ภาพจำของผู้คนเมื่อพูดถึง ‘คลองเตย’ หลายคนมักนึกถึงชุมชนแออัดที่เต็มไปด้วยปัญหาสารพัด นึกถึงความเสื่อมโทรม ยาเสพติด อาชญากรรม ความยากจน ฯลฯ
แต่ไม่ว่าอย่างไร เด็กๆ ที่นี่ก็ยังมีความสดใส มีความฝัน ไม่ต่างจากเด็กที่อื่นๆ แม้จะต้องเผชิญกับความเครียด ความกดดัน บางคนต้องดิ้นรนหารายได้ตั้งแต่อายุยังน้อย บางคนหลุดออกจากระบบการศึกษา ต้องรับมือกับปัญหาครอบครัว และอบายมุขที่วนเวียนอยู่รอบกาย
สิ่งสำคัญที่จะทำให้พวกเขาไปถึงฝันได้ คือ ‘โอกาส’ ที่ได้เห็นว่ายังมีทางเลือกอื่นรออยู่ในอนาคต
นั่นเองที่เป็นแรงบันดาลใจให้พี่ๆ อาสากลุ่มหนึ่งรวมตัวกันชื่อ ‘Music Sharing’ หรือ ‘คลองเตยดีจัง’ เพื่อจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ชวนน้องๆ มาเรียนรู้ เป็นพื้นที่ปลอดภัยของการพูดคุย และให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ
กว่าสิบปีของการทำงาน พวกเขาได้ทำให้เด็กหลายคนเห็นศักยภาพของตัวเอง จากการเล่นดนตรี และสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ บางคนสามารถต่อยอดไปสู่การหารายได้ เลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนในครอบครัว ตลอดจนเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ให้ได้มีช่องทางการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจ เพื่อเป็นต้นทุนสำหรับการประกอบอาชีพต่อไป
และในห้วงเวลาที่เมืองไทยเผชิญกับโรคระบาด คลองเตยดีจังก็เป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงที่นำความช่วยเหลือมาสู่พี่น้องผ่านโมเดล ‘คูปองปันกันอิ่ม’ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากชาวบ้านจำนวนมากถูกให้ออกจากงาน พวกเขาจึงเปิดรับบริจาคจากภายนอก จากนั้นก็นำเงินมาทำเป็นคูปองสำหรับซื้อสินค้าภายในชุมชน ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในพื้นที่แล้ว ยังช่วยให้ผู้คนในคลองเตยผ่านพ้นวิกฤตครั้งใหญ่ไปได้ด้วยดีอีกด้วย
แต่แน่นอนกว่าจะมาถึงวันนี้ เหล่าอาสาต้องอาศัยพลังความทุ่มเท เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจากกลุ่มเยาวชน ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนทั่วไป ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงชักชวน 2 ทีมงานของคลองเตยดีจัง อย่าง อ้อย–อัญมณี คงคูณ และ ฝน–ธัญสร จันทตรัตน์ มาร่วมพูดคุยถึงเส้นทางการทำงานที่เต็มไปด้วยความท้าทาย เพื่อสร้างความฝัน ความหวัง และอนาคตที่ดีกว่าให้แก่ ‘เด็กคลองเตย’
เส้นทางของคลองเตยดีจังเกิดขึ้นจากพยาบาลสาวคนหนึ่ง ผู้มีหัวใจรักในเสียงดนตรี
แอ๋ม-ศิริพร พรมวงศ์ มีความฝันลึกๆ อยากช่วยเหลือคนอื่นมาตั้งแต่เด็ก โดยได้แรงบันดาลใจมาจากแม่ชีเทเรซาที่เคยสร้างโรงเรียนให้เด็กในสลัม
ในวันที่เธอโตขึ้น จึงอยากเรียนต่อคณะสังคมสังเคราะห์ศาสตร์ ทว่าด้วยความที่ทางบ้านทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลมาตลอด จึงมองว่าอาชีพสายสาธารณสุขมั่นคงกว่า เลยสนับสนุนให้เลือกเรียนพยาบาลแทน เพราะอย่างน้อยวิชาชีพนี้ก็ช่วยเหลือคนได้ไม่แพ้กัน ซึ่งแอ๋มไม่ขัด เดินตามทางที่พ่อแม่แนะนำ
หากแต่ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล กลับพลิกชีวิตของหญิงสาวจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเปิดโลกกว้างให้เธอได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย ยิ่งเมื่อได้เป็นสมาชิกของกลุ่มสลึง ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ใช้ดนตรีเคลื่อนไหวและขับเคลื่อนประเด็นสังคม รวมทั้งมีโอกาสได้ขึ้นดอยไปสอนหนังสือ สอนดนตรีให้น้องที่อยู่ในถิ่นห่างไกล ทำให้เกิดคำถามในใจว่า เราจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีกว่านี้ได้หรือไม่ เพื่อทำให้ความยากจนหายไป
คำถามนี้วนเวียนอยู่ในใจเรื่อยๆ แม้แต่วันที่เธอไปทำงานเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลใหญ่ของรัฐก็ตาม จนในที่สุดแอ๋มจึงตัดสินใจลาออก และเดินหน้าค้นหาคำตอบ
กระทั่งเมื่อปี 2555 เธอมีโอกาสได้ไปเยี่ยมหมู่บ้านมณีพฤกษ์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง บนดอยภูคา ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน และได้พบกับเยาวชนในพื้นที่ 2 คน ซึ่งเข้าไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ แล้วกลับมาเป็นครูอาสา ทั้งคู่อยากทำโครงการสร้างโรงเรียนดนตรีให้เด็กๆ แต่ติดปัญหาคือ ไม่มีเงินพอที่จะซื้อเครื่องดนตรี
แอ๋มจึงยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ โดยริเริ่มโครงการ ‘Music Sharing’ หรือ ‘ดนตรีเพื่อการแบ่งปัน’ โดยทำโปสเตอร์เผยแพร่ทาง Facebook ขอรับบริจาคเครื่องดนตรีทุกชนิด ผลปรากฏว่าโพสต์นี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม มีคนแชร์นับพัน แถมยังมีสื่อมวลชนมาขอสัมภาษณ์ มีห้างสรรพสินค้าประสงค์ขอร่วมบริจาคเครื่องดนตรี จนเกินความต้องการ
สุดท้ายแอ๋มจึงนำเครื่องดนตรีที่เหลือไปมอบให้ชุมชนที่คลองเตย เนื่องจากมีเพื่อนชาวฝรั่งเศสชื่อ Geraldine Nemrod หรือจีจี้ บอกว่าอยากจะสอนเด็กที่นี่ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องเดียวที่จีจี้ขอร้อง เพราะนอกจากขาดแคลนเครื่องดนตรีแล้ว ยังขาดครูสอนด้วย พอดีแอ๋มมีเวลาว่างช่วงวันหยุด จึงตกปากรับคำมาช่วยอีกแรง นั่นเองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นครูอาสาประจำที่ชุมชนคลองเตย
ครั้งนั้นพวกเธอทำงานภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิ Playing for Change ของสหรัฐอเมริกา ในชื่อโครงการ KlongToey Music Program มีเด็กในชุมชนมาเรียนดนตรีร่วม 30 คน อายุตั้งแต่ 6-14 ปี โดยเรียนกีตาร์ อูคูเลเล่ คีย์บอร์ด กลอง ตามความถนัดและความสนใจของเด็กๆ พร้อมกับชักชวนผู้ที่อยากถ่ายทอดความรู้เรื่องดนตรีมาเป็นครูอาสา ซึ่งมีนักดนตรีมืออาชีพหลายคนมาร่วมทีม เช่น โอ-นิติ เมาลานนท์ หรือ PussyJazz มือกีตาร์ของวง Monotone Group
เช่นเดียวกับอ้อย ซึ่งเดิมทีเป็นนักดนตรีอยู่ในวง Dr.Sax Chamber Orchestra วันหนึ่งแอ๋มพาน้องๆ ไปเล่นดนตรีในงานพื้นที่นี้…ดีจัง ณ แพร่งภูธร ตอน Hi กันและกัน จึงเกิดการชักชวนให้มาเป็นครูประจำวงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
“เราเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ได้ทุนเรียนดนตรีคลาสสิก และทาง Dr.Sax Chamber Orchestra เขาก็จะพาไปเล่นดนตรีหลายๆ ที่ ทั้งสถานแรกรับ บ้านเด็กกำพร้า บ้านผู้สูงอายุ จนได้มาเล่นที่งานแพร่งภูธร โดยน้องๆ คลองเตยเล่นต่อจากอ้อย ทำให้เจอรุ่นพี่ที่เคยเล่นดนตรีด้วยกัน ซึ่งมาอยู่ตรงนี้ก่อน เราเลยตามมาที่นี่ ซึ่งตอนนั้นคิดเยอะเหมือนกัน เพราะถ้าเรามุ่งทางสายอาชีพก็จะมีวง Thailand Philharmonic Orchestra รองรับหรือจะเป็นครูสอนดนตรีที่ Dr.Sax School of Music ต่อ แต่อ้อยเลือกอยากจะแบ่งปันความรู้ที่มีอยู่ให้กับน้องๆ แล้วก็สนุกเพราะเด็กๆ ตั้งใจเรียนกันมาก” อ้อยเล่า
สำหรับเทคนิคการสอนที่แอ๋มและกลุ่มอาสาเลือกใช้นั้นหลากหลาย ไม่ใช่การสอนดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่บ่อยครั้งนำเกมเข้ามาผสมผสาน เพื่อลดความเครียดที่พวกเขาเคยเผชิญมา เพราะต้องยอมรับว่า น้องๆ หลายคนต่างประสบปัญหาในชีวิต ตั้งแต่ครอบครัวทะเลาะกัน ความกดดันจากโรงเรียน เพื่อนฝูง บางคนถูกชักชวนไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติด หลายคนต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน ต้องดิ้นรนทำมาหากินตั้งแต่เด็กๆ
แอ๋มจึงอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่โอบรับทุกคน พร้อมรับฟังทุกปัญหาที่เข้ามา อย่างบางคนตั้งใจที่จะมาเรียนดนตรี และอีกไม่น้อยอยากเข้ามานั่งเล่น นั่งพูดคุยเฉยๆ พอถึงช่วงซ้อมก็กลับบ้าน หรือนั่งฟังเพื่อนเล่นดนตรีต่อก็ได้
“ถ้าพูดให้ถูก เราใช้ชีวิตกับเด็กมากกว่าการเรียนดนตรี ทุกสัปดาห์เราจะพาเขาไปเชียร์บอล จนกลายเป็นแฟนบอลการท่าเรือ หรือพอถึงวันที่ 1 กับ 16 เด็กจะบอกว่า ครู วันนี้ต้องรีบไปทำมาหากิน เราก็สงสัยว่าคืออะไร เลยไปส่งเด็กที่ตลาดคลองเตย เขาก็ไปรับเรียงเบอร์มา จากนั้นมาแบ่งกันว่าวันนี้จะขายตรงไหน จะได้ไม่ทับซ้อนกัน บางวันเราต้องเก็บขวดพลาสติก เก็บกล่องกระดาษ เพื่อนำไปขาย บางวันที่เหนื่อยมา สอนไม่ไหว เขาก็บอกไม่เป็นไร วันนี้เราเล่นเกม นอนเล่นโทรศัพท์ไป เพราะเราแค่อยากมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน” แอ๋มเคยเล่าในงาน TEDxKlongToei
“เมื่อก่อนเด็กๆ จะมานอนที่ออฟฟิศเลย เขาสามารถเปิดใจคุยได้ทุกเรื่อง โดยที่เราคอยรับฟังและให้คำแนะนำว่า เราคิดอย่างไร แต่เราจะไม่ไปห้ามเพราะยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ เราทำแบบนี้ทุกสัปดาห์ เป็นเหมือนค่ายเล็กๆ ที่มานั่งคุยกัน เล่นดนตรี ทำอาหารด้วยกัน โดยเรามีกติกาการอยู่ร่วมกันซึ่งน้องๆ เป็นคนคิดเอง เช่นห้ามทะเลาะกัน ห้ามขโมยของ คิดบทลงโทษเอง เพราะมันคงง่ายกว่า ถ้าเขาเป็นคนออกแบบเองทุกอย่าง แม้แต่การเรียนก็เหมือนกัน พอเรียนเสร็จเราก็ให้เขาถอดความรู้สึกออกมาว่า คิดยังไงบ้าง ครูคนนี้สอนดีหรือเปล่า” อ้อยในฐานะครูอาสารุ่นแรกฉายภาพเพิ่มเติม
แน่นอนแม้สุดท้ายดนตรีอาจจะไม่สามารถพลิกชีวิตของเด็กๆ จากหน้ามือเป็นหลังมือได้ แต่อย่างน้อยๆ ก็นับว่าเป็นโอกาสในชีวิตที่พวกเขาจะได้เรียนรู้และเติบโต ตลอดจนเกิดความตระหนักถึงคุณค่าในชีวิตของตัวเอง เพราะกว่าที่จะเล่นเครื่องดนตรีได้สักชิ้น ต้องอาศัยความมุ่งมั่น ความพยายาม ความอดทน และสมาธิ จนหลายคนเกิดแรงบันดาลใจที่จะใช้ดนตรีพาตัวเองไปสู่อนาคตที่ดีกว่า
“ความจริงเรื่องอบายมุข ทุกคนอยากลองหมด แต่เราจะคุยกันว่า ถึงระดับไหนแล้ว คือเราไม่ได้กีดกันเขาออกไป แต่พยายามดึงเขากลับมาเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ถึง 1 ปี ก็จะกลับมาเอง เพราะต้องยอมรับว่า มันอยู่ใกล้ตัวเขามากๆ อย่างเราไปหาเขาสัปดาห์ละครั้ง แต่เขาเจอสิ่งเหล่านี้ทุกวัน และถึงเราจะห้ามแค่ไหน ยัดข้อมูลว่ายาเสพติดมีโทษเป็นอย่างไร แต่ถ้าเขาลองแล้วมีความสุข หายเครียดกับเรื่องที่บ้าน เราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะบางคนอายุ 14 ปี แต่ต้องเป็นเสาหลักของครอบครัว งานก็หายาก แต่ต้องหาเงินให้ได้มากที่สุด ดังนั้นเขาจะคิดอะไรปุบปับ ถ้าทำไม่ได้ก็โดนด่าโดนว่า
“บางครั้งมีปัญหาเรื่องคุณพ่อคุณแม่วัยใส บางคนขาดความรักมาก เขาจะติดเพื่อนติดแฟน แฟนพูดอะไรเห็นดีเห็นงามไปหมด ไปจนถึงเด็กๆ บางคนก็จะมีคำถามต่อผู้ปกครองว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ หรือเวลาเราพูดเรื่องโทษของยาเสพติดให้เขาฟัง แต่ที่บ้านเขาเป็นคนขาย บางคนเคยถูกหลอกให้เป็นคนส่งโดยไม่รู้ตัว เขาก็จะรู้สึกสับสนในตัวเอง สิ่งที่เราทำได้คือ การคุย บางครั้งต้องนัดทั้งน้องและทางบ้านมาเจอกัน รอให้ทั้ง 2 ฝ่ายใจเย็น ค่อยแก้ปัญหากันไป ส่วนตัวทีมเองก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกัน แนะนำว่าจะทำแบบไหนวิธีไหนดีกว่า” อ้อยเล่าการทำงาน
ทว่าเมื่อทำงานด้านดนตรีได้พักหนึ่ง แอ๋มเห็นว่า นอกจากดนตรียังมีศิลปะแขนงอื่นที่เด็กๆ สนใจและสามารถเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ได้ไม่แพ้กัน และยังเปิดโอกาสให้เด็กที่ไม่สนใจเรื่องดนตรีเข้ามามีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น
พอดีในช่วงนั้นโครงการ Music Sharing ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งกำลังพัฒนาเครือข่ายที่ชื่อว่า ‘พื้นที่นี้…ดีจัง’ แอ๋มจึงขยายกรอบการทำงานให้กว้างขึ้น และเข้าไปทำงานกับชุมชนต่างๆ ทั่วคลองเตย
หนึ่งในเครื่องมือที่นำมาใช้คือศิลปะ มีการชักชวนเด็กๆ มาแปลงขยะรีไซเคิลเป็นผลงานสร้างสรรค์ ทั้งสมุดทำมือ โคมไฟ ภาพวาด ไม่เพียงแค่นั้นพวกเขายังจับมือกับองค์กรและอาสาสมัครอื่นในพื้นที่ เช่น มูลนิธิดวงประทีป มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล หรือศูนย์เมอร์ซี่ ตลอดจนประสานกับประธานชุมชนต่างๆ จัดกิจกรรมโดยใช้พื้นที่ของสนามบาสเกตบอล แฟลต 19-22 จนเกิดเป็นเทศกาลดนตรีครั้งใหญ่ที่ชื่อว่า ‘คลองเตยนี้…ดีจัง’ เมื่อวันเสาร์ที่ 4 เมษายน 2558
ภายในงานนอกจากมีการแสดงละคร ดนตรี และศิลปะจากฝีมือเด็กในชุมชน ยังมีวงดนตรีเครือข่าย อาทิ วงเก่งข้างบ้าน จากชุมชนคลองเตย วงดนตรีจากเยาวชนวัดปรก และวง Immortal Band จากโรงเรียนพระโขนงพิทยาลัย มาร่วมแสดง
“เราชวนพ่อแม่เขามาดู ทำให้เห็นว่าน้องๆ เล่นดนตรีได้ เขาก็เริ่มภูมิใจ เริ่มเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับลูกตัวเองใหม่ หรือจากเดิมที่คิดว่าดนตรีเป็นเรื่องไกลตัว หรือไม่สำคัญเมื่อเทียบกับปัญหาเรื่องปากท้อง หลายบ้านเริ่มเปิดใจให้เรา มีคนมาถามว่า ทำไมลูกเขาถึงไม่ได้เล่นดนตรี อยากให้ลูกเข้ามาต้องทำอย่างไร เพราะทุกครั้งที่น้องออกไปเล่นข้างนอก ก็จะมีรายได้กลับมา และพอเราจัดเทศกาลขึ้นมาก็เริ่มมีเครือข่ายชวนน้องๆ ออกไปเล่นกันเยอะขึ้น” อ้อยย้อนเรื่องราว
ความสำเร็จของเทศกาลครั้งแรกได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่สีแดงแห่งนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป
งานของแอ๋มและเหล่าครูอาสาได้รับการตอบรับจากชาวชุมชนมากขึ้น ยืนยันได้จากในปีถัดๆ มา ผู้ปกครองหลายคนได้ลงแรงคนละไม้คนละมือ ช่วยเนรมิตพื้นที่จนสวยงาม เด็กๆ ที่ไม่เคยเข้าร่วมก็อยากมาสนุกเช่นกัน หรือแม้แต่พี่ๆ นักร้องนักดนตรีที่มีชื่อเสียงก็เข้ามาร่วมแสดง จนมียอดผู้ชมแต่ละปีหลายพันคน และทั้งหมดนี้เองที่ทำให้เทศกาลนี้ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘คลองเตยดีจัง’ กลายเป็นงานของทุกคน ‘ชาวคลองเตย’ อย่างแท้จริง
บทเรียนจากการทำงานในพื้นที่คลองเตยอย่างต่อเนื่อง ทำให้พี่ๆ จากกลุ่ม Music Sharing ตระหนักดีว่า ดนตรีและศิลปะเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งสำหรับการแก้ปัญหา หากแต่หัวใจสำคัญที่จะนำพาความยั่งยืนให้เกิดขึ้น คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ให้หลุดพ้นจากวัฏจักรชีวิตเดิมๆ
สิ่งหนึ่งที่พวกเขาทำได้คือ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยงให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ จนเกิดโครงการ Art Land @ Khlongtoey ในปี 2560
ก่อนหน้านั้น แอ๋มและทีมงานได้เข้าไปทำกิจกรรมที่ชุมชนโรงหมู ซึ่งเป็นชุมชนที่มีเด็กๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยสถานที่สอนคือ โรงฆ่าสัตว์เก่า ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางชุมชน มีพื้นที่กว่า 2-3 ไร่ และด้านในยังมีตึกอยู่หลายหลัง แต่ติดปัญหาใหญ่ตรงที่พื้นที่นี้ถูกปล่อยทิ้งร้างมานาน ทำให้บริเวณโดยรอบรายล้อมไปด้วยเศษอิฐหินดินปูน และบ่อยครั้งยังมีคนไร้บ้านและคนสติไม่สมบูรณ์มาแอบซ่อนตัวอีกต่างหาก ไม่เพียงแค่นั้นตอนกลางคืนแถวนี้ยังเปลี่ยวและมืดสนิท เนื่องจากไม่มีไฟฟ้า ผู้ปกครองจึงพากันหวาดกลัว ไม่อยากให้บุตรหลานเฉียดใกล้
แอ๋มคิดตลอดว่า หากเป็นไปได้ก็อยากปรับปรุงสถานที่นี้ให้ปลอดภัยขึ้น ทุกคนสามารถมาเล่น พักผ่อน และทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างอิสระ
“เมื่อก่อนที่ตรงนี้รกร้างมากๆ มีเด็กบางคนมาจับกลุ่มเล่นยา เล่นการพนัน ตีกันก็มี แถมขยะยังเต็มไปหมด สุดท้ายเราจึงไปสืบว่าที่นี่เป็นของใคร ใครกำลังเช่าอยู่ จนมาทราบว่า ผู้เช่าเดิมกำลังมีคดีความกับการท่าเรือฯ เราเลยติดต่อขอเขาใช้พื้นที่ในระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงที่เป็นคดีอยู่ได้ไหม จากนั้นก็เริ่มช่วยกันปรับปรุง” อ้อยอธิบาย
ครั้งนั้นมีการชักชวนเด็กๆ และเยาวชนมาร่วมกันทำความสะอาด เก็บกวาดซากปรักหักพัง และกองขยะ พร้อมกับตั้งชื่ออาคารว่า Safe House โดยคำว่า Safe มาจากคำว่าเสพ โดยภายในจะมีห้องทำกิจกรรมและห้องสมุด ไม่เพียงแค่นั้นยังมีพี่ๆ อาสาสมัครจากวิทยาลัยช่างศิลปมาช่วยเพนต์ผนังกำแพงของอาคารตลอดจนบ้านเรือนในละแวกนั้น จนสวยแปลกตาและใครผ่านมาต่างก็รู้สึกสบายใจ
ส่วนบริเวณโรงฆ่าสัตว์เก่านั้น ทางกลุ่มได้บรรดาศิลปินสตรีทอาร์ตมาร่วมกันเนรมิตพื้นที่ ซึ่งบางคนต่อให้ต้องเดินทางมาไกล แต่ยินดีช่วยเหลือเต็มที่ เช่น มวย-ปิยศักดิ์ เขียวสะอาด ศิลปินจากเชียงใหม่ที่โดดเด่นเรื่องภาพสัตว์ป่า ได้มารังสรรค์ผลงานชุด New Home นำเสนอเป็นรูปหมู วัวและควายที่กำลังยิ้มแย้ม เพื่อสะท้อนว่า ที่ตรงนี้ได้เปลี่ยนสภาพจากโรงฆ่าสัตว์กลายเป็นบ้านหลังใหม่ของทุกคน
หลังจากปรับปรุงพื้นที่นานนับปี โดยความร่วมไม้ร่วมมือของทุกภาคส่วน ภารกิจการเปลี่ยน ‘โรงหมู’ ให้เป็น ‘โรงเรียนรู้’ ก็สำเร็จลุล่วง จนได้พื้นที่สาธารณะที่ถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องมาอีกหลายปี กระทั่งการท่าเรือแห่งประเทศไทยขอพื้นที่คืน
โดยระหว่างนั้นมีการตั้งกองทุนคลองเตยดีจัง เพื่อใช้หมุนเวียนในการบริหารจัดการ ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ หรือแม้แต่ค่าจัดกิจกรรม ซึ่งได้ทุนมาจากการเล่นดนตรีเปิดหมวกของน้องๆ รวมถึงการขายของมือสองของสมาชิกในชุมชน และการรับบริจาคจากหน่วยงานภายนอก
เช่นเดียวกับเทศกาลคลองเตยดีจัง ทางทีมงานก็เริ่มวางเป้าหมายให้ไปไกลกว่าการเป็นเวทีอวดความสามารถของเด็กๆ หากยังกลายเป็นเวทีระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับชุมชนคลองเตยให้แก่ผู้คนภายนอก
อย่างเช่น คลองเตยดีจัง ปี 3 ตอนแออัด แต่อบอุ่น ซึ่งเป็นปีแรกที่ย้ายมาจัดที่สนามฟุตบอลชุมชนโรงหมู โดยจัดในรูปแบบ Open House เพื่อให้คนนอกได้เห็นชีวิตจริงๆ ของคนในชุมชนว่าเป็นอย่างไร
เพราะที่ผ่านมาหลายคนมักมีภาพจำเกี่ยวกับคลองเตยว่า เป็นพื้นที่สีแดง เป็นเนื้อร้ายที่ต้องจัดการ แต่ความจริงแล้วพวกเขายังมีด้านอื่นๆ ที่รอทุกคนมาค้นหา และเรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยภายในงานมีการแสดงผลงานศิลปะและดนตรีจากศิลปินตัวน้อยในคลองเตย รวมถึงแขกรับเชิญอย่างกลุ่มละครใบ้ BABYMIME วงนั่งเล่น รวมถึงศิลปินหนุ่ม James Alyn Wee จากวง HYBS เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการชักชวนชาวบ้านมาร่วมกันถอดบทเรียนและค้นหาคุณค่าของชุมชนแห่งนี้ โดยปัญหาที่ทุกคนตกผลึกมีตั้งแต่ชาวบ้านไม่มีสิทธิในที่ดิน หลายคนต่างคนต่างมา จึงไม่รู้สึกผูกพันกันเท่าใดนัก แล้วยังมีปัญหาปากท้อง การศึกษา ขาดการมีส่วนร่วม ที่สำคัญองค์กรพัฒนาบางรายเน้นงานสงเคราะห์มากไป ทำให้ชาวบ้านยังไม่สามารถหยัดยืนด้วยตัวเองได้ จากนั้นก็มาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อหาวิธีผ่านพ้นสถานการณ์เหล่านี้
แน่นอนสิ่งที่ Music Sharing ทำนั้นนับเป็นหนทางหนึ่งที่บรรเทาปัญหาได้ พิสูจน์จากการที่เด็กๆ ต่างมีชีวิตดีขึ้น อย่างบางคนติดเกมและชอบลักขโมยของ แต่พอมาเล่นดนตรี ชีวิตก็เปลี่ยนไป หันมาเล่นดนตรีแทน หรือจากเดิมที่อยากออกจากโรงเรียนมาทำงาน ก็เปลี่ยนวิธีคิดเป็นเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย เพื่อจะได้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม แถมหลายคนเมื่อประสบความสำเร็จ ยังกลับมาเป็นอาสาสมัครคอยช่วยเหลือน้องๆ ให้ได้รับโอกาสเหมือนที่ตัวเองเคยได้รับมาก่อน
ทั้งหมดนี้คือ เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของกลุ่มอาสาเล็กๆ ที่อยากยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ช่วยให้เยาวชนที่คลองเตยรู้ว่าต้องการอะไร พร้อมกับใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายและความฝันตามที่ตัวเองเลือก
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 ชื่อ ‘คลองเตยดีจัง’ กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เมื่อพวกเขาเป็นแถวหน้าในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤตในช่วงโรคระบาดไปได้
เพราะเวลานั้นแม้สถานการณ์ยังไม่รุนแรง แต่ด้วยความเชื่อของผู้คนไม่น้อยที่ฝังใจว่า ชุมชนคลองเตยคือแหล่งเสื่อมโทรม ผู้คนอาศัยกันแออัด จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่เชื้อโรคไปสู่วงกว้างได้มากที่สุด ส่งผลให้แรงงานที่มาจากที่นี่ต่างถูกเลิกจ้างกันเกือบหมด
“ตอนนั้นทุกคนไม่มีความรู้ มีแต่ความกลัว โดยเฉพาะนายจ้างที่กลัวว่าชาวบ้านจะเอาเชื้อมาติดในโรงงาน แล้วทำให้โรงงานถูกปิด 14 วัน ก่อนลงพื้นที่สำรวจชุมชนเราก็คิดว่า น่าจะมีสัก 20% ที่ตกงาน สรุปกลายเป็นว่าทุกบ้านตกงานหมดเลย การลงพื้นที่สำรวจในครั้งนั้นเราจึงทำทั้งแผนที่เดินดิน และข้อมูลประชากรของทุกครัวเรือนเพื่อเป็นฐานข้อมูลว่าจะต้องช่วยเหลืออย่างไรบ้างโดยทำงานร่วมกับประธาน คณะกรรมการและอาสาสมัครชุมชนนั้นๆ ถ้าเกิดมีคนติดเชื้อขึ้นมาจริงๆ ฐานข้อมูลนี้จะทำให้พวกเราทำงานได้รวดเร็วขึ้น และลดการขยายวงของการแพร่เชื้อได้อีกด้วย” อ้อยฉายภาพ
ภารกิจหลักที่คลองเตยดีจังต้องทำในห้วงเวลานั้น เรื่องแรกคือการสำรวจและนำความช่วยเหลือทางสาธารณสุขเข้าไปสู่ผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงให้มากที่สุด โดยน้องๆ เยาวชนได้เปลี่ยนบทบาทจากผู้รับมาสู่ผู้ให้ คอยส่งข้าวส่งน้ำ ยา และถุงยังชีพแก่ผู้ป่วยและผู้กักตัวตามบ้านเรือนต่างๆ
ไม่เพียงแค่นั้น พวกเขายังเป็นตัวช่วยประสานทีมแพทย์เพื่อเข้ามาตรวจหาผู้ติดเชื้อ ติดต่อนักเทคนิคการแพทย์มาช่วยสอนวิธีการใช้ชุดตรวจ ATK จัดเวิร์กชอปการปฐมพยาบาลให้แก่แกนนำชุมชนต่างๆ ทำศูนย์พักคอย รวมถึงคอยแนะนำผู้คนในชุมชนเกี่ยวกับวิธีดูแลตัวเองที่บ้านอย่างปลอดภัย
“ตอนนั้นเรายังไม่คิดจะทำเรื่องนี้จริงจัง แต่เผอิญพี่ๆ จากองค์กรต่างๆ เช่นมูลนิธิดวงประทีป ชักชวนว่าเราทำเรื่องโรคระบาดกันไหม เพราะตอนนี้ชาวบ้านไม่รู้ว่าจะดูแลตัวเองยังไง โรงพยาบาลก็เต็ม ให้คนป่วยแยกบ้านก็ไม่ได้ แถมแต่ละบ้านอยู่กันตั้ง 7-8 คน บางคนต้องมานอน มากินอยู่ในรถแท็กซี่ของตนเองเพราะไม่อยากให้คนในบ้านติด ทุกมูลนิธิเลยลงมาช่วยกันหมด”
แต่ทั้งหมดนี้ถือเป็นการบรรเทาสถานการณ์ในเบื้องต้นเท่านั้น เพราะสิ่งที่ท้าทายไม่แพ้กันคือ จะทำอย่างไรให้ชาวคลองเตยที่กำลังตกงาน ปราศจากอาชีพและรายได้มาจุนเจือครอบครัว ยังดำรงชีวิตอยู่ได้
กลุ่มคลองเตยดีจัง จึงเข้าไปสนับสนุนระบบครัวกลาง เพราะบางชุมชนไม่สามารถหาซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารได้ รวมทั้งเปิดรับบริจาคข้าวของสำหรับเด็กเล็ก ทั้งนมกล่อง นมผง แป้ง สบู่ ผ้าอ้อม ของเล่น และสมุดนิทาน ซึ่งมีผู้ใจบุญมาช่วยสมทบทุนจนได้จำนวนครบตามที่ต้องการ
หากแต่โมเดลที่ทำให้ชาวคลองเตยผ่านพ้นวิกฤตได้โดยแท้จริง คือ ‘คูปองปันกันอิ่ม’ ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านนำไปแลกอาหารตามร้านค้าต่างๆ ในชุมชน 1 ใบต่อ 1 มื้อ
โดยแหล่งรายได้มาจากการระดมเงินในแพลตฟอร์มเทใจดอทคอม 30 บาทต่อคูปอง 1 ใบ โดยครั้งแรกทางกลุ่มตั้งใจใช้ใน 4 ชุมชน คือ ชุมชนโรงหมู ชุมชนริมคลองวัดสะพาน ชุมชนบ้านมั่นคง และชุมชนแฟลต 23-24-25 ก่อนที่ภายหลังจะขยายเป็น 36 ชุมชน
“เขาสามารถนำคูปองนี้ไปใช้ซื้ออะไรก็ได้ เพราะตอนนั้นเราไม่อยากให้รับของบริจาคเป็นข้าวกล่อง เพราะบ่อยครั้งมีทั้งเสีย เลือกกินก็ไม่ได้ ซึ่งบางทีพอคนป่วยกินเข้าไปแล้วยิ่งป่วยเข้าไปอีก เราอยากให้สิ่งที่ทุกคนเลือกได้เองในราคา 30 บาท เราจึงไปพูดคุยกับบรรดาร้านค้าต่างๆ ซึ่งก็มีตั้งแต่ร้านอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ ของกินทั้งหมด ยกเว้นร้านของชำที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ เพราะเรากลัวว่าบางคนจะไปซื้อเหล้า ซื้อบุหรี่”
ผลจากการระดมทุนในครั้งนั้น ได้ยอดเงินบริจาคสูงถึง 1,446,971 บาท สามารถกระจายอาหารไปตามครอบครัวต่างๆ ได้ถึง 7,000 ครัวเรือน
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ คูปองเหล่านี้ยังทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในชุมชน ร้านค้าต่างๆ อยู่ได้ ไม่ต้องปิดกิจการ ประชาชนยังสามารถดำรงชีวิตได้ปกติสุข นับเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า หากเราทุกคนช่วยเหลือ ประคับประคองกันก็ย่อมก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปได้แน่นอน
ครั้งแรกเราตั้งใจมาเพื่อสอนดนตรีให้น้องๆ เท่านั้น แต่การจะช่วยเหลือเขาให้ประสบผล เราต้องเรียนรู้ทั้งชีวิตประจำวัน ทั้งครอบครัว ทำให้เราเข้าใจว่า การเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง มันไม่ใช่ครอบครัวหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นทั้งชุมชนต่างหาก
จากฝันที่แอ๋มอยากเห็นน้องๆ ในชุมชนคลองเตยก้าวพ้นวังวนเดิมๆ ในชีวิต บวกกับประสบการณ์การทำงานในพื้นที่มานานร่วมสิบปี สิ่งหนึ่งที่สมาชิกคลองเตยดีจังตกผลึกร่วมกัน คือ การศึกษาเป็นประตูบานใหญ่ที่จะพลิกชีวิตของพวกเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือได้
ทว่ายังมีเด็กคลองเตยอีกมากที่หลุดจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร เพราะผู้ปกครองหลายคนมักคิดว่า การที่บุตรหลานได้วุฒิ ม.3 นั้นเพียงพอแล้วสำหรับการทำมาหากิน ซึ่งในโลกความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่เด็กๆ เหล่านี้จะมีรายได้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำแทบเป็นไปไม่ได้เลย
ในเวลานั้น แนวคิดแรกที่สมาชิกคลองเตยดีจังฝันถึง คือ การทำโรงเรียนเป็นของตัวเอง
“สมัยก่อนเด็กๆ ชอบมาเล่าให้ฟังว่า ทำไมต้องเรียนวิชานี้ด้วย จบไปแล้วก็ไม่เห็นได้ใช้ หรือบางทีโดนครูว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เราเลยคิดว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากทำโรงเรียนที่เด็กๆ ออกแบบการเรียนได้เอง แล้วก็อยากทำโรงเรียนฟรีให้กับเด็กๆ” อ้อยอธิบาย
แต่เวลานั้นเรื่องนี้ดูจะไกลเกินเอื้อม สิ่งที่พวกเขาทำได้ในเบื้องต้น คือ การหาองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจ เพื่อที่เด็กๆ จะได้นำมาต่อยอดและปรับใช้กับชีวิตประจำวัน กลายเป็นที่มาของเวิร์กชอปการฝึกอาชีพ โดยหยิบยกเอา 2 งานที่น่าสนใจอย่างการจำหน่ายเสื้อผ้ามือสอง กับการทำเล็บเจลขึ้นมา
สำหรับเรื่องเสื้อผ้ามือสอง พวกเขาสอนเทคนิคการคัดแยกเสื้อผ้าและของใช้มือสองอื่นๆ รวมถึงวิธีการสื่อสารในโลกออนไลน์ว่าต้องทำอย่างไร ทำโปสเตอร์แบบไหนถึงจะดึงดูดผู้คนได้มากที่สุด ฝึกปฏิบัติโดยการพาไปขายเสื้อผ้าที่ตลาดนัด พร้อมกับสอดแทรกความรู้ที่จำเป็น อย่างการบริหารสต็อก และจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำวัน เพื่อให้ทุกคนทำแล้วไม่ขาดทุน
ส่วนการทำเล็บเจลนั้น ทางทีมได้ให้ความรู้ตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน อย่างการดูแลเล็บ การใช้อุปกรณ์ให้ถูกวิธี การทำสปาเท้า หรือแม้แต่เทคนิคการลงสีและทำลวดลายต่างๆ ให้สวยงามตามความต้องการของลูกค้า ที่สำคัญยังมีการมอบอุปกรณ์ เพื่อที่ผู้ผ่านหลักสูตรสามารถนำไปใช้ตั้งต้นในการประกอบกิจการต่อไป
ทว่าหลังเกิดโรคระบาด ปริมาณนักเรียนที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทีมคลองเตยดีจังเห็นว่า คงถึงเวลาแล้วที่พวกเขาต้องหันกลับมาทำเรื่องวุฒิการศึกษาจริงจัง จึงจับมือกับศูนย์การเรียนเซนต์ยอห์นบอสโก จัดการเรียนการสอนตามมาตรา 12 ว่าด้วยการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
“เราออกแบบกระบวนการการเรียน โดยปรึกษากับศูนย์การเรียนที่มีหน้าที่ออกวุฒิว่าโอเคไหม แล้วเราจะมีระบบติดตามเด็กๆ แบ่งความเสี่ยง แบ่งความรุนแรงของปัญหาของแต่ละคน มีระบบคอยติดตามน้องๆ ส่วนการเก็บหน่วยกิต เด็กทุกคนจะต้องเรียนคณิตศาสตร์กับภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็น 2 วิชาที่น้องๆ ถอยห่าง แต่วิธีสอนจะไม่เหมือนกับทั่วไป เพราะเราเน้นการบูรณาการให้เข้ากับชีวิตประจำวัน
“อย่างเลขยกกำลัง เรานำเรื่องแชร์ลูกโซ่ที่เขาเจอทุกวันมาดัดแปลง โดยกางให้ดูเลยว่า แชร์ลูกโซ่มีขั้นตอนอะไรบ้าง แล้วสุดท้ายก็มาคุยกันว่าคุ้มไหม ควรเล่นหรือเปล่า หรือเรื่องหวย เราก็มาประยุกต์เข้ากับเรื่องความน่าจะเป็น หรืออัตราส่วนกับการซื้อของ ซึ่งเหตุผลที่เราถอดกระบวนการทุกอย่างแบบนี้ เพราะเราเคยทำเหมือนในโรงเรียนเลย แล้วสุดท้ายเด็กเดินมาบอกเราว่า เขาเรียนแบบนี้ในโรงเรียน แล้วยังต้องมาเจอที่นี่อีกเหรอ เราจึงปรับกระบวนการมาเรื่อยๆ จนมาเป็นคอร์สแบบนี้ เรียน 20 ครั้ง ซึ่งสุดท้ายน้องๆ ก็แทบไม่ขาดเรียนเลย” อ้อยขยายภาพการทำงาน
นอกจาก 2 วิชาหลักแล้ว ทีมคลองเตยดีจังยังนำโครงการฝึกอาชีพเดิมมาต่อยอด ทำเป็นหลักสูตรที่เรียกว่า ‘Learn & Earn’ คือเรียนแล้วสามารถหารายได้ได้ทันที โดยแบ่งออกเป็น 4 หลักสูตรคือ Sound Engineer & Stage Management เรียนรู้ทักษะการจัดการเวที ประสานงานเวที การติดตั้งระบบเสียง และการมิกซ์เสียงต่างๆ การออกแบบโดยใช้โปรแกรม Canva & Communication การจัดการขยะและการแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ และสุดท้ายคือ การขายเสื้อผ้ามือสอง โดยทุกคนสามารถเลือกเรียนตามความต้องการของตัวเองได้
“ส่วนใหญ่เป็นเรื่องใกล้ตัว และทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น Sound Engineer เรามีครูอาสาที่รู้จักกันมานานมาช่วยสอน หรือโปรแกรม Canva เราเชื่อว่าจะตอบโจทย์การทำงานในอนาคต ส่วนขยะมีแรงบันดาลใจจากการที่น้องๆ มักมองขยะเป็นเรื่องธรรมดา อยากทิ้งตรงไหนก็ได้ แต่ตอนนี้เรื่องธรรมชาติกำลังบูม เราจึงอยากปลูกฝังอะไรบางอย่างให้เขากลับมาคิดว่า การทิ้้งขยะลงน้ำส่งผลอย่างไรบ้าง ซึ่งพอมาเรียนคอร์สนี้เขาไม่ทิ้งแล้ว แถมบางคนยังแยกขยะโดยอัตโนมัติ ซึ่งเรื่องนี้ตอบโจทย์อาชีพอย่างมาก เนื่องจากเราเองก็พยายามไปประสานตามเครือข่ายต่างๆ เผื่อเวลามีอีเวนต์ แล้วมีบูทจุดแยกขยะ น้องๆ กลุ่มนี้จะได้ไปทำหน้าที่คอยแนะนำว่าทิ้งตรงไหน แยกอย่างไร” อ้อยยกตัวอย่าง
ผลของการขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา ทำให้ขอบเขตงานของคลองเตยดีจังกว้างขึ้นจากที่เคยเน้นหนักเพียง 4-5 ชุมชนกลายเป็น 46 ชุมชน รวมทั้งยังได้เข้าใจถึงปัญหาของเด็กที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
“ปัญหามีสารพัด บางคนไม่มีสตางค์ ไม่มีทุน ติดเพื่อน โดนบูลลีจนต้องออกมา” ฝนเปิดประเด็น
“อย่างน้องคนหนึ่งเขาอยู่ในแก๊งเกเรของโรงเรียน แล้วโดนครูดันออกยกแก๊ง เขาก็เลยมาเรียนกับเราเพื่อนำวุฒิกลับเข้าไปเรียนในระบบต่อ คือบางทีมันเป็นแค่จังหวะชีวิตนิดเดียว” อ้อยเสริมตัวอย่าง
ด้วยเหตุนี้ คลองเตยดีจังจึงพยายามพัฒนารูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับเด็กๆ ในชุมชน เช่นมีการคัดกรองเด็กเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มสีเขียว ซึ่งทางบ้านมีกำลังเพียงพอที่จะสนับสนุน กลุ่มสีเหลืองคือกลุ่มที่เริ่มเสี่ยง ไม่มีทุนการศึกษา และอาจต้องออกจากโรงเรียนในไม่ช้า และกลุ่มสีแดง คือกลุ่มที่หลุดจากระบบไปแล้ว
จากนั้นจึงพิจารณาว่าจะช่วยเหลือได้อย่างไร เช่นหากคนไหนที่ไม่ได้เรียนหนังสือต่อแล้ว ก็จะสอบถามว่ายังต้องการวุฒิการศึกษาอีกไหม หรืออยากจะมุ่งสู่สายอาชีพไปเลย แต่ถ้ายังไม่พร้อมจะตัดสินใจก็มาพูดคุยปรึกษากันก่อนได้ หรือบางคนเป็นคุณแม่วัยใส อยากหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว แต่ไม่สะดวกออกไปทำงานข้างนอก พวกเขาก็ช่วยหางานทางอินเทอร์เน็ตให้ทำแทน
ที่ผ่านมา คลองเตยดีจังช่วยเหลือเด็กๆ ในเรื่องการศึกษาไปแล้วร่วมพันชีวิต หลายคนนำวุฒิการศึกษาไปสมัครงาน เป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อบ้าง ร้านอาหารบ้าง บางคนเปิดกิจการเล็กๆ ของตัวเอง และอีกไม่น้อยที่ต่อยอดเพื่อเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น
“เขาไม่จำเป็นต้องเป็นแรงงานรายวันตลอดไป แต่เขาอาจเลือกไปเป็นผู้จัดการร้านอาหาร เรียนต่อสายอาชีพ บางคนอยากเรียนภาษาต่อในมหาวิทยาลัย หรือแค่ได้เรียน ปวส. ก็พอใจแล้ว ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญในการดึงตัวเองออกจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ” ฝนฉายภาพที่อยากเห็น
ไม่เพียงแค่นั้น พวกเขายังพยายามปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็กๆ ที่มีความจำเป็นหลายอย่าง เช่น หลายคนต้องทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน หรือย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด ไม่มีเวลามานั่งเรียนถึง 20 ครั้ง จึงต้องเปลี่ยนมาเรียนทางออนไลน์แทน รวมทั้งนำระบบใบสั่งงานมาใช้เพื่อความสะดวกในการส่งงาน ตลอดจนมีการปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์การเรียน CYF ในการออกวุฒิการศึกษาสำหรับผู้ที่เรียนจบหลักสูตร
ตลอดการทำงานอย่างต่อเนื่องหลายปี คลองเตยดีจังไม่เพียงแต่พลิกชีวิตของเยาวชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีส่วนในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของชุมชนคลองเตย จากแดนอันตรายมาสู่สังคมที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวดีๆ และมิตรภาพของผู้คน ที่พร้อมดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันตลอดไป
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ประสบการณ์เหล่านี้ได้เปิดมุมมองและทัศนคติของคนทำงานให้กว้างขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเด็กกลุ่มอื่นๆ ได้
“ครั้งแรกเราตั้งใจมาเพื่อสอนดนตรีให้น้องๆ เท่านั้น แต่กลับกลายเป็นเราได้รับมากกว่า เพราะการจะช่วยเหลือเขาให้ประสบผล เราต้องเรียนรู้ทั้งชีวิตประจำวัน ทั้งครอบครัว ทำให้เราเข้าใจว่าการเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง มันไม่ใช่ครอบครัวหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นทั้งชุมชนต่างหาก แน่นอนบางครั้งผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะไม่เป็นไปตามที่หวัง แต่เรารู้สึกประทับใจที่อย่างน้อยเขายังมีโอกาส จากเดิมที่ถามว่าเรียนไปทำไม มหาวิทยาลัยคืออะไรไม่รู้จัก แต่ตอนนี้เขามีเป้าหมายชีวิต รู้ว่าทำไมถึงต้องมีวุฒิการศึกษา รู้ว่าอยากทำอะไร อยากได้เงินเดือนเท่าไหร่ แค่นี้เราก็รู้สึกภูมิใจแล้ว” อาสาสมัครรุ่นบุกเบิกกล่าวย้ำ
โดยนับตั้งแต่ปี 2563 แอ๋มและทีมงานได้ขยายโมเดลการทำงานไปสู่ระดับภูมิภาค โดยเปิดศูนย์การเรียนของตัวเองที่ชื่อว่า Freeform School ณ บ้านนิคมกระเสียว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเป็นโรงเรียนทางเลือกใหม่แก่เด็กๆ ที่ด้อยโอกาส
“เราอยากทำศูนย์การเรียนจริงจัง แต่ติดปัญหาว่าสำนักงานปัจจุบันเป็นพื้นที่เช่า จนบังเอิญไปเจอประกาศขายที่ตรงนี้ พวกเราเลยตัดสินใจซื้อ เพื่อทำเป็นพื้นที่เรียนรู้ ทำเป็นค่าย ทำเป็นที่เรียนอาชีพของน้องๆ คลองเตยและด่านช้าง เนื่องจากโซนที่เราอยู่ค่อนข้างห่างไกลความเจริญ ขาดพื้นที่เรียนรู้ เรื่องอาชีพก็จำกัด ไหนๆ ก็มาเปิดพื้นที่ที่นี้แล้วเราจึงอยากเพิ่มโอกาสในชีวิตให้พวกเขามากขึ้นด้วย” อ้อยกล่าวย้ำ
แต่ถึงอย่างนั้น ภารกิจที่คลองเตยก็ยังไม่สิ้นสุด เพราะยังมีเรื่องท้าทายรอคอยพวกเขาอีกมาก ซึ่งสิ่งที่ทำได้ก็คือ เดินหน้าเต็มที่ ยึดเด็กๆ เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ทุกคนสามารถเดินตามฝันของตัวเอง และนั่นก็คือ หัวใจสำคัญที่จะพาสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืนตลอดไป
ปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 15 ชุมชนหรือเครือข่ายที่รวมพลังกันทำงานเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
คลองเตยดีจัง คือเครือข่ายชุมชนต้นแบบประเด็นสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุม เท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDGs ข้อที่ 4), ประเด็นส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า (SDGs ข้อที่ 8), ประเด็นลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (SDGs ข้อที่ 10), ประเด็นทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความทั่วถึง ปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 11) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)
Top Chef Thailand คนแรกของประเทศ กับความตั้งใจที่อยากสร้างความยั่งยืนทางอาหารให้แก่สังคมไทย
ศิลปินแห่งชาติ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ผู้พยายามสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักเขียนนิทานเด็ก เจ้าของผลงาน ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ กับความฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากยกระดับการอ่านให้เด็กไทยทั่วประเทศ
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
นักขับเคลื่อนทางสังคม ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ หิ่งห้อยน้อย พื้นที่เล็กๆ ที่เปิดรับฟังเรื่องที่เด็กๆ ไม่กล้าเล่าให้คนอื่นฟัง
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.