ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน พื้นที่ชายแดนใต้เคยได้ชื่อว่าเป็นย่านการค้าที่คึกคัก แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย ผู้คนแม้ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม แต่ก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเสมอมา
แต่พลันที่สถานการณ์ความไม่สงบปะทุขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ภาพความงดงามก็เริ่มถูกบดบังด้วยความขัดแย้ง ความรุนแรง และความสูญเสีย ส่งผลให้ปลายด้ามขวานแห่งนี้กลายเป็นแดนอันตรายที่หลายคนหวาดกลัว ไม่กล้าเฉียดใกล้เรื่อยมาถึงปัจจุบัน
ความฝันที่อยากพาบรรยากาศความเป็นมิตรที่คุ้นเคยกลับคืนมา กลายเป็นแรงผลักดันให้สถาปนิกและคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งรวมตัวเป็น Melayu Living นำเอาภูมิปัญญา ประเพณี ตลอดจนเรื่องเล่าจากบรรพบุรุษ มาต่อยอดผสมผสานจนเกิดเป็นงานสร้างสรรค์ที่โดดเด่น และสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของชุมชน ด้วยหวังที่จะทำให้บาดแผลที่ฝังแน่นในใจของใครหลายคนค่อยๆ เลือนหายไป
ที่ผ่านมาพวกเขาอยู่เบื้องหลังงานอย่าง Terima Kresek หนึ่งในกิจกรรมวัฒนธรรมที่จัดขึ้นในสถานที่ประวัติศาสตร์อย่างมัสยิดกรือเซะ หรือ Pattani Decoded เทศกาลประจำทุก 2 ปี ที่เชื้อเชิญนักออกแบบทั้งในและนอกพื้นที่มาร่วมค้นหาคุณค่าที่ซุกซ่อนอยู่ในหัวเมืองชายแดนใต้ รวมถึงกิจกรรมสร้างสรรค์อีกหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่เปลี่ยนภาพจำของผู้คนที่มีต่อดินแดนเก่าแก่แห่งนี้เท่านั้น แต่ยังช่วยปลุกพลังคนรุ่นใหม่ให้อยากเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาเมืองอีกต่างหาก
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงถือโอกาสดี ชักชวน ราชิต ระเด่นอาหมัด, ฮาดีย์ หะมิดง และ จั้ม–บศกร บือนา สามตัวแทนจากกลุ่ม Melayu Living มาร่วมพูดคุยถึงเบื้องหลังความคิด การทำงาน รวมถึงความฝันที่อยากหลอมรวมทุกความแตกต่างให้กลายเป็นหนึ่งเดียว พร้อมกับก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่สันติสุขอย่างแท้จริง
“ผมไม่เคยสงสัยตัวเองเรื่องความรักธรรมชาติ เพราะผมมองเห็นความพิศวงของสิ่งมีชีวิตต่างๆ มาตลอด”
แม้ไม่รู้ว่าอะไรคือเหตุผลดลใจ แต่แดงก็หลงใหลชีวิตของเพื่อนต่างสายพันธุ์ตั้งแต่วัยเยาว์
เขาชอบชมภาพยนตร์ทุกเรื่องที่มีสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง มีความสุขที่เห็นมด แมลง หรือจิ้งจกเคลื่อนตัวไปตามจุดต่างๆ ภายในบ้าน รู้สึกทึ่งเมื่อทราบข่าวว่าสัตว์ทะเลหรือฝูงนกอพยพจากซีกโลกหนึ่งมายังอีกซีก รวมทั้งเคยดำน้ำเพียงลำพังนาน 6 ชั่วโมง เพื่อซึมซับทัศนียภาพของโลกใต้ทะเล
“เวลาที่เราลงไปดำน้ำ ก็ได้พบสัตว์ทะเลเต็มไปหมด อย่างฉลามก็ยังว่ายผ่าน เราว่ามันก็น่ารักดีนะ ส่วนเรื่องวาฬ เหมือนเป็นความฝันมากกว่า เพราะตลอด 30-40 ปีมานี้ วาฬถือเป็นสัตว์ที่ครองใจผู้คนส่วนใหญ่ ยิ่งในฟุตเทจหรือสารคดีทั่วโลก ไม่มีใครที่ดูแล้วคิดว่ามันไม่น่ารัก ผมยังมีความฝันเลยว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากไปดูวาฬที่ตองกาสักครั้ง”
เวลานั้นความรับรู้เรื่องวาฬกับเมืองไทยค่อนข้างไกลตัว เพราะแทบไม่เคยมีใครพบเห็นตัวเป็นๆ จะมีก็แต่ซากโครงกระดูกวาฬที่เก็บตามวัดหรือชายฝั่งเท่านั้น กระทั่งเดือนสิงหาคม 2535 นิตยสารสารคดี นำเสนอบทความและภาพถ่ายของ ‘วาฬบรูด้า’ ณ หาดตุ้งกู จังหวัดชุมพร เป็นครั้งแรกของประเทศ ทำให้แดงเกิดความฝันว่า ไม่แน่วันหนึ่งเขาอาจจะได้พบกับพี่เบิ้มของท้องทะเลไทยกับเขาบ้าง
“ตอนปี 2545-2546 มีการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด แล้วคุณเจริญ วัดอักษร แกนนำเขาใช้เทคนิคที่ Soft เพื่อแสดงให้เห็นว่า ที่ตรงนี้ไม่ควรก่อสร้างโรงไฟฟ้า เรื่องหนึ่งคือ ทรายตรงบ่อนอกไม่เหมือนทรายที่พัทยาหรือบางแสน เวลาเหยียบลงไปปุ๊บจะเป็นโคลน ซึ่งเราก็มารู้ภายหลังว่าหาดโคลนนี่แหละที่สร้างสิ่งมีชีวิตต่างๆ ให้เกิดขึ้นมา แต่อีกเรื่องก็คือวาฬ ตอนนั้นผมขับรถคนเดียวจากกรุงเทพฯ ถึงประจวบคีรีขันธ์ 3-4 ครั้ง แล้วเขาก็เปิดคลิปให้ดู ก็จะเห็นวาฬโผล่ขึ้นมาอยู่ข้างเรือ เพียงแต่เรายังไม่ได้ทำอะไร เพราะลงไปก็ยังไม่เจอตัวสักที”
หากจุดเปลี่ยนที่ส่งผลให้แดงเข้ามาคลุกคลีกับวงการวาฬเต็มตัว เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 หลังจากที่เขาอ่านหนังสือพิมพ์ แล้วพบข่าวเล็กๆ ว่ามีวาฬบรูด้า 4 ตัว เกยตื้นตามจุดต่างๆ ทั้งบางปู สมุทรสาคร และระยอง ภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ แต่น่าแปลกที่จากนั้นก็ไม่มีรายละเอียดหรือผู้ที่จะมาอธิบายเหตุผลว่าโศกนาฏกรรมนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ต้องยอมรับว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมานานกว่าสิบปี ได้กลายเป็นภาพจำที่ผู้คนทั่วประเทศต่างนึกถึงเป็นลำดับต้นๆ เมื่อเอ่ยถึงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อย่างปัตตานี ยะลา นราธิวาส และเป็นสิ่งที่ราชิตและเพื่อนๆ ต้องตอบคำถามทุกครั้งเวลาที่พบปะผู้คนจากนอกพื้นที่
“ความจริงพื้นที่สีแดงไม่ได้มีเยอะมาก เรายังมีพื้นที่ธรรมชาติ หรือแม้แต่สถาปัตยกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน แต่ด้วยความรุนแรงที่เกิดขึ้น ผู้คนจึงโฟกัสตรงนั้นมากกว่า เวลาค้นหาใน Google ก็จะมีแต่เรื่องแบบนี้ขึ้นมา หรือเมื่อก่อนก็จะมีเอาเรื่องพวกนี้มาแซว แรกๆ ก็รู้สึกเจ็บ รู้สึกโกรธเหมือนกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรารู้สึกเศร้าที่เขาคิดแบบนั้นมากกว่า” สถาปนิกหนุ่มกล่าว
ถึงไม่อาจลบล้างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า เสน่ห์และเรื่องราวดีๆ ในดินแดนแห่งนี้จะจางหายไป ในวันที่ 23 ตุลาคม 2558 อาจารย์วิวัฒน์ จิตนวล ประธานกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ สมาคมสถาปนิกสยามฯ ในเวลานั้น ได้ริเริ่มผลักดันให้สถาปนิกรุ่นใหม่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ลุกขึ้นมาช่วยพัฒนาเมืองในแบบที่ตัวเองต้องการ จนเกิดเป็นกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ เขตภาคใต้ตอนล่าง
สมาชิกรุ่นแรก นอกจากราชิต ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มแล้ว ยังมี อนันต์ กาเดร์, หมาน-ศิวกร สนิทวงศ์, ประกอบ กาซันการัดชอ, สมโภชน์ เจ๊ะอาลี และอาซีซี ยีเจะแว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่เรียนจบจากวิทยาลัยเทคนิคยะลา
“ผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์วิวัฒน์ มีหน้าที่ขับรถให้เวลาแกลงมาปัตตานี แล้วบังเอิญวันนั้นมีประชุม ซึ่งมีพี่ๆ น้องๆ สถาปนิกในพื้นที่มารวมตัว พอเสร็จประชุมอาจารย์ก็บอกว่าจะทำศูนย์ย่อยตามพื้นที่ต่างๆ เช่นเกาะสมุย ภูเก็ต แล้วก็ 3 จังหวัดด้วย เราก็ไม่คิดอะไรมาก แต่พอเขาคัดเลือกประธาน ก็มีรุ่นน้องคนหนึ่งโผล่มาจากไหนไม่รู้บอกว่า ขอโหวตแบราชิตด้วย 1 เสียง ตอนนั้นก็ไม่คิดว่าจะมีใครเลือก เพราะผมเปิดออฟฟิศอยู่ที่หาดใหญ่ แต่สุดท้ายเขาก็เลือกเป็นเสียงส่วนมาก” ราชิตเล่าที่มาที่ไป
แม้ราชิตไม่ใช่นักกิจกรรมมาก่อน แต่ด้วยความเป็นคนมลายูขนานแท้ เนื่องจากพ่อแม่เป็นคนปัตตานี และตัวเขาเองก็เกิดที่ยะลา บวกกับสถานการณ์ความรุนแรงที่กำลังคุกรุ่น ทำให้ราชิตเต็มใจขับเคลื่อนภารกิจนี้อย่างสุดความสามารถ
โดยภาพที่เขากับเพื่อนๆ ฝันเห็น คือการนำเรื่องราวดีๆ ในพื้นที่ซึ่งมีอยู่เต็มไปหมด ทั้งประวัติศาสตร์ 400 กว่าปี ภาพที่สวยงาม บทกวีที่ไพเราะ หรือแม้แต่ลวดลายผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์ มาถ่ายทอดให้คนภายนอกเข้าใจ ตลอดจนปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้คนในพื้นที่ที่มีต่ออาชีพสถาปนิกเสียใหม่ว่า นอกจากการออกแบบบ้านเรือนแล้ว พวกเขายังสามารถช่วยออกแบบเมืองและชุมชนได้ด้วย
แต่แน่นอนการใช้ชื่อทางการคงดูไม่เป็นมิตรเท่าใดนัก พวกเขาอยากได้ชื่อเล่นที่ใครต่อใครก็เข้าถึงได้ จนบังเอิญเจอโพสต์ Facebook ของรุ่นพี่สถาปนิกคนหนึ่งซึ่งเขียนคำประกอบภาพถ่ายห้องรับแขกของบ้านมลายูโบราณว่า Melayu Living แล้วรู้สึกตรงใจ เพราะพวกเขาก็อยากเป็นประตูบานแรกที่เปิดต้อนรับผู้คนให้มาสัมผัสบ้านหลังใหญ่นี้เช่นกัน จึงตัดสินใจนำคำนี้มาใช้เรียกแทนกลุ่มนับแต่บัดนั้น
โดยคำว่า ‘มลายู’ สำหรับพวกเขาไม่ได้สื่อความหมายถึงศาสนาอิสลามอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ แต่หมายถึงพื้นที่ ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราว และผู้คนที่ผูกพันกันมาหลายร้อยปี
พอดีในเวลานั้น บ้านข้างๆ ร้านน้ำชาของอาซีซี และสมโภชน์บนถนนปัตตานีภิรมย์ว่างอยู่ และเมื่อไปดูบรรยากาศภายในตัวบ้าน ก็พบว่าที่นี่อยู่ติดแม่น้ำ มีต้นไทรสวยงาม แถมยังตั้งอยู่ในชุมชนชาวจีน ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่บ้างอีกต่างหาก น่าจะเข้ากับคอนเซปต์การทำเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่เน้นความหลากหลาย จนสุดท้ายก็ได้ประสานขอพบกับ ปั้ม-ปิยวัชร วัฒนายากร เจ้าของบ้าน ซึ่งโยกย้ายไปอยู่ที่กรุงเทพฯ
“ตอนนั้นทำพรีเซนต์ว่าเรามีไอเดียอยากทำกิจกรรม โดยมีผม อาซีซี กับพี่หมาน ขึ้นไปด้วยกัน ซึ่งน่าเหลือเชื่อมาก คือเราไม่รู้จักกันมาก่อน แล้วอายุก็ต่างกันเกือบ 20 ปี แต่เราคุยเรื่องราวในอดีต พูดถึงผู้ใหญ่ที่รู้จัก แล้วพี่ปั้มก็เล่าให้ฟังว่าบ้านนี้ไม่มีใครใช้งานมาหลายปี แกเคยจะรื้อทิ้งแล้วทำเป็นทาวน์เฮาส์ใหม่ เพราะมันโทรมมาก แต่เหมือนมีอะไรบางอย่างทำให้แกเปลี่ยนใจยังไม่รื้อ จนเรามาคุย แกก็รู้สึกว่าอยากให้เราช่วยดูแลบ้านหลังนี้ให้ ถ้าอยากทำกิจกรรมอะไรก็ไปใช้ประโยชน์ได้เลย
“แกเชื่อใจเราถึงขั้นที่ว่าถ้าไม่มีงบก็ทำไปก่อน ไว้มีรายได้ค่อยมาจ่ายค่าเช่าให้แกก็ได้ เราก็เลยได้บ้านมา ซึ่งด้วยความที่ไม่มีเงิน แล้วตัวบ้านก็รกร้าง ผุพัง เพราะไม่มีใครอยู่มานาน ก็ต้องใช้ทั้งไอเดีย ใช้ทั้งแรงงานกลุ่ม มาออกแบบว่าจะจัดการพื้นที่อย่างไรบ้าง ช่วยกันรื้อ เคลียร์สถานที่ จนเกิดเป็น ‘บ้านประตูเหลือง’ ซึ่งคนในพื้นที่รู้จัก”
เมื่อทุกอย่างลงตัว Melayu Living ก็เริ่มจัดกิจกรรมแรกคือ Hello Future เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2559 โดยชวนสถาปนิกรุ่นพี่อย่าง แจ๊ค-ปิตุพงษ์ เชาวกุล ผู้ก่อตั้งบริษัท Supermachine Studio มาพูดคุย เพราะงานของแจ๊คนอกจากความสวยงามแล้วยังมีความสร้างสรรค์และล้ำสมัย น่าจะตอบโจทย์ภาพอนาคตที่พวกเขาอยากเห็นในปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมงานถึง 200 คน
“คำถามแรกที่พี่แจ๊คถามคือ ปัตตานีน่ากลัวไหม อันตรายหรือเปล่า เราก็บอกไปตรงๆ ว่าปลอดภัย แกก็เลยโอเค พอมาถึง เราก็เลยชวนไปปั่นจักรยานเข้าไปในหมู่บ้านต่างๆ ที่ถูกมองว่าเป็นพื้นที่สีแดง ไปกินน้ำชากับชาวบ้าน เพื่อทลายกรอบความน่ากลัวบางอย่าง จากนั้นเราก็จัดเสวนาในย่านเมืองเก่า แต่เล่าถึงอนาคต มองไปข้างหน้า ซึ่งมีคนมาร่วมงานทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ เต็มไปหมดเลย
“ความจริงเราจัดงานนี้ไม่ได้มีความคาดหวังที่ชัดเจน เราแค่อยากเริ่มต้น ซึ่งข้อเด่นอย่างหนึ่งของปัตตานี คือเป็นเมืองที่มีคนขับเคลื่อนกิจกรรมตลอดเวลา มีศิลปิน มีคนที่ทำงานคราฟต์เยอะมาก คนอยากแสดงออกเยอะ บางคนก็เพิ่งย้ายจากกรุงเทพฯ กลับมาอยู่บ้านด้วย งานนี้จึงเหมือนเป็นเวทีแรกๆ ที่ทำให้เขามาเจอกัน เป็นพื้นที่ปลอดภัย เนื่องจากเราไม่คุยเรื่องศาสนา ความเชื่อหรือความรุนแรงใดๆ เลย คือเราไม่ได้ปฏิเสธ แต่มองว่ามีกลุ่มอื่นที่คุยเรื่องนี้เข้มข้นอยู่แล้ว และเราก็ไม่ถนัดด้วย”
จากการเสวนาครั้งนั้น ทำให้ทีม Melayu Living เริ่มคิดการทำงานรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ได้จำกัดกรอบอยู่แค่วงสถาปนิกเท่านั้น แต่ยังอยากชักชวนคนที่มีฝันอยากพัฒนาเมืองไปด้วยกันมาร่วมทีม โดยไม่จำกัดว่าจะทำอาชีพอะไร ทั้งกราฟิกดีไซเนอร์ นักเขียน เอ็นจีโอ เจ้าของร้านพิซซา หรือแม้แต่เจ้าของร้านกาแฟ กระทั่งสุดท้ายกลุ่มสร้างสรรค์นี้ก็ค่อยๆ เติบโตขึ้น จนมีสมาชิกเกือบ 20 ชีวิต โดยทุกคนต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ อยากดึงเสน่ห์ที่ซุกซ่อนอยู่ในเมืองแห่งนี้ออกมาให้ผู้คนได้สัมผัสมากยิ่งขึ้น
“เพราะเราไม่ได้มาจากไผ่กอเดียว แต่มาจากหลายที่หลายทาง ในเชิงภูมิศาสตร์ ปัตตานีอยู่ตรงกลางระหว่างไทยกับโลกมลายู เรารับวัฒนธรรมอังกฤษผ่านโลกมลายู รับวัฒนธรรมอเมริกันผ่านสังคมไทย รับความเป็นศาสนาผ่านโลกอาหรับ คนที่นี่จึงมีหลายแบ็กกราวนด์ ซึ่งมารวมตัวกันสร้างเมืองที่น่ารักขึ้นมา” ฮาดีย์วิเคราะห์เอกลักษณ์ของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
จากการผสมผสานทางวัฒนธรรม ทำให้ดินแดนแห่งนี้มีเรื่องเล่าเต็มไปหมด ทั้งการอยู่ร่วมกันของกลุ่มที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ด้วยก่อนหน้านั้นที่นี่เคยเป็นจุดแวะพักจอดเรือของพ่อค้าชาวจีน ชาวอินเดีย และชาวยุโรป หรือแม้แต่การที่อยู่ใกล้ชิดกับมาเลเซีย ทำให้หลายคนได้รับอิทธิพลเรื่องศิลปะ ความบันเทิงจากทางฝั่งนั้นมาไม่น้อย เช่นเมื่อ 20-30 ปีก่อน วัยรุ่นต้องมารวมตัวกันในตลาดนัดปาลัสเพื่อหาซื้อกางเกงยีนส์ริมแดง หรือเสื้อวงดนตรีที่ชื่นชอบ เช่น Nirvana หรือศิลปินพังก์ร็อกที่เคยฟังผ่านคลื่นวิทยุในมาเลเซีย นับเป็นเสน่ห์ที่โดดเด่น ไม่แพ้พื้นที่อื่นในเมืองไทยเลย
ทั้งหมดนี้กลายเป็นต้นทุนสำคัญที่กลุ่ม Melayu Living นำมาใช้ออกแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่กิจกรรมเวิร์กชอปที่นำเรื่องสถาปัตยกรรมการปรับปรุงอาคารเก่ามาเสนอ หรือกิจกรรมเชิงศิลปะอย่าง มลายูรามา ซึ่งครั้งแรกได้นำหนังสั้นจาก Ryan Anderson นักสร้างหนังสั้นลูกครึ่งเยอรมัน-อเมริกัน ซึ่งเคยฉายผลงานมาแล้วทั่วโลก มานำเสนอให้คนที่นี่ได้รับชม หรือแม้แต่นิทรรศการภาพถ่ายชุด NAYU • NAYU (นายู น่าอยู่) ของ SORAY DENG ช่างภาพหนุ่มไฟแรงแห่งกรือเซะ ที่ตระเวนถ่ายภาพทั่ว 3 จังหวัดชายแดนใต้มากว่า 10 ปี รวมถึงการเป็นทีมทำงานกับ ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ที่ร่วมมือกับ TED Talks จัดงาน TedxPattaniPhiromRd
หากแต่กิจกรรมที่สร้างชื่อให้ Melayu Living เป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ กิจกรรมเปิดบ้านนายอากร เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 ซึ่งนำเสนอมิติทางวัฒนธรรมได้อย่างน่าสนใจ โดยเชิญ ปั้ม เจ้าของบ้านประตูเหลือง ซึ่งเป็นทายาทของเจ้าภาษีนายอากร มาเล่าประวัติครอบครัวของตัวเอง
โดยครั้งหนึ่งที่นี่เคยเปิดเป็นร้านของชำที่รวบรวมสินค้าจากปีนังและอังกฤษ ส่วนปู่ของเขา ขุนธำรงวัฒนา (ซิ้มซุ่นจ๋าย) ก็ถือเป็นนักธุรกิจที่บุกเบิกกิจการอย่างโรงไฟฟ้า โรงน้ำแข็ง ขณะที่พ่อของเขานั้นเคยแอบขึ้นเรือสำเภาไปสิงคโปร์ ไปเห็นโลกกว้างด้วยความตั้งใจจะนำประสบการณ์จากต่างแดนมาพัฒนาบ้านเมืองของเรา
นอกจากนี้ ราชิตกับเพื่อนยังนำข้าวของ 10 อย่างที่เป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่นและเชื่อมโยงกับบ้านหลังนี้ ไม่ว่าจะเป็น โฉนดที่ดิน เรือสำเภา หมวกกะลาสีเรือ เกลือหวาน ผ้าปาตานี ไหและอากร ข้าว ทองคำ ร้านของชำ น้ำแข็ง และโรงเรียนจ้องฮั้ว มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการย่อยๆ อีกด้วย
เพราะฉะนั้นถึงจะเป็นการเปิดบ้านเพียงหลังเดียว แต่คุณค่าที่เหนือกว่า คือการตอกย้ำว่า พื้นที่แห่งนี้มีเรื่องราว และความเป็นมาที่ค่อยๆ ก่อร่างเติบโตจนกลายเป็นปัตตานีในปัจจุบัน
จากความสำเร็จของการเปิดบ้านนายอากร ถัดมาอีกไม่กี่เดือน Melayu Living ก็จัดกิจกรรม อา-รมย์-ดี ด้วยการชักชวนผู้คนไปเดินสำรวจย่านเก่าแก่บนถนน 3 สาย คือ อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ และฤๅดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนมุสลิม จีน และไทยพุทธ รวมทั้งจัดทำแผนที่ของย่าน ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้คน โดยแม้เช้าวันจัดงานจะมีฝนตกหนัก แต่ผู้ร่วมทริปกว่า 90% ก็ไม่ถอย พร้อมเดินหน้าเต็มที่
ในครั้งนั้นพวกเขาพาทุกคนไปสำรวจชุมชนหัวตลาด ซึ่งถือเป็นย่านการค้าแห่งแรกของเมือง เป็นจุดเริ่มของนวัตกรรมระบบปั่นไฟฟ้าแบบอังกฤษ โทรทัศน์เครื่องแรกของจังหวัดก็อยู่ที่นี่ มีโรงภาพยนตร์ที่สร้างความบันเทิง ทำให้เมืองนี้คึกคักแม้ในยามค่ำคืน มีบ้านเรือนที่สะท้อนเอกลักษณ์ของผู้คนแต่ละกลุ่ม และศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่
ที่สำคัญยังมีการแวะเวียนไปตามบ้านเก่าแก่หลายหลัง เช่น บ้านกงสี ของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง ซึ่งเป็นผู้นำชาวจีนตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 3 หรือบ้านเลขที่ 1 ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ห้องแถวจีน โดยระหว่างทางก็มีการสอดแทรกสาระความรู้ที่น่าสนใจ โดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
“สิ่งที่เราหยิบยกขึ้นมา บางทีก็เป็นเรื่องที่คนรู้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่เคยถูกเรียบเรียงเป็นภาษาใหม่ แล้วการเล่าเรื่องพวกนี้เป็นการเชื่อมต่ออดีตมาสู่ปัจจุบัน แล้วเราก็จะเล่าต่อไปยังอนาคต ให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่า คุณค่าหรือความสวยงามนั้นไม่ได้เป็นเพราะเก่า ดังนั้นงานที่เราจัดจึงมีผู้เข้ามาร่วมหลากหลายวัย คนรุ่นเก่าก็อยากมาถ่ายทอดเรื่องราวให้คนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่เองก็อยากทราบว่าบ้านหลังนี้มีประวัติอย่างไร เช่นเจ้าของบ้านหลังหนึ่ง เขามาโชว์เรื่องประตูกลว่า สมัยก่อนเขาคิดกลไกที่ล็อกไม่ให้ขโมยออกจากบ้านได้ ซึ่งบางทีเราเล่าเองไม่ได้ ต้องให้เจ้าของเรื่องเล่าให้ฟัง” ประธานกลุ่มฉายภาพ
แน่นอนว่า กิจกรรมเพียงไม่กี่วัน คงไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้อย่างฉับพลัน แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้ทุกคนเริ่มมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง จากย่านชุมชนที่เคยเงียบเหงาเพราะมีแต่ผู้สูงอายุพักอาศัย ก็กลับมาครึกครื้น เช่นเดียวกับสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนแต่ละกลุ่มที่แน่นแฟ้นมากขึ้น และนำมาสู่การเปิดใจ เพื่อพาปัตตานีไปสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ไปด้วยกัน
“ต้องเข้าใจว่า ปีแรกๆ เราเป็นเด็กมุสลิม 100% ที่เข้าไปอยู่ในย่านชุมชนจีน เราอาจไม่คิดอะไรมาก พอเคาะประตู ชวนคนคุยเขาก็คุย ซึ่งเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะเราพกชื่อของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ไปด้วย แต่เราเพิ่งมาทราบภายหลังว่า คนแถวนั้นเขาไม่มีใครไว้ใจเราเลย เขาระแวงว่า แก๊งวัยรุ่นมุสลิมพยายามรุกเข้ามาในพื้นที่ย่านเมืองเก่าของคนจีนหรือเปล่า คือตั้งแง่ไว้ก่อน แต่เราโชคดีที่มีพี่ๆ หลายคน เช่น พี่ป้อง-พันธุ์ฤทธิ์ วัฒนายากร อดีตประธานชุมชนหัวตลาด พยายามอธิบายว่าสิ่งที่เราทำนั้นมีประโยชน์ แล้วคนส่วนใหญ่เขาก็เชื่อพี่ป้อง เนื่องจากแกเป็นผู้ใหญ่ในพื้นที่ ขณะที่เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าไม่มีอะไรแอบแฝง ไม่ได้มีเรื่องศาสนาหรือความรุนแรง จนสุดท้ายชาวบ้านก็กลับมามั่นใจและไว้ใจพวกเรา ทำให้งานของเราขับเคลื่อนมาได้จนถึงปัจจุบัน”
จากการทำงานเชิงสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เข้ามาทาบทามให้ Melayu Living เป็นแกนหลักในการจัดกิจกรรม Halal Tourism ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เดิมทีพวกเขาไม่ได้อยากเข้าไปข้องเกี่ยวกับหน่วยงานความมั่นคงเท่าใดนัก แต่ด้วยตระหนักดีว่า นี่เป็นโอกาสอันดีที่จะขับเคลื่อนแนวคิดการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ที่ทุกคนมีส่วนร่วมให้เป็นรูปธรรม
“หากไม่ทำกิจกรรมนี้เขาก็ไปหาคนอื่นทำอยู่ดี และถ้าเกิดผลออกมาไม่ดี เราก็ทำได้แค่ไปบ่นไปด่าเขา สู้เราทำเองดีกว่า แต่เราก็มีข้อตกลงกับ ศอ.บต.ว่าต้องทำตามคอนเซปต์ของเรา อย่าบังคับว่าต้องทำอะไร ถ้าคุณไม่เชื่อ เราก็ไม่ทำ อีกอย่างคือเราไม่อยากเห็นภาพทหารเดินลาดตระเวน ถ้าเป็นไปได้ก็ขอแค่จุดเดียว หรือใส่ชุดธรรมดา ซึ่งก็ดีที่ทางฝ่าย ศอ.บต. เขาเชื่อมั่นในพวกเรา”
กิจกรรมครั้งนั้นจัดขึ้นที่มัสยิดกรือเซะ เพราะถือเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาที่อยู่คู่ปัตตานีมานานกว่า 4 ศตวรรษ สมาชิกของ Melayu Living ต่างก็มีความผูกพันที่ลึกซึ้ง หากด้วยสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้ภาพของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้แปรเปลี่ยนไป กลายเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้ง ความสูญเสีย ความไม่สงบ พวกเขาจึงอยากจะเป็นตัวแทนในการนำความทรงจำที่งดงามคืนกลับมา
นั่นเองจึงกลายเป็นที่มาของชื่องาน ‘Terima Kresek’ หรือ เตอริมอ กรือเซะ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า การรับกรือเซะกลับมาด้วยใจ โดยแบ่งการจัดงานเป็น 3 ช่วง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม–กันยายน 2561 แต่ละเดือนจะมีคอนเซปต์การนำเสนอที่ต่างออกไป
อย่างเดือนแรกคือ ‘วันเวลาที่สวยงาม’ เน้นการนำเสนอภาพปัจจุบัน พาทุกคนไปเห็นความสวยงามของมัสยิดกรือเซะและ 3 จังหวัดชายแดนใต้ พอเดือนถัดมาก็เป็นตอน ‘ณ คราฟต์’ ซึ่งหยิบเอาภูมิปัญญาด้านศิลปะและหัตถกรรมที่สั่งสมตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษมาถ่ายทอด ส่วนเดือนสุดท้ายคือ กลับสู่ปฐมภูมิ เป็นการพาทุกคนย้อนไปสู่อดีต พร้อมกับพูดถึงอนาคตที่อยากเห็น โดยทั้งหมดนั้นทีมงานเปิดให้ชาวบ้านได้เสนอผลงานของตัวเองอย่างเต็มที่
“เราทำการบ้านนาน 5-6 เดือน เข้าไปคุยกับชาวบ้านว่าสิ่งที่อยากทำคืออะไร ดังนั้นเขาก็จะรู้สึกว่านี่เป็นงานของตัวเองจริงๆ แล้วเราก็มีงานเสวนาที่จัดในมัสยิด ซึ่งปกติไม่มีใครจัด มี One Day Trip พาทุกคนไปทัวร์สุสาน ทัวร์ย่านเมืองเก่า บางทีเราก็ใส่ไอเดียใหม่ๆ ลงไปในของเดิม เช่นหน้ามัสยิดจะมีวังเก่าอยู่ มีรั้วยาวเป็นกิโลเลย แต่ตอนนี้ไม่เหลือแล้ว และไม่มีภาพบันทึกไว้ด้วย เราก็เลยจินตนาการแล้วก็สร้างซุ้มประตูไม้ไผ่ขึ้นมา หรือนิทรรศการที่เล่าไทม์ไลน์ของประวัติศาสตร์โลกกับกรือเซะ มีการพับเรือกระดาษ 400-500 ลำ เพื่อสะท้อนว่าสมัยก่อนเคยมีเรือสินค้ามาเทียบท่าที่นี่ หรือแม้แต่จัดแสดงของโบราณ อย่างอัลกุรอานเขียนมือยุคแรกๆ เครื่องทองเหลือง ซึ่งแบแซ (อาแซ วาเด็ง) เจ้าของรู้สึกแฮปปี้มากๆ ที่เห็นคนมาถาม มาหยิบจับของ แล้วแกก็ได้เล่าความเป็นมาของแต่ละชิ้น” ราชิตอธิบาย
“อีกอย่างคือเราพยายามหยิบสิ่งที่มีอยู่แล้วมานำเสนอให้คนที่มาร่วมงานได้รู้จัก เช่นอาหาร เราก็เลือกจากคนในพื้นที่ เป็นอาหารโบราณกว่า 50 ชนิดที่หลายอย่างอาจไม่ได้ขายแล้ว ก็นำกลับมาขายใหม่ เน้นการผสมผสานทั้งแบบใหม่และแบบเก่าเข้าด้วยกัน ความจริงเราไม่ได้คาดหวังว่าผลตอบรับจะดีมาก แต่กลายเป็นว่ามีคนมาร่วมงานเยอะเลย อาหารในวันแรกขายหมดภายในไม่กี่ชั่วโมง แถมงานก็จัดกันถึง 4-5 ทุ่ม โดยที่ทุกคนไม่ได้รู้สึกกลัว ต่อให้เวลานั้นมีสถานการณ์บางอย่างที่ตึงเครียดก็ตาม” จั้มช่วยเสริม
จากการทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หลายคนได้กลายเป็นกำลังหลักของ Melayu Living ในการจัดกิจกรรมต่อๆ ไป
แต่ที่มากกว่านั้นคือ ทัศนคติที่มีต่อเมืองของหลายๆ คน ที่อยากเรียนรู้และสัมผัสรากเหง้าทางวัฒนธรรมยิ่งขึ้น ด้วยความฝันที่จะพาดินแดนแห่งนี้กลับคืนสู่สังคมแห่งความสุขอีกครั้งหนึ่ง
ประสบการณ์จากการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เหล่าสมาชิก Melayu Living เห็นว่า ในปัตตานียังมีต้นทุนทางภูมิปัญญาอีกไม่น้อยที่ไม่เคยถูกนำเสนอ
เพราะฉะนั้น หลังจาก Terima Kresek ผ่านพ้นไป พวกเขาก็ยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรมเล็กๆ ต่อไป โดยเฉพาะงานเสวนาที่เชิญนักคิด นักเขียน นักสร้างสรรค์ที่น่าสนใจมาพูดคุย ตั้งแต่ โอ๋-ชนะ สัมพลัง แห่ง A49, ธีรนพ หวังศิลปคุณ ดีไซเนอร์ระดับโลกแห่ง TNOP™ DESIGN แต่คนที่สำคัญคือ หมู-นนทวัฒน์ เจริญชาศรี แห่ง DUCTSTORE the design guru เพราะเขาคนนี้เองที่จุดประกายให้ Melayu Living กล้าคิดการใหญ่ ด้วยคำพูดที่ว่า ‘ปัตตานีน่าจะจัด Design Week ได้แล้ว’
“เราเคยคิดมาตลอด เพราะในปัตตานีมีคนทำงานดีไซน์เยอะมาก แต่เราไม่กล้าทำ เก็บไว้ในใจอยู่อย่างนั้น จนพี่หมูลงมาแล้วได้เห็นวัยรุ่นในพื้นที่ ซึ่งเยอะมากๆ แกก็ทอล์ก 2 ชั่วโมงกว่าโดยไม่หยุด ทุกคนก็อยู่ฟังจนจบ เสร็จแล้วก็มีการชวนทุกคนมาสกรีนเสื้อ จนแกพูดเรื่อง Design Week ขึ้นมา มันเหมือนเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเองว่า ไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่คิดแบบนี้” ราชิตเล่าที่มาที่ไป
หลังจากนั้น พวกเขาเดินสายตระเวนพูดคุยกับช่างฝีมือรุ่นเก่าที่รังสรรค์ผลงานดีๆ แต่กลับไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมถึงบรรดาศิลปินรุ่นใหม่ซึ่งเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ โดยทุกคนต่างตอบรับที่จะมาร่วมงาน
ส่วนชื่อกิจกรรมนั้น ทีมงานเห็นตรงกันว่า Design Week หรือเทศกาลออกแบบ เป็นคำที่ดูไกลตัวเกินไปสำหรับคนในพื้นที่ จึงอยากหาคำใหม่ที่ดึงดูดและกระตุ้นความสนใจผู้คนให้ได้มากที่สุด
พอดีด้วยโจทย์ของงานที่อยากหยิบยกขึ้นมาเสนอคือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบไปด้วย 12 สาขา อาทิ งานฝีมือและหัตถกรรม ดนตรี ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ สถาปัตยกรรม รวมถึงแฟชั่น ซึ่งล้วนมีอยู่ในปัตตานีทั้งสิ้น เพียงแต่ของบางอย่างนั้นไม่มีการปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์ของยุคสมัย ราชิตจึงนึกถึงคำว่า Decoding ที่แปลว่าการถอดรหัสขึ้นมา คือนำของเก่ามาตีความใหม่ให้มีความร่วมสมัย และพอดีคำว่า Decoded ยังพ้องเสียงกับคำว่า ‘ดีโคตร’ ทุกคนก็เลยเห็นตรงกันว่า จะใช้คำว่า ‘Pattani Decoded’ เป็นชื่อกิจกรรมนี้ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเมืองเก่าแก่แห่งนี้มีสิ่งดีๆ ที่รอทุกคนให้มาค้นหาอีกเพียบ ที่สำคัญยังสามารถนำไปต่อยอดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อีกต่างหาก
แน่นอนการจะไปให้ถึงฝั่งฝันได้ต้องอาศัยงบประมาณ ซึ่งพวกเขาก็วางแผนว่าอยากจะได้เงินสัก 2,000,000 บาท แต่สุดท้ายก็ได้มาไม่ถึงครึ่ง ราว 900,000 บาท โดยก้อนใหญ่สุดได้มาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ส่วนที่เหลือก็มาจากพันธมิตรและผู้ใหญ่ใจดีที่อยากอุดหนุนความตั้งใจนี้
แต่ถึงไม่มีเงิน ก็ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งพวกเขาได้ กิจกรรมยังเดินหน้าต่อไป โดยได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทั้งคนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ และกลุ่มกิจกรรมต่างๆ อาทิ Saiburi Looker, Trash Hero Pattani, Pattani Landlord, Benjametha Ceramic, Patani Art Space และ De’Lapae Studio ซึ่งพร้อมเทใจทำงานเต็มที่ แม้ไม่มีค่าตัวให้ จนทำให้งานเล็กๆ นี้กลายเป็นกิจกรรมของทุกคนอย่างแท้จริง
“เรามีกองกำลังที่สำคัญ ตั้งแต่ทีมออกแบบ ทีมอาสาสมัคร ซึ่งตอนประกาศรับสมัคร ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก คือเราอยากได้สัก 80-90 คน แต่ไม่ถึง 2 ชั่วโมง คนมาสมัครเป็นร้อย และไม่ได้มาจากการที่อาจารย์ให้ไปทำ แต่เขาเฝ้ารอโอกาสที่จะทำงานกับเรา เพราะตอนจัดงานที่กรือเซะเราได้นักเรียนจากโรงเรียนจงรักสัตย์วิทยา ก็เลยมองว่านี่แหละคืออนาคตของปัตตานี เป็นเหมือนการส่งต่อความคิด ความฝัน ให้สิ่งเหล่านี้มันค่อยๆ ซึมซับไปเรื่อยๆ ขณะที่ผู้ใหญ่เองก็แฮปปี้ เพราะมองว่าเด็กหรือลูกศิษย์มาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เหมือนสำนึกรักบ้านเกิดของตัวเอง” ราชิตกล่าวพร้อมหัวเราะ
“ผมว่าเรามีวิธีการเล่าเรื่องที่สมาร์ท แล้วงานที่มีการดีไซน์อะไรเข้ามาก็มีความเท่อยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่ ซึ่งอยู่ในวัยที่กำลังค้นหาตัวตนก็อยากจะเข้ามา แล้วเขาก็สามารถแสดงออกในสิ่งที่อยากจะเป็นได้เต็มที่” ฮาดีย์ช่วยเสริม
Pattani Decoded 2019 ถอดรหัสปัตตานี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 1 กันยายน 2562 โดยมีจั้มเป็นประธานจัดงาน และ เลิฟ-กริยา บิลยะลา ซึ่งเคยเป็นนักจัดการความรู้ของ TCDC และ นิมินทรา มินทราศักดิ์ มารับผิดชอบเรื่องโครงสร้างของงานทั้งหมด โดยเลือกใช้พื้นที่ย่านเมืองเก่าบนถนน 3 สายคือ อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ และฤๅดี จัดงานเหมือนเช่นเคย
สำหรับกิจกรรมก็มีความหลากหลาย ตั้งแต่การเสวนาเชิงวิชาการ เพื่อพูดคุยเรื่องการเพิ่มมูลค่าให้กับงานออกแบบ การประกวดแบบสถาปัตยกรรม กิจกรรมดนตรี ฉายภาพยนตร์ ทำอาหาร รวมถึงการจัดเวิร์กชอปเรื่องอักษรวิจิตร ลายผ้าโบราณ การทำมัดย้อม การเปลี่ยนขยะจากทะเลให้เป็นรองเท้า ไปจนถึงการชวนนักเขียนซีไรต์ แหม่ม-วีรพร นิติประภา มาอบรมเรื่องการเขียนโดยเฉพาะ
แต่กิจกรรมที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด คือการเปลี่ยนบ้านเก่าหลายสิบหลังให้เป็นพื้นที่ศิลปะ ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาเยี่ยมชมนิทรรศการ รวมถึงเรียนรู้สถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของบ้านไปพร้อมกัน
“พี่ป้อง-พันธุ์ฤทธิ์ ช่วยเรามาก ทำให้ทุกคนเชื่อใจ จนเราได้บ้านหลายๆ หลังที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้ใช้ เช่น บ้านของนายกฯ ดิเรก คณานุรักษ์ (อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี) ซึ่งถูกปิดไว้เป็นสิบๆ ปีแล้ว เราก็เข้าไปปรับปรุง ทำความสะอาด ซึ่งพอเจ้าของบ้านมาเห็น เขายังนึกไม่ถึงเลยว่าบ้านจะเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้ในเวลาที่สั้นมาก มันเกิดพื้นที่ใหม่จากบ้านร้างกลายเป็นแกลเลอรี แล้ววันงาน คนที่เข้าไปตามบ้านต่างๆ ก็เยอะมาก จนเจ้าของบ้านเขานึกไม่ถึงว่าบ้านของตัวเองจะมีคุณค่ามากขึ้น
“เพราะบางแห่งอาจเป็นแค่อู่เรือประมงที่ไม่มีคนเข้าไปแล้ว แต่พอเราไปขอเขาจัดนิทรรศการภาพถ่าย แล้วมีคนเข้าออกเยอะมาก พาครอบครัว ลูกหลานมาเดิน เจ้าของบ้านก็ออกมายืนกอดอก แล้วก็ยิ้มมองดูคนที่มาเยี่ยมชมบ้านตัวเองด้วยความภูมิใจ คือเขารู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงาน และแม้งานจะจบไปแล้ว แต่ทุกครั้งที่เจอ เขาก็ยังคุยกับเราอย่างเป็นมิตรเสมอ” ราชิตเปิดใจ
ตลอด 4 วันของการจัดงาน Pattani Decoded ไม่เพียงแค่ช่วยถอดรหัสให้ผู้คนได้เห็นคุณค่าที่แท้จริงของปัตตานีเท่านั้น แต่ยังทำให้คนนอกพื้นที่ได้เห็นและเข้าใจว่า นอกจากภาพจำเดิมๆ แล้ว ที่นี่ยังมีเรื่องราวดีๆ อีกมาก และกล้าเดินทางมาร่วมกิจกรรมอย่างไม่ขาดสาย ตลอดจนช่วยปลุกกระแสให้ผู้คนในพื้นที่ได้กลับมาร่วมคิด ร่วมตกผลึกถึงหนทางในวันหน้าว่า จะก้าวเดินอย่างไร ถึงจะทำให้ที่นี่กลายเป็นเมืองที่ทุกคนอยากฝากอนาคตเอาไว้
แต่ที่น่าภูมิใจยิ่งกว่า คือการที่มีผู้คนออกมาพยายามปกป้องและรักษากิจกรรมดีๆ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของชุมชน เพราะก่อนหน้านี้ Melayu Living ต้องเผชิญแรงเสียดทานไม่น้อยจากบางคนที่ไม่เข้าใจ และตั้งข้อสงสัยในการทำงาน ถึงขั้นเคยมีคนเขียนจดหมายนิรนามถึงสถาปนิกรุ่นพี่ในกรุงเทพฯ กล่าวหาว่า พวกเขารับเงินจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี แต่สุดท้ายกาลเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ถ้าทุกคนรวมพลัง ร่วมแรงร่วมใจกัน สิ่งดีๆ ย่อมต้องตามมาแน่นอน
เราไม่ได้มาจากไผ่กอเดียว แต่มาจากหลายที่หลายทาง คนที่ปัตตานีจึงมีหลายแบ็กกราวนด์ ซึ่งมารวมตัวกันและช่วยกันสร้างเมืองที่น่ารักขึ้นมา เราจึงอยากนำเสนอเรื่องราวให้คนทั้งในและนอกพื้นที่ได้รับทราบ
จากความสำเร็จของ Pattani Decoded 2019 ถอดรหัสปัตตานี ก่อให้เกิดเสียงเรียกร้องจากผู้คนในพื้นที่ที่เฝ้ารอจะเข้ามาเป็นอาสาสมัครในงานปีถัดไป
“เยาวชนอยากมาเข้าร่วมเยอะมาก หลายคนอยากมาเป็นอาสาสมัคร เพราะครั้งก่อนสมัครไม่ทัน ขอมาครั้งนี้ได้ไหม ไม่รู้ว่าอายุเกินหรือเปล่า บางคนบอกว่า เขาเคยจูงมือพ่อมาดูงาน ตอนนั้นอยู่ประถม แต่ตอนนี้ขึ้นมัธยมแล้ว ถ้าเราจัดอีก เขาขอเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้” ฮาดีย์เล่าถึงเรื่องราวในพื้นที่
แต่ด้วยผลพวงของโรคระบาดที่กินเวลาไปพักใหญ่ ส่งผลให้ Pattani Decoded ต้องว่างเว้นไปนานหลายปี กระทั่งปี 2565 ผู้เกี่ยวข้องทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า ถึงจังหวะที่เหมาะสมแล้วที่จะต้องนำเทศกาลออกแบบนี้คืนมา
แต่สิ่งที่ต่างไปคือ ครั้งแรกพวกเขาเลือกนำเสนอของดีทุกอย่างในปัตตานี ซึ่งถ้าทำเหมือนเดิมอีกก็คงไม่สนุกแล้ว ทีมงานจึงตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการ โดยเล่าแค่เรื่องเดียว นั่นคือ ‘เกลือหวาน’ ซึ่งถือเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่อยู่คู่ปัตตานีมากว่า 400 ปี นำมาถอดรหัส โดยมอบหมายให้ฮาดีย์รับหน้าที่เป็นประธานจัดงาน
“เราไม่ถอดรหัสเกลือหวานเท่านั้น แต่เราถอดรหัสต้นทุนทางวัฒนธรรมของพื้นที่ด้วย เพราะความจริงแล้วเรื่องเกลือมีหลายมิติ ทั้งเรื่องโลกร้อนที่ทำให้ผลิตเกลือไม่ได้ เรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความภูมิใจของคนทำนาเกลือมาเป็นร้อยๆ ปี ที่สำคัญที่นี่ยังเป็นที่ผลิตเกลือแห่งเดียวในโลกมลายูด้วย คือมันเชื่อมโยงกับหลายเรื่องมาก โดยเฉพาะคนในพื้นที่ ทุกคนรู้จักเกลือหวานปัตตานี ทุกคนเชื่อมโยงกันหมด เพราะเกลือไม่มีเพศ ไม่มีศาสนา แต่เป็นของทุกคน
“แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ เราต้องทำรีเสิร์ชกันพอสมควร ไปดูหน้างาน ไปเดินบนคันนา ตักเกลือ ไปนั่งคุยกันกลางแดด นั่งหาเอกสารประวัติศาสตร์เพื่ออธิบายว่าเกลือปัตตานีพิเศษอย่างไร สำคัญแบบไหน มีนวัตกรรมอะไรบ้าง และปัจจุบันเกลือได้กลายเป็นงานคราฟต์ เพราะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอะไรเลย ไม่มีการผสมสารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น พวกเราศึกษาเรื่องนี้อยู่ 6 เดือนเต็ม จนได้ข้อมูลต่างๆ มาครบถ้วน”
เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ แม้เกลือปัตตานีจะมีประวัติศาสตร์ยาวนาน และหล่อเลี้ยงชาวบ้านมาแล้วหลายชั่วคน แต่ปัจจุบันปริมาณการผลิตลดลงจาก 4,000 กว่าไร่ เหลือเพียง 550 ไร่เท่านั้น หลายบ้านยอมรับตามตรงว่า ตนเองคงเป็นรุ่นสุดท้าย เพราะเป็นงานที่หนักหน่วง รายได้น้อย สู้หันไปทำงานอื่นที่ไม่ลำบากดีกว่า ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ในมุมหนึ่งก็อยากใช้โอกาสนี้ชวนทุกคนมาร่วมคิด ร่วมตั้งคำถาม เพื่อหาวิธีถอดรหัสหรือต่อยอดภูมิปัญญานี้ไปสู่อนาคต
ทันทีที่ Melayu Living ประกาศว่าจะทำเรื่องนี้ ปัว-ศาวินี บูรณศิลปิน สถาปนิกแถวหน้าแห่ง Thingsmatter ซึ่งทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ทักทายมายังราชิตขอร่วมทำงานด้วยทันที จากนั้นก็มีอีกหลายๆ คนติดต่อเข้ามา เสมือนเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เทศกาล Pattani Decoded นั้นไปไกลกว่าแค่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่ยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะดึงการมีส่วนร่วมจากนักสร้างสรรค์จากทั่วประเทศ
Pattani Decoded 2022 : Deep Salt จัดขึ้นในวันที่ 2-4 กันยายน 2565 ณ ย่านเก่า อา-รมย์-ดี รวมถึงพื้นที่นาเกลือแหลมนก และนาเกลือบ้านตันหยงลุโละ รวมแล้ว 22 จุด โดยได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนที่พร้อมเปิดบ้านเต็มที่ เช่นเดียวกับเยาวชนนับร้อยชีวิตที่ขออาสามาร่วมเป็นทีมงานด้วย บางคนเป็นเด็กที่ผู้ใหญ่มองว่าเกเร แต่พอมีงานกลับมาช่วยถางหญ้า จัดสถานที่อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ส่วนรูปแบบงานยังคงจัดเต็มทั้งงานเสวนา นิทรรศการ เวิร์กชอป และเดินทัวร์ เช่น Salted Space ซึ่งทีมงานได้เชิญ อาจารย์ต้น-อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาหาร มาสนทนากับ นราวดี โลหะจินดา นักประวัติศาสตร์ชุมชน เกี่ยวกับเกลือในภูมิภาคนี้ แล้วยังมี Thingsmatter ซึ่งทำผลงานชุด Field Work ด้วยการนำกระจกเงานับร้อยบานมาติดทั่วนาเกลือ เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสกับความงดงามในยามที่แสงอาทิตย์ทำมุมตกกระทบกับผืนนาอันกว้างไกล สะท้อนถึงเรื่องราวในอดีตที่คนเดินเรือผ่านเข้ามาแล้วเห็นความระยิบระยับบนผืนนาเกลือปัตตานี
แต่ที่ถูกพูดถึงมากสุดคือ The Old Man and the Sea Salt โดยสตูดิโอฤๅดี ซึ่งนำเสนอนิทรรศการของชาย 7 คนที่ทำนาเกลือมาทั้งชีวิต ซึ่งผ่านทั้งวันรุ่งเรืองและช่วงเวลาอันตกต่ำ แต่เขาเหล่านั้นก็ยังคงหยัดยืนที่จะสืบสานมรดกทางอาชีพนี้ต่อไป แม้จะทราบดีว่าตนเองเป็นรุ่นสุดท้ายแล้วก็ตาม
“เราเห็นมิติของภาคเกษตรว่าวัฏจักรเป็นแบบนี้ กว่าจะเป็นเกลือต้องผ่านอะไรเยอะมาก ซึ่งเราก็ชวนเขามาสนทนาว่าอดีต ปัจจุบัน และอนาคตจะเป็นอย่างไร และเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ หลังจากงานผ่านไปประมาณปีหนึ่ง ก็เห็นหลายๆ หน่วยงานบอกว่า ควายน้ำทะเลน้อยที่พัทลุงได้ขึ้นทะเบียนยูเนสโก แบบนี้ปัตตานีควรทำเรื่องเกลือบ้างไหม เพราะฉะนั้นคุณูปการของงานนี้คือ การจุดประกายไอเดีย เพราะบางหน่วยงานนั้นมีข้อจำกัดในการสร้างงาน สร้างความเปลี่ยนแปลง แต่พอมีการพูดคุย การแบ่งปันมุมมองใหม่ๆ ก็อาจจะนำไปสู่การริเริ่มหรือแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้” ฮาดีย์ฉายภาพผลงานที่ออกมา
ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงตั้งใจให้การถอดรหัสเกลือปัตตานีนี้เป็นโมเดลตั้งต้นสำหรับการจัดงานครั้งต่อๆ ไป เพราะยังมีอีกหลายประเด็นที่สามารถหยิบยกขึ้นมาเล่นได้ อย่างใน Pattani Decoded 2024 : Unparalleled ที่จัดขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคม – 1 กันยายน 2567 พวกเขาได้นำเอาเรื่องเสื้อผ้าและการแต่งตัวมาเล่า เพราะที่นี่มีภูมิปัญญาดั้งเดิม เช่น การทำผ้ามัดย้อม การย้อมคราม มีการแต่งตัวตามแบบมุสลิม หรือแบบจีน ไปจนถึงตะวันตก ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากสื่อบันเทิง รวมถึงมีตลาดของมือสองขนาดใหญ่ที่วัยรุ่นไปรวมตัวกัน ซึ่งทั้งหมดนี้นับว่าเป็นเสน่ห์ที่น่าเรียนรู้และพัฒนาได้ไม่รู้จบ
ตลอดการทำงานของ Melayu Living แม้บ่อยครั้งต้องเผชิญกับอุปสรรค บางคราวถึงขั้นต้องยอมควักทุนส่วนตัวเพื่อให้งานออกมาได้ตามที่ใจคิด แต่อย่างน้อยสิ่งที่พยายามทำมานั้น ก็ช่วยให้ผู้คนที่นี่ได้ทราบว่า ท่ามกลางความรุนแรงในบ้านเมือง ก็ยังมีพื้นที่ปลอดภัยที่พร้อมโอบรับทุกคนให้อุ่นใจ และกลายเป็นแรงผลักดันให้สมาชิกของห้องรับแขกกลุ่มนี้ ยังคงขับเคลื่อนต่อไป แม้ว่าในช่วงแรกจะตั้งใจทำเพียง 5 ปี แล้วแยกย้ายไปทำภารกิจส่วนตัวก็ตาม
“ผมไม่เคยคิดว่าเราต้องมี Melayu Living ปีที่ 20 แค่เราเห็นคนรุ่นใหม่มีสิ่งที่เขาอยากทำ เห็นอนาคตของตัวเองก็ดีใจแล้ว ที่ผ่านมามีบางหน่วยงานมาแนะนำว่าทำไมเราไม่ตั้งสมาคมหรือทำเป็นมูลนิธิให้มีความยั่งยืน เราก็เลยตั้งคำถามกลับว่า ความยั่งยืนคืออะไร ถ้าเราฝืนทำไปเรื่อยๆ เพื่อให้สมาคมยังอยู่ต่อไป แบบนั้นไม่โอเค แต่เราเชื่อมั่นเรื่องการส่งต่อ อย่างน้อยคนรุ่นใหม่เขาก็มีภาพตัวอย่างแล้ว และเกิดแรงบันดาลใจว่าอยากจะทำอะไรต่อไป นี่คือความยั่งยืนที่เราอยากเห็นมากกว่า” ราชิตอธิบาย
“อย่างเวลานี้ น้องๆ นักศึกษาหลายคนก็เริ่มพยายามคิดแล้วว่า เขาจะทำอะไรต่อไปกับชุมชนของตัวเอง เช่นชุมชนบางปู ซึ่งโดดเด่นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เขาก็รวมตัวคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่จัดกิจกรรม และทำได้ดีด้วย หรือในจังหวัดต่างๆ ทั้งยะลา นราธิวาส เราก็อยากเห็นกลุ่มแบบเราเกิดขึ้นเยอะๆ แน่นอนว่าเราคงไม่ใช่โมเดลต้นแบบหรอก แต่คงจะดีถ้าทุกคนมาช่วยกันทำให้เมืองสนุกมากขึ้น” จั้มช่วยเสริม
แม้การขับเคลื่อนของ Melayu Living จะไม่อาจล้างภาพความรุนแรงออกจากใจของคนส่วนใหญ่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาได้พิสูจน์ให้เห็นคือ ความรุนแรงใดๆ ก็ไม่อาจลบเลือนเสน่ห์และเรื่องราวดีๆ ของผู้คนบนผืนแผ่นดินนี้ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การกระตุ้นให้ทุกคนร่วมไม้ร่วมมือ และก้าวข้ามความแตกต่าง ทั้งเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา หรือความเชื่อ
เพราะหัวใจที่แท้จริงของความเป็นมลายู คือความหลากหลายที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข เพื่อไปสู่อนาคตที่สวยงามด้วยกัน
ปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 15 ชุมชนหรือเครือข่ายที่รวมพลังกันทำงานเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
Melayu Living คือเครือข่ายชุมชนต้นแบบประเด็นทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความทั่วถึง ปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 11), ประเด็นส่งเสริมสังคมที่สงบสุข และครอบคลุมที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบและทุกคนสามารถเข้าถึงในทุกระดับ (SDGs ข้อที่ 16) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมือง อย่างสร้างสรรค์ และเข้าใจถึงปัญหาของพื้นที่อย่างแท้จริง
เจ้าของบาร์แจ๊ซ ผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ ทั้งดนตรี สิ่งแวดล้อม สังคม เพื่อยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เป็นดินแดนที่ของทุกคนอย่างแท้จริง
ฟาร์มสเตย์จากโคราชที่ก่อตั้งโดยกลุ่มพิการ ซึ่งพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นถึงศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ด้วยการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวที่พร้อมรองรับทุกคน
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ที่ต้องบริหารงานภายใต้ข้อจำกัดมากมาย แต่เขาก็ไม่ท้อ เพื่อให้ประชาชนทุกเชื้อชาติสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม
เภสัชกรหญิง ผู้บุกเบิกยาสมุนไพรอภัยภูเบศร พร้อมฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากจะทำให้ปราจีนบุรีเป็นเมืองแห่งสมุนไพร
เครือข่ายอนุรักษ์และดูแลแม่น้ำบางปะกง เพื่อให้เป็นสายน้ำที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติยังคงอยู่ต่อไป เพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.