ล้วน ว่องวานิช : ชายผู้ซ่อนตัวข้างกระป๋องแป้ง

<< แชร์บทความนี้

เราต่างเฝ้ารอโอกาสดีๆ ที่อาจพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จ

แต่เมื่อวันหนึ่งโอกาสแบบนั้นมาถึง คุณจะกล้ากระโดดคว้าหรือไม่

เพราะบางครั้งโอกาสนั้นมาพร้อมความเสี่ยง และเรื่องที่ต้องตัดสินใจมากมาย

แต่ผู้ชายคนหนึ่ง ตัดสินใจกระโดดจากชีวิตลูกจ้างธรรมดาๆ มาสู่การเป็นเจ้าของกิจการ สามารถสร้างแบรนด์และสินค้าที่ประสบความสำเร็จข้ามเวลามานานเกือบ 100 ปี

เคล็ดลับแห่งความสำเร็จ นอกจากความกล้าแล้วยังอยู่ที่การพัฒนาตนเองอยู่ตลอด ไม่ยอมหยุดนิ่งที่จุดเดิม

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปรู้จักกับ หมอล้วน ว่องวานิช ชายผู้สร้างตำนานแป้งเย็นตรางู ผู้เริ่มต้นธุรกิจด้วยเงิน 100,000 บาท

แป้งเย็นตำรับแรกของโลก

หากคุณมีผลิตภัณฑ์แป้งตรางูอยู่ที่บ้าน ขอแนะนำให้ลองอ่านฉลากบนกระป๋องโลหะอันแสนคลาสสิก

คุณจะพบชื่อ ‘หมอล้วน ว่องวานิช’ เขียนอยู่ ในฐานะผู้สร้างตำนานแป้งเย็นตำรับแรกของโลก

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2490 มีทนายความคนหนึ่ง แวะมาหาหมอล้วนที่ห้างยาอังกฤษ (ตรางู) ที่หัวมุมถนนสี่พระยา หลังมีอาการระคายเคืองตามผิวหนังที่เกิดจากอากาศร้อน แม้จะทายาคาลาไมน์ทั่วตัวก็ยังไม่หายคัน หมอล้วนจึงทดลองผสมแป้งตัวใหม่ขึ้น มีสรรพคุณแก้อาการผดคัน พร้อมใส่น้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติให้กลิ่นหอมสดชื่น หลังนำไปใช้ปรากฏว่าทนายความผู้นั้นหายคัน แป้งสูตรใหม่นี้คือ แป้งเย็นตรางู ปริกลี่ฮีท ที่ต่อมากลายเป็นสินค้ายอดฮิตที่แทบบ้านต้องมีติดไว้ และยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่คู่คนไทยมาถึงวันนี้

ความจริงแล้ว นี่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่หมอล้วนพัฒนาขึ้น เพราะนับตั้งแต่เข้ามาเป็นเจ้าของกิจการห้างยาอังกฤษตรางู เมื่อปี 2471 เขาก็พยายามประยุกต์สินค้าที่มีอยู่ให้ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และสนองความต้องการของผู้คนในเมืองไทยมากที่สุด

หมอล้วนพยายามหาช่องว่างที่ตลาดขาดอยู่ หรือไม่มีใครเคยมองเห็นมาก่อน แล้วสร้างโอกาสทางธุรกิจขึ้นมา

ตัวอย่างหนึ่งที่หมอล้วนสังเกตเห็นคือ เมืองไทยอากาศร้อนมาก โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนที่บางปี อุณหภูมิสูงเกือบ 40 องศาเซลเซียส แถมไม่ได้ร้อนธรรมดา แต่เป็นร้อนชื้น ทำให้ตัวเหนียวเหนอะ เหงื่อออกง่าย กระทั่งเกิดอาการคันและผดผื่นขึ้นตามร่างกาย

วิธีคลายร้อนที่คนไทยนิยมสุดๆ เห็นจะไม่พ้นการนำดินสอพองมาละลายน้ำแล้วพรมหรือประตามเนื้อตัว แต่เวลาใช้งานก็ค่อนข้างเลอะเทอะ เวลาแห้งก็ยังแข็งตัว กลายเป็นแผ่นร่วงกราว แถมยังล้างออกยาก ล้างแล้วก็มักเหลือคราบดินสอพองติดอยู่

ด้วยความที่ห้างยาอังกฤษมีของดีที่เรียกว่า ยามะโนลา ใช้แก้ผดผื่นคัน แต่ขายไม่ดีนักเพราะเป็นยา หมอล้วนก็เลยต่อยอดด้วยการปรับปรุงสูตรให้เป็นเครื่องประทินผิวที่ใช้ได้ทุกวัน โดยนำมาละลายน้ำแล้วเติมน้ำอบไทยกับเมนธอลผสมไปเพิ่มความหอมกับความเย็น บรรจุขวดให้ใช้ได้สะดวก กลายเป็นจุดกำเนิดแป้งน้ำในเมืองไทย

ช่วงแรกหมอล้วนใช้วิธีแผลงชื่อเก่ามาชื่อผลิตภัณฑ์ใหม่ว่า แป้งน้ำมโนราห์ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อให้ทันสมัยขึ้นเป็น ‘แป้งน้ำควินนา’ มาจากคำว่า ‘ควีน’ ซึ่งหมายถึงหญิงที่เด่นที่สุดหรือสิ่งที่เลิศที่สุด ทันทีที่วางตลาด ปรากฏว่าแป้งน้ำขายดีเป็นเทน้ำเทท่า กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการเครื่องสำอางเมืองไทยเลย

ก่อนที่หมอล้วนจะนำแป้งน้ำควินนามาต่อยอดเป็นแป้งเย็นตรางู ปริกลี่ฮีท ที่เป็นแป้งเย็นแบบแห้งสูตรแรกในอีก 20 ปีให้หลัง และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้แป้งของคนไทยจนถึงทุกวันนี้

ไม่หยุดเพียงเท่านั้น หมอล้วนยังเจาะกลุ่มตลาดสำหรับเด็ก โดยผลิต ‘แป้งเด็กเซนลุกซ์’ ที่ใช้ง่าย ทาตัวลูกหลานแล้วหลับสบาย ไม่งอแงเพราะไร้ผดผื่นคัน โดยหมอล้วนได้นำภาพหลานชายคนแรกที่เคยถ่ายไว้เมื่อนานมาแล้ว มาใช้เป็นสัญลักษณ์บนกระป๋อง ซึ่งก็ฮิตติดตลาดไม่แพ้แป้งสำหรับผู้ใหญ่เลยแม้แต่น้อย

จากวันนั้นถึงวันนี้ แม้หมอล้วนจะจากไปนานกว่า 50 ปี แต่ผลิตภัณฑ์ที่เขาคิดค้นขึ้น ก็ยังเป็นสินค้าขายดีที่มีใช้กันเกือบทุกบ้าน สะท้อนให้เห็นถึงความสร้างสรรค์ที่มาพร้อมด้วยคุณภาพ ซึ่งกลายเป็นเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้แบรนด์ตรางูมีชีวิตยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน

ไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดลอย

ความจริงห้างขายตรางูไม่ได้เป็นธุรกิจของคนไทยมาก่อน

แต่เป็นของ นพ.โทมัส เฮย์วาร์ด เฮย์ อาจารย์หมอยุคบุกเบิกของศิริราชพยาบาล ถือเป็นร้านยาที่มีชื่อในสมัยนั้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนต่างชาติและชนชั้นนำของประเทศที่เชื่อมั่นในฝีมือของหมอเฮย์ ในร้านจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากอังกฤษอีกหลายอย่าง แต่หลังจากทำกิจการไปสักระยะหมอเฮย์ก็วางมือ และส่งต่อกิจการให้คนปรุงยาคู่ใจอย่างนายแมคเบธ ดำเนินการ ก่อนที่ปี 2471 นายแมคเบธจะรู้สึกอยากกลับไปพักผ่อนที่บ้านเกิด จึงหาผู้ที่มารับช่วงต่อ และหนึ่งในคนที่เขาเล็งไว้คือ หมอล้วน ว่องวานิช ซึ่งเคยทำงานที่ห้างยาอังกฤษตรางู มาก่อน

เหตุใด มร.แมคเบธ จึงมั่นใจในตัวของหมอล้วน?

หากย้อนดูประวัติของหมอล้วนจะพบว่าเส้นทางการเป็นแพทย์และเภสัชกรของเขานั้นเต็มไปด้วยขวากหนาม แต่เขาก็ผ่านมาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร และพยายามหาทางช่องทางต่อยอดให้ธุรกิจของตนก้าวไปข้างหน้า

หมอล้วนเกิดที่เกาะไหลลำ ประเทศจีน ครอบครัวมีฐานะยากจนมาก เขามีพี่สาวกับน้องชายอย่างละคน พอเกิดได้ไม่นานพ่อแม่ก็ตายจาก เขาจึงย้ายไปอยู่กับพี่สาวที่อีกตำบล แต่หลังจากนั้นไม่นาน พี่สาวและน้องชายก็ตายจากไปอีก หมอล้วนก็เลยอยู่ภายใต้การดูแลของพี่เขย พี่เขยคนนี้เองที่พาเด็กชายวัย 12 ปี ขนเสื่อผืนหมอนใบล่องเรือมายังเมืองไทย

แม้จะได้เข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ แต่เขาก็ไม่มีเงินซื้ออาหารกลางวันกิน ต้องอดมื้อกินมื้อ และช่วยพี่เขยทำงานที่โรงงานน้ำอัดลม หากแต่ด้วยความลำบากนี่เองทำให้เด็กชายกลายเป็นคนไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ และชอบขวนขวายหาความรู้ หลังจากพี่เขยเสียชีวิต เขาก็ย้ายไปทำงานที่ห้างขายยาตราบัว พร้อมกับเสาะหาตำราความรู้ต่างๆ เช่นการผสมยามาศึกษาด้วยตัวเอง พอตกกลางคืนก็ไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถอ่านตำราได้หลากหลายขึ้น

ครั้งหนึ่งเคยมีเพื่อนถามหมอล้วนว่า โตขนาดนี้ทำไมถึงยังมาเรียนกับเด็กๆ อีก หมอล้วนจึงตอบกลับไปว่า “เนื่องจากเข้าโรงเรียนเมื่ออายุมากแล้วจึงอยากเรียนให้มีความรู้ทันคนอื่น โดยยอมโง่เสียในวันนี้ดีกว่าจะโง่ต่อไปในวันข้างหน้า”

จากห้างยาตราบัว หมอล้วนย้ายไปทำงานอีกหลายแห่ง เช่นห้างยาอังกฤษ (ตรางู) ก่อนจะเขยิบมาเป็นผู้ช่วยเภสัชกรที่้ห้างยาบางกดินเปนซารี (ตราช้าง) โดยเจ้าของร้านที่เป็นหมอจุฬาฯ ก็คอยถ่ายทอดความรู้ให้ต่างๆ ให้ จนหมอล้วนมีความรู้เรื่องแพทย์ติดตัวมาด้วย ก่อนจะโยกย้ายไปเป็นผู้ช่วยแพทย์ที่ห้างยาเยาวราช และช่วงที่เมืองไทยเกิดกาฬโรคระบาด เขาก็เป็นหนึ่งในทัพหน้าที่ออกต่อสู้กับโรคร้ายจนสงบลงในอีกหลายเดือนต่อมา

ด้วยประสบการณ์อันช่ำช่อง บวกกับมีเพื่อนชักชวนให้มาทำกิจการร่วมกัน หมอล้วนจึงตัดสินใจกระโดดมาทำกิจการของตัวเองเป็นครั้งแรก ในชื่อชื่อ ‘ห้างขายยาสมิทฟาร์มาซี’ ด้วยอายุเพียง 32 ปีเท่านั้น

หลังทำกิจการของตัวเองมาได้ 4 ปี หมอล้วนก็ต้องเจอโจทย์ที่ท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เมื่อแมคเบธ นายห้างยาอังกฤษตรางู ชักชวนให้เขารับซื้อกิจการทั้งหมดด้วยเงิน 100,000 บาท เพราะเห็นว่าเคยทำงานที่นี่มาก่อน บวกกับมีความรู้เรื่องภาษาอังกฤษดี น่าจะบริหารร้านได้อย่างราบรื่นสมกับเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งอย่าง หมอเฮย์

ถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่าเงินแสนเดียวก็ไม่ได้สูงอะไรมากมายนัก แต่ถ้าลองคิดย้อนกลับไปเมื่อ 90 ปีที่แล้ว เงินจำนวนนี้อาจมีค่าหลายล้านบาทเลยทีเดียว หมอล้วนใช้เวลาคิดเพียงไม่นาน ก็ตอบตกลงทันที

นอกจากต้องการมีกิจการที่เป็นของตัวเองจริงๆ แล้ว ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่ทำให้หมอล้วนไม่ลังเลคือ ห้างยาแห่งนี้มีเครดิตดี ทั้งประวัติความเป็นมา ตัวยา ความสัมพันธ์กับคู่ค้าในต่างประเทศ รวมถึงลูกค้าประจำที่อยู่ร่วมกันมาหลายสิบปี หมอล้วนจึงยอมเสี่ยงด้วยการนำเงินทุนส่วนตัว และขอกู้เงินจากคนรู้จักเพื่อรับช่วงห้างยาตรางู

แน่นอนการตัดสินใจครั้งนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะนอกจากกิจการจะเจริญรุ่งเรือง ขยายสาขาไปได้หลายแห่งแล้ว ธุรกิจนี้ยังกลายเป็นรากฐานของตระกูลว่องวานิชที่ถูกส่งต่อจนถึงทายาทรุ่นที่ 4 ในปัจจุบัน

ของดีต้องขายให้เป็น

กลยุทธ์ความสำเร็จของห้างยาอังกฤษตรางู นอกจากคุณภาพและผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างแล้ว การโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็เป็นอีกประเด็นที่หมอล้วนใส่ใจเป็นพิเศษ

หมอล้วนเป็นนักธุรกิจรายแรกๆ ที่นำผลิตภัณฑ์ไปโฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์ ทั้งวิธีการจัดโต๊ะแสดงสินค้าแล้วให้ เทิ่ง สติเฟื่อง โฆษกและพิธีกรชื่อดังโฆษณาบรรยายสรรพคุณแบบสดๆ รวมทั้งยังติดต่อไปยัง สรรพสิริ วิรยศิริ เจ้าพ่อวงการโฆษณาอีกคนให้จัดทำโฆษณาการ์ตูนชุดกระจกวิเศษ เพื่อโปรโมตแป้งน้ำควินนา พร้อมกับคำโฆษณาที่แสนติดหูว่า

“กระจกวิเศษบอกข้าเถิด ใครงามเลิศในปฐพี”

“อ๋อ! ใช่.. สโนไวท์นะซิ ทั่วทั้งปฐพี ไม่มีใครงามเกิน”

“อุเหม่.. ทำยังไงถึงเป็นอย่างนั้นไปได้?”

“ก็เพราะสโนไวท์งามทั่วกายา ใบหน้าขาวผุดผาด ปราศจากสิวฝ้า เพราะใช้ควินนาอยู่เป็นประจำ ผิวกายก็แสนสบาย เพราะควินนาช่วยป้องกัน รักษาผดผื่นคัน ทุกวันหลังอาบน้ำชโลมกาย สดชื่นเย็นสบายใช้แป้งน้ำควินนา อยากสวย อยากสบาย เหมือนอย่างสโนไวท์ ใช้แป้งน้ำควินนา”

หลังโฆษณาชุดนี้ออกอากาศก็เป็นที่กล่าวขานในหมู่ผู้ชม และทำให้ยอดขายของแป้งน้ำดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หมอล้วนเลยเกิดไอเดียทำโฆษณาอีกชุดสำหรับแป้งตรางู ปริกลี่ฮีท ชื่อชุดว่า ‘ร้อนเหลือ เหงื่อไหล’ หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อว่า ‘การ์ตูนหัวล้าน

ปัจจุบันการ์ตูนทั้งสองเรื่องนี้ได้กลายเป็นตำนานโฆษณาและมรดกทางปัญญาชิ้นสำคัญของเมืองไทย

นอกจากนี้ หมอล้วนยังใช้การตลาดเชิงรุก ด้วยการเช่าเรือเพื่อนำยาและสินค้าอื่นๆ ไปจำหน่ายในต่างจังหวัด เรียกกันว่า ‘เรืองูทอง’ เป็นเรือยาวประมาณ 30 ฟุต มีลักษณะคล้ายๆ เรือบรรทุกข้าว ปีหนึ่งออกเดินทาง 3 เที่ยว เที่ยวละ 100 วัน โดยล่องไปตามจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี สิงห์บุรี และอุทัยธานี

จุดเด่นของเรืองูทอง คือ ตรางูที่อยู่ข้างลำเรือ และเสียงเพลงที่ดังก้องไปทั่วคุ้งน้ำผ่านเครื่องขยายเสียง ซึ่งถือเป็นของแปลกสำหรับคนต่างจังหวัดในสมัยนั้น โดยหลายคนที่มาซื้อยา ก็เพราะอยากได้ยินเสียงเพลงแบบชัดๆ นั่นเอง

ต่อมาเมื่อภาพยนตร์เริ่มได้รับความนิยม เรืองูทองก็แปลงร่างเป็นเรื่องฉายหนัง โดยมีทั้งหนังไทย หนังฝรั่ง หนังแขก ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ซึ่งเสียงคนพากย์ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็เหล่าคนเรือ ทั้งพนักงานขาย นายท้ายเรือ ช่างเครื่อง และกะลาสี เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เสียงนางเอกอาจจะมีเสียงเหมือนผู้ชายไปหน่อย

ส่วนช่วงเวลาการขายก็จะอยู่ช่วงก่อนฉายเป็นหลัก เพราะถ้าหลังจากนั้นอาจไม่เหลือคนซื้อแล้วก็ได้ อย่างไรก็ดีก็ใช่ว่าการเดินทางจะราบลื่นไปหมด เพราะบางครั้งเรืองูทองก็ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ ทั้งพายุ ฝนตก หรือน้ำในคลองแห้ง จนต้องอาศัยแรงของพนักงานทำหน้าที่ลากเรือ บางทีก็ถูกคู่แข่งกลั่นแกล้ง โดนเจาะเรือ ถูกพวกมือดีมาขโมยข้าวของไป โดยเฉพาะพวกเสื้อผ้า อาหารแห้ง ถือเป็นเป้าของพวกแมวขโมยมากเป็นพิเศษ

เรืองูทองนั้นยังคงแล่นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหมอล้วนจะจากไปแล้วเกือบ 10 ปีก็ตาม ถือเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้คนจดจำแบรนด์งูมีลูกศรปักได้อย่างรวดเร็ว และเข้าถึงไม่แพ้การโฆษณาผ่านหน้าจอเลยแม้แต่นิดเดียว

อยากเรียนให้มีความรู้ทันคนอื่น โดยยอมโง่เสียในวันนี้ดีกว่าจะโง่ต่อไปในวันข้างหน้า

ล้วน ว่องวานิช : ชายผู้ซ่อนตัวข้างกระป๋องแป้ง

"หมอโบราณอย่างผมก็ช่วยคนไข้ได้"

แม้ได้ชื่อว่าเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง เป็นนายห้างร้านยาลำดับต้นๆ ของเมืองไทย หากแต่ชีวิตของหมอล้วนก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ โดยเฉพาะเมื่อเมืองไทยเข้าสู่ภาวะสงครามในฐานะพันธมิตรของญี่ปุ่น

อย่างแรกเลยคือ ชื่อร้านมีคำว่า ‘อังกฤษ’ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับญี่ปุ่นปรากฏอยู่ จึงถูกบีบจากทางการให้เปลี่ยนชื่อเหลือเพียง ห้างยาตรางู เท่านั้น

อีกปัญหาเกิดจากการที่หมอล้วนเป็นคนมีมนุษยธรรมชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ก็เลยส่งยาไปช่วยพี่น้องชาวจีนที่บาดเจ็บจากเหตุสงครามหลังญี่ปุ่นพยายามบุกยึดจีน จนรัฐบาลไทยไม่พอใจและส่งตำรวจสันติบาลมาจับกุมในข้อหาสมคบกันตั้งสมาคมลับอันเป็นภัยต่อสังคม ท้ายที่สุดหมอล้วนถูกสั่งเนรเทศออกนอกเมืองไทย เขา ภรรยาและบุตรสาวคนเล็กจึงต้องลี้ภัยไปที่ฮ่องกง

ในช่วงที่หมอล้วนประสบภัยทางการเมือง กิจการแป้งตรางูก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก โชคดีที่ได้พนักงานอาวุโส ชื่อ ป้าอู๊ด ซึ่งจำสูตรการผลิตสินค้าต่างๆ ได้ ทำหน้าที่ควบคุมพนักงานที่เหลืออยู่ให้ผลิตแป้งน้ำและยาออกจำหน่าย ส่งผลให้กิจการของห้างยายังคงดำเนินต่อไปได้ แม้ไม่ค่อยรุ่งเรืองเท่าใดนักก็ตาม

ส่วนตัวหมอล้วนเอง ก็ใช้โอกาสนี้ตั้งร้านยาขึ้นที่ฮ่องกง ชื่อ Sun Sun Hong พร้อมกับจัดซื้อข้าวสารอาหารแห้งเก็บไว้จำนวนมาก เพื่อเตรียมเสบียงคอยช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยเฉพาะนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ที่นั่น

ครั้งหนึ่งมีเรื่องเล่าว่า พอทหารญี่ปุ่นทราบว่าบ้านของหมอล้วนมีข้าวสารเป็นจำนวนมาก จึงเข้าไปขอ หมอปฏิเสธไม่ได้จึงแอบเจาะกระสอบข้าวสารไว้ เมื่อทหารญี่ปุ่นลากกระสอบไป ข้าวสารจึงร่วงไปตามพื้นเป็นจำนวนมาก เมื่อทหารเหล่านั้นคล้อยหลังไป หมอก็สั่งให้คนไปเก็บข้าวสารที่ร่วงกลับมาไว้ที่คลังเสบียงตามเดิม

นอกจากเปิดร้านขายยาแล้ว หมอยังรับหน้าที่แพทย์อาสาที่โรงพยาบาลของสภากาชาดของมณฑลกวางสี คอยดูแลผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบและผู้ป่วยจากโรคภัยต่างๆ จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงแห่งจีนโพ้นทะเล จากจอมพลเจียงไคเช็ค

นอกจากนั้นยังช่วยขบวนการเสรีไทยให้ทำงานได้ลุล่วง โดยช่วงนั้น สงวน ตุลารักษ์ ได้ลักลอบออกจากประเทศเพื่อติดต่อกับเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา หากแต่ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่เชื่อว่ามีขบวนการนี้เกิดขึ้นจริง จนกระทั่งสงวนมีโอกาสพบกับหมอล้วน และเล่าเรื่องเสรีไทยให้ฟัง หมอล้วนจึงนำเรื่องนี้ไปรายงานให้นายพลเจ็งไกหมิน หัวหน้ากองสืบราชการลับฟัง ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเชื่อว่ามีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นเกิดขึ้นในเมืองไทยจริงๆ

หลังสงครามเลิก หมอล้วนจึงได้รับโทรเลขเชิญให้กลับมาเมืองไทย รวมทั้งได้พบกับ อ.ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ซึ่งกล่าวแสดงความเสียใจที่หมอต้องถูกเนรเเทศไปหลายปี หากแต่หมอล้วนกลับตอบรัฐบุรุษอาวุโสไปว่า

“ผมเองกลับไม่เคยเสียใจเลย ตรงกันข้ามผมกลับขอบใจใครก็ตามที่ส่งผมออกไปนอกประเทศไทย เพราะทำให้มได้เปิดหู เปิดตา ได้ท่องเที่ยวและเห็นภูมิประเทศต่างๆ ที่น่าสนใจและได้พิสูจน์ฝีมือในการทำการค้าของผมว่า มิใช่แต่ในประเทศไทยเท่านั้นที่ผมทำการค้าได้ แม้แต่ในต่างประเทศในดินแดนของคนฉลาดและคนขยัน ผมก็สามารถค้าได้

“อีกประการหนึ่งที่ทำให้ผมมีความภาคภูมิใจในตัวเองที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือกิจการของประเทศไทยในยามคับขัน และที่สำคัญที่สุดก็คือ หมอโบราณๆ อย่างผมก็พอมีฝีมือช่วยเหลือคนเจ็บป่วยได้”

แม้ชื่อของหมอล้วนอาจจะไม่โดดเด่นเท่ากับนักธุรกิจร่วมยุค หากแต่คงปฏิเสธได้ยากว่า การที่นายห้างผู้สร้างตัวเองจากศูนย์ได้สำเร็จ ก็เพราะการไม่หยุดนิ่ง และพัฒนาความสามารถตัวเองเพื่อก้าวให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นแบบอย่างที่ไม่เคยล้าสมัย ไม่ว่าจะผ่านนานอีกกี่สิบปีก็ตาม

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสือสาธุขนานุสรณ์ ที่ระลึกพิธีพระราชทานเพลงศพนายล้วน ว่องวานิช
  • หนังสือ 100 ปีบริษัทห้างยาอังกฤษตรางู
  • นิตยสารผู้นำธุรกิจ ปีที่ 2 ฉบับที่ 21 กันยายน 2531
  • เว็บไซต์ The British Dispensary (LP)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.