ครั้งหนึ่งบนถนนพลับพลาไชย ตรงข้ามศาลเจ้าหลีตี้เมี้ยว เคยมีคาเฟ่เล็กๆ ชื่อ Day/DM Cafe
ความพิเศษของที่นี่คือ นอกจากจะขายเครื่องดื่มแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้มาเยี่ยมเยือนที่มีปัญหาหรือสนใจเรื่องเพศ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดได้อย่างเสรี รวมทั้งยังมีสื่อความรู้ ตลอดจนกิจกรรมเวิร์กช็อปสนุกๆ ที่กล้าหยิบประเด็นละเอียดอ่อนของสังคม ทั้งภาพนู้ด ผ้าอนามัย หรือแม้แต่เซ็กซ์ทอย มานำเสนอได้อย่างลงตัว ด้วยหวังจะสร้างความเข้าใจและทัศนคติเรื่องเพศที่ถูกต้องและเหมาะสม
เพราะแม้สังคมไทยจะเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น สมรสเท่าเทียมจะได้รับการยอมรับ มีงานไพรด์ที่ยิ่งใหญ่และได้รับความสนใจไปทั่วโลก แต่ในอีกมุมหนึ่ง การล้อเลียน การดูถูก หยิบเรื่องเพศสภาพมาโจมตีก็ยังมีให้เห็นเป็นประจำ แถมบ่อยครั้งยังเกิดขึ้นภายในครอบครัวอีกต่างหาก
แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือ การขาดแคลนพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งเปรียบเสมือนสถานที่พักพิง ให้กำลังใจและให้คำปรึกษา เพื่อให้แต่ละคนก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตไปได้
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงชักชวน แต๋ม–วิสุทธิ์รัตน์ รุ่งนพคุณศรี และ เอช–ประติมา รักษาชนม์ คู่รักนักเพศวิทยา ผู้ก่อตั้ง Day/DM Cafe มาร่วมกันพูดคุยถึงความมุ่งมั่นที่จะลบล้างอคติเรื่องเพศที่ฝังแน่นมายาวนาน รวมถึงการผลักดันแนวคิดใหม่ๆ แม้ในวันที่ไม่มีหน้าร้านอีกแล้วก็ตาม เพราะภารกิจที่สำคัญกว่าคือ การทำให้ทุกคน ทุกเพศสามารถหยัดยืนและแสดงตัวตนในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี และเต็มไปด้วยความภูมิใจ
นอกจากเรื่องความตายแล้ว เรื่องเพศก็เป็นอีกหัวข้อที่แทบไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาสนทนา เพราะหลายคนมักมองว่าเป็นเรื่องทะลึ่ง เรื่องลามก ควรเก็บไว้ในใจเท่านั้น
บ่อยครั้งเวลาที่มีปัญหา แม้แต่การสื่อสารกับคนใกล้ชิดก็ยังลำบาก ส่งผลให้หลายๆ คนต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพัง ไม่รู้ว่าจะหาทางออกได้อย่างไร
อย่างเช่น แต๋มกับเอช คู่รักซึ่งคบหากันมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย
แม้จะเรียนมาคนละสาย เอชเป็นเด็กสายศิลป์ จบครุศาสตร์เอกศิลปศึกษา ส่วนแต๋มอยู่สายวิทยาศาสตร์ ศึกษาด้านวิศวกรรมอุตสาหการ แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคที่ขวางกั้น กระทั่งเมื่อเข้าสู่โลกของการทำงาน ทั้งคู่ต่างต้องรับมือกับความกดดัน จนกลายเป็นความเครียด และส่งผลกระทบมายังชีวิตประจำวัน หนึ่งในนั้นคือ การที่ไม่สามารถเติมเต็มความรักให้แก่กันได้ตามที่ใจคิด
ช่วงนั้นเองที่ทั้งคู่ได้รู้จักกับ ‘เซ็กซ์ทอย’ เป็นครั้งแรก
สำหรับวงการแพทย์ในหลายๆ ประเทศ มองว่า เซ็กซ์ทอยคือเครื่องมือช่วยบำบัดปัญหาทางเพศ สร้างความผ่อนคลาย และทำให้มีสุขภาพจิตดีขึ้น หากแต่ในประเทศไทย อุปกรณ์เหล่านี้คือของต้องห้าม เข้าข่ายลามก อนาจาร เป็นอันตรายต่อสังคมและศีลธรรม
เมื่อถูกปิดกั้นจากกฎหมาย โอกาสที่จะเรียนรู้และเข้าใจข้อดีข้อเสียเกี่ยวกับเซ็กซ์ทอยจึงมีน้อยมาก หลายคนต้องลักลอบ ต้องใช้อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ไม่กล้าบอกให้ใครรู้
ทั้งคู่เองก็อดสงสัยไม่ได้เหมือนกันว่า ของพวกนี้จะช่วยเยียวยาหรือแก้ปัญหาได้จริงไหม จนกระทั่งได้เซ็กซ์ทอยจากเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งพอใช้แล้วก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีพอสมควร
ครั้งถัดมาทั้งคู่จึงเริ่มหามาใช้ด้วยตัวเอง แต่คงเพราะไม่มีความรู้ใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้ได้ของไม่ตรงปก คุณภาพต่ำ แถมข้อมูลประกอบการใช้งานใดๆ ก็ไม่มีเลย กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แต๋มกับเอชอยากเรียนรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์เหล่านี้มากกว่านี้
“เราไม่ได้ศึกษาเพื่อตัวเองหรือครอบครัวเท่านั้น แต่เรารู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมต้องรู้ เพราะแม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานแบบไหน เรายังทราบ แต่กับเซ็กซ์ทอยซึ่งใช้กับตัวเองด้วยซ้ำ กลับไม่รู้ว่าใช้งานยังไงถึงจะปลอดภัย” เอชอธิบาย
ยิ่งเมื่อศึกษาก็ยิ่งเข้าใจ จนทราบว่าเซ็กซ์ทอยนั้นมีทั้งประโยชน์และโทษ หากไม่รู้จักใช้อย่างถูกวิธีก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
หลังจากนั้นทั้งแต๋มและเอชก็กลายมาเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มคนที่มีปัญหาแบบเดียวกัน แต่ที่มากกว่านั้นคือ คำถามที่เข้ามาไม่ได้มีเพียงเรื่องของเล่นเท่านั้น เพราะบางคนส่งข้อความมาขอความคิดเห็นในประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศด้วย
“หลายคนบอกว่าไม่เคยมีความสุขทางเพศเลย ไม่รู้จุดเลย บางคำถามที่เจอ เราก็รู้สึกว่าทำไมเขาไว้ใจเราขนาดนั้น เช่นถ้าแฟนขอเปิดกล้องตอนอาบน้ำด้วยได้ไหม บางคนมีปัญหาเรื่องโรคก็มาปรึกษาเรา ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน” แต๋มเล่าบ้าง
ครั้งถัดมาทั้งคู่จึงเริ่มหามาใช้ด้วยตัวเอง แต่คงเพราะไม่มีความรู้ใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้ได้ของไม่ตรงปก คุณภาพต่ำ แถมข้อมูลประกอบการใช้งานใดๆ ก็ไม่มีเลย กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แต๋มกับเอชอยากเรียนรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์เหล่านี้มากกว่านี้
“เราไม่ได้ศึกษาเพื่อตัวเองหรือครอบครัวเท่านั้น แต่เรารู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมต้องรู้ เพราะแม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานแบบไหน เรายังทราบ แต่กับเซ็กซ์ทอยซึ่งใช้กับตัวเองด้วยซ้ำ กลับไม่รู้ว่าใช้งานยังไงถึงจะปลอดภัย” เอชอธิบาย
ยิ่งเมื่อศึกษาก็ยิ่งเข้าใจ จนทราบว่าเซ็กซ์ทอยนั้นมีทั้งประโยชน์และโทษ หากไม่รู้จักใช้อย่างถูกวิธีก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
หลังจากนั้นทั้งแต๋มและเอชก็กลายมาเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มคนที่มีปัญหาแบบเดียวกัน แต่ที่มากกว่านั้นคือ คำถามที่เข้ามาไม่ได้มีเพียงเรื่องของเล่นเท่านั้น เพราะบางคนส่งข้อความมาขอความคิดเห็นในประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศด้วย
“หลายคนบอกว่าไม่เคยมีความสุขทางเพศเลย ไม่รู้จุดเลย บางคำถามที่เจอ เราก็รู้สึกว่าทำไมเขาไว้ใจเราขนาดนั้น เช่นถ้าแฟนขอเปิดกล้องตอนอาบน้ำด้วยได้ไหม บางคนมีปัญหาเรื่องโรคก็มาปรึกษาเรา ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน” แต๋มเล่าบ้าง
ทว่าด้วยคำถามที่เข้ามาเริ่มยากขึ้นเรื่อยๆ เช่นคนหนึ่งมีอาการ Vaginismus ซึ่งภายหลังทั้งคู่ถึงทราบว่าคือภาวะช่องคลอดหดเกร็ง แต่ในเวลานั้นไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินมาก่อน บวกกับไม่ได้เรียนสายสุขภาพโดยตรง สิ่งที่ทำได้ก็คือ การค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเท่านั้น จนมาเจอบทความต่างๆ ซึ่งพออ่านไปเรื่อยๆ ก็พบว่าตัวเองก็มีอาการแบบนั้นเหมือนกัน
“อาการนี้ก็ตามชื่อเลย คือกล้ามเนื้อช่องคลอดมันหดแล้วก็เกร็ง ซึ่งผลกระทบจะมี 2 แบบคือ สอดใส่อะไรไม่เข้าเลย ไม่ว่าจะนิ้วหรือผ้าอนามัยแบบสอด เพราะมันกดบีบไว้ อีกแบบคือสอดใส่เข้าไปแล้วเจ็บ ซึ่งมันสลับๆ กันไปได้ แต่ของคนนั้นเขาเป็นแบบสอดใส่อะไรไม่เข้าเลย อีกอย่างหนึ่งคือ พอเราไม่ได้จบหมอ ไม่ได้แม่นเรื่องกายวิภาคขนาดนั้น เวลาตอบคำถามก็ใช้วิธีค้น Google ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่า ข้อมูลที่นำมาตอบนั้นถูกหรือเปล่า ถ้าเขาทำตามแล้วเกิดไม่ปลอดภัย เราก็รู้สึกผิดไปด้วย” แต๋มอธิบายต่อ
พอดีเวลานั้นทั้งคู่ได้ทราบข้อมูลจากเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีหลักสูตรเพศวิทยาคลินิก (Sexology Course) เปิดให้บุคคลทั่วไปรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจได้เรียนรู้เรื่องเพศศึกษาในมุมมองที่ลึกขึ้น บวกกับการได้รับชมซีรีส์เรื่อง Sex Education ซึ่งมีตัวละครตัวหนึ่งเป็นนักบำบัดทางเพศ ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจสมัครเรียน
แม้จะเป็นคอร์สสั้นๆ เพียง 91 ชั่วโมง แต่กลับเปิดโลกและมุมมองให้แต๋มกับเอชอย่างมาก
เพราะเนื้อหาที่สอนนั้นครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เช่นเรื่องกายวิภาค การดูแลสุขภาพทางเพศ การให้คำปรึกษา เช่น การพูดคุยกับบุตรหลานอย่างไรถึงจะไม่เป็นการตีตราหรือตัดสินจนเกินไป รวมถึงการได้พบปะเพื่อนๆ ที่มีเพศหลากหลาย มาเล่าประสบการณ์ของตัวเอง เช่นกลุ่ม Transgender ซึ่งพอข้ามเพศแล้ว ต้องเผชิญกับปัญหาหรือความทุกข์อะไรบ้าง และมีวิธีก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างไร
แต่ที่มากกว่านั้นคือการได้เข้าใจความหมายของ Non-binary ชัดเจนขึ้น ทำให้ทั้งสองคนเข้าใจถึงสถานภาพของตัวเองว่า แท้จริงแล้วก็ไม่ได้ผิดแผกไปจากคนทั่วไปเลย
“ก่อนหน้านี้เราไม่มีคำตอบให้ตัวเอง เพราะเรารู้สึกว่าคำที่มีอยู่ทั้งทอม เลสเบียน ไบเซ็กชวลนั้นไม่ได้เข้ากับตัวเอง คือหาคำอธิบายให้สังคมไม่ได้ คือชีวิตคนเราไม่ได้อยู่แค่กับตัวเอง แต่เราอยู่กับคนหมู่มาก มีคนข้างนอกที่คอยถามเราอยู่นั่นแหละว่าเราเป็นอะไร เพศไหน ต้องการใส่กระโปรงหรือเปล่า เป็นทอมใช่ไหม ผมสั้นด้วย แต่เราก็ชอบดูเกิร์ลกรุ๊ปนะ” เอชพูดในฐานะ Non-binary คนหนึ่ง
นอกจากนี้ ด้วยความที่ทั้งคู่คลุกคลีกับเซ็กซ์ทอยมาพอสมควร รศ.ดร.นพ.อติวุทธ กมุทมาศ ประธานหลักสูตร จึงชักชวนให้ทั้งคู่นำความรู้มาแบ่งปันในห้องเรียนด้วย ผ่านหัวข้อ Sex Innovation หรือนวัตกรรมเกี่ยวกับเรื่องเพศ
“ความจริงเซ็กซ์ทอยก็เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดหนึ่ง ซึ่งแต่ละอย่างก็จะเหมาะสมสำหรับบางคน ถ้าเป็นมุมของหมอก็เน้นไปยังเรื่องการรักษา หรือบรรเทาอาการ เช่นบางคนมีปัญหาไม่เสร็จ ไม่แข็ง ก็จะมีอุปกรณ์บางตัวที่ช่วยแก้ปัญหานั้น โดยไม่ต้องกินยา คือเขามีความเชื่อว่าเส้นประสาทสามารถเรียนรู้ได้ แล้วความเสียวมาจากการกระตุ้นปลายประสาท การที่บางคนไม่รู้สึกเสียว อาจเป็นเพราะไม่เคยสำรวจเรื่องเพศของตัวเองเลย และพอแต่งงานแล้วสามีหรือภรรยาทำให้แล้วไม่รู้สึกอะไร เลยเกิดความคิดว่าเราผิดปกติหรือเปล่า แต่ความจริงแล้ว เป็นเพราะก่อนหน้านั้นเส้นประสาทไม่เคยเรียนรู้เลย หลายคนก็เลยเชื่อว่าเซ็กซ์ทอยเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ช่วยกระตุ้นสัมผัสได้ตรงเป้า” แต๋มขยายความ
ผลจากการได้ศึกษาและถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่น ทำให้เกิดคำถามกับตัวเองว่า ทำไมถึงมีคนเพียงไม่กี่คนที่มีโอกาสได้รับความรู้นี้ แถมส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์อีกต่างหาก สำหรับทั้งคู่แล้ว เพศศึกษาเป็นความรู้ที่เข้าถึงยากมากในเมืองไทย แม้ระดับมัธยมศึกษาจะพอมีการสอนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์เท่าใดนัก คนจำนวนมากจึงต้องหันไปพึ่งพิงโลกอินเทอร์เน็ต ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ
“เราเชื่อว่าความรู้เหล่านี้มันไม่ได้ยากเกินความสามารถของคนทั่วไปต่อให้ไม่ใช่หมอก็ตาม แต่ถ้าเราไม่รู้แล้วทำพลาด ก็อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยอีกเป็นร้อยพันอย่าง” เอชอธิบาย
“คำถามหนึ่งที่เราเจอบ่อยมากคือ ยาคุมกินยังไง สวมถุงยางแล้วจะมีสิทธิท้องไหม ซึ่งปกติถ้าเราไม่ได้เรียนสายวิทย์ เราคงไม่เคยได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากลไกของประจำเดือนเป็นอย่างไร” แต๋มเติมข้อมูล
“เรื่องเพศมีมิติที่กว้างกว่าที่ทุกคนเข้าใจ มันไม่ใช่แค่เรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ยังโยงไปถึงเรื่องต่างๆ ในชีวิต แต่บางทีเราไม่ได้สังเคราะห์ว่ามันเกี่ยวอย่างไร ทำให้เรารู้สึกว่าไกลตัว อย่างเวลาเรียกร้องเรื่องสมรสเท่าเทียม เราต้องเรียกร้องเพื่อคนอื่นเหรอ ไม่ใช่หรอก จริงๆ นี่คือสิทธิที่คุณควรได้รับ หากวันหนึ่งต้องแต่งงานกับใครสักคน หรือบางคนโดนบอกว่าเป็นทอม เราอาจจะชินหรือเบื่อหน่ายแบบปล่อยไปเถอะ แต่ถ้ามองโดยละเอียด คำคำนี้สามารถใช้ทำร้ายคนได้ แถมคนที่พูดนั้นยังคิดไปเองว่า ไม่น่าเจ็บหรอก บอกว่าเป็นกะเทย ไม่แมน เขาก็ดูไม่เป็นอะไร ดูหัวเราะดี” เอชกล่าวสรุป
หลังจากได้รับประกาศนียบัตรเป็นนักเพศวิทยาคลินิก แต๋มกับเอชจึงตัดสินใจครั้งใหญ่ นำเงินเก็บมาเปิดร้านเล็กๆ หวังเป็นพื้นที่กลางให้ทุกคนมาร่วมพูดคุยและปรึกษาปัญหาเรื่องเพศ
Day/DM Cafe เปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 กลางย่านเยาวราช ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี โดยมีคำเชิญชวนให้ทุกคนได้มาพูดคุยกับนักเพศวิทยา
แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้แต๋มกับเอชเปิดคาเฟ่แห่งนี้ เกิดจากความรู้สึกว่ามีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับพูดคุยเรื่องเพศ เพราะหลังเรียนจบได้ไม่นานทั้งคู่เคยไปงานเสวนาซึ่งจัดในผับตอนกลางคืน มองมุมหนึ่งก็ถือว่าปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่สำหรับทั้งคู่แล้วกลับรู้สึกต่างออกไป เนื่องจากไม่ชอบความมืด เพราะความมืดนั้นน่ากลัว รวมทั้งไม่ชอบวงเหล้า ไม่ชอบกลิ่นบุหรี่ ทำให้สุดท้ายจึงไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมเท่าใดนัก
“เหมือนมีกรอบบางอย่างที่สังคมกำหนดมาแล้วว่า เรื่องเพศต้องคุยในผับ ในบาร์ ในที่มืด ในสถานที่อโคจร” เอชตั้งข้อสังเกต
“บางทีสถานที่อื่นอาจไม่ปล่อยเช่าให้กับคนที่จะมาคุยเรื่องนี้ ทำให้เรารู้สึกว่า หากไม่มีพื้นที่รูปแบบอื่นในการคุยแล้ว คนที่กลัวความมืด หรือคนที่แพ้ควันบุหรี่ ไม่ชอบเข้าบาร์ เขาก็จะไม่มีทางเข้าถึงได้เลย เพราะฉะนั้นเราเลยมาเปิดพื้นที่สว่างๆ มาคุยเรื่องเพศตอนกลางวันดีกว่า” แต๋มแสดงความเห็นบ้าง
แต่แน่นอน หากให้เปิดพื้นที่สำหรับพูดคุยเฉยๆ ทั้งคู่ก็คงไม่สามารถอยู่ได้ จึงปรับแผนมาเปิดร้านกาแฟควบคู่กันด้วย โดยเอชเลือกที่จะเปิดร้านในย่านกรุงเก่า เนื่องจากมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง จึงนับเป็นความท้าทายที่จะส่งต่อความคิดใหม่ๆ ออกไป และพอดีว่า น้าของเพื่อนกำลังปล่อยเช่าพื้นที่ชั้น 1 ของเยาวราช ทั้งคู่จึงตัดสินใจเลือกเปิดร้านตรงทำเลนี้
และที่น่าสนใจยิ่งขึ้นก็คือ ตัวร้านนั้นอยู่ไม่ห่างจากวงเวียน 22 กรกฎาคม ซึ่งเคยเป็นแหล่งโคมเขียวโคมแดงของหญิงงามเมืองในสมัยก่อน แถมละแวกเดียวกันยังมีวัดคณิกาผล ซึ่งสร้างโดยยายแฟง เจ้าสำนักโสเภณีคนดังในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงเท่ากับว่าที่นี่ตั้งอยู่บนพื้นที่ประวัติศาสตร์เรื่องเพศของกรุงสยามโดยบังเอิญ
ส่วนชื่อ Day/DM Cafe นั้น เอชกับแต๋มอธิบายว่า Day ก็หมายถึงเวลากลางวัน ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ดั้งเดิมของการเปิดร้าน ขณะที่คำว่า DM มาจาก Direct Message เพราะที่ผ่านมาผู้คนมักชอบส่งข้อความหลังไมค์มาปรึกษาเรื่องเพศอยู่เสมอ นอกจากนี้ Day/DM ยังพ้องเสียงกับ They/Them ซึ่งเป็นสรรพนามของ Non-binary อีกด้วย
สำหรับบรรยากาศของร้าน ทั้งคู่คิดว่าต้องทำให้ทุกคนรู้สึกเหมือนมาบ้านตัวเองหรือบ้านเพื่อน มีความปลอดภัย สามารถนั่งได้นานๆ โดยป้ายหน้าร้านเขียนว่า ‘Coffee, Tea, Consult พูดคุย ปรึกษาในพื้นที่ปลอดภัยกับเหล่านักเพศวิทยา’ ส่วนด้านในนั้นเต็มไปด้วยภาพศิลปะ หนังสือ ของตกแต่งกระจุกกระจิก บอร์ดความรู้ รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น ถ้วยอนามัย
เพราะนอกจากความสบายใจแล้ว ทั้งคู่ยังอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาทำกิจกรรม และสร้างองค์ความรู้เรื่องเพศที่เหมาะสม
ด้วยเหตุนี้ ในแต่ละเดือนจึงมีการจัดเวิร์กช็อป เชิญชวนผู้คนมาร่วมสนทนา แลกเปลี่ยนความเห็น โดยเวิร์กช็อปแรกคือ I’m not just a SEX toy เพื่ออธิบายว่า เซ็กซ์ทอยคืออะไร ใช้วัสดุแบบไหน หากต้องการใช้งานอย่างปลอดภัยต้องทำอย่างไร และนวัตกรรมนี้ของทั่วโลกเป็นแบบไหน โดยมีนักเพศวิทยาและแพทย์เฉพาะทางมาร่วมพูดคุย
“เวิร์กช็อปที่เราทำมีลักษณะเป็นกิจกรรมกึ่งทดลอง คือเรารู้สึกว่าสิ่งนี้สังคมต้องอยากรู้เหมือนเราแน่ๆ เราก็หยิบประเด็นนั้นมาทำเป็นกิจกรรม โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก ด้วยความที่เราเป็นครูศิลปะมาก่อน ก็พยายามเอาศิลปะมาผนวกกับเรื่องเพศ เพราะที่ผ่านมาคนมักใช้ศิลปะเป็นเครื่องมืออธิบายเรื่องเพศ เช่นภาพนู้ด เราก็ทำเป็น Nude Drawing Workshop แล้วก็ยังมีกิจกรรมเทสี เพื่อสื่อสารเรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือการปั้นรูปอวัยวะเพศ ซึ่งถือเป็นเบสิกของงานศิลปะ
“ถัดมาก็เป็นความรู้ 100% มีตัวอย่างของมาให้ดู เช่น เวิร์กช็อปเรื่องเซ็กซ์ทอย เนื่องจากเราผลักดันเรื่องนี้อยู่แล้ว และคงไม่สามารถไปเช่าสถานที่อื่นเพื่อทำเรื่องนี้ได้ เราอยากให้ทุกคนได้จับได้สัมผัส เหมือนตอนที่เราไปสอนที่ธรรมศาสตร์ เรารู้สึกว่ามันน่าจะมีความหมายกับคนที่ต้องการ อีกประเด็นหนึ่งคือสอนจุดเสียว เพื่ออธิบายว่าร่างกายเรามีจุดเสียวตรงไหน คือเรามีทั้งทฤษฎีและก็ชวนทุกคนไปสำรวจร่างกายของตัวเอง
“ส่วนเวิร์กช็อปกลุ่มสุดท้าย เราจัดเป็นวงคุยแบบคุยไปเรื่อยเปื่อย แล้วแต่หัวข้อที่หยิบขึ้นมา เช่นนำภาพนู้ดขึ้นมาพูดคุยว่า เกิดอารมณ์อย่างไรบ้าง เพื่ออธิบายความลามกอนาจารว่ามันมีอยู่จริงไหม แล้วเกิดจากอะไรได้บ้าง ขณะเดียวกันเราก็หยิบคำที่กฎหมายใช้อย่าง หยาบช้า ต่ำทราม เลวทราม เป็นที่ไม่พึงประสงค์ของผู้มีศีลธรรมอันดีขึ้นมา แล้วก็เอางานที่ถูกด่าขึ้นมาอธิบาย เพื่อดูว่าขอบข่ายของศีลธรรมอยู่ตรงไหน แล้วศีลธรรมที่เกี่ยวกับเรื่องเพศนั้นทำร้ายคุณอย่างไรบ้าง” เอชฉายภาพเวิร์ปช็อปของร้าน
ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีการจัดนิทรรศการย่อยๆ ในประเด็นที่น่าสนใจ เช่น Moonblood Festival ซึ่งว่าด้วยเรื่องประจำเดือน เพราะหลายคนมักมองว่า ประจำเดือนเป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น แต่ความจริงแล้วเกี่ยวข้องกับทุกคน โดยเฉพาะคนที่อยู่รอบๆ ผู้ที่มีประจำเดือนด้วย จึงเป็นสิ่งที่เราควรทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อจะได้อยู่ร่วมในสังคมอย่างมีความสุข
เวลานั้น ทั้งคู่ได้ชักชวนกลุ่มเอ็นจีโอต่างๆ มาร่วมจัดกิจกรรม เช่น หิ่งห้อยน้อย ซึ่งขับเคลื่อนเรื่องผ้าอนามัย หรือมูลนิธิเอ็มเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งสนใจเรื่องประเด็นสิทธิแรงงานของผู้หญิง ไปจนถึงกลุ่มที่สามารถอธิบายเรื่องประจำเดือนของกลุ่ม Transgender ได้ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่น่าพอใจ
แม้ที่ผ่านมา สิ่งที่ Day/DM Cafe นำเสนอจะเป็นประเด็นใหม่ที่ท้าทาย แถมยังตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงอย่างเยาวราช แต่สุดท้ายผู้คนต่างเปิดรับ และไม่ได้มีกระแสต่อต้านอย่างที่แต้มกับเอชเคยหวั่นเกรง ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนเข้ามาถามไถ่ด้วยความสนใจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะที่นี่เป็นย่านการค้า ซึ่งต้องพบเจอผู้คนหลากรูปแบบอยู่แล้ว จึงพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ซึ่งทั้งคู่ก็พร้อมอธิบายเต็มที่ เพราะเป้าหมายของทั้งคู่คือ การสร้างความรับรู้ในเรื่องเพศให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้
แม้ Day/DM Cafe จะพร้อมเปิดพื้นที่คุยเรื่องเพศ แต่ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะกล้าเปิดใจถ่ายทอดเรื่องเหล่านี้อย่างเปิดเผย
นี่จึงเป็นความท้าทายที่เอชกับแต๋มต้องเผชิญ โดยเดิมทีทั้งคู่ไม่ได้วางเป้าหมายการทำงานไว้ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่อยากเปิดกว้างสำหรับคนทุกเพศทุกวัย
ทว่าในแง่ของความเป็นจริง คงเป็นไปไม่ได้ที่จะสื่อสารได้ครอบคลุมเช่นนั้น ทั้งคู่จึงปรับแผนเน้นไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นหลัก ส่วนหนึ่งเพราะการเปลี่ยนความคิดของคนรุ่นเก่านั้นยากกว่า ขณะเดียวกันหากคนรุ่นใหม่เข้าใจและตื่นตัว โอกาสที่จะกลายมาเป็นพลังขับเคลื่อน และชี้นำสังคมไปสู่ทิศทางที่แตกต่างก็ย่อมเป็นไปได้
คนที่เข้ามาที่นี่จะมีตั้งแต่คนที่รู้จักผ่านบทความต่างๆ ที่เคยมาสัมภาษณ์ทั้งคู่ บางคนก็เป็นเพื่อน บ้างก็ค้นเจอทางอินเทอร์เน็ต และมีไม่น้อยที่อยากดื่มกาแฟ แต่พอได้มาสัมผัสกับบรรยากาศ และได้พูดคุยกับเจ้าของร้านก็กลายเป็นลูกค้าประจำ
“ลูกค้าที่แวะเวียนมาบ่อยๆ มักเป็นผู้ชาย ทั้งที่ตอนแรกเราคิดว่าผู้หญิงหรือ LGBTQ+ จะเยอะกว่า แต่กลุ่มนี้กลับมาเฉพาะช่วงที่เขาทุกข์ใจ ไม่สบายใจ หรือในเวลาที่ทำกิจกรรม ขณะที่เพศกำหนดชาย เขาจะมาเมาท์มอยไปเรื่อย เหมือนเป็นพื้นที่ให้ได้คุยได้แลกเปลี่ยนความคิด” แต๋มวิเคราะห์ลูกค้า
ส่วนปัญหาที่เข้ามาปรึกษาก็มีหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนเรื่องใหญ่ โดยหัวข้อยอดนิยมที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องการตั้งครรภ์ เนื่องจากผู้หญิงจำนวนมากไม่พร้อมที่จะท้อง
“ในเมืองไทยพอผู้หญิงตั้งครรภ์แล้วมันกระทบทุกมิติเลย เช่นถ้าเรียนอยู่ก็เรียนต่อไม่ได้ หรือพออยู่ที่ทำงานก็อาจถูกกดดันจากนายจ้าง จนบางคนต้องออกจากงาน คือผลพวงนั้นเยอะมาก ที่สำคัญเวลาตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม คนที่จะถูกตำหนิมากสุดคือ ผู้หญิง ทั้งที่มีหลายความรับผิดชอบที่โอบรัดตรงนี้ เพราะฉะนั้นบ่อยครั้งที่ต่อให้กินยาคุมหรือใส่ถุงยางอนามัยแล้ว แต่หลายๆ คนก็ยังกลัวว่าตัวเองจะตั้งครรภ์อยู่ดี บางคนถึงขั้นมาถามให้แน่ใจด้วยซ้ำว่า ทำแบบนี้มีสิทธิจะท้องหรือเปล่า” แต๋มเล่าต่อ
“แน่นอนในแง่การให้ความรู้ เราคงไม่สามารถยืนยันว่ามันจะป้องกันได้แบบ 100% แต่อย่างน้อยสุด เราก็บอกได้ว่า คุณทำถูกแล้ว สบายใจได้ คือเราสร้างความมั่นใจให้เขา เพราะสำหรับผู้หญิงเขาต้องแบกรับความกลัวตลอดเวลา บางคนไม่กล้าซื้อที่ตรวจครรภ์มาตรวจ อีกอย่างหนึ่งคือ ถึงแม้เวลานี้ การทำแท้งจะถูกกฎหมายแล้ว แต่ก็ยังมีภาพจำผิดๆ ว่าห้ามทำ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่มีใครอยากตั้งครรภ์เพื่อไปทำแท้งหรอก” เอชช่วยเสริม
ด้วยเหตุนี้ คำปรึกษาที่มอบให้นอกจากการส่งกำลังใจแล้ว ยังต้องพยายามชี้ให้เห็นทางเลือกอื่นๆ ว่ามีอะไรบ้างเพื่อที่เขาจะได้มีเครื่องมือประกอบการตัดสินใจที่รอบด้าน และสามารถก้าวเดินต่อไปได้เอง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของคนที่ไม่เคยพบจุดสุดยอด แม้จะเคยมีเพศสัมพันธ์มาหลายครั้ง จนกระทั่งวันหนึ่งได้รู้จักกับเซ็กซ์ทอย ซึ่งผลจากการทดลองใช้ก็ทำให้เขาแก้ปัญหาได้สำเร็จ หรือแม้แต่ผู้ปกครองที่กังวลเรื่องเพศสภาพของบุตรหลาน เพราะต้องยอมรับว่า แม้หลายคนพร้อมเปิดรับความหลากหลายทางเพศ แต่พอเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวก็รับมือไม่ถูกเหมือนกัน
“ผู้ปกครองส่วนใหญ่เขารู้จักการเลี้ยงลูกแบบชายกับหญิง สังคมเราเป็นแบบนี้ ดังนั้นพอเจอแฟนลูกชายที่เป็นชายเหมือนกัน เขาก็ไม่รู้จะปฏิบัติตัวอย่างไร ลูกฉันเป็นชาย แล้วลูกเขาเป็นสาวหรือเปล่า คือมันเป็นความซับซ้อนของความคิดที่ไม่เคยเจอมาก่อน นอกจากนี้หากเป็นกรณีเด็กเล็ก พ่อแม่ก็จะถามว่า จะสอนเรื่องเพศกับลูกยังไง เรียนได้ตอนอายุเท่าไหร่ ซึ่งความจริงเรียนได้ตั้งแต่อนุบาล 2 แล้ว สื่อสารและบอกเขาดีๆ อย่าโกหก เช่นคนเราเกิดจากนกกระสา เพราะเขาก็ไม่เข้าใจอยู่ดี” เอชกล่าว
แต่ทั้งหมดนี้คงไม่มีสิ่งใดสำคัญเท่ากับการเปิดใจยอมรับความเป็นตัวเองให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องเพศ ทั้งเพศสภาพ ความรู้สึกทางเพศ หรือความต้องการทางเพศ เพราะสุดท้ายหากเราปฏิเสธหรือต่อต้านสิ่งเหล่านี้ ความรักที่จะมอบให้ตัวเองก็ย่อมลดลงไปด้วยเช่นกัน
“เรื่องเพศนั้นเกี่ยวข้องกับตัวเอง 100% เลย เพราะก่อนหน้านี้เป็นคนที่ไม่เคยสำรวจเรื่องเพศของตัวเองเลย เราไม่กล้าส่องกระจกดูร่างกายของตัวเองด้วยซ้ำ คิดว่ามันคือภาพโป๊ ไม่เห็นจำเป็นต้องดูเลย แต่วันที่ได้ลองครอบครองเซ็กซ์ทอยส์ และเริ่มศึกษาเรื่องนี้ เราเริ่มโอบรับความต้องการของตัวเอง เริ่มเรียนรู้พฤติกรรมความชอบของอวัยวะของตัวเอง มันทำให้เรายอมรับร่างกายของตัวเองมากขึ้น รักตัวเองมากขึ้น เพราะเราฟังร่างกายตัวเองอย่างแท้จริง” แต๋มถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเอง
ทั้งหมดนี้คือภารกิจของนักเพศวิทยา ในฐานะผู้ให้คำปรึกษาที่จะพาผู้คนก้าวข้ามปัญหาและสามารถหยัดยืนในสังคมแห่งนี้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี
เราอยากให้เรื่องเพศตั้งอยู่ท่ามกลางแสงแดด เป็นเรื่องที่ทุกคนพูดได้ สื่อสามารถทำเรื่องราวเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้ โดยไม่ต้องอ้อมค้อม เพราะเราเชื่อว่าสังคมในเวลานี้พร้อมจะสื่อสารเรื่องเพศแล้ว
หลังจากเปิด Day/DM Cafe มาได้เกือบ 2 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2567 แต๋มกับเอชก็ถึงคราวต้องอำลาร้านแห่งแรกด้วยเหตุจำเป็นทางธุรกิจของเจ้าของสถานที่
ถึงอย่างนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ทำให้ปณิธานที่อยากถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเพศไปสู่วงกว้างของทั้งคู่จางลงแต่อย่างใด
ด้วยตระหนักดีว่า ความเปลี่ยนแปลงย่อมต้องอาศัยเวลา ยิ่งหากประเด็นนั้นเป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในความเชื่อจากรุ่นสู่รุ่น ก็คงยิ่งต้องใช้แรงกายแรงใจมากกว่าเดิมหลายเท่าถึงจะสัมฤทธิผลได้
“การจะเปลี่ยนทั้งโครงสร้างของสังคมต้องใช้พลังเยอะมาก ไม่ใช่เรื่องที่คนคนหนึ่งจะสามารถทำได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้ในเวลานี้คือ ทำให้คนหวาดกลัวที่จะเรียนรู้เรื่องเพศน้อยลง และก้าวไปสู่ความเข้าใจว่า ฉันชอบแบบนี้ เพราะอะไร ตอบคำถามของตัวเองได้” เอชย้ำความตั้งใจ
“เราอยากให้เรื่องเพศตั้งอยู่ท่ามกลางแสงแดด เป็นเรื่องที่ทุกคนพูดได้ สื่อสามารถทำเรื่องราวเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้ ซึ่งตอนนี้กระแสการพูดเรื่องเพศก็ค่อยๆ เป็นที่ยอมรับ อย่างในปี 2566 เราก็ได้รับรางวัล Adman จากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย เพราะเราสื่อสารเรื่องเพศกับสาธารณะอย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม จำได้ว่าตอนนั้น เราถามเขาว่าทำไมถึงให้รางวัลหนูคะ เขาก็บอกว่าอยากให้สื่อต่างๆ ที่อยู่ในงานนั้นได้รับรู้เหมือนกันว่า สังคมพร้อมที่จะสื่อสารเรื่องเพศ” แต๋มช่วยเสริม
เพราะเมื่อสื่อพร้อมเดินหน้า โอกาสที่ผู้คนจะเติบโตไปด้วยกันก็ย่อมมีสูง และนำไปสู่การเปิดใจพูดคุยเรื่องเพศกับคนรอบข้างมากขึ้น ที่สำคัญยังช่วยลบล้างความเชื่อเดิมๆ ที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการให้ค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด
ส่วนเป้าหมายถัดไปที่ทั้งสองคนอยากไปให้ถึง เรื่องหนึ่งก็คือการเปิด Day/DM Cafe แห่งใหม่ เพราะสุดท้ายแล้ว พื้นที่ปลอดภัยที่เอื้อต่อการสนทนาก็ยังจำเป็นอยู่ โดยระหว่างนี้ก็มีการพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ เช่น ดูดวงเรื่องเพศกับนักเพศวิทยา โดยนำเรื่องเพศมาผูกกับโหราศาสตร์ แล้วก็ชักชวนให้ผู้เล่นถ่ายทอดเรื่องราวหรือปัญหาภายในจิตใจออกมา พร้อมให้คำแนะนำที่เหมาะสม
เช่นเดียวกับการผลักดันนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งบางเรื่องก็บรรลุผลเรียบร้อยแล้ว อย่างเช่นกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่อาจต้องรอให้สังคมเติบโตมากกว่านี้ เช่น การปลดล็อกเซ็กซ์ทอยจากบัญชีต้องห้าม หรือการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับคำนำหน้าชื่อ หรือแม้แต่การระบุข้อความลงในเอกสารราชการต่างๆ
แน่นอนสิ่งที่ทั้งสองคนทำได้คือ การผลิตเนื้อหาที่น่าสนใจเผยแพร่ทางออนไลน์ เข้าไปช่วยพัฒนาหลักสูตรสำหรับองค์กร หน่วยงานเอกชน โรงเรียนที่มีความต้องการต่อยอดข้อมูลความรู้เรื่องเพศ รวมถึงจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปและนิทรรศการในประเด็นต่างๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ตลอดจนเชื่อมร้อยผู้ที่สนใจร่วมกันให้เป็นหนึ่งเดียว ด้วยความหวังอยากให้สังคมแห่งนี้เป็นดินแดนแห่งความเท่าเทียม
เพราะผลลัพธ์ของความเท่าเทียมก็คือ ทุกคนได้มีความสุขแบบที่เป็นตัวเองอย่างแท้จริง
ปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 15 ชุมชนหรือเครือข่ายที่รวมพลังกันทำงานเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
Day/DM Cafe คือเครือข่ายชุมชนต้นแบบสร้างหลักประกันการมีสุขภาพดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย (SDGs ข้อที่ 3), ประเด็นสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุม เท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDGs ข้อที่ 4), ประเด็นบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน (SDGs ข้อที่ 5) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ที่ต้องบริหารงานภายใต้ข้อจำกัดมากมาย แต่เขาก็ไม่ท้อ เพื่อให้ประชาชนทุกเชื้อชาติสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม
เภสัชกรหญิง ผู้บุกเบิกยาสมุนไพรอภัยภูเบศร พร้อมฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากจะทำให้ปราจีนบุรีเป็นเมืองแห่งสมุนไพร
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
นักอนุรักษ์ทรัพยากรทะเล ผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อม และช่วยยังสื่อสารไปยังประชาชนว่า ทำไมเราถึงต้องทะเล
กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหมที่ทำงานขับเคลื่อนการอนุรักษ์คลองในพื้นที่ฝั่งธนบุรี
แรงบันดาลใจของเพื่อน 4 คนที่อยากช่วยแก้ปัญหาจราจรในเมืองกรุง จึงรวมตัวกันพัฒนาแพลตฟอร์มรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเพื่อให้ที่มีจุดหมายปลายทางใกล้เคียงกัน มาร่วมเดินทางด้วยกันได้
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.