ปิง เจริญศิริวัฒน์ : DA’VANCE ครูสอนพิเศษที่ทำให้เด็กไทยนับแสนสนุกกับภาษาไทย-สังคม

<< แชร์บทความนี้

ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่ถ้าพูดถึง อาจารย์ปิง เจริญศิริวัฒน์ แห่ง DA’VANCE ภาพที่หลายคนนึกถึงก็คือ ครูภาษาไทย-สังคมศึกษา ที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าสนุกๆ ที่เรียกเสียงหัวเราะ รวมทั้งยังมีวิธีการสอนที่เรียบง่าย เน้นความเข้าใจ กระชับ และตรงประเด็น แถมหลายคนยังบอกว่าอาจารย์เก็งข้อสอบแม่นมาก ส่งผลให้ลูกศิษย์หลายต่อหลายคน สมหวัง สอบติดคณะที่อยากเรียนได้ตามที่ตั้งใจ

แต่ที่มากกว่านั้นคือ สายสัมพันธ์ที่ไร้กาลเวลากับลูกศิษย์ สัมผัสได้ตั้งแต่ทางเดินขึ้นบันไดไปสู่ห้องเรียน ซึ่งเต็มไปด้วยรูปของอาจารย์ปิงกับนักเรียนเต็มผนัง ทั้งการ์ดอวยพรวันเกิด หรือจดหมายแสดงความขอบคุณ บางคนแม้เรียนจบไปแล้วหลายปี ก็ยังแวะเวียนมาเยี่ยมเยียน พูดคุย ปรึกษาปัญหาชีวิตกับอาจารย์ สะท้อนถึงความผูกพันอันลึกซึ้ง ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และ The Cloud จึงถือโอกาสนี้พาทุกคนไปพูดคุยกับอาจารย์ปิง ถึงเรื่องราวชีวิต ความฝัน ความทุ่มเท และความรักในการสอน ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้

อ่าน : อาจารย์ปิง DA’VANCE ครูสอนพิเศษภาษาไทยสังคม ที่พาลูกศิษย์กว่าแสนชีวิตสู่รั้วมหาวิทยาลัย ที่ https://readthecloud.co/davance/

แต่ก่อนจะไปเต็มอิ่มกับเรื่องราวของอาจารย์ปิง และ DA’VANCE เรามีเรื่องสนุกๆ ที่คุณอาจไม่รู้มาแบ่งปันกันก่อน

1. อาจารย์ปิงอยากเป็นครูมาโดยตลอด สมัยเด็กก็เคยแจกขนมให้เด็กแถวบ้าน เพื่อให้มาเรียนหนังสือกับตัวเอง ช่วงมัธยมก็ติวหนังสือให้เพื่อนๆ อยู่เป็นประจำ ความตั้งใจในการเป็นครูคือต้องการช่วยเหลือผู้อื่น เพราะมองว่าการเรียนไม่รู้เรื่องนั้นเป็นความทุกข์ ซึ่งบางทีมาจากคนสอนอธิบายเนื้อหาให้ยากเกินไป ทั้งที่ถ้าเปลี่ยนวิธีพูด ก็สามารถทำให้เข้าใจได้ง่ายกว่านั้นมาก 

2. ถ้าไม่ได้เป็นครู ก็มีอีก 2 อาชีพที่คิดไว้ตั้งแต่เด็กว่าอยากทำ คือ ทนายความ เพราะจะได้เป็นตัวกลางในการอธิบาย ช่วยเหลือลูกความที่พูดไม่เป็น พูดแทนโจทก์หรือจำเลยได้ อีกอาชีพหนึ่งคือ พิธีกร เพราะอยากนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ให้ออกมาสนุกและน่าสนใจ เวลานั่งดูโทรทัศน์อาจารย์ก็มักคิดว่า ถ้าเป็นตัวเองจะพูดหรือยิงคำถามกับแขกรับเชิญแบบไหน ถึงทำให้คนดูอยากติดตาม

3. ช่วงที่เรียนอยู่ชั้น ม.5 อาจารย์ปิงเคยวางแผนจะสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ เพราะทางโรงเรียนขอร้องให้อยู่ต่ออีกปี เนื่องจากต้องการให้เป็นตัวแทนไปแข่งขันชิงรางวัล ในปีนั้นอาจารย์ยังได้ช่วยติวรุ่นพี่และเพื่อนหลายคนให้สอบติดไปก่อน ส่วนตัวเองถึงสอบเข้าได้ในปีต่อมา  

4. ระหว่างทำข้อสอบเอนทรานซ์วิชาภาษาอังกฤษ เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย อาจารย์ปิงเกิดหลับไปโดยไม่รู้ตัว อาจเพราะเป็นช่วงบ่าย ลมกำลังพัดเย็นๆ ก่อนจะตื่นมาอีกทีใกล้หมดเวลา ส่งผลให้ต้องกาข้อสอบอีกหลายสิบข้อที่ยังไม่ได้ทำ ด้วยวิธีทิ้งดิ่งหรือกาข้อเดียว แต่ถึงอย่างนั้น อาจารย์ก็ยังสอบผ่านเข้าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นตัวเลือกแรกได้อยู่ดี

5. อาจารย์ปิงเปิดโรงเรียน DA’VANCE ตั้งแต่ยังเป็นเฟรชชี่ในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะอยากช่วยสอนให้เพื่อนที่เอนทรานซ์ไม่ติด น้องเพื่อน ตลอดจนเพื่อนของน้องเพื่อน ตอนแรกมีอยู่ไม่กี่คนก็สอนกันในห้องเล็กๆ ที่บ้านแถวเยาวราช ใช้โต๊ะปิงปองครึ่งตัวเป็นโต๊ะเรียน พอเรียนเสร็จก็เล่นปิงปองกันต่อ ตอนหลังห้องขยายใหญ่ขึ้น พวกลูกศิษย์จึงอาสาช่วยกันลงทุนซื้อโต๊ะ กระดาน อุปกรณ์มาให้เพื่อแสดงความขอบคุณ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์ภูมิใจมาก

6. DA’VANCE เป็นคำภาษาฝรั่งเศส ออกเสียงว่า ดาว้องก์ แปลว่า ก้าวหน้า เป็นคำเดียวกับ ADVANCE ในภาษาอังกฤษ เพียงแค่สลับตัว A กับ D และใส่เครื่องหมายเบื้องหลังของคำนี้มาจากที่น้องสาวของอาจารย์ถูกครูที่โรงเรียนลงโทษให้คัดเพราะเขียนผิด พออาจารย์ปิงถามถึงเสียงอ่านและความหมายก็รู้สึกว่าน่าสนใจ จึงนำคำนี้มาเป็นชื่อโรงเรียน เพราะดูไม่เป็นวิชาการเหมือนกับที่อื่นซึ่งมักใช้คำว่า Academy โดยอาจารย์ปิงอยากให้ชื่อโรงเรียนมีความคล้ายกับชื่อพิพิธภัณฑ์ ที่ยิ่งนานวันยิ่งมีค่า และเวลาออกเสียงแล้วรู้สึกว่าเพราะดี

7. ปกติหนังสือหรือเอกสารการเรียนทั่วๆ ไป มักพิมพ์ด้วยกระดาษปรูฟสีน้ำตาล เพราะราคาไม่แพง ควบคุมต้นทุนได้ง่าย แต่สำหรับอาจารย์ปิงแล้วอยากให้หนังสือเรียนของ DA’VANCE ออกมาดูน่าเรียน น่าเก็บไว้ จึงเลือกใช้กระดาษปอนด์ที่มีเนื้อสีขาวสะอาดตา ถึงแม้ค่าจัดทำจะสูงกว่าก็ไม่เป็นไร และยังตั้งใจออกแบบปกให้มีความสวยงาม ถือมาเรียนแล้วดูเก๋

8. นอกจากหนังสือเรียนแล้ว อาจารย์ปิงยังเคยเขียนหนังสือเล่าเรื่องส่วนตัวและประสบการณ์ชีวิตสนุกๆ อีก 2 เล่ม คือ จากกระดานสู่กระดาษ และคือ..เรื่องมันมีอยู่ว่า แล้วก็ยังมี ร้อยข้อสอบใส่กรอบ ซึ่งเป็นหนังสือวิเคราะห์ข้อสอบ โดยทุกเล่มต่างขายดิบขายดีเป็น Bestseller ที่พิมพ์หลายรอบเลย มากกว่านั้นยังเคยจัดทอล์กโชว์ของตัวเองชื่อ ดวลไมค์ในฝันเป็นจริง ที่ภัทราวดีเธียเตอร์อีกด้วย

9. เวลาเลือกชมภาพยนตร์หรือละคร อาจารย์ปิงจะไม่เลือกรับชมเรื่องที่เกี่ยวกับการสอน เพราะกลัวว่าจะจำเนื้อหาที่มาจากจินตนาการแต่งเติมหรือความคิดเห็นของคนทำ มาบอกกับนักเรียน ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ เช่น ถ้ามีละครขุนช้างขุนแผนก็จะไม่ดู แต่เลือกอ่านหนังสือมากกว่าเพราะในฐานะครูควรสอนจากต้นฉบับ ยกเว้นแต่เรื่องนั้นมาจากการจินตนาการทั้งหมด และไม่เกี่ยวกับการสอนเลย เช่น แฮรี่พอตเตอร์ ก็สามารถรับชมได้อย่างเพลิดเพลินโดยไม่มีปัญหา    

10. มีนักเรียน DA’VANCE หลายคน ที่ครอบครัวอาจไม่ได้มีฐานะ แต่ก็ตั้งใจอยากมาเรียนให้ได้ อย่างครั้งหนึ่งอาจารย์เคยเห็นนักเรียนคนหนึ่งมาสมัครกับผู้ปกครอง พอถึงเวลาจ่ายเงิน เขาหยิบธนบัตร 20 บาท ปึกใหญ่ขึ้นมานับ จึงรับรู้ว่าเขาเก็บสตางค์ค่าเรียนมาด้วยตนเอง เมื่อเห็นความตั้งใจของเขาแล้ว ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกว่าต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ซึ่งสำหรับคนที่ลำบากจริงๆ หรือมีฐานะยากจน อาจารย์ปิงก็จะมีทุนการศึกษาให้ โดยมอบทุนอย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปีแล้ว

11. หลังทำงานสอนหนังสือที่ DA’VANCE ในเดือนธันวาคม 2544 อาจารย์ปิงก็ได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรออกรายการทีวีเป็นครั้งแรก ชื่อรายการว่า ‘เวทีคนเก่ง’ ทางสถานีโทรทัศน์ ITV อยู่ร่วมปีเต็มๆ โดยนอกจาก อาจารย์ปิงแล้ว ยังมีคุณครูจากสถาบันต่างๆ มาร่วมรายการด้วย ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์อุ๊-อุไรวรรณ ศิวะกุล แห่งเคมี อ.อุ๊ (สอนเคมี), รศ.สมัย เหล่าวานิชย์ แห่งโรงเรียนสมัยวิทยา (สอนเลข), อาจารย์เผ่า-นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ แห่ง Applied Physics (สอนฟิสิกส์), อาจารย์ชัชชัย ตั้งธรรม แห่ง AC’CESS SCHOOL (สอนภาษาอังกฤษ) และ ผศ.ดร.สมาน แก้วไวยุทธ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สอนชีววิทยา)

12. ช่วงที่ DA’VANCE กำลังจะเปิดสาขาเชียงใหม่ อาจารย์ปิงไม่ได้แน่ใจว่าจะเปิดดีไหม จึงขึ้นไปไหว้สักการะครูบาศรีวิชัย พร้อมตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้ามาเปิดแล้วเป็นประโยชน์ ก็ขอให้ได้เห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม แล้วก็ลงมาสอนหนังสือที่กรุงเทพฯ เหมือนปกติ ซึ่งผลปรากฏว่า นักเรียนที่สอบได้ที่ 1 วิชาสังคมปีนั้นเป็นลูกศิษย์จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ทั้งที่ปกติมักจะผูกขาดอยู่ที่เด็กกรุงเทพฯ ก็ตัดสินใจยอมเปิดสาขาแรกที่ภาคเหนือ

13. ตอนที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 วันหนึ่งนักเรียน DA’VANCE หายไปครึ่งห้อง เพราะยกโขยงชวนกันไปแพ็คของช่วยผู้ประสบภัยกันอยู่ที่สภากาชาดไทย อาจารย์ปิงรู้สึกภูมิใจมาก ไม่ใช่ภูมิใจที่นักเรียนโดดเรียน แต่ภูมิใจที่พวกเขามีหัวใจที่อยากช่วยเหลือเพื่อนร่วมสังคม เพราะอาจารย์เชื่อว่า คนเราไม่ควรคิดถึงแต่ตนเอง

ดีใจที่มีเด็กอย่างนี้ เพราะเราเป็นมนุษย์ เราต้องพึ่งพากัน ไม่ใช่ตัวเองรอดคนเดียว แต่เราต้องรอดไปทั้งสังคม แล้วก็อยากเห็นนักเรียนของเราเป็นคนที่พยุงพ่อแม่ไปตลอด พยุงพี่น้องไปตลอด พยุงเพื่อนไปตลอด เพื่อให้ทั้งสังคมรอดไปด้วยกัน

14. ทุกวันนี้กิจวัตรของอาจารย์ปิงที่ทำแล้วมีความสุข นอกเหนือจากการสอน คือการออกกำลังกาย อาจารย์ชอบปั่นจักรยานอยู่ที่บ้าน ปั่นไปแล้วอ่านงานไปด้วย หรือบางครั้งก็ออกไปเดิน อีกสิ่งหนึ่งคือการสวดมนต์ ซึ่งเคยอยากสวดมานานแล้ว กระทั่งได้เริ่มทำจริงจังช่วงโควิดที่ออกจากบ้านไม่ได้ และกลายเป็นนิสัยที่ต้องสวดมนต์แผ่เมตตามาถึงทุกวันนี้

15. นิยามที่อาจารย์ปิงให้กับสถาบันที่ตัวเองก่อตั้งก็คือ “DA’VANCE เป็นสิ่งที่ครูรัก แล้วก็เป็นสิ่งที่เด็กๆ รักด้วย พูดง่ายๆ มันคือความรักนั่นเอง

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.