ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล : นักประดิษฐ์ข้างกายพระราชา

<< แชร์บทความนี้

โทมัส เอลวา เอดิสัน ใช้เวลาหลายสิบปี ผ่านความล้มเหลวนับไม่ถ้วน กว่าจะประดิษฐ์หลอดไฟสำเร็จ

เช่นเดียวกับหม่อมราชวงศ์หนุ่มผู้หนึ่ง อุทิศเวลาทั้งชีวิต เดินหน้าสู่เส้นทางของนักประดิษฐ์ แม้หลายครั้งต้องแลกมาด้วยอาการบาดเจ็บ รุนแรงสุดถึงขั้นพิการ แต่ก็ไม่เคยหยุด

เพราะมีฝันที่ยิ่งใหญ่ คือการสร้างนวัตกรรมไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ

ควายเหล็ก นมผง เครื่องนวดข้าว เรือหางกุด ท่อสูบน้ำ คือตัวอย่างผลงานที่เขาสร้างสรรค์ขึ้น

หากแต่ไม่มีภารกิจใด ที่เขาภูมิใจเท่ากับการถวายงานในหลวง รัชกาลที่ 9 จนกลายเป็นนักประดิษฐ์ที่ทรงวางพระทัย โดยเฉพาะ ‘ฝนหลวง’ หนึ่งในโครงการที่เขาเป็นมือทำงานคนสำคัญ ในยุคที่ไม่มีใครเชื่อว่าเกิดได้จริง

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนย้อนไปดูความทุ่มเทที่เกินขีดจำกัดของ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล แล้วคุณจะเข้าใจว่า บางทีเรื่อง ‘เป็นไปไม่ได้’ กับ ‘เป็นไปได้’ ก็อยู่ห่างกันเพียงนิดเดียว

คีย์แมน 'ฝนหลวง'

คนเราสามารถสร้างฝนได้ไหม?

คือสิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงครุ่นคิดอยู่นานหลังการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในภาคอีสานเมื่อปี 2498

เวลานั้นแผ่นดินอีสานทั้งแห้งแล้ง ร้อน บนพื้นเต็มไปด้วยฝุ่นฟุ้งกระจาย เพราะฝนไม่ตกมาพักใหญ่ สิ่งที่ทรงสังเกตหลังแหงนพระพักตร์มองท้องฟ้า คือมีเมฆมากมาย แต่ไม่มีก้อนไหนที่เปลี่ยนมาเป็นฝน

พอกลับมาถึงกรุงเทพฯ ทรงมุ่งมั่นจะหาวิธีการแก้ปัญหานี้ จึงเริ่มเก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศของพื้นที่ต่างๆ อย่างละเอียด จนได้บันทึกเล่มโตออกมาเล่มหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังทรงขาดอยู่ คือบุคคลที่มีความเชื่อเดียวกัน เพราะคนส่วนใหญ่ต่างมองว่า ฝนเป็นเรื่องธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ กระทั่งวันหนึ่งได้ทรงรู้จักกับ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ ซึ่งกำลังมีชื่อเสียงจากนวัตกรรมควายเหล็ก

หลังทรงเล่าความตั้งใจต่างๆ ให้คุณชายฟัง คุณชายก็รับอาสาที่จะศึกษาค้นข้อมูลความเป็นไปได้จากทั่วโลก เพื่อยืนยันว่า ความฝันของในหลวงไม่ใช่เรื่องที่เพ้อฝัน

ผ่านไป 2 ปีเต็ม เขาก็กลับมาถวายรายงานว่า มนุษย์สามารถทำฝนเทียมได้อย่างแน่นอน

หลักการที่ค้นพบคือ ฝนเกิดจากความชื้นและอุณหภูมิ หากอยากให้เกิดฝน นักบินต้องบินเข้าไปใกล้ๆ ก้อนเมฆแล้วโปรยสารดูดความชื้น จากนั้นก็ต้องใช้สารอีกตัวที่ทำให้อุณหภูมิเย็นจัด เพื่อให้ก้อนเมฆที่รวมกันอยู่กลั่นตัวออกเป็นเม็ดฝน

แต่ความยากคือ หนึ่ง ไม่รู้ว่าสาร 2 ตัวนั้นคืออะไร และสอง นักบินส่วนใหญ่ไม่กล้าบินเข้าไปในก้อนเมฆ เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คุณชายก็เลยตัดสินใจเรียนขับเครื่องบินด้วยตัวเอง

หลักสูตรการบินในยุค 2505 อาจทำให้หลายคนถึงกับปาดเหงื่อ เพราะขณะที่ก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งราคา 25 สตางค์ ค่าเรียนขับเครื่องบินกลับสูงถึงนาทีละ 40 บาท แถมต้องเรียนอย่างน้อย 30 ชั่วโมง วันหนึ่งบินได้ไม่เกิน 15 นาที พอบินครบหลักสูตรก็ต้องไปสอบ ถ้าสอบไม่ได้ก็กลับมาเรียนใหม่ ปรากฏว่าคุณชายสอบครั้งเดียวก็ได้เป็นนักบินเลย

หลังได้รับประกาศนียบัตร คุณชายก็ขับเครื่องบินสำรวจสภาพท้องฟ้า เมฆชนิดต่างๆ ความชื้นในอากาศ ทิศทางลมที่มีผลต่อการเกิดฝน หลังจากนั้นจึงเริ่มทดลองตามหลักการที่วางไว้ โดยเปลี่ยนสารดูดความชื้นและสารที่ทำให้อุณหภูมิเย็นจัด ไปเรื่อยๆ เพื่อหาสูตรที่ให้ผลดีมากสุด

น้ำแข็งแห้ง เกลือ น้ำเกลือ น้ำทะเล ขี้เถ้า หรือเหล้าต้มที่ได้มาจากชาวบ้านก็ถูกนำขึ้นเครื่องบินไปทดลองมาแล้วทั้งสิ้น อย่างน้ำเกลือมาจากการสังเกตว่าเมฆก่อตัวได้ดีที่ทะเล แต่พอลองฉีดปรากฎว่าเมื่อโดนผนังเครื่องบินจะเกิดความเสียหาย จึงเปลี่ยนมาใช้เกลือบดละเอียดโปรยไปแทน

แต่ดูเหมือนทดลองอย่างไรก็ไม่สำเร็จเสียที และที่หนักกว่าคือ บรรดานักวิทยาศาสตร์ในตอนนั้นต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า “เทพฤทธิ์ไปทำอะไรก็ไม่รู้ บ้าๆ บอๆ ฝนเทียมจะไปทำได้ยังไง ฝนเป็นเรื่องธรรมชาติ” แต่คุณชายก็ไม่เคยท้อ เพราะเชื่อมั่นตามทฤษฎีว่าทำได้ และยังถือว่าทำงานถวายในหลวง

หลังพยายามอยู่นานหลายปี คุณชายก็พบสารตั้งต้นทั้งสองตัวจนได้ คือ แคลเซียมคลอไรด์ และน้ำแข็งแห้ง

เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นช่วงที่คุณชายขับเฮลิคอปเตอร์ นำขบวนเสด็จฯ จากบ้านโป่งมายังพระตำหนักจิตรลดาฯ เส้นทางบินนั้นมีเมฆอยู่มาก เกรงว่าอาจรบกวนเส้นทางการบินของในหลวง เขาจึงโปรยแคลเซียมคลอไรด์ไปตลอดทาง

ผลปรากฏว่าเมฆแยกตัวจนเหมือนกำแพงยักษ์ 2 ข้าง พอเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งถึงสวนจิตรฯ ไม่นาน ก็เกิดกระแสลมแรงจนเฮลิคอปเตอร์เกือบบินกลับไม่ได้ และไม่นานก็เกิดฝนตกหนัก

ฝนที่ตกคราวนี้ ทำให้ในหลวงและคุณชายเทพฤทธิ์ยิ่งมั่นใจว่าเดินมาถูกทาง แต่ความที่ไม่มีใครเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง การทดลองจึงไม่คืบหน้าเท่าไรนัก กระทั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งมาว่ามีเครื่องบินพ่นยาฆ่าแมลงที่ไม่ได้ใช้หลายลำ คุณชายจึงรีบทำโครงการขอนำเครื่องบินขึ้นไปทำฝนเทียม

การทดลองครั้งแรกเริ่มต้นขึ้นบริเวณเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง นครราชสีมา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2512

ภารกิจครั้งนั้นเป็นไปอย่างขลุกขลักเพราะเครื่องบินที่ใช้พ่นยาฆ่าแมลงไม่มีอุปกรณ์สำหรับทำฝนเลย การโปรยน้ำแข็งแห้งต้องโปรยออกมาทางหน้าต่างเครื่องบิน

สิ่งที่คาดไม่ถึงคือมีลมพัดตีกลับมา ทำให้น้ำแข็งแห้งซึ่งมีอุณหภูมิเย็นจัด -78 องศาเซลเซียส ปลิวย้อนมาเข้าหูคุณชายจนแก้วหูทะลุ แต่เขาก็ไม่ยอมหยุด ทำภารกิจต่อจนเสร็จสมบูรณ์

อุบัติเหตุครั้งนั้น ทำให้คุณชายต้องสวมเครื่องช่วยฟังตลอดชีวิต

แต่ฝนที่ตกหลังจากนั้นอีกไม่กี่นาทีเป็นเครื่องยืนยันว่าความพยายามตลอด 14 ปี ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน และช่วยทำให้ในหลวงทรงต่อยอดวิทยาการนี้เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในเมืองไทย จนกลายเป็นเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงในระดับโลกถึงทุกวันนี้

นักประดิษฐ์มืออาชีพ

คุณรู้หรือไม่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ คือผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ‘นมผงจิตรลดา’ อันโด่งดัง

สมัยนั้นในหลวงมีพระราชดำริส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคนม แต่วันหนึ่งเกิดภาวะน้ำนมล้นตลาด ทำให้ต้องหาทางแก้ปัญหา วิธีแรกคือนำไปให้หมูกิน แต่น้ำนมก็ยังเหลือ จึงคิดถึงการซื้อตู้เย็นเพื่อเก็บรักษาน้ำนมดิบ แต่ตู้เย็นก็ราคาสูงไม่สามารถแจกจ่ายสมาชิกได้ทั้งหมด

ในหลวงทรงนำเรื่องนี้ไปปรึกษาคุณชายเทพฤทธิ์ คุณชายจึงกราบทูลว่า ทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ยั่งยืน คือการแปรรูปน้ำนมดิบเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น

สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณชายเคยทำงานโรงงานนมผงเล็กๆ ช่วงนมขาดแคลน โดยใช้ความร้อนพ่นให้น้ำในนมดิบระเหยออกไป แล้วก็จำหน่ายในราคาถูก หรือช่วงที่ไข่ล้นตลาด ท่านก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ทำน้ำปลาผง และไข่ผง สามารถเก็บได้นานขึ้น แถมไข่ผงเวลาเอามาเจียวแล้วก็ยังอร่อยเหมือนเดิม

ด้วยเหตุนี้ ในหลวงจึงโปรดฯ ให้สร้างโรงนมผงขนาดย่อมขึ้นในสวนจิตรลดา

การทำนมผงของคุณชายใช้ระบบพ่นไอร้อนเข้ามาในห้อง ซึ่งมีหัวฉีด 6 หัว ฉีดนมออกมาเป็นละอองฝอย เมื่อนมถูกความร้อน น้ำจะระเหยทำให้นมแห้งกลายเป็นผงตกลงมาทันทีโดยคุณภาพนมไม่เปลี่ยนแปลง ช่วงแรกการเก็บนมผงใช้วิธีกวาดนมผงใส่ภาชนะแล้วมาบรรจุถุง ซึ่งดูแล้วไม่สะอาด คุณชายจึงออกแบบใหม่ทำเป็นถาดรองรับนม เวลาบรรจุก็ดึงถาดออกทีละอันมาเทใส่กระป๋อง

จากไอเดียในวันนั้น ส่งผลให้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดามีสินค้าที่ขายดีจนถึงทุกวันนี้ แถมยังต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ขายดียิ่งกว่า อย่าง นมอัดเม็ด ซึ่งไม่ได้ถูกใจเฉพาะชาวไทย แต่ยังเป็นที่นิยมในหมู่คนต่างชาติอีกด้วย

หากว่าไปแล้วการประดิษฐ์ส่วนใหญ่ของคุณชายมักเกี่ยวข้องกับเรื่องการเกษตร เพราะเขาเป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่จบวิศวกรรมการเกษตรโดยตรง จากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์

คุณชายสนใจเรื่องการประดิษฐ์มาตั้งแต่วัยเยาว์ ด้วยความประเทศไทยเป็นดินแดนเกษตรกรรม จึงฝันอยากประดิษฐ์เครื่องมือที่ช่วยทุ่นแรงชาวไร่ชาวนา

เขาสร้างทั้งท่อสูบน้ำ ซึ่งน้ำหนักเบา ขนย้ายง่าย ทนทาน ต้นทุนต่ำ แต่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมา สร้างเครื่องบินโปรยยาฆ่าแมลง เครื่องอบข้าวโพด เครื่องขุดมันสำปะหลัง ห้องเย็นสำหรับใส่ปลาทะเลส่งไปภาคเหนือ

แต่ที่ถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดง คงต้องยกให้นวัตกรรมที่เรียกว่า ‘ควายเหล็ก’

ช่วงนั้นคุณชายเห็นว่า น่าจะมีเครื่องทุ่นแรงสักอย่างมาช่วยชาวนา แทนการใช้ควายที่ต้องใช้แรงเยอะและไม่ค่อยสะดวก เลยนำเครื่องยนต์มาดัดแปลงแล้วทำตัวลากคันไถเป็นล้อเหล็ก เสริมด้วยสายพายฉุด ปรากฏว่าใช้งานได้ดี สามารถไถกลบ ย่อยดินได้ดีไม่แพ้ควายเลย

จากนั้นคุณชายก็พัฒนาควายเหล็กนี้ไปเรื่อยๆ เอาสูบลมมาติดกับเครื่องยนต์ หรือออกแบบให้คนขึ้นไปนั่งได้ ใส่เกียร์ เพิ่มแรงม้าจนกลายเป็นรถไถที่มีประสิทธิภาพ ถึงขั้นมีบริษัทญี่ปุ่นมาขอดูงาน

นอกจากนี้คุณชายยังมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจอย่าง แผ่นเกราะเทพฤทธิ์ เพื่อหุ้มยานพาหนะที่จะเข้าไปช่วยเหลือทหารและตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บในพื้นที่อันตราย หรือแก๊สโซฮอลล์ที่ได้จากเปลือกสับปะรด ซึ่งพอลองใส่รถแล้ววิ่งได้จริง

“อาจารย์หม่อมท่านมีจุดประสงค์ทำให้ราคาถูก ทุกคนสามารถหามาใช้งานได้ ท่านจึงไม่เคยคิดเรื่องสิทธิบัตรหรือไม่เคยคิดที่จะผลิตขายเองเลย” ศรีวัย สิงหะคเชนทร์ ลูกศิษย์คนหนึ่งกล่าว

ทำงานไปอย่าได้ท้อ

แม้โครงการที่คุณชายทำจะมีทั้งสำเร็จมาก สำเร็จน้อย หรือไม่สำเร็จเลย คละเคล้ากันไป

แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ นอกจากความสร้างสรรค์แล้ว คือ ความมุ่งมั่น และพยายามอย่างเต็มที่

บนโต๊ะทำงานของ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ มีข้อความที่เขียนว่า “Work ทำงานไป อย่าย่อท้อ” แสดงถึงความรักในงานอย่างแท้จริง เขาทำงานโดยไม่มีวันหยุด ไม่ว่าวันเสาร์-อาทิตย์ หรือกลางค่ำกลางคืน ถ้าคิดอะไรออกก็รีบขับรถมาทำงานทันที บางทีก็กินนอนอยู่ที่ทำงานเลยทีเดียว

หลายคนที่เคยได้ทำงานใกล้ชิด มักบอกว่าคุณชายเป็นพวกรักการเรียนรู้ตลอดเวลา และไม่คิดหยุดนิ่ง เขามีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ ชอบสังเกต รักการตั้งสมมติฐาน และให้ความสำคัญกับการทดลองมากเป็นพิเศษ ที่สำคัญคือไม่กลัวตาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เวลาทำอะไรก็ต้องทำให้สุด แม้จะใช้เวลานานนับสิบปี หรือถูกใครว่า “เพี้ยน” หรือ “บ้าหรือเปล่า?”

วราวุธ ขันติยานันท์ อดีตอธิบดีกรมฝนหลวงฯ ลูกศิษย์รุ่นท้ายๆ ซึ่งมีประสบการณ์บินร่วมกับคุณชายหลายหน เล่าว่า

“มีครั้งหนึ่งเครื่องบินตกหลุมอากาศ ทุกอย่างก็ลอยขึ้นไปติดเพดานหมด แม้แต่คน คนอื่นอาจไม่ค่อยเจอเรื่องแบบนี้ แต่อาจารย์หม่อมจะเจอบ่อย เพราะท่านชอบมุดเข้าไปในเมฆ และมีอีกครั้งที่เราบินเข้าไปแล้ว เมฆก่อตัวเร็ว ล้อมเราไว้ มีทั้งฟ้าแลบฟ้าร้อง นักบินต้องหาช่องออกให้ได้ ต้องรู้ว่าภูเขาอยู่ด้านไหน ทะเลอยู่ด้านไหน ต้องใช้ประสบการณ์ในการนำเครื่องออกมาให้สำเร็จ ถ้าเป็นนักบินใหม่ๆ ก็มีโอกาสตายได้”

คุณชายมีปรัชญาสำคัญในการดำรงชีวิตคือ ไม่หันหลังให้ปัญหา เขามักจะย้ำกับบรรดาลูกศิษย์เสมอว่า ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ แค่คิดว่าแก้ได้ก็สำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่การลงมือทำ

อย่างปัญหาเรื่องพลังงาน คุณชายเห็นว่าเมืองไทยพึ่งพาต่างชาติมากเกินไป ช่วงท้ายๆ ของชีวิตจึงคิดโครงการแยกไฮโดรเจนจากน้ำทะเลเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน

แต่ปัญหาหนึ่งคือต้องใช้น้ำทะเลที่สะอาด และมีความเค็มเพียงพอ เขาจึงพยายามเสาะหาแหล่งน้ำทะเลที่เหมาะสม กระทั่งมาพบที่น้ำทะเลที่ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จึงให้คนออกเรือไปบรรจุน้ำทะเลกลับมาเก็บไว้ รอให้ตกตะกอน จนมีคุณสมบัติเหมาะสมจากนั้นจึงใช้ทดลอง คุณชายลงทุนสร้างบ้านที่นี่ เพื่อทำเป็นโรงงานทดลองเครื่องเรือไฮโดรเจนที่ผลิตมาจากน้ำทะเล แต่น่าเสียดายที่โครงการเกือบสำเร็จอยู่แล้ว แต่เกิดล้มป่วยและเสียชีวิตไปเสียก่อน

อย่าห่วงผมเลย เพราะว่าชีวิตผมยกให้ในหลวงแล้ว

ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล : นักประดิษฐ์ข้างกายพระราชา

เพื่อคนไทย เพื่อชาวโลก

“..อย่าห่วงผมเลย เพราะว่าชีวิตผมยกให้ในหลวงแล้ว..”

เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตการเป็นนักประดิษฐ์นักทดลอง ที่ต้องพบกับความผิดพลาดล้มเหลว หลายครั้งนำมาซึ่งความบาดเจ็บและสูญเสีย

นอกจากเสียการได้ยินไปบางส่วน หลังการโปรยสารเคมีสำหรับการทำฝนหลวงแล้ว คุณชายยังสูญเสียนิ้วก้อย หลังจากทดสอบเรือหางกุด เพื่อนำมาใช้แทนเรือหางยาว โดยช่วงหนึ่ง คุณชายเอามือไปรองเครื่องสูบน้ำว่าดูดแรงไหม แต่ปรากฏว่าเครื่องไม่มีตะแกรง จึงดูดนิ้วเข้าไป ลูกศิษย์ต้องรีบดึงตัวออกมาห้ามเลือดและพาไปส่งโรงพยาบาล เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้คุณชายต้องนอนพัก ทำอะไรไม่ได้อยู่ 2 เดือน

แต่เหตุการณ์ที่ถือเป็นจุดพลิกและเกือบตายอย่างแท้จริง เกิดขึ้นในช่วงที่คุณชายบินไปพ่นสารเคมีปราบตั๊กแตนปาทังกาที่ลพบุรี มีจังหวะหนึ่งถังน้ำยาซึ่งทำด้วยแก้วล้มลงและแตก ทำให้น้ำยาเคมีราดไปทั่วตัวคุณชาย นักบินจึงต้องรีบเอาเครื่องลงที่ดอนเมือง แล้วพาไปอาบน้ำ แต่พิษได้เข้าไปอยู่ทั่วตัวแล้ว ต้องนอนรักษาอยู่นานนับเดือน และยังทำให้สุขภาพทรุดโทรมลงตั้งแต่นั้น

หมอถึงขั้นทำนายว่า คุณชายจะอยู่ได้อีกไม่เกิน 5 ปี แต่ด้วยกำลังใจจากคนรอบข้าง ทำให้เอาชนะความเจ็บป่วยได้

“ผมเคยถามท่านว่า ทำไมท่านไม่พักผ่อนบ้าง ท่านตอบผมว่า แกไม่รู้อะไร ฉันเคยตายมาแล้ว พอฉันฟื้นขึ้นมา ในหลวงมายืนข้างเตียง รับสั่งว่า คุณเทพฤทธิ์ต้องสู้ ท่านจึงบอกว่า ท่านจะทำจนกว่าจะเสียชีวิต ท่านจะทำให้ในหลวง” นิล อินทร์รจนา พนักงานที่รักและเคารพคุณชาย กล่าว

แต่สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการทำงานถวายในหลวง คือการตระหนักว่า นวัตกรรมต่างๆ ที่สร้างสรรค์จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยและชาวโลก แม้สุดท้ายตัวเองจะไม่ได้อยู่เห็นความสำเร็จเหล่านั้นก็ตาม

ฝนหลวงคือตัวอย่างของนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับระดับโลก และมีการต่อยอดอย่างสม่ำเสมอ หลายประเทศเข้ามาขอดูงาน และนำความรู้กลับไปใช้แก้ปัญหาความแห้งแล้งภายในพื้นที่ตัวเอง เช่นเดียวกับสิ่งประดิษฐ์ที่เคยเริ่มต้นไว้ก็ถูกนำพัฒนาให้มีศักยภาพมากขึ้น เช่น ควายเหล็ก เครื่องนวดข้าว เครื่องสีข้าว ท่อสูบน้ำ และอื่นๆ อีกมากมาย

แม้วันนี้ชื่อของชายผู้นี้จะถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำของผู้คนนานหลายสิบปี แต่ผลงานที่เขาทำเพื่อคนไทยก็ยิ่งใหญ่ แบบที่ควรได้รับการยกให้เป็น ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อย่างแท้จริง

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • พระราชบันทึก THE RAINMAKING STORY ของในหลวง รัชกาลที่ 9
  • หนังสือ สายรุ้ง ๑๐๐ ปี ชาตกาล ม.ร.ว เทพฤทธิ์ เทวกุล
  • หนังสือ The Visionary ถอดรหัสกษัตริย์ผู้มองเห็นอนาคต
  • Facebook สานต่อที่พ่อทำ

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.