ตาม

แม้จะยุ่งยากเพียงใด แต่ กกต.ก็สามารถผ่านพ้นปัญหาต่างๆ มาได้ด้วยดี ที่สำคัญยังมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์อย่างล้นหลามถึง 30 ล้านคน จากผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 42 ล้านคน นับเป็นความสำเร็จที่สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยตื่นตัวเรื่องการเมืองมากเพียงใด

ทว่า สิ่งที่ทำให้คนไทยจดจำ กกต.ชุดนี้ได้ดีที่สุดคือ การสั่งเลือกตั้งใหม่ ในรายที่มีพฤติกรรมหรือหลักฐานส่อเค้าว่าทุจริต เพราะตั้งแต่มีการเลือกตั้งในเมืองไทยมา ไม่เคยมีมาก่อนที่ผู้ชนะจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภา และเปลี่ยนภาพลักษณ์ของ กกต.จากเสือกระดาษ ให้กลายเป็นพยัคฆ์ติดปีก

โดยรอบแรก กกต. สั่งแขวนผู้ชนะมากถึง 78 คน แล้วก็สั่งเลือกตั้งซ่อมมาเรื่อยๆ ในบางจังหวัด ยิ่งจังหวัดอุบลราชธานีต้องเลือกตั้งใหม่ถึง 5 รอบ เพราะฉะนั้นกว่าจะได้สมาชิกวุฒิสภาครบ 200 คนก็กินเวลาไปถึง 4 เดือนเต็มเลยทีเดียว กระทั่งนิตยสาร Asiaweek ยกย่อง กกต.ของไทยว่า เป็นองค์กรเพื่อการปฏิรูปการเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย ประจำปี ค.ศ.2000

จากความสำเร็จในการจัดเลือกตั้ง ส.ว. กกต.ชุดนี้ยังต้องรับผิดชอบในการจัดเลือกตั้ง ส.ส.ตามระบบใหม่ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ซึ่งรอบนี้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเป็นครั้งแรก เลือกพรรคใบหนึ่ง เลือกคนอีกใบหนึ่ง แถมระบบการเลือกตั้งก็เปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นเขตใหญ่ ก็กลายเป็นเขตเล็ก เขตละคน เพื่อให้ไปเป็นตามหลักการที่ว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน

ว่ากันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ยุ่งยากไม่แพ้กัน แต่ด้วยประสบการณ์จากการเลือกตั้ง ส.ว.ก็ทำให้พวกเขาผ่านพ้นไปได้  โดย กกต.ได้นำนวัตกรรมที่หลายคนเรียกว่า ใบเหลือง-ใบแดง มาใช้ โดยหากผู้สมัครรายใดได้ใบแดงก็จะถูกตัดสิทธิ์ ต้องออกจากการเลือกตั้งครั้งนั้นไป ซึ่งผลปรากฏว่า รอบนั้น กกต.ได้แจกใบแดงไปถึง 15 ใบ และใบเหลืองอีก 71 ใบ

แน่นอนการใช้มาตรการไม้แข็งแบบนี้ สิ่งสำคัญคือ กกต.ต้องได้รับความเชื่อถือจากประชาชน ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกโจมตีว่าเป็นการกลั่นแกล้ง หรือรังแกผู้สมัครได้

กกต.จึงให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมมากที่สุด ทุกอย่างต้องเป็นมติเอกฉันท์ หากไม่รับรองหรือตัดสิทธิ์ผู้สมัครรายใดก็ต้องมีหลักฐาน ซึ่งบางครั้งก็อาจจะสาวไปไม่ถึงตัวผู้สมัครโดยตรง แต่ก็สามารถยืนยันได้ว่า ชัยชนะที่ได้มานั้น เกิดจากการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต

“การทำงานต้องมีหลัก มติที่ออกมาต้องคล้ายคำพิพากษาศาลฎีกา คือใช้เป็นบรรทัดฐานได้ และต้องไม่เปิดเงื่อนเวลา เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า กกต.รุ่นผม ถ้าไม่จบจะไม่ออกจากห้องประชุม เหมือนเลือกโป๊ป (สมเด็จพระสันตปาปา) เพราะถ้าปล่อยให้ออกไป มันจะมีข้อครหาตามหลังว่าคุณทุจริตกัน อะไรกัน เพราะมันจะต้องแถลง ดังนั้นมันต้องทีเดียวเลย ต้องไม่ทิ้งระยะ ตีสองก็ต้องไปปลุกขึ้นมา

“พอออกปั๊บ คุณต้องแถลงเลย เพราะคนไทยชอบในการอวดอ้าง อวดบารมี ถ้าเว้นไว้เสร็จเที่ยงคืนตีสองแล้วไปแถลงข่าว 10 โมงเช้า ก็จะมีคนเอาช่องว่างนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น เขาก็เรียกลูกบ้าน เรียกหัวคะแนน เฮ้ยไม่ต้องกลัวเอาต่อนะ เพราะรู้แล้วว่าได้เหลือง อย่างเก่งก็เหลือง เดี๋ยวจากนั้นก็ยกหูโทรศัพท์คุยกับกรรมการแต่ละคน บางคนมาบอกว่า เฮ้ย! เพื่อนห้ามแดงนะ ต้องใบเหลืองนะ พวกนั้นก็กลัว ตรงนี้พอเกิดเรื่องขึ้นมา ก็ทำให้เกิดปัญหาอย่างที่เห็น”

ที่สำคัญพวกเขาไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะช่วงเลือกตั้งเท่านั้น เพราะหากปรากฏหลักฐานเพิ่มเติม ก็ยังสามารถตามไปสอยทีหลังได้ โดยสมาชิกรัฐสภารายนั้นจะต้องคืนเงินเดือน เงินเพิ่มเติมใดๆ ให้แก่หลวงทั้งหมดอีกด้วย 

ผลจากการทำงานเชิงรุกของ กกต.ชุดดรีมทีม ได้เปลี่ยนหน้าฉากของการเมืองจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะนักการเมืองเองก็เริ่มตระหนักถึงการหาเสียงอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น รวมทั้งยังช่วยยกระดับการเมืองไทยไปสู่ความโปร่งใส และเป็นการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง

คนเป็น กกต. ต้องเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ ต้องไม่รู้จักบุญคุณคน ไม่รู้ความรักของเพื่อน และต้องทำตัวไม่รู้จักกับใคร

ยุวรัตน์ กมลเวชช : ตำนาน ดรีมทีม กกต. ผู้ยกระดับการเลือกตั้งไทย

กกต.คือคนของประชาชน

แม้ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จะกำหนดวาระของ กกต.ไว้ที่ 7 ปี แต่สำหรับชุดแรก พวกเขาได้ทำหน้าที่เพียง 3 ปีครึ่งเท่านั้น เนื่องจากมีที่มาจาก ส.ว.ชุดแต่งตั้ง

ทว่า ด้วยผลงานที่เฉียบขาดบวกกับความเชื่อมั่นที่ประชาชนมอบให้ ส่งผลให้กระแสสังคมเรียกร้องให้ กกต.ชุดดรีมทีม โดยเฉพาะ อ.ยุวรัตน์ ลงสมัครอีกรอบ แต่เขาเลือกที่จะปฏิเสธ พร้อมกับบอกว่า หากหาคนไม่ได้จริงๆ เขาถึงจะไปลงสมัคร

แต่แม้จะวางมือแล้ว อาจารย์ก็ยังรับบรรยาย และเขียนบทความเรื่องการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง 

สิ่งหนึ่งที่อาจารย์มักสะท้อนเสมอคือ เมื่อการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ เรื่องของการแข่งขัน โอกาสที่จะปราบทุจริตให้หมดไปย่อมเป็นเรื่องยาก

เพราะฉะนั้นสิ่งจำเป็นสำหรับคนกลาง อย่าง กกต. ก็คือ ความชัดเจน ความโปร่งใส พร้อมให้ตรวจสอบได้ตลอดเวลา เพราะต้องไม่ลืมว่า กกต.ต้องทำงานกับประชาชน จึงต้องยึดประชาชนเป็นหลัก

ที่สำคัญคือความยุติธรรม เพราะการเลือกตั้งเป็นแค่วิธีหนึ่งที่จะทำให้ได้คนเข้าไปทำงาน ไม่ใช่วิธีการให้ได้คนดีเข้าไปในสภา เพราะฉะนั้นต่อให้ผู้สมัครแต่ละคนจะใหญ่โต ยากดีมีจนแค่ไหน หากมีคุณสมบัติครบถ้วนก็ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ด้วยมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งหากทำแบบนี้ได้ก็ช่วยลดปัญหา และความขัดแย้งต่างๆ ในสังคม

แม้วันนี้ อ.ยุวรัตน์จะจากไปแล้ว แต่สิ่งที่เขากับ กกต.ชุดแรกได้วางรากฐานก็ยังคงเป็นแบบอย่างและบรรทัดฐานของการเมืองไทยตลอดไป พร้อมกับความหวังที่จะเห็นการเมืองที่ดี เพื่อจะนำพาประเทศไทยไปสู่สังคมที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสืออนุสรณ์งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ นายยุวรัตน์ กมลเวชช
  • หนังสือ 15 ปี กกต. บนเส้นทางประชาธิปไตยไทย
  • นิตยสาร Hi-class ปีที่ 17 ฉบับที่ 192 เดือนพฤษภาคม 2543
  • นิตยสารหญิงไทย ปีที่ 26 ฉบับที่ 605 ปักษ์หลังเดือนธันวาคม 2543
  • หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ปีที่ 17 ฉบับที่ 9287 วันที่ 15 มิถุนายน 2531
  • เว็บไซต์คมชัดลึกออนไลน์
  • รายการ Newsy สถานีโทรทัศน์ช่อง บางอ้อ แชนเนล

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.