แม้จะเกิดและเติบโตในอ่าวไทย แต่กว่าที่คนไทยส่วนใหญ่จะรับรู้ว่า บ้านเราก็มี ‘วาฬ’ กับเขาเหมือนกัน กลับต้องใช้เวลานานหลายปี
เพราะก่อนหน้านั้น ข้อมูลหรือองค์ความรู้ต่างๆ แทบไม่เคยปรากฏบนหน้าสื่อใดๆ เลย แต่ด้วยการรวมตัวของเครือข่ายอนุรักษ์ต่างๆ ก็ทำให้เรื่องราวของเพื่อนใต้ท้องทะเลไทยค่อยๆ ได้รับการพูดถึงในวงกว้าง และกลายเป็นสัตว์น้ำที่ทุกคนอยากสัมผัส อยากใกล้ชิด
ThaiWhales หรือ กลุ่มวาฬไทย คือหนึ่งในหัวหอกที่ขับเคลื่อนเรื่องวาฬบรูด้ามาตั้งแต่ปี 2554 โดยเกิดจากความสนใจของ แดง-ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ ช่างภาพโฆษณาและภาพยนตร์มือรางวัลแห่ง Film Factory ที่อ่านเจอข่าวร้ายเรื่องวาฬเกยตื้นถึง 4 ตัว ในเวลาไล่เลี่ยกัน
จากความสงสัย ส่งผลให้เขาตระเวนหาข้อมูลด้วยตัวเอง ถึงขั้นติดต่อขอนัดพบผู้เชี่ยวชาญของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แล้วลงทะเลไปสำรวจจนพบกับ ‘วาฬบรูด้า’ ตัวจริง เกิดความรัก ความผูกพัน จนนำไปสู่แรงบันดาลใจอยากให้คนไทยได้รู้จักกับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘วาฬไทย’ ในมุมมองเดียวกับเขาบ้าง
ตลอดสิบกว่าปี แดงไม่เพียงแต่ทำงานสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น หากยังมีบทบาทในการสื่อสารและกระจายความรู้เรื่องวาฬไทยรวมถึงสัตว์หายากอื่นๆ ผ่านชุมชนเครือข่ายออนไลน์ นิทรรศการ และภาพยนตร์สารคดี ด้วยความเชื่อที่ว่า ถ้าทุกคนได้รู้จักและเข้าใจโลกใต้น้ำอย่างลึกซึ้ง ก็จะกลายเป็นแนวร่วมสำคัญในการช่วยอนุรักษ์และปกป้องสัตว์ต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นวาฬ เต่ามะเฟือง หรือโลมาน้ำจืดที่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งต่างก็อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงถือโอกาสชักชวนผู้ก่อตั้ง ThaiWhales รวมถึง แพง-คมฉาย ธนะพานิช อีกหนึ่งกำลังหลักของกลุ่มวาฬไทย มาร่วมกันฉายภาพการทำงานกว่าทศวรรษ และความฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากให้ทะเลไทยกลายเป็นบ้านที่อบอุ่นปลอดภัยของสรรพสัตว์ตลอดไป
“ผมไม่เคยสงสัยตัวเองเรื่องความรักธรรมชาติ เพราะผมมองเห็นความพิศวงของสิ่งมีชีวิตต่างๆ มาตลอด”
แม้ไม่รู้ว่าอะไรคือเหตุผลดลใจ แต่แดงก็หลงใหลชีวิตของเพื่อนต่างสายพันธุ์ตั้งแต่วัยเยาว์
เขาชอบชมภาพยนตร์ทุกเรื่องที่มีสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง มีความสุขที่เห็นมด แมลง หรือจิ้งจกเคลื่อนตัวไปตามจุดต่างๆ ภายในบ้าน รู้สึกทึ่งเมื่อทราบข่าวว่าสัตว์ทะเลหรือฝูงนกอพยพจากซีกโลกหนึ่งมายังอีกซีก รวมทั้งเคยดำน้ำเพียงลำพังนาน 6 ชั่วโมง เพื่อซึมซับทัศนียภาพของโลกใต้ทะเล
“เวลาที่เราลงไปดำน้ำ ก็ได้พบสัตว์ทะเลเต็มไปหมด อย่างฉลามก็ยังว่ายผ่าน เราว่ามันก็น่ารักดีนะ ส่วนเรื่องวาฬ เหมือนเป็นความฝันมากกว่า เพราะตลอด 30-40 ปีมานี้ วาฬถือเป็นสัตว์ที่ครองใจผู้คนส่วนใหญ่ ยิ่งในฟุตเทจหรือสารคดีทั่วโลก ไม่มีใครที่ดูแล้วคิดว่ามันไม่น่ารัก ผมยังมีความฝันเลยว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากไปดูวาฬที่ตองกาสักครั้ง”
เวลานั้นความรับรู้เรื่องวาฬกับเมืองไทยค่อนข้างไกลตัว เพราะแทบไม่เคยมีใครพบเห็นตัวเป็นๆ จะมีก็แต่ซากโครงกระดูกวาฬที่เก็บตามวัดหรือชายฝั่งเท่านั้น กระทั่งเดือนสิงหาคม 2535 นิตยสารสารคดี นำเสนอบทความและภาพถ่ายของ ‘วาฬบรูด้า’ ณ หาดตุ้งกู จังหวัดชุมพร เป็นครั้งแรกของประเทศ ทำให้แดงเกิดความฝันว่า ไม่แน่วันหนึ่งเขาอาจจะได้พบกับพี่เบิ้มของท้องทะเลไทยกับเขาบ้าง
“ตอนปี 2545-2546 มีการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด แล้วคุณเจริญ วัดอักษร แกนนำเขาใช้เทคนิคที่ Soft เพื่อแสดงให้เห็นว่า ที่ตรงนี้ไม่ควรก่อสร้างโรงไฟฟ้า เรื่องหนึ่งคือ ทรายตรงบ่อนอกไม่เหมือนทรายที่พัทยาหรือบางแสน เวลาเหยียบลงไปปุ๊บจะเป็นโคลน ซึ่งเราก็มารู้ภายหลังว่าหาดโคลนนี่แหละที่สร้างสิ่งมีชีวิตต่างๆ ให้เกิดขึ้นมา แต่อีกเรื่องก็คือวาฬ ตอนนั้นผมขับรถคนเดียวจากกรุงเทพฯ ถึงประจวบคีรีขันธ์ 3-4 ครั้ง แล้วเขาก็เปิดคลิปให้ดู ก็จะเห็นวาฬโผล่ขึ้นมาอยู่ข้างเรือ เพียงแต่เรายังไม่ได้ทำอะไร เพราะลงไปก็ยังไม่เจอตัวสักที”
หากจุดเปลี่ยนที่ส่งผลให้แดงเข้ามาคลุกคลีกับวงการวาฬเต็มตัว เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 หลังจากที่เขาอ่านหนังสือพิมพ์ แล้วพบข่าวเล็กๆ ว่ามีวาฬบรูด้า 4 ตัว เกยตื้นตามจุดต่างๆ ทั้งบางปู สมุทรสาคร และระยอง ภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ แต่น่าแปลกที่จากนั้นก็ไม่มีรายละเอียดหรือผู้ที่จะมาอธิบายเหตุผลว่าโศกนาฏกรรมนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
แดงจึงเริ่มค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเอง แต่ปรากฏว่าในอินเทอร์เน็ตแทบไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับวาฬบรูด้าที่เป็นภาษาไทยเลย เขาจึงคิดว่าอาจจะถึงเวลาแล้วที่ต้องขยับตัวจริงจัง โดยมีแพง ผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ที่สนใจเรื่องสัตว์โลกเช่นเดียวกัน คอยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยอีกแรงหนึ่ง โดยแผนการที่แดงคิดไว้คือ อยากทำเว็บไซต์เพื่อศูนย์กลางการศึกษาเรื่องวาฬในประเทศไทย
“ผมคิดว่าตัวเองถึงช่วงสุกงอมพอดี เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้ใช้ความสนใจให้เป็นประโยชน์ ซึ่งพอลองคิดดูแล้วเศร้าใจ เพราะหากเราลองเอาวาฬ 4 ตัวไปกองไว้ที่บ้านใครสักคน รับรองว่าเดือดร้อนทั้งตำบล กลิ่นมันจะขนาดไหน นี่ยังไม่นับเรื่องเนื้อจะไปอยู่ตรงไหน จนรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องให้ความรู้และการศึกษาแก่ผู้คน พอดีน้องสาวผมเขาทำงานด้านไอทีอยู่แล้ว จึงคุยกันว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะทำเว็บไซต์ขึ้นมา แล้วอีกอย่างที่จำติดหัวได้คือ ผมมีนิตยสารสารคดีเล่มนี้อยู่ จึงเริ่มค้นข้อมูล พยายามหาผู้เกี่ยวข้องตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ไม่มี ดูตามวิทยานิพนธ์ก็ไม่มีเหมือนกัน ที่ใกล้เคียงหน่อยก็เป็นเรื่องโลมา”
สุดท้าย หลังค้นไปค้นมา จึงพบว่ากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีทีมงานที่ทำวิจัยเรื่องนี้อยู่ โดยเจอชื่อผู้เชี่ยวชาญอีก 2 คน คือ ดร.ตึก–กาญจนา อดุลยานุโกศล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน กับ หนึ่ง–สุรศักดิ์ ทองสุกดี แดงจึงโทรศัพท์ไปที่ ทช. แล้วก็บังเอิญ ดร.ตึก เป็นผู้รับสายพอดี จึงมีการนัดพบและขอข้อมูลกัน
ความจริงแล้ว การสำรวจเรื่องวาฬบรูด้าโดย ทช.นั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี 2549 โดย หนึ่งเป็นผู้นำทีมงานเริ่มสำรวจประชากรในอ่าวไทย จากนั้นก็ขยับขยายมาสู่การศึกษาและถ่ายภาพตำหนิวาฬบรูด้าเป็น Photo Identification กระทั่งปี 2553 ดร.ตึก จึงขอย้ายจากศูนย์วิจัยฯ ที่ภูเก็ต มาเป็นหัวหน้าทีมสำรวจอย่างเป็นทางการ
“ด้วยความที่เราเป็นช่างภาพเฉยๆ พอจะทำเรื่องการศึกษาก็อยากให้มันถูกต้องที่สุด เราจึงอยากมีคนที่สามารถพึ่งพาได้ จำได้ว่าตอนโทรศัพท์ไป คุณกาญจนากำลังออกเรือสำรวจอยู่พอดี ผมก็ขับรถไปหาที่สมุทรสาคร แกจึงยกทีมมาคุยด้วย ทำให้เราทราบว่าทางกรมฯ เขาก็เพิ่งเริ่มสำรวจเรื่องวาฬนี้เหมือนกัน อีกอย่างคือ ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครมาคุยจริงจังแบบนี้ ส่วนใหญ่เขาก็มาสัมภาษณ์นิดหน่อยว่าทำไมวาฬตาย แล้วก็หายไป แกก็คงรู้สึกว่าคนนี้มาแปลก เพราะผมอยากทำในระยะยาวด้วย
“ตอนนั้นแกเล่าให้ฟังว่า ปกติทีมจะออกสำรวจครั้งเดียว 5 วัน เพราะงบก็ไม่ได้เยอะ ผมจึงขอตามไปด้วยได้ไหม แกก็อนุญาตพร้อมกับให้เบอร์ไต้ก๋งมาด้วย ชื่อพี่จำรูญ พงศ์พิทักษ์ พอดีวันรุ่งขึ้นเป็นวันสงกรานต์ เราก็รอไม่ไหว ก็เลยขับรถไปบางตะบูน โทรหาพี่จำรูญ แกก็พาออกไปตามเส้นทางที่เคยพาทีมของกรมไป สรุปว่า ไม่เจอวาฬบรูด้าแต่เจอลูกโลมาตายแทน แล้วก็ช่วยเก็บซากให้เขาด้วย”
จากนั้นแดงก็ยังคงออกเรือสำรวจอย่างต่อเนื่อง แทบทุกช่วงที่พอมีเวลาว่าง จนได้เจอวาฬบรูด้าครั้งแรกในวันที่ 4 พฤษภาคม 2553 ก่อนที่จะได้มาร่วมคณะกับทีมงานของ ทช. ซึ่งช่วยเปิดโลกอย่างมาก ทั้งวิธีกำหนดพิกัด วิธีสังเกตพฤติกรรม วิธีถ่ายภาพ จนเข้าใจการทำงานของนักสำรวจอย่างถ่องแท้
แต่ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของแดง คือ เขามีประสบการณ์การถ่ายภาพมานานหลายทศวรรษ จึงนำกล้องถ่ายภาพยนตร์คุณภาพสูงเข้ามาใช้ถ่ายวาฬ ทำให้ภาพที่ออกมาสามารถถ่ายทอดพฤติกรรมต่างๆ ของวาฬได้ชัดเจนและละเอียดกว่าภาพที่ทีมงานของศูนย์วิจัยฯ ถ่าย เช่น ปกติวาฬจะอ้าปาก 5-10 วินาที ซึ่งพอแดงถ่ายภาพด้วยความเร็ว 100 เฟรมต่อวินาที ทำให้ได้ภาพแบบสโลว์โมชัน ส่งผลให้เวลาสังเกตตำหนิของวาฬแต่ละตัวทำได้สะดวกขึ้น แถมวิธีการนี้ยังช่วยให้กระบวนการทำ Photo ID หรือการจำแนกประชากรวาฬแต่ละตัวด้วยภาพถ่ายของศูนย์วิจัยฯ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
“เวลาผมดูสารคดีต่างประเทศ แล้วเห็นวาฬโผล่ขึ้นมาแบบสโลว์โมชัน เรารู้สึกตื่นเต้น ก็เลยอยากนำโมเดลนี้มาใช้กับงานบ้าง จำได้ว่าตอนไปฉายให้คุณกาญจนาดู แกก็บอกว่าวาฬคุณแดงทําไมช้าจัง คือต้องยอมรับว่าเวลานั้นทางกรมฯ มีแค่กล้องถ่ายภาพที่ยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เราจึงอยากแชร์ฟุตเทจที่เก็บรายละเอียดต่างๆ ของวาฬ จะได้เห็นว่าวาฬกระโดดขึ้นมายังไง เพื่อเป็นประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งต่อมาคุณกาญจนาก็ยังชวนผมไปทำหนังสือวาฬบรูด้าและอ่าวตัว ก. ซึ่งผมคิดว่าเป็นช่วงที่ดีมาก เพราะเราได้ประสานทั้งภาพนิ่ง ภาพยนตร์ และข้อมูล จนทำให้ความรู้เรื่องวาฬบรูด้าในเมืองไทยเริ่มต้นตั้งแต่นั้นมา”
ในช่วงที่เริ่มลงพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมกับคณะของ ดร.ตึก แดงก็เริ่มสานฝันในสิ่งที่เขาอยากเห็นคือ การเปิดเว็บไซต์เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับวาฬที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย
ThaiWhales.org หรือกลุ่มวาฬไทย เปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงกลางปี 2554 โดยนอกจากแดงและแพงแล้ว ยังมี ปู-ปรารถนา วาระวรรณ์ น้องสาวของแดงซึ่งเป็นนักเขียน ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการคอยดูแลอย่างใกล้ชิด โดยฝันหนึ่งที่เขาอยากเห็นคือ การสร้างชุมชนระหว่างเครือข่ายนักวิจัย นักอนุรักษ์ และภาคประชาชน จนก่อให้เกิดการดูแลวาฬอย่างเป็นรูปธรรม
“ตอนที่เราไปจดชื่อ ThaiWhales หลายคนก็บอกว่าตั้งชื่อแบบนี้เลยเหรอ ฝรั่งบางคนถึงขั้นพิมพ์มาบอกว่า วาฬเป็นของสากล เป็น International ไม่ควรจะเคลมว่าเป็นวาฬไทย เราก็ขอบคุณเขาไป แล้วอธิบายถึงความตั้งใจ ว่าอยากนำเสนอเรื่องราวของวาฬในประเทศไทย อยากกระตุ้นให้คนไทยรู้จักวาฬมากยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครที่รู้จักมันจริงๆ แม้แต่ชาวประมงยังบอกว่าไม่เคยเห็น บางคนบอกว่าอพยพมาช่วงเดือนตุลาคม แล้วก็จากไป ซึ่งล้วนแต่เป็นความเชื่อที่ผิด”
จุดเด่นหนึ่งของ ThaiWhales คือการเล่าเรื่่องในรูปแบบไดอารี บันทึกประสบการณ์ออกเดินทางอย่างไร เจอวาฬกี่ตัว ชื่ออะไรบ้าง พร้อมกับแทรกองค์ความรู้ต่างๆ ที่ถูกต้องจากนักวิชาการ เช่นพฤติกรรมการกิน การนอนของวาฬแต่ละชนิด เพราะแดงอยากให้ผู้อ่านทุกคนเห็นภาพ ไม่ใช่เป็นความรู้ที่อยู่ไกลจนเกินเอื้อม และอยากให้ทุกคนเกิดความรัก ความผูกพันในตัววาฬไปพร้อมกัน
“ตัวแรกที่ผมเจอเองคือ เจ้าเมษา มันโผล่ขึ้นมากลางน้ำเรียบสนิท มันเติมเต็มความรู้สึกของเรา ตอนที่ได้ภาพ ผมก็นั่งดูอยู่นานเลย” แดงย้อนความทรงจำ
“แต่ก่อนจะชื่อ เมษา เขาชื่อว่าเจ้าเฟิร์ส เพราะเป็นตัวแรกที่ทางพี่ตึกเจอ ตอนนั้นครีบยังเต็มอยู่ แล้วต่อมาทางกรมฯ เจออีก แต่ไม่รู้ว่าเป็นตัวเดียวกันเพราะครีบแหว่งไปแล้วและเจอเดือนเมษายน จึงให้ชื่อว่าเจ้าเมษา ภายหลังถึงเพิ่งรู้ว่าเป็นตัวเดียวกัน จึงใช้ชื่อภาษาไทยเรื่อยมา ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นความน่ารักของพี่ตึก เพราะอย่างเมืองนอก เขาจะใช้เป็นโค้ด 001UN แต่ของเราเรียกเป็นชื่อ” แพงช่วยเสริม
“ข้อดีของการตั้งชื่อเป็นโค้ดคือเราไม่ต้องผูกพัน แต่ผมกับคุณกาญจนาคงคิดเหมือนกัน แกบอกว่าอยากให้เราตั้งชื่อให้มันงดงาม ตอนผมไปสำรวจกับแก แกมีกฎว่าใครเป็นคนเจอคนแรก อนุญาตให้คนนั้นตั้งชื่อได้ ซึ่งพอเราเจอปุ๊บจะให้เรียกว่า ‘เจ้า’ ก่อน เพราะเป็นคำกลางๆ อย่างตัวหนึ่งที่เราเจอบาลีน (Baleen คือขนที่เป็นแผงๆ อยู่บนขากรรไกร) มันหัก ผมก็ถ่ายรูปไปให้คุณกาญจนาดู แกก็บอกว่าคุณแดงเจอ คุณแดงตั้งชื่อเลย ผมจึงถามว่าชื่อไอ้แหว่งไหม คุณตึกแกเงียบไปพักแล้วบอกว่า ‘ถ้าคุณแดงมีลูกจะตั้งชื่อว่าไอ้แหว่งหรือเปล่า’ ก็จึงให้ชื่อว่า เจ้ายิ้มหวานแล้วกัน แต่สักพักก็มีข้อความบอกว่า ไม่ได้เจอตัวใหม่ นี่เป็นตัวแม่ชื่อแม่สดใส เนื่องจากบาลีนมันหักได้ เพราะเวลามีลูก เขาจะดึงแคลเซียมตรงนั้นไปเลี้ยงลูก ก็เหมือนกับคนเราที่ฟันหัก เล็บหักนั่นเอง” แดงอธิบายต่อ
แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้การได้ใกล้ชิดกับสัตว์ที่เป็นเหมือนฝันมาตลอด คือ ข้อมูลที่ ThaiWhales ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ได้ช่วยแก้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในสังคมไทย โดยเฉพาะถิ่นกำเนิดของวาฬบรูด้า เพราะจากการเฝ้าติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด ทำให้ได้หลักฐานว่า แต่ละตัวต่างเกิด เติบโต สืบพันธุ์ และตายในพื้นที่อ่าวไทย รวมทั้งไม่เคยอพยพหรือโยกย้ายไปอยู่ในมุมอื่นของโลก
“ผมเชื่อว่าถ้าคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ แล้วเห็นรูปวาฬอ้าปากกินแบบที่เราเห็นกันบ่อยๆ รับรองว่า 95% เป็นวาฬบรูด้าในอ่าวไทยแน่นอน เพราะก่อนปี 2554 ไม่เคยมีรูปวาฬบรูด้าที่อ้าปากแบบนี้ในเว็บไซต์อื่นเลย หลังจากนั้นอีกหลายปีถึงจะเจอที่ประเทศจีนบ้าง แต่ก็ไม่ถี่เท่ากับเรา” แดงกล่าวย้ำ
“ถ้าเราไปดูข้อมูลในหนังสือต่างๆ จะพบว่าวาฬสปีชีส์นี้มีน้อยมาก หลายแห่งเขียนบอกว่าข้อมูลไม่เพียงพอ แต่พอมาในประเทศไทย ตั้งแต่กรมฯ เริ่มมาทำ เราเข้าไปช่วย ข้อมูลเรื่องวาฬบรูด้าก็เริ่มหาง่ายขึ้น” แพงช่วยเสริม
สิ่งหนึ่งที่ช่วยยืนยันคือ เมื่อปี 2555 แดงมีภารกิจต้องไปสหรัฐอเมริกา เขาจึงแวะเวียนไปยัง American Cetacean Society องค์กรที่ทำงานเรื่องวาฬแห่งแรกของโลก เพื่อนำคลิปของวาฬบรูด้าที่ถ่ายไว้ไปให้เจ้าหน้าที่ขององค์กรรับชม ซึ่งทุกคนต่างรู้สึกทึ่ง และขออนุญาตนำภาพและคลิปไปเผยแพร่ต่อ
นอกจากนี้ ด้วยความเชื่อที่ว่าการอนุรักษ์สิ่งใดต้องเริ่มจากข้อมูลที่ถูกเสียก่อน ThaiWhales จึงชักชวน ดร.ตึก มาช่วยตอบคำถามสั้นๆ แต่น่ารู้เกี่ยวกับวาฬไทย ไม่ว่าจะเป็น ในไทยมีวาฬอยู่จริงหรือไม่ แล้วมีกี่ชนิด ทำไมถึงชื่อบรูด้า คำว่า ‘วาฬ’ กับ ‘ปลาวาฬ’ ใช้อย่างไรกันแน่ วาฬพ่นน้ำทำไม วิธีที่วาฬใช้สื่อสารกัน วาฬออกลูกครั้งละกี่ตัว ตั้งท้องกี่เดือน มีลูกแฝดไหม เป็นต้น
“บางเรื่องดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องใหญ่ เช่น คำว่าบรูด้า เป็นเสียงที่เพี้ยนมาจากคำว่า Bryde’s whale (บรูดเวล หรือไบรดส์เวล) ซึ่งมาจากชื่อของชาวนอร์เวย์ หรือแม้แต่ภาษาไทยเองหลายคนก็เขียนผิด เพราะคิดว่า บรู มาจากคำว่า Blue แม้กระทั่งป้ายของ อบต.ที่เชิญชวนคนมาดูวาฬบรูด้า ปรากฏว่าภาพที่ใช้กลับเป็นวาฬหลังค่อม (Humpback whale)” แดงเล่าเรื่อง
“ตอนนั้นเหมือนเป็นหน้าที่ของเราที่เวลาเห็นอะไรไม่ถูกต้องหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ต้องตามไปช่วยแก้ให้เขา” แพงช่วยเสริม
“เราถือว่าทุกคนช่วยกันหมด ทั้งกรมฯ ทั้งเรา รวมถึงอีกหลายๆ แห่ง เช่น Love Wildlife Foundation ทุกคนเริ่มมาโฟกัส ช่วยกันกระจายข้อมูล แล้วข้อดีอีกอย่างคือทุกคนที่เราไปติดต่อต่างก็เห็นด้วยกับการสื่อสารข้อมูลให้ถูกต้อง หรืออย่างกรมฯ เองก็มีการตั้งกลุ่มใน Facebook ชื่อ Thai Bryde’s Whale เวลาใครมีอะไรก็จะช่วยกันส่งข้อมูลไปที่นั่น ถือเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” แดงสรุป
เมื่อคนทั่วไปรู้จักวาฬบรูด้ามากขึ้น ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็เริ่มให้ความสำคัญกับสัตว์ทะเลหายากชนิดนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ ส่งผลให้ทีมวิจัยสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือแม้แต่เวลาที่เกิดเหตุวาฬเสียชีวิต จากเดิมที่เคยเป็นเพียงหัวข้อเล็กๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ ก็กลับกลายเป็นประเด็นข่าวที่สื่อมวลชนทุกแขนงต่างให้ความสนใจ
เช่นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 เกิดเหตุวาฬชื่อ เจ้าบันเทิง เกยตื้นบริเวณแหลมฟ้าผ่า ใกล้กับป้อมพระจุลจอมเกล้า แต่ด้วยสภาพของลมฟ้าอากาศที่รุนแรงมาก ทำให้เจ้าบันเทิงลอยลึกไปยังพื้นที่ป่าโกงกางในละแวกใกล้ๆ กัน ทว่าต้องยอมรับว่า ในเวลานั้นทุกคนล้วนเป็นมือใหม่ แม้แต่ทีมสัตวแพทย์เองก็เพิ่งเคยชันสูตรวาฬบรูด้าเป็นครั้งแรกๆ
“ตอนนั้นถือเป็นประเด็นดรามาเลย มีการแถลงข่าวกันใหญ่โต แล้วก็ระดมสัตวแพทย์จากหลายแห่งมาผ่ากันที่นั่น แต่คนที่มีประสบการณ์มากที่สุดคงเป็น หมอหนิ่ง-รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ (ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะนั้น) แกก็เป็นคนเปิดมีด ส่วนรอบๆ ก็เป็นหมอของ ทช. และด้วยความที่เป็นครั้งแรก เราก็เลยเข้าไปตั้งกล้องถ่ายทำกระบวนการชันสูตรด้วย เก็บฟุตเทจตั้งแต่เริ่มผ่าจนชิ้นสุดท้าย แม้กระทั่งวันเก็บกระดูกขึ้นเรือเราก็ยังตามไปถ่าย จากนั้นเราก็ทำคลิปเผยแพร่ไป ซึ่งช่วยให้กระบวนการพิสูจน์ซากในครั้งต่อๆ ไปทำได้ง่ายขึ้น” แดงอธิบาย
จากการรวมพลังของทุกภาคส่วน ทำให้กระบวนการอนุรักษ์วาฬยกระดับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หนึ่งในนั้นคือการพิสูจน์ซาก ซึ่งทำได้รวดเร็วกว่าเดิม เนื่องจากสัตวแพทย์เริ่มชำนาญขึ้น และเข้าใจถึงปัจจัยที่ทำให้วาฬเสียชีวิต โดยปัญหาใหญ่สุดก็คงหนีไม่พ้นการโดนเศษอวนและเครื่องมือประมงที่ถูกทิ้งรัด ทำให้วาฬจมน้ำและขาดอากาศหายใจไปในที่สุด
แม้ไม่มีใครอยากให้อุบัติเหตุเกิดขึ้น โดยเฉพาะชาวประมงหลายคนซึ่งต่างยกให้วาฬเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ถึงขั้นมีการนำกระดูกมาเคารพบูชา แต่เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ก็ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งชี้ว่า ปัญหาเรื่องความสะอาดของท้องทะเลจำเป็นต้องมีการจัดการโดยด่วน ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป
เพราะจากข้อมูลปัจจุบันพบว่า ในน่านน้ำทะเลไทยมีวาฬอาศัยอยู่มากถึง 18 สายพันธุ์ จากที่มีอยู่ทั่วโลกเกือบ 100 ชนิด โดยจำนวนนี้เป็นวาฬบรูด้าเพียงแค่ 50-60 ตัวเท่านั้น ซึ่งหากไม่มีการดูแลกันจริงจัง ก็เชื่อว่าจำนวนวาฬชนิดนี้ก็คงจะลดลงอย่างแน่นอน และนี่คือเป็นเหตุผลว่า ThaiWhales ยังเดินหน้าเดินเรื่อยมาถึงปัจจุบัน
แม้แดงกับทีมงานจะสร้างคลังข้อมูลขนาดใหญ่ให้ทุกคนรู้จักวาฬได้สำเร็จ แต่สิ่งที่ท้าทายกว่า คือการผลักดันความรู้ต่างๆ ไปสู่วงกว้างกว่าแค่ในเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย
แดงจึงสร้างนวัตกรรมการสื่อสารหลากหลาย ด้วยการมุ่งเป้าไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นลำดับแรก โดยในปี 2555 ThaiWhales ได้จัดทำโครงการที่ชื่อว่า ‘ห้องเรียนวาฬไทย’ โดยยกทีมไปยังโรงเรียนหาดเจ้าสำราญ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องวาฬให้แก่เด็กๆ ในพื้นที่
เนื่องจากหาดเจ้าสำราญเป็นจุดที่พบวาฬบ่อยครั้ง รวมทั้งยังมีซากวาฬโบราณจัดแสดงอยู่ที่วัดหาดเจ้าสำราญอีกต่างหาก ดังนั้นหากเด็กๆ เห็นความสำคัญและรู้จักวาฬมากยิ่งขึ้นก็อาจเป็นกำลังสำคัญในการช่วยอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติต่อไปได้
ครั้งนั้น แดงได้นำโปสเตอร์ยักษ์รูปวาฬจากทั่วโลกมาให้นักเรียนชม และแข่งกันทายว่าสายพันธุ์ไหนที่อยู่ในเมืองไทย รวมทั้งนำ Photo ID ของวาฬแต่ละตัวมาให้เด็กๆ ได้เปรียบเทียบและทราบว่า ทุกตัวล้วนมีชื่อเป็นของตัวเอง ไม่เพียงแค่นั้น ยังพาทุกคนเข้าไปดูซากวาฬบรูด้าที่ชุมชนเก็บรักษาไว้ ซึ่งปรากฏว่า เด็กทั้ง 50 คนต่างมีความสุข และซึมซับประสบการณ์ใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน
ถึงอย่างนั้น แม้แดงและทีมงานจะพร้อมเดินสายไปจัดกิจกรรมตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า หลายคนยังมองไม่เห็นความสำคัญเท่าใดนัก
“บางครั้งผมก็อยากตั้งคำถามถึงวิธีการสอนของประเทศเหมือนกันว่า เราควรใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ไม่ใช่แค่เรื่องวาฬเท่านั้น เพราะเมื่อเรามีทั้งข้อมูลและผู้เชี่ยวชาญเต็มไปหมด แต่ทำไมกลับเลือกที่จะยัดเทปเก่าๆ อยู่นั่น บางจังหวัดผมติดต่อไปหลายโรงเรียนเลย ผมมั่นใจว่า เราสอนเด็กได้สนุกและมีความรู้อย่างแน่นอน แต่สุดท้ายกลับไปไม่ถึงตรงนั้น ซึ่งบางทีอาจเป็นเพราะโรงเรียนมีแผนการสอนของตัวเอง แล้วก็ยึดตรงนั้นแหละ ทั้งๆ ที่โลกเปลี่ยนไปตามแต่ละวัน ทำให้ผมไม่แน่ใจว่า เราซีเรียสเรื่องสิ่งแวดล้อมกันจริงๆ หรือเปล่า คือผมไม่ได้เรียกร้องให้คนมานั่งดูเว็บไซต์นะ แต่อยากให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์และเต็มที่กว่านี้” แดงระบายถึงประสบการณ์ที่สัมผัสมาหลายปี
แต่ถึงจะมีอุปสรรคมากมาย เขาก็ไม่เคยท้อถอยที่จะเป็นสะพานเชื่อมความรู้เรื่องวาฬไปสู่สาธารณชน อย่างเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 แดงกับเพื่อนๆ ได้ช่วยกันจัดนิทรรศการภาพชุด ‘วาฬ=ฅน’ ณ HOF Art Space โดยได้รับการสนับสนุนจาก ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น ที่มองเห็นความสำคัญ และช่วยหางบประมาณการจัดงานบางส่วนมาจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน
นิทรรศการชุดนี้เกิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่า วาฬทุกตัวล้วนมีคุณค่าและศักดิ์ศรีไม่ต่างจากคนทุกคน ดังนั้นจึงควรมีสิทธิที่จะได้การยอมรับ การปฏิบัติที่เท่าเทียม โดยเฉพาะการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการดำรงชีวิต
เพราะฉะนั้นภาพที่นำมาแสดงภายในงาน นอกจากจะเป็นการรวบรวมผลงานของช่างภาพร่วม 20 ชีวิตแล้ว ขนาดของภาพยังใกล้เคียงกับวาฬจริงๆ ทำให้ผู้มาเยี่ยมชมเห็นรายละเอียดของภาพได้อย่างชัดเจน โดยมีไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ภาพความผูกพันของ 12 แม่ลูกวาฬบรูด้าแห่งอ่าวไทย ขณะเดียวกันก็ยังนำเสนอโมเดลจำลองเกี่ยวกับวาฬ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจชีวิตของเพื่อนใต้สมุทรเหล่านี้ได้มากขึ้น
“ด้วยความที่เราทำหนังโฆษณาก็จะมีทีมอาร์ต ทีมทำพร็อพ พี่แดงจึงอยากให้มีโซนที่ไม่ใช่ดิจิทัล แต่ทำเป็นโมเดลจำลอง เขาจะได้เห็นว่านมของวาฬมันหนืดแค่ไหน เด็กๆ จะได้จินตนาการออกว่า เหนียวเหมือนยาสีฟันเลย” แพงฉายภาพการออกแบบ
“อย่างโซนที่เป็นกระดูก ผู้ชมก็ทึ่งเหมือนกัน เพราะเราผสมแนวคิดทางศิลปะลงไปด้วย เนื่องจากผมมองว่า ศิลปะเป็นสื่อกลางที่เข้าได้ถึงทุกคน อย่างบางคนอาจจะเห็นสัตว์แล้วดีใจก็แค่นั้น แต่ถ้าอย่างน้อยมีศิลปะเข้ามาร่วมด้วย มันอาจจะต่อยอดไปยังเรื่องอื่นๆ ได้ ซึ่งครั้งนี้เราก็ได้รับความร่วมมือจากหลายคน เช่น อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร หรือแม้กระทั่งฝรั่งที่บอกว่าเห็นงานแล้วชอบ จึงทำภาพวาดมาให้เพิ่มอย่างสวยเลย หรือเด็กบางคนอายุ 5 ขวบ มาแล้วมาอีกเพราะชอบมาก” แดงเล่าเสริมพร้อมรอยยิ้ม
จากความสำเร็จของนิทรรศการวาฬ=ฅน กลายเป็นแรงผลักดันให้ ThaiWhales ยังก้าวเดินต่อไป ยิ่งมาผนวกกับการสูญเสียเสาหลักของวงการอนุรักษ์วาฬไทยอย่าง ดร.ตึก ซึ่งจากไปด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2558 ก็ทำให้พวกเขาอยากสานต่องานเรื่องวาฬไทยให้ไปได้ไกลที่สุด
หนึ่งในนั้นคือ การหยิบยกเรื่องราวของวาฬบรูด้าสัญชาติไทยมานำเสนอในรูปแบบของภาพยนตร์สารคดี ‘Whale’s Tale – วาฬบอกที’
เดิมทีแดงไม่เคยคิดจะทำภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เลย แม้ทำงานคลุกคลีอยู่ในวงการภาพยนตร์มาตลอดชีวิต แต่ด้วยการลงพื้นที่เก็บข้อมูลนานหลายปี ปู น้องสาวของเขาจึงโยนไอเดียขึ้นมาว่า คงถึงเวลาที่แดงจะผลิตสารคดีเกี่ยวกับวาฬ เพื่อที่ทุกคนจะได้ตระหนักถึงความสำคัญของวาฬ ในฐานะทรัพยากรธรรมชาติที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของเมืองไทย
จากนั้นทั้งคู่ก็ช่วยกันตั้งประเด็นที่น่าสนใจและดูน่าสนุก เช่น ชาวประมงหลายคนมักบ่นว่า ไม่ชอบวาฬเลย เพราะวาฬชอบมาขโมยกินปลาของเขา แต่ถ้ามองให้ลึกๆ อาจเกิดคำถามว่า สรุปแล้ววาฬกินปลาของเรา หรือเราไปกินปลาของวาฬกันแน่
หลังจากตกผลึกอยู่พักใหญ่ แดงจึงนำไอเดียนี้ไปเขียนโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยครั้งแรกตั้งใจทำเป็นสารคดีสั้นๆ 5-7 นาที จำนวน 10 ตอน
“ตอนแรกผมจะไม่ทำ เพราะเขาให้ทุนเรามาครึ่งหนึ่งจากที่เสนอไป คือไม่ใช่ว่าผมไม่อยากทำนะ แต่ถ้าทำออกมาไม่ดี ก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม แต่น้องสาวผมเขาก็เตือนสติว่า ยังไงสุดท้ายผมก็ต้องทำหนังอยู่ดี แล้วเว็บไซต์ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็เงินของแดงทั้งนั้น ถ้าเรามีโอกาสที่จะทำหนัง ต่อให้ไม่ใช่เงินจากกองทุนนี้ ก็ต้องเป็นเงินของแดงอยู่ดีที่จะมาทำ แล้วพอคุยกับกองทุนฯ เขาก็ชอบโครงการเรามาก เสนอให้ช่วยทำอย่างน้อย 3 เรื่อง แต่ถึงจะทำแค่ 3 ตอน เนื้อหาก็ครอบคลุมทั้ง 10 ตอนที่เตรียมไว้ตั้งแต่แรก และสุดท้ายผมก็ทำเกินกว่างบที่เขาให้มาอยู่ดี” แดงกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ
สารคดีวาฬบอกที นำเสนอเรื่องราวของวาฬผ่านสารคดี 3 ตอน ตอนละประมาณครึ่งชั่วโมง
ตอนแรก ‘ชื่อนั้นสำคัญไฉน’ เล่าถึงเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับวาฬ เช่นตกลงเป็นปลาหรือไม่ มีวิวัฒนาการอย่างไร คำว่าบรูด้ามาจากไหน วิธีการสังเกตวาฬ รวมถึงการยืนยันข้อมูลว่า วาฬเป็นสัตว์พื้นถิ่นที่อาศัยอยู่ในเขตอ่าวไทยตอนบน ตลอดจนสาเหตุว่าทำไมนักวิจัยไทยถึงตั้งชื่อให้วาฬแต่ละตัว เพราะพอตั้งชื่อ เราก็จะเกิดความผูกพัน รู้สึกเหมือนเขาเป็นเพื่อนที่อยากจะปกป้องดูแลตลอดไป
ต่อมาเป็นตอน ‘จับให้ได้ไล่ให้ทัน’ เล่าถึงบรรดานักวิจัยที่พยายามศึกษาเรื่องวาฬบรูด้าแม้จะยากลำบากเพียงใดก็ตาม เพราะในเวลานั้นข้อมูลเกี่ยวกับวาฬสายพันธุ์นี้มีน้อยมาก ทุกอย่างจึงไม่ต่างจากการเริ่มต้นจากศูนย์ แต่ด้วยพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งเครือข่ายในและนอกประเทศ มีการติดตั้งเครื่องติดตามในวาฬแต่ละตัว รวมถึงการเก็บ DNA จากลมหายใจโดยใช้โดรน ส่งผลให้การวิจัยคืบหน้า และยังกลายเป็นองค์ความรู้พื้นฐานที่ช่วยให้การอนุรักษ์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ส่วนตอนสุดท้ายคือ ‘วิกฤตวาฬไทย’ แดงได้หยิบวิกฤตที่วาฬเกยตื้นอยู่บ่อยครั้ง หลายตัวตายเพราะโดนเครื่องมือประมงรัด บ้างก็กลืนขวดและถุงพลาสติกจำนวนมหาศาลจนระบบภายในร่างกายเสียหาย ซึ่งทั้งหมดนี้นับเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นกับท้องทะเลไทย และหากไม่ดำเนินการอะไร ก็อาจนำไปสู่ความเสียหายที่ยากจะเยียวยา
แต่น่าเสียดายที่สารคดีชุด ‘วาฬบอกที’ กลับไม่ได้เผยแพร่ในวงกว้าง แม้ผู้รับชมส่วนใหญ่ต่างก็รู้สึกสนุกและชื่นชอบก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงที่ทำเสร็จตรงกับวิกฤตโรคระบาดพอดี บวกกับแดงเองก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องประชาสัมพันธ์เท่าใดนัก เพราะอยากทุ่มเทกับการผลิตอย่างเต็มที่
“ผมอยากให้โรงเรียนต่างๆ มาขอไปฉาย แต่ไม่เคยมีใครมาขอ ผมก็เลยนำไปใส่ในเว็บไซต์ ThaiWhales ส่วนถ้าจะนำไปฉายทางโทรทัศน์ก็ต้องยอมรับว่าไม่ง่าย เพราะผมต้องตัดเนื้อหาแต่ละตอนออกไป 3-4 นาทีเพื่อให้ลงสลอตของช่องให้ได้ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมาปรับโครงสร้างใหม่หมด ตัดต่อ มิกซ์เสียงใหม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องเจ็บปวดเหมือนกัน แต่ต้องยอมรับว่าเป็นความรับผิดชอบของเราเอง หากใส่ใจตรงนี้มากขึ้นหน่อย ผมเชื่อว่าวาฬบอกทีจะช่วยยกระดับการอนุรักษ์ หรือกระตุ้นผู้คนให้อยากศึกษาเรื่องวาฬมากขึ้นกว่านี้ได้” แดงสรุปบทเรียนของตัวเอง
แม้การทำงานบางอย่างอาจไม่ได้ดั่งใจ แต่ผลของความมุ่งมั่นและความทุ่มเทของ ThaiWhales รวมถึงทุกเครือข่ายที่มอบให้วาฬไทยตลอดสิบกว่าปี ก็นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ท้องทะเลไทย ยืนยันได้จากการที่วาฬบรูด้าได้กลายเป็นสัตว์ป่าสงวนหมายเลข 19 ของไทย รวมทั้งผู้คนทั่วประเทศต่างช่วยกันหันมาหาแนวทางที่จะดูแลท้องทะเลของเราอย่างจริงจัง เพื่อให้วาฬไทยที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิด ยังคงสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขตลอดไป
วาฬบรูด้าเป็นเพื่อนที่ไม่ได้พูดภาษาเดียวกันเท่านั้นเอง ผมอยากทำให้คนรู้จักเขามากขึ้น ให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะเขาเป็นเพื่อนผม
หลังจากขับเคลื่อนเรื่องวาฬอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่ายังมีสัตว์หายากอีกมากที่อยู่ในสภาวะวิกฤต และต้องการความช่วยเหลือไม่ต่างกัน ThaiWhales จึงเข้าช่วยติดตามชีวิตของสัตว์หายากอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ‘มาเรียม’ และ ‘ยามีล’ สองพะยูนน้อยที่โชคร้ายกลืนพลาสติกลงท้องจนป่วยและจากไปก่อนวัยอันควร รวมถึง ‘โฮป’ วาฬหัวทุยแคระที่มาเกยตื้นพร้อมแม่ซึ่งตายไปก่อน แต่ด้วยสภาพร่างกายที่ป่วยและอ่อนแอ ก็ทำให้อีกไม่นานก็เสียชีวิตเช่นกัน ตลอดจนคอยสอดส่องและเก็บข้อมูลของเต่ามะเฟือง ซึ่งถือเป็นสัตว์ที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลได้ดีไม่แพ้วาฬบรูด้าเลย
แต่อีกโปรเจ็กต์ที่แดงเห็นว่าเร่งด่วน และตัดสินใจเข้าไปช่วยสนับสนุนทันทีคือการอนุรักษ์โลมาอิรวดี เป็นโลมาน้ำจืดซึ่งปัจจุบันอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ พบแค่ 5 แห่งทั่วโลก แห่งหนึ่งนั้นคือทะเลสาบสงขลา ซึ่งเวลานั้นหลงเหลืออยู่เพียง 14 ตัวเท่านั้น
แดงทราบเรื่องราวของโลมาอิรวดี ตั้งแต่ปี 2562 ในช่วงที่ร่วมคณะกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ติดตั้งเครื่องมือนำเสียงใต้น้ำสำหรับวิเคราะห์ตัวของโลมาชนิดนี้ รวมทั้งมีโอกาสพูดคุยกับ ลุงนวย-อุทัย ยอดจันทร์ ประธานชมรมอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา และสันติ นิลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ซึ่งกล่าวตรงกันว่า ‘ไม่อยากให้โลมาอิรวดีเป็นลมหายใจสุดท้ายของทะเลสาบ’ แม้ประโยคนี้จะกินใจเขาอย่างมาก แต่เสียดายที่เวลานั้นยังไม่มีไอเดียดีพอที่จะช่วยโลมากลุ่มนี้ได้
กระทั่ง 2 ปีถัดมา แดงกับแพงได้รับเชิญให้ไปฉายภาพยนตร์สารคดีวาฬบอกที ในมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และช่วงท้ายมีงานเสวนา ‘วาฬในวิกฤต ผิดนี้…ที่ใคร?’ ซึ่งหนึ่งในวิทยากรก็คือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องทะเลไทย
อาจารย์ธรณ์กล่าวว่า สถานการณ์ของวาฬบรูด้าไม่ค่อยน่าเป็นห่วงแล้ว เพราะถึงจะมีข่าวตายบ้าง แต่ถ้าเทียบกับอัตราเกิดก็ยังสูงกว่า ต่างจากโลมาอิรวดี ที่ถึงแม้ทุกฝ่ายจะพยายามเท่าใดก็ยังไม่เห็นผลสักที เป็นเหมือนความเจ็บปวดของคนทำงาน ดังนั้นหากแดงและทีมงานเข้าไปช่วยก็คงเป็นเรื่องที่ดี
แดงเองก็คิดไม่ต่างกัน เขารู้สึกว่า เหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่วิกฤตของโลมาเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตของประเทศ พอดีในปีนั้น ThaiWhales ได้รับงบประมาณจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อผลิตสารคดีเรื่อง ‘วิกฤตของวาฬ…วิกฤตของคน’ เพื่อต่อยอดจากสารคดีชุด ‘วาฬบอกที’
ด้วยความที่โลมาเองก็ถือเป็นวาฬชนิดหนึ่ง เขาจึงทำจดหมายถึงกองทุนฯ ขอเปลี่ยนเนื้อหาจากที่เคยตั้งใจจะโฟกัสไปยังวาฬบรูด้ามาเป็นโลมาอิรวดีที่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งกองทุนฯ ก็อนุญาตเพราะเห็นถึงความสำคัญของวิกฤตนี้เช่นกัน จนนำมาสู่สารคดีเรื่อง ‘The Last 14 : วิกฤตโลมา วิกฤตทะเลสาบ’
แต่กว่าที่สารคดีนี้จะออกมาเป็นรูปเป็นร่างไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ความท้าทายแรกที่พวกเขาต้องเผชิญคือ ไม่รู้จะหาโลมาที่ไหนมาถ่าย
“ที่ผ่านมาไม่มีใครหาเจอ หายากมาก บางทีก็ต้องใช้วิธีฟังเสียง เหมือนตำนาน แล้วเราก็รู้เรื่องเขาน้อยมาก ไม่เหมือนวาฬบรูด้า เพราะกว่าเราจะทำวาฬบอกที เราทำ ThaiWhales มาเกือบสิบปีแล้ว แต่ The Last 14 เหมือนเรายังเป็นเด็กอนุบาลอยู่เลย ครั้งแรกเราคุยกับนักวิชาการก็ได้ข้อมูลระดับหนึ่ง แต่ว่าไม่พอหรอก เราก็เลยต้องลงพื้นที่บ่อยๆ คุยกับคนเต็มไปหมด ทั้งชาวประมง ชาวบ้านซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก็เหมือนว่าเราเติบโตไปพร้อมกับการทำหนังเช่นกัน” แพงเท้าความ
ผลจากการลงพื้นที่ทำให้พวกเขารับทราบว่า ปัญหาของการอนุรักษ์โลมาซับซ้อนกว่าที่คิด เช่นหลายตัวตายเพราะติดอวนปลาบึก ซึ่งสาเหตุที่ปลาบึกมาอยู่ตรงนี้ ทั้งที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่แม่น้ำโขง ก็เพราะความหวังดีของภาครัฐที่อยากให้ประชาชนมีอาหารไว้บริโภค รวมทั้งต้องการสร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้าน แต่ยังดีที่เรื่องนี้พอจะคลี่คลายไปบ้างแล้ว แม้จะช้าไปมากก็ตาม
“ปัญหาหลักคือ พื้นที่ถูกเปลี่ยนสภาพไปเรื่อยๆ จากความเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำที่ต้องเผชิญกับมลพิษต่างๆ หรือความตื้นเขินของแหล่งน้ำ แล้วยิ่งเราใช้ทะเลสาบสงขลากันแบบผิดๆ ปัญหาต่างๆ ก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น สำหรับผมแล้ว การมีโลมาอยู่ตรงนี้ เหมือนเป็นตัวสะท้อนว่าเราควรทำให้ดีหรือเปล่า จากที่เคยมีอยู่เป็นร้อย ค่อยๆ หดจนเหลือ 14 ตัว มันบ่งบอกว่าเราปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังไปเรื่อยๆ เราไม่เคยเอาใจใส่เลยไง เวลาพูดถึงโลมา เราอาจคิดว่าแค่สัตว์ชนิดหนึ่ง แต่สำหรับผม โลมาคือสิ่งแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมนี้กำลังจะหายไปด้วยน้ำมือของเรา ดังนั้นถ้าเราจัดการตรงนี้ ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะเปลี่ยน เพราะเท่ากับสันดานของเราเปลี่ยน เปลี่ยนไปสู่สันดานที่ดี” แดงฉายภาพที่เกิดขึ้น
หลังจากใช้เวลาเทียวไปเทียวมาอยู่ที่ทะเลสาบสงขลาถึง 6 รอบ ปรากฏว่า พวกเขาได้พบโลมาทั้งหมด 3 ครั้ง โดยแต่ละครั้งต้องดักรอนานหลายชั่วโมง เพื่อแลกกับการได้สัมผัสกับโลมาเพียงไม่กี่นาที แต่สำหรับทีม ThaiWhales แล้ว นี่ถือเป็นช่วงเวลาที่มีค่าและเปี่ยมด้วยความหวัง
แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่า คือการได้สัมผัสน้ำใจของทีมงานผู้เกี่ยวข้องที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อภารกิจนี้ แม้แต่ชาวบ้านในพื้นที่ อย่างลุงนวย ประธานชมรมอนุรักษ์ฯ ก็ยังยื่นมือมาสนับสนุน คอยเป็นกระบอกเสียงสื่อสารไปยังคนรอบข้าง จนภาพยนตร์เรื่องนี้เสร็จสมบูรณ์
“ลุงนวยถือเป็นคนดัง เวลามีเรื่องเกี่ยวกับโลมาทุกคนจะสัมภาษณ์แกตลอด ซึ่งตอนที่เราทำ แกคงเห็นว่าพวกนี้ไม่ใช่นักข่าวหรือคนทำสารคดีที่มาแค่ 1-2 วันแล้วกลับ แต่เราทำจริงจังและลงนานมาก จนวันหนึ่งแกก็ถามว่า ทำไมถึงมาทำ แล้วใช้งบเท่าไหร่ เราจึงเล่าว่าที่ผ่านมาทำอะไรบ้าง แล้วหากหนังเสร็จ ก็ตั้งใจจะลงมาบ่อยๆ มาช่วยกัน แกก็เลยบอกว่า เดี๋ยวจะหางบมาช่วยสนับสนุนด้วย ซึ่งพอฟังเรารู้สึกว่าขนาดชาวประมงอย่างแกก็ยังอยากช่วยเหลือเรา ฟังแล้วซึ้งใจ” แพงเล่าเหตุการณ์ประทับใจ
The Last 14 : วิกฤตโลมา วิกฤตทะเลสาบ นำเสนอในรูปแบบของการล้อมวงคุยของ 2 นักอนุรักษ์ที่ขับเคลื่อนเรื่องทะเลมายาวนานอย่าง อาจารย์ธรณ์ แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กับ 2 คนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องธรรมชาติ คือ ทอม โพธิสิทธิ์ ช่างภาพสายอนุรักษ์ และ สายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข นักแสดงสาวที่วันนี้หันเหชีวิตมาสู่การเป็นครูสอนดำน้ำ
โดยเนื้อหาที่ทั้งสี่คุยกันมีตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐานของโลมาอิรวดีทั่วโลก ความสำคัญของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ ในฐานะผู้ควบคุมห่วงโซ่อาหารภายในทะเลสาบสงขลามากว่า 6,000 ปี สถานการณ์ปัจจุบันซึ่งพบว่าโลมาตายไปแล้วกว่า 140 ตัว ภายในเวลาไม่ถึง 30 ปี ตลอดจนวิกฤตในทะเลสาบสงขลา ซึ่งต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจนแทบไม่หลงเหลือเค้าเดิมที่ธรรมชาติรังสรรค์เลย
นอกจากนั้นยังได้ ตะวันวาด วนวิทย์ หรือ TangBadVioce ศิลปินชื่อดัง อดีตนักศึกษาฝึกงานที่ช่วยแดงบุกเบิก ThaiWhales ตั้งแต่ขวบปีแรก มาทำเพลงประกอบเล่าเรื่องราวของโลมาอิรวดีอีกด้วย โดยออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 รวมถึงช่องทางออนไลน์อย่าง YouTube ของ ThaiWhales
แม้สุดท้ายตัวเลขการรับชมอาจเทียบไม่ได้กับรายการอื่นๆ แต่คุณค่าที่แดงและแพงสัมผัสได้ คืออย่างน้อยสารคดีชุดนี้ก็อาจเป็นแรงกระตุ้นหรือช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เคยหมดพลังไปแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจยังมองไม่เห็นถึงความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตมาช่วยดูแลสังคมของเราต่อไป
“เคยมีคนพูดว่ากรณีของ The Last 14 ก็มีอารมณ์คล้ายๆ กับ 13 หมูป่า คือต้องการเซฟสิ่งที่ดูเป็นไปไม่ได้ หลายคนบอกว่าเคสที่หยิบขึ้นมานั้นดูหมดหวังที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราช่วยกันแค่กลุ่มเดียว หน่วยงานเดียว ไม่มีทางสำเร็จหรอก แต่ถ้าเราคิดเหมือนเป็นเรื่องระดับประเทศ ทุกคนต้องทำให้ได้ ร่วมมือกันจริงๆ เหมือนตอนช่วยเด็กทั้ง 13 คน เราเชื่อว่าโอกาสที่จะสำเร็จก็ยังพอมีอยู่” แพงเล่าถึงเจตนารมณ์ของตัวเอง
กว่าสิบปีของการทำ ThaiWhales ถึงจะไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้ทุนทรัพย์มหาศาล แต่พวกเขาก็เต็มใจ และพร้อมจะประคับประคองชุมชนเล็กๆ นี้ต่อไป เพราะทุกครั้งที่ได้พบวาฬหรือโลมาก็มีความสุข ไม่ต่างจากการได้เจอเพื่อนฝูงที่คุ้นเคยกันมานาน และต่อให้ไม่พบเจอกันก็ยังคงรู้สึกคิดถึงตลอดเวลา
ที่สำคัญคือการได้เห็นผู้คนมารวมพลัง เพื่อปกป้องสรรพสัตว์ และทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงเพียงลำพัง นับเป็นความสำเร็จอันคุ้มค่าที่ไม่มีสิ่งใดมาเทียบได้
ยิ่งในปัจจุบันที่เมืองไทยต้องการผลักดันแนวคิดเรื่อง Soft Power วาฬไทยอาจเป็นตัวช่วยที่ดีอย่างหนึ่ง ที่กระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกหันมาสนใจประเทศเรา ในฐานะของแหล่งอนุรักษ์สัตว์หายาก
แดงกับแพงจึงหวังที่จะเห็นผู้มีอำนาจเข้ามาสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้คล่องตัวมากขึ้น โดยอาจเริ่มจากการติดแท็กวาฬ เพื่อจะได้ศึกษาถึงการเคลื่อนตัว รวมถึงพฤติกรรมของวาฬได้ชัดเจน เพราะความรู้เหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกำหนดมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น เส้นทางสัญจรของเรือ ไปจนถึงการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้เยาวชนซึมซับและมีหัวใจที่รักสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
“ThaiWhales เป็นเหมือนหน้าที่ที่ผมทำได้ ทำแล้วมีความสุข เหมือนได้ช่วยเพื่อน แค่เผอิญว่าเขาเป็นเพื่อนที่ไม่ได้พูดภาษาเดียวกันเท่านั้นเอง ผมอยากทำให้คนรู้จักเขามากขึ้น ให้เขามีความอยู่ที่ดีขึ้น เพราะเขาเป็นเพื่อนผม” แดงย้ำความเชื่อที่สั่งสมมาตลอดทศวรรษ
ทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของคนกลุ่มเล็กๆ แต่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ที่ใฝ่ฝันถึงโลกอันสวยงามและยั่งยืน เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว สิ่งมีชีวิตทุกอย่างล้วนมีคุณค่าและความสำคัญไม่ต่างกันเลย
ปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 15 ชุมชนหรือเครือข่ายที่รวมพลังกันทำงานเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ThaiWhales คือเครือข่ายชุมชนต้นแบบประเด็นสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุม เท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDGs ข้อที่ 4), ประเด็นอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 14) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)
ค้นหาเหตุผลที่ทำให้ สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจจบชีวิตตนเอง เพื่อส่งเสียงให้ทุกคนฟังเขา
จากกลุ่มรณรงค์ในโลกออนไลน์ที่คัดค้านการตัดต้านต้นไม้เก่าแก่เพื่อสร้างคอนโด สู่นักขับเคลื่อนที่ปลุกกระแสการรักษ์ไม้ใหญ่ในเมือง
ครูผู้สร้างโรงเรียนพอดี พอดี โรงเรียนเพื่อเด็กพิเศษ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมเยาวชนโต๊ะโตะจัง
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
แรงบันดาลใจของช่างภาพสัตว์ป่าแถวหน้าของเมืองไทยที่มาจากพ่อ
โค้ชหนุ่ม Money Coach เบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย ผู้แปลหนังสือ พ่อรวยสอนลูก ที่คอยเป็นที่ปรึกษาการแก้หนี้ และวางแผนการใช้เงินให้แก่ผู้คน
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.